หลายคนคงเคยดูละครเรื่อง ‘ทองเนื้อเก้า’ ที่มีตัวเอกของเรื่องคือ ‘ลำยอง’ สาวสวยที่ชีวิตพังเพราะดื่มเหล้าอย่างหนัก จนกระทั่งมีอาการติดสุรา และเสียสติในตอนท้าย
แน่นอนว่า ลำยองไม่ใช่คนที่ดื่มเหล้ามาตั้งแต่แรก แต่เข้าสู่เส้นทางของสาวนักดื่มจากการแนะนำโดย ‘ยายแล’ แม่ของเธอ ที่บอกว่า จิบยาดองเล็กๆ น้อยๆ หลังคลอดลูก แล้วจะเป็นยาบำรุง ช่วยให้ผิวสวย เลือดลมดี ผิวเปล่งปลั่ง และจะสวยวันสวยคืน
อันที่จริง การส่งต่อวัฒนธรรมการดื่มแอลกฮอลล์ไม่ได้มีแค่ ‘ยายแล’ และ ‘ลำยอง’ เท่านั้น การดื่มเหล้าหรือยาดองโดยเชื่อว่าเป็น ‘ยา’ นั้นเป็นเรื่องปกติในสังคมเอเชียโบราณ ผู้เฒ่าผู้แก่บางคนจะแนะนำให้ดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ชนิดนั้น ชนิดนี้ โดยบอกว่ามีสรรพคุณต่างๆ นานา แต่คำถามมีอยู่ว่า ความเชื่อดังกล่าวนี้ ถูกต้องจริงหรือไม่
Alcohol Rhythm เปลี่ยนจังหวะชีวิตคนติดเหล้า ขอนำเสนอบทความสั้นกะทัดรัด แต่สาระไม่สั้น ว่าด้วยการแหวกม่านสรรพคุณครอบจักรวาล (ตามความเชื่อ) เพื่อเข้าไปพิจารณาดูว่า จริงๆ การดื่มแอลกอฮอล์ส่งผลดีต่อสุขภาพเราจริงไหม และความเชื่อที่ว่าการดื่มแอลกอฮอล์ช่วยบำรุงร่างกายนั้นจริงเท็จประการใด
ความเชื่อว่าด้วย การดื่มสุราแล้วดีต่อสุขภาพ
คนเอเชียเชื่อว่า การดื่มเหล้าดีต่อสุขภาพ เมื่อได้ยินแบบนี้ หลายคนคงจำได้ดีว่าตอนเด็ก ตัวเองเคยโดนอาม่าหรือแม่บังคับให้ดื่มยาดองหรือยาจีนสุดขม หรือพอโตขึ้นมาหน่อย ก็อาจจะคุ้นชื่อกับยาชูกำลังอย่างม้ากระทืบโลงหรือโด่ไม่รู้ล้ม ที่เขาว่ากันว่ามีสรรพคุณร้อยแปด ทั้งบำรุงร่างกาย บำรุงโลหิต แก้ประจำเดือนมาไม่ปกติ ยันเสริมพละกำลัง ความเชื่อเหล่านี้จึงยิ่งน่าเชื่อถือมากขึ้นไปอีก
อันที่จริง ในโลกตะวันตก ก็มีความเชื่อในลักษณะนี้เช่นกัน มีงานวิจัยที่พบว่า การดื่มแอลกอฮอล์เป็นการบำรุงร่างกาย เช่น ผู้ที่ดื่มแอลกอฮอล์ในระดับปานกลาง มีความเสี่ยงที่จะเป็นโรคตกเลือดในสมอง และโรคกล้ามเนื้อหัวใจตายเฉียบพลันน้อยกว่าผู้ที่ดื่มแอลกอฮอล์อย่างหนักหรือผู้ที่ไม่ดื่มเลย อีกทั้งงานวิจัยยังเสริมอีกว่า การบริโภคแอลกอฮอล์จะช่วยให้คอเลสเตอรอลดี และไม่ได้เป็นอันตรายต่ออินซูลินในร่างกาย
อาจไม่ใช่ทุกเชื้อชาติที่เหมาะกับการดื่ม
แม้จะมีงานวิจัยสนับสนุน แต่ผลลัพธ์ของการดื่มแอลกฮอลล์ต่อสุขภาพก็ยังเป็นที่ถกเถียงกันอย่างกว้างขวาง เพราะร่างกายมนุษย์มีความซับซ้อนอย่างมาก จนทำให้ปฏิกิริยาที่แอลกฮอล์ทำต่อร่างกายอาจไม่เหมือนกัน
โดยปกติร่างกายมนุษย์จะมียีนอยู่ 1 คู่ที่มีผลอย่างมากในการบริโภคแอลกอฮอล์หรือของเหลวทุกชนิดที่มีส่วนผสมจากแอลกอฮอล์ กล่าวคือ ร่างกายจะมีกระบวนการในการสลายแอลกอฮอล์ในเลือดด้วยกระบวนการ alcohol dehydrogenase (ADH) ซึ่ง AHD1 จะไปทำปฏิกิริยากับสาร acetaldehyde และสารตัวนี้เองที่เป็นสาเหตุที่ทำให้ผู้ดื่มเมา จนบางครั้งก็ควบคุมสติตัวเองไม่ได้ จากนั้น ร่างกายจะเกิดกระบวนการ aldehyde dehydrogenase (ALDH) ซึ่ง ALDH2 จะทำให้ acetaldehyde กลายเป็น acetate ซึ่งเป็นสารที่ไม่อันตรายต่อร่างกายแล้ว
งานวิจัยเรื่อง “Conventional and genetic evidence on alcohol and vascular disease aetiology: a prospective study of 500,000 men and women in China” ซึ่งเป็นการศึกษาการดื่มแอลกฮอลล์ในชาวจีนกว่า 500,000 คน ระบุว่า ยีนของคนเอเชียอาจไม่รองรับการบริโภคแอลกอฮอล์ โดยพบว่า ชาวแอฟริกันและชาวยุโรปสามารถสลาย acetaldehyde (สารที่ทำให้ผู้ดื่มเมา) ได้รวดเร็วกว่าชาวเอเชีย เพราะในชาวเอเชีย ALDH2 (ยีนหนึ่งบนโครโมโซมคู่ที่ 12) จะไม่ทำงาน ตรงจุดนี้เองที่ทำให้เกิดความแตกต่างในการดื่มแอลกอฮอล์ของชาวเอเชียกับผู้คนจากที่อื่นๆ เพราะการที่ยีนดังกล่าวไม่ทำงาน จะทำให้ร่างกายของชาวเอเชียยิ่งดูดซึมแอลกอฮอล์เข้าสู่กระแสเลือดทำให้รู้สึกเมาหรือหน้าแดงได้ ในขณะเดียวกัน ยีนอย่าง ADH1B ที่อยู่บนโครโมโซมคู่ที่ 4 ที่มีส่วนช่วยในการสลายแอลกอฮอล์ก็เป็นยีนที่ชาวเอเชียมีเหมือนกับชนชาติอื่น
ถ้าคุณกำลังงงกับศัพท์ชวนปวดหัวเต็มไปหมด เราขออธิบายง่ายๆ สไตล์ Alcohol Rhythm ดังนี้
เริ่มแรก คุณต้องรู้ก่อนว่า ร่างกายของเรามีกระบวนการสลายแอลกอฮอล์ในเลือด ซึ่งกระบวนการดังกล่าวจะไปทำปฏิกริยากับสารที่ทำให้ผู้ดื่มเมา โดยการทำให้สารดังกล่าวไม่มีอันตรายต่อร่างกายอีกต่อไป
ฟังดูเหมือนจะดี แต่การวิจัยพบว่า ร่างกายของชาวแอฟริกันและชาวยุโรป สามารถสลายสารที่ทำให้ผู้ดื่มเมาได้รวดเร็วกว่าชาวเอเชีย เพราะว่าชาวเอเชียมียีนคู่หนึ่งซึ่งไม่ทำงาน ซึ่งเจ้ายีนนี่แหละที่เป็นปัญหา เพราะพอไม่มียีนตัวนี้ ร่างกายก็จะดูดซึมแอลกอฮอล์เข้าสู่กระแสเลือด ทำให้ผู้ดื่มเมาหรือหน้าแดงนั่นเอง
อย่างไรก็ตาม ผลการศึกษานี้เป็นเพียงแต่ผลวิจัยเชิงสถิติที่ทำในประเทศจีนเท่านั้น โดยเป็นการเก็บข้อมูลการดื่มแอลกอฮอล์ระหว่างชายและหญิงแยกกัน และมีการกำหนดตัวแปรเกี่ยวกับยีนในกลุ่มตัวอย่างผู้ชาย แต่ไม่มีการกำหนดยีนให้เป็นตัวแปรในกลุ่มผู้หญิง ซึ่งกลุ่มตัวอย่างที่เป็นผู้หญิงเป็นกลุ่มที่ไม่ได้ดื่มแอลกอฮอล์มากนัก ดังนั้น ข้อสรุปนี้จึงเป็นข้อสรุปในเบื้องต้น นอกจากนี้ การทดลองนี้ยังเกิดขึ้นเพื่อพิสูจน์ว่า การดื่มแอลกอฮอล์ของชาวเอเชียไม่ได้สัมพันธ์กับยีนผ่านทางมิติของเพศภาวะด้วย
ในประเด็นที่เกี่ยวข้องกับสุขภาพ งานวิจัยยังพบว่า ผู้ชายมีโอกาสจะเป็นโรคที่เกิดจากการดื่มแอลกอฮอล์ได้มากกว่าผู้หญิง เช่น โรคความดันเลือดสูง ไขมันเส้นเลือดสูง โรคตับ แต่นั่นไม่ได้หมายความว่าผู้หญิงจะไม่เป็นโรคพวกนี้ เพราะหากดื่มมากเกินไป ก็อาจจะเป็นอันตรายต่อร่างกายผู้หญิงได้เช่นเดียวกัน
อ่านมาถึงตรงนี้แล้ว เราไม่ได้หมายความว่า คุณต้องวิ่งกลับบ้านไปโยนขวดยาดอง หรือสุราทิ้งซะเดี๋ยวนี้ แต่ก่อนที่จะดื่ม คุณควรต้องคิดให้ดีและถี่ถ้วน โดยเฉพาะอย่างยิ่ง หากจะดื่มด้วยเชื่อว่าสุขภาพจะดี เพราะแอลกฮอลล์ไม่ได้ทำปฏิกิริยากับร่างกายอย่างตรงไปตรงมา
หากต้องการมีสุขภาพที่ดี ทางเลือกอีกทางที่ปลอดภัยแน่ๆ คือ เลือกทานอาหารให้ครบตามหลักโภชนาการแทนการดื่มแอลกฮอลล์ (ตามความเชื่อ)