‘ภาวะโรคร่วม’ อันตรายที่พ่วงมาจากการดื่มสุราที่ใครหลายคนมองข้าม

August 19, 2019


หนึ่งในปัญหาที่มาพร้อมกับอาการติดสุราเรื้อรังคือ ภาวะโรคร่วม ซึ่งประเภทที่พบได้บ่อยคือ ภาวะโรคร่วมระหว่างความผิดปกติจากการดื่มสุราและโรคทางจิตเวชอื่น ซึ่งผู้ป่วยที่มีภาวะโรคร่วม ย่อมมีอาการรุนแรงมากกว่าผู้ป่วยที่ไม่มีภาวะโรคร่วม และต้องการการดูแลที่มากขึ้น

แต่ถึงจะเป็นเช่นนั้น เรากลับพบว่า ผู้ป่วยประเภทนี้ไม่ค่อยเข้าถึงระบบบริการสุขภาพ หรือถ้าเข้าสู่บริการสุขภาพแล้ว ก็มีอัตราการไม่มารับการรักษาตามนัดสูง ส่งผลให้การรักษาไม่ดี และอาจจะนำไปสู่ความเสี่ยงอื่นๆ ต่อไป เช่น เสี่ยงต่อการมีพฤติกรรมรุนแรง มีปัญหาครอบครัว หรือมีปัญหาทางกฎหมาย

เมื่อเป็นเช่นนี้ เท่ากับว่า ภาวะโรคร่วมเป็นอีกหนึ่งปัญหาที่ทั้งตัวผู้ดื่มและคนใกล้ชิดพึงใส่ใจและสังเกต เพราะเมื่อใดก็ตามที่ผู้ติดสุรามีภาวะโรคร่วมแล้ว ก็ย่อมมีโอกาสสูงที่จะเกิดความเสี่ยงกับสังคมส่วนรวมและสุขภาพของผู้ดื่มเอง

เพื่อเป็นการรู้จักภาวะโรคร่วมทางจิตเวชให้มากขึ้น Alcohol Rhythm เปลี่ยนจังหวะชีวิตคนติดเหล้า จึงขอนำเสนอบทความย่อยง่าย ว่าด้วยเรื่องภาวะโรคร่วมทางจิตเวชที่เกิดร่วมกับอาการติดสุรา อ่านจบแล้วอย่าลืมสังเกตคนรอบตัวคุณ เพื่อที่ว่าถ้าเขามีอาการผิดปกติอะไร จะได้ทำการรักษาได้อย่างทันท่วงที

 

ภาวะโรคร่วมคืออะไร?

 

 

ภาวะโรคร่วม คือ โรคที่เกิดจากการที่ผู้ป่วยมีความผิดปกติจากการดื่มสุราร่วมกับโรคอื่น ๆ ทางจิตเวช (โรคหรืออาการที่ผิดปกติทางจิต) ที่มีการเกิดร่วมกัน ซึ่งส่งผลให้การดูแลรักษามีความยากเพิ่มมากขึ้น เนื่องจากผู้ที่มีภาวะโรคร่วม จะมีอาการรุนแรงมากกว่าผู้ที่ไม่มีภาวะนี้ โรคจิตเวชที่มักพบร่วมกับความผิดปกติจากการดื่มสุรา เช่น โรคซึมเศร้า โรคอารมณ์แปรปรวน โรคเครียดหลังเหตุการณ์สะเทือนขวัญ (PTSD) หรือบุคลิกภาพผิดปกติแบบต่อต้านสังคม เป็นต้น

ในประเทศสหรัฐอเมริกา ได้มีการศึกษาระบาดวิทยาของโรคจิตเวช ที่ให้ข้อมูลความชุกของภาวะโรคร่วมระหว่างความผิดปกติจากการดื่มสุราและโรคจิตเวชหลายโครงการ ซึ่งหนึ่งในโครงการที่น่าสนใจ คือ โครงการ NESARC ที่ได้ทำการสํารวจประชากรทั่วไปที่มีอายุ 18 ปีขึ้นไป จำนวน 43,093 คน ในปี พ.ศ. 2544 – 2545 และอีกสามปีถัดมา ได้มีการกลับมาสำรวจซ้ำในกลุ่มเดิมจำนวน 35,653 คน ผลการศึกษาของโครงการนี้พบว่า ผู้ที่มีความผิดปกติจากการดื่มสุรามีโอกาสสูงที่จะเป็นโรคจิตเวชอื่นๆ ร่วมด้วย โดยพบว่าภาวะดื่มแบบผิดแผน (alcohol abuse) ทีเกิดขึ้นในช่วง 12 เดือนที่ผ่านมา สัมพันธ์กับความผิดปกติจากการใช้สารเสพติดชนิดอื่นใน 12 เดือนที่ผ่านมา แต่ไม่สัมพันธ์กับโรคจิตเวชอื่นๆ ขณะที่โรคติดสุรา (alcohol dependence) สัมพันธ์กับการใช้สารเสพติดชนิดอื่นทุกชนิด รวมถึงโรคจิตเวชอื่นๆ ได้แก่ กลุ่มโรคอารมณ์แปรปรวน กลุ่มโรควิตกกังวล และโรคบุคลิกภาพผิดปกติอย่างมีนัยยะสำคัญ โดยมีอัตราส่วนเสี่ยง 2.1-4.8

สําหรับประเทศไทย ผลสำรวจจากกรมสุขภาพจิต กระทรวงสาธารณสุข ปี พ.ศ. 2551 พบว่า ความชุกของความผิดปกติจากการดื่มสุราในประชากรไทยเท่ากับร้อยละ 10.9 ซึ่งกลุ่มผู้ที่มีความผิดปกติจากการดื่มสุราร้อยละ 7.1 มีโรคทางจิตเวชอย่างน้อยอีกหนึ่งโรคร่วมด้วย ซึ่งโรคที่พบบ่อยที่สุด ได้แก่ โรคในกลุ่มโรคอารมณ์แปรปรวน รองลงมา คือ กลุ่มโรควิตกกังวล และกลุ่มโรคจิต

 

โรคร่วมเกิดได้แบบไหนบ้าง?

 

โรคร่วมจะเกิดได้ทั้งหมด 4 ลักษณะ

ลักษณะแรก คือ ความผิดปกติจากการดื่มสุรากับโรคจิตเวชชนิดอื่นเกิดขึ้นพร้อมกัน พูดง่าย ๆ คือ โรคทั้งสองนี้เป็นอิสระต่อกัน กล่าวคือ โรคทั้งสองอาจเกิดขึ้นมาเองโดยไม่มีอะไรร่วมกัน หรืออาจเป็นเพราะโรคทั้งสองชนิดมีปัจจัยกระตุ้นร่วมกัน และยังอาจเกิดจากปัจจัยทางพันธุกรรม หรือบุคลิกภาพที่ผิดปกติของผู้ป่วย

ลักษณะที่สอง คือ โรคหนึ่งอาจจะส่งผลให้เกิดโรคที่สองตามมา เช่น การดื่มสุราอย่างหนักเป็นประจำจะส่งผลต่อสมอง ทำให้เป็นโรคจิตหรือโรคซึมเศร้าได้ ในการรักษา แพทย์จึงจำเป็นต้องสนใจสองโรคนี้ไปพร้อมๆ กัน หรือผู้ป่วยบางคนอาจมีโรคทางจิตเวชอยู่ก่อน ซึ่งเป็นปัจจัยที่ทำให้เขาดื่มสุราได้เป็นประจำ จนกลายเป็นโรคติดสุราต่อมา

ลักษณะที่สาม คือ โรคร่วมเกิดขึ้นกับผู้ที่พยายามดื่มสุราเพื่อรักษาอาการของโรคจิตเวชที่เป็นอยู่ก่อนให้ดีขึ้นด้วยตนเอง (self-medication) เช่น ผู้ป่วยอาจจะดื่มสุราโดยหวังให้อาการซึมเศร้าดีขึ้น หรือเพื่อลดอาการข้างเคียงของยารักษาโรคทางจิตเวช ในกรณีนี้ความผิดปกติจากการดื่มสุราอาจจะกลายเป็นโรคเรื้อรังได้ในที่สุด

ลักษณะสุดท้าย การดื่มสุราหรือการใช้สารเสพติดทําให้เกิดอาการของโรคจิตเวชอื่นตามมา ซึ่งโรคจิตเวชนี้อาจจะเกิดขึ้นชั่วคราวในขณะที่ผู้ป่วยมีอาการเมาสุราหรือขาดสุรา เมื่อเกิดขึ้นแล้วโรคจะคงอยู่ถาวร ถึงแม้ผู้ป่วยจะหยุดดื่มสุราไปแล้วก็ตาม

 

รูปแบบของการรักษาโรคร่วม

 

การทำความเข้าใจลักษณะของโรคร่วมทำให้สามารถเลือกใช้รูปแบบการรักษาที่เหมาะสมได้ โดยรูปแบบของระบบบริการบำบัดรักษาผู้ป่วยที่มีภาวะโรคร่วมแบ่งออกเป็น 4 รูปแบบ คือ

รูปแบบแรกการให้บริการแยกส่วนทีละระบบต่อกันไป (Serial or sequential or consecutive services) เป็นการบริการที่แยกส่วนระหว่างหน่วยบริการผู้ป่วยจากการใช้สารเสพติดและผู้ป่วยโรคจิตเวช โดยการรักษาผู้ป่วยจะเรียงลำดับไปตามความรุนแรงของปัญหา เช่น ถ้าปัญหาหลักของผู้ป่วยเกิดจากการดื่มสุรา ผู้ป่วยก็จะได้รับการบำบัดสุราก่อน จนกว่าอาการจะดีขึ้น แล้วจึงถูกส่งไปรักษาในหน่วยบริการทางจิตเวชต่อไป

รูปแบบที่สอง: การให้บริการทั้งสองระบบขนานกันไป (Parallel services) ผู้ป่วยจะได้รับการดูแลรักษาเพื่อแก้ปัญหาทั้งสองด้านไปพร้อมๆ กัน แต่ทีมผู้รักษาจะแยกออกจากกันเป็นสองทีม ซึ่งถ้าทั้งสองทีมขาดการติดต่อประสานงานกัน จะทำให้การดูแลรักษาขาดความเชื่อมโยง และอาจเกิดปัญหาเกี่ยงความรับผิดชอบในการรักษา

รูปแบบที่สาม: การให้บริการทั้งสองด้านแบบบูรณาการในหน่วยบริการเดียว  (Integrated or specialist dual diagnosis team services) เป็นการดูแลรักษาแบบผสมผสานโดยทีมผู้รักษาทีมเดียว ซึ่งเป็นผู้เชี่ยวชาญด้านการดูแลรักษาผู้ป่วยที่มีภาวะโรคร่วมระหว่างโรคจิตเวชและโรคจากการดื่มสุราโดยเฉพาะ ผลดีของการดูแลรักษาผู้ป่วยแบบนี้คือ ต้นทุนต่ำ ผู้ป่วยได้รับการดูแลแบบองค์รวม และไม่เกิดความซ้ำซ้อนในการดูแลรักษา แต่หน่วยบริการที่ทีมผู้รักษามีความสามารถในการดูแลปัญหาทั้งสองระบบมักจะมีน้อย

รูปแบบที่สี่: การให้บริการจากทีมผู้รักษาเฉพาะด้านสองระบบที่ทำงานร่วมกัน (Shared care model) ซึ่งจะมีผู้ให้การรักษาอยู่สองกลุ่ม กลุ่มแรกคือแพทย์ผู้เชี่ยวชาญ ที่รับผิดชอบการดูแลรักษาผู้ป่วยคนหนึ่ง อีกกลุ่มคือบุคลากรสหวิชาชีพที่เชี่ยวชาญด้านการดูแลผู้ป่วยที่มีโรคจิตเวชและผู้ป่วยจากการดื่มสุรา ซึ่งทั้งสองกลุ่มจะทำงานร่วมกัน รูปแบบนี้จะช่วยในการดูแลรักษาปัญหาทั้งสองด้านของผู้ป่วยได้อย่างครอบคลุมและไร้รอยต่อ (seamless) เพราะผู้ป่วยไม่ต้องเดินทางไปมาระหว่างสองหน่วยบริการ

ทั้งนี้ การดูแลผู้ป่วยที่มีภาวะโรคร่วมยากกว่าผู้ป่วยทั่วไป เพราะปัญหาที่ยุ่งยากซับซ้อน รวมถึงมีแนวโน้มการเข้าถึงบริการและรับการรักษาค่อนข้างต่ำ เนื่องจากค่าใช้จ่ายที่สูงและระยะเวลาในการรักษาที่ยาวนานกว่าอาการทั่วไป ซึ่งในหลาย ๆ ประเทศ รวมถึงประเทศไทยยังมีสถานพยาบาลและบุคลากรสุขภาพจำนวนน้อยที่สามารถทำการดูแลรักษาผู้ป่วยที่มีทั้งปัญหาจากการดื่มสุราและโรคจิตเวชเกิดขึ้นพร้อมกันได้

ดังนั้น การพัฒนาระบบการให้บริการผู้ป่วยที่มีภาวะโรคร่วมที่เหมาะสมกับคนไทย จะต้องมีการส่งเสริมองค์ความรู้ให้กับบุคลากรที่มีหน้าที่ดูแลผู้ป่วย ให้มีศักยภาพและให้มากยิ่งขึ้นเพื่อรักษาผู้ป่วยภาวะโรคร่วมต่อไป

เมื่ออ่านมาถึงตรงนี้ คุณคงพบว่าการรักษาภาวะโรคร่วมไม่ใช่เรื่องง่าย แต่ใช่ว่าจะเป็นเรื่องที่เป็นไปไม่ได้เลย เพราะก้าวแรกที่จะนำไปสู่การรักษาและเลิกเหล้าให้ประสบความสำเร็จคือ ความเชื่อมั่นว่าตนเองจะสามารถผ่านพ้นอาการนี้ไปได้

ดังนั้น หากคุณ หรือคนใกล้ตัวของคุณมีปัญหาด้านสุขภาพที่เกิดจากอาการติดสุราเรื้อรัง เราขอแนะนำให้คุณพบแพทย์หรือบุคลากรด้านสุขภาพที่โรงพยาบาลหรือสถานที่ให้บริการสุขภาพต่างๆ เพื่อจะนำไปสู่การบำบัดรักษาปัญหาต่อไป

 

(ดูข้อมูล 5 หน่วยงานเพื่อคนอยากเลิกเหล้า ได้ ที่นี่)

 


ที่มา: ปัญหาและความผิดปกติจากการดื่มสุรา ความสำคัญและการดูแลรักษาในประเทศไทย / เรียบเรียงโดย สาวิตรี อัษณางค์กรชัย, สุวรรณา อรุณพงค์ไพศาล.–พิมพ์ครั้งที่ 1.–สงขลา : คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์, 2557.

เรื่องและภาพ: ทีมงาน Alcohol Rhythm

 

 

Related Articles