เมื่อราวเดือนสองเดือนที่ผ่านมา เราจะเห็นว่า ภาครัฐได้ออกมาตรการหลายอย่างเพื่อยับยั้งการแพร่ระบาดของไวรัสโคโรนา ซึ่งนอกเหนือจากการประกาศปิดเมืองหรือล๊อกดาวน์แล้ว อีกนโยบายที่สำคัญและถูกกล่าวถึงมากที่สุดย่อมหนีไม่พ้นการประกาศงดขายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์จนถึงสิ้นเดือนเมษายน รวมถึงการงดตั้งวงสังสรรค์ทั้งนอกและในเคหะสถาน
ดังที่เรารับรู้กัน แม้จะนโยบายดังกล่าวจะถูกพูดถึงและวิพากษ์วิจารณ์อย่างหนัก แต่ท้ายที่สุดแล้วปรากฏว่า ยอดผู้เสียชีวิตหรือประสบอุบัติเหตุจากกรณีเมาแล้วขับลดลงอย่างมาก เช่นเดียวกันกับยอดผู้ได้รับบาดเจ็บหรือเสียชีวิตในช่วงเจ็ดวันอันตรายของเทศกาลสงกรานต์ที่ลดลงเช่นกัน แต่ขณะเดียวกัน ก็ทำให้เกิดการลอบขายแอลกอฮอล์ตามร้านขายปลีก ร้านค้าออนไลน์ หรือมีบริการขายเหล้าแบบเดลิเวอรีเพิ่มขึ้น
ทั้งหมดนี้นำมาซึ่งการพูดคุยกัน ถกเถียง และอภิปรายกันในหมู่ผู้กำหนดนโยบายและเจ้าหน้าที่ที่มีส่วนเกี่ยวข้อง ทั้งเรื่องการขายเหล้าออนไลน์หรือขายเหล้าเดลิเวอรีที่เพิ่มขึ้น รวมถึงการทำงานกับเกี่ยวกับเรื่องแอลกอฮอล์ทั้งในช่วงโควิด-19 และในช่วงหลังโรคระบาดนี้ ว่าจะเดินต่อไปในทิศทางใด
ทั้งหมดนี้นำมาสู่งานสัมมนา ‘นโยบายแอลกอฮอล์ในยุคโควิด-19’ โดยศูนย์วิจัยปัญหาสุรา ร่วมกับสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) เมื่อวันที่ 18 พฤษภาคมที่ผ่านมา โดยมี ศาสตราจารย์ ดร.พญ.สาวิตรี อัษณางค์กรชัย ผู้อำนวยการศูนย์วิจัยปัญหาสุรา หน่วยระบาดวิทยา คณะแพทยศาสตร์ ม.สงขลานครินทร์ เป็นผู้เปิดการสัมมนา ร่วมด้วย นพ.คำนวณ อึ้งชูศักดิ์ คณะกรรมการบริหารแผนคณะที่ 1 และกรรมการกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ ผศ.ดร.นพ.อุดมศักดิ์ แซ่โง้ว รักษาการผู้อำนวยการสถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์สุขภาพ สำนักวิชาแพทยศาสตร์ ม.วลัยลักษณ์ ดร. ภญ.อรทัย วลีวงศ์ สำนักงานพัฒนานโยบายสุขภาพระหว่างประเทศ นายธีระ วัชระปราณี ผู้จัดการเครือข่ายองค์กรงดเหล้า นพ.นิพนธ์ ชินานนท์เวช ผู้อำนวยการสำนักงานคณะกรรมการควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล และนายวิษณุ ศรีทะวงศ์ ผู้จัดการแผนงานพัฒนากระบวนการนโยบายสาธารณะ สำนักงานเครือข่ายองค์กรงดเหล้า
สาระสำคัญใหญ่ๆ จากงานสัมมนามีดังนี้
สถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 ในไทย และต่างประเทศ – นพ.คำนวณ อึ้งชูศักดิ์
เรื่องของโควิดมีผลเกี่ยวข้องกับการควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอลทั้งด้านที่ดีและด้านที่ท้าทาย สถานการณ์การติดเชื้อทั่วโลกตอนนี้มีผู้ติดเชื้อ 4.1 ล้านเกือบทุกประเทศ เสียชีวิตแล้ว 2.8 แสนคน โดยสถานการณ์ซีกโลกทางตะวันตกนั้นรุนแรงกว่าประเทศในตะวันออก และเกือบทุกประเทศพยายามใช้มาตรการล็อกดาวน์ และเนื่องจากเชื้อโรคแพร่ระบาดด้วยความรวดเร็ว หลายประเทศจึงตั้งตัวไม่ทัน และส่งผลให้เกิดความเสียหายทางเศรษฐกิจและสังคมอย่างมหาศาล
ขณะที่ไทยเราใช้มาตรการกึ่งล็อกดาวน์ ส่งผลให้คนตกงานราวสิบล้านคน ธุรกิจขาดสภาพคล่อง การบินไทยกำลังล้มละลาย และรัฐบาลเริ่มต้นให้มีการผ่อนปรนเป็นสี่ระยะ คือพื้นที่สีขาว เขียว เช่น ห้างสรรพสินค้าขนาดใหญ่ เหลืองและแดง สำหรับการระบาดระลอกแรกนั้นใกล้จะจบแล้ว ซึ่งเป็นไปได้ว่า อาจจะจบทั้งหมดหรือมีการระบาดระลอกที่สองและสามตามมาทีหลัง อย่างไรก็ตาม การระบาดครั้งนี้น่าจะกินเวลาราว 12 เดือนหรือถึงเดือนมิถุนายนปี 2564 ซึ่งต้องรอให้มีการผลิตวัคซีน หรือให้มีการติดเชื้อตามธรรมชาติให้ได้กว่า 60 เปอร์เซ็นต์ ซึ่งประเทศไทยมีการติดเชื้ออย่างหนักก็มีเพียง 10-15 เปอร์เซ็นต์เท่านั้น จึงยังมีคนที่พร้อมจะติดเชื้ออีกมากทีเดียว นี่จึงเป็นไปได้ยากมากที่จะหยุดการแพร่เชื้ออย่างเบ็ดเสร็จเด็ดขาด และอาจต้องยอมรับให้มีการแพร่เชื้อในระดับที่ต่ำ แต่ก็ต้องดูด้วยว่า จะปล่อยให้มีการระบาดเป็นกลุ่มก้อนในบางพื้นที่ในเวลาต่อไป หรืออาจจะปล่อยให้มีการติดเชื้อในระดับกว้างขวาง ซึ่งทางหลังนี้เป็นทางที่เราไม่ควรเลือก แต่ควรจะเลือกแบบให้มีการแพร่เชื้อในระดับต่ำเพื่อหาทางรับมือได้ทันท่วงที
ทั้งนี้ มาตรการทางสาธารณสุขในอีก 12 เดือนข้างหน้า จำต้องเพิ่มความเข้มข้นเพื่อควบคุมการแพร่ระบาด เปลี่ยนรูปแบบให้ผู้คนในสังคมปฏิบัติเพื่อป้องกันตนเองจากไวรัส เช่น สวมหน้ากาก หรือเว้นระยะห่างอย่างสม่ำเสมอ และต้องปิดแหล่งแพร่โรคที่สำคัญ เช่น สถานบันเทิง ผับ บาร์ ซึ่งนับเป็นพื้นที่กลุ่มสีแดง ต้องจัดการให้เรียบร้อยก่อนที่ พระราชกำหนดฉุกเฉินจะหมดระยะเวลาใช้ในเดือนมิถุนายนปี 2563 เนื่องจากนี่ไม่ใช่ พ.ร.ก. ที่จะใช้ได้ในระยะยาว บวกกับการเฝ้าระวัง ตรวจจับ และคาดการณ์ความรวดเร็วของการแพร่ระบาดในระดับประเทศ ส่วนตัวผมเสนอว่า หากมีการระบาดก็ต้องรีบปิดเฉพาะที่ แต่อย่าล็อกดาวน์เพราะจะทำให้เกิดความเสียหายอย่างมาก
ผลพวงของโควิดหลังประกาศ พ.ร.ก. ส่งผลให้มีการปิดสถานบันเทิงและห้ามขายแอลกอฮอล์ ซึ่งเกิดผลดีมาก ต่อมาจึงอนุญาตให้ขายได้แต่ห้ามนั่งดื่มที่ร้าน ซึ่งหลายธุรกิจก็เชิญชวนให้ดื่มที่บ้านแทน จึงนำมาสู่คำถามว่า การดื่มที่บ้านมีผลดีหรือมีผลข้างเคียงอย่างไรเมื่อเทียบกับการดื่มนอกบ้าน ส่วนตัวผมมองว่า ไม่ดื่มเลยจะดีที่สุด และเป็นที่น่าหนักใจว่ามาตรการผ่อนปรนระยะที่สี่ ซึ่งมีข้อเสนอว่า ให้มีการเปิดสถานบันเทิงปลายเดือนมิถุนายน จะกระทบต่อโควิดและการดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์หรือไม่ ตรงนี้ต้องตั้งคำถามหรือดูแนวโน้มต่อไปว่า เราจะใช้พระราชบัญญัติอื่นที่เหมาะสมเพื่อรองรับกรณีเหล่านี้หรือไม่ ต่อไปด้วย
ผลกระทบสถานการณ์โควิดที่มีต่อการควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ในไทย – ผศ.ดร.นพ.อุดมศักดิ์ แซ่โง้ว
สถานการณ์แอลกอฮอล์ก่อนหน้ามีโควิดนับจากปี 2544 ดูแนวโน้มแล้วค่อนข้างลดลงมาเรื่อยๆ โดยเพศชายลดลงเยอะกว่าเพศหญิง และกลุ่มคนอายุเยอะจะดื่มน้อยลง ขณะที่กลุ่มเยาวชนนั้นคงตัว พร้อมกันนั้น จากข้อมูลปริมาณการดื่มแอลกอฮอล์ของประชากรไทยพบว่า ปี 2561 มีอัตราการบริโภคต่ำที่สุดในรอบสิบปี และไม่มีแนวโน้มจะบริโภคเพิ่มขึ้น แต่ในช่วงโควิด เริ่มเกิดกระแสการดื่มออนไลน์ในบ้านตัวเอง หรือดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์จากเกาหลีอย่าง ‘โซจู’ ตามภาพยนตร์หรือซีรีย์ ซึ่งนับเป็นการกระตุ้นคนชนชั้นกลางซึ่งมีเวลาและกำลังทรัพย์ให้หาเครื่องดื่มตามสื่อมาดื่มบ้าง
ในกรณีของแอลกอฮอล์กับโรคปอด มีงานวิจัยว่า แอลกอฮอล์ไปทำลายกลไกในปอดด้วยการทำให้ผนังถุงลมและเม็ดเลือดขาวทำงานผิดปกติ จนไปเพิ่มอนุมูลอิสระในปอด และเพิ่มโอกาสติดเชื้อไวรัสทางเดินหายใจ ตลอดจนมีผลวิจัยว่าคนที่ดื่มแอลกอฮอล์หนักๆ มักมีภาวะทางเดินหายใจล้มเหลวแบบ ARDS มากกว่าผู้ที่ไม่ได้ดื่มแอลกอฮอล์ถึง 1.89 เท่าในกลุ่มผู้ป่วยหนัก ซึ่งภาวะ ARDS คือภาวะที่ทำให้ผู้ป่วยโควิดเสียชีวิต ดังนั้นจึงมีสมมติฐานว่า แอลกอฮอล์เป็นหนึ่งในปัจจัยเสี่ยงของผู้ป่วยโควิดที่มีอาการหนัก
อย่างไรก็ตาม ในไทยมีการแพร่ระบาดของโควิดจากวงเหล้าสองครั้งใหญ่ๆ คือที่ทองหล่อและจากกรณีคนขับรถเมล์ จนส่งให้มีผู้ป่วยเป็นวงกว้าง รัฐจึงประกาศห้ามขายแอลกอฮอล์โดยเริ่มที่จังหวัดสกลนครเป็นแห่งแรกเมื่อปลายเดือนมีนาคม และเมื่อวันที่ 10 เมษายน กรุงเทพฯ ก็ประกาศจนทุกจังหวัดตื่นตัว ก่อนที่กระทรวงมหาดไทยจะประกาศให้ทั้งประเทศห้ามขายแอลกอฮอล์เป็นเวลาราวสองสัปดาห์ ซึ่งการห้ามขายเป็นมาตรการที่องค์กรอนามัยโลก (WHO) แนะนำ เนื่องจากเป็นมาตรการที่ได้ผลและต้นทุนไม่สูง โดยเป็นการจำกัดการเข้าถึงทางกายภาพในการเข้าถึงแอลกอฮอล์ด้วยการจำกัดเวลาขาย
ภายหลังประเทศไทยห้ามขายแอลกอฮอล์ได้ราวหนึ่งสัปดาห์ มีการสำรวจประชากรราว 1,500 คน ซึ่งประชาชนส่วนใหญ่เห็นว่า แอลกอฮอล์เป็นความเสี่ยงต่อสุขภาพ ในกลุ่มที่สำรวจนี้มีคนดื่มประมาณ 40 เปอร์เซ็นต์ ในนี้ราว 81 เปอร์เซ็นต์ตอบว่าดื่มลดลงหรือไม่ได้ดื่มเลยในช่วงที่ผ่านมา เนื่องจากหาซื้อได้ยาก กลัวจะติดเชื้อ ไม่มีเงินและไม่มีเพื่อนดื่ม ตลอดจนเหตุผลเรื่องสุขภาพ ดังนั้น แปลว่าคนรับรู้ว่าแอลกอฮอล์คือความเสี่ยง แต่แน่นอนว่าคนที่ดื่มแอลกอฮอล์นั้นยังเข้าถึงแหล่งดื่มได้ โดยราว 1 ใน 3 คนตุนไว้ก่อน ขณะที่อีกส่วนหนึ่งหาซื้อได้ตามร้านขายของชำหรือผลิตเองที่บ้าน
ขณะที่ฝั่งธุรกิจ มีการเชิญชวนให้ดื่มแอลกอฮอล์ในโซเชียลมีเดีย เป็นที่น่าสังเกตว่าภายหลังโควิดระบาด มีการโพสต์กระตุ้นการขายเพิ่มขึ้นมากภายในเวลาไม่นานจนถึงวันที่ 13 เมษายนซึ่งมีการประกาศมาตรการล็อกดาวน์
อย่างไรก็ดี ถ้าพูดถึงการแบนแอลกอฮอล์ในช่วงสงกรานต์ จะเห็นว่า โดยทั่วไปมาตรการที่เริ่มใช้ในช่วงสงกรานต์ตั้งแต่ปี 2551 ค่อนข้างได้ผลดีมาโดยตลอด เนื่องจากยอดผู้เสียชีวิตจากแอลกอฮอล์ลดลง โดยเฉพาะในปีนี้ที่ลดลงมาราว 85 เปอร์เซ็นต์ สะท้อนว่ามาตรการการห้ามขายช่วยลดสาเหตุได้จริง และยังลดสัดส่วนผู้ได้รับอุบัติเหตุจากการดื่มแอลกอฮอล์จาก 30 เปอร์เซ็นต์เหลือ 12 เปอร์เซ็นต์ สำหรับมูลค่าความเสียหาย ความสูญเสียทางใจในภาพรวมที่มีสาเหตุเกี่ยวกับแอลกอฮอล์คิดเป็นมูลค่าราว 400-634 ล้านบาท
สำหรับมาตรการห้ามขายของภาครัฐ ถือว่าค่อนข้างฉุกละหุกจนประชาชนออกมาซื้อแอลกอฮอล์ตุนไว้ และเมื่อจะกลับมาเปิดขาย คนก็กลับมาซื้อตุนอีกครั้งเนื่องจากไม่มั่นใจในนโยบายของรัฐบาลที่เปลี่ยนแปลงอยู่เกือบตลอดเวลา ส่วนตัวผมคิดว่า ถ้ารัฐบาลสื่อสารได้ดีกว่านี้ สถานการณ์เช่นนี้ก็อาจจะเกิดขึ้นน้อยลง
ทั้งนี้ ธุรกิจแอลกอฮอล์พยายามใช้แพลตฟอร์มออนไลน์เพื่อเชิญชวนให้ผู้คนกลับมาดื่มอีกครั้ง รวมทั้งมีการตั้งแคมเปญจากเพจสาธารณะเพื่อสนับสนุนให้ดื่มที่บ้านอย่างรับผิดชอบเพื่อป้องกันไม่ให้รัฐบาลออกมาตรการห้ามขายแอลกอฮอล์อีก
สิ่งที่น่าสนใจคือ มีแนวคิดจากหลายเพจสาธารณะที่วิพากษ์วิจารณ์นโยบายห้ามขายแอลกอฮอล์ของภาครัฐ และแนวคิดการดื่มในไทยที่จำกัดสิทธิเสรีภาพการดื่มส่วนบุคคล เน้นการนำเสนอว่าสิ่งใดก็ตามที่เป็นพฤติกรรมส่วนบุคคลนั้น รัฐไม่ควรมายุ่งเกี่ยวโดยเฉพาะแอลกอฮอล์ซึ่งเป็นสิ่งที่ถูกกฎหมายด้วย
ทั้งนี้ แคมเปญดื่มอย่างรับผิดชอบนั้นเป็นแคมเปญที่รณรงค์โดยธุรกิจแอลกอฮอล์ทั่วโลกและถูกบรรจุเป็นยุทธศาสตร์หลักของธุรกิจ เช่น มีการกำหนดว่าต้องมีการจัดแคมเปญนี้ปีละกี่ครั้ง อย่างไรก็ตาม มีผลการวิจัยว่าแคมเปญเหล่านี้ไม่ได้ช่วยลดการดื่มหรือผลกระทบจากการดื่ม ในทางกลับกัน แคมเปญเหล่านี้ยังมีส่วนช่วยในการเพิ่มยอดขายหรือสร้างภาพลักษณ์เชิงบวกต่อธุรกิจแอลกอฮอล์ด้วย และเป็นที่น่าสังเกตว่า ข้อแนะนำเรื่องการดื่มแอลกอฮอล์ของ WHO ไม่มีคำว่าดื่มอย่างรับผิดชอบรวมอยู่ด้วย มีเพียงคำแนะนำว่าแอลกอฮอล์มีอันตรายอย่างไร
ผมคิดว่า ก่อนหน้าการระบาดของ COVID-19 พฤติกรรมการดื่มแอลกอฮอลของคนไทยค่อนข้างอยู่ตัว ในภาพรวมอาจลดลงด้วยซ้ำไป ทั้งนี้ ในช่วงที่ไวรัสระบาด แอลกอฮอล์ส่งผลให้ภูมิคุ้มกันในปอดได้รับการก่อกวน เสี่ยงต่อการเกิดระบบทางเดินหายใจล้มเหลว และมาตรการห้ามขายแอลกอฮอล์ก็ส่งผลให้ประชาชนไม่ดื่ม แม้จะยังมีการกักตุนและหาซื้อได้อยู่บ้าง แต่การใช้มาตรการอย่างไร้ความคาดหมายของรัฐก็ทำให้เกิดความวุ่นวายอยู่ประมาณหนึ่ง
ทั้งนี้ มีโอกาสอย่างมากที่ไวรัสจะระบาดรอบสอง แทนที่รัฐจะประกาศห้ามขายตลอดทั้งวัน ก็อาจเปลี่ยนเป็นจำกัดเวลาขาย เช่น ช่วงเวลา 11.00-14.00 น. ซึ่งเป็นหนทางที่ไม่ตึงและไม่หย่อนเกินไป และในระยะยาว ผับ บาร์ ควรเปลี่ยนเป็นร้านอาหารเพื่อความอยู่รอด และมีมาตรการควบคุมการขายออนไลน์ ซึ่งต้องใช้องค์ความรู้ทางกฎหมายที่ทันสมัยและเรียนรู้จากต่างประเทศมากขึ้น
สถานการณ์เด่นและบทเรียนควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ในยุคโควิด – ดร.ภญ.อรทัย วลีวงศ์
จากการแพร่ระบาดของ COVID-19 ทำให้เกิดมาตรการใหม่ๆ จากภาครัฐมากมาย เช่น การกักตัวอยู่บ้านหรือการปิดการบริการที่ไม่จำเป็น การจำกัดการเดินทางหรือการปิดโรงเรียน นโยบายเหล่านี้จะส่งผลต่อความกังวลใจ ทำให้เกิดความเครียดและเบื่อ รวมทั้งส่งผลให้คนตกงาน ว่างงาน ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจในระยะยาว
ทั้งหมดนี้ส่งผลให้เกิดความกังวลใจต่อประชาชนโดยตรง การกักตัวอยู่บ้านที่ทำให้เกิดความเบื่อจึงทำให้หลายคนหันมาดื่มแอลกอฮอล์แก้เบื่อ ประเทศไหนที่ร้านขายแอลกอฮอล์ยังเปิดอยู่ก็จะมีอัตราการดื่มเพิ่มมากขึ้น ขณะที่ความกังวลจากการว่างงานอาจทำให้ผู้คนทั้งดื่มมากขึ้นเพื่อบรรเทาความเครียดหรือดื่มน้อยลงเพราะกำลังซื้อต่ำลง ตลอดจนการกักตัวและความเครียดจากภาวะเศรษฐกิจยังก่อให้เกิดแนวโน้มการใช้ความรุนแรงในครอบครัว และแอลกอฮอล์จะเป็นตัวเร่งปฏิกิริยาเหล่านี้ จะเห็นว่า หากตัดการบริโภคแอลกอฮอล์ไปแล้วจะแก้ปัญหาในภาพรวมได้ค่อนข้างดี ซึ่งส่วนตัวเห็นว่าประเทศไทยแก้ปัญหาได้อย่างถูกจุดเป็นอันดับต้นๆ ของโลกเลยทีเดียว
เมื่อมาดูกิจกรรมการตลาดของอุตสาหกรรมแอลกอฮอล์ ในระดับนานาชาติจะมีการกระตุ้นให้กักตุนสินค้า เช่น ออกโปรเจ็กต์ใหม่ๆ หรือโฆษณาเรื่องการดื่มเหล้าออนไลน์ ตลอดจนมีการผลิตเจลล้างมือแจกจ่ายเพื่อสร้างภาพลักษณ์ให้องค์กร สถิติในออสเตรเลียบอกว่า ในช่วงการระบาดที่ผ่านมา มีการโฆษณาเกี่ยวกับแอลกอฮอล์ทั้งสิ้น 107 ชิ้นทางออนไลน์ โดยเนื้อหาส่วนใหญ่เชิญชวนให้ไปซื้อแอลกอฮอล์โดยไม่ต้องออกจากบ้าน
การเปลี่ยนแปลงนโยบายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ในช่วงโรคระบาด และปัจจัยสำคัญเกี่ยวกับแอลกอฮอล์ต่อการออกแบบนโยบายรับมือกับโรคระบาดจะขึ้นกับว่า ประเทศนั้นๆ มองแอลกอฮอล์เป็นสินค้าจำเป็นหรือไม่ หรือร้านขายแอลกอฮอล์จัดเป็นบริการจำเป็นหรือเปล่า ขึ้นอยู่กับว่าแต่ละประเทศมีคนดื่มมากน้อยเพียงใดและอิทธิพลของผู้ผลิตแอลกอฮอล์ในแต่ละประเทศจะเข้าไปแทรกแซงนโยบายได้หรือไม่ ดังนั้น จึงมีการควบคุมการดื่มทางกายภาพทั้งห้ามขายหรือจำกัดเวลาขาย เช่น บางประเทศในยุโรปจำกัดเวลาขายในช่วงเย็น เป็นต้น ในสหรัฐฯ ร้านขายแอลกอฮอล์จัดเป็นสินค้าจำเป็น แม้ในช่วงเวลาปิดเมืองก็ยังขายได้จนยอดขายแอลกอฮอล์พุ่งขึ้น ผู้คนเองก็ดื่มมากขึ้น และเมื่อมีการผ่อนปรนมาตรการล็อกดาวน์ ผู้คนก็เริ่มออกมาดื่มในที่สาธารณะ เช่นเดียวกับทางสหราชอาณาจักรที่จัดให้แอลกอฮอล์เป็นสินค้าจำเป็นจึงอนุญาตให้ขาย แต่ปิดผับ บาร์ หรือสถานที่นั่งดื่ม
ประเทศที่ใกล้เคียงกับประเทศไทยคือแอฟริกาใต้ โดยมีการจัดแอลกอฮอล์ไว้ในรายการสินค้าไม่จำเป็นและปิดการขายหรือบริการไป มีการจำกัดจำนวนลูกค้าไม่ให้เข้าไปในผับบาร์เกิน 50 คน และเปลี่ยนเวลาขายแอลกอฮอล์ เมื่อมีการปิดเมืองก็ปิดร้านค้าอย่างเข้มข้น เนื่องจากมีแนวคิดเรื่องการลดภาระจากที่เกิดจากแอลกอฮอล์เช่น ด้านความรุนแรงต่างๆ ซึ่งนโยบายห้ามขายช่วยลดการเสียชีวิตราว 15 รายต่อวันเลยทีเดียว
ขณะที่ประเทศแห่งการผลิตวอดก้าอย่างรัสเซียที่มีสถิติผู้คนดื่มมากขึ้น ก็มีการปรับกฎหมายอายุขั้นต่ำของผู้ซื้อแอลกอฮอล์ให้เพิ่มขึ้นจาก 18 ปีเป็น 21 ปี ส่วนประเทศอินเดียมีมิติการห้ามที่แตกต่างกันไป เนื่องจากเป็นประเทศที่กังวลเรื่องการสูญเสียรายได้จากการปิดร้านเหล้า จึงมีนโยบายเก็บภาษีร้านเหล้าโคโรนาไวรัส หรือให้ประชาชนไปลงทะเบียนเพื่อซื้อแอลกอฮอล์ อันจะเป็นการจำกัดจำนวนผู้คนไม่ให้แออัดในยามที่ไปซื้อแอลกอฮอล์
ถ้ามองมุมผลกระทบจากช่วงวิกฤตเศรษฐกิจ แน่นอนว่าในระยะสั้น ผู้คนจะดื่มลดลง แต่ในระยะยาวจะมีการดื่มเพิ่มขึ้น ไม่ว่าจะมาจากความกังวลเรื่องสุขภาพและความกังวลเรื่องปากท้อง ขณะที่ธุรกิจเครื่องดื่มแอลกอฮอลมีการคาดการณ์ว่าจะฟื้นตัวกลับมาได้เร็ว
สรุปแล้ว ในภาพรวมสำหรับประเทศไทย จำต้องใช้ฐานข้อมูลมากขึ้นเพื่อใช้ติดตามพฤติกรรมที่เปลี่ยนแปลง หาประชากรกลุ่มเปราะบางที่ได้รับผลกระทบมาก ซึ่งการทำฐานข้อมูลจะใช้เพื่อดูว่านโยบายที่ทำนั้นได้ผลหรือไม่ ขณะที่บทบาททางธุรกิจ อาจมีการแทรกแซงนโยบายโดยอุตสาหกรรมแอลกอฮอล์ซึ่งถือเป็นอุตสาหกรรมใหญ่ในประเทศไทย และรัฐจำเป็นต้องให้คำจำกัดความให้ชัดเจนว่าผลประโยชน์ทับซ้อนนั้นเป็นอย่างไร
โจทย์ที่สำคัญคือ เราจะยังวางตำแหน่งแอลกอฮอล์ให้เป็นสินค้าไม่จำเป็นต่อไปได้อย่างไร เพื่อให้ได้รับการยอมรับในเวลาที่รัฐออกนโยบายควบคุมการดื่ม
แนวทางปรับตัวเข้าสู่ new normal ในการควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์แบบไทยๆ – ธีระ วัชระปราณี
ที่ผ่านมา เราเจอกับวิกฤติสุขภาพนำมาสู่มาตรการล็อกดาวน์และส่งผลกระทบทางเศรษฐกิจ บวกรวมกับปัญหาภัยแล้ง การเกษตรที่เกิดขึ้นในเดือนเมษายน และตอนนี้เมื่อคลายล็อกดาวน์แล้ว ประเด็นหัวข้อทางการเมืองจึงถูกนำมาถกเถียงบ่อยขึ้น โดยเฉพาะจากนโยบายให้เงินเยียวยาของรัฐที่ไม่ตรงกลุ่มเป้าหมาย เท่ากับว่า ในเวลานี้ ประเทศไทยเผชิญหน้ากับวิกฤตเศรษฐกิจ วิกฤตสุขภาพ วิกฤตการเมืองและวิกฤตสังคม ซ้อนกันสี่วิกฤต
โดยส่วนตัว ผมเห็นโอกาสในการสร้างแรงกระตุ้นให้คนเลิกบุหรี่และเหล้าในช่วงเดือนเมษายนซึ่งมีมาตรการงดขายแอลกอฮอล์ และควรสนับสนุนให้คนเลิกแอลกอฮอล์ในระยะยาวจนถึงช่วงปลายปีซึ่งมีเทศกาลงดเหล้าเข้าพรรษา ซึ่งนับเป็น new normal ในการควบคุมแอลกอฮอล์ อย่างไรก็ดี คำว่า new normal เกิดขึ้นตลอดเวลา แต่ภาวะ COVID-19 ทำให้เกิดสิ่งใหม่ๆ เร็วขึ้นรวมถึงการควบคุมแอลกอฮอล์ที่มีความเป็นรูปธรรมมากขึ้น เช่นใน พ.ศ. 2554 ที่มีนโยบายงดเหล้าเข้าพรรษาของ สสส. และพ.ศ. 2551 ที่มีพระราชบัญญัติควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ พร้อมความท้าทายต่างๆ ในยุคก่อนโรคระบาด เช่น การเรียกร้องให้มีการจำหน่ายเบียร์หรือสุราอย่างเสรี การทำการตลาดออนไลน์ เป็นต้น
แต่เมื่อเกิดการระบาดของ COVID-19 และแอลกอฮอล์ก็มีแนวโน้มจะกลายเป็นปัจจัยหนึ่งทีก่อให้เกิดการแพร่ระบาด จึงเกิดการชะงักงันของกลุ่มธุรกิจ มีการสั่งห้ามขายแอลกอฮอล์ รวมทั้งเป็นประเด็นในสื่อ เมื่อมีผู้เสียชีวิตจากการขาดสุรา ซึ่งทางศูนย์บริหารสถานการณ์โควิด-19 (ศบค.) และกระทรวงสาธารณสุขก็ได้ออกมาให้คำแนะนำเกี่ยวกับแอลกอฮอล์
ผมมองว่านี่เป็นโอกาสที่จะเพิ่มสัดส่วนประชากรคนไม่ดื่ม:คนดื่ม เป็นจำนวน 70:30 และยังนับเป็นโอกาสสำคัญที่จะสามารถเพิ่มสัดส่วนคนที่ไม่ดื่มให้มากขึ้น เนื่องจากช่วงนี้คนดูแลสุขภาพมากขึ้น และยังมีโอกาสในการควบคุมสินค้าออนไลน์รวมทั้งเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ และโอกาสควบคุมแอลกอฮอล์ในระดับจังหวัดให้เข้มแข็งขึ้น เนื่องจากแอลกอฮอล์เป็นสาเหตุของการแพร่ระบาด พร้อมกันนี้ก็ป้องกันนักดื่มหน้าใหม่ด้วยการคิดกิจกรรมสร้างสรรค์ระหว่างการกักตัว และสุดท้ายคือการช่วยเหลือคนติดเหล้าในช่วงโรคแพร่ระบาดนี้
สำหรับประเด็นสำคัญเร่งด่วนที่ผมอยากเสนอให้มีการจัดการ คือการเสนอมาตรการเพิ่มการโฆษณาและการขายออนไลน์ เดลิเวอร์รี่, การทำ CSR และการสร้างกระแสดื่มอย่างรับผิดชอบ ซึ่งนับเป็นปัจจัยที่ยากพอสมควรเนื่องจากเป็นการสร้างภาพลักษณ์ที่ขาวสะอาดให้อุตสาหกรรม ส่วนในกรณีการห้ามขายทั้งประเทศ เราอาจจะศึกษาจากจังหวัดบุรีรัมย์ที่เป็นจังหวัดเดียวที่มีการห้ามขาย และสุดท้ายคือการงดเหล้าเข้าพรรษา ซึ่งเป็นเรื่องด่วนอันสำคัญที่ควรต้องทำ
ส่วนเรื่องสำคัญแต่ยังไม่ด่วนหรือต้องใช้เวลาระยะยาวในการจัดการ คือร่วมทำแผนปฏิบัติการควบคุมแอลกอฮอล์ระดับชาติที่สำนักควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ และทำให้เกิดแผนปฏิบัติการควบคุมแอลกอฮอล์ในระดับจังหวัด ตลอดจนการส่งเสริมกิจกรรมสร้างสรรค์เยาวชน ป้องกันให้เกิดนักดื่มหน้าใหม่และส่งเสริมการฟื้นฟูชุมชนในสถานการณ์ที่ยากลำบากทางเศรษฐกิจในชุมชน
ดังนั้น ช่วงระยะงดเหล้าเข้าพรรษาจึงนับเป็นโอกาสอันดีที่จะรณรงค์ให้มีการเลิกเหล้าในประชาชนอย่างต่อเนื่อง นับจากช่วงการแพร่ระบาดของ COVID-19
ความท้าทายและโอกาสการพัฒนาในการทำงานควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ของภาครัฐในยุคโควิด-19 – นพ.นิพนธ์ ชินานนท์เวช
การห้ามแอลกอฮอล์ในช่วงสงกรานต์เพราะ COVID-19 และการที่ผู้คนไม่เคลื่อนย้ายออกจากบ้าน เนื่องจากมาตรการล๊อกดาวน์เพราะ COVID-19 ทำให้ภาครัฐได้ประโยชน์จากเรื่องนี้ แต่ถึงอย่างนั้น ก็ยังมีรายงานคดีเมาแล้วขับเป็นระยะ เนื่องจากร้านค้าย่อยในชุมชนยังมีสินค้าในสต็อก และไม่มีเจ้าพนักงานไปไล่จับ ผู้บริโภคจึงยังหาซื้อได้ เมื่อเปิดขายแอลกอฮอล์จึงเกิดภาวะผู้คนและร้านค้าย่อย รวมถึงผู้ประกอบการมาแย่งซื้อเป็นจำนวนมาก จนสินค้าหมดทั้งแผงในเวลาอันรวดเร็ว จึงมีผู้เสนอว่า น่าจะมีการพูดถึงกฎหมายห้ามขายแอลกอฮอล์ในวันที่ 13 เมษายนอีกครั้ง
ประเด็นน่าสนใจที่เราพบจากการลงสำรวจคือ คนดื่มน้อยลงเพราะเข้าถึงสินค้าได้ยากขึ้น และส่วนใหญ่ที่ดื่มคือหาซื้อได้จากร้านค้ารายย่อยหรือร้านชำ รวมถึงมีผู้ติดสุราที่เกิดอาการลงแดงเมื่อไม่ได้ดื่มจนเกิดผลกระทบด้านสุขภาพอย่างฉับพลัน รวมไปถึงการนำยาแผนโบราณที่มีแอลกอฮอล์มาดื่มแทนด้วยการผสมกับโซดาเป็นสินค้าทดแทนเหล้าหรือเบียร์ด้วย
ดังนั้น สิ่งสำคัญคือ ทำอย่างไรให้เมื่อมีการเปิดขายแอลกอฮอล์แล้วจะไม่ทำให้คนที่เลิกเหล้าแล้วหวนกลับมาดื่มอีก เราจึงอาจจะจัดกิจกรรมที่น่าจะทำต่อเนื่อง เป็นแคมเปญชวนเชิญให้อาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน (อสม.) ชวนตัวเองและครอบครัว รวมถึงคนใกล้เคียง ลด ละ เลิก เหล้าเพื่อป้องกัน COVID-19 และเป็นการเลิกเหล้าในระยะยาว
อีกปัญหาที่เราพบคือ มีการขายออนไลน์เยอะมากจนต้องมีการดำเนินคดีเพจออนไลน์เหล่านี้ตลอด ผมเชื่อว่าทุกจังหวัดสามารถตรวจสอบเรื่องพวกนี้ได้ และเครือข่ายต่างๆ สามารถดำเนินการเรื่องการบังคับใช้กฎหมายได้ในทันที รวมถึงควรมีการเสนอกฎหมายห้ามขายออนไลน์โดยมีเป้าหมายคือให้การเลิกเหล้าในประชาชนเกิดความยั่งยืนมากขึ้น เพื่อลดอุบัติเหตุและลดการป่วยเรื้อรังของผู้คน และจัดทำแนวทางควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ในยุค COVID-19 เพื่อให้เกิดความชัดเจนในทางปฏิบัติของผู้ปฏิบัติงาน ผู้ประกอบการและประชาชน และผลักดันการออกอนุบัญญัติฯ ห้ามขายเครื่องดื่มแอลกอฮอลในลักษณะการขายออนไลน์และห้ามขายในช่วงเทศกาลด้วย
ความท้าทายและโอกาสการพัฒนาในการทำงานควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ของภาคประชาสังคมในยุคโควิด – วิษณุ ศรีทะวงศ์
ในสถานการณ์การแพร่ระบาดของ COVID-19 ทำให้เกิดมาตารการต่างๆ มากมายที่เอื้อให้กระบวนการงดเหล้าได้ผลไปด้วย แต่ถึงอย่างนั้น แม้วงสังสรรค์จะลดลง รวมถึงเหล้า บาร์ก็ปิดตามมาตรการล็อกดาวน์ แต่ในขณะเดียวกัน การขายแอลกอฮอล์ออนไลน์กลับเพิ่มมากขึ้นจนถือเป็นอีกหนึ่งประเด็นที่น่ากังวล
ในระยะแรก ทางภาคประชาสังคมมีความพยายามที่จะช่วยสนับสนุนบุคลากรทางการแพทย์ โดยหลายภาคส่วนช่วยกันทำหน้ากากผ้าและเจลล้างมือ รวมถึงระดมทุน ทรัพยากรเพื่อช่วยบุคลากรทางการแพทย์และขยับขยายไปยังอีกหลายจังหวัด ในมุมนี้ภาคประชาสังคมควรจะต้องทำอยู่เรื่อยๆ และสร้างพันธมิตรในการทำงานเพื่อป้องกันการระบาดของไวรัส เพราะเจลล้างมือยังจำเป็นอยู่แม้ในปัจจุบัน
นอกจากนี้ ยังมีมาตรการ work from home ซึ่งน่าจะอยู่กับเราไประยะยาว ซึ่งทำให้เราอยู่กับบ้านและครอบครัวได้มากขึ้น มีการทำกิจกรรมต่างๆ ในบ้าน หลายคนมีโอกาสได้อ่านหนังสือเล่มโปรด มีการปลูกผัก ซึ่งเราพบว่าร้านขายวัสดุอุปกรณ์การเกษตรคึกคักขึ้นอย่างมาก เครือข่ายงดเหล้าในภาคเหนือก็มีการชวนเยาวชนไปเรียนรู้กระบวนการปลูกผัก ไปลงพื้นที่ และยังมีกิจกรรมซ่อมแซม ต่อเติมบ้านเพื่อหลีกเลี่ยงวงเหล้า ตลอดจนกิจกรรมทำอาหารด้วยเมนูต่างๆ หรือเรียนคอร์สอบรมออนไลน์เพื่อพัฒนาตัวเอง โดยเฉพาะเยาวชนที่โรงเรียนยังไม่เปิด ก็ลงทะเบียนเรียนออนไลน์กิจกรรมต่างๆ เช่น กีตาร์ หรือตัดต่อวิดีโอ
เราจึงอาจมองได้ว่า ในช่วงกักตัวและทำงานที่บ้าน ผู้คนมีกิจกรรมให้ทำมากขึ้น การตั้งวงดื่มเหล้าจึงลดลง แต่ปัญหาหนึ่งที่เราเจอคือ การส่งเสริมการขายแอลกอฮอล์ออนไลน์ ซึ่งกิจกรรมการส่งเสริมการขายของธุรกิจเหล้าเป็นเสมือนพาหะสำคัญที่อาจทำให้การระบาดเกิดขึ้นมาอีกรอบได้ จึงจำเป็นต้องมีการเฝ้าระวังอย่างใกล้ชิด
อย่างไรก็ตาม มี new normal หรือความปกติรูปแบบใหม่คือ นักดื่มหน้าใหม่ไม่ดื่มแอลกอฮอล์เลยเนื่องจากสนใจกิจกรรมอย่างอื่นมากกว่า เช่น การพัฒนาตนเองหรือศักยภาพ ขณะที่นักดื่มตามโอกาสเพื่อเข้าสังคมก็ลดปริมาณการดื่ม เรื่องจากไม่มีวงสังสรรค์และไม่มีร้านค้าเปิด ส่วนนักดื่มประจำนั้นลดปริมาณและความถี่ในการดื่ม อาจจะมีการสั่งซื้อทางออนไลน์หรือเดลิเวอร์รี่บ้างตามโอกาสซึ่งหาได้ยากขึ้น ส่วนนักดื่มหนักหรือมีภาวะติดสุราเรื้อรังก็ต้องเข้าระบบบำบัด ซึ่งต้องช่วยกันดูแลต่อไป
เราทราบกันดีว่า สังคมไทยมีงานบุญประเพณีค่อนข้างเยอะ แต่ด้วยการแพร่ระบาดของ COVID-19 ทำให้ปีนี้คงต้องยกเลิกงานใหญ่ๆ เพื่อปรับตัวในช่วงโรคระบาด เช่น งานสงกรานต์ เหลือเพียงกิจกรรมชุมชนเล็กๆ เช่น ทำข้าวแช่หรืองานบุญงานบวชหรืองานศพเท่านั้น ขณะที่งานเทศกาลอาหาร งานถนนคนเดินก็มีการปรับตัวด้วยการจัดเสวนาออนไลน์หรือหามาตรการแนวทางสู้ COVID-19
ดังนั้น ภาคประชาสังคมจึงยังต้องร่วมมือกันดำเนินนโยบายเหล่านี้อย่างต่อเนื่อง สร้างความตระหนักรู้เรื่องสุขภาพต่อประชาชน ฟื้นฟูความทุกข์ยาก และช่วยเหลือประชาชนที่ตกทุกข์ได้ยาก อันเป็นเรื่องทางโครงสร้างที่จะต้องขับเคลื่อนต่อไป
เรื่อง: ทีมงาน Alcohol Rhythm
ภาพ: เมธิชัย เตียวนะ (The101.world)