5 หนัง 5 ตัวละคร ที่ชีวิตเปลี่ยนเพราะ ‘แอลกอฮอล์’

November 25, 2019


หากเราคุ้นเคยกับเจมส์ บอนด์ ที่มาพร้อมกับมาร์ตินี่แบบ ‘เขย่าแต่ไม่คน’ หรือจะเป็นทีเรียน แลนนิสเตอร์ แห่งจักรวาล Game of Thrones ผู้ซึ่งลั่นวาจาไว้ว่า ‘I drink and I know things.’ จนกลายเป็นประโยคที่ชวนให้นึกถึงนักปราชญ์ร่างจิ๋วที่เมาจนหัวราน้ำแทบตลอดทั้งเรื่อง ก็มีสิทธิที่จะทำให้คนดูอย่างเราๆ อดคิดไม่ได้ว่า การดวดแอลกอฮอล์หรือสุรายาเมาก็ไม่เลวเหมือนกันนะ ถ้างั้นคืนนี้จัดสักแก้วจะเป็นไรไป

ช้าก่อน เพราะถึงแม้แอลกอฮอล์จะรับบทเป็นตัวชูโรงให้ตัวเอกในหนังที่เราคุ้นเคย แต่เอาเข้าจริงแล้ว เครื่องดื่มเหล่านี้ไม่ได้รับบทดีเช่นนั้นเสมอไป บ่อยครั้งที่แอลกอฮอล์กลายเป็นเครื่องดื่ม ‘เปลี่ยนชีวิต’ ที่ลากตัวละครลงเหวไปชนิดที่กว่าจะปีนขึ้นมาได้ก็แทบกระอัก หรือบางรายก็ปีนขึ้นมาไม่ได้อีกเลย

เตรียมป๊อบคอร์นและเครื่องดื่มไว้ให้พร้อม เพราะ Alcohol Rhythm เปลี่ยนจังหวะชีวิตคนติดเหล้า ขอชวนคุณแหวกม่านจอเงิน สำรวจ 5 ตัวละครที่ชีวิตพลิกผันเพราะดื่มหนัก แถมยังกลับลำไม่ทันอีก จะมีตัวละครจากหนังในดวงใจของคุณหรือไม่ เลื่อนลงไปดูต่อได้เลย!

 

 

ไตรภาค The Hangover

 

 

นับได้ว่าหนังไตรภาคชุดนี้เป็นหนังที่ทำให้ท็อดด์ ฟิลลิปส์ แจ้งเกิดในวงกว้าง ก่อนที่เขาจะเทิร์นตัวเองจากคนทำหนังคอมเมดี้มาสู่การทำหนัง thriller ที่โกยเงินล้านแห่งปีอย่าง Joker (2019) โดย The Hangover ภาคแรกออกฉายในปี 2009 ด้วยทุนสร้างถึง 35 ล้านเหรียญฯ และกวาดรายได้ไปแบบถล่มทลายชนิดชวนอ้าปากค้างที่ 467.5 ล้านเหรียญฯ

The Hangover เป็นหนังว่าด้วยเรื่องชวนสติแตกของสามหนุ่ม ฟิล (แบรดลีย์ คูเปอร์) ชายหน้าตาดีที่เป็นคุณครูสอนเด็กไปวันๆ, สตู (เอ็ด เฮล์ม) หมอฟันท่าทางจ๋องๆ, อลัน (แซ็ค กาลิเฟียนนาคิส) เพื่อนบ๊องบวมของกลุ่ม และ ดักจ์ (จัสติน บาร์ธา) หนุ่มที่เตรียมแต่งงานเป็นฝั่งเป็นฝา หลังจากที่จัดปาร์ตี้สละโสดให้ดักจ์แล้ว ทั้งสี่คนก็เมาระเบิดฟอร์มร้อนแรงกันกลางเมืองลาสเวกัส ชนิดที่ตื่นมาอีกทีก็เจอสภาพห้องเละยิ่งกว่าแรดบุกทะลวง ที่สำคัญคือ ดักจ์กลับหายตัวไปและถูกแทนที่ด้วยเด็กทารกหนึ่งคน สามคนที่เหลือจึงต้องรวบรวมสติที่ไม่ค่อยจะมีอยู่ก่อนแล้ว เพื่อนึกให้ได้ว่าพวกเขาไปก่อวีรกรรมอะไรไว้ เจ้าบ่าวของกลุ่มหายไปไหน และเขาจะทำยังไงให้งานแต่งของดักจ์ยังราบรื่นต่อไปได้ แม้จะยังหาตัวเจ้าบ่าวไม่เจอ

พล็อตเฮี้ยนนรกแตกนี้ดัดแปลงมาจากชีวิตจริงของ ทริปป์ วินสัน โปรดิวเซอร์หนังที่เมาเละอยู่ในลาสเวกัสและจำอะไรไม่ได้เลย แถมเมื่อตื่นมาอีกทีก็พบตัวเองอยู่ในคลับนักเต้นจ้ำบ๊ะ พร้อมใบเสร็จค่าใช้จ่ายที่เขาก็ไม่รู้ว่าตัวเองในร่างเมามายเมื่อคืนนั้นไปทำอีท่าไหนไว้ วีรกรรมที่ทำถึงได้งอกเงยออกมาเป็นหนี้สินจำนวนมหาศาลขนาดนั้น

แม้ดูแล้ว เรื่องนี้จะเป็นหนังคอมเมดี้ที่ถูกใจผู้ชมหลายคน แต่ถ้าเราตัดน้ำเสียงและการทำตลกหน้าตายของตัวละครหลักออกไป เรื่องนี้ก็จะกลายเป็นหนัง thriller ชวนขวัญผวาที่ว่าด้วยชายสามคนที่เมาไม่ได้สติ ตื่นมาโดยไร้ความทรงจำ ต้องออกตามหาเพื่อนที่ไม่รู้ว่าเป็นตายร้ายดีที่ไหน มิหนำซ้ำยังถูกลากเข้าไปพัวพันกับแก๊งอาชญากรรม ชนิดที่ถ้าเรื่องนี้เป็นเรื่องที่เกิดขึ้นในชีวิตจริง หนุ่มๆ ทั้งสามคงขำกันไม่ออกตั้งแต่ตื่นมาเจอห้องเละเทะและเพื่อนหายไปแล้ว

ทั้งนี้ วินสันที่ประสบเหตุการณ์นี้ด้วยตัวเองก็เปรยๆ ว่า ตอนแรก เขาก็ขำไม่ออกเหมือนกันนั่นแหละ

 

28 Days (2000)

 

 

ชีวิตบัดซบของ เกว็น คัมมิ่งส์ (แซนดรา บูลล็อค) นักเขียนสาวสวยมีหน้ามีตาในสังคมไฮโซ มีแฟนหนุ่มที่มีชีวิตน่าอิจฉา ทั้งสองร่ำรวย ได้รับการยอมรับ แถมด้วยชอบเมาหัวราน้ำในทุกปาร์ตี้ที่ได้รับเชิญให้ไป

จุดเปลี่ยนของเรื่องเกิดขึ้น เมื่อเกว็นเมาหนักในคืนหนึ่งแต่ยังดึงดันจะขับรถกลับบ้าน จนทำให้เธอประสบอุบัติเหตุเข้าอย่างจัง แถมเกว็นยังโดนวินิจฉัยว่า มีอาการติดเหล้า จนถูกริบโทรศัพท์ และส่งเข้ารับการบำบัด ที่นั่น เธอถูกลากให้ไปรวมกับเดอะแก๊งที่ต้องเข้ารับการบำบัดด้วยกัน ประกอบด้วย ชายที่ดูแล้วพร้อมมีเรื่องในทุกสถานการณ์อย่างเอ็ดดี้ และชายติดโคเคนอย่าง เจอร์ราด (อลัน ทุด)

เจอสถานการณ์เข้าไปเช่นนี้ แน่นอนว่าเดอะแก๊งแทบจะตีกันจนเลือดตกยางออกในวันแรกๆ ที่เจอกัน แต่สุดท้ายแล้ว ทั้งสามก็ได้เรียนรู้ว่า หนทางที่ดีที่สุดคือการช่วยประคับประคองกันให้รอดพ้นจากอาการติดเหล้าในแต่ละวันไปได้นั่นเอง

 

Flight (2012)

 

 

นี่คือหนึ่งในหนังที่ส่งให้ดันเซล วอชิงตัน เข้าชิงรางวัลออสการ์สาขานักแสดงนำชายยอดเยี่ยม และส่งจอห์น กาตินส์ ชิงรางวัลเขียนบทยอดเยี่ยมด้วย โดย Flight เล่าถึงกัปตันวิป (วอชิงตัน) กัปตันผู้เจนสนามของสายการบินแห่งหนึ่ง ซึ่งได้รับความไว้วางใจและความเคารพจากคนรอบตัวเสมอมา กระทั่งในวันหนึ่งที่เขาต้องทำหน้าที่ขับเครื่องบินจากออร์แลนโดไปยังแอตแลนต้า กัปตันดันดื่มเหล้าอย่างหนักจนร่างกายพังลุกแทบไม่ไหว แต่ด้วยใจยังรักงานและอยากกลับไปทำงานให้ได้ เขาจึงเสี่ยงปลุกตัวเองด้วยการสูดโคเคนปื้ดใหญ่…

แน่นอน โคเคนทำให้เขากระปรี้กระเปร่าขึ้นมาได้ หากแต่นี่ก็กลายเป็นจุดเริ่มต้นของโศกนาฏกรรมในชีวิตด้วยเช่นกัน นั่นเพราะเครื่องบินเจ้ากรรมมีปัญหา จนยังไม่ทันลงจอดที่ปลายทางก็ดันเสียกลางทาง กัปตันวิปจึงต้องทุ่มเทความสามารถและแรงกายแรงใจ บวกกับประสบการณ์ที่มีทั้งชีวิตเพื่อประคองเครื่องบินให้ร่อนลงจอดได้อย่างปลอดภัย เพื่อรักษาชีวิตลูกเรือและผู้โดยสารซึ่งตื่นตระหนกกันสุดขีด

ด้วยความสามารถที่ล้นเหลือของเขา กัปตันวิปสามารถนำเครื่องลงจอดอย่างปลอดภัยที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้ โดยมีผู้เสียชีวิต 6 ราย แต่เขาต้องโดนเรียกตรวจสอบอย่างหนัก เพราะหลังการตรวจเลือดพบว่า เขามีแอลกอฮอล์ปะปนในกระแสเลือดจำนวนมาก มิหนำซ้ำยังมีสารเสพติดผิดฎหมาย และนั่นเองคือปฐมบทการเดินทางสู่การถูกจับกุมและการชดใช้ความผิดต่อเหล้าและโคเคนที่เขาจัดไปก่อนออกบินเพียงหนึ่งคืน

หนังเรื่องนี้ไม่ได้มีไว้เพื่อเชิดชูวีรกรรมความเก่งกาจของกัปตันวิป ตรงกันข้าม หนังได้นำเสนอภาวะตึงเครียดถึงขีดสุดของกัปตัน ซึ่งถูกพิพากษาให้ติดคุกยาวนานหลายปีเพราะประมาทก่อนออกบิน แอลกอฮอล์และโคเคนอาจสร้างความสุขให้เขาได้เพียงชั่วครู่ แต่ต้องแลกมาด้วย 6 ชีวิตที่สูญเสีย และอิสรภาพที่ถูกริบไปนานนับปี และเมื่อกัปตันวิปได้รับการปล่อยตัวออกมาจากเรือนจำอีกที เขาก็ไม่อาจแตะต้องแอลกอฮอล์ได้อีกเลย

 

Don’t Worry, He Won’t Get Far on Foot (2018)

 

 

หนังลำดับล่าสุดของ กัส แวน แซงต์ ที่ส่งเขาเข้าชิงรางวัลหมีทองคำ (เปรียบได้กับรางวัลคนทำหนังยอดเยี่ยม) จากเทศกาลหนังนานาชาติเมืองเบอร์ลิน เรื่องนี้ดัดแปลงมาจากเรื่องจริงของ จอห์น คาลลาฮาน (วาคิน ฟีนิกซ์) นักวาดการ์ตูนติดแอลกอฮอล์ที่ออกไปดื่มเหล้ากับเพื่อนและพยายามขับรถกลับบ้าน แต่กลับประสบอุบัติเหตุเสียก่อน คาลลาฮานลงเอยด้วยการบาดเจ็บที่ไขสันหลังจนร่างกายเป็นอัมพาต ส่งให้เขาต้องใช้ชีวิตบนรถเข็นอย่างยาวนานนับสิบปี

หนังที่ยาวสองชั่วโมงไม่เพียงแต่พาเราไปจับตาดูภาวะประสาทเสียของคาลลาฮานที่ต้อง ‘จำยอม’ รับสภาพของตนเอง และเรียนรู้ที่จะต้องอยู่บนรถเข็น แต่ยังฉายภาพให้เราเห็นถึงความพยายามของนักวาดการ์ตูนผู้นี้ ที่จะไม่กลับไปแตะต้องแอลกอฮอล์ในยามที่เขาทุกข์ใจอีกเช่นกัน

 

Leaving Las Vegas (1995)

 

 

ก่อนหน้าที่ นิโคลัส เคจ จะกลายมาเป็นเจ้าพ่อมีมแห่งโลกอินเตอร์เน็ต นี่คือบทคนติดเหล้าผู้ร้าวรานในชีวิตที่ส่งเขาคว้ารางวัลนักแสดงนำชายยอดเยี่ยมจากเวทีออสการ์มาแล้ว หนังเรื่องนี้ถูกกำกับโดยไมค์ ฟิกกิส โดยเคจรับบทเป็น เบน คนเขียนบทหนังของฮอลลีวูดที่ชีวิตพังยับไปหมด จนหนทางเดียวที่เขาจะประคองทุกอย่างให้ผ่านไปได้ในแต่ละวันคือการดื่มแอลกอฮอล์อย่างหนัก เพื่อไม่ให้รู้สึกรู้สาอะไรมากจนเกินไป ดังที่ตัวละครกล่าวไว้ว่า เหล้าทำให้เกิดความสมดุลในตัวเขา

ความตั้งใจอันเด็ดเดี่ยวของเบนคือ การทิ้งอดีตทุกอย่าง ไม่ว่าจะเป็นเรื่องชีวิตส่วนตัว ครอบครัว การงาน และไปหาสถานที่สักแห่งเพื่อที่จะดื่มจนเมาตายไป เขาจึงเดินทางไปยังลาสเวกัส ที่ซึ่งเขาสามารถหาเหล้าราคาถูกและใช้ชีวิตปาร์ตี้ตลอดทั้งคืนได้ ที่นั่น เขาได้พบกับ เซร่า (อลิซาเบธ ซู เข้าชิงสมทบหญิง) โสเภณีสาวอารมณ์ดีที่รับฟังเขาอย่างตั้งใจทุกครั้งที่เขาระบายอะไรออกมา ทำให้เบนรู้สึกว่า ชีวิตของตนเริ่มจะมีความหมายขึ้นมาอีกครั้ง หากแต่นั่นก็ดูจะสายไปเสียแล้ว เมื่อพิษของเหล้ายาเริ่มทำให้ระบบต่างๆ ในร่างกายของเขาไม่ปกติอีกต่อไป

Leaving Las Vegas ไม่ได้แค่พูดถึงผลพวงของการติดแอลกอฮอล์ หากแต่ยังพูดถึงความสัมพันธ์ในฐานะคนรักของคนคู่หนึ่ง คือเซร่าที่หวังดีกับเบน และพยายามทำให้เขาเลิกเหล้าเพื่อกลับมาเป็นผู้เป็นคนอีกครั้ง แต่เบน ผู้ซึ่งปล่อยวางทุกอย่างไปแล้วกลับพบว่า นี่เป็นเงื่อนไขความสัมพันธ์ที่เรียกร้องอะไรจากเขามากเกินไป ทำให้เขาดำดิ่งไปสู่โลกของการ ‘ดื่มเพื่อลืมเธอ’ มากขึ้น จนนำไปสู่โศกนาฏกรรมในที่ท้ายที่สุด

 

เคยมีคนกล่าวไว้ว่า ‘ดูหนัง ดูละคร แล้วย้อนดูตัว’ แต่อันที่จริงแล้ว หนังหรือละครแต่ละเรื่องต่างมีเศษเสี้ยวความจริงของชีวิตผู้คนปะปนอยู่อย่างละเล็กอย่างละน้อย ซึ่งคุณคงเห็นแล้วว่า จุดพลิกผันในชีวิตของ 5 ตัวละครที่กล่าวมาต่างเริ่มต้นด้วยการดื่มแอลกอฮอล์อย่างหนัก แต่จุดหมายปลายทางของแต่ละตัวละครไม่เหมือนกัน บางคนดี บางคนร้าย บางคนกระทบคนรอบข้างอย่างรุนแรง สิ่งที่เราเรียนรู้ได้จากตัวละครเหล่านี้ก็คือ การดื่มแอลกอฮอล์มากเกินไปไม่ได้ก่อให้เกิดผลดีกับใคร โดยเฉพาะตัวผู้ดื่มเอง

อย่าลืมว่า ชีวิตของคุณไม่ใช่ตัวละคร ที่เมื่อผู้กำกับสั่งคัทแล้วจะวางขวดเหล้าลงได้ง่ายๆ ถ้าต้องการจะดื่ม ดื่มอย่างมีสติ มิเช่นนั้น คุณอาจจะพบว่า ตัวเองตื่นมาในห้องที่สภาพเละยิ่งกว่าแรดบุกทะลวงก็เป็นได้


เรื่องและภาพ: ทีมงาน Alcohol Rhythm

Related Articles