มองคนติดสุราอย่างเข้าใจ: เมื่ออุปสรรคการเข้าถึงระบบบำบัดผู้ติดสุราซับซ้อนกว่าที่คิด

July 16, 2020


รายงานล่าสุดของกรมสุขภาพจิตปี 2556 ระบุว่า ประชากรไทยป่วยเป็นโรคติดสุราเรื้อรัง จำนวน 2,749,024 คน แต่เข้ารับการบำบัดเพียง 4 หมื่นกว่าคน หรือคิดเป็นร้อยละ 1.6 ของผู้ติดสุราเรื้อรังทั้งหมด

ต่อมา ข้อมูลจาก พญ.พันธุ์นภา กิตติรัตนไพบูลย์ ผู้อำนวยการสำนักบริหารระบบบริการสุขภาพจิต ตามที่ได้เปิดเผยกับสื่อมวลชนเมื่อเดือนกันยายน 2561 ชี้ว่า ประชากรไทยมีปัญหาการดื่มสุรา 5 ล้านคน ในจำนวนนี้เป็นโรคติดสุรา 3 ล้านคน แต่ขอเข้ารับการบำบัดในสถานพยาบาลเพียงร้อยละ 6 หรือราว 180,000 คน

แม้จำนวนผู้เข้ารับการบำบัดจะแลดูเหมือนเพิ่มสูงขึ้น แต่ก็ยังไม่อาจเรียกได้ว่าครอบคลุม สะท้อนว่าการเข้าถึงการบำบัดผู้ติดสุราอาจไม่ใช่เรื่องง่ายเหมือนปอกกล้วย ตรงกันข้าม กลับซับซ้อนจนทำให้ประชากรไทยบางส่วนยังคงสถานะติดสุรา และต้องพบกับปัญหาการดำเนินชีวิตต่อตัวเองและครอบครัว 

ทำไมถึงเป็นเช่นนั้น Alcohol Rhythm เปลี่ยนจังหวะชีวิตคนติดเหล้า ชวนทุกคนไปสำรวจอุปสรรคการเข้าถึงการบำบัดผู้ติดสุรา ซึ่งเป็นชนวนเหตุทำให้นักดื่มหลายๆ คนเมินการรักษา ผ่านงานวิจัย “Barriers To Alcohol Addiction Treatment In Women And Men Experiencing Alcohol Addiction In A Thai Context” ปี 2016 ของกุลนรี หาญพัฒนชัยกูร 

 

อุปสรรคระดับบุคคล : 

ขาดความตระหนักในการดื่มและมองคุณค่าทางเพศไม่เท่ากัน

 

‘ผู้ชายและผู้หญิงไม่ได้ตระหนักถึงปัญหาการดื่ม’ คือเหตุผลสำคัญข้อแรกๆ ที่ทำให้คนเมินเฉยต่อการบำบัด

จากงานวิจัย อุปสรรคต่อการรักษาสารเสพติดในชนบทประชากรของอินเดียของ Barman และคณะ กับงานวิจัยบุคคลและอุปสรรคของการรักษาแอลกอฮอล์ของ Saunders กล่าวในทำนองเดียวกันว่า พื้นฐานของการไม่ตระหนักถึงปัญหาการดื่ม มักมีที่มาจากการขาดความรู้เรื่องการบำบัดผู้ติดสุรา ความไม่มั่นใจในตนเองของผู้ติดสุรา และทัศนคติด้านลบเรื่องการบำบัดของผู้ติดสุรา 

เบื้องต้นมักพบปัญหาความไม่ทันตระหนักรู้ในสังคมที่มีสภาพแวดล้อมของการทำงาน และการให้คุณค่าในการดื่มแบบผิดๆ ยกตัวอย่างเช่น คนไทยคิดว่าการดื่มจะเป็นตัวช่วยอำนวยความสะดวกในการเข้าสังคมและเสริมสัมพันธภาพระหว่างบุคคล

ขณะที่การมองคุณค่าทางเพศไม่เท่ากันก็เป็นอีกหนึ่งสาเหตุที่เป็นอุปสรรคใหญ่ของบุคคลสำหรับการเข้าถึงการบำบัดผู้ติดสุราเช่นกัน กล่าวคือ ‘คุณค่าของความคิดเรื่องชายเป็นใหญ่แสดงให้เห็นว่าผู้ชาย ‘ต้องดื่ม’ เพื่อให้ตรงกับคุณค่าทางวัฒนธรรมหลักของไทย’ ข้อมูลจาก Jongudomkarn และงานวิจัยโดย West และ Zimmerman ต่างชี้ว่า ผู้ชายส่วนใหญ่คิดว่าการดื่มสนับสนุนบทบาททางเพศ ทำให้ดูเป็นชายชาตรียิ่งขึ้น และงานของ McDonnell  และ Griffin ยังระบุว่า การดื่มหนักเป็นที่ยอมรับในผู้ชายมากกว่าผู้หญิงอีกด้วย

ด้วยเหตุนี้ บางครั้งความเป็นชายจึงกลายเป็นอุปสรรคต่อการบำบัดรักษาการติดสุรา เนื่องจากผู้ชายให้ความสำคัญกับความเจ็บป่วยทางกายมากกว่าทางจิตใจ พวกเขาเชื่อมั่นว่าตนเองสามารถดื่มได้ตราบใดที่ไม่ส่งผลกระทบทางร่างกาย ถึงแม้จะรับรู้ว่าครอบครัวหรือคนสำคัญคาดหวังให้พวกเขาหยุดดื่มก็ตาม อีกทั้งผู้ชายมักไม่ต้องการเปิดเผยความเจ็บป่วยทางจิตใจหรืออารมณ์เท่าผู้หญิง นั่นทำให้เขาอาจไม่อยากเข้าร่วมการบำบัดที่เปิดเผย พูดคุยเรื่องปัญหาชีวิต ต้นตอของการดื่มเท่าไรนัก 

ตัดภาพมาที่ผู้หญิงแม้จะก้าวออกมาจากบทบาทดั้งเดิม คือ สามารถเป็นหัวหน้าครอบครัว หาเลี้ยงลูก พ่อ แม่ โดยการทำงานหนักและมีรายได้เพียงพอในเชิงเศรษฐกิจ แต่ส่วนมากก็ยังถูกลดคุณค่าโดยครอบครัวและสังคม ทำให้พวกเธอมักครุ่นคิดถึงสิ่งที่อาจทำผิดไป เกิดความละอายใจ ไม่ก็ความสิ้นหวังบ่อยครั้ง ดังที่ข้อมูลจากวิจัย “การใช้ชีวิตประจำวันที่ไม่มั่นคง ขณะที่พยายามทำสิ่งต่างๆ ให้เป็นปกติ-ความหมายของการใช้ชีวิตในฐานะผู้หญิงติดเหล้า” ของ Thurang และ Tops ระบุว่า ผู้หญิงมักมีแนวโน้มตำหนิตัวเองและทำให้ตัวเองเสื่อมถอย ซึ่งอาจเป็นเพราะสังคมกดดันแต่เดิม 

การเป็นคนหาเลี้ยงครอบครัวในวัฒนธรรมไทยเป็นเรื่องเครียด และการดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ดููเหมือนจะเป็นตัวเลือกที่สามารถปลดปล่อยความเครียดได้ อย่างไรก็ตาม ข้อมูลจากการศึกษาของ Day Gough และ McFadden อธิบายว่า นอกจากแอลกอฮอล์สร้างความเสียหายต่อสุขภาพของผู้หญิงแล้ว ความเชื่อที่ว่าการดื่มไม่เหมาะสำหรับผู้หญิง บางครั้งก็อาจนำไปสู่การต่อต้านอย่างรุนแรงจากคู่ครองและครอบครัว ส่งผลถึงความสัมพันธ์ได้ 

นอกจากนี้ ยังมีผลการศึกษาพบว่า ความรุนแรงในครอบครัวมักพุ่งเป้าไปยังผู้หญิงที่ติดสุรา และเมื่อผู้หญิงกลัวว่าคนอื่นๆ อาจจะทำร้ายพวกเธอทั้งทางร่างกายและจิตใจ จะเป็นผลให้พวกเธอมักแยกตัวเองออกจากสังคม เก็บตัวมากขึ้น ซึ่งนั่นไม่ใช่สิ่งที่ดีต่อการเข้ารับการบำบัดที่ควรพบหมออย่างต่อเนื่องเสียเลย

 

อุปสรรคระดับองค์กร : 

ความรู้-การมีส่วนร่วม-บุคลากร ไม่เพียงพอ และทัศนคติด้านลบต่อผู้ติดเหล้า

 

หนึ่งในคำให้สัมภาษณ์ของพยาบาลในงานศึกษาของกุลนรี คือ ‘ยังมีความกังวลเรื่องของการขาดความรู้ตามหลักมาตราฐานสำหรับการบำบัดผู้ป่วยติดสุรา’

คำบอกเล่านี้สอดคล้องไปกับความคิดเห็นจากผู้เชี่ยวชาญว่า การขาดความรู้ ขาดทักษะของบุคลากรทางการแพทย์ และการมีทัศนคติด้านลบต่อผู้ติดเหล้า เป็นอุปสรรคสำคัญสำหรับการเข้าถึงระบบบำบัดรักษาผู้ติดสุรา และปฎิเสธไม่ได้เลยว่า ปัจจุบันบทบาทของพยาบาลในการรักษาอาการติดสุราและยาเสพติดไม่ได้รวมอยู่ในหลักสูตรการศึกษาทางการพยาบาล

ดังนั้น ข้อเสนอจากงานวิจัยของ Geirsson Ley Jeffery Bennun Mccaren Johnson Jackson Guillaume Meier และ Goyder จึงระบุว่า ผู้ให้บริการทางการแพทย์ ควรมีฝึกอบรมเพื่อพัฒนาความรู้ ความสามารถและเพิ่มมุมมองทัศนคติต่อการติดสุรา รวมไปถึงการรักษาที่มากขึ้น ฝ่าย Nordfjaern และคณะ ก็เสนอว่า ผู้ให้บริการทางการแพทย์จำเป็นต้องมีการร่วมมือกับคนที่ติดสุรามากขึ้น เพื่อป้องกันไม่ให้ผู้ป่วยเลิกยาก่อนกำหนด เข้ารับการรักษาอย่างต่อเนื่องและเหมาะสม อีกทั้งในการติดตามผลการรักษา ควรเกิดการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ระหว่างแพทย์และคนติดสุรา รวมถึงแพทย์ด้วยกันเอง เพื่อรับมือ จัดการผลกระทบทางด้านลบที่เกิดจากการรักษา อาทิ การถอนตัวออกกลางคัน เรียกว่าการบำบัดคนติดเหล้าเป็นเรื่องที่ต้องร่วมมือกันอย่างเป็นระบบ

ทั้งนี้ การแสดงทัศนคติเชิงลบต่อผู้ป่วยของผู้ให้บริการทางการแพทย์เป็นอีกหนึ่งประเด็นที่อาจทำให้ผู้ป่วยติดสุราไม่อยากเข้ารับการรักษา โดยงานวิจัย “การตีตราในหมู่ผู้เชี่ยวชาญด้านสุขภาพต่อผู้ป่วยที่มีความผิดปกติในการใช้สารเสพติด” ของ van Boekel และคณะ ระบุว่า ทัศนคติเชิงลบของผู้เชี่ยวชาญด้านสุขภาพอาจทำให้ความร่วมมือในการรักษาระหว่างผู้เชี่ยวชาญและผู้ป่วยลดลงได้ ฝ่ายผู้ให้บริการและผู้เชี่ยวชาญจึงควรต้องระมัดระวังท่าทีของตนเองด้วย

ยิ่งไปกว่านั้น อุปสรรคอีกด้านที่ผู้ให้บริการทางการแพทย์เผยในงานวิจัย คือ การไม่แบ่งแยกตึกผู้ป่วยชายหญิง เมื่อมีทั้งผู้ชายและผู้หญิงในตึกผู้ป่วยเดียวกันก็ยากต่อการจัดการ เพราะมีความเสี่ยงสูงที่ผู้ป่วยหญิงจะถูกล่วงละเมิดทางเพศ (ในไทยเองก็มีกรณีผู้ป่วยหญิงถูกละเมิดในระหว่างกระบวนการบำบัดยาเสพติด-แอลกอฮอล์ที่ยังไม่ได้รับการแก้ไขเช่นเดียวกัน) รวมถึงความยากในการสัมผัสทางร่างกายระหว่างผู้ป่วยหญิงและผู้ช่วยพยาบาลชายในขั้นตอนการล้างพิษ ด้วยเพศของให้บริการทางแพทย์ส่วนใหญ่นั้นมีความไม่สมดุลกัน พยาบาลทั้งหมดเป็นผู้หญิงและผู้ช่วยพยาบาลทั้งหมดเป็นผู้ชาย เมื่อผู้หญิงที่เข้ารับการรักษานั้นมีจำนวนน้อย ขั้นตอนการล้างพิษสำหรับผู้หญิงจึงไม่ได้รับการจัดการที่ดี ซึ่งทั้งหมดนี้ อาจมีสาเหตุมาจากการประหยัดค่าใช้จ่ายขององค์กรหรือสถานพยาบาล ทำให้ไม่มีการจัดหอผู้ป่วยหรือการดูแลผู้หญิงที่ดีมากพอ

 

 อุปสรรคระดับโครงสร้าง :

หลักประกันสุขภาพ และระบบการรักษา

 

ปัญหาการติดสุราในระดับโครงสร้าง เริ่มต้นจากมุมมองของคนในสังคมต่อผู้ติดสุรา จากการศึกษาพบว่า การขาดทักษะและทัศนคติเชิงลบของผู้ให้บริการทางการแพทย์มีสาเหตุจากการหล่อหลอมของสังคม ซึ่งมองผู้ติดสุราในแง่ร้าย จนกลายเป็นปัญหาว่าผู้ให้บริการที่เปรียบเสมือนด่านหน้ารับผู้ป่วยติดสุราเข้าสู่การบำบัด กลับกีดกัน ยากจะยอมรับผู้ป่วยได้ ทำให้กระบวนการบำบัดตลอดจนการส่งต่อผู้ป่วยติดขัด 

ยังไม่รวมข้อค้นพบในการศึกษาที่ระบุว่า ระบบการส่งต่อผู้ป่วยในไทยนั้นยังไม่สมบูรณ์ จำเป็นต้องมีการฝึกอบรมแก่บุคคลากร เพื่อให้มีศักยภาพที่เหมาะสมสำหรับการทำงานกับผู้ติดสุรา มากกว่านี้ ทั้งยังมีทรัพยากรในการรักษาไม่เพียงพอ เช่น จำนวนเตียงที่มีอยู่ไม่พอ และต้นทุนทางเศรษฐกิจของการเดินทางมายังสถานพยาบาลสูง รวมแล้วโครงสร้างของสถานพยาบาลในภาพรวม อาจยังไม่เหมาะสมกับการรองรับและดูแลผู้ป่วยติดสุราเท่าไรนัก 

ด้านหลักประกันสุขภาพต่างๆ ก็มีความสำคัญไม่ต่างกัน งานวิจัย “ผลกระทบของการได้รับสารเสพติดด้วยยาบังคับต่อการหลีกเลี่ยงการดูแลสุขภาพของผู้ใช้ยาฉีดในประเทศไทย” ของ Kerr และคณะ กับงานวิจัยศูนย์กักกันยาเสพติดภาคบังคับในเอเชียตะวันออกและเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ของ Kamarulzaman และ McBrayer ให้ความเห็นด้วยว่าควรให้การรักษาแบบ ‘ไม่มีค่าใช้จ่าย’ แก่ผู้ป่วย เพื่อลดภาระค่าใช้จ่ายและดึงดูดให้คนเข้ารับการบำบัดมากขึ้น ซึ่งตั้งแต่ปี 2551 เป็นต้นมา ประเทศไทยได้จัดให้มีการรักษาฟรีสำหรับผู้ติดยาเสพติด แต่ไม่ได้จัดให้ผู้ติดสุรา 

นอกจากนี้ แง่มุมเรื่องเพศเองเป็นอีกหนึ่งปัญหาในอุปสรรคระดับโครงสร้าง จากงานวิจัย “ระบบความไม่เสมอภาค เพศ ระดับและการแข่งขันในองค์กร” ของ Acker ระบุว่า สำหรับผู้หญิงในประเทศไทย ลักษณะของสังคมที่เป็นลำดับขั้น และความสัมพันธ์ทางสังคม ทำให้ผู้ชายมีอำนาจและสิทธิพิเศษมากกว่าผู้หญิง เป็นผลให้การรักษาอาการติดสุราในประเทศไทยนั้นมักถูกปรับให้เหมาะกับความต้องการของผู้ชายเพียงอย่างเดียว ขณะที่ผู้หญิงที่ประสบปัญหาติดสุรากลับด้อยโอกาสในสังคม และขาดการเข้าถึงการให้บริการด้านสุขภาพ 

โดยปกติ การให้บริการด้านการรักษาพยาบาลจะให้บริการทั่วไปมากกว่าบริการเฉพาะทางตามเพศ แต่ในรายละเอียดการรักษา ความละเอียดอ่อนก็ถือว่าสำคัญไม่แพ้กัน ดังนั้น ผู้ให้บริการทางการแพทย์ ไปจนถึงสังคมควรตระหนักเรื่องความแตกต่างทางเพศ เพื่อให้เกิดสิทธิเท่าเทียมในบริการด้านการดูแลสุขภาพสำหรับผู้หญิงและผู้ชาย 

 

จากข้อมูลทั้งหมดในข้างต้นชี้ให้เห็นว่าสังคมไทยต้องมีการเปลี่ยนแปลงอย่างน้อย 3 ระดับ คือ อุปสรรคระดับบุคคล อุปสรรคระดับองค์กร และอุปสรรคระดับโครงสร้าง เพื่อแก้ไขปัญหาการติดสุรา ทำให้ผู้ติดสุราสามารถเข้าถึงการบำบัด และได้รับสิทธิสุขภาพอย่างเท่าเทียม

 

 


 

อ้างอิงเพิ่มเติม

– ‘บำบัดครึ่งปี-เสี่ยงถูกไล่ออก บีบนักดื่มเมินการรักษา’ หนังสือพิมพ์ลูกศิลป์ปีที่ 8 

 

เรื่องและภาพ: ทีมงาน Alcohol Rhythm

Related Articles