ศูนย์ปรึกษาปัญหาสุรา ‘1413’ สายนี้เพื่อคนอยากเลิกเหล้า: คุยกับ พ.อ.(พิเศษ)นพ.พิชัย แสงชาญชัย

August 6, 2019


ปัญหาการติดสุราในประเทศไทยเป็นหนึ่งในปัญหาที่ค่อนข้างซับซ้อน กล่าวคือ ด้วยความที่สุราจัดเป็นสารเสพติดที่ถูกกฎหมาย หาซื้อง่าย และมีวัฒนธรรมการดื่มแทรกอยู่ในทุกงานสังสรรค์ ทำให้คนจำนวนมากดื่มบ่อย จนกระทั่งเข้าสู่ภาวะติดสุราเรื้อรังและต้องเข้ารับการบำบัดรักษา แต่คนจำนวนมากที่ติดสุรากลับดึงดันไม่ยอมเข้ารับการรักษา อีกทั้งยังคิดว่าตนเองไม่ได้ติด และไม่มีความจำเป็นต้องเข้ารับการรักษาแต่อย่างใด หรือในกรณีของผู้ที่ต้องการเข้ารับการบำบัด ก็อาจจะเจอกับปัญหาเรื่องค่าใช้จ่ายซึ่งเป็นอุปสรรคอย่างหนึ่งในการเข้าถึงบริการ ดังนั้น เราจึงจะเห็นว่า แม้จำนวนผู้ดื่มสุราในประเทศไทยจะสูง แต่ตัวเลขผู้ที่เข้ารับการบำบัดกลับสวนทางกับจำนวนผู้ดื่ม คือคิดเป็นจำนวนที่น้อยจนน่าใจหาย

ในประเทศไทย มีความพยายามหลายอย่างที่จะลดช่องว่างการเข้าไม่ถึงบริการบำบัดรักษา และหนึ่งในนั้นคือโครงการศูนย์ปรึกษาปัญหาสุราทางโทรศัพท์ หรือที่เรารู้จักกันในนาม สายด่วนเลิกเหล้า 1413 ซึ่งเป็นรูปแบบการให้คำปรึกษาทางโทรศัพท์หรือทางออนไลน์ โดยสายด่วนเลิกเหล้าเป็นนวัตกรรมเลิกเหล้าที่สะดวกและประหยัด เพราะผู้มาขอรับบริการสามารถติดต่อทางโทรศัพท์หรือทางออนไลน์ได้ มีความต่อเนื่องเพราะจะมีการให้บริการติดตามผลในช่วงเวลา 12 เดือน นับจากที่ผู้ขอรับบริการโทรมา และรวดเร็วเพราะผู้ขอรับบริการสามารถโทรเข้ามาขอคำปรึกษาได้ก่อน ซึ่งจะช่วยทำให้ผู้ดื่มเข้าสู่ระบบบำบัดได้เร็วขึ้น ทั้งหมดนี้ทำให้สายด่วนเลิกเหล้าเป็นอีกหนึ่งตัวเลือกที่น่าสนใจสำหรับผู้ติดสุรา หรือญาติของผู้ติดสุราที่ต้องการคำปรึกษา

Alcohol Rhythm เปลี่ยนจังหวะชีวิตคนติดเหล้า สนทนากับ .อ.(พิเศษ)นพ.พิชัย แสงชาญชัย จิตแพทย์ กองจิตเวชและประสาทวิทยา โรงพยาบาลพระมงกุฎเกล้า ไล่เรียงตั้งแต่เรื่องสถานการณ์การดื่มสุรา และช่องว่างในการเข้าไม่ถึงบริการบำบัดรักษาอาการติดสุรา รวมถึงเรื่องโครงการสายด่วนเลิกเหล้า 1413 และการบำบัดรักษาผู้ติดสุราในภาพรวม

 

 

ตอนนี้สถานการณ์การดื่มสุราของคนไทยเป็นอย่างไร และที่บอกว่ายังมีช่องว่างในการเข้าไม่ถึงบริการบำบัดรักษา คุณหมอคิดว่าช่องว่างนี้เป็นอย่างไรบ้าง ถ้าเทียบในอดีตกับปัจจุบัน

กรมสุขภาพจิตเคยทำการสำรวจในปีพ.ศ. 2556 พบว่า คนที่มีปัญหาการดื่มสุราทั้งประเทศมีประมาณ 2.7 ล้านคน และในจำนวนนี้จะมีผู้ที่ดื่มแบบอันตรายประมาณ 1.8 ล้านคน และคนที่อยู่ในข่ายติดประมาณ 900,000 คน

ใน 900,000 คนนี้ มีคนที่เข้าสู่ระบบการบำบัดรักษาประมาณ 6.1% และยังไม่เข้าอีก 94% ซึ่งถือว่าสูงมาก ตรงนี้เรียกว่าเป็นช่องว่าง (Gap) ที่คนมีปัญหาการดื่มไม่ได้เข้าสู่การรักษา ผมคิดว่า ช่องว่างตรงนี้เกิดจากการที่สังคมอาจจะยังไม่ค่อยเข้าใจเรื่องอาการติดสุรา ว่าเป็นโรคที่บำบัดรักษาได้ ไม่รู้ว่าถ้าจะรักษาต้องไปหาใคร ไปพบแพทย์ด้านไหน อีกทั้งสถานบำบัดก็ยังมีอยู่จำกัด ในแง่ของการเบิกค่ารักษา ก็ยังเบิกไม่ได้เพราะภาครัฐไม่ได้สนับสนุนตรงนี้ ซึ่งก็เป็นเหตุผลรวมๆ ที่ทำให้ช่องว่างที่ว่านี้มีขนาดใหญ่

 

โครงการศูนย์ปรึกษาปัญหาสุรา 1413 หรือสายด่วนเลิกเหล้า ที่เริ่มต้นในปีพ.ศ. 2548 มีจุดเริ่มต้นมาจากอะไร

จุดเริ่มต้นคือสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) เริ่มทำโครงการเลิกเหล้าเข้าพรรษา ซึ่งเมื่อทำการรณรงค์ให้ประชาชนเลิกเหล้าในช่วงเข้าพรรษา คนก็มีความต้องการอยากจะเลิก แต่พออยากจะเลิก ก็จะมีคนไข้บางคนที่มีอาการถอนพิษรุนแรง และอาจจะเป็นอันตรายได้ ซึ่งอันตรายจากการถอนพิษที่ว่าคือ ชัก สมองสับสน มีโรคแทรกซ้อน ซึ่งคนกลุ่มนี้จะมีประมาณ 5% จากทั้งหมด ด้วยเหตุนี้ ทางสสส. จึงได้จัดตั้งสายด่วนเลิกเหล้าขึ้น เพื่อให้ความรู้ ความเข้าใจ และความช่วยเหลือแก่ผู้ดื่มที่อยากจะหยุดดื่มให้สามารถหยุดดื่มได้อย่างปลอดภัย และโครงการนี้ก็ดำเนินต่อเนื่องมาเรื่อยๆ

เมื่อมาถึงยุคของแผนงานการพัฒนาระบบ รูปแบบ และวิธีการบำบัดรักษาผู้มีปัญหาการบริโภคสุราแบบบูรณาการ (ผรส.) ทางสสส.เห็นว่า การทำงานเรื่องสายด่วนควรจะมีฝั่งวิชาการเข้ามาร่วมด้วย จึงให้ทางผรส.เข้ามาดูแล ซึ่งผมก็เข้ามาดูแลในช่วงนี้ คือในปีพ.ศ. 2556 โดยมีการพัฒนาเรื่องทางวิชาการ และทำการศึกษาวิจัยเพื่อให้ได้ระบบรูปแบบที่ชัดเจน และมีหลักฐานทางวิชาการรองรับว่าดี

 

ในตอนที่คุณหมอเข้ามาดูแลโครงการนี้ เห็นความสำเร็จหรือจุดแข็งอย่างไรบ้าง

สิ่งที่ได้เห็นคือ สายด่วนมีศักยภาพในการให้บริการ ซึ่งผมคิดว่านี่เป็นช่องทางที่จะช่วยปรับเปลี่ยนพฤติกรรมได้ โดยเมื่อคนไข้หรือญาติโทรเข้ามาขอคำปรึกษา แล้วเราให้คำปรึกษาไป 1 ครั้ง จากนั้น เราไปติดตามวัดผลแล้วพบว่า มีการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรม คือดื่มน้อยลง และการดื่มมีความรุนแรงน้อยลง ญาติก็มีสุขภาพจิตที่ดีขึ้น อันนี้เรียกได้ว่าเป็นจุดแข็งของสายด่วนเลิกเหล้า

อีกหนึ่งจุดแข็งคือ การให้ความรู้กับสังคมและเป็นตัวเชื่อมต่อระหว่างชุมชนกับสถานบำบัด ซึ่งเป็นการช่วยลดช่องว่างในการเข้าถึงบริการบำบัดรักษา (Treatment gap) ด้วยส่วนหนึ่ง อีกทั้งโครงการนี้ยังเป็นที่ฝึกและสร้างนักให้คำปรึกษาหน้าใหม่เพิ่มมากขึ้น เพื่อที่จะเข้าไปให้ความรู้ ความเข้าใจ และให้คำปรึกษาแก่ผู้ดื่มและญาติ อีกทั้งสายด่วนยังร่วมมือกับภาคีเครือข่ายในการรณรงค์ให้ความรู้และความเข้าใจแก่คนในสังคม เกี่ยวกับเรื่องการลดปริมาณการดื่ม การปรับเปลี่ยนพฤติกรรม และการเลิกสุราอย่างปลอดภัย

 

นักให้คำปรึกษาหน้าใหม่คือคนกลุ่มใดบ้าง

โครงการเราจะมีนักศึกษาระดับปริญญาตรี คณะจิตวิทยา สาขาการให้คำปรึกษา มาฝึกงาน โดยมีมหาวิทยาลัยต่างๆ ส่งนักศึกษามาฝึกงานที่นี่ประมาณ 3-4 เดือนต่อรุ่น ซึ่งเรามีโอกาสฝึกฝนนักศึกษากลุ่มนี้ให้มีศักยภาพในการให้คำปรึกษาผู้ดื่มและญาติ โดยมีหลักสูตรฝึกฝนที่ชัดเจน

 

กลุ่มคนส่วนใหญ่ที่โทรเข้ามาขอคำปรึกษาเป็นกลุ่มใด ระหว่างญาติกับตัวผู้ติดสุราเอง

ในตอนแรก พบว่าส่วนใหญ่เป็นญาติ โดยมีอัตราส่วนประมาณสัก 60:40 ซึ่งน่าจะมาจากการที่ตัวผู้ดื่มเองไม่ได้คิดอยากจะเลิก จึงไม่ได้หาข้อมูล มีแต่ญาติที่เดือดร้อน แต่พอเราทำไปเรื่อยๆ พบว่าอัตราส่วนตรงนี้เปลี่ยนไป กลายเป็น 50:50 ซึ่งเข้าใจว่า น่าจะเป็นผลมาจากการรณรงค์ทำให้ผู้ดื่มรับรู้ว่ามีช่องทางขอความช่วยเหลืออยู่ จึงโทรมาเองมากขึ้น

 

กระบวนการให้คำปรึกษาทางโทรศัพท์ของสายด่วนเลิกเหล้าตั้งแต่ต้นจนจบประกอบด้วยขั้นตอนใดบ้าง

การให้คำปรึกษาทางโทรศัพท์จะมีอยู่ 3 ประเภท ได้แก่ (1) reactive call คือเขาโทรเข้ามาหาเรา เราก็ให้บริการ (2) proactive call คือเราเป็นฝ่ายโทรไปเอง และ (3) follow up call คือการโทรติดตามผล ซึ่งเมื่อเราเปิดบริการสายด่วน 1413 ทางสสส.ก็ช่วยประชาสัมพันธ์ให้คนรับรู้ว่ามีสายด่วนนี้อยู่ เมื่อคนโทรเข้ามา เรานับเป็นครั้งแรก และให้คำปรึกษาพูดคุยไป โดยเฉลี่ยประมาณครึ่งชั่วโมงต่อคน

วัตถุประสงค์ของสายด่วนเลิกเหล้าคือ การช่วยให้เขาปรับเปลี่ยนพฤติกรรมและมีแรงจูงใจในการเลิก ถ้าเป็นญาติ ก็ช่วยในด้านจิตใจ เพราะญาติมักจะได้รับผลกระทบจากผู้ดื่มและพยายามหาความช่วยเหลือ เมื่อเราคุยเสร็จแล้ว จะขอเบอร์ติดต่อเพื่อโทรกลับไปติดตามผล โดยเราตั้งโปรแกรมไว้ว่าจะติดตาม 5 ครั้งในหนึ่งปี โดยแบ่งเป็นโทรในช่วง 1 สัปดาห์ถัดไป 1 เดือนถัดไป 3 เดือนถัดไป 6 เดือนถัดไป และ 12 เดือนถัดไป เพราะฉะนั้น คนที่เข้ามารับบริการจะได้รับบริการให้คำปรึกษาประมาณ 6 ครั้ง

นอกจากนี้ เรายังพบองค์ความรู้ว่า การบำบัดที่ได้ผลดีคือการเสริมสร้างแรงจูงใจ จึงเกิดนวัตกรรมใหม่ขึ้นมา เรียกว่า Telephone Motivational Enhancement Therapy (TMET) คือการบำบัดเพื่อเสริมสร้างแรงจูงใจทางโทรศัพท์ ซึ่งเป็นผลพวงจากการดำเนินโครงการ โดยเมื่อเราพบว่า วิธีและโครงสร้างแบบนี้ได้ผลดี เราก็ทำการศึกษาวิจัย เปรียบเทียบระหว่างกลุ่มที่ได้รับคำปรึกษาตามปกติ กับกลุ่มที่ได้รับคำปรึกษาแบบเสริมสร้างแรงจูงใจแล้วติดตามผล 6 เดือน ซึ่งเราพบว่ามีความแตกต่างชัดเจนทั้งกับตัวผู้ดื่มและญาติ ฉะนั้น TMET จึงเป็นวิธีการที่เราปฏิบัติต่อเนื่องมาจนถึงปัจจุบัน

 

การเสริมสร้างแรงจูงใจกับการให้คำปรึกษาตามปกติให้ผลลัพธ์ที่แตกต่างกันอย่างไร

จากการวัดผลพบว่า ระดับความรุนแรงของการดื่มลดลงอย่างมีนัยยะสำคัญ ในส่วนของญาติ สภาพอารมณ์ จิตใจก็ดีขึ้น และมีหนทางในการแก้ไขปัญหาที่ดีกว่า เช่น สามารถพูดเสริมสร้างแรงจูงใจ หรือพาผู้ดื่มไปสู่สถานบำบัดได้มากกว่า เพราะว่าในตอนเริ่มต้น ผู้ดื่มหรือญาติจะพยายามแสวงหาวิธีการหยุด ลด ละ เลิกสุราเอง พอทำไปสักพักแล้วไม่สำเร็จ ก็จะเลิกล้มความตั้งใจ รอจนเจ็บป่วยหนักแล้วถึงคิดจะเลิก ตอนนั้นถึงจะเลิกได้ แต่สุขภาพก็ย่ำแย่ไปแล้ว ดังนั้น แรงจูงใจในการเปลี่ยนแปลงจึงมีความสำคัญมาก และที่สำคัญกว่านั้นคือ การสร้างแรงจูงใจควรจะมีความต่อเนื่อง ซึ่งการเปลี่ยนแปลงสำคัญจะอยู่ในช่วง 6-12 เดือนแรก เพราะฉะนั้น การบริการของเราจึงครอบคลุมเวลาการปรับเปลี่ยนพฤติกรรม เพื่อส่งเสริมให้เขามีแรงจูงใจในการเปลี่ยนแปลงอย่างต่อเนื่อง เพื่อจะได้เกิดผลสำเร็จมากขึ้น

 

อะไรคือความเข้าใจผิดหรือความไม่รู้ รวมถึงคำถามที่พบบ่อยจากกลุ่มคนที่โทรเข้ามาที่ 1413

สำหรับผู้ดื่ม เราพบว่าเมื่อผู้ดื่มต้องการจะเลิกสุรา เขาจะคิดถึงวิธีหักดิบ คือหยุดด้วยตัวเอง แต่ไม่ได้คิดถึงการมาบำบัด และผู้ดื่มก็ไม่เข้าใจว่าอาการติดสุราเป็นโรค ที่มีความเกี่ยวข้องกับสมองหรือพฤติกรรม แต่จะมีมุมมองคล้ายๆ กันว่า ตนเองมีอุปนิสัยที่ชอบดื่ม เพราะฉะนั้นถ้าจะเลิกดื่ม ก็ต้องเปลี่ยนนิสัยที่ว่า แค่นั้นจบ เรายังพบต่อว่า ผู้ดื่มที่พยายามจะเลิกดื่มก็มักจะเจอความล้มเหลวซ้ำๆ เมื่อเขาล้มเหลว เขาก็จะหายไปนานทีเดียวกว่าจะกลับมา ซึ่งตรงนี้เป็นสิ่งที่เราต้องเติมความรู้ความเข้าใจให้ผู้ดื่มว่า การติดสุราเป็นโรคที่สามารถบำบัดรักษาได้ และต้องมีการดูแลที่ต่อเนื่อง

สำหรับญาติ สิ่งที่เราพบคือ ญาติจะต้องการให้ผู้ดื่มหยุดดื่ม จนลืมดูแลสภาพอารมณ์และจิตใจของตนเอง เพราะญาติก็เป็นผู้ที่ได้รับผลกระทบด้านร่างกายและจิตใจจากผู้ดื่มเช่นกัน ฉะนั้น เราจะช่วยญาติในเรื่องของจิตใจ คือทำให้เขาผ่อนคลาย รู้สึกดีขึ้นว่ามีคนมาช่วยเหลือ แล้วก็จะมีหนทางไปช่วยปรับเปลี่ยนผู้ดื่มอีกทีหนึ่ง คืออย่ามุ่งแต่ช่วยผู้ดื่มจนลืมดูแลตัวเอง บางรายอาจจะถูกผู้ดื่มสุราทำร้ายซ้ำๆ หรือตัวญาติเองเครียดจนต้องไปรักษากับจิตแพทย์ก็มี ซึ่งเราก็จะช่วยญาติก่อน

นอกจากนี้ ยังมีคำถามหนึ่งที่เราจะพบบ่อยๆ คือเรื่องของยาเบื่อเหล้า (Disulfiram) เป็นคำถามยอดฮิตเลยว่า จะหาซื้อยาเบื่อเหล้าได้ที่ไหน ซึ่งความจริงแล้ว ยาเบื่อเหล้าเป็นยาที่ค่อนข้างอันตราย อย่างที่เราเห็นในข่าวว่า ญาติอยากให้ผู้ติดสุราเลิกดื่ม ก็ไปซื้อยาเบื่อเหล้าจากร้านขายยามาแอบใส่ให้ผู้ติดสุราทาน สุดท้ายก็เกิดผลข้างเคียงรุนแรงและเสียชีวิตไปก็มี เพราะฉะนั้น ถ้าจะใช้ยาเบื่อเหล้าต้องไปปรึกษาแพทย์ ซึ่งเรื่องยาเบื่อเหล้านี้ก็เป็นเรื่องที่จะต้องพูดคุยและชี้แจงกันพอสมควร เพื่อจะได้ใช้ยาอย่างถูกต้อง

 

 

จากที่ติดตามสถิติของผู้ที่โทรเข้ามาขอรับคำปรึกษา มีช่วงไหนบ้างไหมที่จำนวนคนโทรเข้ามาจะเพิ่มขึ้นอย่างมีนัยยะสำคัญ

เนื่องจากโครงการสายด่วนเลิกเหล้าเป็นโครงการที่ได้รับการประชาสัมพันธ์โดยสสส. ซึ่งจะรณรงค์ประชาสัมพันธ์มากในช่วงฤดูกาลเข้าพรรษา เพราะฉะนั้น จะมีคนโทรเข้ามามากในช่วง 3 เดือนของฤดูกาลเข้าพรรษา เรียกได้ว่าเป็นสัดส่วน 2 ใน 3 ของงานทั้งหมด

 

ตอนนี้ ทางสายด่วนเลิกเหล้ามีความร่วมมือกับภาคส่วนต่างๆ อย่างไรบ้าง

เราร่วมรณรงค์กับภาคีเครือข่าย หลักๆ คือทาง สสส. และกรมควบคุมโรค เมื่อมีงานรณรงค์อะไร เราก็จะไปออกบูธร่วมรณรงค์และประชาสัมพันธ์ ว่า นี่เป็นอีกหนึ่งช่องทางที่ประชาชนจะขอความรู้ ความเข้าใจ และคำปรึกษาได้ ในส่วนความร่วมมือกับกระทรวงสาธารณสุข เราเป็นวิทยากรฝึกอบรมด้านการให้คำปรึกษาทางโทรศัพท์ และการให้คำปรึกษาเพื่อเสริมสร้างแรงจูงใจ ตัวอย่างที่เป็นรูปธรรม เช่น เราได้ให้การสนับสนุนสายด่วนเลิกพนัน 1323 ของกรมสุขภาพจิต โดยไปเป็นพี่เลี้ยงในการฝึกให้ความรู้ด้านการให้คำปรึกษา และการเสริมสร้างแรงจูงใจ

 

แล้วมีแผนที่จะขยายความร่วมมือไปยังภาคส่วนอื่นในอนาคตอย่างไร

งานแรกที่เราคิดว่าต้องขยับขยายคือ เราจะเชื่อมระบบกับสถานบำบัดเข้าด้วยกัน เช่น เมื่อสถานบำบัดให้การบำบัดผู้ติดสุราแล้ว จะส่งต่อรายชื่อมาที่เรา ให้เราติดตามเพื่อช่วยให้ผู้ดื่มเปลี่ยนแปลงอย่างต่อเนื่อง และเป็นการตรวจดูผลลัพธ์ของการบำบัดด้วยว่า ที่บำบัดไปแล้วได้ผลอย่างไรบ้าง

สำหรับโครงการใหม่ที่จะเชื่อมระบบกับภาคส่วนอื่นๆ เราจะไปร่วมมือกับกรมควบคุมโรค ซึ่งทางกรมจะช่วยประชาสัมพันธ์สายด่วนนี้ในวงกว้าง ดังนั้น เราก็หวังว่าในภาคส่วนอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องกับผู้ดื่มจะช่วยเราประชาสัมพันธ์มากขึ้น เพื่อที่ผู้ดื่มและญาติจะโทรมามากขึ้น

 

ตอนนี้ทางสายด่วนเจอปัญหาหรืออุปสรรคอะไรบ้างไหม

ผู้ป่วยสุราถือว่าเป็นผู้ป่วยที่ซับซ้อน คือมีปัญหาโรคร่วมทั้งทางกายและทางจิต รวมถึงปัญหาอื่นๆ ด้วย ดังนั้น คนที่ให้คำปรึกษาต้องเป็นผู้เชี่ยวชาญ เพราะเราเคยใช้อาสาสมัครคนทั่วไป แล้วพบว่าอาจจะเกิดความผิดพลาดในการให้คำปรึกษาได้ เนื่องจากนี่ไม่ใช่แค่การให้ข้อมูลแบบตรงไปตรงมา แต่ต้องใช้กระบวนการให้คำปรึกษา และต้องมีความรู้ความเข้าใจทางการแพทย์เกี่ยวกับอาการติดสุราและโรคร่วม บางครั้งอาจจะมีเรื่องสารเสพติดหรือโรคจิตเวชอื่นๆ ด้วย ดังนั้น ผู้ที่จะมาให้คำปรึกษาต้องมีความรู้ทางการแพทย์มากพอสมควร เราจึงต้องใช้ผู้เชี่ยวชาญที่เป็นบุคลากรทางการแพทย์ ไม่ว่าจะเป็นพยาบาล นักสังคมสงเคราะห์ หรือนักจิตวิทยา ทำให้นี่เป็นข้อจำกัดอย่างหนึ่งในเรื่องเจ้าหน้าที่ที่จะมาให้คำปรึกษา ซึ่งเราจะต้องพยายามสร้างคนใหม่ๆ ที่จะเข้ามาทำหน้าที่ตรงนึ้ขึ้นมาด้วย

อีกเรื่องหนึ่งคือเรื่องงาน เพราะตัวงานจะเติบโตไปพร้อมกับการประชาสัมพันธ์ ซึ่งปกติงบประมาณด้านการประชาสัมพันธ์จะค่อนข้างสูงอยู่แล้ว ดังนั้น งบที่จะมาลงตรงนี้ก็อาจจะมีข้อจำกัด และต้องใช้งบประมาณในการประชาสัมพันธ์มากพอสมควร

นอกจากนี้ อีกประเด็นหนึ่งคือเรื่องการเบิกค่ารักษาของการบำบัด ซึ่งภาครัฐยังไม่ได้สนับสนุนให้สามารถเบิกค่าบำบัดสุราได้ ผู้ดื่มบางคนจึงอาจจะมีปัญหาในเรื่องของค่าใช้จ่าย ดังนั้น ถ้าภาครัฐสนับสนุนเรื่องงบประมาณในการบำบัดรักษา ก็จะเป็นโอกาสที่ทำให้ผู้ดื่มเข้าสู่สถานบำบัดได้มากขึ้น

 

ในทางการแพทย์ การติดสุราแตกต่างจากการติดสารเสพติดชนิดอื่นอย่างไร

สุราถือเป็นสารเสพติดที่ถูกกฎหมาย เข้าถึงได้ง่าย อีกทั้งการดื่มสุราก็เป็นส่วนหนึ่งของวัฒนธรรมทางสังคม งานแต่ง งานบวช หรืองานเฉลิมฉลองอะไรต่างๆ ก็มักจะมีสุราเข้าไปเกี่ยวข้อง ภาวะติดกับภาวะปกติจึงอยู่ใกล้กันมาก ทำให้ผู้ดื่มมักไม่รู้ตัวว่าตัวเองติด กว่าจะรู้ตัวก็เป็นมากแล้ว ดังนั้นจึงอาจจะรักษาค่อนข้างยาก อีกทั้งผู้ดื่มสุราจะมีโรคร่วมมาก ไม่ว่าทางกาย เช่น โรคตับ โรคกระเพาะ โรคหัวใจ รวมถึงโรคจิตเวช เช่น ภาวะซึมเศร้า อารมณ์แปรปรวน วิตกกังวล ดังนั้น ปัญหาการติดสุราจึงเป็นเพียงยอดภูเขาน้ำแข็ง ที่ยังมีปัญหาอยู่ข้างใต้อีกจำนวนมาก การจะดูแลแก้ไขต้องได้รับการประเมินโดยถี่ถ้วน ดูแลต่อเนื่อง และดูแลในหลายๆ ปัญหา

 

คนติดสุราหลายคนมักไม่รู้ว่าตัวเองติด และมักจะไม่ยอมมาบำบัด ถ้าเกิดว่าเราเป็นญาติหรือคนใกล้ชิดของคนติดสุรา จะมีวิธีง่ายๆ อย่างไรในการสังเกตอาการติดสุรา และจะมีวิธีพูดอย่างไรให้ผู้ติดยอมมาเข้ารับการบำบัดรักษา

ส่วนมากคนไข้มักจะไม่ได้มารับบริการเองตั้งแต่ต้น คำแนะนำคือ ญาติสามารถไปปรึกษาแพทย์ได้ก่อน ไม่ต้องรอจนกระทั่งคนไข้มา ซึ่งนี่จะช่วยย่นระยะเวลาการไม่เข้าสู่การบำบัดรักษาได้ และเวลาที่ญาติเริ่มคุยกับคนไข้เรื่องมาพบแพทย์ ก็อย่าเพิ่งไปเน้นเรื่องการติดสุรา เพราะเรื่องนี้เป็นเรื่องที่ผู้ติดจะรับรู้น้อยที่สุดและจะปฏิเสธ แต่ให้เน้นที่ปัญหาซึ่งเขาพอจะรู้สึกได้ว่ามันเป็นปัญหาของเขา เช่น เรื่องสุขภาพ บอกว่าเราห่วงใยสุขภาพของเขา อยากพาไปพบแพทย์เพื่อเช็คสุขภาพ จากนั้นแพทย์จะพูดคุยเชื่อมโยงไปยังเรื่องอาการติดสุรา และนำไปสู่การบำบัดรักษาต่อไป

 

 

หนึ่งในปัญหาเกี่ยวกับการติดสุราคือ คนจำนวนมากเข้าไม่ถึงการบำบัดทำให้เกิดช่องว่างในการบำบัดขึ้น คิดว่าภาครัฐหรือภาคส่วนที่เกี่ยวข้องควรมีมาตรการอะไรที่เป็นรูปธรรมในการสนับสนุนผู้ติดสุราเพื่อลดช่องว่างที่ว่านี้

ในส่วนของภาครัฐ ผมอยากจะให้ภาครัฐเข้ามาสนับสนุนงบประมาณในการบำบัดรักษา คือให้สามารถเบิกค่าบำบัดสุราได้เหมือนกับโรคเรื้อรังโดยทั่วไป เพราะการติดสุราเป็นเหมือนกับโรคเรื้อรัง ถ้าเราดูแลและแก้ปัจจัยเสี่ยงตรงนี้ โรคต่างๆ ที่จะตามมาจะลดน้อยลง และยังอยากให้ภาครัฐช่วยพัฒนาขีดความสามารถของสถานบำบัดในสังกัดกระทรวงสาธารณสุขให้สามารถบำบัดผู้ป่วยสุราได้ และมีมาตรการคัดกรองในระบบสุขภาพเกี่ยวกับพฤติกรรมการดื่ม เพื่อเพิ่มโอกาสในการพบผู้ดื่มตั้งแต่เนิ่นๆ เพื่อจะจูงใจให้เขาปรับเปลี่ยนพฤติกรรมได้เร็ว ปัญหาจะได้ทุเลาลง

 

ปัจจุบัน ประเทศไทยมีองค์ความรู้เรื่องการติดสุรามากน้อยแค่ไหน และหากคนเริ่มเข้ารับบริการบำบัดรักษาในระบบมากขึ้น ระบบของเราพร้อมไหมในการรับคนที่จะเข้ามา

จากการที่ สสส.ได้ดำเนินแผนงานการพัฒนาระบบ รูปแบบ และวิธีการบำบัดรักษาผู้มีปัญหาการบริโภคสุราแบบบูรณาการ (ผรส.) เป็นเวลามากกว่า 10 ปี องค์ความรู้เรื่องการคัดกรอง การบำบัด และการฟื้นฟูค่อนข้างชัดเจนแล้ว เรียกได้ว่ามีองค์ความรู้ที่สอดคล้องกับบริบทของไทย เพียงแต่ยังติดขัดในเรื่องการขยายผลและการนำเข้าสู่ระบบการบริการสาธารณสุขโดยทั่วไป ซึ่งผู้กำหนดนโยบายควรจะนำความรู้ไปบังคับใช้ในระบบสาธารณสุขปกติด้วย

 

คุณหมอคิดว่ายังมีโจทย์สำคัญอะไรที่นักวิจัย หรือผู้กำหนดนโยบายต้องนำไปคิดต่อ

คิดว่าเป็นเรื่องเกี่ยวกับวิธีการบำบัดรักษาฟื้นฟู ว่าแบบไหนที่จะคุ้มค่าคุ้มทุน และเป็นแบบที่รัฐมีงบประมาณสนับสนุนให้ได้ประโยชน์สูงสุด ในส่วนของวิธีการค่อนข้างชัดเจนอยู่แล้ว แต่โจทย์ที่ต้องศึกษาต่อไปคือ จะเลือกวิธีการใด ค่าใช้จ่ายเท่าไหร่ และในระบบสุขภาพระดับไหน เพื่อจะเป็นแนวทางให้ผู้กำหนดนโยบายตัดสินใจว่า จะใช้จ่ายงบประมาณกับเรื่องอะไร เพื่อให้เกิดความคุ้มค่า และทั้งระบบได้รับการดูแลตามสมควร

 

ในต่างประเทศ มีโมเดลเกี่ยวกับการเลิกสุราโมเดลใดที่น่าสนใจ และอาจจะนำมาปรับใช้กับประเทศไทยได้ไหม

พฤติกรรมการดื่มสุรามีหลายกลุ่ม ในต่างประเทศก็อาจจะเน้นจุดเฉพาะเรื่องมากขึ้น เช่น ผู้ที่มีคดีเมาแล้วขับ หรือกลุ่มผู้ก่อคดีที่สัมพันธ์กับการดื่มสุรา หรือเน้นไปที่กลุ่มเยาวชนในสถานศึกษาหรือคนทำงานในสถานประกอบการ เรียกว่าเป็นวิธีการที่ลงไปกับกลุ่มเฉพาะเรื่อง นอกจากนี้ยังมีการคัดกรองการบำบัดอย่างสั้นหรือการจูงใจ ที่จะทำหลังจากที่เราคัดกรองว่าคนนี้ดื่มหนักและเป็นอันตรายด้วย

ขณะที่รูปแบบอื่นๆ เช่น กลุ่มช่วยเหลือตนเอง (self-help group) เป็นกลุ่มที่ผู้ดื่มและผู้ที่มีปัญหาแต่เลิกแล้วมารวมตัวกันเพื่อช่วยเหลือกัน เรียกว่าเป็นการบำบัดภาคประชาชน ซึ่งจะมาช่วยเสริมการบำบัดของภาครัฐ โดยรูปแบบนี้ต่างประเทศมีมาก แต่ในไทยอาจจะยังมีน้อย

อีกเรื่องหนึ่งที่ประเทศไทยยังไม่ค่อยมีคือการบำบัดทางยา เพราะในไทย ยาในการบำบัดสุรามีน้อยมาก ถ้ามีก็คือยาเบื่อเหล้าซึ่งอันตรายและใช้ยาก ภาครัฐจึงควรจะจัดหาให้มียาในการบำบัดรักษาผู้ติดสุรา เพื่อจะทำให้ประสิทธิภาพโดยรวมในการบำบัดรักษาการติดสุราดีขึ้น

 

อยากจะสื่อสารอะไรกับกลุ่มญาติหรือผู้ที่ติดสุรา

อยากจะบอกกับสังคมว่า การติดสุราเป็นโรค สามารถป้องกันได้ รักษาได้ อย่าปล่อยให้เรื้อรัง ถ้าเกิดคนที่เขารักหรือคนในครอบครัวมีปัญหาการดื่ม และมีปัญหาอื่นๆ ไม่ว่าจะเป็นปัญหาสุขภาพ พฤติกรรม หรืออารมณ์ ก็ควรมาพบแพทย์ โดยแพทย์ที่ดูแลหลักๆ คือจิตแพทย์ อีกทั้งปัจจุบันคลินิกเลิกสุราหรือคลินิกบำบัดยาเสพติดมีอยู่ทุกโรงพยาบาล สามารถไปขอรับความช่วยเหลือได้ อย่าปล่อยให้เรื้อรัง

 

 

 

รายละเอียดเพิ่มเติมเกี่ยวกับศูนย์ปรึกษาปัญหาสุราทางโทรศัพท์

 

 


เรื่องและภาพ: ทีมงาน Alcohol Rhythm

Related Articles