Alcohol Rhythm เปลี่ยนจังหวะชีวิตคนติดเหล้า: อ่านปัญหาและหาทางแก้คนติดสุรา

February 27, 2019


ในช่วง 5 ปีที่ผ่านมา พฤติกรรมการดื่มสุราของคนไทยสูงขึ้นเรื่อยๆ ทุกปี ทั้งในเพศชายและเพศหญิง ซึ่งการดื่มสุราทำให้เกิดการสูญเสียหลายรูปแบบ ทั้งความรุนแรงต่อสังคม ทำให้เกิดโรคภัยตามมาต่อตัวผู้ติดสุราเอง นอกจากนี้ยังทำให้เกิดอุบัติเหตุ จนนำไปสู่การสูญเสียทางด้านเศรษฐกิจของประเทศ

ในงานเสวนา ‘เครือข่ายการดูแลผู้มีปัญหาการดื่มสุรา ภายใต้โครงการพัฒนาข้อเสนอแนะเพื่อเพิ่มการเข้าถึงบริการดูแลผู้ที่มีปัญหาการดื่มสุรา’ มีการเปิดตัวเว็บไซต์ alcoholrhythm.com ซึ่งทำหน้าที่เป็นสื่อกลางการสื่อสารเกี่ยวกับปัญหาการติดสุรา และยังมีการจัดวงเสวนาแลกเปลี่ยน ‘ประสบการณ์การจัดบริการบำบัดผู้ติดสุรา ความสำเร็จ อุปสรรคและโอกาสในการพัฒนา’ ประกอบด้วยประเด็น การคัดกรองและบำบัด การบำบัดด้วยวิถีพุทธ และศูนย์ปรึกษาปัญหาสุรา 1413

ทั้งหมดมีเป้าหมายเพื่อหาสาเหตุของปัญหาคนติดสุรา และหาทางแก้ระบบการบำบัดผู้ติดสุราให้เข้าถึงผู้คนอย่างมีประสิทธิภาพสูงสุด

 

 

การจัดการความรู้ และการสื่อสารสาธารณะ

 

 

“แม้ว่าจะมีระบบการบำบัดสุรา แต่มีคนที่เข้าถึงระบบไม่เกิน 7 เปอร์เซ็นต์” ดร. รุ่งนภา คำผาง จากโครงการประเมินเทคโนโลยีและนโยบายด้านสุขภาพ (HITAP) กล่าวถึงภาพรวมของปัญหา เพราะเหตุนี้ จึงเป็นที่มาในการพัฒนาข้อเสนอแนะทางวิชาการและจัดการความรู้และการสื่อสารสาธารณะด้านการดูแลผู้มีปัญหาการดื่มสุรา เพื่อให้ผู้มีปัญหาติดสุรารู้จักช่องทางการบำบัดรักษาที่ได้มาตรฐาน

ความรู้เกี่ยวกับปัญหาการติดสุรานี้จะเผยแพร่ผ่านเว็บไซต์ alcoholrhythm.com ด้าน วิโรจน์ สุขพิศาล นักจัดการความรู้จาก บริษัท ดิ วันโอวัน เปอร์เซนต์ จำกัด กล่าวว่า การสื่อสารมีเป้าหมายอยู่สามประการ คือ คัดสรร จัดการ และสื่อสารความรู้ที่ผลิตได้จากโครงการนี้  

ดร. รุ่งนภา คำผาง โครงการประเมินเทคโนโลยีและนโยบายด้านสุขภาพ (HITAP)

  กระบวนการคือ หยิบเอางานวิจัย และความรู้พื้นฐานเกี่ยวกับการดูแลผู้มีปัญหาการดื่มสุรา มาสังเคราะห์ ย่อยเนื้อหาให้เข้าถึงคนวงกว้างได้มากขึ้น ทันสมัย และใช้วิธีเล่าเรื่องที่น่าสนใจ สื่อสารในหลายรูปแบบ ทั้งรายงาน บทสัมภาษณ์ อินโฟกราฟิก คลิปความรู้ และสารคดีเชิงภาพ โดยคำนึงถึงผู้รับสาร ทั้งกลุ่มผู้มีปัญหาการดื่มสุราโดยตรง ครอบครัวที่เกี่ยวข้อง ประชาชนทั่วไป สื่อมวลชน นักวิชาการ บุคคลากรที่ปฏิบัติงานหน้างานโดยตรง รวมถึงตัวผู้กำหนดนโยบาย ผ่านเว็บไซต์หลัก และสื่อโซเชียลมีเดียต่างๆ รวมถึงการจัดงานเวทีเสวนา

เว็บไซต์หลัก alcoholrhythm.com เปรียบเสมือนเป็นบ้านที่รวบรวมความรู้ที่เราพยายามจะปรุงเนื้อหาให้ดูน่าสนใจและเป็นระบบ เรากำหนดบุคลิกให้มีความเป็นกันเอง มีพลังของความหวัง มีความใฝ่รู้ช่างคิด เราตั้งใจผลิตเนื้อหาที่มีคุณภาพสูง ครบถ้วน ถูกต้อง เชื่อถือได้”  วิโรจน์ สุขพิศาล กล่าวสรุป  

วิโรจน์ สุขพิศาล นักจัดการความรู้จาก บริษัท ดิ วันโอวัน เปอร์เซนต์ จำกัด

 

การคัดกรองและบำบัด

 

 

ในวงเสวนาแลกเปลี่ยน ‘ประสบการณ์การจัดบริการบำบัดผู้ติดสุรา ความสำเร็จ อุปสรรคและโอกาสในการพัฒนา’ กล่าวถึงเรื่องการคัดกรองและบำบัดเป็นประเด็นแรก

“โรคติดสุราต่างจากโรคอื่นตรงที่ โรคอื่นถ้าเป็นแล้วคนอยากรักษา แต่คนติดสุราจะบอกว่าตัวเองไม่ติด และไม่ได้เป็นปัญหาของเขา แต่คนที่รับปัญหาคือคนข้างเคียง” วิมล ลักขณาภิชนชัช พยาบาลวิชาชีพชำนาญการพิเศษ สถาบันบำบัดรักษาและฟื้นฟูผู้ติดยาเสพติดแห่งชาติบรมราชชนนี ผู้ทำงานด้านบำบัดผู้ติดสุรามากว่า 10 ปี กล่าวถึงปัญหาในการบำบัด  

วิมล ลักขณาภิชนชัช พยาบาลวิชาชีพชำนาญการพิเศษ สถาบันบำบัดรักษาและฟื้นฟูผู้ติดยาเสพติดแห่งชาติบรมราชชนนี

  การดื่มสุราส่งผลต่อระบบประสาท ทำให้คนดื่มรู้สึกมีความสุข ดังนั้นหากติดแค่เริ่มต้นจะไม่มีใครมารักษา ต้องถึงจุดที่ร่างกายติดหนักแล้วจริงๆ คนจึงจะเข้าสู่ระบบการบำบัด

ขณะเดียวกัน หากผู้ป่วยอยู่ในระดับติดสุรารุนแรง จะมีภาวะสมองเสื่อม ไม่สามารถควบคุมการดื่มได้ จนต้องเข้าสู่ภาวะถอนพิษสุรารุนแรง ซึ่งเป็นโรคภัยทางร่างกาย ไม่ใช่แค่เรื่องสุขภาพจิตเท่านั้น

“ผู้ป่วยติดสุราไม่ได้มาโรงพยาบาลเพื่อบำบัด แต่มาเพราะเกิดภาวะถอนพิษสุราขั้นรุนแรง จนเกิดปัญหากับผู้ดูแลอย่างพยาบาล เพราะจะเกิดอาการก้าวร้าว เอะอะ พยาบาลต้องเข้ามาจับและให้ยาสงบอาการ ตรงนี้เป็นโอกาสพัฒนาของโรงพยาบาล ที่ควรจะมีความรู้เรื่องการคัดกรองและการดูแลผู้ป่วยที่มีภาวะถอนพิษสุราด้วย”

เมื่อเป็นเช่นนี้ ปัญหาสำคัญก็คือ หากผู้ป่วยติดสุรามีอาการทั้งทางจิตและทางร่างกาย แต่โรงพยาบาลหรือหน่วยงานที่รับผิดชอบการรักษา อาจไม่มีศักยภาพพอที่จะรักษาได้ครบวงจร เช่นในผู้ป่วยบางราย มีภาวะแทรกซ้อน หัวใจขาดเลือด หรือมีเลือดออกในกระเพาะรุนแรง โรงพยาบาลที่รักษาผู้ป่วยติดสุราก็ไม่อาจรักษาโรคทางกายนี้ได้ แต่ต้องส่งไปรักษายังโรงพยาบาลที่มีศักยภาพสูง เมื่อควบคุมอาการได้ดีในระดับหนึ่งแล้ว ก็จะส่งมาที่สถาบันบำบัดรักษาและฟื้นฟูผู้ติดยาเสพติดฯ เพราะกลัวว่าผู้ป่วยจะมีอาการเพ้อสับสน เป็นภาวะที่ยากจะดูแล วนเวียนอยู่เช่นนี้เป็นวัฏจักร

“คนทั่วไปที่ดื่มจะไม่คิดว่าเป็นปัญหาและไม่อยากหยุดดื่ม ในส่วนของคนไข้เอง ไม่ใช่มารักษาเพราะอยากเลิก  หลายคนยังคิดว่าจะกลับไปดื่มอีก แต่มารักษาเพื่อพักร่างกาย ตรงนี้ต้องมีเทคนิคสร้างแรงจูงใจ ตั้งแต่เจอกันและมีเวลาพูดคุยให้คำปรึกษาแบบสร้างแรงจูงใจ ให้อยากหยุดดื่มก่อน เทคนิคนี้ก็ถูกบรรจุให้อยู่ในหลักสูตรของการบำบัดสุราด้วย” วิมลกล่าว

“ผู้ป่วยติดสุรา ถ้าติดหนักแล้วจะไม่สามารถควบคุมปริมาณการดื่มได้ บางทีเขาคิดว่ากลับไปเข้างานสังคมแล้วจะดื่มแค่แก้วเดียว แต่พอดื่มไปปุ๊บ แล้วหยุดดื่มไม่ได้ เกิดการดื่มแบบติดลม สิ่งที่จะช่วยได้คือถ้าเลิกแล้วต้องไม่ดื่มแก้วแรก จะทำให้เขาทำสำเร็จ และต้องมีครอบครัวช่วยดูแล”

ด้าน วงเดือน สุนันตา พยาบาลวิชาชีพชำนาญการ โรงพยาบาลสวนปรุง ผู้มีประสบการณ์ด้านการบำบัดเช่นเดียวกัน กล่าวถึงการทำงานของโรงพยาบาลสวนปรุง ซึ่งเป็นโรงพยาบาลจิตเวช ที่มีศูนย์ Excellence ทำงานร่วมกับเครือข่ายภาคเหนือ อีสาน และกลาง ใช้หลักการดูแลคนไข้โดยใช้พื้นฐานจาก i-MAP health มี 4 มาตรการ ประกอบด้วย การบำบัดและคัดกรองเบื้องต้น การถอนพิษสุรา ฟื้นฟูทางด้านจิตใจและสังคม และการดูแลหลังการรักษา

“เรามีสองวอร์ดในการดูแลผู้ป่วยติดสุรา ดูแลแบบครบวงจร ตั้งแต่เข้าโรงพยาบาลจนออก และดูแลต่อเนื่องถึงชุมชน จุดหนึ่งที่เราต้องทำคือการค้นหาปัญหาของผู้ป่วย และดูแลตามระดับของปัญหา ถ้าปัญหาเล็กน้อยก็จะส่งให้ญาติดูแลต่อ ถ้าบางรายเยินมาเลย ไม่มีที่อยู่ บางทีเกิดอาการถอนจนเตียงสั่น ก็ต้องช่วยดูแลกันทั้งเครือข่าย”  

ในการดูแลช่วงถอนพิษสุราต้องดูแลอย่างใกล้ชิด บางรายถึงขั้นอยู่บ้านไม่ได้ อยู่ข้างนอกก็ไม่ได้ โรงพยาบาลยึดแนวคิดสำคัญว่าจะไม่มีการผลักผู้ป่วย ส่วนในบางรายที่บำบัดสำเร็จ มีปัจจัยสำคัญคือ ผู้ป่วยให้ความร่วมมือ ญาติสนับสนุน และแหล่งเครือข่ายตรงกับวัตถุประสงค์ของคนไข้ เช่น เครือข่ายวิถีพุทธ ซึ่งเป็นหนึ่งในพาร์ทเนอร์การดูแลส่งต่อ

“เราใช้เครือข่ายวิถีพุทธมาตั้งแต่ปี 2556 ส่งไปประมาณ 50 กว่าคน ตอนนี้บวชอยู่ประมาณ 14-15 รูป บางทีทำงานเฉพาะโรงพยาบาลไม่พอ ต้องมีการทำที่เพิ่มขึ้น เช่น เรามีไลน์ติดต่อกับคนไข้ที่ออกไปแล้ว คนไข้ก็จะไลน์มาว่าตอนนี้กำลังสอบนักธรรมตรี สิ่งหนึ่งที่เราติดตามเราก็จะให้กำลังใจ ชื่นชมเขา” วงเดือนกล่าว

 

 

การบำบัดด้วยวิถีพุทธ

 

 

พระครูวิวิธประชานุกูล เจ้าอาวาสวัดหัวริน เริ่มทำงานเกี่ยวกับผู้ติดเชื้อเอชไอวี และผู้ป่วยติดสุรามาตั้งแต่ ปี 2546 พระครูมองว่า ปัญหาการติดเชื้อเอชไอวีกับการการติดสุรามีความเชื่อมโยงกัน เพราะหลายครั้งที่การดื่มสุรานำไปสู่การเที่ยวสถานเริงรมย์ จนท้ายที่สุดนำโรคมาติดครอบครัว เมื่อมีปัญหาเรื้อรังมานาน จึงมีการจัดขบวนการขับเคลื่อนรณรงค์งดเหล้าเข้าพรรษา งานบุญปลอดเหล้า สร้างค่านิยมให้เยาวชนรุ่นใหม่ห่างไกลสุรา พอดีกับที่ทางโรงพยาบาลจอมทองจัดโครงการบำบัดผู้ป่วยสุราเชิงพุทธ พระครูจึงได้เริ่มเรียนรู้และทำงานร่วมกับโรงพยาบาลตั้งแต่ตอนนั้น

“เราเชื่อมกับโรงพยาบาล ออกไปเยี่ยมผู้ป่วยตั้งแต่ระยะแรกจนระยะสุดท้ายว่าเขาป่วยด้วยโรคอะไร และก็ติดตามไปถึงครอบครัวและผสานเชื่อมกับรพ.สต. และโรงพยาบาลว่าจะทำยังไงให้บทบาทพระสงฆ์ได้เชื่อมโยงในเรื่องนี้ บางทีก็ใช้ศีล 5  ใช้อริยสัจ 4 ถามเหตุผลว่าทำไมถึงต้องดื่มสุรา อาจจะเป็นความชอบ ความชิน ความหลงในรสในกลิ่น แล้วมีความสุขกับการดื่ม แต่ไม่ได้มองในเรื่องผลกระทบที่ติดตามมา”  

พระครูวิวิธประชานุกูล เจ้าอาวาสวัดหัวริน

  พระครูฯ เดินทางไปให้ธรรมะหน้าวอร์ดที่โรงพยาบาลเดือนละ 4 ครั้ง ประสานกับเจ้าหน้าที่โรงพยาบาลสม่ำเสมอ เปิดโอกาสให้คนที่อยากบวชสามารถบวชได้ “เราอยากให้เขามองวัดเหมือนเป็นบ้านตัวเอง” พระครูฯ กล่าว

ในช่วงเริ่มต้นจะให้ผู้ป่วยเริ่มถือศีล 8 และถ้าหากเรียนรู้กิจของสงฆ์ได้ดี ก็จะส่งชื่อเข้าสู่กระบวนการบรรพชาอุปสมบท เช่น ช่วงสงกรานต์ บวชฤดูร้อน ฯลฯ พระหลายรูปบวชแล้วไม่ต้องใช้ยาคลายเครียดช่วย แต่บำบัดตัวเองได้ด้วยธรรมะ

“เมื่อเราโอนหน้าที่ให้พวกเขาได้ ก็เกิดความภูมิใจ จากคนที่ถูกหิ้วปีกมา ก็มีปีกที่แข็งแรง บินได้ กลายมาเป็นวิทยากร ไปเยี่ยมผู้ป่วย และสอนหนังสือได้ สุดท้ายมุ่งในการเรียนพระธรรม จบนักธรรมตรี-โท เข้าสู่นักธรรมเอก และมีการรายงานผลตลอดเวลา เราไม่ทิ้งผู้ป่วย สุดท้ายเราสามารถพัฒนาชีวิตของคนในชุมชนให้ดีขึ้นได้ด้วยประสบการณ์ของเขาเอง”

 

 

ศูนย์ปรึกษาปัญหาสุรา 1413

 

 

นอกจากการบำบัดในโรงพยาบาล และการดูแลแบบวิถีพุทธแล้ว ยังมีอีกหนึ่งช่องทางการบำบัดที่ผู้ป่วยเข้าถึงได้ง่ายคือ ศูนย์ปรึกษาปัญหาสุรา 1413

“สิ่งที่ได้บทเรียนจากการทำสายด่วนน่าตกใจมาก หนึ่ง คนไข้ไม่รู้ว่าติดสุราเป็นความเจ็บป่วย เขายังมองว่าเป็นเรื่องพฤติกรรมทั่วไป สอง พอมีผลกระทบญาติจะโทรมาปรึกษาว่าจะทำยังไงให้คนไข้เลิกเหล้าได้ เขาจะไปช่วยเลิกเอง แต่ไม่ได้คิดถึงสถานพยาบาลเลย คำถามยอดฮิตคือ ถามหายาเบื่อเหล้า” พ.อ.นพ. พิชัย แสงชาญชัย รองผู้อำนวยการจิตเวชและประสาทวิทยา โรงพยาบาลพระมงกุฎเกล้า กล่าวถึงสถานการณ์ผู้ป่วยที่โทรมาปรึกษาสายด่วน

อย่างไรก็ตาม ในปัจจุบันมีการเปลี่ยนแปลงไปในทางที่ดีขึ้น แต่เดิมผู้ป่วยโทรมาเองสัดส่วนแค่ 30 เปอร์เซ็นต์ ที่เหลือเป็นญาติ แต่เมื่อมีการรณรงค์อย่างต่อเนื่อง พบว่ามีสัดส่วนเท่ากัน ผลจากการสื่อสารทางออนไลน์และทำเว็บไซต์ ผู้ดื่มเองจึงโทรมามากขึ้น

“วัตถุประสงค์ของการทำสายด่วนคือ พัฒนาตัวระบบรูปแบบให้มีประสิทธิภาพ ทำวิจัยและจัดการฐานข้อมูลที่สำคัญ เช่น เรื่องสถานบำบัดทั่วประเทศ แล้วพัฒนาตัวบุคลากรให้สามารถให้คำปรึกษาทางโทรศัพท์ได้ เราต้องมีองค์ความรู้ในด้านนี้ว่า รูปแบบไหนถึงจะมีประสิทธิภาพ สายด่วนเองก็เป็นตัวเผยแพร่ความรู้ ร่วมรณรงค์ไปกับภาคีเครือข่าย ไม่ว่าจะเป็น สสส. หรือกรมควบคุมโรค เราก็ร่วมรณรงค์ไปด้วย”

ผู้ให้คำปรึกษาโรคติดสุราใช้บุคลากรจากจิตเวช นักจิตวิทยา นักสังคมสงเคราะห์ และมีการอบรมให้ความรู้เพิ่มเติม จากสถิติที่มีผู้ป่วยโทรมา มักจะใช้เวลาพูดคุยประมาณ 30 นาที หลังจากนั้นทางสายด่วนจะโทรกลับไปหา 5 ครั้ง รวมทั้งหมดจะได้รับบริการทั้งหมด 6 ครั้งใน 1 ปี

“ใน 4 ครั้งแรกเราจะถือว่าเป็น intervention ใช้การจูงใจ เราคุยกับเขาไม่เห็นหน้าเห็นตาและการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมก็เกิดขึ้นนอกจากการพูดคุย แต่สิ่งที่เกิดขึ้นในการพูดคุยคือแรงจูงใจ เราใช้กลยุทธ์ motivational interviewing และ motivational enhancement therapy เราทบทวนองค์ความรู้และพบว่าการให้คำปรึกษาผ่านทางโทรศัพท์จะต้องเป็นทั้งเชิงรับ เขาโทรมาหาเรา และ เชิงรุก เราโทรไปหาเขา ส่วนที่ 3 คือการโทรติดตาม เราก็ใช้สามองค์ประกอบนี้เลย”  พ.อ.นพ. พิชัยอธิบายการทำงานของสายด่วน

 

พ.อ. นพ. พิชัย แสงชาญชัย ที่ปรึกษากองจิตเวชและประสาทวิทยา โรงพยาบาลพระมงกุฎเกล้า ผู้ดูแลโครงการสายด่วนเลิกเหล้า 1413

  ตัวชี้วัดสำคัญคือ ความรุนแรงของการดื่มสูงมากจากการโทรมาครั้งแรก แต่พอคุยไปได้ 6 เดือน ความรุนแรงของการดื่มลดลงอย่างเห็นได้ชัด ทำให้เห็นว่าการคุยกันสามารถช่วยปรับเปลี่ยนพฤติกรรมผู้ป่วยได้จริง ทั้งมีการวิจัยที่ทำกับทั้งผู้ดื่มและญาติ ผลวิจัยยืนยันชัดเจนว่าการพูดคุยกันมีประสิทธิภาพ

นอกจากสายด่วน 1413 แล้ว ยังมีการให้ข้อมูลอัตโนมัติ เป็นข้อมูลขนาดสั้น ความยาว 2-3 นาที แก่คนที่ต้องการแค่ข้อมูล แต่ไม่ได้ต้องการปรึกษา เช่นเดียวกับที่ เว็บไซต์ 1413.in.th  ทำหน้าที่ให้ข้อมูลเช่นเดียวกัน มีสถิติว่าใน 1 ปี มีคนเข้าไปดูหลักแสน ทั้งมีให้ผู้ป่วยประเมินตัวเองว่ามีปัญหาการดื่มรุนแรงแค่ไหน ซึ่งมีคนเข้ามาทำหลายพันคนต่อปี ทั้งญาติและผู้ดื่มเอง

“ต่อไปจะเป็นยุคของโซเชียลมีเดีย ไม่ว่าจะเป็นเฟซบุ๊กหรือไลน์ เราก็ทำอยู่และมากขึ้นเรื่อยๆ เรานึกไปถึง online marketing ที่ลงทุนไม่มากแต่ได้ผลลัพธ์ที่มากขึ้น และทำยังไงให้บริการของเราเป็น free service ทุกวันนี้ผู้ที่โทรเข้ามายังต้องเสียเงินอยู่ แต่เราสามารถให้เขาทิ้งเบอร์ไว้ได้”

“เรายังมองว่า ที่สุดแล้วควรมีการเชื่อมต่อไปที่สถานพยาบาล แล้วเปิดโอกาสให้เจ้าหน้าที่ดูแล น่าจะยั่งยืนกว่า โอกาสปรับเปลี่ยนได้สำเร็จมากกว่า เราเลยนึกไปถึงการเชื่อมต่อโซเชียลมีเดียเข้ากับสถานบำบัด อยากจะทำในลักษณะ follow up call ให้สถานบำบัดส่งเบอร์มาให้เราโทรหาคนไข้ก็ได้”

ในตอนท้ายพ.อ.นพ. พิชัย กล่าวสรุปว่านักวิจัยสามารถเข้ามาช่วยในเชิงการวัดผลลัพธ์และความคุ้มค่าในแง่มุมของการปรับเปลี่ยนพฤติกรรม อย่างเช่น เขาเลิกเหล้า เขาเข้าสู่บริการบำบัดรักษา ก็เป็นประเด็นที่ต้องคิดเยอะ แล้วยังไม่สำเร็จรูป และผู้ที่กำหนดนโยบายก็จะคิดว่าคุ้มค่าไหม รณรงค์ทำสื่อหลายอย่าง คุ้มค่าหรือเปล่า ได้ผลแค่ไหน ตรงนี้นักวิจัยน่าจะเข้ามาช่วยดู ช่วยกำหนดวิธีการ กำหนดตัวชี้วัด และก็ทำให้เห็นผลเพื่อจะยืนยันสิ่งที่เราทำว่า มันเป็นประโยชน์คุ้มค่ากับการลงทุนในภาครัฐ”    


เรื่องและภาพ: ทีมงาน Alcohol Rhythm

Related Articles