แบบไหนคือติดเหล้า? ชวนเลิกเหล้า 9 ขั้นตอน

April 23, 2019


อาการติดสุรานับว่าเป็นโรคอย่างหนึ่งที่ส่งผลกระทบกับทั้งร่างกายและจิตใจของผู้ดื่ม รวมถึงต่อสังคมและคนรอบข้างด้วย ในแต่ละปีๆ มีนักดื่มที่ต้องการจะเลิกเหล้าเป็นจำนวนมาก แต่มีข้อค้นพบว่า นักดื่มที่ต้องการจะเลิกเหล้าไม่สามารถหยุดดื่มเหล้าได้ทันที และไม่สามารถหักดิบด้วยตนเองได้ ทั้งนี้ เพราะอาการติดเหล้ามีหลายระดับ บางระดับยังสามารถหักดิบด้วยตนเองได้ แต่บางระดับจะต้องขอรับคำปรึกษาและการบำบัดรักษาจากแพทย์ผู้เชี่ยวชาญ ดังนั้น จึงจำเป็นอย่างยิ่งที่ผู้ที่ต้องการเลิกเหล้าจะต้องทราบว่า ตนเองนั้นติดเหล้าอยู่ในระดับใด เพื่อที่จะเลือกวิธีการเลิกเหล้า และปฏิบัติตนได้อย่างเหมาะสม

Alcohol Rhythm เปลี่ยนจังหวะชีวิตคนติดเหล้า ขอเป็นอีกหนึ่งกำลังใจที่ช่วยให้คนอยากเลิกเหล้าทุกคนเลิกเหล้าได้สำเร็จ โดยขอนำเสนอบทความว่าด้วยเรื่องการประเมินอาการติดเหล้าด้วยตนเองอย่างง่าย รวมถึงแนะนำการบำบัดรักษาอาการติดเหล้า ทั้งที่เป็นการบำบัดด้วยตนเอง และการบำบัดด้วยยา รวมถึงเทคนิคเล็กๆ น้อยๆ ที่จะทำให้การเดินทางบนถนนสายเลิกเหล้าของคุณราบรื่น

 

แบบไหนถึงเรียกว่าติดเหล้า?

 

ก่อนที่จะเริ่มต้นการเลิกเหล้า ผู้ดื่มหลายคนคงสับสนว่า ตนเองเข้าข่ายติดเหล้าแล้วหรือไม่ แล้วถ้าเข้าข่ายติด ติดอยู่ในระดับไหน และควรจะบำบัดรักษาด้วยวิธีการใด?

การจะดูว่าผู้ดื่มคนหนึ่งเข้าข่ายติดสุราแล้วหรือยัง จะต้องลองให้ผู้ดื่มประเมินตนเองในช่วง 12 เดือนที่ผ่านมา ว่ามีอาการดังต่อไปนี้หรือไม่

 

1. มีอาการดื้อเหล้า คอแข็งมากขึ้น ตัวอย่างง่ายๆ เลยคือ ต้องดื่มสุรามากขึ้นเพื่อให้ได้ฤทธิ์เมาเท่าเดิม

2. มีอาการขาดเหล้า เช่น มือสั่น ปวดหัว ใจสั่น และเบื่ออาหาร เมื่อตั้งใจจะดื่มน้อยลงหรือหยุดดื่ม

3. มีอาการ ‘ติดลม’ คือดื่มเหล้าในปริมาณที่มาก และนานกว่าที่ตั้งใจไว้

4. มีความพยายามลดหรือเลิกหลายครั้ง แต่ไม่สำเร็จ

5. มีความพยายามหาเหล้ามาดื่มให้ได้ และต้องใช้เวลานานในการสร่างเมา

6. มีปัญหาในการเข้าสังคม ต้องลดการเรียน การทำงาน หรือการทำกิจกรรมที่เคยชอบหรือสนใจทำ เพราะใช้เวลาส่วนใหญ่ไปกับการดื่มเหล้า

7. มีพฤติกรรมดื่มซ้ำๆ ทั้งๆ ที่รู้ว่าจะเกิดผลเสียต่อร่างกายและจิตใจ

 

หากคุณตอบว่าตนเอง ‘มี’ พฤติกรรมเหล่านี้น้อยกว่า 3 ข้อ หรือไม่มีเลย คุณเป็นผู้ดื่มแบบ ‘เสี่ยงหรืออันตราย’

แต่หากคุณตอบว่า ‘มี’ พฤติกรรมเหล่านี้ 3 ข้อหรือมากกว่า คุณเป็นผู้ดื่มแบบ ‘ติด’

 

(ทั้งนี้ แบบประเมินดังกล่าวเป็นแบบประเมินด้วยตนเอง หากผู้ดื่มหรือญาติไม่แน่ใจหรือต้องการคำปรึกษา สามารถติดต่อขอรับคำปรึกษาได้จากแพทย์หรือผู้เชี่ยวชาญ เพื่อจะได้รับข้อมูลเพื่อประกอบการตัดสินใจต่อไป)

 

แล้วสองระดับนี้แตกต่างกันอย่างไร?

 

การดื่มแบบอันตราย คือการดื่มเหล้าจนเกิดผลเสียต่อสุขภาพผู้ดื่ม ทั้งทางร่างกาย เช่น เป็นโรคกระเพาะ ตับอักเสบ หรือทางจิตใจ เช่น อาการซึมเศร้า ซึ่งผู้ติดในระดับนี้ หากตั้งใจแล้วสามารถลดหรือหยุดดื่มด้วยตนเองได้

แต่ถ้าคุณเป็นผู้ดื่มแบบติด ซึ่งหมายถึงดื่มเหล้าจนติด และมีปัญหารอบตัวอันเกิดจากการดื่มเหล้า คุณควรพบแพทย์หรือผู้เชี่ยวชาญ เพื่อรับการวินิจฉัยและบำบัดรักษาต่อไป

 

อยากเลิกเหล้า แต่ทำไมถึงเลิกไม่ได้สักที?

 

หนึ่งในความเข้าใจผิดอย่างหนึ่งเกี่ยวกับการติดเหล้าคือ การติดเหล้าเป็นเรื่องของอุปนิสัยที่ชอบดื่ม และเมื่ออยากเลิกดื่ม ก็ต้องปรับเปลี่ยนอุปนิสัยนั้น แต่อันที่จริงแล้ว การติดเหล้าเป็นโรคอย่างหนึ่งที่สามารถบำบัดรักษาให้หายได้ โดยเหล้าจะส่งผลต่อสมอง 2 ส่วน คือส่วนการยับยั้งชั่งใจ (การใช้เหตุผล การตัดสินใจ จะถูกกดไว้) และส่วนอยาก (เกี่ยวข้องกับอารมณ์ ความรู้สึก ซึ่งเหล้าจะไปกระตุ้นให้สารแห่งความสุขหรือโดพามีนหลั่งออกมา ทำให้ผู้ดื่มรู้สึกมีความสุขเวลาดื่ม)

แม้ตอนดื่มผู้ดื่มมีความสุข แต่พอเหล้าหมดฤทธิ์แล้ว ผู้ดื่มจะเกิดอาการหงุดหงิด หรือที่เรียกว่ามีอาการขาดเหล้า ซึ่งมีทั้งแบบธรรมดา (มือสั่น ใจสั่น วิตกกังวล คลื่นไส้อาเจียน เป็นต้น) และแบบรุนแรง (คือเริ่มมีอาการทางจิต เห็นภาพหลอน เพ้อสับสน เป็นต้น ซึ่งควรได้รับการรักษาจากแพทย์อย่างเร่งด่วน)

หลังจากเกิดอาการขาดเหล้า อาการที่จะตามมาด้วยคือ อาการอยากเหล้า จนต้องหาเหล้ามาดื่มซ้ำๆ ทั้งนี้ หากผู้ดื่มยังดื่มเหล้าในปริมาณเท่าเดิม แต่เมาน้อยหรือเมายากกว่าเดิม นั่นแปลว่าคุณมีอาการดื้อเหล้า และเป็นสัญญาณว่าคุณเข้าสู่ภาวะ ‘ติด’ เหล้าแล้ว

 

เลิกเหล้า คุณเองก็ทำได้…

 

หากคุณเป็นผู้ดื่มที่ตั้งใจแน่วแน่ว่าจะเลิกเหล้า ก็เท่ากับว่าคุณได้เดินมาถึงครึ่งทางแล้ว และแม้การเลิกเหล้าจะไม่ใช่เรื่องง่าย แต่ก็ไม่ได้ยากเกินความสามารถ ซึ่งวิธีการเลิกเหล้ามีหลายวิธี วิธีแรก ได้แก่ วิธีการเลิกเหล้า 9 ขั้นตอน ซึ่งเป็นการหยุดดื่มด้วยตนเอง หรือที่เรารู้จักกันว่าเป็นการหักดิบ ซึ่งวิธีนี้จะเหมาะกับผู้ดื่มที่ยังไม่ได้อยู่ในระดับติด โดยมีวิธีการดังนี้

 

1. เริ่มจากการมีเป้าหมายชัดเจน ว่าจะเลิกไปเพื่ออะไร ทำไปเพื่อใคร

2. แสดงความตั้งใจที่แน่วแน่โดยการกำหนดวันเริ่มต้นที่จะเลิกดื่มเหล้า และหยุดดื่มได้ทันที รวมถึงเฝ้าระวังอาการขาดเหล้าของตนด้วย แต่ทั้งนี้ มีทริคเล็กๆ น้อยๆ คือ ผู้ดื่มควรลดปริมาณการดื่มก่อนจะถึงวันหยุดดื่มที่กำหนดเอาไว้ เพื่อลดปัญหาอาการขาดเหล้า

3. เตรียมคิดล่วงหน้า ว่าจะทำอย่างไรให้ไม่คิดถึงเหล้าอีก รวมถึงฝึกปฏิเสธเวลามีคนมาชวนดื่มเหล้าด้วย

4. หากิจกรรมอื่นๆ ทำ เช่น เล่นดนตรี กีฬา ไปพักผ่อนกับครอบครัว

5. บอกคนรอบตัวและคนที่คุณรัก เพื่อจะได้กำลังใจจากคนรอบข้าง

6. ลงมือทำทันที ไม่รีรอ

7. ฝึกสร้างความสุขง่ายๆ ให้กับตัวเอง

8. ดูแลตนเองเป็นอย่างดีในช่วงที่กำลังหยุดดื่มเหล้า เช่น รับประทานอาหารให้ครบ 5 หมู่ ออกกำลังกายให้เหมาะสมกับวัยของตน

9. หากมีความกังวลระหว่างการเลิก หรือพยายามเลิกแล้วแต่ไม่สำเร็จ คุณควรปรึกษาแพทย์ผู้เชี่ยวชาญจากสถานบำบัดทั่วประเทศ

 

เคล็ดลับเลิกเหล้า: หลีกเลี่ยงสถานที่และสังคมที่จะกระตุ้นให้เกิดการดื่มซ้ำ หากอ่อนเพลียให้ดื่มน้ำหวาน หรือน้ำผลไม้ และผลไม้รสเปรี้ยวจะช่วยลดความอยากดื่มได้ ทานอาหารให้อิ่มทุกมื้อ โดยหลีกเลี่ยงอาหารที่เคยเป็นกับแกล้มและอาหารมัน สำหรับผู้ที่ดื่มจัด ให้ทานวิตามินบี 1 บี 6 และบี 12 (วันละ 3 ครั้ง ครั้งละ 1 เม็ด)

 

แต่หากคุณเป็นผู้ดื่มที่อยู่ในระดับติด คุณควรจะเลิกเหล้าโดยวิธีการใช้ยาบำบัด หรือการไปพบแพทย์นั่นเอง โดยคุณสามารถไปรักษาที่โรงพยาบาลใกล้บ้านที่มีจิตแพทย์ประจำอยู่ หรือติดต่อแผนกจิตเวช หรือคลินิกบำบัดสุราและยาเสพติด เพื่อขอรับการบำบัดรักษาและฟื้นฟูเยียวยาได้

(ดูข้อมูล 5 สถานที่เพื่อคนอยากเลิกเหล้าได้ ที่นี่)  

 

การบำบัดด้วยยา มี 4 ขั้นตอน ดังนี้

 

1. ขั้นเตรียมการบำบัด คือการตรวจประเมินสุขภาพร่างกาย เพื่อเป็นการประเมินอาการขาดเหล้าเมื่อหยุดดื่ม

2. ขั้นช่วยเหลืออาการถอนเหล้า คือการช่วยให้ผู้ดื่มหยุดดื่มเหล้าเบื้องต้น ช่วยบรรเทาอาการขาดเหล้า และป้องกันอาการขาดเหล้าที่รุนแรง โดยจะใช้เวลาประมาณ 1-2 สัปดาห์ บางรายอาจจะต้องบำบัดรักษาในโรงพยาบาล

3. ขั้นฟื้นฟูสมรรถภาพ คือการช่วยให้คุณหยุดเหล้าได้อย่างต่อเนื่อง สามารถอดทนต่ออาการอยากเหล้า ปรับตัวเข้ากับครอบครัวและสิ่งแวดล้อมได้ รวมถึงสามารถดำรงชีวิตได้โดยไม่กลับไปดื่มเหล้าซ้ำอีก ขั้นตอนนี้ใช้ระยะเวลาราว 4-6 เดือน

4. ขั้นติดตามผล เป็นการติดตามผลการรักษา ฟื้นฟู และช่วยเหลือ เพื่อให้ผู้ดื่มมีวิถีชีวิตปกติ และหยุดการดื่มเหล้าได้อย่างต่อเนื่อง

 

นอกจากนี้ยังมีวิธีการบำบัดรักษาแบบทางเลือก เช่น การบำบัดวิถีพุทธ โดยคุณสามารถโทร 1413 (สายด่วนเลิกเหล้า) เพื่อสอบถามข้อมูลเกี่ยวกับวัดที่รับบำบัดอาการติดเหล้าได้

 

เลิกเหล้ายังไงให้ได้ยาวนาน?

 

การจะเลิกเหล้าให้ประสบความสำเร็จมีหลายปัจจัย โดยปัจจัยที่สำคัญที่สุดมาจากตัวคุณเอง ที่ต้องมีความตั้งใจแน่วแน่ในการเลิกเหล้า รวมถึงมีวิธีการดื่มที่เหมาะสมกับตนเอง และคนรอบตัวก็สามารถให้การสนับสนุน และเป็นกำลังใจ รวมถึงร่วมมือกับแพทย์ในการบำบัดรักษาอาการเลิกเหล้าด้วย

หากเลิกเหล้าได้แล้ว คุณควรหยุดดื่มให้ได้อย่างน้อยเป็นเวลา 6 เดือน เพราะสมองยังมีภาวะไวต่อเหล้าอยู่ ซึ่งการหยุดดื่มให้ได้อย่างน้อย 6 เดือนเพื่อเป็นการให้สมองของเราสามารถฟื้นฟูตนเองได้

แน่นอนว่าถนนแห่งการเลิกเหล้านั้นยาวนาน และเต็มไปด้วยอุปสรรคมากมายที่คอยจะขัดขวางผู้ที่อยากเลิกเหล้าทุกคน สิ่งสำคัญที่สุดจึงเป็นแรงใจจากผู้ที่ต้องการเลิกเหล้า และกำลังใจจากคนรอบตัวและบุคคลอันเป็นที่รัก เพื่อที่จะคอยประคับประคองคนเลิกเหล้าให้วิ่งไปบนถนนสายเลิกเหล้าได้อย่างราบรื่น และกลับมาใช้ชีวิตในสังคมได้อย่างปกติสุขดังเดิม

 


ที่มา: พ.อ. นพ. พิชัย แสงชาญชัย (บรรณาธิการ). เตรียมความพร้อมก่อน “งดเหล้าเข้าพรรษา”. เชียงใหม่: แผนงานการพัฒนาระบบการดูแลผู้มีปัญหาการดื่มสุรา (ผรส.); 2555.

เรื่องและภาพ: ทีมงาน Alcohol Rhythm

Related Articles