‘แก้วเหล้านั้นยังสำคัญอยู่ไหม?’ มองการบำบัดสุราผ่านหลักปรัชญาอัตถิภาวนิยม

August 13, 2019


“ถ้าคุณรู้แล้วว่า ภาพในอนาคตของคุณไม่จำเป็นต้องมีเหล้าอยู่ แล้วแก้วนั้นยังจะสำคัญกับคุณอยู่ไหม?”

นี่คือประโยคที่ พงษ์มาศ ทองเจือ นักจิตวิทยาการปรึกษา บอกกับเราว่าเป็นประโยคคลาสสิกในช่วงการบำบัดของเขากับผู้ป่วยที่มีอาการติดสุรา

การบำบัดสุราโดยการพูดคุยกับนักจิตวิทยาอาจไม่ใช่เรื่องแปลก แต่ที่แปลก หรือถ้าจะใช้คำให้ถูกคือ ‘น่าสนใจ’ คือ การที่นักจิตวิทยามากประสบการณ์ผู้นี้นำเอาหลักปรัชญา ‘อัตถิภาวนิยม (Existentialism)’ มาประยุกต์ใช้ในการบำบัดสุรา

หลักปรัชญากับการบำบัดสุรา ฟังดูแล้วเหมือนเหรียญสองด้านที่ไม่น่าจะมาบรรจบกันได้ แต่จากการพูดคุยกับพงษ์มาศทำให้เราเห็นว่า จริงๆ แล้ว สองเรื่องนี้เกี่ยวข้องสัมพันธ์กันอย่างไม่น่าเชื่อ และเป็นอีกหนึ่งทางเลือกที่น่าสนใจไม่แพ้ทางเลือกอื่นใด

“แอลกอฮอล์อาจจะเป็นสิ่งหนึ่งที่ผู้รับบริการใช้เพื่อรับมือกับปัญหาในอดีตหรือแม้กระทั่งปัจจุบัน ซึ่งหลักอัตถิภาวนิยมนี้จะช่วยเอื้อให้ผู้รับบริการสำรวจตนเองว่า ความหมายในชีวิตของเขาคืออะไร เป้าหมายคืออะไร และแน่ใจหรือเปล่าว่าแอลกอฮอล์ไม่ได้ขัดขวางการไปถึงเป้าหมายของเขา หลักสำคัญคือการไม่ได้ชวนให้เลิกเหล้า แต่ชวนให้เกิดกระบวนการเปลี่ยนแปลงในภาพรวมมากกว่า”

Alcohol Rhythm เปลี่ยนจังหวะชีวิตคนติดเหล้า ขอพาคุณร่วมค้นหา และมองปัญหาในขวดเหล้าผ่านบทสนทนากับพงษ์มาศ ว่าด้วยเรื่องหลักอัตถิภาวนิยม การนำหลักดังกล่าวมาประยุกต์ใช้กับการบำบัดสุรา ปัญหาเรื่องการไม่เข้าถึงบริการบำบัดรักษาในประเทศไทย ไปจนถึงประสบการณ์ของเขาในการลงพื้นที่บำบัดคนติดสุราและสารเสพติด

 

 

หลักอัตถิภาวนิยม (Existentialism) คืออะไร และเริ่มนำมาใช้ในทางการแพทย์ได้อย่างไร

ต้องบอกก่อนว่า โดยพื้นฐานแล้วหลักอัตถิภาวนิยมเป็นหลักปรัชญา ซึ่งว่าด้วยเจตจำนงและอิสรภาพของมนุษย์ ต่อมา จึงเริ่มมีจิตแพทย์นำกระบวนการความเชื่อนี้มาประยุกต์ใช้ในทางการแพทย์ โดยคนที่มีชื่อเสียงที่สุดคือ Viktor Frankl จิตแพทย์และนักเขียนชาวออสเตรีย ซึ่งเป็นคนแรกๆ ที่ปรับแนวคิดนี้มาใช้

สาเหตุที่ตัวทฤษฎีนี้เริ่มดังขึ้นมาเพราะ Frankl ได้เขียนหนังสือชื่อดังระดับโลกขึ้นมาหนึ่งเล่มชื่อ Man’s Search for Meaning (ซึ่งแปลเป็นภาษาไทยในชื่อ ‘ชีวิต ความหมาย และค่ายกักกัน’) โดยเขียนเกี่ยวกับชีวิตของตนในช่วงที่โดนจับไปอยู่ในค่ายกักกันของนาซี คนที่รักโดนฆ่าหมด พอมองไปรอบๆ ก็เห็นว่าทุกคนล้วนหมดอาลัยตายอยาก ไม่อยากมีชีวิตอยู่ต่อแล้ว แต่ว่าเขาเชื่อในหลักอัตถิภาวนิยมอยู่แล้ว และมองว่า แม้สถานการณ์จะบีบคั้นแบบนี้ เขาก็ยังมีสิทธิเลือกได้ เขาเลยคิดว่า ตนจะอยู่ตรงนี้ จะคอยช่วยคนอื่นในฐานะแพทย์ เขาจึงก้าวข้ามผ่านเหตุการณ์นั้นมาได้

Frankl มองว่าสาระของหลักอัตถิภาวนิยมอยู่ที่คำว่า ความหมาย (Meaning) อิสรภาพ (Freedom) ทางเลือก (Choice) และความรับผิดชอบ (Responsibility) 4 คำนี้จึงกลายมาเป็นหัวใจหลักในวิธีการบำบัดแบบอัตถิภาวนิยม

 

คำหลัก 4 คำมีความหมายอย่างไรบ้าง

คำแรกคือ อิสรภาพ (Freedom) ซึ่งเหมือนจะคลุมคำอีกสามคำที่เหลือ คือหลักความเชื่อของอัตถิภาวนิยมในยุคที่ยังเป็นปรัชญาคือ มนุษย์มีเจตจำนงเป็นของตัวเอง ไม่ได้ตกอยู่ใต้อิทธิพลของอะไรที่บีบอัดเข้ามา และเชื่อว่ามนุษย์มีอิสรภาพในการเลือก จะเลือกวิธีคิดหรือวิธีมองเอง เช่น คนถูกล้อว่าอ้วนเหมือนกัน แต่ใช่ว่าทุกคนจะเจ็บเท่ากัน บางคนอาจจะมองว่าตลก บางคนอาจจะเฉยๆ แต่บางคนก็รู้สึกเจ็บปวดจริงๆ ตรงนี้หลักอัตถิภาวนิยมบอกว่า คุณต้องตระหนักรู้ว่าคุณมีสิทธิเลือก และการที่คุณเจ็บปวดก็เป็นทางที่คุณเลือกเอง เพราะแบบนี้ คำว่าอิสรภาพเลยเชื่อมกับคำว่าทางเลือก (Choice) คือคุณตระหนักแล้วหรือยังว่าคุณมีอิสรภาพในการเลือก แล้วได้รับผิดชอบการเลือกนั้นหรือยัง หลายครั้ง เรายังไม่ได้รับผิดชอบเลย แต่กลับบอกว่าชีวิตเจ็บปวดมาก ดังนั้น นักจิตวิทยาหลายคนที่ใช้หลักอัตถิภาวนิยมเข้ามาช่วย ก็จะเน้นไปที่การทำให้ผู้รับบริการ (Client) แต่ละคนตระหนักว่า ที่คุณยังเจ็บปวดอยู่แบบนี้ เพราะคุณเลือกเอง

แต่ในมุมมองของ Frankl จะเน้นที่ความหมาย (Meaning) ถึงขนาดที่สร้างทฤษฎีแยกออกมาเลย คือที่มนุษย์ทุกข์หรือรู้สึกไร้ค่าจนฆ่าตัวตาย เพราะเราไม่รู้ว่า เราอยู่บนโลกนี้เพราะอะไร Frankl จึงจะเน้นไปที่เป้าหมายหรือความหมายในชีวิต ฉะนั้น คำว่าทางเลือกกับความรับผิดชอบ (Responsibility) ก็จะมาโยงกับความหมายอีกทีว่า คุณรับผิดชอบต่อความหมายในชีวิตของคุณหรือยัง คุณลองพูดสิ่งที่ตนเองต้องการออกไปหรือยัง แล้วจะพูดออกไปแบบไหน ตรงนี้นักจิตวิทยาก็จะช่วยขยายให้ชัด และช่วยผู้รับบริการสื่อสารด้วย

 

อะไรทำให้คุณสนใจหลักอัตถิภาวนิยม

ผมทำงานในพื้นที่สลัมค่อนข้างบ่อย สิ่งที่ผมเห็นคือ คนในสลัมไม่มีความฝัน ไม่มีเป้าหมาย เหมือนว่าเขาไม่กล้าฝัน เพราะสภาพแวดล้อมที่บีบเข้ามา ทำให้ฝันไปก็เจ็บปวด แต่ผมยังเชื่อในเจตจำนงของมนุษย์ว่าจะก้าวข้ามผ่านไปได้ แต่มันต้องมีตัวช่วยบ้างไหม คงไม่ใช่ทุกคนที่ไม่มีใครสนับสนุน แต่จะลุกขึ้นมาแข็งแกร่งเลย ผมเคยคุยกับน้องๆ ในสลัม ซึ่งเอาตรงๆ มันก็ไม่ได้เปลี่ยนอะไรมาก ทุกคนก็คงต้องอยู่แบบนั้นเหมือนเดิม แต่สิ่งที่เปลี่ยนไปชัดเจนคือสายตา คือพลังใจและความคิดที่ว่าต้องสู้ต่อไป เราต้องยอมรับว่าบางปัญหาสำหรับบางคน ปรับอะไรไม่ได้เลยนอกจากสู้ต่อไป

 

ได้ยินว่าคุณได้ไปศึกษาเกี่ยวกับหลักอัตถิภาวนิยมที่สหรัฐอเมริกาอยู่ช่วงหนึ่ง ตอนที่อยู่ที่นั่น คุณเจออะไรที่น่าสนใจ ที่แตกต่างจากประเทศไทย และสามารถนำมาประยุกต์ใช้ได้บ้างไหม

ต้องบอกก่อนว่า หลักอัตถิภาวนิยมมักถูกโจมตีว่าไม่ค่อยมีโครงสร้าง (Structure) ชัดเจน ดูอิสระเกินไปที่จะหยิบคำไหนขึ้นมาก็ได้ แต่พอผมไปที่สหรัฐฯ ก็พบว่ามันไม่ได้ลอยขนาดนั้น แม้คำพวกนี้จะบิดอย่างไรก็ได้ แต่สมมติมีเคสคนอยากฆ่าตัวตายมา เขาคงไม่มีแรงพอจะพูดเรื่องความรับผิดชอบใช่ไหมล่ะ เราก็พูดเรื่องความหมายไปก่อน แต่ถ้าคนที่แข็งแรงระดับหนึ่ง ก็อาจจะทำอีกแบบหนึ่ง ผมเลยมองว่า ที่นั่นพัฒนาไปถึงจุดที่เริ่มมีโครงสร้างขึ้นมาแล้ว

อีกอย่างหนึ่งคือ ตอนแรกหลักนี้ไม่ได้ถูกนำมาประยุกต์ใช้เพื่อการเลิกสารเสพติดเลย ตอนนั้นผมก็ยังนึกไม่ออกว่าจะเอามาเชื่อมกับเหล้า หรือสารเสพติดชนิดอื่นได้อย่างไร แต่ต่อมา ผมก็ได้เห็นเขานำมาประยุกต์ใช้กับเหล้าหรือสารเสพติด ซึ่งแตกต่างจากไทยที่ยังใช้กับปัญหาทั่วไปอยู่

 

ที่บอกว่าหลักคิดอัตถิภาวนิยมในสหรัฐฯ ดูจะมีโครงสร้างมากกว่าที่ไทย คุณคิดว่าทำไมถึงเป็นแบบนี้

อย่างแรกคือ นักจิตวิทยาในสหรัฐฯ มีเยอะ แต่ในไทยมีน้อย หายาก โดยเฉพาะสายนักจิตวิทยาการปรึกษา (Counselling) จะมีสักกี่คนที่เลือกมาเรียนเจาะเรื่องนี้ล่ะ แต่ที่สหรัฐฯ จะมีโรงเรียน  (School) แต่ละด้านไปเลย แล้วแนวคิดนี้ยังอยู่ร่วมกับเรื่องมนุษยนิยมด้วย ถ้าใครมาเรียนเกี่ยวกับเรื่องนี้ ก็พลอยได้หลักคิดนี้ไปด้วย แต่ที่ไทย มีคนเชี่ยวชาญเรื่องนี้ไม่กี่คน บวกกับภาระงานที่ค่อนข้างหนัก ทำให้ไม่มีใครมาเขียนหนังสือ หรือเขียนโครงสร้างออกมาเป็นรูปธรรมให้คนเรียนได้

 

อะไรเป็นตัวจุดประกายให้คุณนำหลักอัตถิภาวนิยมมาประยุกต์ใช้กับการบำบัดสุรา

ด้วยความที่ผมเห็นมากับตาตอนที่อยู่สหรัฐฯ ว่า มันได้ผลดีมาก คือหลักนี้จะเจาะที่ตัวคุณค่า ความหมายไปเลย จะมองว่า ที่คุณเลือกทำแบบนี้ๆ เพราะคุณลืมความหมายในการมีชีวิตอยู่ของคุณไป ถ้าใครตอบได้ว่า ความหมายในชีวิตของตนคืออะไร ก็จะไม่ทำพลาด เช่น ถ้าพ่อคนหนึ่งอยากเลี้ยงลูกให้โต เรียนจบ เป็นคนดีของสังคม ถามว่าเขาจะแวะกินเหล้าทุกศุกร์ไหมล่ะ คงไม่หรอก หลักนี้จะมองว่า ยิ่งความหมายของคุณชัด พอถึงเวลาที่คุณต้องเลือกระหว่างความหมายกับของรายทาง เช่น เหล้า คุณจะเลือกอันที่ชัดเจนที่สุด แต่ถ้าคุณมองไปถึงอนาคตแล้วยังไม่รู้ คิดว่าใช้ชีวิตไปก่อนแล้วกัน คุณก็หลงใหลไปกับของข้างทางได้ง่ายมาก

 

ลองยกตัวอย่างที่เป็นรูปธรรมให้เราฟังได้ไหม

ก่อนที่ผมจะยกตัวอย่าง ขอออกตัวก่อนว่า ทุกๆ เรื่องราวที่ผมนำมาแบ่งปัน ผมได้มีการขออนุญาตผู้มารับบริการแล้ว ซึ่งทุกคนยินดีที่จะให้ผมแบ่งปันเรื่องราวของพวกเขา หากจะทำให้เกิดประโยชน์ต่อส่วนรวม ส่วนเรื่องตัวอย่างที่ผมเจอคือ ลุงคนหนึ่ง ติดเหล้าหนักจนถึงขั้นมือไม้สั่น ตาแดง ผมเลยถามว่า ลุงมีเป้าหมายอะไรในชีวิต แกตอบไม่ได้นะ จริงๆ เราไปถามแบบนี้กับคนทั่วไป ไม่ต้องติดเหล้าหรอก เขาก็ยังตอบไม่ได้เลย ลุงก็ตอบว่าไม่รู้ ลุงแก่แล้ว เดี๋ยวก็คงตาย แต่ด้วยหน้าที่และความเชื่อของนักจิตวิทยา เรามองว่า ทุกคนมีเป้าหมาย แต่อาจจะหลงลืม ไม่ได้คิดถึงมัน ผมเลยลองถามกลับไป ขยายความเป็นบวกโดยพูดถึงหลานของเขา เช่น ความสุขของคุณลุงคืออะไร หลานใช่ไหม คิดถึงตอนหลานยิ้มสิ แล้วถ้าหลานโตจะเป็นอย่างไร อยากเห็นเขารับปริญญาไหม คือถ้าเราไม่ถาม คุณลุงก็คงยังนึกไม่ออกว่า นั่นคือภาพที่แกอยากจะเห็น เราก็พยายามขยายตรงนั้นให้มันชัดเจนที่สุด แล้วบอกว่า คุณลุง ที่พูดมามันสวยงามมากเลยนะ แต่คุณลุงอายุเท่าไหร่แล้วตอนนี้ แล้วถ้าคุณลุงยังดื่มเหล้าอยู่แบบนี้ จะได้เห็นวันนั้นไหม คือเราไม่ได้บอกเขาว่าเหล้าไม่ดี แต่เขาก็ต้องแวบขึ้นมาว่า เหล้าแก้วนี้แลกกับการที่อาจจะไม่ได้เห็นภาพหลานรับปริญญา แล้วถ้าภาพนั้นสำคัญกับเขาจริงๆ เขาก็จะต้องเพลาการดื่มลง

 

แล้วหลักอัตถิภาวนิยมมองการดื่มสุราอย่างไร

อันหนึ่งคือ การมองว่าเหล้าไม่ใช่ปัญหา แต่เป็นการรับมือ (Coping) แบบหนึ่ง เหมือนอย่างเราเจ็บปวดเพราะอะไรสักอย่างมา เราก็มีทางเลือกแล้วว่าจะทำอะไร นั่งสมาธิ ปาร์ตี้กับเพื่อน หรือดื่มเหล้า เพราะฉะนั้น หลักนี้เลยมองว่า คนที่ติดเหล้าเพราะเขาเลือกรับมือด้วยเหล้า แต่จริงๆ เหล้าไม่ใช่ปัญหา เพราะฉะนั้น การทำงานในช่วงแรกจะถามผู้รับบริการว่า เหล้านี้ดีอย่างไร เหล้านี้ช่วยอะไรคุณ บางคนตอบว่า กินเหล้าทำให้ลืม หรือไม่มีเพื่อน เหงาเลยต้องกินเหล้า บางคนก็บอกว่ากลัวการเข้าสังคม แต่เหล้าทำให้กล้าเข้าสังคม จะเห็นว่าแต่ละคนตอบไม่เหมือนกันเลย แต่เราจะย้อนรอยกลับไปได้แล้วว่า ปัญหาอะไรซ่อนอยู่หลังแก้วนั้น อาจจะเป็นความเหงา ความเจ็บปวด หรือกลัวที่จะเข้าสังคม หลักอัตถิภาวนิยมจะทำงานกับปัญหาเบื้องหลังนั้น แล้วถ้าวันหนึ่ง เขาไม่เหงา ไม่เจ็บปวด ไม่กลัวการเข้าสังคมแล้ว นักจิตวิทยาจะถามผู้รับบริการคนนั้นว่า เมื่อปัญหาตอนแรกของคุณได้รับการแก้ไขแล้ว เหล้าแก้วนั้นยังสำคัญกับคุณอยู่ไหม

หลักนี้ทำงานกับ 3 มิติ คือจัดการกับทางเลือกที่เป็นการรับมือผิดๆ ตามด้วยการทำให้เขาเห็นความหมาย เห็นภาพที่สวยงาม และเอาความรับผิดชอบมาปิดท้ายตอนหลังว่า คุณยังจะดำเนินชีวิตแบบนี้ต่อไปไหม เมื่อคุณมีเป้าหมายแล้ว ปัญหาตอนแรกก็ไม่อยู่แล้ว หลักอัตถิภาวนิยมทำงานกับทั้งข้างหน้าและข้างหลัง ข้างหน้าคือชวนให้เห็นภาพสวยงามในอนาคต ข้างหลังคือเบื้องหลังว่า คุณเจออะไรมาก่อนจะมากินเหล้า แล้วจึงปิดท้ายว่า เมื่อคุณเห็นภาพในอนาคต เห็นชีวิตในอนาคตที่คุณอยากใช้แล้ว มันไม่มีเหล้า แล้วแก้วนั้นยังสำคัญกับคุณอยู่ไหม

จะเห็นว่า เราแทบไม่ได้พูดถึงเรื่องเหล้าเลย ไม่ได้บอกว่าเหล้าไม่ดีอย่างไร แต่จะคุยเรื่องอื่น และมาถามปิดทีหลังว่า ยังต้องมีเหล้าอยู่ไหม เคสส่วนใหญ่ก็จะตอบว่าไม่ เพราะเป้าหมายของเขามีพลังมากพอที่จะตอบว่าไม่ เมื่อเขาชัดเจนกับตัวเองมากพอ เขาก็จะเลือกใหม่อีกครั้งหนึ่ง

 

 

จุดเริ่มต้นที่ทำให้คุณนำหลักอัตถิภาวนิยมมาใช้กับคนติดสุราคืออะไร

ผมทำจิตอาสาในพื้นที่สลัมอยู่แล้ว และมีช่วงหนึ่งที่ผมทำงานร่วมกับสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ซึ่งเน้นที่บุหรี่ แต่ผมมองว่า มันคล้ายกันอยู่ จึงนำมาปรับใช้ดู และพบว่า มันก็ใช้ได้ดีในแบบของมัน โดยผมจะทำคล้ายๆ แบบที่ว่าไป คือชวนเขาดูเป้าหมายและความหมายในชีวิตของเขา แต่ปัญหาที่เจอคือ คนตอบไม่ได้ว่า เป้าหมายหรือความหมายของตนคืออะไร อีกปัญหาหนึ่งคือ ตอบได้นะ แต่โยงกลับมาสู่การกระทำในปัจจุบันไม่ได้ว่า มันเชื่อมกันอย่างไร

 

คุณคิดว่า อะไรทำให้เกิดปัญหาที่ว่ามา

ผมคิดว่า เราอาจจะไม่เคยตั้งคำถามกับเรื่องนี้จริงๆ หรือบางคนอาจจะคิดว่า ตั้งเป้าหมายไปก็ไปไม่ถึง เจ็บปวดเปล่าๆ เลยไม่ตั้ง หรือบางคนก็โดนพ่อแม่บังคับมาตั้งแต่เด็ก เลยมองว่าตนไม่ต้องคิดอะไร เพราะชีวิตก็ถูกชี้ถูกสั่งอยู่แล้ว

 

คุณใช้คำว่า ‘เป้าหมายในชีวิต’ กับ ‘ความหมายในชีวิต’ จริงๆ แล้วสองคำนี้เหมือนหรือต่างกันอย่างไรในแง่ของหลักอัตถิภาวนิยม

สองคำนี้ต่างกันโดยสิ้นเชิงเลย เป้าหมายเป็นวิธีเปิดประตูไปสู่ความหมาย ถ้าจู่ๆ จะมาถามว่า ความหมายในชีวิตของคุณคืออะไร มันเป็นปรัชญามากเลย คือยังไม่รู้เลยว่าความหมายในชีวิตคืออะไร (หัวเราะ) เพราะฉะนั้น ต้องเริ่มจากเป้าหมายก่อน โดยเริ่มจากคำถามประมาณว่า ความสุขของคุณคืออะไร คุณชอบหรือภูมิใจในเรื่องอะไร แล้วเราจะตามไปจนเจอความหมายในที่สุด เช่น คุณมีเป้าหมายว่าคุณอยากเป็นครู พอเราย้อนหากลับไปเรื่อยๆ เราก็อาจจะพบว่า ความหมายในชีวิตของคุณคือ การเป็นส่วนหนึ่งในการสร้างคนดีสู่สังคม หรืออยากเห็นเด็กทุกคนยิ้ม

อีกความแตกต่างคือ เป้าหมายสามารถล้มได้ แต่ความหมายไม่เคยถูกฆ่าไปได้ คุณยังรู้ว่า คุณต้องทำอะไรเพื่อไปให้ถึงความหมายในชีวิต ต่อให้เป้าหมายตรงนี้จะไม่สำเร็จ ก็ยังมีวิธีอื่นอีกมากมายที่จะไปถึงความหมายในชีวิต ดังนั้น ความหมายในชีวิตจะมีพลังและยืดหยุ่นกว่า มันจะอยู่ตรงนั้น และอยู่ตลอดไป

กลับมาที่การบำบัดสุรา เจอข้อจำกัดอะไรบ้างในการประยุกต์ใช้หลักอัตถิภาวนิยมกับการบำบัดสุรา

ต้องยอมรับอย่างหนึ่งว่า หลักนี้ใช้ได้ดีมากๆ ในสหรัฐฯ เพราะวัฒนธรรมเขาคือเสรีภาพ พออายุ 18 ปีก็เริ่มออกจากบ้าน ดูแลตัวเอง เพราะฉะนั้น เขามีอิสระในการเลือกแบบเกือบ 100% แต่ในไทย ผมว่ามันมีกำแพงกั้นอยู่ บ้านของบางคนเป็นคนจีน ไม่ฟังพ่อแม่นี่แย่เลยนะ แล้วยังมีความคิดทำนองว่า ถ้าเราไม่เชื่อพ่อแม่ เราจะเป็นเด็กไม่ดี ไม่กตัญญูด้วย อีกอย่างหนึ่ง จะมีเด็กไทยอายุ 18-19 ปีสักกี่คนที่ทำงานจ่ายค่าเทอมเองล่ะ เพราะฉะนั้น พอมาถึงจุดหนึ่งที่เราคิดว่า เรากล้าเถียงพ่อแม่แล้ว เราก็ยังเกิดคำถามอีกว่า แล้วถ้าไม่ได้ค่าขนมจะอยู่อย่างไร

ผมพบอย่างหนึ่งว่า เคสที่ติดสุรามาหนักๆ เขาไม่ได้เพิ่งเจ็บปวดหรือเพิ่งติดมาเมื่อเดือนที่แล้ว แต่เขามีภาวะที่กดดันและเครียดมานานมาก คือรู้ว่าตัวเองอยากทำอะไร อยากเลือกอะไร แต่ไม่กล้าแสดงความต้องการออกไป เลยตัดสินใจหนีความจริงโดยใช้การกินเหล้าให้ลืม จึงเกิดการใช้เหล้ามาเป็นการรับมือ เพราะฉะนั้น อุปสรรคในช่วงแรกสำหรับผมคือ การที่เราฝ่ากำแพงวัฒนธรรมไปไม่ได้ แต่ต่อมา เราเริ่มทำการบำบัดแบบครอบครัวมากขึ้น คือเชิญครอบครัวของเขามาด้วย ให้เขาได้รับฟังว่าผู้มารับบริการเจ็บปวดอย่างไร ทุกข์ใจอย่างไร ให้พวกเขาได้คุยกัน ก็อาจจะช่วยแก้ปัญหาตรงนี้ไปได้บ้าง

 

ในทางการแพทย์ พอบอกว่าติดเหล้าคือการที่เหล้าออกฤทธิ์ต่อสมอง แล้วในทางจิตวิทยามองการติดเหล้าแบบไหน

จริงๆ การติดเหล้าก็โยงกับสมองนั่นแหละ แต่พอใช้คำว่าสารเสพติด ทางจิตวิทยาจะมองสองมุมคือ ติดทางกายกับติดทางใจ แล้วคนส่วนใหญ่ติดทั้งคู่ แต่กว่าจะติดทางกาย มันต้องติดทางใจมาก่อน เช่น คุณมีความสุขกับการกินเหล้าทุกอาทิตย์ นี่คือใจ คงไม่ใช่สมองติดเหล้าแบบกินทุกอาทิตย์ติดต่อกันครึ่งปีใช่ไหมล่ะ แต่มันคือการที่คุณทำมาอย่างยาวนาน เป็นการรับมือที่สร้างปัญหาใหม่ให้เกิดขึ้นคือ ขาดเหล้าไม่ได้ ไม่กินจะอยาก จะทรมาน เพราะฉะนั้น บางทีการให้ยาก็ช่วยได้ แต่พอจุดหนึ่งก็ปฏิเสธไม่ได้ว่า ต่อให้จะติดเหล้ายังไง แต่พลังใจจะพาคุณผ่านไปได้ในที่สุด

แล้วจะสร้างพลังใจจากอะไร คือสำหรับบางคน เราต้องถามว่า ถ้าคุณทิ้งเหล้าไปในวันนี้ แล้วจะเจอภาพที่สวยงามในอนาคตข้างหน้า คุณจะเอาไหม แต่บางคนยังไม่รู้ว่าข้างหน้าจะเป็นอย่างไร ก็เลยคว้าเหล้าเอาไว้ก่อน เพราะเหล้าช่วยเราวันนี้ ธรรมชาติของคนคือ จะคว้าความสุขในปัจจุบันไว้ก่อน ถามว่าเขารู้ไหมว่า ถ้ากินเหล้าต่อไปอีกห้าหกปีต้องแย่แน่ๆ เขารู้ แต่แก้วนี้ก็ยังเป็นความสุขวันนี้อยู่ เขาเลยหนี ไม่มองภาพอนาคตข้างหน้าชัดๆ เพื่อให้แก้วนี้ยังคงอยู่ หน้าที่ของนักจิตวิทยาคือ การทำให้ภาพในอนาคตนั้นชัดขึ้น และทำให้เห็นคุณค่าชัดๆ เขาจะได้รู้สึกว่า ภาพในอนาคตจะดูดีกว่าเหล้าแก้วนี้

 

เคสอะไรที่คุณจำได้จนถึงทุกวันนี้

ผมเจอผู้มารับบริการอายุประมาณ 40 ปี พ่อแม่พามาเพราะว่าลูกไม่ยอมทำอะไรเลยนอกจากดื่มเหล้าจนติดหนัก เขาเป็นลูกคนกลาง และเชื่อว่าพ่อแม่รักแต่พี่กับน้อง คนนี้เป็นคนหนึ่งที่ตอบไม่ได้ว่า เป้าหมายในชีวิตคืออะไร เพราะฉะนั้น ไม่ต้องพูดถึงเรื่องความหมายเลย

แต่พอคุยไปแล้ว ถึงได้เจอเหตุผลที่ทำให้เขาไม่รู้เป้าหมายในชีวิต คือย้อนไปในตอนเด็ก เขาเคยคิดว่า จะทำให้พ่อแม่ภูมิใจ แต่ในหลายๆ จังหวะของชีวิต เขารู้สึกว่า พ่อแม่ไม่รักเขา และรู้สึกว่าตนเป็นส่วนเกินของบ้าน เป้าหมายของเขาเลยเต็มไปด้วยความเจ็บปวด เขาจึงคิดว่า ใช้ชีวิตเพื่อตัวเองดีกว่า แต่เพราะยังไม่รู้ว่าตนเองต้องการอะไร เขาจึงทำตามความต้องการของพ่อแม่ทุกอย่าง โดยเชื่อว่า ถ้าทำแบบนี้แล้ว พ่อแม่ก็จะรักเขา

จนกระทั่งถึงจุดที่เขารู้สึกว่า ตนทำตามพ่อแม่มาทั้งชีวิตแล้ว เรียนจบอย่างดี มีงานมั่นคงทำ แต่ยังรู้สึกว่าไม่มีใครรักอยู่ดี ความเจ็บปวดตรงนี้นำไปสู่การดื่มเหล้า เพราะเวลาดื่ม เขาไม่ต้องมานั่งคิดว่า จะมีใครรักฉันไหม ก็ตัวเบาๆ ลอยๆ สบายๆ ไป จากไปกินเหล้าเฮฮากับเพื่อน ก็เริ่มชอบบรรยากาศ แล้วก็เริ่มกินเวลาอยู่คนเดียว

ผมเลยถามเขาไปว่า เขาเคยถามตัวเองบ้างไหมว่าอยากใช้ชีวิตแบบไหน ตัวเขาตอบผมว่า เพราะเขารู้สึกว่าตนเองไม่เป็นที่ถูกรัก เขาจึงอยากเป็นผู้ให้ความรัก และด้วยความที่เขาเก่งภาษาอังกฤษ เขาเลยไปเป็นอาสาสมัครสอนภาษาอังกฤษให้เด็กในสถานรับเลี้ยงเด็กกำพร้า ตรงนี้ที่เขาเริ่มรู้สึกว่า ถ้าเด็กๆ รู้ว่าอาจารย์ของตนติดเหล้าจะดีหรอ ครั้งนั้นเป็นครั้งแรกที่เขารู้สึกว่าแก้วเหล้าของตัวเองสั่นคลอน แต่ก็ยังเลิกไม่ได้นะ เพราะถ้าวันไหนที่ทะเลาะกับพ่อแม่ เขาก็จะดื่มเหล้าอีก แล้วก็ติดลมไปอีกสองสามวัน

 

เท่ากับว่าเคสนี้ต้องนำครอบครัวเข้ามาร่วมด้วย

ใช่ครับ ผมคิดว่า ต้องลองเอาคุณพ่อคุณแม่มาคุยด้วย พอทุกคนมาเจอกันแล้ว ผมก็เริ่มถามเขาก่อนโดยยังไม่ให้พ่อแม่พูด ให้เขาอธิบายว่า ช่วงไหนหรือการกระทำไหนของพ่อแม่ที่ทำให้เขาคิดว่าพ่อแม่ไม่รัก พอผู้มารับบริการพูดจบแล้ว พ่อแม่ของเขาก็ร้องไห้ เพราะไม่เคยรู้เลยว่าลูกคิดแบบนี้ พวกเขาแค่คิดว่าลูกคนนี้เก่งที่สุด ไม่ต้องดูแลอะไรมาก เหมือนในละครเลย แต่ละครก็สร้างมาจากชีวิตจริงนั่นแหละ (หัวเราะ) แล้วพ่อแม่ของผู้มารับบริการคนนี้คิดว่า การไถ่ถามสารทุกข์สุขดิบคือการให้ความรักแล้ว แต่ลูกกลับบอกว่า พ่อแม่ถามแต่เรื่องที่ตนเองสนใจ

แต่ถ้าเรามองดีๆ จะเห็นว่า ก็เพราะลูกยอมพ่อแม่ทุกอย่าง พ่อแม่เลยคิดว่านี่คือความรักแล้ว แต่ไม่ใช่สำหรับลูก สุดท้าย ผมเลยถามว่าพ่อแม่อยากบอกอะไร เขาก็บอกว่า พ่อแม่ภูมิใจและรักลูก ถ้าเพียงแต่ลูกบอกว่าไม่อยากได้อะไรก็จะไม่บังคับ แต่ลูกกลับไม่เคยพูดออกมาเลย

 

เท่ากับว่านี่คือทางเลือก (Choice) ในหลักอัตถิภาวนิยมที่คุณพูดถึงในช่วงแรก

ใช่ครับ จะเห็นว่า เขาโทษทุกคน แต่เขาเองก็ไม่เคยบอกว่า ตนเองอยากได้อะไร แบบนี้ถือเป็นการโยนความรับผิดชอบหรือเปล่า สุดท้าย เขาก็รู้สึกว่า ตนเองผิดครึ่งหนึ่งเลยที่ไม่ยอมพูดความรู้สึกออกไป แต่กลับคาดหวังว่าพ่อแม่ต้องรู้ ครอบครัวนี้เลยตั้งกฎขึ้นมาใหม่ จะทานข้าวร่วมกันกี่วันก็ว่าไป แล้วพ่อแม่ก็ไปดูเขาสอนภาษาอังกฤษด้วย

พอมาเจอผมอีกที ผมถามกลับว่าเขารู้สึกอย่างไร เขาตอบว่าเขาไม่น้อยใจแล้ว มีความสุข แก้วนั้นไม่สำคัญกับเขาอีกต่อไป เมื่อดูสิ่งที่พ่อแม่ทำมาทั้งหมด ถ้าเขายังดื่มเหล้าต่อ ก็คงเป็นการทรยศตัวเองและความรักของทุกคน เขาบอกผมว่า เขาไปเทเหล้าที่บ้านลงส้วมหมดเลย แบบคงไม่เจอกันอีกแล้ว

 

 

ปัจจัยด้านชนชั้น สถานะทางสังคม หรือรายได้ มีผลไหมกับการใช้หลักอัตถิภาวนิยมในการบำบัดคนติดสุรา

ถ้าถามผม ผมว่าการใช้หลักนี้กับคนรายได้น้อย หรือคนในชุมชนแออัดจะยากกว่า แต่มันก็เป็นไปได้อยู่นะ คือถ้าคนมีเงิน เขาสามารถหาวันว่างไปทำจิตอาสาได้ มันก็ง่ายอยู่ที่เขาจะแตะด้านบวกในตัวเอง แต่ถ้าเป็นคนรายได้น้อยที่ต้องทำงานเจ็ดวัน จะทำอย่างไรต่อล่ะ การศึกษาของผู้ปกครองก็สำคัญนะ

แต่ที่ผมบอกตอนแรกว่าเป็นไปได้ เพราะผมเคยเจอเคสหนึ่งที่ประทับใจมาก คือเขาเป็นเด็กโรงน้ำแข็ง ได้ค่าแรงรายวัน ทำงานเจ็ดวัน พอทำงานเสร็จตกกลางคืนก็ไปดื่มเหล้าขาว เพราะเขาบอกว่า เหล้าขาวช่วยบรรเทาอาการปวด ทำให้เขานอนหลับได้ เป้าหมายนี่ยังไม่ต้องพูดถึงเลย ขอให้จ่ายค่าเช่าห้องในเดือนๆ หนึ่งทันก็ดีแล้ว

เคสนี้ผมจึงยังไม่แตะเรื่องความหมายในชีวิต แต่แตะเรื่องทางเลือกกับความรับผิดชอบแทน โดยลองให้เขาพิจารณาดูว่า ถ้าไม่เอาเงินไปกินเหล้าก็จะมีเงินจ่ายค่าเช่าห้อง และแนะนำให้เขาลองไปเป็นอาสาสมัครชุมชน ลองออกกำลังกายโดยให้นักสังคมสงเคราะห์มาแนะนำ เขาก็ทำตามคำที่ผมบอกนะ สุดท้าย เขาก็เลิกเหล้าได้ แล้วบอกผมว่า เขาเป็นเด็กยกน้ำแข็งที่มีความสุขที่สุดในโลก

 

เท่าที่เจอเคสต่างๆ มา คุณคิดว่าอะไรเป็นจุดเด่นของหลักอัตถิภาวนิยมที่แตกต่างจากหลักคิดหรือวิธีอื่นๆ

จะเห็นว่า หลักนี้แทบไม่ได้แตะเรื่องเหล้าเลย ไม่ได้บอกว่า กินเหล้าไม่ดีอย่างไร แต่ชวนคุยเรื่องชีวิตแทน เช่น ชีวิตคุณตอนนี้เป็นอย่างไร คุณมีความสุขกับเรื่องอะไร พอเป็นแบบนี้คนก็จะไม่ค่อยมีกำแพงกั้น เพราะเราชวนคุยแต่เรื่องบวก เรื่องดีๆ คนก็เลยอยากคุยต่อ เพราะวันๆ หนึ่งเราคงไม่ได้มีบทสนทนาด้านบวกประมาณนี้มาก ดังนั้น กว่าบทสนทนาจะไปถึงเรื่องเหล้า เราก็คุยเรื่องดีๆ กันไปเยอะแล้ว

แล้วพอเรามาพูดเรื่องเหล้า เราก็ไม่ได้บอกว่าต้องเลิก แต่จะบอกในแง่ที่ว่า เหล้าอาจจะเป็นอุปสรรคขัดขวางไม่ให้คุณไปถึงสิ่งที่คุณชอบ หรือได้เห็นภาพที่คุณอยากเห็น นี่เป็นเทคนิคที่ทำให้คนติดสุรารู้สึกว่า เราอยู่ฝั่งเดียวกับเขาตั้งแต่แรก เพราะถ้าเราเน้นไปที่เหล้าตั้งแต่เริ่ม แล้วเขารู้สึกว่า เหล้ายังให้อะไรเขาอยู่ เขาจะรู้สึกว่าเราอยู่ฝั่งตรงข้าม พอรู้สึกแบบนี้ เขาจะหวงแก้วเหล้าและสร้างกำแพงขึ้นมาทันที แต่พอใช้หลักนี้แล้ว มันไม่มีกำแพงแต่แรก ชวนคุยเหมือนเพื่อนคุยกัน พอจะเอาเหล้าออกไป ก็ง่ายแล้วเพราะเขาไม่ได้หวงแก้วนั้นอีกต่อไป วันที่เราถามเขาว่า เอาแก้วเหล้านี้ออกไปจากชีวิตไหม ก็คือวันที่เขารู้สึกว่า มันก็ไม่ใช่แล้วเหมือนกัน

อีกอย่างหนึ่งคือ ความติดเหล้าเป็นความอยาก เป็นความรู้สึก (Feeling) ไม่ใช่ความคิด (Thought) ถ้าเราจะบอกว่า ไม่ควรดื่มเพราะอะไร นี่คือความคิด และความคิดจะแพ้อารมณ์ความรู้สึก ถ้าเราบำบัดเขาโดยใส่ความคิดลงไป วันหนึ่งเมื่อความอยากดื่มลอยขึ้นมา คนดื่มก็ต้องเอาข้อมูลมาสู้กับความอยาก ซึ่งความอยากดื่มย่อมเอาชนะได้ แต่ถ้าเราปูข้อมูล เรื่องราวทุกอย่างในชีวิตเขา ความภูมิใจ ความรู้สึกดี พอเขารู้สึกอยากดื่มเหล้า เขาก็จะเอาความรู้สึกดีๆ พวกนี้ขึ้นมาสู้กับความอยาก แล้วความอยากก็จะแพ้ไป นี่เลยเป็นการป้องกันที่ค่อนข้างแข็งแรง

 

การจะคุยแบบนี้ได้ ความสัมพันธ์ของนักจิตวิทยากับผู้มาเข้ารับบริการก็ต้องดีระดับหนึ่งด้วย

ใช่ครับ แต่ในมุมมองของการรักษา พอผ่านไปสัก 5-6 ครั้ง ก็สนิทกันพอที่จะท้าทาย (Challenge) ในทำนองนี้ได้แล้ว จริงๆ ทุกทฤษฎีท้าทายหมดแหละ แต่หลักนี้จะเจาะความหมายในชีวิตเขา และเอาความหมายนั้นมาท้าทายเขาเอง ความท้าทายเลยมาจากตัวเขาเอง ไม่ได้มาจากตัวเราเลย เช่น คุณลุงที่บอกว่าการรับปริญญากับหลานสำคัญ เราก็ใช้เรื่องนั้นท้าทายเขา ถามว่า แล้วแก้วเหล้านี้ไม่ได้ขวางการที่เขาจะเห็นหลานรับปริญญาหรอ จะเห็นว่าเราไม่ได้หยิบเอาตรรกะหรือวิธีคิดที่ใครบอกว่าถูกมาท้าทายเขาเลย แต่เราเอาสิ่งที่เขาบอกว่า มีค่าที่สุดของเขามาท้าทายตัวเขาเอง ว่าถ้าเขาเชื่อถึงขนาดนั้น ทำไมเขายังทำอะไรตรงกันข้ามอยู่

 

คุณคิดว่า อุปสรรคอะไรที่ทำให้คนติดสุราเรื้อรังในไทยเข้าถึงบริการบำบัดรักษาได้น้อย

อย่างแรกคือ นักจิตวิทยาในไทยมีจำนวนน้อย ยิ่งต่างจังหวัดยิ่งน้อย การจะได้รับความช่วยเหลือก็ยากไปอีกขั้น แล้วการบำบัดเหล้าบางที่ อาจจะใช้วิธีบอกว่า เหล้าไม่ดีอย่างไร คือคนดื่มรู้อยู่แล้วแหละว่ามันไม่ดีอย่างไร แต่เหตุผลที่ทำให้เขายังดื่มต่อคืออะไรล่ะ นี่คือสิ่งที่ควรไปจัดการมากกว่า

ถ้าเป็นในสหรัฐฯ มีกฎหมายเลยว่า ถ้าคุณเกิดมีปัญหาขึ้นมา จะแค่เครียดก็ได้ รัฐจะมีบริการให้พบนักจิตวิทยาได้หลายครั้ง โดยไม่เสียค่าใช้จ่าย ถ้าติดสารเสพติดจะไปเข้ากลุ่มบำบัดที่ไหนก็ได้ แต่ในไทย คุณลองถามสิว่า ถ้าอยากเลิกเหล้าต้องไปที่ไหน วิชาชีพไหนจะช่วยคุณได้ คนก็อาจจะยังไม่รู้ตรงนี้ แล้วยังเรื่องค่ารักษาอีก ต้องยอมรับว่า คนติดเหล้าคือคนที่ไม่ค่อยมีเงิน บางคนไม่มีเงินพอจะจ่ายค่าเช่าห้องด้วยซ้ำ แล้วเขาจะจ่ายเงินเพื่อบำบัดเหล้าไหมล่ะ ลืมไปได้เลย

จากประสบการณ์ที่ผมทำจิตอาสาและได้เข้าไปยังพื้นที่ชุมชน ถ้าคนๆ หนึ่งติดสารเสพติดและถูกตำรวจจับ เขาก็อาจจะได้เจอนักจิตวิทยาของเรือนจำ แล้วมีโอกาสเข้ารับการบำบัดได้ แต่เหล้าไม่ผิดกฎหมาย จับส่งที่ไหนไม่ได้ มันอยู่ตรงกลาง เลยได้รับความช่วยเหลือยากกว่าเรื่องยาเสพติดอีก

 

สังคมไทยมักมองคนติดเหล้าในแง่ลบ บวกกับการที่เหล้าเป็นสารเสพติดที่ถูกกฎหมาย เข้าถึงง่าย ดื่มได้ง่าย คุณคิดว่า นี่ก็เป็นอุปสรรคอีกอย่างด้วยหรือเปล่าที่ทำให้คนเข้าถึงบริการได้น้อย

ผมว่าเกี่ยวอย่างมากเลยแหละ แต่ถ้าเป็นเรื่องความอายว่าคนอื่นจะรู้ว่าตัวเองติดเหล้า กลัวเสียประวัติ น่าจะเป็นพวกชนชั้นกลางมากกว่า แต่สำหรับผม ผมมองว่าทุกคนมีสิ่งที่ตัวเองติด และสิ่งนั้นอาจจะไม่ได้ถูกต้อง บางคนติดเกม บางคนติดนิสัยบางอย่างที่อยากจะเลิก ซึ่งนั่นคือการรับมือ (Coping) ของเรา ถ้าลองถามกันแบบตรงไปตรงมาเลย คุณก็มีนิสัยหรือพฤติกรรมบางอย่างที่อยากเลิก แต่ยังไม่สำเร็จใช่ไหมล่ะ ของแบบนี้มีกันทุกคนแหละ คนติดเหล้าก็แค่คนๆ หนึ่งที่เลือกเหล้า รู้ว่าไม่ดี อยากออกมา แต่ยังทำไม่สำเร็จ ก็เท่านั้นเอง

ถ้าจะมองจริงๆ มนุษย์ทุกคนก็เหมือนกันหมด แต่เราไม่ควรไปตัดสินว่า คนที่เลือกการรับมือแบบนี้จะแย่กว่าอีกคน และถ้าจะมองให้ลึกซึ้งกว่านั้นคือ คนที่เลือกเหล้า เขามีความเจ็บปวดบางอย่างอยู่หรือเปล่า จริงๆ แล้วมนุษย์เราควรเมตตาและเข้าอกเข้าใจกันไม่ใช่หรอ แต่สังคมทุกวันนี้เป็นเหมือนสังคมแห่งการตัดสินและกระทืบซ้ำมากกว่า

ทักษะกับมุมมองของบุคลากรด้านสุขภาพที่มองคนติดเหล้าก็เกี่ยวข้องกับเรื่องนี้ด้วยใช่ไหม

เกี่ยวครับ ผมคิดว่า ถ้านักจิตวิทยาจะเลือกใช้ทฤษฎีไหน เขาควรจะมองโลกและเชื่อแบบนั้นจริงๆ เพราะถ้าคุณไม่เชื่อ คุณก็จะพาคนไปสู่ปลายทางนั้นไม่ได้ ดังนั้น อันดับแรกที่บุคลากรควรมีคือความหวัง ความเชื่อในบุคคล ว่าเขาจะเลิกเหล้าได้สำเร็จ เวลาเราคุยกับผู้รับบริการ ทุกอย่างมันส่งผ่านสายตา คำพูด และน้ำเสียง คือเราต้องมีความศรัทธาในคนข้างหน้าว่าเขาจะทำได้

ส่วนทักษะก็จำเป็นมากเช่นกัน อย่างหนึ่งที่ผมคิดว่าเป็นปัญหาคือ สังคมเรามีความเป็นลำดับศักดิ์ (Hierarchy) และเรามักพูดกันว่า ‘เดินตามผู้ใหญ่ หมาไม่กัด’ เพราะฉะนั้น พอคนไปขอคำปรึกษาจากผู้ใหญ่ มันจะไม่ใช่การให้คำปรึกษาแล้ว แต่เป็นการแนะนำให้ทำแบบนั้นแบบนี้ ทำให้เขาไม่ได้เล่าอะไรเลย มันเลยเข้าไม่ถึงหัวใจของเขา แต่พอมาเจอนักจิตวิทยาที่เชื่อเขาจริงๆ มันก็ช่วยได้ ผมเจอน้องหลายคนที่บอกว่า ไม่อยากทำให้นักจิตวิทยาการปรึกษา (Counselor) ผิดหวัง นี่ก็เป็นอีกหนึ่งแรงผลักดันที่ผลักเขาไปให้สุดทาง

ทักษะการฟังก็สำคัญมาก พอเจอคนติดเหล้า คนส่วนใหญ่จะเน้นไปทางสอน แต่คนติดเหล้าแต่ละคนก็มีเหตุผลที่ดื่มไม่เหมือนกัน เราจะสามารถฟังเขาจนรู้สาเหตุเลยได้ไหมล่ะ เราสัมผัสได้ถึงความเจ็บปวด หรือความกังวลตอนที่เขาดื่มเหล้าได้ไหม เราทำให้เขาเชื่อว่า คนตรงหน้ารับฟัง และเข้าใจเขามากขนาดนั้นไหม ผมเชื่อว่า เราต้องฟังให้มากพอก่อนจะสอนใครสักคน

 

ถ้าสมมติว่านี่เป็นการสนทนาใน Session สุดท้ายระหว่างคุณกับผู้รับบริการที่สามารถเลิกเหล้าได้แล้ว คุณจะคุยอะไรกับเขา ก่อนที่เขาจะออกไปใช้ชีวิตของตนเองตามปกติ

ต่อให้เขาเลิกเหล้าได้แล้ว ผมก็ชวนเขาคุยต่อนะ ถามเขาว่า จะให้ความหมายกับสิ่งที่ผ่านมาอย่างไร เท่าที่เจอมา บางคนก็บอกว่า รู้สึกว่าการติดเหล้าคือการสูญเสียตนเอง และวันที่เลิกเหล้าได้คือการค้นพบตัวเองอีกครั้ง บางคนก็นิยามว่า สิ่งที่ผ่านมาคือการเลือก การจัดการชีวิตผิดทาง หรือบอกว่าถ้าไม่ติดเหล้า ก็คงไม่ได้มานั่งอยู่ในห้องนี้ และค้นพบตัวเองแบบนี้

จะเห็นว่า แต่ละคนจะให้ความหมายการเดินทางที่ผ่านมาของตัวเองไม่เหมือนกัน แต่ไม่ว่าอย่างไร สุดท้ายผมจะบอกว่า ให้จดจำคำๆ นี้เอาไว้ เวลาไหนอยากดื่มก็ให้นึกถึงประโยคพวกนี้ และให้คำที่คุณพูดอยู่ในใจคุณไปตลอดชีวิต

 


เรื่องและภาพ: ทีมงาน Alcohol Rhythm

Related Articles