เหล้ากับฟันพบกันทีไรก็เรื่องใหญ่: 6 ปัญหาสุขภาพช่องปากจากการดื่ม

October 1, 2020


ลิ้นกับฟันพบกันทีไรก็เรื่องใหญ่ เป็นท่อนร้องในบทเพลงดังที่หลายคนคงฮัมตามได้ไม่ยาก แต่คราวนี้ Alcohol Rhythm เปลี่ยนจังหวะชีวิตคนติดเหล้า ขอเปลี่ยนเนื้อเพลงสักนิด แล้วกระซิบบอกสักหน่อยว่าเมื่อเหล้ากระทบฟันก็เรื่องใหญ่ไม่แพ้กัน

หลายคนคงเคยได้ยินว่าสิงห์นักดื่มมักเสี่ยงกับการเป็นโรคตับ โรคหัวใจ หรือได้รับผลกระทบเกี่ยวกับสุขภาพจิต ตลอดจนการนอนหลับ แต่น้อยคนนักจะรู้ว่าสุขภาพในช่องปากก็เป็นอีกหนึ่งภัยเงียบที่หลายคนต้องเผชิญ เพราะปากและฟันเป็นอวัยวะทางผ่านแรกๆ ของแอลกอฮอล์ก่อนจะไหลไปยังส่วนอื่นของร่างกาย ช่องปากของคุณจึงอาจมีปัญหาจากการดื่มแอลกอฮอล์ได้ ถ้าไม่ดื่มอย่างพอเหมาะและระมัดระวัง

แต่ปัญหาที่ว่า — ตั้งแต่เรื่องเล็กๆ น้อยๆ ไปจนถึงระดับเสี่ยงต่อชีวิตจะมีอะไรบ้าง ตามมาดูกันเลย!

 

  1.     กลิ่นปาก

ปัญหาอย่างแรกที่อาจทำลายความมั่นใจของใครหลายคน ถึงแม้ว่ากลิ่นปากจะดูเป็นเรื่องส่วนตัว เป็นเรื่องที่แล้วแต่คนจะตัดสิน และเป็นเรื่องที่อาจมีหลายปัจจัยเข้ามาเกี่ยวข้องกับการเกิดกลิ่นอันไม่พึงประสงค์ แต่จากการประเมินของผู้ดื่มเอง และงานวิจัยวัดเชิงปริมาณ (quantitative measures) ก็บ่งชี้ว่าความถี่ของการดื่มเหล้าเบียร์มีส่วนสัมพันธ์กลิ่นปาก

อย่างไรก็ตาม สาเหตุของการเกิดกลิ่นปากจากแอลกอฮอล์นั้นยังไม่ชัดเจนมากนัก หลายคนคาดเดาว่าอาจเป็นกลิ่นของแอลกอฮอล์เองที่ตกค้างในระยะสั้น, ผลข้างเคียงของการดื่มที่ส่งผลต่อการลดกระบวนการผลิตน้ำลายลง ทำให้แบคทีเรียในช่องปากเรายิ่งสะสม หรือสุขอนามัยในช่องปากย่ำแย่ เนื่องจากเมามายจนขาดการดูแลให้ดีจนมีกลิ่น

  1.     ปัญหาเรื่องฟันผุ

เด็กๆ อาจจะเจอปัญหาฟันผุ แมงกินฟันเพราะรับประทานลูกกวาดรสหวาน ขนมขบเคี้ยวแสนอร่อย แต่เมื่อโตขึ้น น้อยคนนักที่จะรู้ว่าเครื่องดื่มมึนเมารสขมก็มีปริมาณน้ำตาลสูง ซึ่งเป็นแหล่งอาหารชั้นดีของแบคทีเรียในช่องปากเช่นเดียวกัน ยิ่งนักดื่มดวลเครื่องดื่มแอลกอฮอล์อย่างสม่ำเสมอมากเท่าไร ก็ยิ่งเสี่ยงต่อปัญหาเรื่องฟันผุมากเท่านั้น

  1.     ภาวะฟันสึก

ผู้ที่ชื่นชอบการดื่มแอลกอฮอล์เป็นประจำคงเกิดคำถามว่าทำไมฟันดูคล้ายจะไม่แข็งแรงเหมือนเคย คำตอบก็คือเครื่องดื่มแอลกอฮอล์หลายรายการมีฤทธิ์เป็นกรด เช่น ไวน์ไซเดอร์ และอัลโคป็อป (alcopop) เมื่อดื่มในปริมาณมากจึงสามารถเพิ่มความเสี่ยงต่อการสึกกร่อนของฟันได้ รวมถึงบางครั้ง การที่เผลอดื่มมากเกินไปจนทนไม่ไหวต้องกอดชักโครกอาเจียนออกมา กรดในน้ำย่อยผสมเศษซากอารยธรรมที่กินเข้าไปก็ส่งผลให้ฟันสึกได้เช่นเดียวกัน

  1.     สีฟันไม่สม่ำเสมอ

นอกจากคำเตือนที่ได้ยินโดยทั่วไปว่าอย่ากินชา กาแฟเยอะ เพราะจะทำให้ฟันขาวมีคราบเหลือง เครื่องดื่มแอลกอฮอล์ก็เป็นเครื่องดื่มอีกประเภทที่ส่งผลให้สีฟันของเราไม่สม่ำเสมอได้ โดยเฉพาะไวน์แดงเป็นหนึ่งในเครื่องดื่มหลักที่ส่งผลต่อคราบสีของฟัน ไวน์แดงมีสีโครโมเจน (chromogens) ที่จะไปจับตัวกับเมือกฟิล์มบาง (pellicle) บนฟัน ทำให้สีเข้มของเครื่องดื่มติดทน ทำความสะอาดออกยากจนฟันขาวใสกลายเป็นสีหม่น

  1.     มะเร็งในช่องปาก

มีหลักฐานมากมายที่แสดงว่าแอลกอฮอล์เป็นปัจจัยเสี่ยงสำคัญสำหรับมะเร็งช่องปาก ในงานวิจัย The burden of cancer attributable to alcohol drinking มีการประเมินว่า 3.6% ของมะเร็งทั้งหมดทั่วโลก และมากกว่า 30% ของมะเร็งช่องปากทั้งหมดเป็นผลมาจากการดื่มแอลกอฮอล์ ทั้งยังสรุปว่าการดื่มแอลกอฮอล์อย่างหนัก หรือเกิน 4 แก้วต่อวัน สัมพันธ์กับความเสี่ยงเกิดมะเร็งช่องปากและคอหอยอย่างมีนัยสำคัญ โดยเพิ่มขึ้นประมาณ 5 เท่าจากคนทั่วไป

นอกจากนี้นักดื่มที่ควบตำแหน่งนักสูบบุหรี่ไปในตัวยังมีความเสี่ยงต่อการเป็นมะเร็งในช่องปากมากขึ้นไปอีก

  1.     อุบัติเหตุที่เกิดจากความมึนเมา

เลือดกบปาก สูญเสียฟัน มีปัญหากับขากรรไกร หลายครั้งที่เมื่อเมามาย สูญเสียการรับรู้และสติสัมปชัญญะนั้น เพิ่มโอกาสในการบาดเจ็บทางทันตกรรมหรือการบาดเจ็บที่ใบหน้า จากการศึกษาผู้ป่วยบาดเจ็บบริเวณใบหน้าจากอุบัติเหตุในสหราชอาณาจักร พบว่า 55% ของการบาดเจ็บเกี่ยวข้องกับการดื่มเครื่องดื่มมึนเมา โดยมี 11% เกิดจากการหกล้มและ 15% เป็นผู้ที่ได้รับบาดเจ็บจากอุบัติเหตุบนท้องถนน

 

ไม่เพียงแค่ผลกระทบต่อสุขภาพช่องปากที่กล่าวไปข้างต้น เหล้าเบียร์ยังส่งผลต่อการเข้ารักษาและบริการทันตกรรมของสิงห์นักดื่ม เนื่องจากแอลกอฮอล์มีผลทางลบต่อการรักษา ไม่ว่าจะเป็นทำให้แผลหายช้าลง เลือดไม่หยุดไหลจนนำไปสู่อาการแทรกซ้อนอื่นๆ หรือส่งผลต่อการเลือกใช้ตัวยาของแพทย์ เพราะถ้าหากนักดื่มมีป่วยเป็นโรคตับ ก็จำเป็นต้องเลือกใช้ยาอย่างระมัดระวังมากขึ้น

ในการทำงานของทันตแพทย์จึงจำเป็นต้องซักถามประวัติการดื่มแอลกอฮอล์ เพื่อให้การรักษาที่เหมาะสม และสามารถช่วยเหลือแนะนำหากมีอาการที่ดูคล้ายจะรุนแรง ลุกลามไปสู่อาการผิดปกติอื่นๆ รวมไปถึงรณรงค์ให้คนไข้ลดการดื่มเหล้าเบียร์ลงเพื่อสุขภาพฟันที่ดีกว่า

ด้วยความมุ่งมั่นนี้เองทำให้เมื่อไม่กี่ปีที่ผ่านมาทันตแพทย์ในสหราชอาณาจักรจึงโดดเข้าร่วมด้วยกับแคมเปญ Dry January รณรงค์ให้ผู้คนลด และจำกัดการบริโภคแอลกอฮอล์ในช่วงเดือนแรกของปี หลังผ่านการเฉลิมฉลองอย่างหนักหน่วงในช่วงเดือนธันวาคม เป็นหนึ่งใน New year’s Resolution ต้อนรับปีใหม่ที่ได้รับความสนใจจากผู้คนจำนวนมาก

ดังนั้น หากใครอยากให้ฟันสวย ฟันสะอาด อยู่ด้วยกันไปนานๆ ก็อย่าลืมดื่มเหล้าเบียร์ให้พอเหมาะ ทำความสะอาดฟันให้ดี หรือใครไม่รู้จะเริ่มต้นการลดปริมาณอย่างไรดีอาจจะใช้เทคนิค Dry January เป็นจุดสตาร์ทก็ได้นะ

 

 


 

ที่มา

https://www.nature.com/articles/bdjteam201825?fbclid=IwAR0AykYLuMe3qiz24Wkdf69VRU-5eAd3wxuaEREoLC_kKr5JsFdshi46W_w

https://www.ncbi.nlm.nih.gov/pmc/articles/PMC5535480/?fbclid=IwAR0AykYLuMe3qiz24Wkdf69VRU-5eAd3wxuaEREoLC_kKr5JsFdshi46W_w

https://www.rcseng.ac.uk/news-and-events/media-centre/press-releases/alcohol-and-teeth/?fbclid=IwAR2JxPsej6x8WJh5onuee3eCq_XcD9BHtC2FcyWx3AYNva01qksknx3XlDw

https://www.bjoms.com/article/S0266-4356(98)90739-2/pdf

 

เรื่องและภาพ: ทีมงาน Alcohol Rhythm

Related Articles