ในวันที่เรานั่งดื่มเบียร์ท่ามกลางบรรยากาศเหงาๆ ในห้องสี่เหลี่ยม หรือในวันที่ยิ้มกว้างพลางดื่มเหล้าฉลองเรื่องน่ายินดีกับคนคุ้นเคย อาจจะเป็นวันเดียวกันที่คุณค้นพบอาการแปลกๆ เหล่านี้ในร่างกายของตัวเอง
ปวดหัว เหนื่อยล้า เคลื่อนไหวช้า สับสนมึนงง และรู้สึกอยากอาเจียน
แม้จะเป็นอาการที่ดูเหมือนไข้หวัดหรือผลข้างเคียงจากการดื่มธรรมดา แต่รู้หรือไม่ว่า สัญญาณดังกล่าวอาจบ่งบอกว่าร่างกายคุณเกิดภาวะเลือดเป็นกรดเพราะดื่มหนักเกินไป!
ภาวะที่ว่าคืออะไร เกี่ยวข้องกับการดื่มแอลกอฮอล์อย่างไร วันนี้ Alcohol Rythm เปลี่ยนจังหวะชีวิตคนติดเหล้า ชวนคุณมาเติมความรู้ เพื่อเฝ้าสังเกตสุขภาพของตนเอง และรักษาได้ทันท่วงทีก่อนที่ร่างกายจะแบกรับภาระหนักจากฤทธิ์แอลกอฮอล์
รู้จัก ‘ภาวะเลือดเป็นกรด’ จากการดื่มแอลกอฮอล์
โดยปกติ การทำงานของเซลล์ในร่างกายต้องการพลังงานจากกลูโคสหรือน้ำตาล ผ่านการย่อยสลายด้วยอินซูลินที่ผลิตจากตับอ่อน แต่เมื่อคุณดื่มแอลกอฮอล์ ตับอ่อนจะหยุดผลิตอินซูลินชั่วคราว ส่งผลให้ไม่สามารถเผาผลาญกลูโคสส่งเป็นพลังงานให้แก่เซลล์ได้
ร่างกายที่ต้องหาแหล่งพลังงานใหม่ จึงเริ่มเผาผลาญไขมันที่สะสมไว้ และผลพลอยได้ที่แฝงมาด้วย คือ การเกิดคีโตน ซึ่งถ้าสะสมในกระแสเลือดมากขึ้นเรื่อยๆ อาจเกิดภาวะคุกคามถึงชีวิตที่เรียกว่า ‘ภาวะเลือดเป็นกรด’
อันที่จริง ภาวะเลือดเป็นกรด หรือ ภาวะเลือดเป็นกรดจากการเผาผลาญ เกิดขึ้นเมื่อใครสักคนรับประทานอะไรบางอย่าง แล้วสิ่งเหล่านั้นเปลี่ยนสภาพหรือถูกเผาผลาญให้กลายเป็นกรด ภาวะดังกล่าว นอกจากเกิดจากร่างกายไม่ผลิตอินซูลินเพราะการดื่มแอลกอฮอล์ ยังสามารถเกิดได้จากหลายสาเหตุ เช่น
– การรับประทานแอสไพรินมากเกินไป
– อาการช็อก
– โรคไต
– กระบวนการเผาผลาญที่ผิดปกติ
และนอกจากภาวะเลือดเป็นกรดโดยทั่วไปแล้ว ยังมีภาวะเลือดเป็นกรดประเภทอื่นๆ ได้แก่
– Alcoholic Ketoacidosis ภาวะเลือดเป็นกรดจากการดื่มเหล้า ซึ่งมีสาเหตุมาจากการดื่มสุรามากเกินไป
– Diabetic Ketoacidosis (DKA) ภาวะระดับน้ำตาลในเลือดสูงร่วมกับภาวะเลือดเป็นกรด ซึ่งพัฒนามาจากผู้ป่วยที่เป็นเบาหวานประเภทที่ 1 (ตับไม่สามารถสร้างอินซูลินได้)
– Starvation Ketoacidosis ซึ่งมักจะพบมากในหญิงตั้งครรภ์ ในช่วงไตรมาสที่ 3 (28 สัปดาห์ขึ้นไป) และมีประสบการณ์กับการอาเจียนที่มากเกินไป
ภาวะเหล่านี้จะเพิ่มปริมาณของกรดในระบบร่างกาย อีกทั้งยังลดปริมาณของอินซูลินที่จะต้องถูกนำไปใช้ในการสลายเซลล์ไขมันและการผลิตคีโตน
ดื่มมากไป ทำให้เป็น Alcoholic Ketoacidosis
ภาวะเลือดเป็นกรดจากการดื่มเหล้า (Alcoholic Ketoacidosis) สามารถก่อตัวขึ้นเมื่อบริโภคเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ในปริมาณมากเกินไปเป็นระยะเวลานาน การดื่มแอลกอฮอล์ที่มากเกินไปมักทำให้เกิดการขาดสารอาหาร เพราะนักดื่มตัวยงอาจมีพฤติกรรมการกินที่ไม่ปกติ เกิดอาการอาเจียนซึ่งเป็นผลมาจากการดื่มที่มากเกินไป หรือกินอาหารไม่เพียงพอ ซึ่งพฤติกรรมเหล่านี้สามารถลดการผลิตอินซูลินได้
ผู้ป่วยติดสุราที่มีอาการขาดสารอาหาร จึงเสี่ยงเป็นภาวะเลือดเป็นกรดจากการดื่มเหล้าได้ง่าย อาการของภาวะเลือดเป็นกรดอาจเกิดขึ้นในวันใดวันหนึ่งหลังจากที่ดื่มเหล้าอย่างหนัก ขึ้นอยู่กับภาวะโภชนาการ สุขภาพโดยรวม และปริมาณของแอลกอฮอล์ที่ดื่มเข้าไป
ส่องอาการของภาวะเลือดเป็นกรดจากการดื่มเหล้า
อาการของภาวะเลือดเป็นกรดจากการดื่มเหล้าเกิดขึ้นได้หลากหลายขึ้นอยู่กับปริมาณการดื่มแอลกอฮอล์ และระดับของคีโตนในเลือด โดยอาการทั่วไปที่สามารถพบได้ในภาวะเลือดเป็นกรดจากการดื่มเหล้า ได้แก่
– อาการปวดท้อง
– อาการสับสน
– อาการตื่นตัวลดลง/ ภาวะโคม่า (ไม่รู้ตัว)
– เหนื่อยล้า
– เคลื่อนไหวช้า
– อาการหายใจผิดปกติ ลึกและเร็ว (ลักษณะอาการของ Kussmaul)
– ไม่มีความอยากอาหาร
– คลื่นไส้ อาเจียน
– มีอาการของการขาดน้ำ เช่น เวียนหัว กระหายน้ำ
ถ้าหากมีอาการเหล่านี้ ควรรีบปรึกษาแพทย์ เพราะภาวะเลือดเป็นกรดจากการดื่มเหล้า เป็นอาการเจ็บป่วยที่รุนแรงต่อชีวิต
บางรายที่มีภาวะเลือดเป็นกรดจากการดื่มเหล้า มักมีโรคอื่นๆ ที่เกิดจากดื่มแอลกอฮอล์รวมอยู่ด้วย เช่น
– ตับอ่อนอักเสบ
– โรคตับ
– โรคไต
– ภาวะเป็นพิษจาก ethylene glycogen
อาการเหล่านี้จะต้องถูกตัดออกก่อนที่แพทย์จะวินิจฉัยว่าผู้ป่วยมีภาวะเลือดเป็นกรดจากการดื่มเหล้า
แพทย์วินิจฉัยภาวะเลือดเป็นกรดจากการดื่มเหล้าได้อย่างไร?
ถ้าหากมีอาการคล้ายภาวะเลือดเป็นกรดจากการดื่มเหล้า เบื้องต้น แพทย์จะทำการตรวจร่างกาย ซักถามเกี่ยวกับประวัติสุขภาพ การบริโภคแอลกอฮอล์ และถ้าแพทย์สงสัยว่าเข้าข่าย จะเริ่มทำการทดสอบเพิ่มเติม เพื่อดูเงื่อนไข/อาการอื่นๆ ที่เป็นไปได้ อย่าง
– การทดสอบน้ำย่อย (amylase & lipase) เพื่อดูการทำงานของตับและตับอ่อน
– การตรวจแก๊สจากหลอดเลือดแดง (arterial blood gas test) เพื่อวัดระดับออกซิเจน และความสมดุลระหว่าง กรด-เบส
– การคำนวน anion gap (การวัดความแตกต่างระหว่างระหว่างประจุบวกและประจุลบภายในร่างกาย)
– วัดแอลกอฮอล์ในเลือด
– blood chemistry panel (สารเคมีในเลือด) เพื่อดูการเผาผลาญและการทำงานว่าสามารถทำงานได้ปกติ/ดีแค่ไหน
– ทดสอบน้ำตาลในเลือด
– การทดสอบยูเรียไนโตรเจนในเลือด (blood urea nitrogen) และ ครีเอทินีน (creatinine) เพื่อตรวจสอบการทำงานของไต
– วัดระดับแลคเตทในเลือด (serum lactate test) เพื่อตรวจสอบระดับแลคเตทในเลือด (ระดับแลคเตทสูง อาจเป็นสัญญาณของภาวะกรดแลคติก ซึ่งมักบ่งชี้ว่าเซลล์และเนื้อเยื่อของร่างกายไม่ได้รับออกซิเจนเพียงพอ อธิบายอย่างง่ายๆ ก็คือ เวลาที่ร่างกายได้รับออกซิเจนไม่เพียงพอ ร่างกายจะหลั่งกรดแลคเตทออกมา เหมือนเวลาออกกำลังกาย กล้ามเนื้อไม่มีออกซิเจนใช้เพียงพอ ก็จะหลังกรดแลคเตท แล้วเราก็จะปวดกล้ามเนื้อ)
– ทดสอบยูเรีย เพื่อวัดคีโตน
หลังจากนั้นจึงสามารถวินิจฉัยได้ว่า มีภาวะเลือดเป็นกรดจริงหรือไม่ และหากระดับน้ำตาลในเลือดสูงขึ้น แพทย์จะทำการทดสอบฮีโมโกลบินร่วมด้วย ซึ่งจะทำให้ทราบข้อมูลเกี่ยวกับระดับน้ำตาล พร้อมพิจารณาว่าเป็นเบาหวานหรือไม่ ถ้าใช่ ก็อาจต้องรักษาเพิ่มเติมเป็นรายกรณี
รักษาภาวะเลือดเป็นกรดจากการดื่มเหล้าได้อย่างไร?
การรักษาภาวะเลือดเป็นกรดจากการดื่มเหล้านั้น โดยทั่วไปจะได้รับการดูแลในห้องฉุกเฉิน แพทย์จะทำการตรวจสอบสัญญาณชีพจร อัตราการเต้นของหัวใจ ความดัน และการหายใจ ให้ของเหลวผ่านทางหลอดเลือดดำ และอาจได้รับวิตามินหรือสารอาหารเพื่อช่วยรักษาภาวะทุพโภชนาการ ได้แก่
– ไทอามีน (thiamine)
– โพแทสเซียม (potassium)
– ฟอสฟอรัส (phosphorus)
– แมกนีเซียม (magnesium)
แพทย์อาจจะส่งตัวผู้ป่วยเข้ารักษาใน ICU ถ้าหากต้องการที่จะรักษาภาวะดังกล่าวนี้ต่อ ระยะเวลาที่จะพักฟื้นในโรงพยาบาลขึ้นอยู่กับว่าภาวะเลือดเป็นกรดนั้นรุนแรงแค่ไหน และยังขึ้นอยู่กับระยะเวลาที่จะต้องใช้ในการฟื้นฟูร่างกายพ้นจากขีดอันตรายและกลับมาเป็นปกติ อย่างไรก็ตาม ถ้ามีอาการแทรกซ้อนในระหว่างที่ได้รับการรักษา ก็จะส่งผลต่อระยะเวลาในการพักฟื้นที่โรงพยาบาลด้วย
เตือนอีกนิด! อาการแทรกซ้อนของภาวะเลือดเป็นกรดจากแอลกอฮอล์
หนึ่งในเรื่องที่เป็นปัญหาของภาวะแทรกซ้อนจากการดื่มเหล้า คือ การถอนแอลกอฮอล์ โดยถ้าเป็นผู้ป่วยติดสุราเรื้อรัง แพทย์อาจต้องเฝ้าดูอาการอย่างใกล้ชิด นอกจากนี้ภาวะเลือดเป็นกรดจากการดื่มเหล้า อาจทำให้เกิดเลือดออกในระบบทางเดินอาหาร และอาการแทรกซ้อนอื่นๆ ได้แก่
– อาการทางจิต
– อาการโคม่า
– ตับอ่อนอักเสบ
– โรคปอดอักเสบ
– Encephalopathy (โรคทางสมอง ที่ทำให้สูญเสียความทรงจำ, บุคลิกภาพเปลี่ยน, กล้ามเนื้อกระตุก)
อย่างไรก็ตาม เราทุกคนสามารถป้องกันการเกิดภาวะเลือดเป็นกรดได้ โดยการจำกัดปริมาณแอลกอฮอล์ที่บริโภค และถ้าหากคุณ หรือคนใกล้ตัวของคุณ ติดแอลกอฮอล์งอมแงม ก็ควรเริ่มมองหาคำปรึกษาจากผู้เชี่ยวชาญด้านการแพทย์ หมอ พยาบาล รวมถึงเริ่มต้นวางแผนลดการดื่มลงสักนิด เพื่อลดความเสี่ยงต่อสุขภาพตนเอง
ที่มา :
Alcoholic Ketoacidosis
https://www.healthline.com/health/alcoholism/ketoacidosis?fbclid=IwAR2DRLwR2jnfWPjlSbOlE0FM9HwckIG83efq87CBgp3NeWr9VuJAKLFNOJc
เรื่องและภาพ: ทีมงาน Alcohol Rhythm