‘ไม่มีระดับการดื่มแอลกอฮอล์ใดที่ปลอดภัยต่อสุขภาพ’ คือผลสรุปจากงานวิจัยเรื่องปริมาณการดื่มแอลกอฮอล์ที่เหมาะสมสำหรับร่างกาย ที่ถูกประกาศออกมาสดๆ ร้อนๆ เมื่อปลายปีที่แล้ว โดย เดอะแลนซิต วารสารการแพทย์รายสัปดาห์ชื่อดัง
แน่นอนว่าต่อให้เดอะแลนซิตไม่ได้ออกมาประกาศในครั้งนี้ เราต่างก็รู้ดีว่าแอลกอฮอล์ไม่น่าจะส่งผลดีต่อสุขภาพเท่าไรนัก แต่ด้วยค่านิยมและสภาพสังคมที่ยึดโยงการดื่มเข้ากับการผูกมิตร สร้างภาพจำว่าความสุขเกิดขึ้นได้เมื่อชนแก้วสุราสีอำพัน การดื่มจึงไม่ใช่เรื่องเลวร้าย แต่เป็นเครื่องมือในการเชื่อมสัมพันธไมตรีที่เข้าถึงคนทุกกลุ่ม
องค์การอนามัยโลก (WHO) เปิดเผยว่า แต่ละปีมีผู้เสียชีวิตด้วยสาเหตุที่เกี่ยวเนื่องกับเครื่องดื่มแอลกอฮอล์มากกว่า 3 ล้านคนทั่วโลก และการบริโภคเครื่องดื่มแอลกอฮอล์เป็นสาเหตุการเสียชีวิตก่อนวัยอันควรของนักดื่มอายุ 20 – 39 ปี ทั่วโลกสูงถึง 13.5 %
สถานการณ์การดื่มสุราในประเทศไทย ปี 2560 ก็มีตัวเลขชี้ชัดว่า ในช่วง 5 ปีที่ผ่านมา ปริมาณการบริโภคแอลกอฮอล์ต่อหัวประชากรต่อปี (อายุ 15 ปีขึ้นไป) สูงขึ้นเรื่อยๆ โดยในปี 2560 ตัวเลขแตะถึง 7.33 ลิตรต่อคนต่อปี ยังไม่นับปัญหาการดื่มหนักที่ยังมีตัวเลขสูงมากในหลายจังหวัด
ปัญหาเรื่องการดื่มสุราไม่ได้เริ่มต้นและหยุดอยู่ที่ร่างกาย แต่กำลังสะท้อนให้เห็นถึงปัญหาของสภาพสังคม กรอบความคิด และโครงสร้างของระบบสาธารณสุขบ้านเรา ที่ต้องมีการพัฒนาขึ้นอย่างเป็นระบบ และต้องมองให้เห็นสาเหตุที่แท้จริง
ในงานเสวนา ‘เครือข่ายการดูแลผู้มีปัญหาการดื่มสุรา ภายใต้โครงการพัฒนาข้อเสนอแนะเพื่อเพิ่มการเข้าถึงบริการดูแลผู้ที่มีปัญหาการดื่มสุรา’ กล่าวถึงสาเหตุ วางนโยบายและยุทธศาสตร์เพื่อแก้ไขปัญหาการดื่มสุราในหลายประเด็นที่น่าสนใจ
5 ยุทธศาสตร์ 4 แนวปฏิบัติ เพื่อขจัดปัญหาแอลกอฮอล์
เมตตา คำพิบูลย์ นักวิชาการสาธารณสุขชำนาญการ สำนักงานคณะกรรมการควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข ได้กล่าวว่า ประเทศไทยของเรามีแผนยุทธศาสตร์แอลกอฮอล์ชาติ 10 ปี ที่เริ่มต้นตั้งแต่ พ.ศ. 2554 และกำลังจะครบปีที่ 10 ใน พ.ศ. 2563 ที่จะถึงนี้ โดยแผนยุทธศาสตร์นี้จะเป็นยุทธศาสตร์หลักในการจัดการปัญหาสุราที่ครอบคลุมตั้งแต่ปัญหาในระดับต้นน้ำไปจนถึงปัญหาระดับปลายน้ำ
“เรามีทั้งหมด 5 ยุทธศาสตร์หลักด้วยกัน โดยยุทธศาสตร์ที่ 4 และ 5 ทำหน้าที่เหมือนพื้นฐานหลัก เป็นกลไกขับเคลื่อนเสริมความเข้มแข็งในการจัดการปัญหาสุราในแต่ละพื้นที่ และต่อยอดด้วยยุทธศาสตร์ที่ 1 ว่าด้วยเรื่องการควบคุมการเข้าถึงแอลกอฮอล์ในด้านของกฎหมาย ยุทธศาสตร์ที่ 2 เน้นไปที่การลดนักดื่มหน้าใหม่ และการสื่อสารสาธารณะเพื่อเปลี่ยนค่านิยม ปิดท้ายด้วยยุทธศาสตร์ที่ 3 ในประเด็นการลดอันตรายของการบริโภคสุรา โดยทุกยุทธศาสตร์จะถูกถ่ายนโยบายไปตามจังหวัดต่างๆ เพื่อดำเนินการตามแผนที่ว่าไว้” เมตตาอธิบาย
แต่แค่แผนยุทธศาสตร์แอลกอฮอล์ชาติ 10 ปีอย่างเดียวอาจจะไม่เพียงพอ จากข้อมูลการเข้ารับบริการสุขภาพของประชาชน พ.ศ. 2559 ที่จัดทำขึ้นโดยกระทรวงสาธารณสุข แสดงข้อมูลออกมาว่ามีเพียง 6% ที่ได้รับบริการทางการแพทย์ จากผู้มีปัญหาพฤติกรรมการดื่มสุราที่ควรได้รับการดูแลทางการแพทย์ทั้งหมด ตัวเลขนี้แสดงให้เห็นถึงช่องว่างที่สูงมากในการเข้าถึงบริการ ด้วยเหตุนี้ ‘คณะกรรมการควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์’ จึงได้ออกแนวปฏิบัติการคัดกรองและบำบัดรักษาฟื้นฟูสภาพผู้มีปัญหาการดื่มสุรา เพื่อหวังที่จะลดช่องว่างตรงนี้ โดยแบ่งเป็น 4 เนื้อหาหลักด้วยกัน
เมตตาได้อธิบายถึงแนวปฏิบัตินี้ไว้ว่า “เนื้อหาที่หนึ่ง เป็นเรื่องการคัดกรองอย่างง่าย โดยเราจะมีการใช้แบบประเมิน 7 ข้อ เพื่อคัดกรองและค้นหากลุ่มที่มีพฤติกรรมเสี่ยงก่อน กลุ่มเป้าหมายของเราคือคนที่เข้ามารับบริการตามสถานบริการของกระทรวงสาธารณสุข เราแบ่งกลุ่มเสี่ยงออกเป็น 3 ระดับ และมีการ intervention ตามแต่ละกลุ่ม เช่น brief advice ในกลุ่มที่ปกติ และ brief counseling ในกลุ่มเสี่ยงปานกลาง ส่วนกลุ่มเสี่ยงสูงนอกจากจะมีการให้ brief counseling แล้ว ก็จะมีการส่งตัวจากสถานบริการที่ไม่สามารถให้บริการได้ไปสู่สถานบริการที่สามารถให้บริการได้ เช่น โรงพยาบาลทั่วไปหรือโรงพยาบาลเฉพาะทาง”
“เนื้อหาที่สอง เป็นเรื่องของการบำบัดรักษาในเรื่องการถอนพิษสุรา ส่วนเนื้อหาที่สาม เราจะเน้นการดูแลเชิงรุกในชุมชน หลังจากที่เขารักษาจนหายและกลับไปบ้าน ชุมชนจะมีส่วนช่วยดูแลได้อย่างไร และเนื้อหาสุดท้าย จะเกี่ยวกับเรื่องอาสาสมัครจากกระทรวงสาธารณสุขที่จะช่วยดูแล ติดตาม คนที่เคยได้รับการรักษาบำบัด”
เมตตายอมรับว่ายังคงไม่ใช่เรื่องง่ายที่จะทำตามแผนนี้ เนื่องด้วยปัญหาภาระหน้าที่และเวลาของเจ้าหน้าที่คัดกรองที่มีไม่เพียงพอต่อปริมาณผู้ป่วยที่เข้ามารักษาในแต่ละวัน แต่อย่างน้อยก็ถือเป็นจุดเริ่มต้นที่ดี เพราะหากเราสามารถหากลุ่มเสี่ยงได้ตั้งแต่ระยะเริ่มต้น ก็มีโอกาสที่การรักษาจะประสบความสำเร็จ
นอกจากปัญหาบุคลากรไม่เพียงพอ ปัญหาค่านิยมของคนในสังคมก็เป็นอีกหนึ่งปัญหาที่เข้ามาขัดขวางการบำบัดรักษา
“ผู้มารับบริการจะไม่ชอบให้ใช้คำว่าเขาติดสุราหรือว่ามีปัญหา เพราะเอาเข้าจริงแล้วการดื่มเหล้าไม่ได้ถูกมองว่าเป็นปัญหา สังคมต่างมองเป็นเรื่องชินตาเหมือนการดื่มน้ำอัดลม และยิ่งสื่อโฆษณาเดี๋ยวนี้สร้างค่านิยมผูกเอาเครื่องดื่มแอลกอฮอล์เข้าไปอยู่กับการเชียร์กีฬา ดื่มแล้วสนุก ดื่มแล้วยังแข็งแรง นี่ก็เป็นอีกจุดหนึ่งที่เราต้องต่อสู้กับค่านิยมและทัศนคติของคนไทย เราจะสร้างการมีส่วนร่วมของคนในสังคมและลบมายาคตินั้นออกไปอย่างไร เป็นเรื่องที่เราทุกคนจะต้องช่วยกัน” คือสิ่งที่เธอทิ้งท้ายไว้
เขาทำให้เราติด เขาต้องช่วยเรารับผิดชอบ
ภก. สงกรานต์ ภาคโชคดี ผู้อำนวยการสำนักงานเครือข่ายองค์กรงดเหล้า (สคล.) เปิดประเด็นในเรื่องการแก้ไขปัญหาแอลกอฮอล์ไว้อย่างน่าสนใจ เรียกได้ว่าเป็นอีกหนึ่งปัญหาหลักที่หลายคนต่างไม่กล้าที่จะพูดถึงคือ ปัญหาของธุรกิจแอลกอฮอล์
“ถ้าใช้การบำบัดเป็นหลักอย่างเดียวแล้วไม่ควบคุมธุรกิจแอลกอฮอล์ เราไม่มีทางทันธุรกิจแอลกอฮอล์อยู่แล้ว เพราะทำให้คนติดง่ายกว่าการรักษา เราควรมีการทำวิจัยที่บอกเลยว่า การบำบัดรักษายากขนาดไหน เพื่อนำไปบอกคนที่กำหนดนโยบายให้ออกนโยบายควบคุมตั้งแต่ต้นทาง เอาเข้าจริงทุกคนรู้อยู่แล้วว่า ทางเลือกที่ดีที่สุดไม่ใช่การบำบัดรักษา เพราะลงทุนเยอะและได้ผลยาก”
“ต้องทำที่ต้นทาง ทำยังไงให้เกิดนักดื่มหน้าใหม่น้อยลง ทำให้คนเข้ามาติดน้อยลง หรือเรื่องการบำบัดเอง ก็ต้องนำไปสู่เป้าที่ทำให้คนที่ทำให้พวกเราติดออกมารับผิดชอบ ไม่ใช่เอาเงินรัฐบาลมารักษา พวกเขาต้องแบ่งกำไรที่ได้มาเพื่อจัดตั้งเป็นกองทุนสำหรับการบำบัดรักษา ทุกวันนี้เขากำลังโยนความผิดอยู่ บอกให้ลูกค้าของเขาดื่มอย่างรับผิดชอบ แปลว่าสินค้าของเขาไม่ได้มีปัญหา แต่ปัญหาคือคนดื่มที่ไม่มีความรับผิดชอบ อันนี้ก็ไม่ยุติธรรม เพราะสุดท้ายแล้วการพูดแบบนี้ยิ่งทำให้นักดื่มหน้าใหม่ประมาทและคิดว่าการดื่มไม่มีปัญหา” ภก. สงกรานต์กล่าว
ทางออกสุดท้ายคือต้องร่วมด้วยช่วยกัน
ผศ.ดร.เสาวมาศ คุณล้าน เถื่อนนาดี คณบดีคณะพยาบาลศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่นต่อยอดประเด็นจากเมตตา คำพิบูลย์ เธอเห็นด้วยอย่างยิ่งกับปัญหาเรื่องบุคลากรที่ไม่เพียงพอ และคิดว่าทางออกที่จะช่วยแก้ปัญหานี้ได้คือ การที่เราเอาคนไข้มาเป็นศูนย์กลาง
“ทางกรมสุขภาพจิตกับกระทรวงสาธารณสุขได้ทำแนวปฏิบัติออกมาเรื่องการคัดกรองกลุ่มเสี่ยงในชุมชน ทีนี้นโยบายก็ลงไปที่ รพ.สต. แต่ดิฉันอยากจะขอถามว่าอัตรากำลังคนของ รพ.สต. ที่จะรับนโยบายเรื่องนี้มีกี่คน เราเคยลงไปสำรวจและพบว่ามีประมาณ 4 คน ต่อให้พวกเขาทำทุกยุทธศาสตร์ ก็ทำได้ไม่เต็มประสิทธิภาพ เพราะต่อให้ยุทธศาสตร์ดีแต่ไม่มีคนปฏิบัติ ก็ไม่ได้
“เป็นสิ่งที่เราควรมาคุยกันว่าพอนโยบายออกมาแล้ว จะนำไปสู่การปฏิบัติจริงให้ได้อย่างไร ต้องใช้คนไข้เป็นศูนย์กลางแล้วใช้หลักการดูแลองค์รวมเข้ามาช่วย ต้องคิดแยกกันไปเลยว่าจะป้องกันนักดื่มหน้าใหม่ได้อย่างไร ให้มีการลดละเลิกได้อย่างไร แล้วคนที่ติดหนักก็ต้องมีการบำบัด ซึ่งดิฉันมองว่าเรื่องนี้เป็นการแก้ปลายเหตุแล้ว”
ดรุณี กุลวัฒนา พยาบาลวิชาชีพชํานาญการ โรงพยาบาลชุมชนจังหวัดโคราช เสริมต่อจาก ผศ.ดร.เสาวมาศ ว่า ตัวเธอเองก็เป็นคนที่อยู่ในพื้นที่จริงและพบปัญหาเรื่องบุคลากรไม่พออยู่บ่อยครั้ง ด้วยจำนวนคนไข้ที่เข้ามาเยอะและเวลาที่ค่อนข้างเร่งทำให้เป็นเรื่องยากที่จะทำข้อมูลคัดกรองเดี๋ยวนั้น นอกจากนี้ ถึงแม้จะมีการคัดกรองและให้คำแนะนำแบบสั้นไปแล้ว ก็ไม่ใช่คนไข้ทุกคนที่จะให้ความร่วมมือ
“พอจะให้คำปรึกษาที่ลึกขึ้น คนไข้หลายคนไม่ยินยอมจะคุยต่อ ซึ่งพอจะเป็นไปได้ไหมที่ถึงแม้คนไข้จะยังไม่ยินยอม แต่ด้วยเรามีข้อมูลตรงนี้และอยากจะส่งต่อให้สายด่วนเข้ามาดูแล เพื่อจูงใจคนไข้ให้เข้าสู่กระบวนการบำบัด เราเองก็ยอมรับว่าโรงพยาบาลชุมชนของเรามีคนที่เชี่ยวชาญเรื่องการให้คำปรึกษาน้อย โรงพยาบาลหนึ่งอาจจะมีแค่คนเดียว ถ้าเราสามารถเชื่อมต่อกันตรงนี้ได้ก็จะดีมาก”
พ.อ. นพ. พิชัย แสงชาญชัย รองผู้อำนวยการจิตเวชและประสาทวิทยา โรงพยาบาลพระมงกุฎเกล้า ผู้ดูแลโครงการสายด่วนเลิกเหล้า 1413 ได้ตอบคำถามนี้และยินดีอย่างยิ่งหากจะมีการร่วมมือกัน เพราะที่ผ่านมาการประชาสัมพันธ์ของสายด่วนจะไปพ่วงกับแคมเปญเลิกเหล้าเข้าพรรษา ทำให้บริการจะเยอะมากในช่วงเข้าพรรษา แน่นอนว่าทางสายด่วนก็พยายามรณรงค์ด้วยตัวเอง แต่ก็ติดปัญหาอยู่ที่เรื่องงบประมาณ ถ้ากรมควบคุมโรคหรือกระทรวงสาธารณสุขมาช่วยกันก็จะเป็นการดี
เรื่องและภาพ: ทีมงาน Alcohol Rhythm