ทำไมนักเขียนถึงชอบดื่มแอลกอฮอล์

June 28, 2021


‘นักเขียนกับแก้วเหล้า’ ราวกับเป็นภาพติดตาที่พยายามสลัดทิ้งแค่ไหนก็หนีไม่พ้น 

หากคุณเคยผ่านหลักสูตรวิชาภาษาไทยของกระทรวงฯ ในโรงเรียน คุณอาจจดจำเรื่องราวของสุนทรภู่กวีเอก นักแต่งกาพย์ กลอน โคลง ที่เหล่าคุณครูชอบให้ท่องเก็บคะแนน 

ชีวิตช่วงหนึ่งของสุนทรภู่แสดงให้เห็นว่าตัวเขาเป็นคนขี้เหล้าเมายา ดื่มหนักจนก่อเรื่องถึงขั้นเคยติดคุก แต่ขณะเดียวกัน การดื่มหนักและติดคุกนั้นก็มีส่วนทำให้สุนทรภู่สามารถแต่งกลอนที่ไพเราะเลื่องลือ และได้รับการบรรจุลงในแบบเรียนของเรา  

อันที่จริง ไม่ใช่แค่เพียงกวีเอกของไทย นักเขียนเจ้าของวรรณกรรมสัญชาติอเมริกาอันโด่งดังหลายๆ เรื่องก็มีเบื้องหลังการผลิตออกสู่สายตาสาธารณชนที่เต็มไปด้วยกองขวดเหล้าไวน์เช่นเดียวกัน แถมบางคนยังดื่มระหว่างสร้างสรรค์งานเสียด้วยซ้ำ 

แท้จริงแล้ว เครื่องดื่มแอลกอฮอล์มีดีอะไรทำไมนักเขียนและคนสร้างสรรค์งานจึงชอบดื่มนักหนา Alcohol Rhythm เปลี่ยนจังหวะชีวิตคนติดเหล้า พาคุณไปหาคำตอบจากเรื่องราวด้านล่างนี้

‘สุราเมไรท์เตอร์’

เมื่อนักเขียนชาวอเมริกันหลงใหลการดื่ม

 

เครื่องดื่มแอลกอฮอล์ และคนติดแอลกอฮอล์ เป็นคุณลักษณะที่ใช้นิยามชีวิตเหล่านักเขียนในอเมริกา ดังตัวอย่างจากหลายงานวิจัยแสดงให้เห็นความสัมพันธ์ระหว่างการเขียนและการดื่ม เช่นในปี 2557 หนังสือชื่อ “The Trip to Echo Spring” ของโอลิเวีย เลียง (Olivia Laing) สำรวจบทบาทโรคติดสุราเรื้อรังที่สร้างผลกระทบต่อการใช้ชีวิตของนักเขียนชาวอเมริกัน 6 คน คือ จอห์น เบอร์รีแมน (John Berryman) เรย์มอนด์ คาร์เวอร์ (Raymond Carver) จอห์น ชีเวอร์ (John Cheever) เอฟ สกอตต์ ฟิตซ์เจอรัลด์ (F. Scott Fitzgerald) เออร์เนสต์ เฮมิงเวย์ (Ernest Hemingway) และเทนเนสซี วิลเลียมส์ (Tennessee Williams) พบความสัมพันธ์ทางจิตวิทยาระหว่างการติดแอลกอฮอล์กับความอัจฉริยะในการสร้างสรรค์

ปฏิเสธไม่ได้ว่านักเขียนหลายคนเลือกใช้แอลกอฮอล์ระหว่างทำงาน อย่าง เอ็ดนา เซนต์ วินเซนต์ มิลล์เลย์ (Edna St. Vincent Millay) เผยว่าเธอจิบยินขณะเขียนบทความใน Vanity Fair ไปด้วย เช่นเดียวกับ วิลเลียม ฟอกเนอร์ (William Faulkner) ที่ดื่มด่ำวิสกี้พร้อมกับเขียนหนังสือ Road to Glory 

ในปี 2483 คาร์สัน แมคคัลเลอส์ (Carson McCullers) เขียน The Heart is a Lonely Hunter เคล้าชาร้อนและเหล้าเชอร์รี่จำนวนมาก ส่วนการสร้างสรรค์ The Blue Dahlia เรย์มอนด์ แชนด์เลอร์ (Raymond Chandler) ก็ต้องพึ่งกิมเล็ตซึ่งเป็นค็อกเทลประเภทหนึ่งที่ทำมาจากยิน มะนาวและน้ำผลไม้

ยิน 6 ช็อต วอดก้า 2 ช็อต ไวน์เวอร์มุธ 1 ส่วน 4 น้ำแข็ง และมะกอกยัดไส้ คือส่วนผสมของเครื่องดื่มที่เรียกว่า ดับเบิลมาร์ตินนี เครื่องดื่มสุดโปรดของคาโพที (Capote) ในตอนเขียน In Cold Blood ขณะที่เดอะบีสท์ (The Beats) สร้างสรรค์ผลงานที่ดีออกมาระหว่างที่พวกเขาใช้ยาเสพติดและดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ 

ตัวอย่างทั้งหมดทั้งมวลชวนให้เรามองว่าการเขียนและการดื่มแอลกอฮอล์นั้นแทบจะเป็นของคู่กันในอเมริกาศตวรรษที่ 20 

“การดื่มแอลกอฮอล์เป็นการพบกันตามธรรมชาติของชีวิตนักเขียนวรรณกรรม ผู้นิยามด้วยสัญลักษณ์ของความเหงาและความทะเยอทะยานที่จะสรรค์สร้างผลงาน” อัลเฟรด คาซิน (Alfred Kazin) บรรยายถึงลักษณะของอาชีพนักเขียนกับที่มาของการดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ 

แม้ข้อความข้างต้นอาจฟังดูเหมือนว่าเหล้าเบียร์คือเครื่องมือคลายเหงาและกระตุ้นความคิดสร้างสรรค์ ทว่า ชีวิตของเอดการ์ แอลลัน โพ (Edgar Allan Poe) ก็เป็นตัวอย่างที่แสดงให้เห็นว่าความสัมพันธ์ระหว่างการเขียนและการดื่มนั้นไม่ได้สวยงามเสมอไป

เอดการ์ เป็นนักเขียน กวี บรรณาธิการ และนักวิจารณ์วรรณกรรมชาวอเมริกัน ซึ่งเป็นที่รู้จักกันดีจากผลงานกวีและเรื่องสั้น โดยเฉพาะแนวสยองขวัญ ลึกลับ เช่น The Raven ปี 2388 และ The Tell-Tale Heart ปี 2386 เขาเป็นอีกหนึ่งตำนานที่ไม่กล่าวถึงไม่ได้ เพราะเอดการ์คือผู้ริเริ่มสร้างนวนิยายแนวสืบสวนและแนววิทยาศาสตร์ จนได้รับการยกย่องอย่างกว้างขวางว่าเป็นบุคคลสำคัญในอเมริกา ทั้งยังเป็นแรงบันดาลใจให้นักเขียนอีกหลายๆ คน เช่น อาร์เธอร์ โคนัน ดอยล์ (Arthur Conan Doyle) ผู้แต่ง Sherlock Holmes

อย่างไรก็ตาม เส้นทางการเป็นนักเขียนของเอดการ์ก่อนที่จะได้รับการยกย่องต้องประสบปัญหาการเงินตลอดชีวิตที่ผ่านมา ตั้งแต่เด็ก เขาเป็นเด็กกำพร้า ซึ่งชีวิตวัยเยาว์ไม่ราบรื่น จนช่วงที่เขาเข้าศึกษาต่อในมหาวิทยาลัยเวอร์จิเนีย การพนัน ยาเสพติดและแอลกอฮอล์ ก็ได้ย่างกรายเข้ามาอยู่ในชีวิตประจำวันของเอดการ์ เขาเริ่มดื่มและใช้ยา แต่มาหนักข้อจริงจังเมื่อภรรยาเสียชีวิต

สุดท้าย วันที่ 7 ตุลาคม 2392 เอดการ์ก็เสียชีวิตลงในวัย 40 ปี โดยไม่ระบุสาเหตุ แต่ถูกคาดการณ์ไว้หลากหลาย การดื่มแอลกอฮอล์อย่างหนักเองเป็นสาเหตุหนึ่งที่คนต่างพูดถึง

เรื่องระหว่างนักเขียนและเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ที่น่าเศร้าอีกเรื่องเป็นของยูจีน โอนีลล์ (Eugene O’Neill) นักเขียนบทละครชาวอเมริกันผู้ได้รับรางวัลโนเบลสาขาวรรณกรรม ผลงานของเขาได้รับการชื่นชมว่าเป็นบทละครแรกๆ ที่ได้พาวงการเข้าสู่ละครแนวสมจริง โดยเฉพาะบทละครเรื่อง The drama Long Day’s Journey into Night ได้รับการยอมรับว่าเป็นบทละครอเมริกันที่ดีที่สุดและสำคัญที่สุดในประวัติศาสตร์ละครศตวรรษที่ 20   

สำหรับชีวิตส่วนตัว ยูจีนเกิดในโรงแรม Barrett House บนถนนน Broadway ซึ่งในปัจจุบันคือ Time square เขาเป็นลูกชายของนักแสดงผู้อพยพชาวไอริช เจมส์ โอนีล (James O’Neill) และแมรี่ เอลเลน ควินลาน (Mary Ellen Quinlan) พ่อของเขาป่วยเป็นโรคพิษสุราเรื้อรัง ส่วนแม่ของเขาติดมอร์ฟีน

แม้ยูจีนเองก็กลายเป็นโรคซึมเศร้าและโรคพิษสุราเรื้อรังในเวลาต่อมา แต่อย่างน้อยๆ ยูจีนยังมีทะเลคอยโอบกอดเขาให้พอมีความสุขเล็กๆ จึงไม่น่าแปลกใจที่บทละครของเขาหลายๆ เรื่องมักมีที่ตั้งอยู่บนเรือ ริมทะเล เฉกเช่นเดียวกับสถานที่ทำงานของเขา

ในบั้นปลายชีวิต เขาต้องต่อสู้กับโรคพากินสันระหว่างที่สร้างสรรค์ผลงานออกมาอีกหลายเรื่อง จนกระทั่งปี 2496 ยูจีนได้เสียชีวิตบนห้อง 401 โรงแรมเชอราตัน วัย 65 ปี 

นอกจากนี้ ถ้าถามถึงรายชื่อนักเขียนที่ติดแอลกอฮอล์ ก็จะพบว่ามีมากมายเต็มไปหมด ทั้งซินแคลร์ ลูวิส (Sinclair Lewis) และวิลเลียม ฟอกเนอร์ (William Faulkner) ที่เคยรับรางวัลโนเบลสาขาเดียวกันกับยูจีน  ฟิตซ์เจอรัลด์ (Fitzgerald) และ ริง ลาร์ดเนอร์ (Ring Lardner) ที่ติดสุราเรื้อรัง จนทั้งคู่เสียชีวิตลงในตอนอายุ 40 ปี ฮาร์ต เครน (Hart Crane) ผู้มีปัญหากับการดื่มขั้นสุดเช่นเดียวกันกับ จอห์น พี. มาร์ควัน (J.P. Marquand) วอลเลซ สตีเวนส์ (Wallace Stevens) อี. อี. คัมมิงส์ (E.E. Cummings) และ เอ็ดนา เซนต์ วินเซนต์ มิลล์เลย์ (Edna St. Vincent Millay) 

นักเขียนบางคน เช่น โดโรธี พาร์กเกอร์ (Dorothy Parker) และ ดาชีล แฮมเม็ตต์ (Dashiell Hammett) เคยเขียนเกี่ยวกับปัญหาการดื่มของพวกเขา แต่ส่วนใหญ่แล้ว นักเขียนมักไม่เคยเอ่ยถึงปัญหาดังกล่าวนี้เลย — ซึ่งอาจหมายความว่าพฤติกรรมการติดเหล้าถูกละเลยจากนักเขียนมาตลอดก็เป็นได้

 

ทำความเข้าใจ ‘เหตุผลที่นักเขียนชอบดื่มแอลกอฮอล์’

 

อะไรที่ทำให้นักเขียนจำนวนมากเลือกที่จะดื่ม และดื่มมากจนเกินพอดี? คาซิน (Kazin) กล่าวว่า แอลกอฮอล์เป็นแรงผลักดันสู่ความสำเร็จทุกรูปแบบ ทั้งความกระหายในศักดิ์ศรี ชื่อเสียง และเงินทอง ร่วมถึงความคิดสร้างสรรค์

ทั้งนี้ โดนัลด์ วี กูดวิน (Donald W. Goodwin) จิตแพทย์จากมหาวิทยาลัยวอชิงตันผู้ทำการศึกษาเพื่อหาคำตอบว่า ‘ทำไมนักเขียนชาวอเมริกันผู้ยิ่งใหญ่จำนวนมากจึงดื่มหนัก’ เผยว่า “อาจเกิดการเชื่อมโยงทางพันธุกรรมระหว่างความสามารถในการเขียนกับโรคพิษสุราเรื้อรัง ร่วมกับอาการซึมเศร้าเข้าขั้นอารมณ์สองขั้ว (อารมณ์ดีหรือก้าวร้าวผิดปกติ)”

อีกหนึ่งเหตุผลมาจาก เอช. เอ. เบอร์ลิน (Heather Berlin) นักประสาทวิทยา ซึ่งระบุว่า เมื่อนักเขียนเกิดความคิดสร้างสรรค์สูงสุด อยู่ในสภาวะที่ลื่นไหลมากๆ  เปลือกสมองบริเวณส่วนบนของสมองกลีบหน้าผาก (DLPFC) จะลดการป้องกัน ทำให้บุคคลนั้นๆ สูญเสียความรู้สึกในตนเองและหลอมรวมเข้ากับงานของพวกเขา

“นักเขียนจะหลุดพ้นจากพันธนาการต่อต้านความคิดสร้างสรรค์ด้วยอารมณ์”

และจากข้อมูลของ เจฟเฟรย์ เดวิส เอ็มเอ (Jeffrey Davis M.A.) อารมณ์ที่รุนแรงทั้งเชิงบวกและเชิงลบเหล่านี้ ถูกกระตุ้นกลายเป็นแรงบันดาลใจให้ลงมือทำ 

งานวิจัยแสดงให้เห็นว่าการกระตุ้นอารมณ์นำไปสู่ความคล่องแคล่วและความคิดสร้างสรรค์ที่มากขึ้น และในทางกลับกัน การปิดการใช้งานอารมณ์ เช่น ภาวะซึมเศร้าหรือความสงบ ดันไปจำกัดความสามารถในการคิดสร้างสรรค์

“จะเกิดอะไรขึ้นเมื่ออารมณ์ที่เร่าร้อนจำเป็นต้องเขียนมอดไป นี่คือที่ที่แอลกอฮอล์เข้ามาช่วยเหลือ”

ยังมีความเป็นไปได้หลายประการสำหรับความสัมพันธ์ระหว่างการเขียนและการดื่ม ซึ่งอาจรวมถึงความต้องการดึงความกล้าแสดงออก เพิ่มความสามารถในการเข้าสังคม ส่งเสริมจินตนาการ เสริมความมั่นใจในตนเอง คลายความเหงา หรืออย่างง่ายที่สุด ผ่อนคลายหลังจากวันที่หนักหน่วง 

“นักเขียนเองก็มีเหตุผลมากมายที่จะเลือกดื่มไม่ต่างจากอาชีพอื่น ๆ” เบลก มอร์ริสัน (Blake Morrison) กล่าวสรุปสั้นๆ 

 

 


 

ที่มา 

  1. Why Do Writers Drink So Much?

https://www.psychologytoday.com/us/blog/psychology-yesterday/201801/why-do-writers-drink-so-much 

  1. Edgar Allan Poe

https://en.wikipedia.org/wiki/Edgar_Allan_Poe

  1. Eugene O’Neill

https://en.wikipedia.org/wiki/Eugene_O%27Neill

  1. Why Writers Love to Drink

https://medium.com/writers-blokke/why-writers-love-to-drink-b2b2fd3aeca6 

 

เรื่องและภาพ: ทีมงาน Alcohol Rhythm

Related Articles