Hangxiety เมื่อแอลกอฮอล์ทำให้เกิดอาการวิตกหนักหลังดื่ม

November 19, 2020


เลื่อนโทรศัพท์เช็กว่าเผลอพิมพ์อะไรไปหรือเปล่า นั่งทึ้งหัวว่าเราไปทำเรื่องแปลกๆ มาไหมเนี่ย หรืออยู่ๆ ความรู้สึกผิดต่อพ่อแม่เพื่อนฝูงก็ถาโถมเข้ามา อาการเหล่านี้อาจจะเป็นปกติตอนเช้าหลังดื่มจนเมามาย แต่บางทีนี่อาจจะเป็นสัญญาณของบางสิ่งที่เรียกว่า ‘Hangxiety’

สำหรับ Hangxiety ส่วนผสมจาก hangover และ anxiety จนเกิดเป็นอาการว้าวุ่นใจดังที่เกริ่นไปข้างต้นนั้น David Nutt ศาสตราจารย์ด้านประสาทวิทยาที่ Imperial College London อธิบายว่า สาเหตุเกิดจากแอลกอฮอล์ที่ดื่มไปกระตุ้นตัวรับ Gaba (gamma-aminobutyric acid) โดยตรง ซึ่งปกติตัวรับที่ว่าจะทำหน้าที่ส่งข้อความทางเคมีผ่านสมองและระบบประสาทส่วนกลาง เพื่อไปยับยั้งการทำงานของเซลล์ประสาท พูดง่ายๆ ก็คือ เหล้าเบียร์ไปเพิ่ม Gaba ทำให้สมองสงบ ลดความตื่นเต้นด้วยการลดการทำงานของเซลล์ประสาท ช่วยให้เวลาเราจิบเบียร์จะรู้สึกผ่อนคลายหรือร่าเริง แต่ปริมาณการดื่มหลังจากนั้นเป็นส่วนตัดสิน

การดื่ม 1-2 แก้วแรกทำให้ผ่อนคลายเพราะ Gaba ส่วนแก้วที่ 3-4 จะเอฟเฟกต์ไปอีกขั้น เมื่อแอลกอฮอล์ทำให้สมองหย่อนการทำงานลงด้วยการบล็อกการทำงานของกลูตาเมท (glutamate) ซึ่งเป็นตัวส่งสัญญาณกระตุ้นหลักของสมอง ทำให้เวลาดื่มเหล้าเบียร์เราถึงรู้สึกชิลกว่าปกติ ฟังดูก็เหมือนจะเป็นเรื่องแฮปปี้ แต่หลังจากนั้น ร่างกายจะพยายามรักษาสมดุลของสารเคมีในสมองด้วยการตั้งภารกิจลับ พยายามลดระดับ Gaba ลง และให้กลูตาเมทกลับมาดังเดิม ทำให้เมื่อคุณหยุดดื่ม ระดับ Gaba จึงต่ำกว่าปกติ แถมกลูตาเมทยังพุ่งสูงขึ้นจนเกิดเป็นอาการวิตกกังวล ซึ่งปกติสมองอาจจะต้องใช้เวลา 1-2 วันในการฟื้นกลับมา แต่หากเป็นนักดื่มตัวยง ดื่มต่อเนื่องเมาปลิ้นตลอดก็อาจจะใช้เวลาเป็นอาทิตย์หรือเป็นปีก็มี

นอกจากความไม่สมดุลของ Gaba และกลูตาเมทแล้ว แอลกอฮอล์ยังเป็นเหตุให้ฮอร์โมน Noradrenaline หรือที่รู้จักในนามฮอร์โมนที่ให้เราเลือกระหว่างสู้หรือหนี เพิ่มขึ้นเล็กน้อย โดย Nutt อธิบายเพิ่มเติมว่า “อาการวิตกกังวลอย่างรุนแรงถูกพิจารณาว่าเกี่ยวกับการเพิ่มของฮอร์โมน Noradrenaline ในสมอง” พร้อมกับเล่าว่า คีย์หนึ่งที่สำคัญอาจจะอยู่ที่การดื่มแก้วที่ 6-7 ซึ่งระบบกลูตาเมทจะถูกบล็อกจนนำมาสู่การจำเรื่องราวที่เกิดขึ้นไม่ได้ ทำให้เกิดอาการวิตกกังวลไปอีกต่อ

อย่างไรก็ตาม ต้องบอกก่อนว่าอาการวิตกกังวลหลังดื่มของคนเราก็เกิดขึ้นไม่เท่ากัน บางคนก็มีอาการซึมเศร้าหรืออาการวิตกกังวลอยู่แล้ว ขณะที่บางคนมีนิสัยคิดมาก วนไปวนมา ซึ่งกลุ่มคนเหล่านี้มีแนวโน้มจะเกิดอาการวิตกกังวลหนักกว่าคนอื่น

สำหรับการแก้อาการ Hangxiety อาจจะเริ่มด้วยการปิดสวิตช์วงจรวิบัติด้วยการไม่ดื่มในตอนเช้าหรือวันถัดไป เพื่อลดอาการว้าวุ่นใจจากคืนก่อนหน้า หรือดื่มน้ำเยอะๆ เมื่อมีอาการปวดหัวก็รับประทานยาแก้ปวด และลองหายใจเข้าลึกๆ หรือนั่งสมาธิเพื่อจัดการความฟุ้งซ่านที่เกิดในหัวสมอง แต่หากยังไม่ดีขึ้นและมีอาการเป็นประจำ การเข้าไปปรึกษาแพทย์ก็เป็นอีกหนึ่งทางเลือกที่ดี

ส่วนทางป้องกันนั้นมีทั้งการดื่มน้ำระหว่างดื่มแอลกอฮอล์สลับๆ กันไป การหลีกเลี่ยงชา กาแฟ เครื่องดื่มที่ทำให้ใจเต้นตึกตัก กระตุ้นอาการวิตกกังวล และการดื่มเฉพาะกับคนที่ไว้ใจได้ (หากทำเรื่องเพี้ยนๆ เพื่อนจะได้ช่วยเรา) สุดท้าย ถ้าพูดแบบกำปั้นทุบดินก็คือ ให้หลีกเลี่ยงการเผชิญกับสถานการณ์ที่ถ้าเราเผลอทำไปแล้วจะต้องเสียใจในวันรุ่งขึ้น

 


 

ที่มา:

The 6 Best Hangover Cures (Backed by Science)

Hangxiety: The Link Between Anxiety And Alcohol

How to Manage the Dreaded “Hangxiety” After a Night Out

 

เรื่องและภาพ: ทีมงาน Alcohol Rhythm

 

Related Articles