“การกำหนดนโยบายของภาครัฐไม่ว่าหน่วยงานไหนหรือเรื่องอะไรก็ตามควรจะยึดโยงกับข้อค้นพบที่แท้จริง”
ข้างต้นคือข้อเสนอเกี่ยวกับการกำหนดนโยบายเลิกเหล้าของ ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.ธวัชชัย อภิเดชกุล รองคณบดีสำนักวิชาวิทยาศาสตร์สุขภาพ มหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวง
ในฐานะนักวิชาการในพื้นที่ซึ่งทำงานวิจัยเกี่ยวกับพี่น้องกลุ่มชาติพันธุ์มานานนับสิบปี โดยเฉพาะพี่น้องชาวอาข่าและลาหู่ ซึ่งส่วนใหญ่อาศัยอยู่ในพื้นที่จังหวัดเชียงราย ธวัชชัยย้ำชัดว่า หากจะแก้ปัญหาการดื่มเหล้าในกลุ่มชาติพันธุ์ เราจำเป็นที่เราต้องเข้าใจ ‘ข้อค้นพบที่แท้จริง’ เหล่านั้นเสียก่อน
เพราะสำหรับธวัชชัย การดื่มเหล้าเป็นเพียงยอดภูเขาน้ำแข็งโดยมีฐานมาจากความเชื่อและความแร้นแค้นในชีวิต การจะเริ่มทำความเข้าใจปัญหาการดื่มเหล้าในกลุ่มชาติพันธุ์จึงต้องเข้าใจฐานของภูเขาน้ำแข็งเสียก่อน
2 ปัจจัย 1 จุดเปลี่ยน – ภาพกว้างของวิวัฒนาการการดื่มเหล้าในกลุ่มชาติพันธุ์
“ปัจจัยทางสังคมวัฒนธรรมเป็นเรื่องสำคัญ โดยเฉพาะพิธีกรรมทางศาสนา ซึ่งจะเกี่ยวโยงกับการดื่มสุราด้วย แต่ส่วนใหญ่มักจะเกิดขึ้นในกลุ่มผู้สูงวัย”
ธวัชชัยอธิบายเพิ่มเติมว่า การจัดพิธีกรรมซึ่งมีส่วนประกอบสำคัญคือ สุราหรือเหล้า คือจุดเริ่มต้นของการดื่มสุรา ซึ่งในแต่ละรอบปี ทั้งชาวลาหู่และชาวอาข่าจะมีพิธีกรรมหลากหลายรูปแบบ แต่ในทุก ๆ รูปแบบจะเกี่ยวโยงกับการใช้เหล้าเสมอ (อ่านเพิ่มเติม : สำรวจความสัมพันธ์ของชาติพันธุ์ พิธีกรรมกับความเมามาย)
และใช่ มันเป็นปัจจัยหลักที่ทำให้คนติดสุรา
แต่อีกหนึ่งข้อค้นพบในฐานะนักวิจัยในพื้นที่ ธวัชชัยพบว่า ‘ความแร้นแค้น’ เป็นสิ่งกระตุ้นให้วัฒนธรรมการดื่มเหล้ายังคงอยู่ในหมู่ชาวชาติพันธุ์
“การที่ครอบครัวไม่สามารถหาเงินได้เพียงพอกับการดำรงชีวิตทำให้เกิดความแตกแยกขึ้น ระหว่างสามีภรรยา ส่วนคนในครอบครัวก็พูดคุยกันได้ไม่สนุก ตรงนี้ทำให้ผมมองเห็นได้ชัดเจนเลยว่า ทำไมชาวอาข่าหรือลาหู่จึงดื่มเหล้า”
ถ้าพูดให้ชัดเจน เราจะเห็นภาพความรุนแรงจากการดื่มเหล้า หรือแม้แต่การเริ่มต้นดื่มเหล้าได้บ่อยในกลุ่มชาติพันธุ์ที่มีรายได้น้อย และจะเจอน้อยลงในกลุุ่มชาติพันธุ์ที่มีรายได้มากขึ้น โดยในที่นี้ ชาวลาหู่เป็นกลุ่มชาติพันธุ์ที่มีรายได้น้อยกว่ากลุ่มอื่น รองลงมาคือชาวอาข่า
เมื่อเป็นเช่นนี้ เราจึงมักจะพบภาพของการดื่มเหล้าในกลุ่มชาวลาหู่ได้ทั่วไป ไม่ว่าจะในผู้ชายหรือผู้หญิง แต่ในกลุ่มชาวอาข่า ภาพเหล่านี้จะปรากฏในหมู่ผู้ชายมากกว่า ซึ่งส่วนหนึ่งมาจากโครงสร้างสังคมชายเป็นใหญ่ ซึ่งธวัชชัยสรุปว่า การที่ผู้ชายออกไปกินเหล้าหรือเที่ยวข้างนอกไม่ถือว่าเป็นความผิดในมุมมองของชาวอาข่า แต่ไม่ใช่สำหรับผู้หญิง
อย่างไรก็ตาม ธวัชชัยสรุปว่า การดื่มสุรากับปัจจัยด้านเศรษฐกิจเกี่ยวข้องกันอย่างไม่ต้องสงสัย ถ้าพูดให้ชัดขึ้น เราอาจพูดได้ว่า ความเชื่อเป็นฉากหลัง โดยมีความแร้นแค้นเป็นปัจจัยหนุนเสริม แต่จุดเปลี่ยนในกลุ่มชาวอาข่าอย่างหนึ่งที่ต้องพูดถึงอย่างเลี่ยงไม่ได้คือ ศาสนา
“ถ้าเราเห็นผู้หญิงชาวอาข่าในหมู่บ้านหนึ่งกำลังดื่มเหล้า เราสามารถสันนิษฐานได้เลยว่า เขานับถือศาสนาคริสต์และต้องเป็นนิกายคาทอลิกด้วย”
แต่เดิม ชาวอาข่านับถือศาสนาดั้งเดิมตามบรรพบุรุษ ซึ่งผู้หญิงจะไม่นิยมกินเหล้า แต่ชาวอาข่าหลายกลุ่ม หลายหมู่บ้าน เปลี่ยนจากศาสนาดั้งเดิมมานับถือศาสนาคริสต์ ซึ่งแบ่งเป็นนิกายโปรเตสแตนต์และนิกายคาทอลิก จากการทำงานวิจัยของธวัชชัยพบว่า กลุ่มนิกายโปรเตสแตนต์จะไม่ดื่มเหล้า แต่จะพบการดื่มเหล้าได้ในกลุ่มนิกายคาทอลิก
ทว่าไม่ว่าจะเป็นความเชื่อ ความแร้นแค้น หรือปัจจัยอื่นใดอีกหลายอย่างที่ทำให้การดื่มเหล้ากลายเป็นภาพที่พบเห็นได้อย่างทั่วไป แต่ผลพวงที่ร้ายกาจที่สุดจากการดื่มเหล้าคือ ความรุนแรงในครอบครัว ซึ่งถูกทำให้เป็น ‘เรื่องปกติ’
“เราพบว่าเด็กผู้หญิงอายุต่ำกว่า 14 ปีและผู้ที่อายุเกิน 60 ปี ล้วนได้รับผลกระทบจากผู้ดื่มสุราทั้งสิ้น เช่น ผู้สูงอายุจะโดนไล่ออกจากบ้าน เด็กจะโดนบังคับให้ดื่มเหล้า ไปยืมของไปซื้อของ ถ้าเป็นผู้หญิงก็จะโดนทุบตีและคุกคามทางเพศ ซึ่งภาพเหล่านี้จะเจอได้ทั้งในชนเผ่าอาข่าและลาหู่”
อีกภาพที่ธวัชชัยได้จากการสัมภาษณ์เชิงลึกคือ อุบัติเหตุที่เกิดจากการดื่มสุรา ซึ่งร้ายแรงขนาดที่บางรายถึงขั้นเป็นอัมพฤกษ์อัมพาต แต่สิ่งเหล่านี้ก็ยังคงถูกมองเป็น ‘เรื่องปกติ’
“ภาพความรุนแรงหรือผลกระทบจากการดื่มสุราเป็นภาพจากฝั่งนักวิชาการ แต่ในภาพของประชาชนกลับไม่ค่อยเห็นภาพความรุนแรงที่เกิดขึ้น หรือไม่ได้เข้าใจเลยว่าการดื่มสุราจะมีผลกระทบต่อเขาอย่างไร”
เหตุผลเพราะมีกำแพงบางอย่างซึ่งปิดกั้นพวกเขาเอาไว้
3 ตัวละคร กับ กำแพงที่มองไม่เห็น: นโยบายไม่สอดรับ – นักวิจัยไร้ทุน – พลเมืองชั้นสาม
หากเราถอยออกมาจากปัญหาแล้วกวาดสายตามองทั้งหน้ากระดาน เราจะพบตัวละครสำคัญในเรื่องนี้ ทั้งตัวรัฐซึ่งเป็นผู้ออกนโยบาย ตัวนักวิจัยในฐานะผู้ค้นหาข้อเท็จจริง และกลุ่มพี่น้องชาติพันธุ์ในฐานะพลเมืองชั้นสาม ซึ่งธวัชชัยอธิบายว่า:
“หน่วยงานของรัฐไม่เคยเปิดใจพูดถึงประเด็นปัญหาของกลุ่มประชากรนี้ เขาไม่ได้ให้ความสนใจและความสำคัญเลย รัฐมองว่าปัญหาสุราและอุบัติเหตุเกิดขึ้นทั่วประเทศและเป็นปัญหาใหญ่ในทุกกลุ่ม ดังนั้น กลุ่มประชากรชาติพันธุ์จึงไม่ได้รับความสนใจในเรื่องนี้”
เรื่องการดื่มเหล้าของกลุ่มชาติพันธุ์จึงกลายเป็นปัญหารองทันที เพราะปัญหาแรกคือเรื่องความเป็นอยู่ สถานภาพทางเศรษฐกิจ ครอบครัว และทักษะการมีชีวิตครอบครัว แต่แท้จริงแล้ว ปัญหาเรื่องการดื่มสุราของชนชาติพันธุ์ โดยเฉพาะกลุ่มชนเผ่าอาข่าและลาหู่ เป็นปัญหาใหญ่มากและเป็นแหล่งของปัญหาทุก ๆ เรื่อง
ในฝั่งนักวิจัย ธวัชชัยเล่าว่ามีหลายครั้งที่นักวิจัยพยายามทำโครงการ แต่โครงการเหล่านี้ไม่เคยได้รับความสนใจจากเจ้าของทุนมากเท่าที่ควร รวมถึงหลายโครงการที่ได้รับทุนก็จำเพาะเจาะจงไปที่เรื่องรูปแบบและพฤติกรรมการดื่มเหล้า แต่ไม่เคยมีงานวิจัยชิ้นไหนที่พูดถึงผลกระทบจากการดื่มเหล้าในกลุ่มพี่น้องชาติพันธุ์เลย
“ประเด็นที่ 3 คือ กลุ่มชาติพันธุ์ไม่เคยถูกมองว่าเป็นคนไทย เขาไม่เคยถูกยอมรับว่าเป็นพลเมืองไทย พวกเขาเป็นแค่พลเมืองรอง”
แม้เราจะถกเถียงได้ว่าขอบเขตความรู้และความเข้าใจเกี่ยวกับกลุ่มชาติพันธ์ุในประเทศไทยเปลี่ยนแปลงไปในทางที่ดีมากขึ้น แต่ก็ปฏิเสธไม่ได้ว่า พวกเขายังคงถูกตีตราว่าเป็นกลุ่มผู้สร้างปัญหาหรือเป็นกลุ่มผู้ค้ายา สิ่งเหล่านี้ยิ่งกดทับให้พวกเขาไม่มีพลังในการบอกเล่าหรือเรียกร้อง เพราะปัจจัยทั้งทางเศรษฐกิจ สังคม และการศึกษา ทำให้ธวัชชัยมองว่า คนกลุ่มนี้ถูก “มองข้ามไปหมด”
แค่การใช้ชีวิตให้อยู่รอดยังเป็นเรื่องยาก การเข้าถึงความรู้ การสาธารณสุข หรือแม้กระทั่งการบำบัด จึงเป็นเรื่องที่แทบเป็นไปไม่ได้ อีกทั้งกลุ่มชาติพันธุ์ยังต้องเจอกับกำแพงที่สูงที่สุดคือ ‘กำแพงภาษา’
“คนอายุ 30-40 ปีขึ้นไป เขียนหนังสือไม่ได้ อ่านหนังสือไม่ออก ทั้งหมดนี้ทำให้เขาเข้าถึงสิ่งเหล่านี้ได้น้อย เราลองจินตนาการดูสิว่า ถ้าเราเขียนหนังสือไม่ได้หรืออ่านหนังสือไม่ออก เราจะรับข้อมูลข่าวสารจากหน่วยงานรัฐหรือภาคสาธารณสุขได้อย่างไร มันแทบเป็นไปไม่ได้เลย”
นี่นำมาสู่คำถามชวนคิดของธวัชชัยว่า เมื่อเป็นเช่นนี้แล้ว กลุ่มพี่น้องชาติพันธุ์จะเข้าใจเรื่องผลกระทบจากการดื่มเหล้าได้หรือไม่ ซึ่งคำตอบของเขาคือ ไม่ได้ ที่ผ่านมา ก็มีกรณีที่คนหัวใจวายซึ่งเป็นผลพวงมาจากการดื่มเหล้าด้วย แต่พวกเขาก็อาจจะไม่เข้าใจ และเชื่อว่าเป็นผลมาจากสิ่งลี้ลับมากกว่า
“ผมรู้สึกว่า กระบวนการเกิดปัญหาใด ๆ ของชนชาติพันธุ์มักจะไม่ค่อยซับซ้อนเหมือนคนข้างล่าง เพียงแต่เราไม่เคยคิดจะเข้าไปทำความเข้าใจและเริ่มต้นแก้ปัญหาในกลุ่มชาติพันธุ์เองมากกว่า ดังนั้น ผู้ที่ทำงานด้านนโยบายและกลุ่มนักวิจัยต้องลงมือเข้าไปทำงานในพื้นที่อย่างจริงจัง”
ข้อเสนอแรกของธวัชชัยคือ การเริ่มต้นจากการค้นหาความจริง โดยการทำวิจัยเพิ่มเติมเพื่อค้นหาข้อมูลให้ได้มากพอ ขณะเดียวกัน ระหว่างทำงานวิจัยก็ต้องเริ่มคิดด้วยว่า เราจะแก้ไขปัญหานี้ได้อย่างไร ซึ่งเขามองว่า นี่คือสิ่งสำคัญที่สุดในเชิงวิชาการ เพราะกลุ่มชาติพันธุ์มีสังคมวัฒนธรรมรวมและภาษาที่แตกต่างกันออกไป จุดเริ่มต้นที่ดีที่สุดจึงเป็นการค้นคว้าวิจัยอย่างจริงจัง ค้นหาปัจจัยและองค์ประกอบที่เกี่ยวข้องในทุกมิติ การร่างนโยบายจึงจะดำเนินการได้
ทั้งนี้ ธวัชชัยทิ้งท้ายว่า:
“ทุกครั้งที่เราตั้งนโยบายของภาครัฐ ไม่ว่าหน่วยงานไหนหรือเรื่องอะไรก็ตาม ควรจะยึดโยงกับข้อค้นพบที่แท้จริง”
เรื่อง: ทีมงาน Alcohol Rhythm
ภาพ: ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.ธวัชชัย อภิเดชกุล