“การบำบัดเหล้าคือการจัดความสัมพันธ์” คุยกับ นพ.โกมาตร จึงเสถียรทรัพย์

September 15, 2020


ก่อนเริ่มต้นการสนทนา นพ.โกมาตร จึงเสถียรทรัพย์ ผู้อำนวยการศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร (องค์การมหาชน) ออกตัวกับเราว่า เขาไม่ถนัดและไม่ได้รู้เรื่องแอลกอฮอล์และการรณรงค์ในสังคมไทยมากเท่าไหร่

อย่างไรก็ดี หัวข้อที่เราอยากชวนคุณหมอโกมาตรคุยในวันนี้อาจไม่ได้เกี่ยวกับเรื่องเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ หรือระบบการบำบัดสุราโดยตรง แต่เป็นการมองเรื่องเหล่านี้ผ่านแว่นตาแบบ ‘มานุษยวิทยา’ ซึ่งเป็นอีกหนึ่งความเชี่ยวชาญของคุณหมอ

จากเด็กที่เติบโตขึ้นในร้านขายของชำจังหวัดสุรินทร์ เห็นชุมชนที่มีวัฒนธรรมแตกต่างไปจากตัวเอง สู่บัณฑิตคณะแพทยศาสตร์ และเป็นแพทย์ใช้ทุนในชนบท การเห็นภาพต่างๆ ที่สอดแทรกอยู่ในวิถีชีวิตชาวบ้านทำให้คุณหมอโกมาตรเริ่มสนใจวิถีชีวิตและวัฒนธรรมที่แตกต่างออกไป จนตัดสินใจศึกษาต่อปริญญาเอกด้านมานุษยวิทยา และกลายเป็นผู้ที่อยู่ระหว่างโลกสุขภาพและโลกทางมานุษยวิทยา รวมทั้งนำความรู้ข้ามศาสตร์มาใช้ในการทำงานของเขา

Alcohol Rhythm เปลี่ยนจังหวะชีวิตคนติดเหล้า ชวนอ่านบทสนทนากับนพ.โกมาตร จึงเสถียรทรัพย์ ว่าด้วยโลกของแพทย์และมานุษยวิทยา รวมถึงระบบบำบัดสุราในปัจจุบันที่คุณหมอโกมาตรนิยามว่า เราอาจจะลองเพิ่ม ‘การจัดความสัมพันธ์’ และ ‘การสื่อความปรารถนาดี’ เข้าไป

เป็นการเติมความเป็นมนุษย์ลงไปในระบบบำบัด เพราะเบื้องหลังขวดเหล้าทุกขวดมีเรื่องราวชีวิตคนซ่อนอยู่

 

 

จุดเริ่มต้นที่ทำให้คุณหมอสนใจมานุษยวิทยาคืออะไร แล้วการเรียนต่อ รวมถึงการศึกษาค้นคว้าด้านมานุษยวิทยาเปลี่ยนมุมมองด้านการแพทย์หรือด้านสุขภาพไปจากเดิมอย่างไร

ผมคิดว่า ส่วนหนึ่งที่ทำให้ผมหันมาสนใจมานุษยวิทยาน่าจะมาจากการที่ผมชอบฟังเรื่องเล่าและเรื่องราวของคน ว่าเขาเป็นอย่างไร เขาคิดอะไร ซึ่งเรื่องทำนองนี้จะไม่ค่อยมีในการเรียนแพทย์ ส่วนมาก การเรียนแพทย์จะเป็นการไปถามข้อมูลที่เรารู้อยู่แล้วว่าเราจะไปหา เช่น มีอาการแบบนี้ไหม ป่วยมากี่วันแล้ว เรารู้อยู่แล้วว่าเราจะถามอะไร เปรียบเทียบง่ายๆ คือเหมือนให้เขาเติมคำในช่องว่างของแบบฟอร์มที่เราออกแบบไว้แล้ว แต่มิติที่จะไปฟังเรื่องที่เราไม่รู้มาก่อน ไปฟังชีวิตของเขา ตรงนี้จะไม่ค่อยมี แต่มันดึงดูดให้เราเข้าไปเรียนรู้ ผมรู้สึกว่านี่แหละ คือมิติที่หายไปจากการเรียนแพทย์ คือมิติเรื่องความเข้าใจในเรื่องราวชีวิตของผู้คน

ถ้าถามว่าทำให้เห็นอะไรแตกต่างไปจากการเรียนแพทย์ไหม ผมว่าเห็นเยอะนะ ในแง่หนึ่งคือ โรคภัยไข้เจ็บมันค่อนข้างตรงไปตรงมา มีอาการ มีสิ่งให้ตรวจพบหรือวินิจฉัยได้ แต่มันจะเปลี่ยนไปเมื่อเรื่องเหล่านี้ไปปรากฎอยู่ในชีวิตคน เช่น ผู้หญิงคนหนึ่งจะเข้ามาให้เราทำแท้ง ในทางการแพทย์ กระบวนการทำแท้งเหมือนกันหมด แต่เรื่องราวเบื้องหลัง ความรู้สึกนึกคิดของผู้หญิงคนหนึ่งที่ต้องมาทำแท้ง มุมนี้จะไม่ค่อยมี

ในแง่นี้ การเรียนมานุษยวิทยาก็ช่วยให้เราเห็นภาพของชีวิตผู้คนที่สมบูรณ์ขึ้น ทำให้เราเห็นว่า ชีวิตเป็นมาเป็นไปอย่างไร มีข้อจำกัดอะไร ทำให้คนเราเลือกอะไรได้บ้าง เลือกไม่ได้บ้าง ชนชั้นกลางก็มีโอกาสเลือกมากกว่า แต่ถ้าเป็นชนชั้นแรงงานก็จะมีโอกาสเลือกน้อยกว่า ตรงนี้มาช่วยเติมให้เราละเอียดขึ้นเวลาดูคน ซึ่งผมคิดว่า นี่เป็นคุณสมบัติที่จะทำให้เรามองปัญหาต่างๆ ได้รอบคอบขึ้น

 

สำหรับคุณหมอ การเข้าใจเรื่องราวชีวิตคนและภูมิหลังของเขามากขึ้นทำให้การรักษาดีขึ้น หรือปรับเปลี่ยนการมองแบบแพทย์อย่างเดียวไปอย่างไร อยากชวนคุณหมอยกตัวอย่างที่เป็นรูปธรรมตรงนี้หน่อย

พูดให้เห็นภาพคือ เวลาเราจะแนะนำอะไรเขา แต่เราไม่รู้มาก่อนว่าชีวิตเขาเป็นอย่างไร เราก็จะแนะนำไปตามหลักการอย่างเดียว เช่นในกรณีหนึ่ง เรานัดคนไข้ที่เป็นมะเร็งผิวหนังบริเวณเปลือกตาให้มาผ่าตัด ซึ่งมะเร็งที่ว่าเป็นระยะเริ่มต้น ถ้าผ่าก็หาย แต่เขากลับไม่มาตามนัด ตรงนี้ ถ้าเราไม่ได้เข้าไปดูเรื่องราวหรือเงื่อนไขชีวิตคน เราก็อาจจะหงุดหงิดคนไข้บ้างนะ อาจจะคิดว่า ไม่รักตัวเองหรือไง หรือไม่กลัวเสียชีวิตหรอ ทำไมไม่มาตามนัด แต่ถ้าเราเข้าไปดูรายละเอียด เราจะเห็นว่าเขาเป็นยายที่ต้องดูแลหลานสองคนที่พ่อแม่เลิกกัน ยายต้องนอนกอดหลานให้หลับทุกคืน และถ้าแกมาผ่าตัด แกก็ต้องทิ้งหลานหรือฝากหลานไว้กับคนอื่น ซึ่งไม่รู้ว่าจะไปฝากใคร คุณยายเลยไม่มาผ่าตัดตามนัด เพราะสงสารหลานและไม่รู้จะจัดการอย่างไรกับหลานสองคนที่แกต้องดูแล

เมื่อเราเห็นแบบนี้ก็จะช่วยจัดการได้ อาจจะหาทางนัดหมายหรือนัดให้อาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน (อสม.) มาช่วยดูแล ตรงนี้ก็แก้ปัญหาได้ แต่ถ้าเราไม่รู้มาก่อน เราก็อาจจะตำหนิคนไข้ ทั้งที่เราไม่เข้าใจโลกของเขาเลย

ผมคิดว่า มุมมองด้านนี้จะทำให้เรามีความเห็นอกเห็นใจ (empathy) มากขึ้น หรือจะเรียกว่า ‘มีความเป็นมนุษย์มากขึ้น’ ก็ได้ อันนี้เราจำเป็นต้องมีนะ ยิ่งทุกวันนี้หมอกับคนไข้ห่างกัน แต่ก่อนระบบบริการยังมีงานแบบลงชุมชนไปเยี่ยมบ้านเยอะ แต่เดี๋ยวนี้ตรวจรักษาอย่างเดียวก็หมดแรงกันแล้ว ถ้าหมอที่ดูแลคนไข้ไม่มีทักษะ ชวนคุยไม่เป็น ถามไม่เป็น ฟังไม่เป็น หรือสังเกตไม่เป็น หมอก็อาจจะไม่ได้เห็นเรื่องราวอีกหลายด้านที่มาประกอบเป็นการตัดสินใจที่ดีกว่าเดิมได้ ซึ่งตอนนี้โรงเรียนแพทย์ก็พยายามเติมตรงนี้ให้ให้นักเรียนแพทย์มากขึ้น แต่ประเด็นอยู่ที่จะทำอย่างไรให้ได้ผล เพราะบางทีก็ไม่ง่ายเลยที่จะปลูกฝังเรื่องนี้

 

มีคนพูดถึงเรื่อง ‘มานุษยวิทยาทางการแพทย์’ อยากชวนคุณหมอขยายความว่า มานุษยวิทยาทางการแพทย์คืออะไร ในไทยศึกษาเรื่องนี้มากน้อยแค่ไหน

ในแวดวงมานุษยวิทยามีการแบ่งเป็นสาขาย่อยๆ ถ้าเริ่มตั้งแต่มีสาขามานุษยวิทยามา นักมานุษยวิทยารุ่นแรกๆ ได้ไปศึกษาเรื่องการแพทย์ เพราะเวลาเราเข้าไปอยู่ในสังคมหนึ่ง เรื่องที่เราจะเจอบ่อยคือพวกโรคภัยไข้เจ็บ ความเคราะห์ร้าย ซึ่งอาจจะรวมอุบัติเหตุ ไฟไหม้ อะไรทำนองนี้เข้าไปด้วย ในภาษาอังกฤษจะเรียกรวมๆ ว่า misfortune

ทีนี้ เมื่อนักมานุษยวิทยาไปศึกษาก็จะพบว่า  สังคมต่างๆ มีคำอธิบายเรื่องความเคราะห์ร้ายไม่เหมือนกัน ตรงนี้ก็เริ่มมีการศึกษามาเรื่อยๆ แต่มานุษยวิทยาทางการแพทย์มาเติบโตเต็มที่หลังสงครามโลกครั้งที่ 2 ซึ่งเป็นยุคของงานพัฒนา และงานเหล่านี้ต้องการความเข้าใจเกี่ยวกับความเป็นอยู่ การดำเนินชีวิตของคน เช่น การควบคุมโรคพยาธิปากขอ หรือโรคขาดสารอาหาร ตรงนี้มีความจำเป็นต้องเข้าไปศึกษาว่า ทำไมชาวบ้านถึงปฏิบัติตนแบบนี้ เพื่อจะเปลี่ยนแปลงสุขาภิบาลและการควบคุมป้องกันโรคให้ดีขึ้น

อีกอย่างคือ โรคบางโรคจะมีปัญหาเรื่องความรังเกียจเดียดฉันท์ เช่น โรคเรื้อนหรือโรคคุดทะราด ที่แม้จะมียารักษา แต่ผู้ป่วยอาจจะอายจนไม่มารักษา หรือเจ้าหน้าที่ก็อาจจะรังเกียจผู้ป่วยด้วยไหม จะเห็นว่าก็มีโจทย์แบบนี้เกิดขึ้นด้วย

นักมานุษยวิทยาจึงจะเข้าไปศึกษาพฤติกรรมที่เกี่ยวโยงกับสุขภาพอนามัยมากขึ้น กลายเป็นว่าแวดวงมานุษยวิทยาได้ทำงานร่วมกับการแพทย์ และพัฒนามาจนถึงปัจจุบัน ถือว่าเป็นหนึ่งสาขาหลักในทางมานุษยวิทยาที่มีการสร้างแนวคิดทฤษฎีใหม่ๆ และมีการนำความรู้ทางมานุษยวิทยาการแพทย์ไปใช้ประโยชน์ โดยแต่เดิม นักมานุษยวิทยาอาจจะสนใจศึกษาเกี่ยวกับการแพทย์พื้นบ้าน ความเชื่อ สมุนไพร หรือหมอผี แต่ในปัจจุบัน มีการศึกษาเกี่ยวกับวิทยาศาสตร์การแพทย์และการแพทย์สมัยใหม่มากขึ้นด้วย

ส่วนในประเทศไทย มานุษยวิทยาและมานุษยวิทยาการแพทย์ก็มีการเติบโตขึ้นมาก ถ้าเทียบกับในเอเชีย ถือว่าแวดวงมานุษยวิทยาของเราตื่นตัวและมีความก้าวหน้ามากขึ้น คือดีขึ้นในช่วงราว 20 ปีที่ผ่านมา แต่ถามว่าดีมากไหม ก็คิดว่าน่าจะดีขึ้นกว่านี้ได้อีก สาเหตุส่วนหนึ่งเพราะบ้านเราเรียนแยกสายวิทย์-สายศิลป์ ซึ่งคนสองสายนี้ก็ไม่ค่อยอยากจะยุ่งซึ่งกันและกันเท่าไหร่ จนกลายเป็นช่องว่างของคนทั้งสองสายไปเลย

 

มีคนจำนวนหนึ่งวิพากษ์วิจารณ์ว่า คนเรียนแพทย์อาจจะเน้นมองเรื่องสุขภาพโดยขาดมุมมองด้านอื่นไป คุณหมอคิดว่า เราจะเติมเต็มมุมมองที่ขาดไปได้อย่างไรบ้าง

ผมคิดว่า การจะทำให้แพทย์มองโลกในมิติที่เห็นความเป็นมนุษย์หรือมิติทางสังคมวัฒนธรรมมากขึ้น อาจจะต้องเริ่มจากการตั้งคำถามที่วิธีการเรียนการสอนแพทย์ด้วย คือต้องมีการปรับวิธีการเรียนการสอน และอาจจะผนวกเอาความละเอียดอ่อนหรือความรู้ของวิชาการด้านอื่นเข้าไปด้วย

ในวงการแพทย์ มีงานวิจัยหลายชิ้นที่ชี้ให้เห็นว่า การเรียนการสอนเป็นวิธีการฝึกให้นักเรียนแพทย์คิดและมองโลกแบบใหม่ ตอนที่เข้ามาเรียนแพทย์ใหม่ๆ นักศึกษาจะยังมีความละเอียดนะ เวลาเขาเจอคนไข้ เขายังรู้สึกว่าคนตรงหน้าเป็นพี่ ป้า น้า อา ที่คุยด้วยได้ แต่เมื่อเรียนไป เขาจะได้รับการฝึกให้ถาม ฝึกการมอง การสังเกต ฝึกให้เล่า คือการนำเสนอ ‘เคสผู้ป่วย’ ให้กับอาจารย์ ว่าจะต้องเล่าอะไร เล่าอย่างไร รวมทั้งฝึกให้บันทึกประวัติ เช่น ถ้าจะทำประวัติผู้ป่วย นักเรียนแพทย์ก็จะถูกฝึกให้เขียนไปว่า คนป่วยเด็กไทยปากแหว่งเพดานโหว่แต่กำเนิด แต่ถ้าใครเกิดไปเล่าเรื่องราวชีวิตหรือความยากจนของครอบครัวคนไข้  อาจารย์ก็จะบอกว่า ไม่ต้องเล่าแบบนี้ เขาเป็นโรคอะไรก็พูดมา

การแพทย์แผนปัจจุบันเป็นการแพทย์แบบชีววิทยา หมอจึงถูกฝึกให้เล่าเฉพาะเรื่องทางชีววิทยา หรือความผิดปกติของอวัยวะ โดยไม่ต้องเล่าเรื่องราวความทุกข์หรือปัญหาเศรษฐกิจสังคมของมนุษย์ นี่เป็นการฝึกวิธีการมองโลก การเล่าและการเขียนก็เป็นวิธีการนิยามความจริง ถ้าเราจะเขียนก็จะเขียนเฉพาะข้อมูลที่ว่า ผู้ป่วยอายุเท่าไหร่ เป็นโรคอะไร จบ ไม่ต้องเขียนอะไรมากไปกว่านั้น โลกความจริงของเราก็มีอยู่แค่นี้ ความรู้สึก ความรัก ความหดหู่สิ้นหวัง หรือความทุกข์ของคนจะไม่มีที่ยืนในระบบความรู้นี้ เราไม่มีที่ให้กับความรู้สึกอ่อนไหวต่อความทุกข์ อ่อนน้อมต่อชีวิตที่จะหล่อเลี้ยงให้เติบโตคู่ไปกับความเป็นแพทย์ เพราะฉะนั้น ในระบบแบบนี้ เราอาจสร้างแพทย์ที่เก่งในเรื่องวิชา แต่อาจจะไม่มีความเข้าใจในความซับซ้อนของชีวิตหรือขาดความละเอียดอ่อนต่อความเป็นมนุษย์ไป

แต่ถ้าเราทำอะไรด้วยความรู้สึกมากจนเกินไป ก็ต้องระวังเหมือนกันนะ เพราะบางทีการรู้สึกอินมากจนเกินไปก็จะทำให้วิจารณญาณของเราเสียไปได้ ตรงนี้เลยกลายเป็นเส้นบางๆ ว่า หมอจะทำอย่างไร เพราะหมอก็เป็นมนุษย์ มีความรู้สึกอ่อนไหวได้ ไม่ใช่ว่าหมอจะมีภูมิคุ้มกันในเรื่องนี้เป็นพิเศษ ทุกครั้งหากคนไข้ที่เราดูแลเสียชีวิตไป ถ้าเราดูแลจิตใจไม่ดี หมอเองก็ดาวน์ได้เหมือนกัน ในแง่นี้ การแพทย์สำหรับผมจึงเป็นศิลป์มากกว่าเป็นศาสตร์ กล่าวคือ เป็นสิ่งที่ต้องอาศัยความรู้ คือศาสตร์ และต้องใส่ใจกับความรู้สึก ทั้งที่เรารู้สึกและต้องดูแลความรู้สึกคนอื่นด้วย ตรงนี้ก็เป็นความท้าทายและต้องอาศัยความรู้หลายแบบเหมือนกัน

 

ถ้าพูดถึงเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ คุณหมอเห็นว่ามันฝังรากลึกในสังคมไทยอย่างไรบ้าง และรากหรือความเชื่อเกี่ยวกับเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ส่งผลกับคนติดสุราอย่างไร

เหล้าหรือสุรามีบทบาทในสังคมไทยมายาวนานอยู่แล้ว เช่น สมัยก่อน มีการใช้เหล้าในบริบทของพิธีกรรม ใช้ในงานเลี้ยง งานบุญ หรืองานฉลองต่างๆ แต่การบอกว่าอะไรฝังรากลึก ก็อาจมีนัยว่าต้องขุดรากถอนโคนมันออกมา ในแง่นี้ ผมจึงคิดว่าเราอาจต้องมาทำความเข้าใจปรากฏการณ์การดื่มแอลกอฮอล์ ซึ่งถ้าจะให้มองในมุมมองของมานุษยวิทยาที่มองปรากฎการณ์ต่างๆ เราจะมีหลักง่ายๆ อยู่ 3 ข้อ

ข้อแรก มานุษยวิทยาจะพยายามทำความเข้าใจมุมมองของคนใน คือ ทำความเข้าใจจากมุมมองของคนดื่มเอง อย่าเพิ่งไปด่วนตัดสินด้วยหลักเกณฑ์หรือวิธีคิดของเรา เช่น ไปทำความเข้าใจว่าทำไมคนดื่มเหล้า เขาคิดและรู้สึกอย่างไร เขารับรู้เรื่องสุราอย่างไรบ้าง ตรงนี้ก็เป็นคำถามที่นักมานุษยวิทยาสนใจ เวลาเราจะทำงานกับคน เช่น คนที่ดื่มเหล้า เรารู้ ‘มุมมองของคนใน’ คือคนที่ดื่มเหล้าดีรึยัง คนดื่มเหล้าก็อาจมีหลายกลุ่มย่อยที่มีความรู้สึกนึกคิดไม่เหมือนกัน บางกลุ่มอาจถือว่าการดื่มเป็นความรื่นเริง แต่บางคนอาจดื่มเพราะเขาอยากจะหนีความเป็นจริงของโลก ชีวิตมันทุกข์ อยากจะลืมมันไป หรือเพราะเขารู้สึกว่าชีวิตไม่มีคุณค่า ไม่มีความฝันหรือความหวังอีกแล้ว คือ ดื่มแบบประชดโลก ประชดชีวิต เพราะถ้าชีวิตเรามีความหวัง เราอาจจะไม่อยากทำอะไรที่เสี่ยงหรอก เหมือนคนเคยขับรถเร็ว พอมีลูกก็เลิกขับเร็ว แต่ถ้าสังคมสร้างคนที่รู้สึกว่า ชีวิตเขาไร้ค่า ไร้ความหวัง ไม่มีอนาคตอะไรที่ต้องเสีย เขาก็ไม่แคร์ คุณจะไปห้ามยังไงเขาก็คงจะไม่สนใจ เพราะเขาหดหู่ ไม่มีความหวังแล้ว

ตอนผมเด็กๆ ที่บ้านเป็นร้านของชำ มีสุรากลั่น 40 ดีกรีที่เรียกกันว่า ‘เหล้าขาว’ ขาย ชาวบ้านแถวนั้นพอตกเย็นกลับจากทำนาก็เดินมาแวะซื้อเหล้า 40 ดีกรีดื่มเป็น ‘เป๊ก’ (เป็นแก้วเล็กๆ) บางคนไม่มีเงินพอก็ซื้อแค่ครึ่งเป๊ก ตอนผมเป็นเด็กเคยสังเกตการดื่มสุราของเขา คือชาวบ้านไม่ได้ดื่มแบบอภิรมย์หรือดื่มให้เมามายอะไรนะ แต่ยกแก้วขึ้นตอกแบบรีบกิน พอเทเหล้าเข้าปากก็หน้าตาบิดเบี้ยว เหมือนกับว่ามันบาดคอหรืออะไรสักอย่าง ผมเคยคิดว่า ถ้าดื่มแล้วทรมานขนาดนั้นแล้วจะดื่มทำไม (หัวเราะ) แต่สำหรับเกษตรกรที่ตรากตรำทำงานมาทั้งวัน เขาถือว่า การดื่มเหล้าทำให้เลือดลมเดินดี การดื่มสำหรับเขาจึงเป็นเหมือนการกินยา  คือทำให้ไม่ปวดเมื่อย อีกอย่าง มันก็อาจผสมไปกับการให้รางวัลชีวิต คือใช้ปิดท้ายการทำงานที่เหนื่อยหนักของเขาด้วย

อันนี้เป็นมุมมองที่เราอาจต้องทำความเข้าใจ ซึ่งมานุษยวิทยาจะช่วยให้เข้าใจคนและสิ่งที่เขาทำจากมุมมองของเขาเอง ก่อนที่จะคิดไปขุดรากถอนโคนหรือไปแก้ไขอะไร

หลักการข้อที่สองคือ การเข้าใจบริบท คือ เข้าใจว่าการดื่มสุราเป็นส่วนหนึ่งของชีวิตและสังคมอย่างไร เหมือนกับว่าการดื่มสุราเป็นจิ๊กซอว์ชิ้นหนึ่ง ที่เราจะเข้าใจมันได้ก็ต้องเห็นจิ๊กซอว์ตัวอื่นๆ ที่มาปะติดปะต่อประกอบกันด้วย  บริบทคือปัจจัยแวดล้อมอื่นๆ ที่ทำให้เราเข้าใจและเข้าไปเกี่ยวข้องกับสิ่งนั้นได้ดีขึ้น ยกตัวอย่างเหมือนกับไฟฉาย เวลาเราส่องไฟฉายไปเพื่อหาสิ่งที่เราต้องการ แต่ด้วยความที่แสงจากไฟฉายจะค่อนข้างแคบ ก็จะทำให้เราไม่เห็นสิ่งแวดล้อมอื่นๆ พอเราจะไปเก็บของที่เราหา เราก็อาจไปสะดุดตอไม้ หัวชนกิ่งไม้ หรือก้าวไปเหยียบงูเข้า ไฟฉายที่ดีจึงมักมีกรวยแสงส่องออกมารอบๆ จุดโฟกัสด้วย ตรงนี้ก็เหมือนกับการที่เราจะเห็นบริบท ซึ่งการดื่มสุราของแต่ละกลุ่มก็อาจมีบริบทที่แตกต่างกัน บางบริบทคนดื่มอาจเลือกได้ บางบริบทอาจเลือกไม่ได้ อันนี้เราก็ต้องเข้าใจด้วย

มีคนเปรียบเทียบไว้น่าสนใจนะว่า ถ้าเราพิจารณาเปรียบเทียบการดื่มสุรากับกาแฟในบริบทของการทำงาน จะพบว่ามันทำหน้าที่ตรงข้ามกัน ในโลกของการทำงาน กาแฟทำหน้าที่เปลี่ยนจาก ‘พัก’ ไปสู่ ‘งาน’ อย่างเช่น พอเราเริ่มจะลงมือเขียนบทความสักชิ้น ถ้าได้กาแฟสักแก้ว มันเป็นการส่งสัญญาณว่า “จะทำงานแล้วนะ” และดูเหมือนกาแฟจะทำให้เรามีสมาธิดีขึ้นด้วย  แต่เหล้าทำหน้าที่เปลี่ยนจาก ‘งาน’ ไปสู่ ‘พัก’ คือ พอเลิกงานก็ไปฉลองกัน

เมื่อเป็นเช่นนี้ สุรากับกาแฟในบริบททางสังคมแบบหนึ่งจึงทำหน้าที่เป็นหมุดหมายการเปลี่ยนข้ามเวลาในการใช้ชีวิตของเรา ตรงนี้อาจจะเป็นเพราะผลในทางชีววิทยาด้วย คือ กาแฟเป็นตัวกระตุ้นให้ตื่นตัว ส่วนแอลกอฮอล์มีฤทธิ์กล่อมประสาท ทำให้ร่างกายรู้สึกผ่อนคลาย ซึมๆ ไม่ซีเรียสกับอะไรมาก คือไม่รับรู้อะไรที่จะมาซ้ำเติม mental load ของเราอีกแล้ว ในบริบทของสังคมที่ผู้คนอยากหนีไปจากโลกที่ไร้ความหวัง การติดเหล้าจึงเป็นทางออกที่ผ่อนคลาย และในโลกที่ไม่ไหวแล้ว การดื่มก็เหมือนเป็นการหลบลี้หนีจากโลกของความจริงที่เจ็บปวด

ในแง่นี้ เหล้าจึงมีหน้าที่สังคมบางอย่างแตกต่างกันไปตามบริบท มันเป็นหมุดหมายการเปลี่ยนผ่านของเวลางานไปสู่การเล่น หรือตัวเบิกทางของนักธุรกิจ เป็นสิ่งที่ทำให้ความเป็นทางการลดลงไป ผมคิดว่า การเข้าใจบริบทเหล่านี้อาจมีความสำคัญถ้าเราจะทำงานรณรงค์ เราอาจต้องเข้าใจมุมมองของคนดื่มว่า เขามองอะไรยังไง ขณะเดียวกัน ก็ต้องเข้าใจบริบทของการดื่ม อาจต้องไปดูฉากทัศน์ของการดื่มที่มีบริบทต่างกัน อันนี้อาจช่วยให้เราจำแนกแยกแยะเป้าหมายของการรณรงค์เพื่อที่จะสื่อสารข้อความให้กับแต่ละกลุ่มได้ เป็น tailor-made มากกว่าจะมองแบบ one size fits all ที่ไปเหมารวมจนสร้างภาพการดื่มสุราเป็นสิ่งเลวร้ายไปเสียทั้งหมด  ในบางกรณีที่การดื่มไม่เป็นปัญหา ก็อาจไม่ต้องเสียแรงเสียเวลารณรงค์ เพราะถ้าเรามองแต่ว่าสุราเป็นสิ่งเลวร้าย ก็เท่ากับว่าเราปฏิเสธที่ทางของแอลกอฮอล์ไปโดยสิ้นเชิง การเข้าใจบริบทต่างๆ ของการดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ที่มีมายาวนานในสังคมไทยก็อาจจะช่วยให้เราเข้าใจบทบาทต่างๆ ที่เหล้าทำหน้าที่อยู่  และเราอาจเสนอทางเลือกหรือทางออกที่หลากหลายมากกว่าการรณรงค์ให้เลิกเพียงอย่างเดียว

และหลักการข้อที่สามในทางมานุษยวิทยาคือ การมองปรากฎการณ์แบบเป็นองค์รวม เป็นภาพกว้างขึ้น และมองว่าพฤติกรรมใดๆ ของมนุษย์ เป็นผลผลิตของระบบสังคมวัฒนธรรม ในทางมานุษยวิทยาจะถือว่า ปรากฎการณ์ต่างๆ แยกไม่ออกจากเรื่องโครงสร้างทางเศรษฐกิจ สังคม และการเมือง

ผมเคยเข้าไปในหมู่บ้านหนึ่งและถามชาวบ้านว่า สมัยก่อนเราดื่มเหล้าอย่างไร แล้วปัจจุบันนี้การดื่มเหล้าเปลี่ยนไปอย่างไร ชาวบ้านบอกว่า สมัยก่อนดื่มไม่เยอะเท่าทุกวันนี้ เพราะแต่ก่อน จะดื่มก็ต้องวางแผน ถ้ามีงานบุญเดือนสิบ เดือนหกก็ต้องเริ่มหมักเหล้าไว้ก่อนแล้ว ถ้าไม่วางแผนและทำล่วงหน้าไว้ก่อน ถึงเวลาอยากดื่มก็ไม่มีให้ดื่ม แต่ทุกวันนี้ไม่ต้องแล้ว มีเหล้ารอในร้านให้เดินไปซื้อดื่มได้เลย ไม่ต้องวางแผนอะไร มีสุราให้พร้อมดื่มตลอดเวลา อีกอย่างหนึ่งคือ แต่ก่อนเวลากลั่นเหล้าเอง ก็จะมีเหล้าหลายแบบ หัวสุราที่ดีกรีเข้มข้นก็เอาไว้ให้หนุ่มๆ หรือพวกที่คอแข็งๆ ดื่ม สุราแบบเข้มข้นกลางๆ ก็ไว้ให้ผู้หญิงดื่ม ส่วนปลายๆ วัยรุ่นก็ยังดื่มได้ ดีกรีไม่เท่ากัน แต่ตอนนี้เราไปซื้อมาก็ได้สุรา 40 ดีกรีเท่ากันหมด ความหลากหลายของสุราก็น้อยลง ชาวบ้านและท้องถิ่นก็ถูกควบคุมไม่ให้ผลิตเหล้าเองด้วย เพราะรัฐไทยมีสุราเป็นแหล่งรายได้สำคัญ

จะเห็นว่า เหล้าและพฤติกรรมการดื่มสุราก็เป็นผลผลิตจากกระบวนการเชิงเศรษฐกิจ สังคมและการเมือง รวมถึงเชื่อมโยงกับอำนาจของท้องถิ่นด้วย คือไม่ได้มีอิสระจากโครงสร้าง ชีวิตของเราก็ถูกกำกับจากโครงสร้างทางสังคม เช่นเดียวกับพฤติกรรมการดื่มสุราในสังคมก็ถูกผลิตและผลิตซ้ำจากระบบเศรษฐกิจและการเมือง โครงสร้างภาษี รวมทั้งระบบสัมปทานการผลิตและการกระจายเหล้า ตรงนี้ งานวิจัยอาจจะช่วยให้เราเห็นหรือจำแนกเงื่อนไขเชิงโครงสร้างออกมาได้ว่า เงื่อนไขที่แตกต่างกันทำให้คนดื่มแตกต่างกันอย่างไร ทั้งในแง่โครงสร้างเศรษฐกิจหรือชนชั้น  การเข้าใจในเชิงระบบจะช่วยให้เราก้าวพ้นการรณรงค์ที่ถือว่า การดื่มสุราเกิดจากพฤติกรรมส่วนบุคคล ไปให้ความสำคัญกับเงื่อนไขเชิงโครงสร้างในระดับต่างๆ มากขึ้น

 

 

ปฏิเสธไม่ได้ว่า คนจำนวนหนึ่งมีภาพจำว่าคนดื่มเหล้าเป็นคนจน หรือจนเพราะชอบดื่มเหล้า ตรงนี้สะท้อนให้เห็นวาทกรรมอะไรในสังคมไทยบ้างไหม โดยเฉพาะถ้ามองในแง่ของโครงสร้างทางชนชั้น

ถ้าเรามองว่า เราเลือกรณรงค์หรือส่งข้อความโดยเน้นไปที่กลุ่มคนจนหรือคนรายได้น้อยมากกว่ากลุ่มอื่น ตรงนี้อาจจะมาจากความปรารถนาดีก็ได้ คือเป็นการรณรงค์เพราะเห็นปัญหา และเป็นห่วงกลุ่มเปราะบางที่มีความเสี่ยงมากกว่ากลุ่มอื่น แต่ก็ต้องไม่ลืมมองอีกมุมว่า วาทกรรมหรือภาพที่ถูกผลิตออกมาอาจกลายเป็นการติดป้ายตีตรา ตอกย้ำความรังเกียจเดียดฉันท์ หรือสร้าง stigma ให้กลุ่มคนจนไปด้วย การผลิตซ้ำที่เกิดขึ้นต่อเนื่องนี้จะกลายเป็นการสร้างภาพเหมารวม (stereotype) ของคนจนว่าเป็นคนติดเหล้าไป หรือยิ่งไปกว่านั้น การรณรงค์ที่ไม่เข้าใจบริบทเชิงโครงสร้าง ทำให้เห็นว่าคนจนเหล่านี้เลือกที่จะไปดื่มเหล้าเอง ก็เหมือนเป็นการกล่าวโทษที่เน้นไปยังพฤติกรรมส่วนบุคคลเกินไป

การรณรงค์ที่ถูกผลิตขึ้นจากมุมมองชนชั้นกลางมักมีอคติของชนชั้นกลาง (middle-class biased) แฝงอยู่ คือ มีมุมมองที่คิดว่ามนุษย์มีอิสระในการเลือก (freedom of choice) ถ้าคุณได้ข้อมูลข่าวสารเพียงพอ คุณจะตัดสินได้ เพราะคุณมีเหตุผล ก้าวข้ามความเชื่อผิดๆ และมีอิสรภาพที่จะเลือกทำในสิ่งที่ถูกต้องแทน แต่จริงๆ ในหลายๆ กรณี มนุษย์อาจไม่ได้เข้มแข็ง มีเหตุผล หรือมีอิสรภาพขนาดนั้น ถ้าเรามองว่ามนุษย์นั้นเปราะบาง คนส่วนใหญ่ โดยเฉพาะคนจนที่ดิ้นรนหาเช้ากินค่ำ ไม่ค่อยมีทางเลือกในชีวิตอยู่แล้ว การปฏิเสธไม่ไปดื่มเหล้ากับหัวหน้างานหรือผู้รับเหมา อาจหมายถึงการไม่มีงานทำในวันต่อมา อันนี้เป็นงานวิจัยที่ผมเคยอ่านเกี่ยวกับการดื่มสุราของคนงานก่อสร้างในภาคเหนือ พอเป็นแบบนี้มันก็ไม่ตรงไปตรงมา ไม่ใช่เรื่องความรู้ความเข้าใจในเรื่องโทษภัยของสุราแล้ว แต่พอเรารณรงค์แบบจน-เครียด-กินเหล้า ก็กลายเป็นการสร้างภาพเหมารวม ผูกความจนกับการไม่รู้จักคิด พอไปบวกกับมายาคติเรื่องอิสรภาพในการเลือก ก็เลยกลายเป็นการกล่าวโทษ ‘เหยื่อ’ หรือผลิตซ้ำภาพเหมารวมบางอย่างไป

 

ถ้าการสื่อสารแบบเดิมอาจก่อให้เกิดอคติ แล้วเราควรจะสื่อสารอย่างไรที่จะทำให้คนเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมของตนเองได้

ผมคิดว่า นอกจากเราจะต้องมี ‘มุมมองของคนใน’ ‘เข้าใจบริบท’ และ ‘มองปรากฏการณ์แบบองค์รวม’ แล้ว ในแง่การสื่อสารในระดับบุคคลก็อาจต้องเข้าใจว่า การสื่อสารเพื่อการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมเป็นเรื่องที่ไม่ง่าย แต่ถ้าจะมีข้อเสนอแนะ ผมคิดว่ามีหลักสำคัญๆ 4 ข้อ

ข้อแรก และเป็นข้อที่สำคัญที่สุด เราต้องสื่อให้ผู้รับสัมผัสถึงความปรารถนาดีของเราก่อน คือ ให้การสื่อสารอยู่บนพื้นฐานของความปรารถนาดีต่อกัน บนพื้นฐานของความเป็นมนุษย์เสมอกัน ไม่ถือดีว่าเราดีกว่า รู้มากกว่า ไม่ใช้การตำหนิ ต่อว่า ประจาน หรือทำให้เสียหน้า อันนี้เป็นด่านแรกของการสื่อสาร เพราะถ้าเรายังสื่อความปรารถนาดีออกไปไม่ได้ เราจะบอกอะไรหรือจะแนะนำอะไรให้กับใครก็จะยากมาก เพราะผู้รับสารอาจจะมองว่า คุณไม่ได้ปรารถนาดีอะไรกับเขาเลย ที่ทำไปเพราะหน้าที่ เพราะเป็นนโยบายองค์กรหรือเป้าหมายภารกิจ แต่ไม่ได้มาหวังดีกับเขาจริงๆ

ข้อที่สอง ต้องสื่อสารเพื่อฟื้นศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ ถ้าคนไม่เห็นคุณค่าของชีวิต ไม่รู้สึกว่าเขามีสิทธิที่จะมีชีวิตที่ดีขึ้น การปรับเปลี่ยนอะไรก็จะไม่เกิดขึ้น คือต้องสื่อสารเพื่อย้ำให้เห็นถึงคุณค่าและศักดิ์ศรีของความเป็นมนุษย์ ทำให้เขาลุกขึ้นมากำหนดชีวิตของตนเองได้ ไม่ใช่สื่อสารด้วยการประณามหรือทำให้เขากลายเป็นเบี้ยล่างของความรังเกียจเดียดฉันท์

ข้อที่สาม สื่อสารเพื่อให้สังคมและชุมชนเข้ามาช่วย เพราะบางครั้ง การเปลี่ยนแปลงพฤติกรรม ความเคยชินหรือปรับเปลี่ยนสิ่งต่างๆ ลำพังด้วยตัวของเราเองก็เกิดขึ้นได้ยากนะ เราลองสังเกตดูก็ได้ว่า ทุกศาสนาจะมีการรวมกันเป็นชุมชนทั้งนั้น เพราะการต่อสู้ทวนกิเลส ความเคยชิน และความสะดวกสบาย เป็นการต่อสู้ที่ทำได้สำเร็จตามลำพังได้ยาก  การมีแรงสนับสนุนจากชุมชนจึงสำคัญ ศาสนาต่างๆ จึงมีชุมชนคอยเกื้อหนุน หล่อเลี้ยง และดูแลกัน เพราะการต่อสู้ทวนกระแสเป็นเรื่องที่ยากมากและต้องใช้เวลา อาจเกิดการท้อถอยได้ง่าย อย่างกรณีของคนติดเหล้า แม้บางคนต้องการเลิกก็ยังเลิกได้ยาก ยิ่งถ้าเลิกได้ระยะหนึ่งแล้วกลับไปดื่มจนติดอีก เขาก็จะยิ่งอาย รู้สึกผิด ไม่กล้าสู้หน้าคนอื่นเข้าไปอีก การสื่อสารที่สำคัญจึงต้องเชื้อเชิญให้ชุมชนและสังคมเข้ามามีส่วนร่วม

เมื่อได้ทั้ง 3 ข้อนี้แล้ว ข้อที่สี่ จึงเป็นการสื่อสารว่า เขาต้องทำอะไร คือเป็นเรื่องวิธีการหรือเทคนิค แต่ผมสังเกตว่าทุกวันนี้ ถ้าเราต้องการให้ใครเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมอะไร ส่วนใหญ่จะออกไปในลักษณะที่บอกว่า คุณต้องทำอย่างนั้น อย่างนี้ ทำแล้วจะดีต่อสุขภาพ หรือดีต่อครอบครัว  แต่การบอกเทคนิคจะไม่ได้ผลเลยถ้าเรายังไม่สามารถสื่อความปรารถนาดีลงไปได้ อันนี้เป็นเรื่องที่รู้กันดีในแวดวงโฆษณา เหมือนอย่างโฆษณาประกันชีวิต หรือแม้แต่การโฆษณาสุราเอง ก็ล้วนแต่พยายามสื่อความปรารถนาดี สร้างความรู้สึกที่ดีต่อกัน บางทีเราอาจจะต้องลองเรียนรู้เรื่องแบบนี้จากภาคธุรกิจบ้าง

ผมคิดว่า เนื้อหา (content) อาจไม่ใช่สิ่งสำคัญที่สุดนะ โดยเฉพาะเนื้อหาแบบสอนหรือเทศน์ให้คนทำ แต่ข้อความ (message) อาจมีความสำคัญในแง่ที่เป็นตัวจัดวางความสัมพันธ์ระหว่างผู้ส่งสารกับผู้สื่อสารมากกว่า ทุกวันนี้ เราวางตัวเป็นคนสอนว่าอะไรถูก อะไรควร หรือบางครั้งก็เป็นการประณาม หรือประจานการกระทำที่เราเห็นว่าไม่เหมาะสม ผมคิดว่าความสัมพันธ์แบบนี้อาจไม่เกื้อกูลให้เกิดการเปลี่ยนแปลง สำหรับผม ถ้าเราหวังให้คนตั้งหลักหรือมุ่งมั่นจะเปลี่ยนแปลง จุดเริ่มต้นของการเปลี่ยนแปลงอาจไม่ได้เกิดจากการสอนเท่ากับเกิดจากความรู้สึกถึงความปรารถนาดี

 

เราบอกได้ไหมว่า กลุ่มคนที่ทำงานรณรงค์เรื่องการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมก็มีความปรารถนาดีเช่นเดียวกัน แต่อาจจะยังสื่อสารออกมาได้ไม่ชัดเจนพอ

ผมมองว่าคนทำงานเพื่อสังคมก็จะมีความปรารถนาดีเป็นพื้นฐานอยู่แล้ว แต่อาจไม่ได้ให้ความสำคัญกับการสื่อสารความปรารถนาดีเท่ากับการสั่งสอน ลองนึกภาพสิว่า พ่อแม่ปรารถนาดีกับลูก แต่นั่นก็อาจจะทำให้ลูกเกลียดพ่อแม่ก็ได้เหมือนกัน ด้วยความปรารถนาดี พ่อแม่อาจจะถามเซ้าซี้หรือคอยตรวจสอบลูกว่า ทำไมกลับบ้านเย็น ทำไมกินแต่ขนม ทำไมไม่เก็บที่นอน ทำไมไม่ตั้งใจเรียน ถามว่าที่พ่อแม่คอยเซ้าซี้นี่เพราะว่าเกลียดลูกไหม ไม่นะ จริงๆ พ่อแม่เขาปรารถนาดีมาก แต่สุดท้าย การกระทำเหล่านี้อาจผลักไสลูกออกไปได้ เพราะการรับรู้ความปรารถนาดีอยู่ที่การแสดงออกที่เหมาะสมด้วย

ผมรู้จักน้องอยู่คนหนึ่ง เขาทำเรื่องรณรงค์เลิกบุหรี่ ต้องเข้าหมู่บ้านไปรณรงค์หลายครั้งเลย ทุ่มเทและตั้งใจมาก ทุกครั้งที่เข้าไปรณรงค์ก็จะมีลุงคนหนึ่งมายืนมองอยู่ไกลๆ ประมาณว่าหมอคนนี้มาอีกแล้ว ลุงแกคงจะไม่ชอบน้องคนนี้เท่าไร คือ แกไม่เคยมาร่วมกิจกรรมเลย ยืนดูดบุหรี่อยู่ใต้ต้นไม้ เป็นแบบนี้ทุกครั้ง จนกระทั่งวันหนึ่ง น้องคนนี้ก็ไปจัดนิทรรศการรณรงค์เรื่องบุหรี่ พอเลิกงาน กำลังเก็บโปสเตอร์อะไรอยู่ ลุงก็เดินเข้ามาบอกว่าแกเลิกบุหรี่แล้ว น้องเขาก็ทั้งดีใจและแปลกใจ ถามกลับไปว่าทำไมลุงถึงเลิกได้ เพราะลุงไม่เคยมาฟังตอนรณรงค์เลย ลุงก็ตอบกลับมาว่า เห็นเอ็งตั้งใจ มาทำอยู่เรื่อยๆ คอยมาสอนทั้งที่มีคนมาฟังไม่กี่คน พอคิดอย่างนี้ก็เลยเลิกดีกว่า

บางที ความสัมพันธ์แบบนี้รึเปล่าที่เราต้องสื่อสารออกไป แต่เท่าที่เห็น ผมว่าเรายังไม่ได้ทำการสื่อสารที่สร้างความรู้สึกถึงความปรารถนาดีแบบนี้เท่าไหร่ แต่นี่ก็ไม่ใช่เรื่องที่จะไปเสแสร้งได้เช่นกัน ยิ่งคนรู้สึกว่าเสแสร้งหรือทำแบบมีอะไรแอบแฝงอาจยิ่งแย่ ที่สำคัญ ความปรารถนาดีอย่างเดียวคงไม่พอ ต้องมีกระบวนการพร้อมไปกับระบบสนับสนุนที่ดีด้วยถึงจะได้ผล

 

แต่ถ้าเรามาดูเรื่องการรณรงค์บุหรี่ที่มีรูปแบบคล้ายกัน จะเห็นว่าประสบความสำเร็จค่อนข้างมากทีเดียว

ผมคิดว่าการรณรงค์เรื่องบุหรี่กับเหล้ามีความแตกต่างที่มีนัยสำคัญกัน อย่างน้อยมีข้อหนึ่งที่ต่างกันมาก คือบุหรี่มีผลภายนอก (externality) ที่เกิดขึ้นทันที คือ สูบแล้วคนอื่นเหม็น ไปรบกวนคนอื่น เพราะฉะนั้น คนสูบบุหรี่จะถูกกดดันโดยสังคมอยู่แล้ว

แต่ในกรณีของเหล้า คุณก็ไปกินของคุณหรือตั้งวงกินกับเพื่อน ถ้าไม่เมาจนเอะอะเสียงดังก็ไม่เดือดร้อนอะไรใคร อาจเดินเข้าซอยเตะนู่นนี่บ้าง แต่ก็ไม่ได้มีผลกระทบภายนอกถึงขั้นจะสร้างแรงกดดันทางสังคม (social pressure) ได้ แต่เหล้าจะมีผลชัดเจนที่สุดก็ตอนเกิดอุบัติเหตุ เพราะฉะนั้น การรณรงค์เรื่องสุราจึงออกมาในรูป ‘เมาไม่ขับ’ อะไรแบบนี้ แต่อุบัติเหตุจากการดื่มสุราก็เกิดขึ้นหลังจากที่ดื่มจนเมาแล้ว ต่างจากบุหรี่ที่ผลกระทบเกิดขึ้นตอนที่สูบเดี๋ยวนั้นเลย คือ รบกวนคนอื่นทันทีในเวลาที่สูบ และพอหยุดสูบก็หยุดรบกวนคนอื่น การกดดันทางสังคมจึงเกิดขึ้นได้ง่าย ตรงนี้ก็น่าคิดว่า มีผลทำให้การรณรงค์ได้ผลแตกต่างกันด้วยหรือเปล่า

 

มองมุมหนึ่ง การรณรงค์เรื่องเหล้าของเราอาจจะแข็งเกินไป แต่ก็ปฏิเสธไม่ได้ว่า เรายังจำเป็นต้องรณรงค์เรื่องเหล้าอยู่ เพราะเหล้าก็สร้างผลกระทบกับสังคมเช่นกัน แล้วเราจะหาจุดกึ่งกลางได้อย่างไร เราจะรณรงค์เรื่องเหล้าอย่างไรไม่ให้แข็งเกินไป และได้ผลด้วย

ต้องออกตัวก่อนว่า ผมไม่ได้เป็นผู้เชี่ยวชาญเกี่ยวกับการรณรงค์เรื่องเหล้า และไม่มีข้อมูลว่าคนที่ดื่มเหล้าและพัฒนาไปจนถึงขั้นติดเหล้าเรื้อรังมีมากน้อยแค่ไหน และเป็นคนกลุ่มไหน แต่ผมคิดว่า บางที เราอาจจะต้องเริ่มจากการนิยามปัญหาให้ชัดเจนก่อน ถ้าเรานิยามว่า ปัญหาหลักของเราคือกลุ่มที่ติดเหล้าจนเป็นโรคพิษสุราเรื้อรัง หรือเลิกดื่มไม่ได้จนกระทบสุขภาพ เราก็น่าจะไปหาให้ชัดเจนว่า พวกเขาคือคนกลุ่มไหนกันแน่ เพราะแน่นอนว่าไม่ใช่ทุกกลุ่มแน่ๆ ที่จะเป็นแบบนี้

ถ้ามองกว้างออกไปอีก เราอาจจะต้องเข้าใจภาพรวมของปัญหามากขึ้น เช่น กลุ่มต่างๆ ที่บริโภคสุราแบ่งออกได้เป็นกี่กลุ่ม แต่ละกลุ่มมีมุมมองต่อเรื่องเหล้าอย่างไรบ้าง หรืออยู่ในบริบทและเงื่อนไขเชิงโครงสร้างที่ต่างกันอย่างไร ตรงนี้ต้องอาศัยการศึกษาเชิงลึกแบบมานุษยวิทยาด้วย เหมือนกับงานของอาจารย์บุญเลิศ วิเศษปรีชา ที่ศึกษาเรื่องคนไร้บ้าน แกก็เข้าไปคลุกคลีกับพวกเขา เพื่อจะได้รู้หมดว่าเขารู้สึกนึกคิดอย่างไร ถ้าเราจะช่วยต้องเข้าไปหาเขาวิธีไหนถึงจะเวิร์ก แต่ผมไม่เคยเห็นงานวิจัยเรื่องเหล้าทำแบบนี้เท่าไหร่ ซึ่งถ้าเราจำแนกให้เห็นชัดขึ้น เราก็จะมองวิธีการจัดความสัมพันธ์กับเขาออก

 

 

เราคิดว่า คนติดเหล้ามักไม่ยอมเข้ารับการบำบัด หรือเข้ารับการบำบัดได้น้อยมาก แต่ถ้ามองภาพกว้าง ทัศนคติและมุมมองเชิงลบของสังคมเองก็มีส่วนผลักคนติดเหล้าออกไปจากระบบด้วยหรือเปล่า

ก่อนจะตอบคำถามตรงนี้ ผมขอยกตัวอย่างงานวิจัยหนึ่งในอินเดียเกี่ยวกับการรักษาวัณโรค ก่อนหน้านี้ เจ้าหน้าที่สาธารณสุขจะพูดว่า คนป่วยเป็นวัณโรคกับโรคเรื้อนมักไม่ยอมมารักษาเพราะความอับอาย กลัวว่าตนจะเป็นที่รังเกียจของคนอื่น เลยไม่ค่อยมารับยารักษาที่โรงพยาบาล เมื่ออัตราการรักษาต่ำ การควบคุมโรคก็ล้มเหลว อธิบายแบบนี้กันมาหลายปี

แต่เมื่อนักวิจัยลงไปศึกษาจริงๆ ถึงพบว่า ที่ว่ามานั้นไม่จริงเลย คนส่วนใหญ่ที่ไม่เข้ารับการรักษาหรือรักษาไม่ครบถ้วน ก็เพราะเมื่อเขาไปถึงสถานพยาบาลแล้วมักจะไม่เจอเจ้าหน้าที่ คือ เจ้าหน้าที่ไม่อยู่ ไปประชุมบ้าง ออกไปทำงานนอกสถานพยาบาลบ้าง พอไปวันนี้ไม่เจอ จะกลับมาใหม่อีกก็ไม่ง่าย งานก็ต้องทำ ต้องดิ้นรนทำมาหากิน พอไป 2-3 ครั้งแล้วไม่ได้รับการรักษาอะไร ก็เลยรู้สึกว่าไม่ไปดีกว่า

ที่ผมเล่าเรื่องนี้ขึ้นมาก็เพราะว่า ในสถานการณ์ที่เรารู้สึกว่า คนไม่มารับบริการหรือไม่มารักษา สิ่งที่เราต้องทบทวนคือ ระบบของเราดีหรือยัง การออกแบบระบบเหมาะกับการใช้งานไหม บุคลากรมีทักษะความสามารถที่จะสร้างความสัมพันธ์และความเชื่อมั่นให้กับผู้ป่วยหรือไม่ เรื่องนี้สำคัญนะ เพราะปัญหาการติดสุราหรือยาเสพติดต่างๆ มีเรื่องการถูกทำลายความเชื่อมั่น เรื่องทัศนคติ และการรังเกียจเดียดฉันท์อยู่ด้วย ผมว่าตรงนี้เราต้องเข้าไปดูตัวระบบด้วยว่าเป็นอย่างไร ทำไมคนไม่มารับบริการเท่าที่ควร เพราะจริงๆ แล้ว เหล้ามีผลข้างเคียงต่อตัวผู้ป่วยที่เห็นผลทันตามากกว่าบุหรี่อีก ดื่มเหล้าคืนนี้ พรุ่งนี้ก็มีอาการเมาค้างเลย ปวดหัว ตอนเช้าลุกไม่ขึ้น อะไรแบบนี้ ดังนั้น ถ้าระบบบริการดีก็อาจมีคนมาปรึกษามากขึ้นก็ได้

 

เรามีคำอธิบายในเชิงมานุษยวิทยาบ้างไหมว่าทำไมคนไม่ค่อยยอมปรับเปลี่ยนพฤติกรรมง่ายๆ แม้จะเป็นพฤติกรรมที่มีความเสี่ยงก็ตาม

ถ้าเป็นในเชิงมานุษยวิทยา เวลาคนเรารับรู้เรื่องความเสี่ยงด้านสุขภาพ (health risk) เวลาที่เราจะปรับเปลี่ยนพฤติกรรมหรือจะทำอะไรบางอย่างเกี่ยวกับความเสี่ยงนั้น เราทุกคนก็มักจะชั่งน้ำหนักเรื่องสุขภาพกับความเสี่ยงทางสังคม (social risk) ด้วย เช่น ถ้าเรานั่งรถโดยสารไปกับผู้โดยสารอื่นๆ แล้วคนขับรถตู้ขับแบบตีนผี ขับเร็วสุดขีด แซงซ้ายแซงขวา เรียกว่าเสี่ยงที่จะเกิดอุบัติเหตุหรือพาคนในรถไปตาย คำถามคือ เราจะบอกคนขับไหมว่าให้ขับรถดีๆ อันนี้บางคนอาจกล้าบอก แต่บางคนอาจรู้สึกว่า มันเสี่ยงที่จะบอก เดี๋ยวคนขับรถไม่พอใจจะเกิดมีปากเสียงทะเลาะกัน เขาอาจไล่เราลงจากรถ เราก็จะไปทำงานไม่ทันหรือวันหลังจะขึ้นรถคันเดิมไม่ได้ อันนี้เป็นความเสี่ยงทางสังคม ทุกคนจะพยายามบาลานซ์สองเรื่องนี้ทุกวัน ถ้าเมื่อไหร่ที่เรารับรู้ (perceive) ว่าความเสี่ยงด้านสังคมมากกว่า ซึ่งจริงๆ มันก็อาจจะไม่ได้มากกว่านะ แต่เรา ‘รู้สึก’ ว่ามันมากกว่า เราก็ยอมรับความเสี่ยงสุขภาพ คือ ทนกับมันไปก่อน

อย่างเวลาคนจะเลิกเหล้า เขาก็อาจจะต้องชั่งใจว่า ระหว่างความเสี่ยงด้านสุขภาพกับความเสี่ยงด้านสังคม คือการปฏิเสธเพื่อน อะไรมีผลมากกว่ากัน ผมเคยอ่านงานวิจัยชิ้นหนึ่งที่ไปสำรวจการดื่มเหล้าของแม่หญิงในหมู่บ้านแถบภาคเหนือ ปรากฏว่าการดื่มเหล้าไปเชื่อมโยงกับระบบการจ้างงาน เพราะเวลาที่นายจ้างจะจ้างงานใคร เขาจะจ้างผ่านมาทางหัวหน้ากลุ่มที่ดูแลเครือข่ายแรงงาน ซึ่งอาจจะเป็นญาติหรือคนในหมู่บ้านเดียวกัน หัวหน้าก็จะเป็นคนจ่ายงานให้ พอตกเย็นก็จะตั้งวงดื่มเหล้ากัน ถ้าใครไม่มาดื่มด้วยก็อาจจะถูก sanction หรือไม่ได้งาน ตรงนี้ก็เป็นความเสี่ยงทางสังคมแบบหนึ่งด้วย

ในทางมานุษยวิทยาก็มีข้อถกเถียงเรื่องความเสี่ยงกันมากเหมือนกัน คือ เมื่อครั้งที่โรคเอดส์ระบาดใหม่ๆ การควบคุมโรคจะเน้นที่ ‘กลุ่มเสี่ยง’ (risk group) ต่อมาก็มีการเสนอว่า ไม่ใช่คนในกลุ่มเสี่ยงทุกคนจะเสี่ยงทั้งหมด การเรียกกลุ่มเสี่ยงเป็นการตีตราคนกลุ่มนั้นทั้งกลุ่ม จึงมีการใช้แนวคิดเรื่อง ‘พฤติกรรมเสี่ยง’ (risk behavior) แทน คือ เน้นคนที่มีพฤติกรรมบางอย่างที่เสี่ยงแทน แต่ต่อมาก็มีข้อสังเกตอีกว่า พฤติกรรมเสี่ยงอาจไม่ใช่ว่าเขาตั้งใจจะเสี่ยง แต่สถานการณ์แวดล้อมก็อาจมีผลอย่างมากในการทำให้คนมีพฤติกรรมนั้นๆ เลยมีการเสนอเรื่อง ‘สถานการณ์เสี่ยง’ (risk situation) มาใช้พิจารณาปัญหาแทน

เมื่อมองในมุมนี้ ส่วนตัวผมจึงชอบเรื่องการรณรงค์ไม่ขายเหล้าที่ปั๊มน้ำมันนะ ผมว่าการรณรงค์แบบนี้เข้าใจเรื่องความคิด ‘สถานการณ์เสี่ยง’ (risk situation) ได้ดี เพราะเราเห็นแล้วว่า บรรยากาศเวลาเดินทางนี่มันล่อแหลมต่อการดื่ม มันเป็นเหมือนการเปลี่ยนผ่านจาก ‘การงาน’ ไปสู่การ ‘พักผ่อน’ คือ ออกจากกรุงเทพฯ ไปต่างจังหวัดเพื่อไปเที่ยว เหมือนที่ว่าเหล้าเปลี่ยนงานเป็นพักนั่นแหละ ถ้าปั๊มน้ำมันมีเหล้าขาย คนที่แวะจอดเติมน้ำมันเจอร้านเหล้าก็ซื้อได้เลย แล้วก็ดื่มกันไปในรถก็ได้ คนขับก็พลอยต้องอยู่ในสถานการณ์เสี่ยงไปด้วย

ตรงนี้ผมว่า ถ้าเราวิเคราะห์ดีๆ เราอาจจะเจอสถานการณ์แบบนี้เยอะ และถ้าเราใช้สถานการณ์เสี่ยงเป็นตัวกำหนด เราอาจจะมีแนวทางที่ละเอียดถี่ถ้วนขึ้นก็ได้ เพราะสถานการณ์เสี่ยงมีหลากหลาย เราจะได้ไม่ใช้การรณรงค์หรือการสื่อสารรูปแบบเดียวกับคนทุกกลุ่ม

 

คุณหมอมองเรื่องการนำกฎหมายมาควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์อย่างไร กฎหมายใช้ได้ผลมากน้อยแค่ไหนในสถานการณ์นี้

การบังคับใช้กฎหมายขึ้นกับบริบททางสังคมมาก ในสังคมที่คุกมีไว้ขังคนจน คนรวยก็มักจะไม่เคารพกฎหมาย หรือถ้าเรารู้ว่าแม้เราจะทำผิดกฎหมาย แต่ถ้าเรามีเส้นสายก็จะไม่ต้องรับผิด สังคมแบบนี้กฎหมายก็ไม่ศักดิ์สิทธิ์ ในสังคมไทย การใช้กฎหมายบังคับจึงมักไม่ค่อยมีประสิทธิภาพอยู่แล้ว ในส่วนของคนทำผิดก็สามารถวิ่งเต้นเส้นสายได้ หรือถ้าเป็นคนใหญ่นายโตก็ไม่ต้องเป่าเครื่องตรวจวัดระดับแอลกอฮอล์ ส่วนในระบบราชการและผู้บังคับใช้กฎหมาย สังคมไทยก็อ่อนในเรื่องการรับผิดรับชอบ (accountability)  เราไม่ค่อยเห็นผู้บริหารหรือหัวหน้าหน่วยงานลาออกเพราะเกิดความผิดพลาด เรียกได้ว่า ระบบกฎหมายของเรามีการยกเว้นเยอะเกินไป

ผมเคยอ่านรายงานชิ้นหนึ่งที่บอกว่า อัตราการเกิดอุบัติเหตุบนท้องถนนเป็นตัวชี้วัดของการคอร์รัปชันในวงการตำรวจได้ คือ พอระบบการบังคับใช้กฎหมายซื้อได้ คนก็จะไม่สนใจปฏิบัติตามกฎจราจร กลายเป็นเหตุให้เกิดอุบัติเหตุมากขึ้น อันนี้ก็อาจคล้ายๆ กันนะ บางที เราอาจจะสามารถแก้ปัญหาการดื่มสุราที่ส่งผลกระทบต่อสังคมได้ดีขึ้น ถ้าช่วยกันต่อสู้ผลักดันให้ระบบราชการมีความรับผิดรับชอบมากขึ้น

 

อีกหนึ่งปัญหาที่หลายคนกังวลคือ อายุของคนที่เริ่มดื่มเหล้าน้อยลงเรื่อยๆ คุณหมอคิดอย่างไรกับเรื่องการดื่มของเยาวชน ถ้าเราจะป้องกันพวกเขาไม่ให้ดื่มเหล้าเพิ่มมากขึ้น เราจะใช้กลยุทธ์การวางความสัมพันธ์ได้ไหม อย่างไร

ผมเชื่ออย่างหนึ่งว่าพวกเขาจะไม่ดื่มจนเป็นปัญหา ถ้าชีวิตเขามีความใฝ่ฝัน หรือความหวังรอเขาอยู่ในอนาคต ถ้าเขามองเห็นอนาคตว่า ต่อไปเขาจะเติบโตไปทำสิ่งที่มีความหมายต่อชีวิตหรือต่อครอบครัวของเขา ถ้าเขามีความใฝ่ฝันและมีความหวังต่ออนาคตแล้ว คงไม่มีใครเสี่ยงที่จะไปทำอะไรที่อาจจะทำลายชีวิตตัวเองง่ายๆ

แต่ถ้าอนาคตหดหู่ มืดมน สิ้นหวัง หรือหมดหนทางการต่อสู้ ไม่ว่าจะเป็นเด็ก เยาวชน หรือทุกคนก็อาจจะไม่สนใจอะไรแล้ว เพราะมันไม่มีอะไรจะเสีย อนาคตมันไม่ได้มีความหวังอะไรให้เขาแล้ว แบบนี้ก็คงไม่มีใครคิดอยากจะรักษาเนื้อรักษาตัวเพื่ออนาคต เพราะมันมองไม่เห็นอนาคตเลย ตรงนี้เป็นเรื่องใหญ่สุด ถ้าชีวิตคนมีความมุ่งหวัง มีความปรารถนาและใฝ่ฝันว่าเขาจะมีชีวิตที่ดี มีอนาคต ที่มัน promising คงไม่มีใครอยากทำลายชีวิตตนเองหรอก

 

เวลาคนมาบำบัดเหล้าโดยการพูดคุยกับจิตแพทย์หรือนักจิตวิทยา ปัญหาหนึ่งที่เจอบ่อยคือ คนไข้มารับการรักษาไม่ต่อเนื่อง หรือรักษาสักพักก็ไปดื่มต่อ ตรงนี้เราควรเติมอะไรเข้าไปในระบบบำบัดที่มากกว่าการพูดคุยทำความเข้าใจบริบทของเขาไหม

บางที ในเงื่อนไขการพูดคุยที่เกิดขึ้นในบริบทของโรงพยาบาลหรือสถานบำบัด ผมคิดว่า เราอาจจะได้ข้อมูลเท่าที่เขาต้องการบอกมาแค่นั้น แต่ไม่ใช่ข้อมูลที่ทำให้เราเข้าใจชีวิตของคนไข้จริงๆ เพราะเวลาคนไข้มาที่โรงพยาบาล เขาก็จะเดาไว้ในใจแล้วว่า หมอหรือนักจิตวิทยาอยากฟังอะไร หรือในบางครั้ง เขาแค่อยากเข้ารับการรักษาช่วงหนึ่งเพื่อประคับประคองอะไรบางอย่าง เช่น ให้หัวหน้างานเห็นว่าตัวเองมารักษาแล้ว หรือแค่อยากส่งสัญญาณให้คนใกล้ตัวเห็นว่า เขาไม่ได้เพิกเฉยกับปัญหาการดื่มเท่านั้น แต่ไม่ได้อยากรักษาจริงจัง อันนี้ก็อาจเป็นไปได้

ถ้าในแง่นี้ ผมเสนอกว้างๆ ว่า คนทำงานอาจต้องมีทักษะ หรือที่ทางมานุษยวิทยาเรียกว่า สมรรถนะทางวัฒนธรรม (cultural competency) คือ ทักษะความสามารถที่ช่วยให้คนทำงานข้ามวัฒนธรรมสามารถอ่านบริบทเข้าใจชีวิตคน เข้าใจมุมมองของเขาของเขามากขึ้น รวมทั้งสามารถเห็นถึงบริบทของชีวิตได้ดีขึ้น ซึ่งอาจช่วยให้เราเห็นข้อจำกัดและความเป็นไปได้ที่เราอาจละเลยไปก่อนหน้านี้ก็ได้

 

หมอหรือผู้บำบัดจำเป็นต้องจูงใจจนทำให้เขามารักษาจนหายไหม หรือจริงๆ นี่ก็เป็นสิทธิของคนไข้เอง?

การติดสุราถึงขั้นหนึ่งก็จะส่งผลเสียร้ายแรงทั้งต่อตัวผู้ดื่มเอง อาจเป็นโรคตับแข็ง หรือโรคพิษสุราเรื้อรัง ต่อครอบครัว เกิดความรุนแรงหรือผลกระทบทางเศรษฐกิจของครอบครัวได้ หรือต่อชุมชนก็อาจเกิดความขัดแย้ง การทะเลาะเบาะแว้งได้ ถ้าเป็นแบบนี้ เราก็อาจต้องจูงใจให้เขามารับการรักษา ซึ่งก็เป็นเรื่องที่ไม่ง่าย

ในกรณีที่เขายอมมารับการรักษาแล้ว  ถ้าผู้รักษามีทักษะความสามารถในการพูดคุย มีการสร้างความสัมพันธ์ เป็น therapeutic bond สามารถฟื้นคืนศักดิ์ศรีของเขา และดึงครอบครัวหรือชุมชนให้มาช่วยเสริมก็จะมีส่วนช่วยให้การรักษาดีขึ้นได้ ตรงนี้จะทำให้คนไข้เห็นว่า นอกจากเราปรารถนาดีกับเขาแล้ว ครอบครัวและชุมชนก็เข้าใจและให้โอกาส เขาจะรู้สึกดีกับการมารับการรักษา ตรงนี้เป็นสิ่งที่สร้างได้และพัฒนาได้ เมื่อผู้บำบัดกับคนไข้พูดคุยกันไปเรื่อยๆ ความสัมพันธ์ก็จะแข็งแรงขึ้น ความสัมพันธ์นี่เหมือนสะพานนะ เมื่อมันแข็งแรง คนไข้ก็จะไว้วางใจและไม่กลัวว่าเราจะตัดสินเขาในทางลบ ก็จะยิ่งกล้าคุยกับเราตรงๆ ด้วย ผมว่าตรงนี้สำคัญมาก ยิ่งในเรื่องเหล้าด้วย บางคนติดแล้วเลิกได้ แล้วกลับไปติดอีกครั้ง วนไปวนมาหลายรอบมาก จนคนไข้อาจจะคิดว่า หมอคงเบื่อเราแล้วล่ะ ส่วนหมอถ้าไม่มีภูมิคุ้มกันดีๆ ก็อาจจะเบื่อจริงเลยก็ได้ เราจึงต้องออกแบบบริการที่ทำให้คนที่มีปัญหาเข้าถึงได้ง่าย และมีการดูแลความสัมพันธ์ให้แข็งแรงด้วย

 

 

ในยุคปัจจุบันที่เทคโนโลยีเข้ามามีบทบาทมาก เริ่มมีคนพูดถึงเรื่องการใช้เทคโนโลยีอย่าง telehealth เข้ามาบำบัดคนติดเหล้า หลายคนมองว่า นี่จะทำให้คนติดเหล้ามาเข้ารับการบำบัดมากขึ้น เพราะไม่จำเป็นต้องเดินทางมาที่โรงพยาบาล คุณหมอมองเรื่องการใช้ telehealth กับการบำบัดสุราอย่างไร เทคโนโลยีตรงนี้จะเข้ามาช่วยเหลือคนไข้ โดยเฉพาะคนไข้ที่ติดเหล้าได้มากน้อยแค่ไหน

ผมเคยฟังประสบการณ์การใช้ telehealth ในต่างประเทศ มีหมอคนหนึ่งพูดไว้ได้อย่างน่าสนใจ คือช่วงที่โควิด-19 แพร่ระบาด คนไข้มาหาหมอไม่ได้ เลยต้องปรึกษากันผ่านทางโปรแกรม zoom แทน หมอคนนี้บอกว่า เขาชอบที่ตัวเองได้เห็นบ้านของคนไข้ เห็นว่าคนไข้อยู่ยังไง มีลูกไหม มันเหมือนเราส่องเข้าไปในพื้นที่ส่วนตัวของเขา และรู้สึกใกล้ชิดกับคนไข้มากขึ้น ตัวคนไข้เองก็รู้สึกดี เพราะหลายครั้ง การเดินทางมาโรงพยาบาลก็ต้องจัดการกับภาระเยอะ กว่าจะปลีกตัวมาได้ แต่พอไม่มีภาระตรงนี้แล้วก็ผ่อนคลายลง คุยกันได้ง่ายขึ้นและถี่ขึ้น

ในกรณีของการบำบัดเหล้า ผมคิดว่า telehealth ก็อาจมีประโยชน์ คือไม่ได้เข้ามาแทนการให้คำแนะนำปรึกษา 100% แต่จะเข้ามาเติมได้ ในส่วนกิจกรรมบางอย่าง เช่น การพบปะต่อหน้าเพื่อพูดคุยในเรื่องที่ละเอียดอ่อน หรือการทำกิจกรรมกลุ่มก็ยังอาจจำเป็น ทั้งนี้ การที่ telehealth จะเข้ามาเติมเต็มเรื่องนี้ก็หมายความว่า บุคลากรที่ทำหน้าที่ก็ต้องเสริมทักษะการคุยทางไกลด้วย และการดูแลคนติดเหล้าผ่านทาง telehealth โดยเฉพาะในช่วงวิกฤต อาจจะต้องมีตารางที่ยืดหยุ่น ซึ่งการใช้ telehealth ก็จะช่วยให้เราบำบัดได้แบบตามความต้องการ (on demand) มากขึ้นด้วย ตรงนี้ผมคิดว่าเป็นอะไรที่น่าสนใจและน่าลองทำมากทีเดียว

 

สุดท้าย มีอะไรจะฝากให้กับคนทำงานด้านนี้ไหม

ผมเคยทำงานอยู่ที่กระทรวงสาธารณสุข สมัยที่มีการริเริ่มเรื่องการรณรงค์เรื่องเหล้ากัน ตอนนั้นทุกคนงงๆ กันหมด คือ มันเป็นปัญหาที่มองไม่เห็นหนทางเลยว่าจะทำอย่างไร การโฆษณาเหล้าก็เยอะ ชิงโชคก็มี อุบัติเหตุก็เยอะ อัตราการบริโภคก็สูง เรียกได้ว่าเหล้าเป็นส่วนหนึ่งของชีวิตคนไทยจริงๆ

มาถึงทุกวันนี้ ผมรู้สึกชื่นชมและนับถือคนทำงานที่พยายามรณรงค์เรื่องเหล้านะ เห็นถึงความทุ่มเทพยายามที่จะชี้ให้สังคมเห็นถึงปัญหา หาทางรณรงค์ผลักดันทุกช่องทาง และก็ขับเคลื่อนมาได้ไกลมาก แต่พอทำมานานเข้า ปัญหาง่ายๆ ก็แก้ไขไปได้แล้ว ทีนี้ก็เหลือแต่เรื่องยากๆ โจทย์ใหญ่จึงเป็นเรื่องการขยายเพดานความสำเร็จ ซึ่งอาจต้องมองหาแนวทางใหม่ๆ และเข้าใจปัญหาในหลายมิติมากขึ้น ในแง่นี้ มุมมองทางมานุษยวิทยา รวมทั้งการวิจัยใหม่ๆ ที่อาจใช้แนวคิดและวิธีการวิจัยเจาะลึกแบบมานุษยวิทยาก็อาจทำให้เห็นแง่มุมที่ทำให้เราสามารถทำงานและแก้ปัญหาได้ดีขึ้นกว่าเดิมในอนาคต

 

 


 

เรื่องและภาพ: ทีมงาน Alcohol Rhythm

Related Articles