สถานการณ์การระบาดของโควิด-19 ส่งผลกระทบต่อการใช้ชีวิตของคนทุกเพศทุกวัย โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ผลจากการประกาศใช้มาตรการเว้นระยะห่างทางสังคม (Social Distancing) และการงดจำหน่ายสุราในช่วงเดือนเมษายนที่ผ่านมา ทำให้ผู้ติดเหล้าอาจต้องเผชิญอาการถอนพิษสุราเพราะหยุดดื่มฉับพลัน อีกทั้งไม่สามารถเข้ารับการรักษาได้ดังเช่นปกติ หรือเกิดความไม่ต่อเนื่องในการบำบัด จนกลายเป็นว่าบางส่วนเลือกกลับไปดื่มอีกครั้ง
ในทำนองเดียวกัน เจ้าหน้าที่ทางการแพทย์ที่เกี่ยวข้องทุกคน ต่างก็ต้องเจอกับความท้าทายใหม่ ทั้งวิธีให้บริการ การติดตามผลผู้ป่วย รวมไปถึงการดูแลตัวเองให้ห่างไกลโรคระบาดระหว่างปฏิบัติหน้าที่ จากผลกระทบเหล่านี้ทำให้เกิดคำถามถึงอนาคตของวงการสาธารณสุข การบำบัดผู้ติดเหล้า และระบบยาของประเทศไทยว่า ควรปรับเปลี่ยนไปในทิศทางไหน
Alcohol Rhythm เปลี่ยนจังหวะชีวิตคนติดเหล้า คุยกับ นพ.สุจิระ ปรีชาวิทย์ จากโรงพยาบาลจิตเวชสระแก้วราชนครินทร์ ถึงประเด็นเรื่องการรักษาผู้ติดเหล้าในสถานการณ์โควิด-19 การปรับระบบยาให้เท่าทันกับสถานการณ์โรคระบาด และสิ่งที่ควรใส่ใจเพิ่มขึ้นหลังเกิดการระบาดเป็นต้นไป
โควิด-19 กับผลกระทบต่อการรักษาผู้ติดเหล้า
ก่อนที่จะเริ่มการสนทนา นพ.สุจิระเอ่ยปากก่อนว่าอาจจะไม่สามารถตอบแทนโรงพยาบาลทั่วประเทศได้ แต่ขอตอบจากความคิดเห็นที่เห็นในโรงพยาบาลที่ตนเองรับผิดชอบ และโรงพยาบาลในจังหวัด โดยมองว่าสถานการณ์โควิด-19 มีผลกระทบต่อการรักษาผู้ติดเหล้า โดยเฉพาะเรื่องการเข้าถึงการรักษา
“ถึงแม้ว่าประกาศของรัฐบาลจะผ่อนปรนให้ผู้ป่วยที่จำเป็นต้องพบแพทย์สามารถเดินทางได้ แต่การระบาดของโรคโควิด-19 ทำให้การเดินทางยากลำบากมากขึ้น ตั้งแต่การใช้รถโดยสารประจำทาง การเดินทางร่วมกัน การขอความร่วมมือจากผู้ป่วยที่อาการไม่รุนแรงให้งดไปโรงพยาบาลซึ่งเป็นสถานที่แออัด หรือจากความวิตกกังวลของผู้ป่วยและญาติเองที่ไม่อยากไปโรงพยาบาล เพราะกลัวการติดเชื้อโควิด ทำให้ผู้ติดสุราบางส่วนตัดสินใจยังไม่เริ่มต้นกระบวนการรักษา หรือผู้ป่วยเก่าบางรายไม่มาโรงพยาบาลตามนัด” นพ.สุจิระเล่าให้ฟังว่าเรื่องเหล่านี้ ทำให้ประสิทธิภาพโดยรวมของการรักษาลดลง แต่อย่างไรก็ตาม หากผู้ป่วยมีความจำเป็นต้องรักษาภาวะติดสุรา ทางโรงพยาบาลก็สามารถให้การดูแลได้ตามมาตรฐาน
ไม่เพียงแต่เรื่องการเข้าถึงการรักษาที่ดูจะยากมากขึ้น อีกด้านหนึ่ง มาตรการของภาครัฐที่ออกมาพยายามควบคุมการระบาดอย่างการสั่งปิดสถานที่แออัดที่อาจจะเป็นแหล่งแพร่เชื้อ ทั้งห้างสรรพสินค้า สถานประกอบการบันเทิง ผับ บาร์ และการสั่งห้ามขายเหล้า มาตรการเหล่านี้ล้วนส่งผลกระทบโดยตรงกับผู้ติดเหล้าโดยตรง ทั้งในด้านบวกและด้านลบ
“ด้านบวกของมาตรการดังกล่าว คือ ทำให้โอกาสที่ประชาชนเข้าถึงสุราลดลง ชะลอการเกิดนักดื่มหน้าใหม่ ส่วนผู้ที่ดื่มสุราอยู่แล้วโอกาสดื่มสุราก็น้อยลงเช่นกัน ทำให้ลดผลกระทบของสุราต่อสุขภาพ และลดโอกาสเกิดอุบัติเหตุจากการดื่มสุราได้
“สำหรับด้านลบของมาตรการดังกล่าว ได้แก่ การหยุดดื่มสุรากะทันหัน ทำให้ผู้ป่วยที่ดื่มสุราแบบหนักเป็นระยะเวลานานเสี่ยงต่ออาการถอนพิษสุรารุนแรง บางรายอาจมีอาการชักหรือภาวะเพ้อสับสนจนเสียชีวิต นอกจากนี้ การหยุดจำหน่ายสุราอาจทำให้ประชาชนบางส่วนหันไปต้มสุราเถื่อนบริโภคเอง ซึ่งมีความเสี่ยงต่อสุขภาพมากจนทำให้พิการหรือเสียชีวิตได้” นพ.สุจิระกล่าว
การเข้ารับการรักษาในช่วงไวรัสแพร่ระบาด
“ความท้าทายที่สำคัญของการรักษาผู้ติดสุรา คือ การประเมินผู้ติดสุราให้ได้ว่า ใครจำเป็นต้องได้รับการรักษาแบบใดจึงจะปลอดภัยสูงสุด โดยไม่เพิ่มความเสี่ยงต่อการติดเชื้อโควิด-19 ของผู้ป่วยและเจ้าหน้าที่โรงพยาบาล นอกจากนั้นต้องคำนึงถึงทรัพยากรของโรงพยาบาลที่ต้องเตรียมพร้อมรองรับผู้ป่วยโควิดในโรงพยาบาลด้วย” นพ.สุจิระกล่าวและเสริมว่า ทางโรงพยาบาลมีความพยายามติดตามให้ผู้ป่วยได้เข้าถึงและรับการรักษาอย่างต่อเนื่อง
“เนื่องจากโรงพยาบาลมีการติดตามผู้ป่วยที่ไม่ได้มาตามนัด จะมีพยาบาลโทรเข้าไปสอบถามอาการว่าคนไข้ที่ไม่ได้มาตามนัดไปรักษาต่อที่ไหน อาการเป็นอย่างไรบ้าง
ข้อมูลส่วนหนึ่งก็พบว่าคนไข้ที่ไม่ได้มาตามนัดก็กลับไปดื่มสุราซ้ำ พอรู้แบบนี้ พยาบาลก็จะแจ้งให้คนไข้รักษาต่อเนื่อง บางรายไปรับยาต่อที่อนามัยหรือโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล โรงพยาบาลจะส่งยาไปให้ ในบางรายที่อาการไม่ดีหรืออาการรุนแรง เราก็จะทำนัดให้เขามาตรวจที่โรงพยาบาล เป็นต้น
หรืออีกกรณี คือ จะส่งข้อมูลไปที่เครือข่ายอย่างโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบลให้ดูแลติดตามต่อ โอนจากที่โรงพยาบาลไปรับยาที่โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบลหรือโรงพยาบาลที่อำเภอ” นพ.สุจิระอธิบาย
“จริงๆ ระบบนี้ทำมาก่อนที่จะมีโควิด-19 คนไข้ที่ไม่ได้มาตามนัดจะถูกติดตาม เรามีการประสานไปที่โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบลเป็นปกติอยู่แล้ว เพียงแต่ช่วงที่มีโควิด-19 นโยบายมันได้รับการสนับสนุนมากขึ้น มีความตื่นตัวโทรไปถามคนไข้หรือญาติคนไข้ว่าอาการเป็นอย่างไรก่อนที่จะถึงกำหนดวันนัด ถ้าอาการดี อยากรับยาทางไปรษณีย์ หรือ อยากให้ส่งยาไปที่โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบลก็จะดำเนินการให้
อีกสิ่งที่ต่าง คือ ก่อนที่จะมีโควิด-19 เดิมคนไข้จะต้องมาโรงพยาบาล แล้วแจ้งความประสงค์ว่าอยากรับยาที่โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล เพราะเราไม่มีส่งไปรษณีย์ แต่พอมีโควิด-19 เข้ามา เจ้าหน้าที่ของเราก็จะแอคทีฟในการโทรหาผู้ป่วย ประเมินอาการแล้วถามความต้องการว่าจะให้ส่งยาไปที่ไหน หรือจะมารับยาเอง”
นพ.สุจิระยังเสริมอีกว่า นอกจากการรับยาด้วยตัวเองที่โรงพยาบาล การไปรับที่โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบลแล้ว ทางโรงพยาบาลยังมีบริการไดร์ฟทรู (drive thru) สำหรับคนไข้บางคนที่ผ่านโรงพยาบาล แต่ไม่อยากเข้ามาติดต่อใกล้ชิดในโรงพยาบาล โรงพยาบาลจะเตรียมยา แล้วนัดรับยาตรงจุดป้อมยามตามเวลาที่นัดหมาย หรือผู้ป่วยบางคนอาศัยอยู่ใกล้ เจ้าหน้าที่ในโรงพยาบาลก็จะโทรประเมินอาการ และฝากเจ้าหน้าที่ที่รู้จักกันมารับยาแทน
จะสังเกตได้ว่า ท่ามกลางสถานการณ์ที่ต้องรับมือกับวิกฤตสุขภาพครั้งใหญ่ การรักษาผู้ติดเหล้าต้องพิจารณาร่วมกับการควบคุมการแพร่ระบาด ซึ่งสอดคล้องกับเอกสารจากสถาบันบำบัดรักษาและฟื้นฟูผู้ติดยาเสพติดแห่งชาติ บรมราชชนนี กรมการแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข ที่ได้ออกแนวทางป้องกันและควบคุมการแพร่กระจายโรคติดเชื้อไวรัสโคโรน่า 2019 (COVID-19) สำหรับสถานพยาบาลยาเสพติด โดยแนวทางเริ่มตั้งแต่ขั้นตอนการรับผู้ป่วยไปจนถึงการติดตามผลการรักษา
สำหรับขั้นตอนการรับผู้ป่วย มีแนวทางที่เพิ่มความระมัดระวังในการรักษา ได้แก่
– การซักถาม ประเมินอาการ ควรให้ผู้ป่วย ญาติ และผู้นำส่งสวมหน้ากากอนามัย เว้นระยะห่างระหว่างผู้ป่วยและผู้ให้การรักษา 5-2 เมตร สำหรับเจ้าหน้าที่ให้สวมหน้ากากอนามัย และ/หรือ Face shield ด้วย
– การซักถามประวัติ สอบถามพูดคุย ควรใช้เวลาให้น้อยที่สุด และเพิ่มช่องทางการติดต่อสื่อสารทางโทรศัพท์เพื่อสอบถาม ข้อมูลเพิ่มเติม รวมทั้งการประสาน หรือให้การช่วยเหลืออย่างต่อเนื่อง
– เพิ่มความรู้ความเข้าใจกับผู้ป่วย และญาติ เรื่องการป้องกันการติดและแพร่กระจายเชื้อ เพื่อหลีกเลี่ยงพฤติกรรมเสี่ยง งดการมั่วสุมรวมกลุ่มสังสรรค์ การใช้อุปกรณ์การเสพร่วมกัน และให้เว้นระยะห่างระหว่างบุคคล
ส่วนขั้นตอนการบำบัดฟื้นฟู เป็นขั้นตอนที่ได้รับผลกระทบมากที่สุด เนื่องจากการบำบัดส่วนใหญ่เป็นการบำบัดแบบกลุ่ม ซึ่งการรวมกลุ่มอาจมีความเสี่ยงในการระบาดของโรค แนวทางส่วนใหญ่จึงเป็นการงดเว้นการบำบัด และมีแนวทางอื่นๆ ในการบำบัดฟื้นฟู ดังต่อไปนี้
– งดเว้นการบำบัดฟื้นฟูในรูปแบบบำบัด ทั้งผู้ป่วยและญาติ รวมถึงการบำบัดแบบค่าย/ศูนย์ปรับเปลี่ยน พฤติกรรม หรือการบำบัดอื่นที่เป็นการรวมกลุ่มผู้ป่วย
– งดเว้น/ยืดหยุ่นระยะเวลาการนัดผู้ป่วยมาสถานพยาบาล และใช้วิธีช่วยเหลือ/บำบัดผ่านช่องทางการสื่อสารอื่นแทน เช่น โทรศัพท์ ไลน์ หรือช่องทางอื่นๆ เช่น การเยี่ยมบ้านโดย รพ.สต.หรือ อสม. หรือรูปแบบการบำบัดโดยชุมชชน
– หากมีความจำเป็นต้องให้การช่วยเหลือ/บำบัด ให้ใช้วิธีการแบบรายบุคคล (Individual) และใช้อุปกรณ์ป้องกันโดยผู้ป่วยให้ใส่หน้ากากอนามัย ส่วนผู้บำบัดใส่หน้ากากอนามัย และ/หรือ Face shield
– ผู้ป่วยที่มีความจำเป็นต้องรับยาต่อเนื่องให้ใช้ระบบบริหารจัดการเช่นเดียวกับการรับส่งยาสำหรับผู้ป่วยโรคเรื้อรังของสถานพยาบาลนั้นๆ
– กรณีผู้ป่วยที่มีความจำเป็นต้องรับไว้รักษาแบบผู้ป่วยใน เช่น ผู้ป่วยที่มีอาการถอนพิษสุรารุนแรง ควรใช้ระบบการป้องกัน ควบคุมการติดเชื้อ เช่นเดียวกับกลุ่มเสี่ยง/สัมผัสโรคโควิด-19
ด้านขั้นติดตามการรักษา มีแนวทางหลีกเลี่ยงการเข้าพบที่สถานพยาบาล แต่ให้ใช้วิธีเพิ่มช่องทางการติดตามช่วยเหลือผ่านทางโทรศัพท์ หรือไลน์ รวมถึงติดตามโดยใช้เครือข่ายในชุมชน หรือ อสม.ในพื้นที่
ในมุมมองของนพ.สุจิระนั้น แม้จะมีแนวทางหลีกเลี่ยงการเข้าพบที่สถานพยาบาล แต่นั่นไม่ได้หมายความว่าประสิทธิภาพการรักษาที่ต่ำลง
“ภาพรวมของการรักษาพยาบาลพบว่าเคส walk-in คือเคสที่มาโรงพยาบาลน้อยลง แต่จำนวนเคสที่ได้รับการรักษาไม่ต่างจากเดิม ถ้านับเฉพาะเคสที่เดินทางมาโรงพยาบาลน้อยลงแน่นอน เพราะเราส่งยาไปโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบลเยอะขึ้น เรามีระบบแล้วไดร์ฟทรู (drive thru) คนไข้ส่วนนี้ทำให้คนไข้ที่ walk-in มาโรงพยาบาลน้อยลง แต่คนไข้ทั้งหมดที่รับการรักษาทั้งผู้ป่วยใน (IPD) และผู้ป่วยนอก (OPD) ไม่ต่างจากช่วงที่ก่อนโควิด-19”
หรือจะถึงเวลาของการปรับระบบยา?
ผลกระทบจากการงดเว้นการบำบัดตามมาตรการเว้นระยะห่างทางกายภาพ ทำให้การรักษาด้วยยาเป็นอีกหนึ่งวิธีที่สำคัญต่อการรักษาผู้ติดเหล้า นพ.สุจิระเองก็เป็นหนึ่งคนที่สนใจศึกษาในเรื่องดังกล่าว และเคยได้นำเสนอวิจัย “การทบทวนวรรณกรรมเรื่องยาสำหรับดูแลผู้มีปัญหาการดื่มสุราในประเทศไทย” ในงานเสวนาการพัฒนาข้อเสนอแนะเกี่ยวกับการใช้ยาในการบำบัดรักษาผู้ติดสุรา เพื่อผลักดันให้ประเทศไทยมีตัวเลือกของยารักษาการติดเหล้ามากขึ้น มีผลข้างเคียงที่ต่ำลง
โดยทั่วไป ยาที่ใช้รักษาภาวะติดสุราในประเทศไทยเป็นตัวหลัก คือ disulfiram นอกจากนี้ยังมี gabapentin และ topiramate แต่การใช้ยังไม่แพร่หลาย มาวันนี้การกระจายยาสำหรับรักษาภาวะติดสุราและภาวะถอนพิษสุราในโรงพยาบาลยังไม่ได้รับผลกระทบ เนื่องจากมีการกระจายยาจากโรงพยาบาลหลักไปยังโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพประจําตําบลเพื่อให้ผู้ป่วยเข้าถึงยาได้มากขึ้น แต่นี่อาจจะเป็นจุดเปลี่ยนเพิ่มโอกาสที่จะพัฒนาระบบยาเพื่อนำเข้ายาใหม่ และยามาตรฐานบางชนิดยังไม่มีใช้ในประเทศไทย
“เหตุการณ์นี้เป็นบทเรียนให้ผู้เกี่ยวข้องได้กลับมาทบทวนระบบการนำเข้ายาฉุกเฉินที่มีความจำเป็นเร่งด่วน และการนำเข้ายาที่จำเป็นอื่นๆ สำหรับการดูแลผู้ป่วยในประเทศไทย ให้มีประสิทธิภาพเพิ่มมากขึ้น เช่น การลดขั้นตอนที่ไม่จำเป็น และการวิเคราะห์ความจำเป็นต่อการใช้ยาแต่ละชนิด เพื่อให้ประเทศไทยมียาที่ดีพอสำหรับรักษาผู้ป่วยโดยคำนึงถึงความคุ้มค่าในด้านอื่นๆด้วย”
อย่างไรก็ตาม นพ.สุจิระยังคงมองว่าการปรับเปลี่ยนระบบยา หรือนำเข้ายาใหม่ที่มีประสิทธิภาพต้องใช้ระยะเวลานาน เพราะมีหลายหน่วยงานที่เกี่ยวข้องจากหลากหลายวิชาชีพ ไม่ว่าจะเป็นแพทย์, พยาบาล และเภสัชกร ทำให้การปรับเปลี่ยนแต่ละครั้งต้องมีการวางแผนปรึกษาหารือกัน เพื่อหาคำตอบที่ดีและเหมาะสมที่สุดกับบริบทของประเทศไทย
“ระบบยาจะต้องถูกทบทวนเพื่อพัฒนาระบบที่เป็นอยู่ให้มีประสิทธิภาพและความเหมาะสมมากขึ้น สอดคล้องไปกับเทคโนโลยีดิจิทัลที่เข้ามาเปลี่ยนแปลงวิถีชีวิตต่างๆ ของคนในสังคม แต่การพัฒนาไปในทิศทางใด ย่อมต้องพิจารณาความพร้อมของคนในประเทศและองคาพยพของระบบสาธารณสุขเป็นสำคัญ เพื่อให้เกิดระบบการดูแลสุขภาพแบบไร้รอยต่อได้ในที่สุด”
นอกจากนี้ นพ.สุจิระยังเชื่อว่าเทคโนโลยีจะเข้ามามีบทบาทสำคัญในการแพทย์ปัจจุบันและจะถูกใช้มากขึ้นในอนาคต ทั้งเรื่องของการจัดทำฐานข้อมูลต่างๆ การวางระบบสาธารณสุขเพื่อส่งเสริม ป้องกัน รักษา และฟื้นฟูผู้ป่วย การใช้เทคโนโลยีจะช่วยให้การวินิจฉัยและการรักษาโรคมีความถูกต้องแม่นยำเพิ่มมากยิ่งขึ้น
ความท้าทายหลังจากนี้
แม้วัคซีนจะเป็นความหวังของคนทั่วโลกที่จะช่วยหยุดยั้งการแพร่ระบาดของโควิด-19 แต่ในฐานะที่ทำงานเกี่ยวข้องกับจิตเวชอย่างนพ.สุจิระมองว่า หลังโควิด-19 จะเป็นช่วงที่เจ้าหน้าที่ทางการแพทย์ยังต้องทำงานหนักต่อเพื่อช่วยดูแลสุขภาพจิตของประชาชน
“สิ่งที่จะกระทบกับจิตเวชมากกว่าคือช่วงหลังโควิด-19 เพราะว่ามาตรการที่เข้มข้นในช่วงโควิด-19 มันมีผลกระทบต่อเศรษฐกิจและเรื่องการใช้ชีวิตความเป็นอยู่ ปัญหาปากท้อง รายได้ไม่พอรายจ่าย ไม่มีงานทำคนก็จะเครียดเรื่องปากท้อง ยิ่งถ้ามีโรคประจำตัวเดิมอยู่แล้วและแก้ไขไม่ได้ก็จะเป็นความเสี่ยงที่จะทำให้ทำร้ายตัวเอง ฆ่าตัวตายหรือแม้กระทั่งความรุนแรงในครอบครัว คนเครียดก็หงุดหงิด อารมณ์ฉุนเฉียวมากอาจจะพึ่งพาสุรา ยาเสพติดแล้วก็เป็นประเด็นความรุนแรงตามมา
“กระทรวงสาธารณสุขและกรมสุขภาพจิตก็เห็นแนวโน้ม และคาดการณ์ไว้ว่า เรื่องของการดูแลสุขภาพของประชาชนยังมีงานอยู่เรื่อยๆ ถึงแม้สถานการณ์ของโรคระบาดมันจะทุเลาลง เรื่องนี้เราก็วางแผนแล้วว่าจะต้องประเมิน เฝ้าระวัง ป้องกันในเรื่องของภาวะการทำร้ายตัวเอง การฆ่าตัวตาย การจัดการความเครียด ประเมินความเครียดของเจ้าหน้าที่เอง ผู้ป่วยและผู้ป่วยที่ติดโควิด-19 ตรงนี้กรมสุขภาพจิตเองก็มีการวางแผนและมอบหมายให้หน่วยงานราชการต่างๆ ที่ดูแลไปสำรวจและเตรียมข้อมูลที่จะดูแลต่อ”
สิ่งเหล่านี้อาจจะเป็นความท้าทายในเหตุการณ์ถัดไปสำหรับผู้ติดเหล้าเช่นเดียวกันที่จะต้องเผชิญ และจัดการกับความเครียดโดยไม่พึ่งน้ำเมามากจนเกินไป
ที่มา:
https://waymagazine.org/covid-19-pharmacy/
https://www.slideshare.net/elixer/ss-40807023
https://alcoholrhythm.com/medicine-for-aud/
เรื่องและภาพ: ทีมงาน Alcohol Rhythm