ทำไมแอลกอฮอล์ถึงมักนำไปสู่ความรุนแรง? (1)

February 7, 2019


‘งานวิจัยเผย ดื่มสุราเป็นต้นเหตุความรุนแรงในครอบครัว’

‘หนุ่มปืนดุ เมากระหน่ำยิงเพื่อนตายคาวง 2 ศพ’

สำหรับประชาชนคนไทย เชื่อว่าพาดหัวข่าวในทำนองด้านบนคงเป็นพาดหัวข่าวที่คุ้นเคยและเห็นได้บ่อยจนชินตา เพราะเมื่อพูดถึงแอลกอฮอล์ โดยเฉพาะการดื่มสุรา หนึ่งในสิ่งที่มักจะเกิดตามมาหากผู้ดื่มไม่สามารถควบคุมตนเองได้คือการใช้ความรุนแรง ซึ่งอาจจะนำไปสู่การข่มขืน การทะเลาะวิวาท หรือการทำร้ายคนในครอบครัวตนเอง

แล้วคุณเคยสงสัยไหมว่า ทำไมแอลกอฮอล์ถึงมักจะนำไปสู่ความรุนแรง…?

Alcohol Rhythm เปลี่ยนจังหวะชีวิตคนติดเหล้า ขออาสาพาคุณไปร่วมศึกษาผลกระทบของแอลกอฮอล์ที่ก่อให้เกิดความรุนแรงผ่านทางสามปัจจัย อันได้แก่ ปัจจัยทางด้านชีวภาพ ด้านจิตใจ และด้านสังคม และเมื่ออ่านจบ คุณอาจจะพบว่าแอลกอฮอล์ส่งผลอะไรมากกว่าที่คุณเคยคิด

 

เครื่องดื่มแอลกอฮอล์หมายถึง?

 

เมื่อพูดถึงเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ หลายคนอาจนึกถึงเฉพาะสุรา แต่อันที่จริงแล้วคำนี้มีความหมายที่ครอบคลุมมากกว่านั้น โดยเครื่องดื่มแอลกอฮอล์หมายถึง สารที่มีส่วนประกอบของเอทิลแอลกอฮอล์ทุกชนิดในปริมาณไม่เกินร้อยละ 60 ซึ่งเป็นเกณฑ์ที่ใช้ดื่มได้ (เกณฑ์ที่ว่าเป็นเกณฑ์กำหนดสากล) เพราะฉะนั้นสุรา รวมถึงเบียร์และไวน์ ก็ล้วนจัดเข้าเป็นเครื่องดื่มแอลกอฮอล์เหมือนกันหมด

แต่ถึงเกณฑ์สากลจะกำหนดไว้ที่ไม่เกินร้อยละ 60 แต่ในประเทศไทยกลับอนุญาตให้มีเอทิลแอลกอฮอล์ผสมได้ในปริมาณสูงไม่เกินร้อยละ 80 เท่ากับว่าสูงกว่าเกณฑ์ในระดับสากลถึงร้อยละ 20 เลยทีเดียว

 

คนไทยกับการดื่มแอลกอฮอล์

 

สำนักงานสถิติแห่งชาติได้เปิดเผยผลการสำรวจพฤติกรรมการดื่มสุราของประชากรในปีพ.ศ. 2560 พบว่าจากจำนวนประชากรอายุ 15 ปีขึ้นไปจำนวน 55.9 ล้านคน มีผู้ดื่มแอลกอฮอล์ในรอบปีที่แล้วประมาณ 15.9 ล้านคน โดยคนที่ดื่มสม่ำเสมอมีจำนวน 6.98 ล้านคน และกลุ่มที่มีอัตราการดื่มสูงที่สุดคือกลุ่มอายุ 25-44 ปี 

 

ทำไมแอลกอฮอล์ถึงนำไปสู่ความรุนแรงได้?

 

ใครหลายๆ คนอาจจะคิดว่า ผู้ที่ดื่มแอลกอฮอล์มักจะอยู่ในสถานะของผู้ที่กระทำความรุนแรงเสมอ นั่นเป็นความคิดที่ผิด เพราะการที่แอลกอฮอล์ทำปฏิกิริยากับร่างกาย จิตใจ และส่งผลกระทบกับสังคมของผู้ดื่ม ทำให้ผู้ดื่มแอลกอฮอล์ก็สามารถตกอยู่ในสถานะของผู้ถูกกระทำได้เช่นกัน โดยในบทความชิ้นนี้จะเริ่มจากพาคุณพิจารณาปัจจัยแรกเริ่มที่ทำให้ผู้ดื่มก่อความรุนแรง นั่นคือปัจจัยทางชีวภาพ

 

 

ปัจจัยด้านชีวภาพที่ทำให้ผู้ดื่มสุราก่อความรุนแรง

 

ฝ่ายผู้กระทำความรุนแรง

ผลของแอลกอฮอล์ต่อสมอง

แอลกอฮอล์มีความเป็นพิษต่อสมอง ทั้งส่วนที่ส่งผลทำลายเนื้อสมองในกรณีของผู้ที่ดื่มสุราเป็นประจำ และส่วนที่เกิดจากฤทธิ์ของแอลกอฮอล์ต่อสมองซึ่งเกิดขณะดื่มสุราหรือลดปริมาณแอลกอฮอล์กะทันหัน ผลที่เกิดขึ้นคือสมองทำงานด้อยลง ทำให้สมองส่วนที่เกี่ยวกับการตัดสินใจ การใช้เหตุผล การยับยั้งชั่งใจ การวางแผน และความเข้าใจพลอยบกพร่องไปด้วย สิ่งนี้จะทำให้เกิดการแปลการรับรู้ที่ผิดเพี้ยนและเกิดการประเมินที่ผิดพลาด ซึ่งสามารถนำไปสู่ความรุนแรงได้ เช่น การรับสารหรือการแปลสัญญาณที่ผิดเพี้ยน คือเข้าใจว่าตนเองกำลังถูกคุกคาม หรือแปลความเป็นมิตรของผู้หญิงไปในนัยยะทางเพศหรือการยั่วยวน เมื่อประกอบกับการที่ความสามารถในการยับยั้งชั่งใจและการตัดสินใจด้อยลง ทำให้เกิดการแสดงออกถึงพฤติกรรมที่ไม่เหมาะสม เช่น แสดงความก้าวร้าวรุนแรงออกมาง่ายขึ้นเพราะถูกยั่วยุได้ง่าย นอกจากนี้ ในกรณีของผู้ที่ดื่มแอลกอฮอล์เป็นประจำ แอลกอฮอล์จะมีผลทำลายเนื้อสมองให้เสื่อมลง การทำงานของสมองโดยรวมจึงแย่ลง และยังทำให้เกิดความหงุดหงิดและอารมณ์เปลี่ยนแปลงง่ายอีกด้วย

การเปลี่ยนแปลงของสารเคมีบางชนิด

สาร Serotonin: เป็นสารสื่อประสาทในสมองที่ทำหน้าที่ควบคุมพฤติกรรมและเกี่ยวข้องกับพฤติกรรมต่างๆ ของมนุษย์ เช่น การนอน ความอยากอาหาร แอลกอฮอล์จะส่งผลกับระดับสาร Serotonin ในสมอง ซึ่งส่วนมากแล้วแอลกอฮอล์จะทำให้สารนี้ลดลง มีการค้นพบว่าผู้ที่มีระดับ Serotonin ต่ำกว่าในระบบประสาทส่วนกลางจะมีพฤติกรรมรุนแรงมากกว่าผู้ที่มีระดับสารนี้สูงกว่า และนี่ยังเกี่ยวข้องกับการที่ cognitive function ทำงานบกพร่องด้วย

สาร GABA: เป็นสารสื่อประสาทชนิด inhibitory ที่สำคัญในสมองโดยกดการทำงานของเซลล์ประสาท จากการศึกษาในสัตว์ทดลองทำให้พบว่า แอลกอฮอล์อาจจะเพิ่มความก้าวร้าวในส่วนที่เกี่ยวกับการออกฤทธิ์ที่ GABA

ฮอร์โมน: เทสโทสเตอโรน (Testosterone) เป็นฮอร์โมนประเภทสเตอรอยด์ (Steroid) ที่มีหน้าที่พัฒนาลักษณะพฤติกรรมทางเพศในผู้ชาย ในหมู่อาชญากร ผู้ที่มีฮอร์โมนประเภทนี้สูงมักเกี่ยวข้องกับการก่อความรุนแรง การตั้งตนเป็นปรปักษ์กับคนอื่น และการระแวงคนอื่น ในการทดลองกับสัตว์ นักวิจัยได้ทำการเพิ่มปริมาณแอลกอฮอล์ให้ลิงจ่าฝูงที่มีระดับเทสโทสเตอโรนสูงกว่าลิงตัวอื่นและพบว่ามันมีความก้าวร้าวมากขึ้น การศึกษาดังกล่าวสามารถสะท้อนให้เห็นถึงพฤติกรรมการใช้ความรุนแรงของมนุษย์ที่มักเกิดขึ้นในกลุ่มวัยรุ่นและผู้ชายในวัยผู้ใหญ่ตอนต้นที่มีระดับเทสโทสเตอโรนสูง

พันธุกรรม

ในกรณีของบุตรที่บิดามารดามีปัญหาแอลกอฮอล์ เมื่อโตขึ้น ตัวบุตรก็มักมีปัญหาแอลกอฮอล์และมักมีพฤติกรรมก้าวร้าว (aggression) และหุนหันพลันแล่น (impulsivity) สูงกว่าคนทั่วไป จากการศึกษาพบว่า ผลด้านพันธุกรรมสามารถส่งผลให้การทำงานของสาร Serotonin ลดระดับลงในช่วงเริ่มต้นของชีวิต ซึ่งนี่อาจเป็นผลทางพันธุกรรมที่บุตรได้รับจากบิดา (ที่มีปัญหาแอลกอฮอล์) นั่นเอง

ฤทธิ์ของยาเสพติดอื่นที่ใช้ร่วมด้วย

จากผลการวิจัยพบว่าผู้เสพสุรามักจะใช้ยาเสพติดอื่นร่วมด้วย ยาจึงมีส่วนก่อให้เกิดความรุนแรงได้

 

 

ฝ่ายผู้ถูกกระทำความรุนแรง

ผลต่อสมอง

ด้าน cognitive จะทำงานแย่ลง ทำให้สูญเสียการประเมินความเสี่ยงและมีการตัดสินใจที่ไม่ดี ซึ่งอาจจะทำให้บุคคลนั้นพาตัวเองเข้าไปอยู่ในสถานการณ์ที่เสี่ยงต่อความรุนแรงได้ เช่น การสร้างความสัมพันธ์กับคนแปลกหน้า หรือขาดการพิจารณาไตร่ตรองดูแลตนเองอย่างเหมาะสม 

นอกจากนี้ ฤทธิ์ของแอลกอฮอล์ยังทำให้เกิดการรับรู้ที่ผิดปกติไป เนื่องจากภาวะเป็นพิษ (intoxication) หรือภาวะขาดแอลกอฮอล์ หรือภาวะที่มีอาการทางจิต แปรสิ่งเร้ารอบตัวผิดไป มีอาการหูแว่ว หลงผิดหวาดระแวง ซึ่งนี่อาจจะกระตุ้นให้เกิดการโต้แย้งกับบุคคลอื่นๆ จนนำมาซึ่งการถูกทำร้ายได้

ผลต่อการใช้กล้ามเนื้อในการเคลื่อนไหวบกพร่องไป

เมื่อการใช้กล้ามเนื้อในการเคลื่อนไหวบกพร่องลงไป จะทำให้ไม่สามารถต่อสู้ขัดขืนหรือป้องกันตนเองได้ดี จึงทำให้ถูกทำร้ายได้ง่ายมากขึ้นนั่นเอง

 

ทุกคนย่อมรู้กันดีว่า แอลกอฮอล์มีผลกระทบต่อร่างกายและสังคมของผู้ดื่ม จนสามารถนำไปสู่ความรุนแรงได้ แต่ปัจจัยทางชีวภาพเป็นเพียงปัจจัยแรกเริ่มสุดเท่านั้น บทความหน้า เราจะพาคุณไปร่วมศึกษาอีกสองปัจจัยที่เหลือ คือปัจจัยทางด้านจิตใจ ที่ไม่อาจมองเห็นได้แต่ส่งผลกระทบต่อตัวผู้ดื่มอย่างมาก รวมถึงปัจจัยด้านสังคมที่ไม่เพียงส่งผลต่อตัวผู้ดื่ม แต่ยังส่งผลต่อผู้คนรอบข้างชนิดที่แม้แต่ตัวผู้ดื่มเองก็อาจจะคิดไม่ถึงอีกด้วย 

ทั้งนี้ ประเด็นหนึ่งที่น่าสนใจคือการดื่มแอลกอฮอล์ไม่ใช่เรื่องผิด แต่การดื่มแบบไม่ประมาณและไม่รู้จักควบคุมตนเองต่างหากที่เป็นเรื่องผิด และการใช้แอลกอฮอล์ก็มิใช่ข้ออ้างในการก่อความรุนแรงแต่อย่างใด 


ที่มา: แอลกอฮอล์กับความรุนแรง (Alcohol and Violence) เรียบเรียงโดย พญ.ทานตะวัน สุรเดชาสกุล (2556) สนับสนุนโดยแผนงานการพัฒนาระบบการดูแลผู้มีปัญหาการดื่มสุรา (ผรส.)

เรื่องและภาพ: ทีมงาน Alcohol Rhythm

 

Related Articles