เมื่อโลกเปลี่ยนไป การรักษาระยะไกล ‘Telemedicine’ อาจเป็นทางเลือกใหม่ของผู้ติดสุรา

June 18, 2020


สมมติว่าจู่ๆ พายุก็โหมกระหน่ำเข้ามาอย่างไม่มีทีท่าว่าจะหยุดพัก ในวันที่คุณต้องออกไปโรงพยาบาลตามใบนัดของแพทย์ หรือต้องพาญาติไปบำบัดอาการติดเหล้าด้วยการพบปะพูดคุยกับจิตแพทย์ คุณจะทำอย่างไร? 

คุณอาจต้องเลื่อนนัดออกไป กินเวลาอีกหลายเดือนกว่าจะได้พบหมออีกครั้ง แต่ถ้าไม่สามารถเปลี่ยนวัน ก็คงต้องพาร่างกายไปปะทะอากาศอันเลวร้ายแบบยอมจำนน

บ้างก็ไม่มีรถยนต์ส่วนตัว ได้แต่หวังพึ่งรถโดยสารสาธารณะที่คาดว่าคงได้เปียกระหว่างการเดินทางไม่มากก็น้อย บ้างก็ยอมจ่ายค่ารถเพิ่มมาอีกเท่าตัว นั่งแท็กซี่เพื่อความสะดวกสบายขึ้นมาอีกนิด หากทั้งหมดทั้งมวลล้วนกล่าวได้ว่าลำบากกว่าวันท้องฟ้าแจ่มใสแน่นอน

นี่เป็นเพียงตัวอย่างหนึ่งของสถานการณ์ ‘ไม่ปกติ’ ที่อาจพบเจอได้ในชีวิตประจำวัน ยังไม่นับรวมถึงสภาวะวิกฤต เช่น การแพร่ระบาดของโควิด-19 ซึ่งบังคับให้ทุกคนต้องเว้นระยะห่างทางสังคม พยายามไม่รวมกลุ่มกัน หรือ หลีกเลี่ยงสถานที่ที่มีความเสี่ยง ตามมาตรการดูแลประชาชนของรัฐ สิ่งเหล่านี้คือความท้าทายที่ทำให้คนอาจเข้าถึงบริการทางการแพทย์ลำบากกว่าเดิม

แต่หลายๆ ครั้ง เรื่องสุขภาพและชีวิตเป็นสิ่งที่รอไม่ได้ ในเมื่อมีผู้คนต้องการการรักษาแทบตลอดเวลา และการเดินทางมาโรงพยาบาลอาจมีอุปสรรคมากมาย เราจึงต้องมองหาทางเลือกใหม่ของการรักษา ที่เรียกกันว่า ‘การรักษาทางไกล  (Telemedicine)’ เข้ามาช่วยเหลือ

 

ทำความรู้จัก Telemedicine  

 

คำจำกัดความกว้างๆ ของ Telemedicine คือ การหลอมรวมวิทยาศาสตร์เข้ากับความก้าวหน้าทางเทคโนโลยี เพื่อตอบสนองและปรับให้เข้ากับความต้องการด้านสุขภาพในบริบททางสังคมที่เปลี่ยนแปลงไป

อาจเปรียบให้เห็นภาพด้วยการ์ตูนสมัยเด็กๆ อย่างโดราเอม่อน เราจะเห็นได้ว่าหุ่นยนต์สีฟ้ารูปร่างคล้ายแมวมักนำของวิเศษจากกระเป๋าหน้าท้องออกมาช่วยโนบิตะตัวเอกของเรื่องอยู่เสมอ โดยของทุกชิ้นก็ถูกผลิตขึ้นด้วยเทคโนโลยีใหม่ๆ ในศตวรรษที่ 22 เพื่อตอบสนองคนสมัยนั้นเช่นกัน

ขณะเดียวกัน องค์การอนามัยโลก (WHO) ได้ให้คำนิยาม Telemedicine ว่าเป็น ‘การรักษาระยะไกล’ ซึ่งในทางปฏิบัติหมายถึง การส่งมอบบริการด้านการดูแลสุขภาพที่อาจมีข้อจำกัดเรื่องระยะทางเข้ามาเป็นอุปสรรค ทำนองว่าบ้านของคนไข้อยู่ไกลจากโรงพยาบาล

ผู้เชี่ยวชาญด้านการดูแลสุขภาพจะนำเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสารเข้ามาเป็นตัวช่วยในการแลกเปลี่ยนข้อมูลสำหรับการวินิจฉัย การป้องกันโรค และการประเมินผลผู้ป่วย

ทั้งนี้ ระบบ Telemedicine มีลักษณะพื้นฐาน อยู่ 4 ข้อ ได้แก่ 

1) มีวัตถุประสงค์เพื่ออำนวยความสะดวกแก่สถานพยาบาล 

2) มีวัตถุประสงค์เพื่อเอาชนะอุปสรรคทางภูมิศาสตร์ เชื่อมโยงผู้ป่วยที่ไม่ได้อยู่ในตำแหน่งทางกายภาพเดียวกัน 

3. มีความเกี่ยวข้องกับการใช้เทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสารประเภทต่างๆ 

4. เป้าหมายคือเพื่อพัฒนาด้านสุขภาพ

สรุปอย่างง่ายที่สุด  Telemedicine คือ การนําเทคโนโลยีมาช่วยให้ผู้ป่วยและบุคลากรทางการแพทย์พูดคุยโต้ตอบกันได้แบบ Real-time (เวลาจริง ณ ขณะนั้น) โดยที่แพทย์สามารถทำการรักษา วินิจฉัยโรค และให้คำปรึกษาในรูปแบบที่ผู้ป่วยไม่ต้องเดินทางเข้ามาที่โรงพยาบาล

 

Telemedicine : ต้นกำเนิด 500 ปีก่อนคริสตศักราชและประโยชน์แบบไม่ลับ

 

แม้ Telemedicine จะฟังดูเป็นนวัตกรรมใหม่ที่ใช้เทคโนโลยีมาเป็นเครื่องมือ แต่รู้หรือไม่ว่า แนวคิดแบบ Telemedicine เริ่มมีมาตั้งแต่ยุคกรีกโบราณและโรม ประมาณ 500 ปีก่อนคริสตศักราช

ในตอนนั้นมนุษย์มีความเชี่ยวชาญด้านการเกษตรและอาศัยอยู่ในหมู่บ้านหรือเมืองเล็กๆ หลายแห่ง ทำให้เกิดการสื่อสารระหว่างเมืองหนึ่งสู่เมืองใกล้เคียง และแน่นอนว่าสิ่งที่พวกเขาสื่อสาร ย่อมรวมถึงคำแนะนำด้านสุขภาพ การรักษาหรือยารักษาโรคจากแพทย์อีกด้วย

เทคโนโลยีและวิธีการสื่อสารพัฒนาตามยุคสมัยมาเรื่อยๆ จนกระทั่งปี 2533 อินเทอร์เน็ตได้ถือกำเนิดขึ้น นำมาซึ่งการสื่อสารแบบไร้ขอบเขต และปฏิเสธไม่ได้เลยว่าสร้างประโยชน์มหาศาลสำหรับการแพทย์ระยะไกล 

ปัจจุบัน Telemedicine ถูกนำมาใช้อย่างแพร่หลายในระบบการดูแลสุขภาพหลายแห่ง เพื่อเป็นตัวเลือกให้ผู้ป่วยสามารถใช้บริการทางการแพทย์ได้ด้วยตนเอง ซึ่งบทความ “Telemedicine benefits: For patients and professionals” ของเว็บไซต์ Medical news today ระบุไว้ว่า ข้อดีของ Telemedicine ประกอบไปด้วย 

1) มีค่าใช้จ่ายต่ำกว่าการไปโรงพยาบาล เพราะไม่มีค่าเดินทาง อย่างค่าน้ำมันรถหรือค่าตั๋วรถสาธารณะเข้ามาเกี่ยวข้อง และบางครั้งช่วยประหยัดค่าใช้จ่ายอื่นๆ เช่น ค่าการดูแลเด็กที่ต้องฝากไว้กับพี่เลี้ยงเมื่อต้องไปพบแพทย์ อีกด้วย

2) ช่วยปรับปรุงการเข้าถึงการรักษาสำหรับประชากรอื่นๆ ที่อยู่ห่างไกล

3) ช่วยให้ผู้คนเข้าถึงการดูแลป้องกันสุขภาพของตนเองได้ง่ายมากขึ้น และพวกเขาสามารถวางแผนดูแลสุขภาพในระยะยาวได้ 

4) เพิ่มสะดวกสบายและเป็นส่วนตัวในบ้านของตนเอง นี่อาจหมายความว่าผู้คนไม่จำเป็นต้องหยุดงานหรือหยุดเรียน

และท้ายที่สุด 5) ชะลอการแพร่กระจายของการติดเชื้อ เพราะการไปโรงพยาบาลอาจต้องอยู่ใกล้คนป่วย ซึ่งเป็นสิ่งที่อันตรายอย่างยิ่งสำหรับผู้ที่มีโรคประจำตัวหรือระบบภูมิคุ้มกันอ่อนแอ 

จากข้อดีทั้งหลายนี้ จึงเป็นคำตอบว่าทำไม Telemedicine อาจตอบโจทย์การรักษาโรคของคนในอนาคต

 

Telemedicine เครื่องมือใกล้ตัวช่วยเหลือผู้ป่วยติดสุรา

 

นอกจากจะเป็นทางเลือกใหม่สำหรับการรักษาโรคทั่วไปแล้ว ไม่แน่ว่า Telemedicine อาจช่วยเหลือผู้ป่วยติดสุราได้อย่างมีประสิทธิภาพอีกด้วย

อ้างอิงจากงานวิจัยเรื่อง “Measures of Effectiveness, Efficiency, and Quality of Telemedicine in the Management of Alcohol Abuse, Addiction, and Rehabilitation” ของศาสตราจารย์สก็อต ครูซ (Scott Kruse) แห่งมหาวิทยาลัยรัฐเท็กซัส ที่ศึกษาผ่านการวิเคราะห์บทความทั้ง 22 เรื่องเกี่ยวกับ Telemedicine และการติดสุรา ว่า Telemedicine จะมีประสิทธิภาพพอจะฟื้นฟูอาการของผู้ป่วยติดสุรา (ซึ่งมีมากกว่า 18 ล้านคนในสหรัฐอเมริกา) ได้หรือไม่?

ผลลัพธ์คือ Telemedicine สามารถใช้เป็นเครื่องมือช่วยลดการบริโภคแอลกอฮอล์ได้ และช่วยให้ผู้ป่วยสามารถเข้าถึงผู้ให้บริการได้มากขึ้นในเวลาที่ต้องการ เพราะหนึ่งในสิ่งสำคัญสำหรับการฟื้นฟูผู้ป่วยโรคติดสุราเรื้อรัง คือ การบำบัดพฤติกรรมและการให้คำปรึกษาแก่ผู้ป่วย ดังนั้น Telemedicine ที่สามารถสื่อสารระหว่างผู้ป่วยและผู้ให้บริการทางการแพทย์อย่างไร้ขอบเขต จะตอบโจทย์ดังกล่าวได้ดี

นอกจากนี้ ไม่แน่ว่าการบำบัดผ่าน Telemedicine อาจทำให้ยอดผู้ป่วยติดสุรา และจำนวนผู้เสียชีวิตที่เกี่ยวข้องกับสุราลดลง รวมถึงอาจลดค่าใช้จ่ายด้านการดูแลสุขภาพและปรับปรุงคุณภาพชีวิตของผู้ป่วยด้วย 

ด้านบทความ ‘Associate professor examines telemedicine as tool for alcohol use disorder management’ จาก Newswise รายงานเพิ่มเติมถึงความเห็นของครูซ เจ้าของวิจัยในข้างต้นว่า Telemedicine ช่วยลดปัญหาผู้ติดสุราได้ด้วยความใกล้ชิด

“ข้อมูลจะถูกประมวลผลโดยผู้ใช้แบบเวลาจริง ณ ขณะนั้น ซึ่งบางครั้งมีประสิทธิภาพมากกว่าการสื่อสารด้วยการพูดคุยกับสมาชิกในครอบครัวเสียอีก”

ครูซพบว่าการใช้ Telemedicine ในการรักษาโรคติดสุราเพิ่มการเข้าถึงของผู้ป่วยไปยังผู้ให้บริการหลายรายและถือเป็นการลดความแออัดในโรงพยาบาล

“ผู้ป่วยจำนวนมากรู้สึกว่ามีข้อดีในการรักษาทาง Telemedicine มากกว่าการเดินเข้าโรงพยาบาล”

อย่างไรก็ตาม แม้ว่า Telemedicine แสดงให้เห็นถึงประสิทธิภาพในการรักษาผู้ป่วยติดสุรา แต่วิจัยนี้ก็ปิดท้ายว่า Telemedicine ควรได้รับการตรวจสอบเพิ่มเติมและปรับปรุงอยู่ตลอด

 

ย้อนมอง Telemedicine ในไทย

 

ตัดภาพกลับมาที่ประเทศไทย ข้อมูลจากบทความ ‘COVID-19 จะเป็น Game Changer ของ Telemedicine หรือไม่?’ จากเว็บไซต์ Techsauce  ระบุว่า เมื่อปี 2562 ประเทศไทยมีกระแสการพัฒนาระบบ Telemedicine เพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ เช่น Chiiwii (ชีวี) See Doctor Now และ Samitivej Virtual Hospital 

 

แอปพลิเคชันพบหมอ See Doctor Now

 

หรือ ‘เป็ดไทยสู้ภัย’ ที่เป็นความร่วมมือของสมาคมไทยเทคสตาร์ทอัพ โดยได้นำเอาเทคโนโลยีหรือแพลตฟอร์มของตัวเองมาร่วมกันพัฒนาเป็นเซอร์วิสด้านต่างๆ เพื่อช่วยให้ความรู้ ป้องกัน และควบคุมการระบาดของโควิด-19 

ขณะเดียวกัน เมื่อปี 2560 กรมสุขภาพจิตมีนโยบายให้โรงพยาบาลจิตเวชนำการรักษาทางไกลระบบ Telemedicine มาใช้ในถิ่นทุรกันดาร หลังพบผู้ป่วยโรคทางจิตเวช เช่น โรควิตกกังวล โรคซึมเศร้า โรคจิตเวชที่เกิดจากการติดเหล้า เข้ารับการรักษาจำนวนน้อยมากประมาณร้อยละ 5-10 ของผู้ป่วยทั้งหมด ทำให้ผู้ป่วยประเภทดังกล่าวนี้เกิดอาการกำเริบรุนแรง 

เนื่องจากผู้ป่วยทางจิตเวชต้องได้รับการดูแล กินยาควบคุมอาการอย่างต่อเนื่อง แล้วต้องพบจิตแพทย์ตามนัดปีละไม่ต่ำกว่า 4 ครั้ง การนำ Telemedicine เข้ามาประยุกต์ใช้จะทำให้ผู้ป่วยได้รับการบริการอย่างทั่วถึง  โดยกำหนดให้โรงพยาบาลสวนปรุง จ.เชียงใหม่ เริ่มดำเนินการเป็นแห่งแรก เนื่องจากเป็นศูนย์กลางสถานพยาบาลที่ช่วยดูแลจังหวัดภาคเหนือตอนบนทั้งหมดและมีชาวเขาจำนวนมาก ก่อนขยายผลในพื้นที่จังหวัดอื่นๆ ต่อไป

ภายใต้ความเปลี่ยนแปลงทางสังคมและความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีที่ไม่เคยหยุดยั้ง เราอาจจะได้บทบาทของ Telemedicine ในฐานะนวัตกรรมการบำบัดรักษาผู้ติดสุราที่สำคัญของโลกอนาคตก็เป็นได้

 

 


ที่มา:

https://www.who.int/goe/publications/goe_telemedicine_2010.pdf

http://mdportal.com/education/history-of-telemedicine/

https://www.medicalnewstoday.com/articles/telemedicine-benefits#disadvantages

https://www.newswise.com/articles/associate-professor-examines-telemedicine-as-tool-for-alcohol-use-disorder-management

https://www.jmir.org/2020/1/e13252/

https://techsauce.co/tech-and-biz/covid19-the-real-game-changer-of-telemedicine

http://thainews.prd.go.th/th/news/print_news/TNSOC6011270010079

 

เรื่องและภาพ: ทีมงาน Alcohol Rhythm

Related Articles