เราคงเคยได้ยินกันว่า ‘คนเมามักบอกว่าตนเองไม่เมา’ และผู้ดื่มส่วนใหญ่ก็มักจะคิดว่า การดื่มของตนไม่เป็นปัญหา จริงอยู่ที่การดื่มสุราเป็นเรื่องปกติ แต่ขณะเดียวกัน ก็มีผู้ดื่มจำนวนมากที่ดื่มอย่างไม่ระมัดระวัง และไม่ประมาณตน จนเกิดปัญหาต่างๆ ตามมา ทั้งด้านสุขภาพ หน้าที่การงาน หรือปัญหาครอบครัว และถ้าถึงที่สุดแล้ว ผู้ดื่มคนนั้นก็อาจจะดื่มมากจนเป็นโรคติดสุราเรื้อรัง และต้องเข้ารับการบำบัดรักษาอาการ
แล้วเราจะรู้ได้อย่างไรว่า การดื่มของเราเป็นปัญหาหรือไม่ แล้วถ้าการดื่มของเราเป็นปัญหาและเราต้องการจะหยุด เราควรจะทำอย่างไร หรือถ้าเราเป็นคนที่ไม่อยากดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ แต่มีความจำเป็นต้องดื่ม เราจะมีวิธีดื่มอย่างไรให้ฉลาด และรับผิดชอบต่อส่วนร่วมด้วย
Alcohol Rhythm เปลี่ยนจังหวะชีวิตคนติดเหล้า ขอนำเสนออินโฟว่าด้วยเรื่อง ‘How to drink alcohol’ ไล่เรียงตั้งแต่เรื่อง ‘ดื่มอย่างไรให้ปลอดภัย’ ที่มากับเช็คลิสต์ง่ายๆ ดูว่าคุณเข้าข่ายดื่มอย่างมีปัญหาแล้วหรือไม่ และดื่มแบบใดจึงเป็นปัญหา และเรื่อง ‘ดื่มอย่างไรให้ฉลาด’ ที่นำเสนอการดื่มอย่างมีความรับผิดชอบ รวมถึงเป้าหมายลด ละ เลิก การดื่ม 2 ระดับ
คุณเข้าข่ายดื่มอย่างมีปัญหาหรือไม่?
ผู้ดื่มหลายคนอาจจะเกิดข้อสงสัยว่า การดื่มของตนเข้าข่ายการดื่มอย่างมีปัญหาหรือไม่ วันนี้เราจึงมีแบบประเมินอย่างง่ายมาให้นักดื่มทั้งหลายลองทำกันดู โดยลองอ่านข้อความด้านล่างนี้ แล้วดูว่าข้อไหนบ้างที่ ‘ใช่’ คุณ
แน่นอนว่า เมื่อผู้ดื่มดื่มจนเกิดปัญหาแล้ว จะก่อให้เกิดปัญหาต่างๆ ทั้งปัญหาส่วนตัวของผู้ดื่มเอง เช่น ปัญหาสุขภาพ (กระเพาะอาหารอักเสบ ตับอักเสบจนอาจกลายเป็นโรคตับแข็ง หรือเป็นโรคความจำเสื่อมเรื้อรัง) ปัญหาหนี้สิน ปัญหาในที่ทำงาน หรือปัญหาครอบครัว รวมถึงปัญหาที่จะก่อให้เกิดผลกระทบต่อคนอื่น เช่น เมาแล้วขับจนเกิดอุบัติเหตุบนท้องถนน
ทั้งนี้ เรามีเทคนิคเล็กๆ น้อยๆ มาฝาก ในกรณีที่คุณจะดื่ม แต่ต้องการดื่มแบบไม่ก่อให้เกิดปัญหา โดย…
นอกจากนี้ ยังมีเทคนิคอื่นๆ เช่น การหลีกเลี่ยงไม่ไปร้านเหล้าหรือผับหลังเลิกงาน หรือจำกัดเวลาที่จะพบปะกับเพื่อนที่มีพฤติกรรมการดื่มจัด ในกรณีที่ถูกกดดันให้ดื่ม ก็อาจจะหาทางปฏิเสธอย่างนุ่มนวลแทน รวมถึงวางแผนทำกิจกรรมอื่นๆ เพื่อชดเชยช่วงเวลาที่เคยดื่ม
หากคุณยังดื่มสุราไม่มากนัก คุณสามารถเริ่มต้นหยุดดื่มได้ทันที รวมถึงอาจทำกิจกรรมอื่นทดแทน เช่น การออกกำลังกาย ทั้งนี้ การหยุดดื่มทันทีอาจทำให้เกิดอาการลงแดง จึงควรเข้ารับการรักษาทางการแพทย์ร่วมด้วย
หรือถ้าหากคุณไม่อยากเลิกดื่ม แต่อยากเป็นคนที่ดื่มอย่างฉลาด และมีความรับผิดชอบต่อสังคม คุณก็ควรจะดื่มในระดับที่มีความเสี่ยงน้อย ดังที่แสดงให้เห็นในรูปข้างต้น
เดินทางสู่เป้าหมายการ ‘ลด ละ เลิก’ สุรา
การเลิกเหล้าอาจเป็นเรื่องยาก แต่ย่อมไม่ยากเกินความสามารถของคุณ ขอเพียงคุณตั้งใจที่จะเลิก และเริ่มหาทางเข้ารับคำปรึกษาจากแพทย์หรือผู้เชี่ยวชาญ ก็เท่ากับว่า คุณได้เริ่มเดินบนถนนแห่งการเลิกเหล้าแล้ว
สำหรับคนรอบข้าง หากคุณมีคนใกล้ชิดเป็นคนที่กำลังจะเลิกเหล้าแล้ว คุณเองก็สามารถเป็นส่วนหนึ่งที่ช่วยให้เขาเลิกเหล้าได้ โดยมองเขาด้วยความเข้าใจ คอยช่วยเหลือ และเป็นกำลังใจให้เขา เพื่อช่วยให้การเดินทางบนถนนแห่งการเลิกเหล้านี้เป็นไปด้วยความราบรื่น และประสบผลสำเร็จ
ที่มา: แผ่นพับ ‘ดื่มอย่างไรไม่ให้เกิดปัญหา’ สนับสนุนโดย แผนงานการพัฒนาระบบการดูแลผู้มีปัญหาการดื่มสุรา (ผรส.)
เรื่องและภาพ: ทีมงาน Alcohol Rhythm