เคยคิดไหมว่าความสัมพันธ์ระหว่างเรามาถึงจุดนี้ได้อย่างไร?
จุดที่เราต้องเจอกันทุกวัน ต้องสังสรรค์กันทุกเย็น ตื่นมาก็เห็นเธอเป็นคนแรก
จนกระทั่งวันหนึ่ง (ร่างกาย) เราต้องเปลี่ยนไปก็เพราะเธอ
‘เธอ’ ที่ว่ามานี้ไม่ใช่ใครที่ไหน แต่เป็นน้ำสีอำพันที่เราคุ้นหน้าคุ้นตากันดีอย่างเหล้าหรือเครื่องดื่มแอลกอฮอล์
เมื่อการดื่มที่มากไปกำลังทำร้ายร่างกายของผู้ดื่มจนอาจทำให้เรื่องราวจบไม่สวย Alcohol Rhythm เปลี่ยนจังหวะชีวิตคนติดเหล้า จึงขอชวนคุณมาทบทวนความสัมพันธ์ระหว่างเรากับเหล้าอีกครั้ง ว่าตกลงแล้วเหล้าที่เรายังคบ (ดื่ม) อยู่นั้นเป็นอย่างไรกันแน่ และสุดท้าย ความสัมพันธ์ของเราควรจะจบอย่างไรถึงจะสวยงามและดีต่อทุกๆ ฝ่ายมากที่สุด
เครื่องดื่มแอลกอฮอล์คืออะไร
เครื่องดื่มแอลกอฮอล์ หมายถึง เครื่องดื่มที่มีส่วนประกอบของเอทิลแอลกอฮอล์ทุกชนิด ไม่ว่าจะเป็นสุรา เบียร์ หรือไวน์ ในปริมาณไม่เกิน 60% ซึ่งเป็นเกณฑ์ที่สากลกำหนดว่าใช้ดื่มได้
แต่การ ‘ดื่มได้’ ไม่เท่ากับการ ‘ดื่ม(แล้ว)ดี’ เพราะแอลกอฮอล์เป็นสารออกฤทธิ์ต่อจิตประสาท ทำให้สามารถกระตุ้นหรือกดระบบประสาทส่วนกลางจนเกิดอาการหลอน บกพร่องด้านการควบคุมการเคลื่อนไหว ความคิด พฤติกรรม การรับรู้ หรืออารมณ์ อีกทั้งยังทำให้เกิดการเสพติดได้ทั้งในมนุษย์และสัตว์
ดังนั้น การดื่มแต่ละครั้งอาจต้องดื่มอย่างพอเหมาะพอดี ผู้ดื่มสามารถทราบปริมาณการดื่มแอลกอฮอล์ของตนคร่าวๆ ด้วยการใช้ ‘เกณฑ์การดื่มมาตรฐาน’ (Standard Drink) ที่ถูกกำหนดมานานนับตั้งแต่ปี 1987 เป็นตัววัด โดย 1 ดื่มมาตรฐานเท่ากับปริมาณแอลกอฮอล์บริสุทธิ์จำนวน 10 หรือ 8 กรัม ซึ่งเป็นปริมาณที่ร่างกายสามารถดูดซึมและขับแอลกอฮอล์ออกจากร่างกายได้ภายใน 1 ชั่วโมง
แอลกอฮอล์ทำให้คนเราเมาได้อย่างไร
แอลกอฮอล์มีโครงสร้างโมเลกุลขนาดเล็กที่สามารถแพร่ผ่านเยื่อผนังเซลล์ ทำให้กระจายตัวอย่างรวดเร็วไปยังทุกเซลล์และเนื้อเยื่อหลังจากดื่ม ส่วนอาการมึนเมาเป็นผลจากการที่แอลกอฮอล์ส่งผลต่อโครงสร้างและการทำงานของระบบประสาทส่วนกลาง
หากผู้ดื่มดื่มสุราอย่างหนัก ไม่นานจะเริ่มเกิดอาการเมาสุรา ทำให้มีความคิดและพฤติกรรมที่บกพร่อง รวมถึงอาจเป็นต้นเหตุของพฤติกรรมบางอย่างที่เป็นปัญหา เช่น แสดงออกทางเพศไม่เหมาะสม ก้าวร้าว อารมณ์แปรปรวน ถ้าต้องการสังเกตว่าใครเมาแล้ว ให้ดูง่ายๆ ว่า เขาเริ่มมีอาการพูดอ้อแอ้ ลิ้นคับปาก มือสั่น เดินเซ ไม่ตรงทางหรือไม่ และบางคนอาจถึงขั้นมีอาการชักร่วมด้วยก็ได้
ถ้าเราติดแอลกอฮอล์จะเป็นอย่างไร
การเสพติดแอลกอฮอล์เกิดจากหลายกลไกด้วยกัน โดยแอลกอฮอล์เองมีคุณสมบัติเสริมแรงให้กลับไปดื่มซ้ำ (reinforce) ถ้าเราเผลอตัวเผลอใจ ปล่อยให้ตัวเองดื่มอย่างต่อเนื่อง แอลกอฮอล์จะส่งผลให้เกิดการเปลี่ยนแปลงของโมเลกุลในสมองในระยะยาว (neuroadaptation) จนเกิดภาวะเสพติดสุรา
สังเกตอาการผู้ติดสุรา (Alcoholics)
หากมีอาการอย่างน้อย 3 ใน 7 ข้อต่อไปนี้ นั่นเท่ากับว่าคุณอาจจะติดสุราเข้าให้แล้ว
– ต้องการดื่มสุราเพิ่มขึ้น เพื่อให้เกิดฤทธิ์เมาเท่าเดิม
– มีอาการขาดสุรา เมื่อลดหรือหยุดดื่ม
– ดื่มสุรานานกว่าที่ตั้งใจไว้
– ไม่สามารถหยุดดื่มหรือควบคุมการดื่มได้
– ใช้เวลาส่วนใหญ่ในการหาสุรามาดื่ม หรือเพื่อให้สร่างเมา
– ต้องลดหรืองดการเข้าสังคม หรือการทำกิจกรรมอื่นๆ หรือแม้กระทั่งต้องหยุดงานเพราะใช้เวลาไปกับการดื่มสุรา
– ยังคงดื่มต่อไป แม้จะทราบว่าสุรามีโอกาสก่อหรือกระตุ้นให้เกิดปัญหาทางร่างกายหรือจิตใจที่มีอยู่แล้วให้เกิดขึ้น
ถ้าผู้ติดสุราหยุดดื่มหรือลดการดื่มลง…
สำหรับผู้ที่ติดหรือดื่มสุรามานาน หรือดื่มหลายวันจนเมาหัวราน้ำ เมื่อหยุดดื่มหรือลดปริมาณการดื่มลง จะเกิดอาการขาดสุรา โดยอาการดังกล่าวมักเกิดขึ้นหลังหยุดดื่มสุราในวันที่ 2-3 จนถึง 1 สัปดาห์
เราสามารถสังเกตอาการและแบ่งระดับการขาดสุราได้ 3 ระดับ ได้แก่
ระดับแรก เป็นอาการขาดสุราเล็กน้อย ผู้ป่วยจะมีอาการ มือสั่น หงุดหงิด วิตกกังกล (ในระดับเล็กน้อย) ปวดมึนศีรษะ เหงื่อออก เบื่ออาหาร มีความดันโลหิตสูง คลื่นไส้ อาเจียนและนอนไม่หลับ ซึ่งอาการเหล่านี้จะเกิดขึ้นหลัง 6 ชั่วโมง จนถึง 36 ชั่วโมงหลังมีการดื่มครั้งสุดท้าย
ระดับที่สอง เป็นอาการขาดสุราปานกลาง ผู้ป่วยจะมีอาการชีพจรเต้นเร็ว ความดันโลหิตสูง กระวนกระวายกระสับกระส่ายมากขึ้น (กว่าระดับแรก) เบื่ออาหาร คลื่นไส้ และอาเจียน อาการจะเกิดในช่วง 24 ชั่วโมง ถึง 72 ชั่วโมง หลังการดื่มครั้งสุดท้าย
ระดับสุดท้าย เป็นอาการขาดสุราขั้นรุนแรง ซึ่งจะมีอาการเกิดขึ้นในช่วง 48 ชั่วโมง ถึง 96 ชั่วโมงหลังการดื่มสุราครั้งสุดท้าย ผู้ป่วยจะมีภาวะสับสน วัน เวลา และ สถานที่ (Delirium Tremens) มีอาการกระสับกระส่ายอยู่นิ่งไม่ได้ สมาธิลดลง ชีพจรเต้นเร็วขึ้น มีไข้ และอาจเกิดภาพหลอน หูแว่ว ตลอดจนมีอาการหวาดระแวงรวมอยู่ด้วย
แอลกอฮอล์ทำอะไรกับร่างกายของเรา
สำหรับนักดื่มชาย การดื่มแอลกอฮอล์ทำให้เสี่ยงเป็นโรคตับ โรคหัวใจ โรคกระดูก มะเร็ง เบาหวาน ภาวะซึมเศร้า ที่สำคัญยังส่งผลต่อระดับฮอร์โมนเทสโทสเตอโรน (testosterone) หรือฮอร์โมนเพศชาย ทำให้สมรรถทางเพศเสื่อมลง การสร้างอสุจิลดน้อยลงและเติบโตได้ไม่สมบูรณ์ เคลื่อนที่ไปยังไข่ได้น้อย รวมถึงทำให้หน้าอกดูใหญ่ขึ้น ผมร่วง และเกิดโรคผิวหนังได้
ส่วนนักดื่มหญิงนั้นก็ได้รับผลกระทบไม่แพ้กัน การดื่มจะทำให้คุณผู้หญิงเสี่ยงต่อโรคกระดูกพรุน ประจำเดือนมาไม่ปกติ เข้าสู่วัยหมดประจำเดือนเร็วขึ้น ลดการหลั่งฮอร์โมนเอสโตรเจนและเพิ่มฮอร์โมนกลูโคคอร์ติคอยด์ซึ่งทำให้ระบบภูมิคุ้มกันแย่ลง มีบุตรยาก และเสี่ยงต่อการเป็นมะเร็งเต้านมเพิ่มขึ้น อีกทั้งการดื่มสุราในช่วงก่อนมีประจำเดือนหรือช่วงรับประทานยาคุมกำเนิดยังทำให้ร่างกายดูดซึมแอลกอฮอล์เร็วขึ้น จึงเกิดอาการเมาสุราได้ง่ายขึ้นอีกด้วย
นอกจากนี้ ผลร้ายของแอลกอฮอล์ที่ส่งผลต่อคนทุกเพศคือการทำให้โครงสร้างของสมองส่วนฮิปโปแคมปัสที่เกี่ยวข้องกับกระบวนการเรียนรู้ผิดปกติ ก่อให้เกิดการทำลายของตับและกระตุ้นให้ตับอักเสบชนิดซีกำเริบ เกิดโรคมะเร็งอื่นๆ มีผลเสียต่อระบบภูมิคุ้มกัน จนทำให้ผู้ติดสุรามักมีภูมิคุ้มกันบกพร่องและมีโอกาสป่วยด้วยโรคติดเชื้อได้บ่อยขึ้น
เลิกกับแอลกอฮอล์ ไม่ยากอย่างที่คิด
แม้จะมีคำกล่าวว่า ‘คนติดมักบอกว่าตัวเองไม่ติด จึงไม่ยอมเข้ารับการบำบัดรักษา’ แต่อันที่จริงแล้ว การตัดสินว่าติดหรือไม่ติดแอลกอฮอล์ขึ้นอยู่กับการวินิจฉัยของแพทย์เท่านั้น อย่างไรก็ตาม ต่อให้เป็นผู้ดื่มที่ยังไม่มีอาการติดสุรา ก็สามารถขอคำปรึกษากับแพทย์เพื่อปรับพฤติกรรมการดื่มได้เช่นกัน
ถ้าผู้ดื่มตัดสินใจจะเข้ารับการบำบัดรักษา ก็สามารถไปที่สถานพยาบาลหรือขอคำปรึกษาจากหน่วยงานต่างๆ ใกล้บ้านได้ (ดู 5 ข้อมูลหน่วยงานเพื่อคนอยากเลิกเหล้า ได้ที่นี่) และทำการคัดกรอง หากได้รับการวินิจฉัยว่ามีปัญหาในการดื่ม ผู้ป่วยอาจจะเข้าสู่กระบวนการบำบัดรักษาภาวะติดแอลกอฮอล์ในแผนกจิตเวชต่อไป
กระบวนการบำบัดแอลกอฮอล์จะแบ่งออกเป็น 2 ช่วง ช่วงแรกที่เข้ารับการบำบัดต้องมีการถอนพิษแอลกอฮอล์ (detoxification) โดยใช้ยารักษาเป็นหลัก เพื่อช่วยให้คนไข้ไม่มีอาการถอนเกิดขึ้นในช่วงหยุดดื่ม มีการรักษาบรรเทาอาการทางกาย และอาจมีการเสริมวิตามินและเกลือแร่ให้ด้วย
ต่อมาเป็นช่วงป้องกันและลดโอกาสการกลับไปดื่มซ้ำ (relapse prevention) ซึ่งจะใช้ทั้งยาและการรักษาแบบจิตสังคมบำบัด หรือการบำบัดประเภทอื่นที่เหมาะสมกับตัวผู้ป่วยเอง
ยิ่งไปกว่านั้น ระหว่างการบำบัดเลิกสุรา เราขอแนะนำให้จัดการสิ่งแวดล้อมภายในบ้านให้มีความเงียบสงบ มีแสงสว่างเพียงพอ และมีอากาศเย็นสบาย ไม่ทำให้ผู้ป่วยรู้สึกตกใจหรือหวาดกลัว เนื่องจากสิ่งแวดล้อมที่มีเสียงดังรบกวน ไม่สะดวกสบาย หรือมีสิ่งเร้ามากเกินไป เพราะนั่นอาจทำให้อาการขาดสุราทวีความรุนแรงมากขึ้น และควรมีเจ้าหน้าที่ที่มีทักษะการใช้เทคนิคการจัดการทางพฤติกรรมเพื่อบรรเทาและรักษาอาการตื่นกลัวคอยดูแลร่วมด้วย
นอกจากนี้ ถ้าผู้ป่วยมีอาการสับสน ไม่รับรู้เกี่ยวกับบุคคล เวลา และสถานที่ คนดูแลควรจำกัดการพบปะระหว่างผู้ป่วยกับบุคคลอื่น ๆ ให้เหลือน้อยที่สุด จนกว่าอาการจะทุเลาลง
หลังจากเลิกดื่มได้ เราขอแนะนำให้สานสัมพันธ์กับสิ่งใหม่ๆ กิจกรรมใหม่ๆ เช่น การออกกำลังกาย เล่นกีฬา อ่านหนังสือ ฯลฯ เพื่อให้ลืมขวดเหล้าให้หมดใจ เพียงเท่านี้ คุณก็จะสามารถตัดขาดความสัมพันธ์กับเหล้าและโรคร้ายต่างๆ ที่จะตามมาได้แล้ว
เรื่องและภาพ: ทีมงาน Alcohol Rhythm