เคยรู้สึกไหมว่า ทำไมเวลานั่งจิบไวน์แดงมักจะทำให้เรารู้สึกวาบหวามมากกว่าปกติ แต่พอดื่มเหล้าแล้วกลับรู้สึกก้าวร้าว พลังงานเหลือล้น ส่วนเวลาได้เบียร์เย็นๆ หลังทำงานก็ทำให้รู้สึกผ่อนคลายกว่าเครื่องดื่มมึนเมาอื่นๆ คุณเคยสงสัยไหมว่า ทำไมถึงเป็นเช่นนี้?
งานวิจัยที่ตีพิมพ์ในวารสารทางการแพทย์ BMJ เสนอว่า เครื่องดื่มแอลกอฮอล์ต่างชนิดจะส่งผลต่ออารมณ์และความรู้สึกต่างกัน โดยเหล่านักวิจัยได้ศึกษาเรื่องนี้ผ่านการทำแบบสอบถามหนุ่มสาวอายุ 18-34 ปี จำนวนกว่า 30,000 คนจาก 21 ประเทศทั่วโลกว่า รู้สึกอย่างไรเมื่อพวกเขาดื่มแอลกอฮอล์ ผลการสำรวจพบว่า นักดื่มคิดว่าดื่มเครื่องดื่มมึนเมาต่างชนิดส่งผลให้อารมณ์ต่างกันจริงๆ ซึ่งพออ่านงานวิจัยแบบนี้หลายคนก็คงพยักหน้าตามหงึกๆ แต่ในมุมมองของ นิโคล ลี ศาสตราจารย์จากสถาบันวิจัยยาแห่งชาติ มหาวิทยาลัยเคอร์ตินในออสเตรเลีย ผู้ศึกษาเรื่องเครื่องดื่มแอลกอฮอล์อย่างจริงจังกลับมองว่านี่อาจเป็นความเชื่อที่ผิด
นิโคลมองว่า จะเหล้า เบียร์ เตกีลา จิน รัม ไวน์ หรือจะเป็นเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ชนิดไหนก็มีส่วนประกอบหลักเป็นเอทานอลเหมือนกัน ลองนึกภาพตามว่า น้ำเมาไหลลงคอ เอทานอลก็จะเข้าสู่กระแสเลือดผ่านการดูดซึมทางกระเพาะอาหารหรือลำไส้เล็กก่อนจะเคลื่อนย้ายไปยังตับ เพื่อกำจัดของเสียออกจากร่างกาย แต่ด้วยข้อจำกัดทำให้ยังมีของเสียหรือสารพิษเหลืออยู่ในเลือด และไหลเวียนไปยังส่วนอื่นของร่างกาย รวมถึงสมอง อวัยวะที่ใช้ในการประมวลความคิดและอารมณ์ เมื่อนักดื่มเจอเอทานอลแผลงฤทธิ์ต่อสมองไปเต็มๆ ก็ส่งผลต่อการจดจำสภาวะทางอารมณ์ขณะดื่ม ทำให้เขาจำอารมณ์ความรู้สึกได้ไม่แน่นอน นอกจากนี้ ยังไม่มีหลักฐานอื่นมายืนยันว่า การดื่มเครื่องดื่มต่างประเภทกันจะทำให้นักดื่มรู้สึกแตกต่างกันไปด้วย
อย่างไรก็ตาม ส่วนหนึ่งที่ทำให้นักดื่มเกิดความรู้สึกว่าเครื่องดื่มต่างกันทำให้อารมณ์ต่างกันนั้น นักวิทยาศาสตร์วิจัยว่าเกิดจากความความคาดหวังต่อแอลกอฮอล์ที่ต่างกันตามประเภทของเครื่องดื่มมึนเมา ซึ่งความคาดหวังเหล่านี้เกิดจากการสะสมความเชื่อจากประสบการณ์ที่เกิดขึ้นกับตัวเองและผู้อื่น เช่น ไวน์อาจจะทำให้เรารู้สึกผ่อนคลาย เพราะเวลาดื่มต้องค่อยๆ หมุนควงแก้วและจิบลิ้มรสอย่างช้าๆ ในบรรยากาศไฟเทียนสลัว ถ้าเตกีลาก็อาจจะทำให้รู้สึกสนุกสุดเหวี่ยง เพราะมักจะดื่มเป็นช็อต เวลาออกปาร์ตี้ หรือถ้าเห็นผู้ใหญ่ในบ้านรวมกลุ่มดื่มเบียร์เวลาดูบอล ก็อาจจะคิดว่าเบียร์ช่วยทำให้เข้าสังคมได้ง่ายขึ้น ซึ่งเด็กอายุประมาณ 6 ขวบก็จะมีความคาดหวังต่อแอลกอฮอล์ผ่านประสบการณ์ที่เห็นตั้งแต่ยังเล็กก่อนดื่มเป็นเสียอีกด้วยซ้ำ
ไม่เพียงความสัมพันธ์ระหว่างประเภทเครื่องดื่มแอลกอฮอล์กับความรู้สึกต่างๆ ที่ถักทอขึ้นขณะรู้ตัวหรือไม่รู้ตัวจากทุกการดื่มหรือการเห็นคนอื่นดื่ม ศิลปะและดนตรีก็ยังมีอิทธิพลต่อความเชื่อเกี่ยวกับการดื่ม ท่อนเพลงของ Kenny Chesney นักร้องชาวอเมริกันที่ว่า “Tequila makes me crazy” ทำให้ผู้ฟังมีความเชื่อร่วมว่าดื่มเตกีลาทำให้สนุกแบบบ้าคลั่ง หรือจะเป็นเพลง Piano Man ของ Billy Joel’s นักร้องร็อกชาวอเมริกันอาจตอกย้ำความคิดที่ว่าจินทำให้คุณรู้สึกเศร้าขณะลิ้มรส
อีกหนึ่งปัจจัยที่ทำให้คนเชื่อว่าเมาต่างมู้ดได้ ถ้าดื่มเครื่องดื่มต่างกัน คือสารเคมีที่ชื่อ สารคอนเจเนอร์ (Congeners) ซึ่งเกิดขึ้นในกระบวนการผลิตแอลกอฮอล์ โดยประเภทเครื่องดื่มที่ต่างกันจะมีสารคอนเจเนอร์ที่แตกต่างตามไปด้วย แม้ว่าจะมีคนชี้ว่าสารเคมีตัวนี้นี่แหละที่ส่งผลให้อารมณ์ต่างกัน แต่ความจริงคือสารคอนเจเนอร์ส่งผลต่อกลิ่นและรสของเครื่องดื่ม รวมถึงอาการเมาค้างเท่านั้น แต่ยังไม่มีหลักฐานอะไรบ่งชี้ว่า สารคอนเจเนอร์ทำให้อารมณ์หรือพฤติกรรมของนักดื่มเปลี่ยนแปลงไป
จึงกล่าวได้ว่า ปัจจัยหลักที่ส่งผลต่อร่างกายและจิตใจขณะดื่มขึ้นอยู่กับปริมาณแอลกอฮอล์ที่ดื่มไปต่างหาก เพราะเครื่องดื่มต่างกันจะมีปริมาณแอลกอฮอล์ที่เป็นส่วนผสมต่างกัน ยิ่งเข้มข้นมากก็จะยิ่งส่งผลกระทบต่อร่างกายมากไปด้วย เช่น เหล้ากลั่นมีปริมาณแอลกอฮอล์ประมาณ 40% สูงกว่าไวน์ที่มักมีปริมาณแอลกอฮอล์เฉลี่ย 12% หรือเบียร์ที่มีปริมาณแอลกอฮอล์เฉลี่ย 5% เมื่อกระดกอย่างรวดเร็ว ไม่ว่าจะเป็นแก้วช็อตหรือผสมมิกเซอร์ ก็ทำให้นักดื่มมีความเข้มข้นของแอลกอฮอล์เพิ่มขึ้นภายในกระแสเลือดอย่างรวดเร็ว และนั่นก็จะส่งผลต่ออาการเมา รวมถึงการเปลี่ยนแปลงอารมณ์
นอกจากนี้ความเชื่อผิดๆ ที่เกี่ยวกับการผสมเครื่องดื่ม เราอาจจะเคยได้ยินว่า “Beer before liquor, never been sicker; liquor before beer, you’re in the clear” ดื่มเบียร์ตามด้วยเหล้ามักจะทำให้เมามากกว่าการดื่มเหล้าตามด้วยเบียร์เสมอ นั่นก็ไม่ถูก เพราะจะเมามากเมาน้อยขึ้นอยู่กับปริมาณแอลกอฮอล์ที่ดื่มไปเสียมากกว่า
แล้วเรื่องนี้ให้อะไรกับเรา? จะเห็นว่า อารมณ์ที่เปลี่ยนแปลงเกิดจากความคาดหวังต่อประเภทของแอลอกฮอล์และปริมาณแอลกอฮอล์ที่ได้รับ นักดื่มจึงสามารถลดความรุนแรงของการเปลี่ยนแปลงทางอารมณ์ได้ด้วยการดื่มช้าๆ ไม่ดื่มตอนท้องว่าง และเว้นระยะห่างการดื่มแอลกอฮอล์ ด้วยการจิบน้ำหรือเครื่องดื่มอื่นๆ บ้างระหว่างทาง และอย่าลืมว่า ควรมีสติอยู่เสมอและดื่มในปริมาณที่เหมาะสมเท่านั้น
ที่มา:
Do different drinks make you different drunk?
How different drinks alter your mood
Differential Alcohol Expectancies Based on Type of Alcoholic Beverage Consumed
Emergence of alcohol expectancies in childhood: a possible critical period
เรื่องและภาพ: ทีมงาน Alcohol Rhythm