ถ้าคุณสมบัติสำคัญของนักวิ่งมาราธอนคือความทรหดอดทนเพื่อเข้าสู่เส้นชัย ผู้ติดสุราก็อาจเทียบได้ไม่ต่างกัน
เมื่อเริ่มต้นลงสนาม ‘ลด ละ เลิก’ เหล้า เส้นทางอาจยาวนานและเต็มไปด้วยอุปสรรค หลายคนล้มลุกคลุกคลาน ล้มเหลวครึ่งทาง ถึงขั้นล้มเลิกความตั้งใจไปกลางคัน เพราะรู้สึกว่าเลิกได้ยาก เครียดมาก และท้อใจ นี่ไม่ใช่สิ่งแปลกใหม่สำหรับคนอยากเลิกเหล้า ใครหลายคนต่างพบเจอและวนเวียนอยู่กับมัน – แต่คำถามสำคัญคือจะทำอย่างไรให้นักวิ่งมาราธอนเหล่านี้อดทนต่ออาการต่างๆ ที่ตามมาได้ทั้งกายและใจ สามารถใช้เวลาฟื้นฟูสุขภาพได้โดยไม่กลับไปดื่มซ้ำระหว่างนั้น
คำตอบที่เราได้จากชุมชนหนึ่งในจังหวัดสุรินทร์คือ การสนับสนุนจากครอบครัว ชุมชน วัด และโรงพยาบาลประสานเข้าด้วยกัน
ชาวสุรินทร์มักขึ้นชื่อเป็นนักดื่มตัวยง เพราะบริบททางสังคมวัฒนธรรมเอื้อให้คนเข้าถึงเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ได้ง่าย เช่น มีพิธีกรรมความเชื่อเกี่ยวกับการดื่ม การเซ่นไหว้ด้วยเหล้า เป็นต้น จังหวัดแห่งนี้ – รวมถึงชุมชนที่เราได้ไปสัมผัสจึงมี ‘อดีต’ นักดื่มมากมาย
พวกเขาล้มลุกคลุกคลานบนเส้นทางเลิกลดการดื่มเช่นเดียวกับคนอื่นๆ แต่ที่ต่างออกไป คือพวกเขายืนอยู่บนจุดเริ่มต้นได้โดยการสนับสนุนจากครอบครัว เมื่อเริ่มออกวิ่ง ก็ได้รับกำลังใจจากคนในชุมชน มีเจ้าหน้าที่อาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน (อสม.) และเจ้าหน้าที่ในโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล (รพ.สต.) ให้คำแนะนำเกี่ยวกับการรักษา ทั้งในโรงพยาบาลและโดยเฉพาะอย่างยิ่ง ในวัด ที่เป็นจุดรวมใจ ยึดเหนี่ยวจิตใจในช่วงกำลังเลิก รวมถึงหลังเลิกเหล้า
เรื่องราวต่อไปนี้แสดงให้เห็นความเชื่อมโยงผูกพันระหว่างคน-ครอบครัวและสังคม คน-ระบบสาธารณสุข และคน-สถาบันทางศาสนา ที่ถ้าทุกฝ่ายร่วมมือแก้ไขปัญหาผู้ติดสุราด้วยกัน จะทำให้ใครหลายคนไปถึงเส้นชัยได้ในที่สุด
1.ป้านวล (นามสมมติ) วัยเกือบ 60 ปี เล่าย้อนอดีตว่าเธอเริ่มดื่มเหล้าหลังคลอดลูกคนแรก เพราะเชื่อว่ามีสรรพคุณบำรุงร่างกาย ทำให้กินข้าวได้อร่อยและมีน้ำนมให้ลูก จนรู้ตัวอีกทีก็กินข้าวไม่ได้หากขาดเหล้าแกล้ม ซ้ำร้าย เมื่อเธอมีปัญหากับสามี ความทุกข์ใจก็ยิ่งผลักให้ป้านวลพึ่งพาเหล้ามากขึ้นเรื่อยๆ จนมีอาการติดเหล้าสาหัสถึงขั้นรับประทานอาหารอื่นๆ ไม่ได้ สุขภาพกายทรุดโทรมลงอย่างมาก
ป้านวลพยายามเลิกเหล้าด้วยตัวเองหลายครั้งและล้มเหลวเรื่อยมา ทว่า ด้วยกำลังใจจากบุตรหลานที่ทั้งติและปลอบโดยไม่ทอดทิ้งกัน ทำให้สุดท้าย ป้านวลก็เลิกได้อย่างถาวร และหันมาเข้าวัดทำบุญเป็นเนืองนิจแทน
2.หลวงพี่หนุ่ม (นามสมมติ) วัย 40 กว่า เคยทำอาชีพช่างปีนเสาสัญญาณโทรศัพท์และมีความสุขอยู่กับน้ำเมามาเนิ่นนานตั้งแต่อายุ 20 ต้นๆ จนกระทั่งเขารู้สึกว่าร่างกายไม่อาจทนทานกับพิษสุรา เห็นได้จากอาการแสบร้อนข้างในตัวทุกครั้งที่ดื่ม จึงพยายามลดเหล้า ละการดื่มช่วงเข้าพรรษา เพื่อที่จะเลิกให้ได้สักวัน
แต่เขาก็ผ่านความล้มเหลวมาบ่อยครั้งเช่นกัน เพราะเพื่อนๆ ของเขานั้นมักเชิญชวนมาร่วมวงเหล้าโดยที่เขาไม่อาจปฏิเสธได้ เพื่อหลีกหนีอย่างเด็ดขาด หนุ่มจึงเลือกบวชกลายเป็นหลวงพี่หนุ่ม ใช้ธรรมะช่วยฟื้นฟูกายใจ จนบัดนี้สามารถเลิกได้ 3 ปีแล้ว
3.เหล้าแก้วแรกของป้านิ่ม (นามสมมติ) มีสาเหตุมาจากความเครียด เธอเป็นแม่ของลูกสาวลูกชายจำนวน 6 คน โดยในอดีต ป้านิ่มเคยทำแท้งลูกมาก่อนด้วยความจำเป็น และความเสียใจทำให้เธอเลือกใช้เหล้าเป็นตัวระบายทุกข์ จมจ่อมอยู่กับน้ำเมาจนกลายเป็นคนโมโหร้าย ใช้เงินมือเติบหมดไปกับสุราวันละหลายกลม กระทั่งแทบหมดตัว เธอจึงพยายามเลิกเหล้าเพื่อเป็นแม่ที่ดีกว่านี้ให้ลูกหลาน อยากมีเงินให้ครอบครัวกินอยู่สบาย ไม่ต้องกู้ยืมใคร
ทุกวันนี้ป้านิ่มเลิกดื่มอย่างเด็ดขาด ขยันทำงาน เข้าวัดสวดมนต์ เป็นที่นับหน้าถือตาของคนในชุมชนและเป็นแม่ที่ลูกๆ รักใคร่อบอุ่น
4.จิบแรกของลุงเพชร (นามสมมติ) เริ่มต้นตอน 7 ขวบเพราะมีผู้ใหญ่ชักชวน หลังจากนั้นเขาก็ดื่มเป็นพักๆ ตามโอกาสสังสรรค์กับเพื่อนร่วมงาน เฉลิมฉลองวาระสำคัญ แม้ไม่บ่อยมาก แต่เขาก็ยอมรับว่าทุกครั้งถือคติ ‘ไม่เมาไม่เลิก’
จุดเปลี่ยนของลุงเพชรคือประสบอุบัติเหตุทางรถยนต์ ถูกคนเมาขับรถชนเมื่อสามปีก่อน ชั่ววินาทีที่เขาคิดว่าแย่แน่ ลุงเพชรกลับรอดมาได้โดยปราศจากแผลสาหัส เขาจึงตั้งใจเลิกเหล้าเพื่อถวายเป็นพุทธบูชาแก่สิ่งศักดิ์สิทธิ์ต่างๆ ที่คุ้มครองเขาในวันนั้น
ตอนนี้ ลุงเพชรเลิกดื่ม และหันกลับมาทำหน้าที่ช่วยเหลือ ให้คำแนะนำแก่คนที่อยากเลิกเหล้าคนอื่นๆ ในชุมชนตนเองและข้างเคียงอย่างแข็งขัน
5.ลุงบุญมี (นามสมมติ) มีประสบการณ์การดื่มโชกโชนมากว่า 20 ปี เครื่องดื่มโปรดของเขาคือเบียร์เย็นๆ แกล้มข้าว ดื่มแทบทุกวันวันละ 3-4 ขวด โดยที่เขาอ้างว่าไม่เคยมีอาการผิดปกติร้ายแรงอะไรให้น่าหนักใจ แต่ครอบครัวก็เป็นกังวลถึงร่างกายและนิสัยรักการดื่มของเขาอยู่เสมอ
เมื่อลูกสาวของเขาไปเรียนที่กรุงเทพฯ แล้วพลาดพลั้งตั้งครรภ์กลับมาบ้าน ความเสียใจทำให้ลุงบุญมีดื่มหนักยิ่งขึ้น แต่แอลกอฮอล์ก็ไม่ทำให้ความเศร้าหายไป ลุงบุญมีจึงหันมาพึ่งธรรมะเยียวยาใจ ในวัดนี้เองที่ทำให้เขาได้สติกลับมาตั้งหลักใหม่ ตั้งใจเลิกดื่มเพื่อเปลี่ยนตัวเองมาเป็นคุณพ่อและคุณปู่ที่คอยดูแลลูกหลานอย่างมีสติครบถ้วนทุกๆ วัน
6.หนึ่งในคนทำงาน อสม. ของชุมชนแห่งนี้ มองว่า การมีวัดและโรงพยาบาลที่ดีในชุมชนคือจุดเริ่มต้นสำคัญของคนเลิกเหล้า เพราะส่วนใหญ่คนดื่มควรได้รับการคัดกรองจากแพทย์ว่ามีอาการติดสุราหรือไม่ อาการอยู่ในระดับไหน และควรบำบัดแบบใด อสม. จะเป็นตัวกลางประสานระหว่างผู้ดื่มในชุมชนและบุคลากรในโรงพยาบาล จากนั้นเมื่อได้รับการรักษาจนอาการดีขึ้น ได้คำแนะนำเรื่องการปฏิบัติตนจากแพทย์ วัดจะเป็นสถานที่รับช่วงต่อให้ผู้ดื่มเข้ามาเยียวยาจิตใจด้วยธรรมะ
ถ้าผนวกเข้ากับกำลังใจจากคนในครอบครัว และชุมชนช่วยกันเปลี่ยนให้สภาพแวดล้อมดีขึ้น ไม่ตีตราคนติดเหล้า ก็จะทำให้คนเคยมีปัญหาการดื่ม ลด ละ เลิกไปได้ในที่สุด
7.ด้านความเห็นจากเจ้าหน้าที่จากโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล (รพ.สต.) คือ การเข้าใจบริบทชุมชนว่าวัดเป็นศูนย์กลางของชาวบ้านนั้นสำคัญ เพราะนั่นจะทำให้คนทำงานสาธารณสุขในพื้นที่เลือกปรับเปลี่ยนกลยุทธ์ส่งเสริมสุขภาพ หรือเลือกสถานที่จัดกิจกรรมที่เข้าถึงชาวบ้านได้อย่างมีประสิทธิภาพ
อย่างไรก็ตาม การสนับสนุนให้คนเลิกติดเหล้าเป็นหน้าที่ร่วมกันของทุกฝ่าย ทั้งระดับครอบครัว ชุมชน สาธารณสุข ไปจนถึงระดับรัฐ ถ้าเราไม่สามารถห้ามไม่ให้มีสุราได้ ภาครัฐและส่วนราชการก็ควรขับเคลื่อนเรื่องนโยบายการบำบัดสุรา การจำหน่ายและควบคุมราคาสุรา รวมถึงเรื่องอัตราภาษีที่เหมาะสมด้วย
เรื่องและภาพ: ทีมงาน Alcohol Rhythm