มองเผินๆ เหล้าเบียร์ดูจะเป็นเครื่องดื่มที่หลายคนสามารถลองลิ้มชิมรส ดื่มด่ำไปกับความขมปร่า หวานล้ำ หรือเผ็ดร้อน ขึ้นอยู่กับการรังสรรค์ แต่อันที่จริงแล้ว เครื่องดื่มแอลกอฮอล์ก็คล้ายคลึงกับอาหารอื่นๆ คือ สามารถทำให้เกิดอาการแพ้แก่บางคน จนอาจเป็นอันตรายถึงชีวิต
เพื่อป้องกันภัยเงียบที่คุณเองก็อาจยังไม่รู้ตัว วันนี้ Alcohol Rhythm เปลี่ยนจังหวะชีวิตคนติดเหล้า จึงขอชวนมาทำความรู้จักอาการแพ้แอลกอฮอล์ว่าจะสังเกตได้อย่างไร จะป้องกันหรือรักษาแบบไหน และอาการที่ใกล้เคียงกันมีอะไรบ้าง คุณจะได้ไม่สับสนหากต้องเจอเข้าสักวัน
อาการแพ้แอลกอฮอล์ VS ภาวะไม่ทนต่อแอลกอฮอล์
จริงแล้วๆ ‘อาการแพ้แอลกอฮอล์ (alcohol allergy)’ ถือเป็นภาวะที่พบได้น้อยมากในคนทั่วไป โดยเกิดจากการที่ร่างกายมองว่าแอลกอฮอล์หรือส่วนประกอบที่ผสมอยู่ในแอลกอฮอล์ ไม่ว่าจะเป็น ข้าวไรย์ ข้าวสาลีข้าวบาร์เลย์ ฮอปส์ องุ่น ฯลฯ เป็นตัวอันตรายต่อร่างกาย ร่างกายจึงสร้างแอนติบอดี้ที่ชื่อ immunoglobulin E (IgE) ขึ้นมาเพื่อที่จะรับมือ โดยแอนติบอดี้ตัวนี้จะตอบสนองต่อแอลกอฮอล์รุนแรงมากผิดปกติจนทำให้เกิดอาการตั้งแต่คันตามร่างกาย หน้าบวม ร่างกายบวม คลื่นไส้ อาเจียน คัดจมูก เวียนศีรษะจนอาจจะถึงขั้นหมดสติ หรือเกิดอาการแพ้ชนิดรุนแรง (anaphylaxis) ซึ่งเป็นอันตรายต่อชีวิต ทำให้คนแพ้แอลกอฮอล์จะไม่สามารถดื่มกินได้เลย
แต่อาการหนึ่งที่คนมักสับสนและเข้าใจว่าเป็นการแพ้แอลกอฮอล์ คือ ‘ภาวะไม่ทนต่อแอลกอฮอล์ (Alcohol intolerance)’ ซึ่งเป็นอาการที่พบได้บ่อยกว่า สังเกตง่ายๆ คือ คนดื่มจะหน้าแดง ตัวรุมๆ ร้อนวูบวาบ ปวดศีรษะ อาเจียน หัวใจเต้นเร็ว
สาเหตุของภาวะไม่ทนต่อแอลกอฮอล์ คือ การที่ร่างกายย่อยแอลกอฮอล์ได้ไม่ดีเท่าที่ควร โดยเอนไซม์ Aldehyde dehydrogenase (ALDH2) หรือตัวช่วยแปลงร่างแอลกอฮอล์เป็นกรดแอซีติก (acetic acid) หรือกรดน้ำส้มทำงานไม่เต็มประสิทธิภาพ จนเกิดอาการดังกล่าว สำหรับคนเอเชียยิ่งพบภาวะนี้ได้ง่าย เพราะยีนที่เป็นรหัสของเอนไซม์ ALDH2 เกิดการเปลี่ยนแปลงจนทนต่อแอลกอฮอล์ได้น้อยกว่าคนแถบอื่นๆ ซึ่งเกี่ยวเนื่องกับการเพาะปลูกข้าวในภาคใต้ของจีนเมื่อหลายศตวรรษก่อน อ้างอิงจากหลักฐานทางวิชาการตีพิมพ์ใน BMC Evolutionary Biology ปี 2010 ว่าการเพาะปลูกดังกล่าวสร้างความเปลี่ยนแปลงให้เอนไซม์ ALDH2 ทำงานไม่มีประสิทธิภาพ
ภาวะอื่นๆ ที่คนมักเข้าใจว่าเป็นการแพ้แอลกอฮอล์
นอกจากภาวะไม่ทนต่อแอลกอฮอล์ ยังมีภาวะอื่นๆ ที่คนมักเข้าใจผิดคิดว่าเป็นการแพ้แอลกอฮอล์ เนื่องจากเกิดอาการหลังเครื่องดื่มมึนเมาไหลลงคอ เช่น ภาวะไม่ทนต่อฮีสตามีน (Histamine intolerance) ที่ปกติแล้ว ฮีสตามีนเป็นสารเคมีที่มักพบในอาหารและเครื่องดื่มหมักดอง ทำให้อาจกล่าวได้ว่าเบียร์และไวน์ — โดยเฉพาะไวน์แดงมีฮีสตามีนสูง สำหรับบางคนที่เอนไซม์ diamine oxidase (DAO) ซึ่งทำหน้าที่ย่อยสลายฮีสตามีน ทำงานได้ไม่เต็มประสิทธิภาพหรือผลิตไม่เพียงพอ เมื่อดื่มแล้วก็อาจเกิดอาการคล้ายกับอาการแพ้ อย่างคัดจมูก คันตามตัว
อีกภาวะหนึ่ง คือ ภาวะไม่ทนต่อซัลไฟต์ (Sulfite intolerance) โดยซัลไฟต์เป็นสารกันเสียชนิดหนึ่งที่มักนำมาใช้ในกระบวนการผลิตเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ อย่างเบียร์หรือไวน์ ยิ่งไวน์ขาว จะยิ่งพบซัลไฟต์มาก ซึ่งบางคนที่ไวต่อซัลไฟต์ก็อาจเกิดอาการผิดปกติกับร่างกายหลังดื่มเครื่องดื่มดังกล่าว ยิ่งไปกว่านั้น สำหรับคนที่มีโรคหอบหืดเป็นโรคประจำตัว ซัลไฟต์บางชนิดยังอาจกระตุ้นให้เกิดอาการหอบอีกด้วย
ในเคสหายาก บางคนที่ป่วยเป็นมะเร็งต่อมน้ำเหลืองชนิดฮอด์จกิน (Hodgkin’s lymphoma) มีต่อมน้ำเหลืองโตผิดปกติ ก็อาจจะพบอาการปวดหลังดื่มแอลกอฮอล์อย่างหาสาเหตุไม่ได้ จากที่ปกติ การเป็นมะเร็งต่อมน้ำเหลืองชนิดฮอด์จกินมักจะไม่เกิดอาการเจ็บปวด
ถ้ามีอาการผิดปกติหลังดื่มแอลกอฮอล์ควรทำอย่างไร
พอมาถึงบรรทัดนี้ หลายคนคงนึกย้อนไปสำรวจตัวเองว่าตอนดื่มเหล้าเรามีอาการอะไรบ้าง หากมีอาการผิดปกติหลังดื่มควรรีบปรึกษาแพทย์ เพื่อหาสาเหตุที่แท้จริงว่าเกิดจากอะไร แพทย์ผู้เชี่ยวชาญจะช่วยวินิจฉัยให้ เริ่มถามอาการจากคำถามธรรมดา ซักประวัติ หรือหากสงสัยว่ามีอาการแพ้อาจจะมีการทดสอบภูมิแพ้ทางผิวหนังด้วยวิธีสะกิด หรือ skin prick test เพิ่มเติม เพื่อดูว่าสารก่อภูมิแพ้ตัวไหนที่ทำให้ผิวหนังเราเกิดอาการแพ้ ระคายเคือง โดยขั้นตอนนี้ต้องอยู่ในความดูแลของแพทย์ผู้เชี่ยวชาญ
หากมีอาการแพ้แอลกอฮอล์จริงๆ ก็อาจจะต้องงดการดื่มเครื่องดื่มมึนเมาอย่างเด็ดขาด รวมถึงต้องปรับเปลี่ยนพฤติกรรมตัวเอง คอยเช็กว่าอาหารหรือเครื่องดื่มที่เราทานมีส่วนประกอบเป็นแอลกอฮอล์หรือไม่ เพื่อความปลอดภัย แต่หากแพ้ส่วนประกอบใดส่วนประกอบหนึ่งของแอลกอฮอล์ก็อาจจะต้องหลีกเลี่ยง และเปลี่ยนไปดื่มอย่างอื่นแทน เช่น ถ้าแพ้ข้าวบาร์เลย์ก็อาจจะเปลี่ยนมาลิ้มรสไวน์แทน ทั้งนี้อาจจะต้องปรึกษาแนวทางกับแพทย์เสียก่อน
ในเบื้องต้นสำหรับใครที่เผลอดื่มเหล้าเบียร์ไปแล้ว และมีอาการแพ้ไม่รุนแรงมาก อาจจะใช้ยาแก้แพ้ เพื่อบรรเทาอาการคัดจมูก หรือผื่นแพ้ แต่หากมีแนวโน้มที่จะรุนแรง ควรใช้ยาเอพิเนฟรีนหรือที่รู้จักกันในชื่ออะดรีนาลีนฉีดเข้าร่างกายทันที เนื่องจากอาการแพ้อาจทำให้เสียชีวิตได้ หากผู้แพ้เคยมีประวัติการแพ้อย่างรุนแรง แพทย์อาจสั่งจ่ายยาเอพิเนฟรีนในรูปแบบปากกาฉีดยาสำหรับพกพาเพื่อให้ผู้ป่วยใช้เมื่อฉุกเฉิน วิธีการฉีดยาในรูปแบบปากกาจะต้องเรียนวิธีฉีดกับบุคลากรทางการแพทย์เท่านั้น โดยหลังจากฉีดยาควรรีบไปยังโรงพยาบาลที่ใกล้ที่สุดเพื่อติดตามอาการและเข้ารับการรักษา
อย่างไรก็ดี แม้สุดท้ายร่างกายไม่มีอาการแพ้แอลกอฮอล์ หรืออาการผิดปกติใดๆ หลังดื่ม แต่การดื่มแอลกอฮอล์ในปริมาณมากก็อาจทำให้เกิดโรคต่างๆ ตามมาหรือกระทั่งอาจทำให้มึนเมาจนเกิดอุบัติเหตุ ดังนั้นการจำกัดปริมาณการดื่มให้เหมาะสมก็เป็นสิ่งที่จำเป็นไม่แพ้กัน
ที่มา:
https://www.gourmetandcuisine.com/stories/detail/490
https://www.pobpad.com/%E0%B9%81%E0%B8%9E%E0%B9%89%E0%B9%81%E0%B8%AD%E0%B8%A5%E0%B8%81%E0%B8%AD%E0%B8%AE%E0%B8%AD%E0%B8%A5%E0%B9%8C-%E0%B8%AD%E0%B8%B2%E0%B8%81%E0%B8%B2%E0%B8%A3%E0%B9%81%E0%B8%9E%E0%B9%89%E0%B9%81%E0%B8%A5
เรื่องและภาพ: ทีมงาน Alcohol Rhythm