5 คำถาม อยู่อย่างไรเมื่อต้องห่างไกลแอลกอฮอล์?

July 6, 2020


หากคุณเป็นนักดื่มประเภทที่ของไม่เคยขาด เทศกาลอย่าง ‘งดเหล้าเข้าพรรษา’ อาจเป็นบททดสอบครั้งสำคัญว่าจะอยู่อย่างไรเมื่อต้องห่างไกลแอลกอฮอล์ และในขณะเดียวกัน ก็เป็นช่วงเวลาที่ใครหลายคนจะได้หันมาทบทวนตนเองอย่างจริงจัง ว่ามี ‘ภาวะขาดสุรา’ หรือไม่

“เราอาจจะสังเกตว่า คนดื่มสุราคนนั้นดื่มทุกวันไหม ดื่มแล้วหยุดไหม ถ้าเขาบอกว่าไม่ติด แล้วเขาเคยหยุดดื่มบ้างไหม พอหยุดแล้วมีอาการอะไร ถ้าหยุดดื่มหรือไม่ได้ดื่มแล้วมีอาการ เช่น นอนไม่หลับ หงุดหงิด แสดงว่ามีการติดสุราแล้ว”

Alcohol Rhythm เปลี่ยนจังหวะชีวิตคนติดเหล้า ต่อสายตรงถึง วิมล ลักขณาภิชนชัช พยาบาลวิชาชีพชำนาญการพิเศษ สถาบันบำบัดรักษาและฟื้นฟูผู้ติดยาเสพติดแห่งชาติบรมราชชนนี (สถาบันธัญญารักษ์เดิม) เพื่อขอคำแนะนำว่านักดื่มควรปฏิบัติตัวอย่างไรในช่วงเวลานี้ มีอะไรเป็นข้อควรระวังบ้าง รวมถึงคนรอบข้างจะมีวิธีการสังเกต พร้อมดูแลผู้ติดสุราอย่างไร

และนี่คือ 5 คำถาม-คำตอบสำคัญที่ทั้งนักดื่มตัวยง นักดื่มขาจร หรือกระทั่งคนใกล้ชิดควรจะรู้

 

แค่ไหนที่เรียกว่า ‘ลงแดง’ ?

 

“จริงๆ ไม่อยากให้ใช้คำว่า ‘ลงแดง’ กับผู้ติดสุรา เพราะความหมายของคำนี้จริงๆ คืออาการของคนติดผงขาว ที่เมื่อไม่ได้เสพ เกิดภาวะขาดยา ผลกระทบคือลำไส้จะมีอาการบิดตัวมาก หนักเข้าก็จะมีเลือดออก นี่คืออาการลงแดง

แต่สำหรับคนที่ติดสุรา สมมติว่าเคยดื่มมาอย่างต่อเนื่อง เป็นเวลานาน ก็อาจเกิดแผลและมีเลือดออกในกระเพาะอาหารได้ ภาษาการแพทย์เรียกว่า Upper Gastrointestinal Bleeding ถ้ามีเลือดออกมาก บางรายอาจอาเจียนออกมาแล้วมีเลือดปน หรือถ้าเลือดไหลผ่านไปทางลำไส้ ปนกับอุจจาระ ก็จะถ่ายออกมาเป็นสีดำ

ภาษาชาวบ้านที่พูดกันว่าลงแดง เข้าใจว่าใช้ในความหมายของอาการขาดสุรา หรืออาการถอนพิษสุรา ลักษณะที่เป็นรูปธรรม คือมีเหงื่อซึม มือสั่น หงุดหงิด นอนไม่หลับ บางคนอาจรู้สึกครั่นเนื้อครั่นตัว ไม่สุขสบาย บางรายอาจมีอาการท้องเสียหรือคลื่นไส้ ระดับอาการจะต่างกันไปตามปริมาณการดื่ม”

 

เราติดเหล้ายัง (วะ) ?

 

“ตามปกติ คนที่ดื่มสุราเป็นประจำ จะรู้ตัวเองว่าดื่มมากน้อยขนาดไหน เช่น ถ้าถึงเวลาที่ปกติจะต้องดื่ม แล้วไม่ได้ดื่ม เขาก็จะเริ่มมีภาวะขาดสุรา ซึ่งแต่ละคนจะรู้อาการตัวเอง เป็นต้นว่าอาจรู้สึกไม่สบายตัว หงุดหงิด คนที่ดื่มหนักหน่อยอาจเกิดความทุกข์ทรมาน จนรบกวนการใช้ชีวิตตามปกติ หากแบ่งตามระดับรุนแรง จะแบ่งได้เป็น 3 ระดับคือ

ระดับแรก เป็นอาการขาดสุราเล็กน้อย จะมีอาการมือสั่น หงุดหงิด วิตกกังกล ปวดมึนศีรษะ เหงื่อออก เบื่ออาหาร มีความดันโลหิตสูง คลื่นไส้ รวมถึงอาเจียนและนอนไม่หลับ อาการเหล่านี้จะเกิดขึ้นหลัง 6 ชั่วโมง จนถึง 36 ชั่วโมง หลังจากการดื่มครั้งสุดท้าย

ระดับที่สอง คืออาการขาดสุราปานกลาง ผู้ป่วยจะมีอาการชีพจรเต้นเร็ว ความดันโลหิตสูง รู้สึกกระวนกระวาย มีความวิตกกังวลมากขึ้นกว่าระดับแรก เบื่ออาหาร คลื่นไส้ และอาเจียน อาการจะเกิดในช่วง 24 ชั่วโมง ถึง 72 ชั่วโมง หลังการดื่มครั้งสุดท้าย

ระดับสุดท้าย เป็นอาการขาดสุราขั้นรุนแรง จะมีอาการเกิดขึ้นในช่วง 48 ชั่วโมง ถึง 96 ชั่วโมงหลังการดื่มสุราครั้งสุดท้าย โดยผู้ป่วยจะมีภาวะสับสนเกี่ยวกับวัน เวลา และ สถานที่ หรือที่เรียกว่าภาวะ Delirium Tremens (DTs) รวมถึงจะมีอาการกระสับกระส่าย อยู่นิ่งไม่ได้ สมาธิของผู้ป่วยจะลดลง ชีพจรเต้นเร็วขึ้น มีไข้ และอาจเกิดภาพหลอน หูแว่ว ตลอดจนมีอาการหวาดระแวง

ถ้ามีอาการไม่มาก เช่น นอนไม่หลับ หรือมีอาการหงุดหงิดเล็กน้อย ก็สามารถดูแลตัวเองได้โดยไม่ต้องมาพบแพทย์ แต่ถ้ารู้สึกว่าเริ่มมีปัญหาในการใช้ชีวิต ก็มาพบแพทย์ได้เพื่อรับยาไปรับประทาน เพื่อช่วยบรรเทาอาการที่ไม่สุขสบาย หรือถ้ายังไม่แน่ใจ ต้องการคำปรึกษา สามารถโทรมารับคำปรึกษาได้ที่สายด่วน 1413”

 

ทำอย่างไร เมื่อไม่มีเหล้าให้ดื่ม?

 

“การรับประทานอาหารให้อิ่ม และตรงเวลา จะช่วยลดความอยากลงได้ วิธีที่แนะนำคือปรับเวลารับประทานให้เร็วขึ้นมาเล็กน้อย เพื่อให้อิ่มก่อนเวลาที่เราเคยดื่มเหล้า วิธีนี้จะช่วยบรรเทาความอยากได้มาก กรณีแบบนี้สามารถทำได้เลย ไม่ต้องมาพบแพทย์ ส่วนใหญ่คนที่ดื่มช่วงเย็น โดยเฉพาะหลังเวลาทำงาน จะเป็นกลุ่มที่ยังไม่ติดหนัก

หลักในการปรับพฤติกรรมคือ การทานอาหารให้ครบสามมื้อ เพราะแต่ละมื้อมันจะสัมพันธ์กัน สมมุติว่าเราตื่นเช้ามา อาจทานกาแฟแก้วหนึ่ง ขนมปังชิ้นหนึ่ง พอถึงช่วงเก้าโมงหรือสิบโมง เริ่มหิว ทานมื้อแรก ตอนเที่ยงเราก็จะไม่หิว แต่จะไปหิวช่วงบ่ายสองหรือบ่ายสาม ถ้าทานอีกมื้อช่วงนี้ เราก็จะหิวอีกทีช่วงค่ำ ประมาณหนึ่งทุ่มหรือสองทุ่ม เวลาอาจเหลื่อมกันไปแล้วแต่คน

จุดสำคัญคือ คนที่ดื่มเป็นประจำ แล้วทานอาหารแบบเหลื่อมเวลาอย่างที่ว่ามา พอถึงช่วงเย็นๆ เขาจะเริ่มมีความอยากเข้ามาก่อน ฉะนั้นสิ่งที่ทำได้คือปรับเวลาอาหารให้ตรงมื้อ เที่ยงคือทานข้าวเที่ยง เพื่อที่มื้อเย็นจะได้หิวช่วงสี่หรือห้าโมงเย็น แล้วก็ทานมื้อเย็นให้อิ่ม จะทำให้ความอยากลดลง หรือถ้าเขายังดื่ม ก็จะดื่มได้ไม่มาก นี่คือการตัดวงจรความอยาก รวมถึงการลดการดื่มแบบง่ายๆ และสามารถเริ่มต้นทำได้เลย

นอกจากนี้การทานอาหารก่อน แม้จะดื่มแอลกอฮอล์ตามเข้าไป จะช่วยขัดขวางการดูดซึมแอลกอฮอล์เข้าสู่ร่างกายด้วย ทำให้เกิดอันตรายน้อยลง

จริงๆ ควรทานมื้อเย็นตั้งแต่ก่อนห้าโมงด้วยซ้ำ เพราะช่วงห้าโมง หรือห้าโมงกว่านี่แหละ คือช่วงเวลาที่เราเริ่มอยากสุรา”

 

คนในบ้านช่วยอะไรได้บ้างไหม ?

 

“นอกจากเรื่องของการปรับเวลาอาหาร คนในบ้านอาจหากิจกรรมทำร่วมกัน คอยสังเกตอารมณ์ อย่าให้เขารู้สึกเหงา เบื่อ เซ็ง กระทั่งเวลาดีใจหรือมีความสุข ถ้าเขาไม่รู้จะบอกหรือแชร์ความรู้สึกนั้นกับใคร ก็อาจเป็นทุกข์ไปอีกแบบเหมือนกัน อยากให้พยายามสร้างปฏิสัมพันธ์กัน หากิจกรรมทำร่วมกัน การออกกำลังกายก็ช่วยได้เหมือนกัน

ถ้าเขาสามารถหยุดดื่ม หรือปรับพฤติกรรมได้ คนที่อยู่รอบข้างก็ควรให้ความชื่นชม ผลดีที่เกิดแน่ๆ คือเขาได้ดูแลสุขภาพตัวเอง ข้อเท็จจริงคือแอลกอฮอล์มีต่อเสียต่อหลายๆ อวัยวะภายในร่างกาย ช่วงนี้ถือเป็นโอกาสดีที่จะลดการดื่ม หรือเลิกดื่มได้ นอกจากได้สุขภาพที่ดีขึ้นแล้ว ผลที่ตามมาอีกข้อคือการประหยัดค่าใช้จ่ายไปได้อีกได้เยอะ

ที่สำคัญคือในช่วงเวลาที่ต้องอยู่บ้านด้วยกันเยอะๆ เช่น ช่วงที่ยังมีโควิด-19 ถ้าเกิดเขาเมา ก็มีโอกาสที่จะเกิดความรุนแรงในครอบครัวได้ เพราะเขาออกไปไหนไม่ได้ อันนี้ก็เป็นความเสี่ยงอีกด้าน ฉะนั้นคนในบ้านควร cheer up ให้กำลังใจและส่งเสริมพฤติกรรมในการหยุดดื่ม แล้วถ้าเขาสามารถปรับพฤติกรรมได้ ก็ต้องให้การชื่นชม”

 

เครื่องดื่มประเภท non-alcohol ช่วยลดหรือเลิกการดื่มได้ไหม ?

 

“ในกรณีที่เป็นเครื่องดื่มที่ไม่มีแอลกอฮอล์จริงๆ ถามว่าช่วยได้มั้ย อาจต้องวิเคราะห์ก่อนว่า คนที่ใช้เครื่องดื่มประเภทนี้มาชดเชยหรือทดแทนการดื่มแอลกอฮอล์ แปลว่าเขาอาจไม่ได้ติดแอลกอฮอล์หรือเปล่า แต่อาจเป็นการติดพฤติกรรมมากกว่า

แล้วถ้าเครื่องดื่มประเภทที่ว่า มีลักษณะที่ให้ความซ่า หรือให้ความรู้สึกเหมือนดื่มแอลกอฮอล์ ส่วนตัวมองว่าอาจเป็นการกระตุ้นให้อยากดื่มมากขึ้นด้วยซ้ำ ไม่ได้ช่วยให้ลดหรืองดได้  น้ำที่ดีที่สุดคือน้ำเปล่า แต่บางเวลาถ้าเราต้องการความสดชื่น ก็อาจดื่มน้ำหวานหรือน้ำผลไม้ได้บ้าง

อีกอย่างที่ควรเลี่ยง เพราะจะเป็นตัวกระตุ้นได้ คืออาหารที่เคยทานเป็นกับแกล้ม อันนี้ไม่แนะนำ เพราะความจำมันยังอยู่ ถ้าเราทานก็อาจเป็นการกระตุ้นให้อยากดื่มได้เช่นกัน

สุดท้ายแล้ว วิธีการที่ดีและได้ผล อาจไม่ใช่การปิดประตูไม่ให้ดื่มไปเลย เพราะไม่รู้จะได้ผลแค่ไหน แต่ส่วนตัวมองว่า เราอาจใช้วิธีการปลูกฝังตั้งแต่เด็ก ว่าดื่มแบบติดแล้วจะเป็นอย่างไร ต้องให้ข้อมูลเขา ให้มองถึงผลกระทบ เช่น ถ้าการดื่มสุราทำให้ขาดสติจนผู้ดื่มไปก่อคดีข่มขืน แล้วเราเป็นญาติของเหยื่อ หรือเราเป็นญาติของคนก่อเหตุ เราอยากเห็นแบบนั้นไหม แล้วให้เขาใช้ดุลยพินิจของตัวเอง แบบนี้น่าจะดีกว่า”

 

 


เรื่องและภาพ: ทีมงาน Alcohol Rhythm

Related Articles