เมื่อโควิดเปลี่ยนจังหวะชีวิตนักดื่ม (Photo Essay)

July 1, 2021


ท่ามกลางสถานการณ์โควิด-19 ที่เข้ามา ทุกชีวิตต่างถูกบังคับให้เปลี่ยนไปโดยอัตโนมัติ ทั้งงดพบปะผู้คน งดรับประทานอาหารในร้าน ในห้างสรรพสินค้า การห้ามรวมกลุ่มเกินจำนวนที่กำหนด ฯลฯ แม้ใครหลายคนอาจคิดถึงวิถีชีวิตแบบเก่า แต่ถึงอย่างไร เราก็ต้องปรับตัวให้อยู่ได้ และก้าวต่อไปในวิกฤตโรคระบาด

แน่นอนว่า ‘ชีวิตนักดื่ม’ หลายคนก็ต้องยอมปรับตัวอย่างไร้ข้อกังขา บางคนอาจเลือกดื่มอยู่คนเดียวในบ้าน แต่บางคนก็ต้องทนทุกข์กับอาการติดเหล้า เข้าถึงการบำบัดไม่ได้ ไปจนถึงปัญหาความรุนแรงในครอบครัว

Alcohol Rhythm เปลี่ยนจังหวะชีวิตคนติดเหล้า จึงขอพาสำรวจชีวิตนักดื่มในช่วงโควิด-19 กับปัญหาต่าง ๆ ที่พบเจอในช่วงระยะเวลานี้ เพื่อทำความเข้าใจและวางแผนแก้ไขปัญหาอย่างถูกต้อง ไม่เพิกเฉย

 

คำสั่งประกาศมาตรการ ...ฉุกเฉิน จากรัฐบาลเปรียบเสมือนคลื่นสึนามิที่ซัดเข้ามาเป็นระลอก สถานการณ์ที่ไม่แน่นอนรวมถึงแนวโน้มของผู้ติดเชื้อที่เพิ่มขึ้น (หรือไม่ก็เท่าเดิม หาได้ลดลงมากน้อยกว่ากันสักเท่าไรนัก) ส่งผลต่อคนในสังคมอย่างกว้างขวาง การปิดเมืองทำให้รูปแบบของสถานที่และแบบแผนการดื่มสุราเปลี่ยนไป ประชาชนจำนวนมากรู้สึกวิตกกังวล บางกรณีส่งผลกระทบถึงสภาวะจิตใจจนเกิดปัญหาต่างๆ ตามมา เช่น ปัญหาความรุนแรงในครอบครัว และปัญหาสุขภาพจิต

มากไปกว่านั้น ยังเกิดปัญหาด้านการเข้าถึงสาธารณูปโภคอย่างโรงพยาบาล ที่อาจทำให้ผู้ป่วยบางรายไม่สามารถเข้ารับการรักษาได้เหมือนที่ผ่านมา ชนวนเหล่านี้ล้วนเป็นสิ่งกระตุ้นความเครียดและเพิ่มความเสี่ยงต่อการดื่มสุรามากขึ้น

 

พื้นที่ใจกลางเมืองกรุงเดิมที่มีความหนาแน่นของรถยนต์และผู้คน จนบางครั้งอาจต้องใช้ระยะเวลาไม่ต่ำกว่าชั่วโมงในการเดินทาง แต่เมื่อเกิดการล็อกดาวน์ ท้องถนนกลับโล่ง ทั้งรถและผู้คนมีอยู่เพียงบางตา 

 

จากสถิติในปี 2563 พบว่ามีจำนวนอุบัติเหตุการเสียชีวิตบนท้องถนนลดลงกว่าครึ่ง ซึ่งเป็นผลมาจากคำสั่งงดเดินทางออกจากบ้าน ลดงานรื่นเริง เคอร์ฟิวสี่ทุ่ม รวมถึงมาตรการงดขายเหล้าที่ทำให้การดื่มจนเกิดอุบัติเหตุเมาแล้วขับลดลง

แม้รัฐบาลจะมีมาตรการผ่อนปรนให้ผู้ป่วยที่จำเป็นต้องพบแพทย์สามารถเดินทางได้ตามปกติ แต่การเลือกใช้รถโดยเฉพาะรถโดยสารประจำทางในการเดินทางไปโรงพยาบาลนั้นกลับยิ่งทำให้เกิดความวิตกกังวลทั้งผู้ป่วยและญาติของคนไข้

 

ด้านผู้ป่วยเป็นโรคที่ไม่รุนแรง รัฐได้ขอความร่วมมืองดไปโรงพยาบาล ทำให้จำนวนประชาชนที่ต้องการเข้ารับการรักษาภายในสถานพยาบาลมีจำนวนลดลง กรณีของผู้ติดสุราชัดเจนว่ามีหลายคนตัดสินใจเข้ารับการรักษาช้าลง หรือบางกรณีอาจไม่มาโรงพยาบาลตามที่นัดหมาย ซึ่งส่งผลกระทบต่อการรักษาในระยะยาว

 

ตลอดระยะเวลาที่ผ่านมา มาตรการล็อกดาวน์ของรัฐบาลส่งผลให้ผู้ประกอบธุรกิจร้านต่างเริ่มทยอยปิดบริการหรือขายร้านอย่างถาวร เพราะมองเห็นถึงสถานการณ์ ‘ฝืนต่อไปยังไงก็ขาดทุน’ ด้วยเหตุนี้ส่งผลให้ ‘ชาวนักดื่ม’ จำนวนหนึ่งเปลี่ยนสถานที่ดื่ม จากผับบาร์ร้านอาหารเป็นสถานที่ภายในบ้านเพิ่มมากขึ้น

 

 “ดื่มแอลกอฮอล์สามารถฆ่าเชื้อโควิด-19 ได้” คือหนึ่งในความเชื่อผิด ๆ ในหมู่นักดื่มโดยเฉพาะผู้สูงอายุ แต่แท้จริงแล้วการดื่มแอลกอฮอล์ไม่สามารถช่วยแก้หรือยับยั้งโรคระบาดอย่างโควิด-19 ได้ ซ้ำยังอาจทำให้ร่างกายอ่อนแอลง เพราะการดื่มสุราอย่างหนักส่งผลกระทบต่ออวัยวะภายในของร่างกายและระบบภูมิคุ้มกัน เสี่ยงต่อในการติดเชื้อจากการตั้งวงเหล้า ยิ่งกับผู้สูงอายุแล้ว ยิ่งมีความเสี่ยงเพิ่มขึ้น เนื่องจากผู้สูงอายุมีโรคประจำตัวหลายโรค โดยหนึ่งในโรคซึ่งพบได้บ่อย คือโรคติดสุราเรื้อรัง

ท้ายที่สุดแล้ว การดื่มแอลกอฮอล์ในช่วงเวลานี้อาจทำให้ผู้ให้บริการทางการแพทย์ และหน่วยงานดูแลผู้สูงอายุต้องแบกรับภาระหนักขึ้นเพราะขาดอุปกรณ์เครื่องมือในการรักษาอีกด้วย

 

หนึ่งในสาเหตุสำคัญของปัญหาการใช้ความรุนแรงในครอบครัวคือ ระบอบความคิดปิตาธิปไตย หรือ ระบอบชายเป็นใหญ่ที่ครอบงำสังคม ซึ่งหากผนวกรวมกับการดื่มแอลกอฮอล์เกินขนาด จะทำให้ผู้ดื่มขาดสติ เกิดเหตุการณ์ทะเลาะเบาะแว้ง จนนำไปสู่การใช้ความรุนแรงซึ่งผู้หญิงตกเป็นเหยื่อได้ง่ายขึ้น และจากสถานการณ์โควิด-19 กรมสุขภาพจิตยังเผยว่าความรุนแรงในครอบครัวเพิ่มสูงขึ้นจากปกติถึง 66%

 

เหตุที่ความรุนแรงทวีความสาหัสขึ้นในสถานการณ์โควิด-19 เพราะการล็อกดาวน์ที่ผ่านมาบังคับให้ผู้คนต้องอาศัยอยู่ภายในบ้าน คนจำนวนมากตกงาน เกิดความเครียดจากสถานะทางเศรษฐกิจตกต่ำลง การเงินติดขัด ปัญหาสุขภาพจิตฯลฯ จึงหันมาเลือกดื่มแอลกอฮอล์ในบ้านเพิ่มขึ้น นำไปสู่ปัญหาความรุนแรงต่อผู้หญิงและครอบครัว

 

ย้อนกลับไปในช่วงก่อนโรคระบาดเข้ามา ผู้คนยังสามารถจัดการความเครียดได้ด้วยวิธีที่หลากหลาย ไม่ว่าจะเป็นการไปเดินเล่น ออกกำลังกาย ดูคอนเสิร์ต ดูหนัง พบปะเพื่อนฝูง แต่ปัจจุบันเมื่อโลกกลับสวนทาง ตัวเลือกในการกำจัดความเครียดลดน้อยลง ส่งผลให้คนหาที่พึ่งทางใจอย่าง ‘เหล้า’ แทน

กลุ่มคนที่ความเสี่ยงต่อการดื่มหนักในช่วงโควิด-19 มีตั้งแต่ คนตกงาน เพราะไม่มีรายได้ในการดำรงชีวิต, คนในสถานพยาบาล ที่ต่างต้องรับมือกับความกดดันสูงจากหลายหน่วยงาน, คนทำงาน work from home ที่จ้องจอจนไม่มีเส้นแบ่งการทำงานและชีวิตส่วนตัว, คนที่สูญเสียคนรักจากโรคระบาด, ผู้ติดสุราที่ไม่ได้รับการรักษาต่อเนื่อง เนื่องจากการเข้าถึงสถานพยาบาลเป็นไปได้ยาก จวบจนถึงคุณพ่อ คุณแม่ที่ต้องรับมือกับการจัดการเรียนการสอนให้ลูกน้อยที่บ้าน

 

การปรับพฤติกรรมสามารถบรรเทาการดื่มสุรา และปัญหาที่ตามมาจากการดื่มจนเมามายได้ หลักในการปรับพฤติกรรมที่วิมล ลักขณาภิชนชัช พยาบาลวิชาชีพชำนาญการพิเศษ สถาบันบำบัดรักษาและฟื้นฟูผู้ติดยาเสพติดแห่งชาติบรมราชชนนี แนะนำ ได้แก่ การทานอาหารให้อิ่มครบสามมื้อ ตรงเวลา ซึ่งช่วยลดความอยากของแอลกอฮอล์ลงได้ หรืออีกวิธีคือปรับเวลารับประทานให้เร็วขึ้นมาเล็กน้อย เพื่อให้อิ่มก่อนเวลาที่เคยดื่มเหล้า

นอกจากนี้ควรลดการดื่มน้ำอัดลมที่อาจเป็นการกระตุ้นให้อยากดื่มมากขึ้นและหันมาดื่มน้ำเปล่าแทน วิธีทั้งหมดสามารถทำได้เลยไม่ต้องพบแพทย์ก่อน เหมาะแก่การเริ่มต้นเลิกเหล้าง่ายๆ ในช่วงโควิด-19

 

ธนกฤษ ลิขิตธรากุล นักจิตวิทยาคลินิก สถาบันสุขภาพจิตเด็กและวัยรุ่นราชนครินทร์ เคยกล่าวไว้ว่า “ในแง่การบำบัด เราต่างมองว่าทุกพฤติกรรมสามารถเรียนรู้ได้ เป็นได้และหยุดได้ในเวลาเดียวกัน อาการติดสุรา เป็นอีกอาการที่หากเมื่อได้รับการบำบัด มันก็มีโอกาสกลับมาเป็นซ้ำเช่นกัน หากลองมองภาพตามความเป็นจริงนั้น เราดื่มแอลกอฮอล์มา 5-6 ปี หรือบางทีอาจมากกว่านั้น หากต้องการจะหยุดภายใน 6 เดือน มันมีความเป็นไปได้ที่จะกลับไปดื่มซ้ำอยู่แล้ว เพราะเป็นธรรมชาติในการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมของมนุษย์ทั่วไป” 

ดังนั้น ผู้ที่เข้ารับการบำบัดการติดสุราควรปรับมุมมองกันใหม่ ว่าการกลับมาดื่มซ้ำไม่ได้แปลว่าเราจะล้มเหลวกับชีวิต 

“เหมือนช่วงเวลาที่เราเดินขึ้นบันไดมาหลายๆ ขั้น แล้วแค่ย้อนกลับไปขั้นเดียว ไม่ได้หมายความว่าควรจะกลับไปเริ่มที่ขั้นแรกอีกรอบ”

 

‘วัคซีน’ เปรียบเสมือนการสร้างเกราะป้องกันให้ร่างกายทนทานต่อโรคระบาด แต่ทว่าหากไม่ดูแลร่างกายที่กำลังสร้างเกราะป้องกันให้แข็งแรง เกราะก็อาจเสื่อมสลายไปก็เป็นได้

การดื่มแอลกอฮอล์นั้นเป็นส่วนหนึ่งของการทำลายเกราะที่ว่า เพราะเมื่อแอลกอฮอล์เข้าสู่ร่างกาย  การตอบสนองของระบบภูมิคุ้มกันจะลดลงและเพิ่มความไวต่อการติดเชื้อแบคทีเรียและไวรัสมากขึ้น เหตุจากไปขัดขวางเซลล์ภูมิคุ้มกันไม่ให้กระจายไปทั่วร่างกาย เมื่อเจ้าเซลล์ที่ว่าไม่สามารถเข้าไปกำจัดไวรัส แบคทีเรีย หรือเซลล์ที่ติดเชื้อได้ เชื้อโรคที่เข้ามายังร่างกายของเราจึงสามารถกระโจนเข้าสู่เซลล์ต่างๆ ภายในร่างกายอย่างง่ายดาย 

ยิ่งไปกว่านั้น อีกผลกระทบจากการดื่มหนักคือ ‘อาการเมาค้าง’ หรือภาษาบ้านๆ เรียกว่า แฮงก์ ที่อาจทำให้อาการข้างเคียงจากการฉีดวัคซีน เช่น เมื่อยตัว ปวดตัว เป็นไข้ รุนแรงขึ้นได้ ดังนั้นการงดดื่มแอลกอฮอล์หลังฉีดวัคซีนเป็นข้อควรปฏิบัติเบื้องต้นเพื่อให้ร่างกายมีภูมิคุ้มกันสมบูรณ์

 

‘Telemedicine’ หรือ ‘การรักษาระยะทางไกล’ เป็นตัวเลือกในการบริการดูแลสุขภาพสำหรับผู้มีข้อจำกัดเรื่องการเดินทาง เหมาะสมสำหรับการนำมาประยุกต์ใช้ในสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 ในปัจจุบัน โดยบุคลากรทางการแพทย์จะเข้ามาพูดคุยกับผู้ป่วย ตรวจรักษาวินิจฉัยโรคเบื้องต้นผ่านเทคโนโลยีเช่นแอปพลิเคชัน ตลอดจนสามารถให้คำปรึกษาโดยที่ผู้ป่วยไม่ต้องเดินทางมายังโรงพยาบาล หลีกเลี่ยงการเจอผู้คนที่แออัด และเสี่ยงติดโรคจากโรงพยาบาล

ในปัจจุบันประเทศไทยเริ่มมีแอปพลิเคชันดังกล่าวเพิ่มมากขึ้น เช่น แอปพลิเคชัน Ooca , Chiiwii และ See Doctor Now ดังนั้นในอนาคต Telemedicine จึงอาจเป็นตัวเลือกใหม่ในการพัฒนาระบบบำบัดผู้ติดสุราต่อไป

 

 


 

เรื่อง : ทีมงาน Alcohol Rhythm

ภาพ : ทีมงาน Alcohol Rhythm และ The101.world

Related Articles