ถอดบทเรียนความรุนแรงและแอลกอฮอล์ในยุคโควิด-19 กับ ‘จะเด็จ เชาวน์วิไล’

June 4, 2020


หลังจากที่แนวโน้มการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 เป็นไปในทิศทางที่ดีขึ้น รัฐบาลจึงเริ่มคลายมาตรการ ‘ล็อกดาวน์’ ลงบางส่วน ดังจะเห็นได้จากการประกาศให้ห้างร้านเริ่มเปิดบริการ  อนุญาตให้มีการรับประทานอาหารนอกบ้าน รวมถึงอนุญาตให้ซื้อขายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ตามปกติ

อย่างไรก็ตาม จากการปิดเมืองที่ผ่านมา ส่งผลให้คนจำนวนมากต้องกักตัวอยู่ในเคหะสถาน ปัญหาความรุนแรงซึ่งเรื้อรังและแอบแฝงในสังคม โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ในบ้านและครอบครัว อาจเพิ่มมากขึ้น ทั้งจากความเครียดเรื่องโรคระบาด ปัญหาเศรษฐกิจ ไปจนถึงการถูกกระตุ้นจากเครื่องดื่มแอลกอฮอล์

Alcohol Rhythm เปลี่ยนจังหวะชีวิตคนติดเหล้า ชวน จะเด็จ เชาวน์วิไล ผู้อำนวยการมูลนิธิหญิงชายก้าวไกล (มญช.) กลับมาคุยอีกครั้ง เพื่อย้อนมองปรากฏการณ์ความรุนแรงในครัวเรือนช่วงล็อกดาวน์ที่ผ่านมา ความสัมพันธ์ระหว่างมาตรการงดจำหน่ายสุรา การดื่ม และการเกิดความรุนแรง ไปจนถึงแนวโน้มของปัญหาในอนาคตหลังจากนี้

 

สถานการณ์ความรุนแรงภายในครอบครัวที่เกิดขึ้นในช่วง ‘ล็อกดาวน์’ เป็นอย่างไร 

อันที่จริง ปัญหาความรุนแรงในสังคมเรา รวมถึงในครอบครัวเกิดขึ้นอยู่ตลอดเวลา ถ้าดูจากตัวเลขที่ทางมูลนิธิ (มูลนิธิหญิงชายก้าวไกล) เป็นผู้เก็บข้อมูลจะเห็นชัดว่า ปัญหาความรุนแรงในครอบครัวในสถานการณ์โควิด-19 ไม่ได้ลดลงไปแม้แต่น้อย ในทางกลับกันอาจเพิ่มขึ้นกว่าเดิมเกือบ 30 เปอร์เซ็นต์ด้วยซ้ำ ทั้งสถิติการฆ่า การทำร้ายกันของคนในสังคม ย้อนหลังช่วงสามเดือนที่ผ่านมากว่า 160 ข่าว มีตัวเลขที่เกี่ยวข้องกับความรุนแรง และการฆ่ากันสูงถึง 80 กว่าข่าวทีเดียว

หากมองย้อนว่าทำไมตัวเลขหรือสถิติความรุนแรงถึงไม่ลดลง เป็นเพราะ หนึ่ง แนวคิดชายเป็นใหญ่ไม่ได้เปลี่ยน หรือเปลี่ยนแปลงไปในลักษณะที่ล่าช้ามาก การบ่มเพาะความคิดของผู้ชายที่เชื่อว่าตัวเองเป็นใหญ่กว่าผู้หญิงยังมีมาตลอด และถูกปลูกฝังผ่านระบบครอบครัว ระบบการศึกษา และสื่อต่างๆ

สถานการณ์ที่ผ่านมาอาจจะดีขึ้นบ้างในแง่กลไกเชิงนโยบาย เช่น เรามี พ.ร.บ.คุ้มครองผู้ถูกกระทำความรุนแรงในครอบครัว เกิดขึ้น มีบ้านพักเด็กและครอบครัว มีกลไกในการช่วยเหลือผู้หญิงจากความรุนแรง ทั้งกฎหมายคุ้มครองโดยตรงและมาตรการในการจัดการดูแล เรามีศูนย์พึ่งได้ของกระทรวงสาธารณสุขหลายศูนย์ ซึ่งช่วยเยียวยาผู้หญิงได้ในระดับหนึ่ง

แต่บางครั้ง กลไกพวกนี้ก็ใช้ไม่ได้ผล เพราะสาเหตุข้อที่ สอง เรื่องปัญหาการบังคับใช้กฎหมาย เรามีจำนวนตำรวจหรือพนักงานสอบสวนผู้หญิงที่คอยรับเรื่องน้อย ส่วนใหญ่คนทำงานเป็นตำรวจผู้ชาย ทำให้เวลาที่เราไปแจ้งความ ตำรวจบางคนก็อาจจะไม่รับแจ้งความ เพราะมองว่าเป็นเรื่องส่วนตัว เป็นเรื่องในครอบครัว บางครั้งกลไกในการบังคับใช้กฎหมายจึงบังคับใช้ได้ไม่ดีเท่าที่ควร

และเมื่อผลออกมาเป็นอย่างนั้น ผู้ชายหลายคนจึงไม่คิดว่าตนจะได้รับผลกระทบอะไรจากการใช้ความรุนแรง ประกอบกับการรายงานข่าวของสื่อมวลชน ที่เมื่อเกิดเหตุทำร้ายร่างกายกัน ก็มักรายงานว่า ผู้หญิงที่ถูกกระทำเป็นคนไม่ดี การนำเสนอข้อมูลแบบนี้ทำให้หลายคนรู้สึกว่า มีเหตุผลให้ต้องใช้ความรุนแรง

นอกจากนี้ สาเหตุข้อที่ สาม คือ อาวุธปืน อุปกรณ์สร้างความรุนแรง รวมถึงตัวกระตุ้นอย่างเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ นั้นหาง่าย ทำให้ความรุนแรงเกิดขึ้นง่าย ไม่ลดน้อยลงไป

 

โควิด-19 ทำให้ปัญหาความรุนแรงในบ้านเพิ่มขึ้นได้อย่างไร 

ถ้าให้ผมวิเคราะห์ สถานการณ์โควิด-19 ส่งผลต่อความรุนแรงแน่นอน เพราะการแก้ปัญหาโควิด-19 ลดการแพร่เชื้อด้วยการให้ทุกคนอยู่บ้าน งดทำกิจกรรมนอกบ้าน ใช้มาตรการปิดเมืองบ้าง กึ่งปิดกึ่งเปิด ใช้เคอร์ฟิวบ้าง เมื่อต้องกลับไปอยู่บ้าน ระบบชายเป็นใหญ่ที่ปลูกฝังในครอบครัวว่า งานบ้านไม่ใช่งานของผู้ชาย ผู้ชายต้องออกจากบ้านไปทำงานหาเงิน ส่วนผู้หญิงต้องเลี้ยงลูกดูแลบ้าน พอผู้ชายกลับมาอยู่บ้านจึงเกิดปัญหา เพราะไม่คุ้นชินกับการทำงานบ้านและไม่ได้ถูกฝึกมา

นอกจากนี้ ระบบทุนนิยมยังทำให้ผู้ชายไม่อยู่ติดบ้าน เป็นระบบที่ดึงครอบครัวออกจากกัน เพราะในวันปกติ ผู้ชายก็ออกไปทำงาน ครอบครัวจึงได้เจอหน้ากันเฉพาะวันหยุดสุดสัปดาห์ แต่ผู้ชายส่วนหนึ่งก็เลือกใช้วันหยุดสุดสัปดาห์ออกไปกินเหล้ากับเพื่อน นี่เป็นวิถีชีวิตแบบลูกผู้ชาย ผมไม่ได้พูดเกินจริงไปเลย ผู้ชายมักจะวนเวียนไปคลับ ไปบาร์ ไปสนามมวย แต่เมื่อเกิดการแพร่ระบาดของโควิด-19 ทำให้เขาต้องอยู่แค่ที่บ้าน เมื่อขาดอิสระ ก็เกิดปัญหาความรุนแรงตามมาได้ง่าย

ตัวอย่างคือ ในช่วงกักตัว มีอยู่เคสหนึ่ง ผู้ชายอยากออกจากบ้านไปดื่มเหล้ากับเพื่อนๆ แต่ภรรยาไม่ยอมให้ไป เพราะกลัวว่าจะเกิดความเสี่ยงในการติดโรค จนเกิดความขัดแย้งกันในครอบครัว ดังนั้น โควิด-19 เองก็ทำให้เราเห็นภาพความรุนแรงที่เกิดจากแอลกอฮอล์ชัดเจนมากขึ้น

อีกกรณีหนึ่งคือ ผู้หญิงถูกเลิกจ้าง กลับบ้านที่ต่างจังหวัดและเจอสามีมาขอนอนด้วย ฝ่ายภรรยาไม่ยอม เพราะกลัวเรื่องการติดเชื้อโควิด-19 สามีจึงทำร้ายร่างกายเพราะคิดว่าภรรยาไปมีคนอื่น ส่วนอีกกรณี เป็นผู้หญิงทำร้านอาหาร พอเกิดวิกฤตโควิด-19 ก็ต้องหยุดงาน ไปหางานทำที่บาร์แห่งหนึ่ง ระยะต่อมาเมื่อเกิดการล็อกดาวน์จนต้องปิดบาร์ นายจ้างกลับร่วมมือกับเพื่อนคิดอุบายให้เธอดื่มเหล้า และรุมโทรมเธอในบาร์

การล็อกดาวน์หรือปิดเมืองในช่วงที่ผ่านมา ยังทำให้คนตกงานมากขึ้น พอตกงานก็ทำให้เกิดคนจนในสังคมเพิ่มมากขึ้น ซึ่งชนชั้นกลางระดับล่างเหล่านี้ก็น่าจะมีเกือบสิบล้านคน และนำไปสู่ปัญหาความเครียด การใช้อำนาจชายเป็นใหญ่ในครอบครัว ปัญหาความรุนแรงต่อผู้หญิงและครอบครัว

 

การทำงานของมูลนิธิหญิงชายก้าวไกลเรื่องความรุนแรงต้องเปลี่ยนไปอย่างไรในสถานการณ์โรคระบาด

เคสความรุนแรงที่รายงานเข้ามามีมากขึ้น และเราเห็นว่าผู้หญิงส่วนใหญ่ตอนนี้ต้องยอมอดทน เพราะแค่แก้ไขปัญหาเฉพาะหน้าอย่างการดูแลลูก เรื่องหากิน การออกนอกบ้าน เขาก็แย่แล้ว นอกจากนี้ เคสความรุนแรงในชุมชนก็มี กระทบกระทั่งกันเพราะปัญหาเศรษฐกิจ

ในตอนนี้มูลนิธิฯ ต้องหันมาแก้ไขปัญหาเฉพาะอย่างเรื่องปากท้องและความเครียด เพราะบางคนตกงาน เครียด เราก็ต้องช่วยเหลือเขา หากิจกรรมให้เขาได้ฟื้นฟูสุขภาพจิตใจ ด้านปัญหาเรื่องแอลกอฮอล์ก็มีบ้าง เช่น เคสที่ติดเหล้าแล้วลงแดง มีเคสหนึ่งเป็นหนักจนต้องพาไปโรงพยาบาล และเสียชีวิตไปแล้ว แต่น้อยลง เพราะหาซื้อเหล้ากันยากขึ้นในช่วงห้ามขายเหล้าที่ผ่านมา ปัญหาเรื่องยาเสพติดเองก็มีไม่มากเท่าแต่ก่อน เพราะคนไม่รู้จะเอาเงินที่ไหนไปซื้อ

นอกจากนี้ มูลนิธิฯ ยังช่วยให้ความรู้เรื่องการดูแลสุขภาพ ป้องกันการแพร่ระบาดของโควิด-19

 

จากสถิติของมูลนิธิฯ มูลเหตุและแรงจูงใจของความรุนแรงที่เกิดจากเรื่องแอลกอฮอล์ยังคงสูงที่สุดเมื่อเทียบกับสาเหตุอื่น แม้ในช่วงที่รัฐใช้มาตรการงดจำหน่ายสุรา เหตุใดจึงเป็นเช่นนั้น 

สถิติที่เห็นว่ามีมากเป็นสถิติที่เก็บในช่วงที่ยังไม่ได้ล็อกดาวน์ งดขายเหล้าเต็มที่ ทำให้บางคนยังมีเหล้าเก็บไว้ ช่วงที่ยังมีเหล้าไว้ดื่มก็เลยเป็นมูลเหตุสำคัญที่ทำให้เกิดความรุนแรง แต่ในระยะหลัง เมื่อหาซื้อเหล้าไม่ได้ ความรุนแรงที่เกิดจากเหล้าในช่วงหลังก็เริ่มลดลง

ผมมองว่าการผ่อนปรนกลับมาขายเหล้า ทำให้เขาหาซื้อได้ ก็อาจทำให้ปัญหากลับมาอีก เพราะนอกจากเหล้าจะเป็นตัวกระตุ้นความรุนแรงจากฤทธิ์ของมันเองแล้ว ผู้ชายในสังคมชายเป็นใหญ่ยังคิดว่าเหล้าเป็นส่วนหนึ่งของชีวิตลูกผู้ชาย เป็นวิถีชีวิตร่วมกับกลุ่มเพื่อนกลุ่มใหญ่ ถ้าออกไปดื่ม แล้วกลับมา ภรรยาต่อว่าว่าไม่กลัวติดโรคเหรอ? เขาก็จะโกรธ รู้สึกว่าความเป็นลูกผู้ชายของเขาแตะไม่ได้ ยอมไม่ได้ ถ้ายอม ก็จะเสียหน้า วัฒนธรรมความเชื่อที่เกี่ยวกับเหล้าแบบนี้ก็กระตุ้นให้เกิดความรุนแรงเช่นกัน

 

สถานการณ์ความรุนแรงและแนวโน้มการดื่มแอลกอฮอล์ในอนาคตจะเป็นอย่างไร    

ผมคิดว่า ความรุนแรงไม่ลดลงหรอก เพราะ หนึ่ง สังคมยังคงมีปัญหาเศรษฐกิจ คนมีความเครียดอีกหลายเดือน หลายๆ คนอาจจะยังไม่มีงานทำอยู่ ซึ่งความเครียดก็เป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้ความรุนแรงยังเกิดขึ้น เรื่องที่น่าห่วงคือ หลายคนเดินทางกลับบ้านต่างจังหวัด รวมแล้วจำนวนหลายล้านคน อาจจะนำไปสู่การแย่งชิงทรัพยากรที่มีอยู่จำกัดในต่างหวัด ไม่ว่าเรื่อง น้ำ ที่ดินอาหาร จะเกิดปัญหาทางสังคม และความรุนแรงเพิ่มตามมา

สอง ต่อให้ไม่มีเหล้าเป็นตัวกระตุ้น แนวคิดชายเป็นใหญ่ก็ยังคงอยู่ แม้ว่าจะมีมาตรการห้ามซื้อขายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ในช่วงที่ผ่านมา แต่ผมมองว่า หากยกเลิกมาตรการ การดื่มเหล้าก็อาจไม่มีแนวโน้มลดลง เพราะสุดท้าย ถ้าพื้นที่ทางสังคมน้อย ผู้คนไม่มีพื้นที่ในการระบายทุกข์ และมีการกดทับทางชนชั้นที่ยากจนไม่มีการรวมกลุ่ม การดื่มเหล้าจึงเหมือนการระบายความเครียดที่เกิดจากปัญหาเศรษฐกิจในเวลานี้

 

เราจะออกแบบวิธีการรับมือกับความรุนแรงจากการดื่มแอลกอฮอล์ที่อาจมากขึ้นเพราะปัญหาทางเศรษฐกิจและสังคมได้อย่างไร 

เบื้องต้น จากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 เป็นช่วงวิกฤตที่ทำให้เกิดปัญหาเรื่องรายได้ จากการลดชั่วโมงทำงาน ถูกเลิกจ้าง  ไม่มีเงินเลี้ยงดูครอบครัว บางคนเข้าไม่ถึงอาหาร ถุงยังชีพ และสวัสดิการจากภาครัฐ เนื่องจากเป็นคนต่างหวัดที่เข้ามาทำงานในเมือง จึงมีไม่มีสำเนาทะเบียนบ้าน ส่งผลให้ไม่ได้รับการช่วยเหลือ ในจุดนี้มูลนิธิฯ จึงขอรับบริจาคข้าวสารอาหารแห้งจากเครือข่าย ส่งต่อให้คนที่ตกหล่นจากหน่วยงานรัฐเหล่านี้

ต่อมา คือ การแก้ไขปัญหาและลดภาวะความเครียดให้กับคนที่ตกงานโดยทางมูลนิธิได้หาทางออกร่วมกันกับแกนนำชุมชน องค์กรพัฒนาเอกชน เช่น มูลนิธิชีววิถี  หน่วยงานภาครัฐ จัดหาอาชีพให้ทำ สร้างพื้นที่ปลูกผักเกษตรอินทรีย์ในชุมชน เพื่อสร้างความมั่นคงทางอาหารและเสริมรายได้ จัดประชุมเพื่อระบายความทุกข์ ลดปัญหาความเครียด และลดปัญหาความรุนแรงในครอบครัว

ส่วนการแก้ปัญหาการดื่มเหล้านั้น จะให้สอดคล้องกับการแก้ปัญหาวิกฤตจากโควิด-19 โดยแทรกไปกับการทำกิจกรรมที่ระบายความทุกข์ การสนับสนุนให้ทำกิจกรรมเสริมรายได้ หรืออาชีพที่สอดคล้องในช่วงนี้ และมีกิจกรรมแลกเปลี่ยน เพื่อสะท้อนปัญหา ผลกระทบจากการดื่มเหล้า โดยที่ไม่เอาการดื่มเหล้าเป็นประเด็นปัญหาหลักก่อน  แต่จะเอาปัญหาที่ได้รับผลกระทบจากโควิด-19 ของผู้ดื่มเหล้าเป็นตัวนำ

 

 


เรื่องและภาพ: ทีมงาน Alcohol Rhythm

Related Articles