ฟัง ‘เรื่องเหล้า’ จากผู้บำบัด: คุยกับ วิมล ลักขณาภิชนชัช

March 25, 2019


การบำบัดรักษาผู้ติดสุราคือ การบำบัดอาการถอนพิษสุราเพื่อให้ผู้ป่วยไม่ทุกข์ทรมาน หรือเกิดอันตรายจากการหยุดดื่มสุรา และหลังจากหมดอาการถอนพิษสุราแล้ว จึงจะเป็นการฟื้นฟูสมรรถภาพร่างกาย จิตใจ พร้อมปรับเปลี่ยนพฤติกรรมให้หยุดดื่มสุราได้นานที่สุด แต่อุปสรรคที่ทำให้การบำบัดรักษาผู้ติดสุราเป็นเรื่องยากและซับซ้อนคือ ผู้ติดสุรามักไม่ยอมรับหรือไม่รู้ตัวว่าตนเองติดสุรา จึงไม่ยอมเข้ารับการบำบัดรักษาง่ายๆ ซึ่งเป็นผลจากการขาดความเข้าใจเกี่ยวกับอาการติดสุรา อีกประการหนึ่งคือ ทั้งผู้ติดและครอบครัวไม่ทราบว่าการติดสุราเป็นโรคเรื้อรังที่ต้องได้รับการบำบัดรักษา

‘สถาบันบำบัดรักษาและฟื้นฟูผู้ติดยาเสพติดแห่งชาติบรมราชชนนี’ หรือที่รู้จักในชื่อเก่าว่า ‘สถาบันธัญญารักษ์’ เป็นหนึ่งในสถาบันไม่กี่แห่งที่มีหอผู้ป่วยสำหรับบำบัดรักษาผู้ที่มีอาการติดสุราโดยเฉพาะ โดยเริ่มตั้งแต่กระบวนการให้การบำบัดรักษาอาการถอนพิษสุรา ไปจนถึงขั้นตอนการฟื้นฟูสมรรถภาพด้วยกิจกรรมต่างๆ เพื่อให้ผู้ป่วยได้กลับไปใช้ชีวิตของตนเองได้อย่างปกติสุข

Alcohol Rhythm เปลี่ยนจังหวะชีวิตคนติดเหล้า ชวนสนทนากับ วิมล ลักขณาภิชนชัช พยาบาลวิชาชีพชำนาญการพิเศษ สถาบันบำบัดรักษาและฟื้นฟูผู้ติดยาเสพติดแห่งชาติบรมราชชนนี ผู้มีประสบการณ์ในด้านการบำบัดรักษาผู้ติดสุรามาอย่างยาวนาน เกี่ยวกับเรื่องอาการติดสุราเรื้อรัง การบำบัดรักษา ไปจนถึงเคสที่น่าสนใจของคนไข้ที่เคยเจอมา

เปิดใจของคุณให้พร้อม และร่วมรับฟังเรื่องเหล้านี้ไปพร้อมๆ กัน

 

 

[1]

เปิดขวดเหล้า

 

“ในบรรดาอาการถอนพิษยาและสารเสพติดทั้งหมด แอลกอฮอล์เป็นสารเสพติดที่มีอาการถอนพิษรุนแรงที่สุด”

คุณวิมลเริ่มต้นการสนทนา ขณะที่เรากำลังเดินไปตามทางสู่ ‘ตึกทับทิม’ ซึ่งเป็นหอผู้ป่วยที่ให้การบำบัดผู้ป่วยสุราชายโดยเฉพาะ เราสังเกตเห็นคนไข้สองคนเดินผ่านหน้าเราไป ทั้งคู่สวมชุดคนไข้สีเขียวและมีหน้าตาสดชื่น ส่งเสียงทักทายคุณวิมลอย่างคนที่คุ้นเคยกันดีในระดับหนึ่ง

“การดื่มสุราของคนทั่วไปมาจากความเชื่อ ประเพณี และยังเป็นเรื่องถูกกฎหมาย บางคนดื่มตามพ่อแม่ ญาติผู้ใหญ่ หรือว่าเพื่อน แต่สุรามีผลต่อสมองทำให้เกิดอาการติด และทำให้สมองเสื่อมลงได้ คือส่วนความคิด ความจำ และการตัดสินใจเสียไป กรณีที่ติดสุรามากๆ การควบคุมตัวเองในการดื่มจะเสียไป สมมติเขาคิดว่าจะดื่มแค่แก้วเดียว แต่เมื่อสุราเข้าปาก เขาจะไม่สามารถควบคุมตนเองได้ ก็ดื่มจนเมาไปเลย

“กรณีของการติดสุราอย่างหนัก เมื่อหยุดดื่มจะมีอาการถอนพิษที่รุนแรงได้แก่ อาการชัก เพ้อสับสน ซึ่งบางทีถ้าชักรุนแรงก็มีโอกาสเกิดอุบัติเหตุได้ ยิ่งถ้าล้มศีรษะฟาดแล้วมีเลือดออกในสมอง จะกลายเป็นเรื่องใหญ่ที่ต้องได้รับการรักษากับแพทย์เฉพาะทางศัลยกรรมประสาท บางคนดื่มจนตับแข็ง การทำงานของตับก็จะไม่ดี แต่ยาที่ใช้บำบัดจะไปเผาผลาญที่ตับอีก

คุณวิมลอธิบายให้เราฟัง พร้อมทั้งเสริมว่าการดูแลผู้ป่วยแบบนี้อาจจะค่อนข้างยาก โดยเฉพาะในรายที่มีอาการเพ้อสับสน ขาดสติสัมปชัญญะ การรักษาต้องให้ยาสงบอาการขนาดสูง และจำเป็นต้องผูกยึดคนไข้เพื่อป้องกันการเกิดอันตราย และมีการดูแลอย่างอื่นควบคู่ไปเพื่อให้คนไข้ปลอดภัยและกลับสู่ภาวะปกติโดยเร็ว

แม้ว่าผู้ป่วยจะพ้นอาการถอนสุราพิษไปแล้ว อุปสรรคของการเลิกสุราที่สำคัญอย่างหนึ่งคือความอยาก ซึ่งความอยากสุราของแต่ละคนอาจไม่เหมือนกัน บางคนไม่มีความอยากเลยตลอดสามเดือน แต่พอครบสามเดือนแล้วก็เกิดความอยากดื่ม ประกอบกับการที่สุรามีขายอยู่ทั่วไป พอควบคุมตัวเองไม่ได้ก็กลับไปดื่มอีกรอบ แล้วก็กลับมาติดซ้ำจนต้องเข้ารับการบำบัดรักษาอีก ซึ่งคุณวิมลแนะนำว่า การป้องกันความอยากดื่มด้วยการรับประทานอาหารให้อิ่มจะช่วยลดความอยากได้ดี

 

[2]

เมื่อเริ่มดื่ม

 

คุณวิมลพาพวกเราเดินขึ้นมาที่ชั้นสองของตึกทับทิม และพาพวกเราไปยังห้องประชุมที่จะใช้สนทนากันในวันนี้ ที่ด้านหน้าของห้องมีเพลงเชียร์กีฬาเขียนอยู่ ซึ่งคุณวิมลอธิบายเพิ่มเติมว่า มีไว้สำหรับกีฬาประจำปีของสถาบันที่เพิ่งจัดไปไม่กี่วันก่อนหน้านี้

เมื่อเริ่มการพูดคุยกันต่อ คำถามแรกของเรา และคงเป็นคำถามที่หลายๆ คนสงสัยคือ แล้วญาติหรือคนใกล้ชิดของผู้ติดสุราจะดูสัญญาณได้อย่างไรว่าคนๆ นั้นติดสุราถึงขั้นเรื้อรัง และควรรับการบำบัดรักษาแล้ว

“จะมีแบบคัดกรองที่เรียกว่า Audit ซึ่งใช้จำแนกคนที่ติดสุราออกมาเป็นระดับดื่มแบบเสี่ยงต่ำ ระดับเสี่ยง ระดับอันตราย และระดับติด ส่วนที่ถามว่าแล้วระดับใดถึงควรจะพาคนไข้มารักษา ต้องบอกว่าควรจะพามาตั้งแต่เริ่มติด ถ้าเกิดเป็นคนทั่วไป ก็อาจจะสังเกตว่า คนดื่มสุราคนนั้นดื่มทุกวันไหม ดื่มแล้วหยุดไหม ถ้าเขาบอกว่าไม่ติด แล้วเขาเคยหยุดดื่มบ้างไหม พอหยุดแล้วมีอาการอะไร ถ้าหยุดดื่มหรือไม่ได้ดื่มแล้วมีอาการ เช่น นอนไม่หลับ หงุดหงิด แสดงว่ามีการติดสุรา

“เคยมีคนบอกว่า เขาต้องดื่มเบียร์วันละกระป๋อง ถ้าไม่ดื่มก็จะนอนไม่หลับ แบบนี้คือติดแล้ว เพราะอาการนอนไม่หลับก็เป็นอาการหนึ่งของการถอนพิษเหมือนกัน ดังนั้น ถ้าติดแล้วต้องรีบพามารักษา เพราะถ้ารักษาตั้งแต่เนิ่นๆ จะรักษาได้ง่ายกว่า”

คนติดสุราที่ต้องดื่มสุราในตอนเช้าทันที ซึ่งเรื่องนี้คุณวิมลอธิบายว่า เป็นเพราะการดื่มครั้งสุดท้ายคือตอนกลางคืน พอดื่มแล้วเข้านอน ระดับแอลกอฮอล์จะตกลง เมื่อตื่นขึ้นมาในตอนเช้าจะเกิดอาการถอนพิษ ทำให้ทำอะไรไม่ได้เลย ต้องดื่มก่อนทันทีเพื่อดับอาการถอนพิษ ซึ่งการติดสุราในขนาดที่ต้องดื่มตอนเช้าทันทีถือว่าติดหนัก

“เคยสัมภาษณ์คนไข้ที่ติดหนักต้องดื่มตอนเช้า เขาบอกว่าตอนเช้าถ้าไม่ดื่มจะปวดท้องแน่น เหมือนมีลมอยู่ในท้อง คลื่นไส้อาเจียน นี่เป็นอาการถอนพิษ ที่ทำให้ไม่สุขสบาย จนถึงทุกข์ทรมาน ทำให้เขาต้องดื่มสุราเพื่อดับอาการดังกล่าว”

 

[3]

เหล้า = สุข (?)

 

คนทุกคนรู้ว่าการดื่มสุรามากไปไม่ดีต่อสุขภาพ แต่คำถามที่หลายคนคงสงสัยคือ แล้วในเมื่อรู้ว่าไม่ดี  ทำไมถึงยังดื่มไปเรื่อยๆ จนติดและต้องเข้ารับการบำบัดรักษา

สำหรับเรื่องนี้ คุณวิมลอธิบายว่า สุรามีฤทธิ์ทำให้ผ่อนคลาย และรู้สึกเป็นสุขเมื่อดื่ม เพราะสุราออกฤทธิ์ต่อสมองทำให้ติด และยังทำให้โดพามีน (สารแห่งความสุข) หลั่งออกมา ผู้ดื่มสุราจึงติดใจและไม่ค่อยอยากเลิก

“อีกอย่างหนึ่งคือ คนที่ติดสุราหนักๆ จะมีความคิดที่บิดเบือน เข้าข้างตัวเอง และพยายามหาเหตุผลในการดื่มเหล้า เพราะฉะนั้น เวลาเราถามว่า กินเหล้าไม่ดีรู้ไหม เขารู้ แต่รู้แล้วทำไมไม่เลิกล่ะ เพราะสุรามีผลต่อสมองโดยตรง แล้วสุราถือเป็นสารเสพติด พอดื่มมากจะเกิดภาวะสมองติดยา พอเขามีความสุขกับการดื่ม เขาก็จะจดจำความสุขที่ว่าไว้ตลอด เวลามีอะไรเกิดขึ้นก็จะนึกถึงการดื่ม พอเขาดื่มแล้วมีความสุข เขาก็ไม่มีแรงจูงใจที่จะเลิก”

จากเหตุผลที่ว่ามานี้เอง ทำให้เกิดปัญหาโลกแตกขึ้นสำหรับญาติหรือคนใกล้ชิดของผู้ติดสุรา เพราะคนติดสุรามักจะอ้างว่าตนเองไม่ได้ติด หรือต่อให้รู้สึกว่าตนเองติด ก็จะไม่มีแรงจูงใจในการเลิก และไม่ได้มองว่าเรื่องนี้เป็นปัญหาแต่อย่างใด

“สำหรับคนที่มาเข้ารับการบำบัด ก็อาจจะมาเพราะเกิดผลกระทบกับสุขภาพเยอะ กลัวเสียชีวิต เลยมา หรือญาติขอร้องให้มาก็มี บางทีก็มีตำรวจพามา หรืออีกกรณีคือทำงานไม่ได้จนจะโดนไล่ออก จึงมาบำบัดรักษา

“คนติดสุราหลายคน เวลาไม่ได้ดื่มก็เป็นคนปกติ เป็นคนน่ารัก แต่พอดื่มเหล้าแล้วก็เปลี่ยนไปเลย ถ้าไปฟังจากญาติหรือคนใกล้ชิดของเขาก็จะรู้ว่านี่เป็นความเดือดร้อนและความทุกข์อย่างหนึ่ง”

 

 

[4]

สู่การบำบัด

 

อย่างที่เราบอกว่าสถาบันแห่งนี้มีหอผู้ป่วยที่สามารถให้การบำบัดรักษาผู้ติดสุราโดยเฉพาะ ดังนั้น อีกหนึ่งคำถามสำคัญที่เราจะลืมถามไม่ได้เลยคือ กระบวนการขั้นตอนการบำบัดของสถาบัน

“ถ้ามาที่นี่ อย่างแรกคือต้องทำประวัติที่เวชระเบียน ส่งไปยังหน่วยคัดกรองเพื่อซักประวัติและตรวจประเมินเบื้องต้น และไปพบแพทย์เพื่อวินิจฉัย ถ้าจะต้องบำบัดสุรา คนไข้ก็จะถูกส่งตัวมาที่หอผู้ป่วยสุรานี้ ถ้าเป็นผู้ชายจะอยู่ที่ตึกทับทิม ซึ่งเป็นหอผู้ป่วยสุราชายโดยเฉพาะ แต่ถ้าเป็นผู้หญิง จะอยู่ที่ตึกสำหรับบำบัดสารเสพติดทุกประเภท เนื่องจากจำนวนผู้หญิงที่ติดยาหรือสารเสพติดมีน้อยกว่าผู้ชาย ในกรณีของผู้ป่วยที่ตึกทับทิมนี้ เมื่อผู้ป่วยมาถึงแล้วก็จะมีการประเมินอาการ หากอาการหนักจะต้องอยู่เตียงที่ใกล้กับเคาน์เตอร์พยาบาลเพื่อให้ได้ดูแลใกล้ชิด

“คนไข้ที่มาบำบัดที่นี่จะสามารถใช้สิทธิประกันสุขภาพของสปสช. (สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ) หรือสิทธิ 30 บาท รวมถึงสิทธิเบิกจ่ายจากกรมบัญชีกลางสำหรับข้าราชการหรือรัฐวิสาหกิจ แต่ถ้าจะเบิกประกันสังคม อันนี้ต้องแล้วแต่ต้นสังกัดว่าจะอนุญาตหรือไม่”

เมื่อคนไข้เข้ามาพักรักษาตัวแล้ว นอกจากการบำบัดและให้ยา คนไข้จะต้องพบแพทย์ และมีการทำกิจกรรมกลุ่มโดยพยาบาล แต่การทำกิจกรรมกลุ่มที่ตึกทับทิมอาจจะน้อยเพราะผู้ป่วยยังอยู่ในช่วงถอนพิษสุรา ซึ่งถ้าผู้ป่วยอาการดีขึ้นแล้ว จะมีการส่งต่อไปยังตึกฟื้นฟูสมรรถภาพ เพื่อฟื้นฟูร่างกายของคนไข้ต่อไป

 

[5]

เล่าเรื่องเหล้า

 

“การจะพูดให้คนที่ติดสุรายอมมารับการบำบัด หรือการจะบำบัดคนติดสุราต้องอาศัยการสร้างแรงจูงใจ แต่ต้องบอกก่อนว่า มันไม่มีคำพูดที่เป็นสูตรสำเร็จตายตัวที่พูดแล้วคนไข้จะเปลี่ยนเลย หรือเป็นคำพูดที่ใช้ได้กับทุกคน

“เวลาจะบอกให้คนไข้มาบำบัด ญาติมักใช้คำพูดทำนองว่า ‘เมื่อไหร่จะไปเลิก ดื่มหัวราน้ำแบบนี้ งานการไม่ได้ทำ’ ซึ่งเราต้องนึกถึงมุมของคนไข้ด้วย เขาก็เป็นคนๆ หนึ่งเหมือนกัน เมื่อได้ยินแบบนี้อาจจะรู้สึกผิดบ้าง รำคาญบ้าง กดดันบ้าง วิธีที่ดีที่สุดควรจะเป็นการพูดในทำนองว่า ‘เห็นกินเหล้าแบบนี้ สุขภาพก็ทรุดโทรมลง ลองไปเช็คสุขภาพดูดีไหม’ หรือบอกว่า ‘เขารู้สึกยังไงบ้าง ถ้ายังกินเหล้าต่อไปเรื่อยๆ แล้วคิดว่าชีวิตจะเป็นยังไง’ ลองพูดให้เขาคิดดู”

แน่นอนว่าทำงานมาหลายสิบปี คุณวิมลย่อมมีประสบการณ์ในการเจอกับคนไข้หลากหลายรูปแบบ เราจึงขอให้คุณวิมลช่วยแบ่งปันประสบการณ์เกี่ยวกับคนไข้บ้าง

“เคยมีคนไข้คนหนึ่งมาจากต่างจังหวัดไกลๆ ไม่เจอกับญาติมา 20 ปี พอมาอยู่ที่นี่เราก็ช่วยตามหาญาติให้ สุดท้ายก็ได้เจอญาติที่ไม่ได้เจอกันนานเพราะมาบำบัดสุราที่นี่

“สำหรับคนไข้บางคน จะมีช่วงหนึ่งที่เขาถามตัวเองว่า ชีวิตเราจะมาตายเพราะเรื่องแบบนี้เหรอ หรือจะอยู่แบบนี้ต่อไปจริงๆ ใช่ไหม ก็ทำให้เขาเปลี่ยนแปลงตัวเองได้ ทีนี้มีคนไข้อยู่เคสหนึ่ง คุณลุงท่านนี้เวลามารับการบำบัด พออาการดีขึ้นนอกจากกิจกรรมของทางตึกแล้ว แกชอบปลูกดอกไม้บริเวณตึกผู้ป่วย พอคุณลุงมาบำบัดเป็นครั้งที่ 2 คุณลุงได้เล่าให้ฟังว่า เวลาอยู่บ้าน เสียงของคุณวิมลที่พูดเวลาทำกลุ่มกิจกรรมยังก้องในอยู่หูของแกว่า ‘อย่าดื่มแก้วแรกจะทำให้ไม่ติดซ้ำ’ หลังจากที่คุณลุงท่านนี้จำหน่ายกลับบ้านไปสักระยะหนึ่ง ผู้ช่วยเหลือคนไข้ของตึกทับทิมได้พบคุณลุงท่านนี้อีกครั้ง ซึ่งแกได้ฝากเมล็ดพันธุ์ดอกบานไม่รู้โรย และดอกบานชื่น ซึ่งบรรจุในซองยาที่มีชื่อของคุณลุงคนดังกล่าวมาให้คุณวิมล แล้วคุณลุงท่านนี้ก็เลิกสุราได้สำเร็จ

“อีกเคสหนึ่ง เป็นคนไข้ที่มาเข้ารับการบำบัดที่นี่ แล้ววันนั้นแม่ยายกับลูกสาวเขามาเยี่ยม ช่วงที่เขากำลังรอพบแพทย์อยู่ เราก็เรียกคนไข้พร้อมทั้งแม่ยายกับลูกสาวเข้ามาคุยด้วย แม่ยายเล่าให้เราฟังว่า ลูกเขยคนนี้เคยทำงานห้าง แต่เพราะดื่มเหล้าเยอะเลยต้องลาออกไป ที่บ้านเขาก็ไม่อยากรับผิดชอบเพราะดื่มเหล้าเยอะเหลือเกิน ดื่มจนภรรยาเป็นโรคซึมเศร้าไปแล้ว ระหว่างที่เล่าไปลูกสาวคนไข้ก็ยืนร้องไห้ไป พอเราฟังเรื่องของเขาเสร็จเลยบอกว่า ‘คุณ (ชื่อคนไข้) ผู้หญิงสามคนนี้เขาป่วย เราจะพาเขาไปรักษาที่ไหนดี’ ซึ่งผู้หญิงสามคนนี้หมายถึงแม่ยาย ภรรยา และลูกสาว ซึ่งเกี่ยวข้องกับเขาโดยตรง เราพูดแค่นี้ ไม่พูดอะไรมากกว่านี้ เพราะบางครั้งการพูดเยอะก็ไม่ได้อะไร ปรากฏว่าคนไข้ตอบกลับมาว่า ‘ไม่ต้องพาพวกเขาไปรักษาที่ไหนหรอกครับ มันอยู่ที่ตัวผมเอง’ นี่ก็เป็นคำตอบที่ดี ”

อย่างที่เห็นว่าการพูดกับคนไข้ไม่ใช่เรื่องง่าย แต่ขณะเดียวกันก็ไม่ใช่เรื่องยากเกินความสามารถ เพราะคนไข้แต่ละคนจะมีเรื่องราว หรือมีภูมิหลังที่สามารถนำมาใช้พูดเพื่อสร้างแรงจูงใจให้กับเขาได้ ซึ่งคุณวิมลบอกเราว่า คนไข้แต่ละคนเหมาะสมกับคำพูดคนละแบบกัน การพูดสร้างแรงจูงใจให้คนไข้แต่ละครั้ง ก็เหมือนกับการลับมีดของผู้บำบัดไปด้วย ถ้าพูดครั้งแรกแล้วเขายังไม่ยอมเข้ารับการบำบัด ก็อย่าเพิ่งเสียกำลังใจไป และที่สำคัญคืออย่ามองแต่มุมมองของเราเอง แต่ให้มองในมุมมองของคนไข้ด้วย

 

 

[6]

เอาใจเขา มาใส่ใจเรา

 

ถ้าพูดถึงหนึ่งในแคมเปญเกี่ยวกับสุราที่คนรู้จักกันดี คงหนีไม่พ้นแคมเปญ ‘งดเหล้าเข้าพรรษา’ ของสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ซึ่งคุณวิมลบอกเราว่า จำนวนคนไข้ที่เข้ารับการบำบัดในช่วงเข้าพรรษาเพิ่มขึ้นบ้างระดับหนึ่ง อีกช่วงที่จะมีจำนวนคนไข้เพิ่มขึ้นคือหลังปีใหม่หรือหลังสงกรานต์

นอกจากนี้ หนึ่งในปัญหาสำคัญของเรื่องการเลิกสุราคือ การเข้าไม่ถึงบริการบำบัดรักษา ซึ่งในปัจจุบันนี้มีหน่วยงานหรือองค์กรมากมายที่เข้ามาทำหน้าที่เพื่อลดช่องว่างตรงนี้ เช่น สายด่วนปรึกษาปัญหาสุรา 1413 เครือข่ายองค์กรงดเหล้า หรือความร่วมมือกับมูลนิธิต่างๆ และยังมีสำนักงานคณะกรรมการควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ที่ดูแลภาพใหญ่ในเชิงนโยบาย

แต่ดังที่เรารู้กันดีว่า การดื่มสุรานั้นถูกกฎหมาย และกลายเป็นส่วนหนึ่งในวิถีชีวิตของคนไปแล้ว อีกหนึ่งคำถามที่เราอยากถามจากผู้บำบัดด้านนี้โดยตรงจึงเป็นคำถามเกี่ยวกับแนวคิดในการแก้ปัญหาการดื่มสุราแบบเรื้อรัง ซึ่งคุณวิมลได้ให้คำตอบที่น่าสนใจว่า

“วิธีการที่ดีคงไม่ใช่การปิดประตูไม่ให้ดื่มไปเลย เพราะไม่รู้จะได้ผลแค่ไหน แต่ส่วนตัวมองว่า เราอาจจะใช้วิธีการปลูกฝังตั้งแต่เด็ก ว่าดื่มแบบติดแล้วจะเป็นอย่างไร เราต้องให้ข้อมูลเขา แล้วให้เขาใช้ดุลยพินิจของตัวเอง สมมติให้เขาลองคิดว่า ถ้าการดื่มสุราทำให้ขาดสติจนผู้ดื่มไปก่อคดีข่มขืน แล้วเราเป็นญาติของเหยื่อ หรือเราเป็นญาติของคนก่อเหตุ เราอยากเห็นแบบนั้นไหม คือไม่ใช่แค่บอกว่าดื่มแล้วจะมีผลกระทบต่อสุขภาพยังไง เพราะคนฟังก็คงเฉยๆ แต่ให้มองถึงผลกระทบ มองว่าถ้าเป็นเราไปอยู่ในสถานการณ์แบบนั้นเราจะเป็นยังไง แบบนี้น่าจะดีกว่า”

 

[7]

ความหวังที่ปลายขวด

 

ปัญหาการดื่มสุราเป็นปัญหาที่ซับซ้อนในสังคมไทย ส่วนหนึ่งเป็นเพราะการดื่มสุราเป็นสิ่งที่ฝังรากลึกอยู่ในวิถีชีวิตของคนไทย และยังถือเป็นสารเสพติดที่ถูกกฎหมาย ทำให้เส้นแบ่งการ ‘ติด’ หรือ ‘ไม่ติด’ สุรา ค่อนข้างเลือนราง ที่สำคัญคือ สังคมมักจะมีภาพลบต่อคนติดสุราเรื้อรัง โดยอาจจะลืมไปว่าสุราออกฤทธิ์ต่อสมองของผู้ดื่ม ทำให้การเลิกดื่มสุราไม่ใช่เรื่องง่าย แต่ต้องอาศัยกระบวนการบำบัดทางการแพทย์ และที่สำคัญที่สุด คืออาศัยกำลังใจจากคนใกล้ชิดที่จะเป็นเหมือนสะพานช่วยให้เขาข้ามผ่านพ้นอาการติดสุราไปได้

อย่าลืมว่าถ้ามีคนติดเหล้าคนหนึ่ง อาการติดเหล้าจะไม่ได้ส่งผลกระทบแค่เจ้าตัวเท่านั้น แต่ยังกระทบต่อครอบครัว ญาติ คนใกล้ชิด ไปจนถึงภาพใหญ่อย่างสังคมอีกด้วย การช่วยกันฟื้นฟูบำบัดคนติดเหล้าจึงควรเป็นหน้าที่ของทุกภาคส่วนในสังคมที่ต้องร่วมมือกัน พาคนติดเหล้าไปเข้าสู่บริการบำบัดรักษา และมองพวกเขาด้วยความ ‘เข้าใจ’ เพื่อที่สังคมจะได้คนดีที่น่ารักคนหนึ่งกลับคืนมา


เรื่องและภาพ: ทีมงาน Alcohol Rhythm

Related Articles