ก่อนหน้าที่จะมีการระดมฉีดวัคซีนขนานใหญ่ สหราชอาณาจักรเป็นหนึ่งประเทศที่ต้องเผชิญหน้ากับการแพร่ระบาดอย่างรุนแรงของโควิด-19 ทำให้ต้องมีมาตรการล็อกดาวน์อย่างเข้มข้น เพื่อยับยั้งการระบาดของโควิด-19 แน่นอนว่าการที่ผู้คนต้องอยู่ในบ้านและปรับเปลี่ยนการใช้ชีวิตไปโดยสิ้นเชิงทำให้เกิดความรู้สึกที่หลากหลายกันออกไป บางคนอาจสุข บางคนอาจเศร้า โดยเฉพาะอย่างยิ่งผู้ติดเหล้า ที่ต้องประคับประคองตนเองด้วยการบำบัด และได้รับกำลังใจจากการพบปะผู้คนในแต่ละวัน
มองมุมหนึ่ง การ stay at home เป็นเรื่องที่เข้าใจได้ แต่อย่าลืมว่าในชีวิตจริงยังมีเรื่องเล่าและความจริงของคนติดเหล้าซ่อนอยู่หลังกำแพง
วันก่อนติดเหล้ามักเป็นวันธรรมดาวันหนึ่ง
‘ขอให้เป็นปีที่ดี’ เป็นคำอวยพรที่หลายคนหวังสุดใจให้เกิดขึ้นจริง ซึ่งก็ไม่ต่างกับ คริส แม็คโลน (Chris McLone) ชายวัยกลางคนอายุ 40 ปี ที่มีสุขภาพแข็งแรง และกำลังมีความสุขกับชีวิตผู้จัดการฝ่ายขาย กล่าวได้ว่าครึ่งชีวิตที่ผ่านมาของคริสก่อนล็อกดาวน์ เขาเป็นคนชอบเข้าสังคม ไม่ว่าจะเที่ยวกลางคืนหรือเตะบอล เฉกเช่นกับการทำกิจกรรมของคนทั่วๆ ไป
และแน่นอน คริสไม่ได้ปฏิเสธว่าแอลกอฮอล์เป็นส่วนหนึ่งของชีวิต แต่มันก็ไม่เคยสร้างปัญหาให้เขาเลย ดังที่คริสอธิบายว่า “ผมดื่มเหล้าแบบไม่ได้กำหนดอะไร บางคร้ังก็ดื่มเล็กน้อย บางครั้งก็ดื่มมาก และความเมาก็สร้างความสุขให้ผมด้วย”
ทว่าในช่วงสัปดาห์ก่อนล็อกดาวน์ ความเปลี่ยนแปลงเกิดขึ้นกับคริส ผู้อาศัยอยู่ที่ทีไซด์ (Teesside) เมืองทางเหนือของประเทศอังกฤษ จากคนที่เคยสนุกสนานกับการดื่มแอลกอฮอล์ กลับกลายเป็นคนที่ทุกข์เพราะต้องการดื่มแอลกอฮอล์ที่มากผิดปกติ ทั้งความโดดเดี่ยวจากการที่ลูกสาวย้ายออกไปอยู่ที่อื่นเพื่อปกป้องคริส ผสานด้วยความวิตกกังวลกับอนาคตอันใกล้ที่ไม่แน่นอน กลายเป็นความคิดที่วนเวียนและตามหลอกหลอนเขา และนั่นเป็นสาเหตุหลักๆ ของความต้องการเหล้าที่เพิ่มขึ้น
และเมื่อหลายสัปดาห์ผ่านไป การดื่มของคริสก็ทวีความรุนแรงขึ้นเช่นกัน
“ผมสัญญากับตัวเองว่าจะไม่ดื่มในวันพรุ่งนี้ แต่เช้าวันถัดไปผมก็ทำแบบเดิม และเหตุการณ์เช่นนั้นเกิดขึ้นซ้ำ ๆ ในทุกวัน”
อย่างไรก็ดี คริสไม่อยากผิดสัญญากับตัวเองอีกแล้ว เขาจึงตัดสินใจครั้งใหญ่เข้ารับการรักษา และด้วยความช่วยเหลือและกำลังใจที่ดีจากครอบครัว ผสมกับความตั้งใจของเขาเอง คริสไม่ดื่มมากว่า 70 วันแล้ว
ปีศาจในตัวของคริสพักผ่อนและอีกไม่นานคงจากไป
“เหตุการณ์ที่เคยเกิดขึ้นกับผมมันช่างมืดมน สยดสยอง แต่เวลานี้ผมอธิบายไม่ได้เลยว่าผมรู้สึกดีขนาดไหนที่หลุดพ้นมาได้” คริสทิ้งท้าย
สู้ไปด้วยกัน แม้วันที่ติดเหล้า
“ตอนที่เขาไม่ดื่มเหล้า เขาเป็นคนใจดี ตลก และรักฉัน แต่ทันทีที่เขาเริ่มดื่ม การกระทำของเขาก็เปลี่ยนไปอย่างสิ้นเชิงจนเหมือนไม่ใช่คนเดิม” ซูซาน (Susan) เริ่มเล่าถึงสามีของเธอที่ติดเหล้า ทั้งคู่อาศัยอยู่ในบ้านเล็กๆ ที่เมืองบาซิลดอน (Basildon) ซึ่งในช่วงล็อกดาวน์ที่ผ่านมา สามีวัยกลางคนของซูซานนั่งดื่มไวน์ จากขวดเดียวเป็นสองขวด และเพิ่มเป็นหกขวด จนถึงกับอาเจียนออกมา
เหตุการณ์ครั้งนั้นทำให้ซูซานต้องโทรเรียกรถพยาบาล แพทย์ทำการรักษาสามีเธออยู่ 1 เดือนซึ่งเป็นช่วงเวลาที่เขาไม่ได้แตะแอลกอฮอล์สักหยด แต่เพียงไม่นาน สามีของซูซานก็กลับไปดื่มอีกครั้ง และทำให้เธอต้องปรับตัวครั้งยิ่งใหญ่เช่นกัน ซูซานเล่าว่า เธอต้องเตรียมพื้นที่ในบ้านไม่ให้มีของมีคมหลงเหลืออยู่ เผื่อว่าสามีของเธอเกิดเมาหรือหมดสติ เหมือนเป็นพื้นที่สำหรับการดูแลเด็กอ่อนอย่างไรอย่างนั้น
มีครั้งหนึ่งที่ตำรวจมาบ้านของทั้งคู่ เพียงเพราะสามีซูซานเรียกรถพยาบาลให้มารับเขา แต่คนรับโทรศัพท์ได้ยินเสียงตะกุกตะกักที่มาจากความเมาของสามีเธอ จึงรีบโทรหาตำรวจ
“ฉันไม่สามารถควบคุมการดื่มของเขาได้” ซูซานครวญ แต่เธอก็ยืนยันว่า จะไม่ทิ้งสามีเพราะเขาป่วยจากเหล้าอย่างแน่นอน
“เราอยู่ด้วยกันมา 19 ปี และแน่นอนว่าจะมีปีที่ 20 21 22 และอีกหลายปีต่อๆ ไป”
“ชีวิตอยู่ข้างนอก แต่ในนี้มีเพียงคุกที่ขังฉันไว้กับเหล้า”
“ตอนล็อกดาวน์ ฉันคิดว่าเราทั้งหมดกำลังจะตายเลยเลือกที่จะดื่มเป็นอาทิตย์ๆ ” เทรซี่ (Tracy) จากเชล์มสฟอร์ด (Chelmsford) เริ่มเล่า โดยในช่วงล็อกดาวน์ เธอได้ซื้อไวน์หกขวด วอดก้าและบรั่นดีอย่างละขวดมาตระเตรียมไว้ แต่ถึงจะเตรียมไว้เยอะขนาดนี้ เทรซี่กลับสารภาพว่า เธอต้องปิดจมูกเพราะไม่ได้อยากได้กลิ่นเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ และเธอก็ไม่ชอบรสชาติของมันเสียด้วยซ้ำ แต่เลือกที่จะดื่มเพื่อให้ลืมเรื่องราวทุกอย่าง เพราะการล็อกดาวน์ทำให้เธอไม่มีทางไหน แม้กระทั่งเข้าโบสถ์ที่อยู่ข้างบ้าน
“ข้างนอกนั่นมีความหวัง และฉันเชื่อว่าชีวิตของฉันรออยู่ข้างนอก แต่ในนี้มีเพียงคุกที่ขังฉันเอาไว้ให้อยู่แค่กับเหล้า”
เมื่อล็อกดาวน์ เราทุกคนต้องแยกออกจากกัน และนั่นเป็นสิ่งเลวร้ายที่เกิดขึ้นกับคนบางกลุ่ม โดยเฉพาะอย่างยิ่งผู้ป่วยติดเหล้า ติดยาเสพติด หรือแม้แต่ผู้มีปัญหาสุขภาพจิต อย่างไรก็ดี เทรซี่พยายามอย่างยิ่งที่จะพาตัวเองกลับเข้าสู่ชีวิตก่อนหน้านี้ ตอนนี้เธอไม่ดื่มมาเกือบ 60 วันแล้ว โดยเธอกล่าวว่า “ฉันยังซึมเศร้าอยู่ แต่ฉันก็ไม่อยากจากโลกนี้ไปเหมือนกัน”
เพราะการอยู่บ้านคนเดียวเป็นระยะเวลาค่อนข้างนานทำให้อาจเกิดปัญหาทางด้านจิตใจ ซึ่งจะนำไปสู่การดื่มได้ เทรซี่จึงต้องพึ่งการพูดคุยกับเพื่อนๆ การบำบัดออนไลน์ผ่านกลุ่มผู้ติดสุรานิรนาม (AA ) รวมถึงการอ่านหนังสือ
“ขอบคุณพระเจ้าที่ห้องสมุดยังเปิดให้บริการ” เธอทิ้งท้าย
ล็อกดาวน์ = ล็อกใจ
ประสบการณ์การติดเหล้าและยาเสพติดเริ่มตั้งแต่โจเซฟ แฮร์ริงตัน (Joseph Harrington) ยังเป็นวัยรุ่น
“ผมมักมีอาการถอนเหล้าในทุกๆ เช้าเมื่อตื่นนอนหรือหลับๆ ตื่นๆ ช่วงกลางคืน”
ณ เมืองเอสเซกซ์ (Essex) โจเซฟผู้ที่ป่วยอยู่ตลอดเวลามีอาการทั้งคัน มีไข้ ประสาทหลอน บางวันเขาเห็นแสงจ้าๆ รอบการมองเห็น และไม่กี่วินาทีต่อจากนั้นเขาก็หมดสติ
เมื่อโจเซฟอายุ 29 ปี เขาจึงตัดสินใจเข้ารับการรักษาอย่างจริงจัง และถูกวินิจฉัยว่าด้านหลังของสมองเขาเป็นแผล ส่งผลกับเปลือกสมอง ซึ่งเป็นสาเหตุของอาการชักและเดินไม่ได้ โจเซฟต้องใช้ชีวิตบนรถเข็นเรื่อยมา จนปัจจุบันย่างเข้าอายุ 31 ปี
“ผมพบว่าการต้องใช้ชีวิตโดดเดี่ยว ติดอยู่ในบ้านขณะล็อกดาวน์เป็นเรื่องยากเหลือเกิน สุขภาพจิตผมก็ไม่ค่อยดีด้วย”
สำหรับโจเซฟ การไม่สามารถออกจากบ้านหมายถึงการที่ไม่สามารถติดต่อสื่อสารกับใคร ทำให้ขาดแรงกำลังใจที่จะผ่านเข้ามาด้วย ประกอบกับหลายสถานที่ปิดตัว ทำให้เขาบอกว่าตนเอง ‘กลัวจับใจ’ ที่ไม่ได้เห็นหน้าผู้คน
ตอนนี้โจเซฟหวังเพียงว่า เขาจะรู้สึกปลอดภัยจากโรคระบาดในเร็ววัน และสถานที่ที่คุ้นเคยจะเปิดและกลับมาโอบกอดเขาอีกครั้ง
ทุกๆ วันคือวันศุกร์
เรื่องราวของทั้ง 4 คนไม่ใช่เรื่องแปลกใหม่ เพราะยังมีผู้คนที่ต้องเผชิญสถานการณ์เดียวกันนี้มากมาย
“ผมรับฟังเรื่องราวของคนไข้ผมหลายต่อหลายคน” ดร.นายแพทย์ ร็อบ แฮมป์ตัน (GP Dr Rob Hampton) ผู้เชี่ยวชาญด้านการบริการเสพติดเกริ่น “ช่วงอาทิตย์ก่อนล็อกดาวน์ พวกเขาใช้ชีวิตในแต่ละวันได้อย่างดีเยี่ยม แต่เพียงให้หลัง 3 สัปดาห์ ตำแหน่งนักดื่มตัวยงก็เข้ามาเกาะกินจนกลายเป็นคนติดเหล้าในที่สุด ทำให้ต้องเข้ารับการรักษาในเวลาต่อมา”
ร็อบกล่าวต่อว่า การล็อกดาวน์ทำให้ทุกอย่างที่พวกเขาเคยทำหยุดลง บางคนอธิบายอย่างชัดเจนว่า สถานการณ์ตอนนี้ทำให้ทุกวันเป็นเหมือนวันศุกร์ ไม่มีเหตุผลที่จะต้องตื่นเช้า ส่วนความเครียดที่ไม่เข้าใครออกใครรอเคาะอยู่หน้าประตูตลอดเวลาล็อกดาวน์ ทั้งด้วยความโดดเดี่ยว ความไม่มั่นคงในการทำงาน และความไม่แน่นอนในอนาคต
บางคนอาจจะมองว่าการล็อกดาวน์เหมือนได้เวลาพักผ่อน ช่วยให้มีสมาธิหรือวางแผนกับการทำงานมากขึ้น แต่กับบางคนไม่ใช่แบบนั้น ยิ่งถ้าพวกเขามีลูกที่ต้องเรียนออนไลน์ที่บ้านด้วยแล้วล่ะก็ การล็อกดาวน์ก็อาจจะเป็นช่วงเวลาที่ทุกข์ทรมานที่สุดช่วงหนึ่งก็ได้ และนั่นทำให้หลายคนอดไม่ไหวที่จะหันไปหาเหล้าย้อมใจ
กลยุทธ์ควบคุมการดื่มแอลกอฮอล์-เข้ารับการรักษา: ทางออกช่วยคนติดเหล้า?
นับตั้งแต่อังกฤษเริ่มมีการล็อกดาวน์ มีการโทรไปยังสายด่วนมากเพิ่มขึ้นถึง 500% เพราะผู้คนพบว่าพฤติกรรมการดื่มของพวกเขามากขึ้นจนควบคุมไม่ได้ ส่วนการตายที่เกี่ยวข้องกับการป่วยจากโรคตับก็สูงถึงประมาณ 400% ซึ่งเป็นสิ่งที่เกิดตามมาหลังการดื่มที่เพิ่มขึ้น
วาเนสซ่า เฮปดิทช์ (Vanessa Hebditch) ผู้อำนวยการด้านนโยบายขององค์กรการกุศลทางการแพทย์ในการใช้แอลกอฮอล์ผิดปกติชี้ให้เห็นว่า การล็อกดาวน์เป็นสัญญาณเตือนถึงความต้องการกลยุทธ์ควบคุมการดื่มแอลกอฮอล์ที่เหมาะสมจากรัฐบาล ซึ่งสำหรับวาเนสซ่า กลยุทธ์ที่ว่าหมายถึงการเพิ่มภาษี การแนะนำส่วนผสม ราคาต่อหน่วยขั้นต่ำ รวมถึงการโฆษณาและการตลาดต่าง ๆ
“ฉันรู้สึกเหมือนจะบ้าตายตอนที่ฉันซื้อนมสักกล่องและได้รับข้อมูลทางโภชนาการอย่างครบถ้วน แต่ตัดภาพมาที่เวลาซื้อเบียร์หรือไวน์ กลับไม่มีข้อมูลแบบนี้ระบุไว้เลย” วาเนสซ่าครวญ และแม้การตัดไฟตั้งแต่ต้นลมอาจจะเป็นเรื่องที่ดี แต่ก็เป็นเรื่องที่ต้องติดตามกันต่อไปเช่นกัน
และสำหรับใครกำลังพบว่าตัวเองติดเหล้า หรือมีปัญหากับการดื่มแอลกอฮอล์ต่างๆ หนทางที่ช่วยแก้ไขเบื้องต้น โดยไม่ต้องคำนึงถึงถูกหรือผิด อาจจะเพียงการลองเปิดใจยอมรับว่าตัวเองเจ็บ/ป่วย แล้วตัดสินใจเข้ารับการรักษาโดยทันทีก็เป็นได้
ที่มา:
Alcoholism in the time of coronavirus
Coronavirus: ‘I became alcoholic during lockdown’
เรื่องและภาพ: ทีมงาน Alcohol Rhythm