เชื่อว่าหลายคนคงเคยทำแบบสำรวจบุคลิกภาพสุดฮิตอย่าง Myers-Briggs Type Indicator (MBTI) สี่ตัวอักษรที่ช่วยให้เราทำความเข้าใจตัวเองได้อย่างคร่าวๆ ผ่านคำอธิบายว่าแต่ละบุคลิกภาพมีพฤติกรรมอย่างไร เหมาะกับงานแบบไหน หรือควรจะจับคู่ครองกับคนบุคลิกภาพแบบใด
จากคำอธิบายเหล่านี้ก่อให้เกิดคำถามที่น่าสนใจตามมาว่า แล้ว MBTI สามารถทำนายได้ไหมว่าใครที่มีแนวโน้มในการติดสารเสพติดบ้าง?
วันนี้ Alcohol Rhythm เปลี่ยนจังหวะชีวิตคนติดเหล้าจะพาคุณมาหาคำตอบไปพร้อมกัน
เข้าใจ Myers-Briggs Type Indicator (MBTI)
ก่อนอื่นแบบสำรวจบุคลิกภาพนี้เกิดจากการคิดค้นและพัฒนาโดย 2 แม่ลูก Katherine Briggs และ Isabel Briggs Myers ซึ่งต้องการนำทฤษฎีทางจิตวิทยาของ Carl Jung มาต่อยอดและปรับใช้ในชีวิตประจำวันให้ง่ายขึ้น โดยแก่นทฤษฎีของ Carl Jung มองว่าแม้ผู้คนดูเหมือนจะมีพฤติกรรมหลากหลายไร้แบบแผน แต่แท้จริงแล้วมีระเบียบ (orderly) และมีความสม่ำเสมอ (consistent) โดยแบบของพฤติกรรมที่แตกต่างกันขึ้นอยู่กับการรับรู้ (perception) และการตัดสิน (judgment) ซึ่งนำไปสู่ทัศนคติ เป้าหมาย พฤติกรรม ฯลฯ ของแต่ละคน
การประเมิน MBTI ได้แบ่งผู้คนตามลักษณะที่สำคัญ 4 ประการ ได้แก่
– การเปิดเผย (Extroversion) vs. ชอบเก็บตัว (Introversion) (E vs I)
ตัวชี้วัดนี้วัดการรับพลังงานและการเข้าสังคม หากใครเป็นคนชอบเข้าสังคม (extrovert) จะดูดซับพลังงานจากการใช้เวลากับผู้อื่น ในขณะเดียวกันคนที่ชอบเก็บตัว (introvert) จะชาร์จแบตตัวเองผ่านการใช้เวลากับตัวเอง อาจจะดูหนัง หรืออ่านหนังสือเงียบๆ
– ใช้ประสาทสัมผัส (Sensation) vs. ผ่านการหยั่งรู้ (Intuition) (S vs N)
ด้านวิธีการรับรู้หรือประมวลผลข้อมูล คนรับรู้ผ่านประสาทสัมผัส ก่อนนำมาประมวลผลข้อมูล พวกเขาจะจดจ่อกับปัจจุบัน และมีแนวโน้มเป็น “นักปฏิบัติ” ในขณะที่คนที่เชื่อในการรับรู้ด้วยสัญชาตญาณ ลางสังหรณ์จะสนใจในภาพรวม และชอบความรู้เชิงนามธรรมมากกว่า
– ใช้ความคิด (Thinking) vs. ใช้ความรู้สึก (Feeling) (T vs F)
ตัวชี้วัดที่บ่งบอกถึงวิธีการตัดสินใจ ผู้ใช้ความคิดจะตัดสินใจอยู่บนพื้นฐานของข้อเท็จจริง ขณะที่อีกกลุ่มจะตัดสินใจด้วยอารมณ์ ค่านิยม และสถานการณ์ทางสังคม ณ เวลานั้น
– ตัดสิน มีระเบียบแบบแผน (Judging) vs. ยืดหยุ่น (Perceiving) (J vs P)
ด้านแนวทางการใช้ชีวิต สำหรับคนที่เป็นแบบแผน (Judging) จะใช้ชีวิตมีขั้นตอน มีแบบแผน ควบคุมชีวิตตัวเองได้ดี ชอบความมีระเบียบเรียบร้อย ส่วนคนที่เป็นแบบยืดหยุ่น (Perceiving) จะชอบใช้ชีวิตแบบเรื่อยๆ ปรับตัวไปตามสถานการณ์ต่างๆ ที่ได้เจอ พร้อมจะปรับเปลี่ยน เปิดทางเลือกไว้เสมอ ไม่ชอบตัดสินใจอะไรถ้ายังไม่จำเป็น
ดังนั้นเมื่อตอบคำถามทั้ง 4 ข้อและนำตัวอักษรจาก 4 ใน 8 มาเรียงกันจะได้บุคลิกภาพที่แตกต่างกัน 16 แบบ เช่น ESTJ ก็จะเป็นคนที่มีบุคลิกชอบเปิดเผย (Extroversion) ใช้ประสาทสัมผัส (Sensation) ใช้ความคิด (Thinking) และมีแนวทางการดำเนินชีวิตแบบตัดสิน มีแบบแผน (Judging) เป็นต้น
ประเภทบุคลิกภาพ MBTI กับการติดสารเสพติด
แม้ว่าจะมีการถกเถียงเกี่ยวกับ “บุคลิกภาพเสพติด (addictive personality)” ว่ามีอยู่จริงหรือไม่ อย่างไรก็ตาม มีงานวิจัย Alcoholism and personality ของ Roger T. Mulder แสดงอัตราการเป็นโรคสุราเรื้อรังที่สูงขึ้นกับลักษณะบุคลิกภาพสำคัญ ได้แก่ ความหุนหันพลันแล่น, การแสวงหาความแปลกใหม่, และโรคประสาท แม้จะเป็นเช่นนั้นแต่ผู้เชี่ยวชาญก็เตือนว่าอย่าเชื่อจนหมดใจ มีปัจจัยอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องกับการเสพสารเสพติด ทั้งสิ่งแวดล้อม พันธุกรรม และสุขภาพจิต
ข้อมูลด้านล่างจึงเป็นข้อสันนิษฐานที่ถูกตั้งจากการสกัดงานวิจัยที่มีอยู่ และคำอธิบายเกี่ยวกับแต่ละบุคลิกภาพที่ถูกแบ่งใน MBTI ซึ่งมีลักษณะแตกต่างกัน ทำให้คาดการณ์ว่าบุคลิก MBTI ต่อไปนี้อาจจะต้องระมัดระวังเป็นพิเศษเกี่ยวกับการติดยาเสพติดและแอลกอฮอล์
ISFP
คนที่มีบุคลิกภาพแบบ ISFP มักเป็นคนเรียบง่าย มีความคิดสร้างสรรค์ เป็นธรรมชาติ และอ่อนน้อมถ่อมตน โดย ISFP จะมีแนวโน้มใช้สารเสพติดด้วยตัวเองมากกว่าคนกลุ่มอื่นๆ การศึกษาชิ้นหนึ่ง ชื่อ “ความแตกต่างของบุคลิกภาพพื้นฐานระหว่างผู้ป่วยโรคแอลกอฮอล์ / สารเสพติดที่มีและไม่มีความผิดปกติของอารมณ์ (UNDERLYING PERSONALITY DIFFERENCES BETWEEN ALCOHOL/SUBSTANCE-USE DISORDER PATIENTS WITH AND WITHOUT AN AFFECTIVE DISORDER)” ซึ่งเปรียบเทียบลักษณะบุคลิกภาพท่ามกลางบุคคลที่ประสบปัญหาการเสพติด นักวิจัยพบว่า ISFP เป็นหนึ่งในประเภท MBTI ที่พบบ่อยที่สุดในบรรดาผู้ที่มีปัญหาความผิดปกติทางอารมณ์ (mood disorder) ไม่เพียงแค่นั้น แต่ละลักษณะบุคลิกของบุคคล เช่น การเก็บตัว การใช้ประสาทสัมผัส การใช้ความรู้สึก และยืดหยุ่นต่อการใช้ชีวิต ก็พบบ่อยในกลุ่มที่มีปัญหาความผิดปกติทางอารมณ์เช่นเดียวกัน
ทำไมถึงเป็นเช่นนั้น ทำได้เพียงคาดเดาสาเหตุที่เกิดขึ้น แต่จากข้อมูลของเว็บไซต์ Truity พบว่ากลุ่ม ISFP มีอัตราความเครียดทางการเงินและการเลี้ยงดูบุตรสูงที่สุด นอกจากนี้ยังมีแนวโน้มที่จะอ่อนไหว เบื่อง่ายและมีแนวโน้มที่จะไม่ค่อยวางแผนสำหรับอนาคต ปัจจัยเหล่านี้แต่ละอย่างอาจทำให้ ISFP มีความเสี่ยงสูงต่อการใช้สารเสพติด
ESFJ
คนที่อยู่ในกลุ่ม ESFJ มีลักษณะใจกว้าง ตรงไปตรงมาและมีความรับผิดชอบ บางครั้งก็ถูกจัดอยู่ในกลุ่มที่มีแนวโน้มน้อยที่สุดที่จะใช้ในสารเสพติด ในการศึกษาพบว่าบุคลิกภาพประเภทนี้ถูกนำเสนอมากเกินไปในกลุ่มคนมีปัญหาการเสพติด แม้ไม่มีปัญหาสุขภาพจิตใดๆ ที่เกี่ยวข้อง
เหตุใดจึงอาจขัดแย้งกัน ในบางแง่กลุ่มคนที่มีบุคลิกภาพ ESFJ คาดว่าตรงกันข้ามกับ ISFP พวกเขาไม่น่าจะเลือกใช้สารเสพติดในการรับมือปัญหา แต่ก็มีแนวโน้มที่จะติดจากบุคลิกนิสัยที่แท้จริง ปกติ ESFJ เป็นกลุ่มคนที่ชอบเข้าสังคมและต่อต้านการเปลี่ยนแปลงอยู่แล้ว หากพวกเขาเริ่มดื่มหนักกับเพื่อนมากเกินไป พวกเขาอาจยึดติดกับการดื่มแอลกอฮอล์นานพอที่จะเปลี่ยนเคมีในสมอง จากนั้นก็พึ่งพามัน และเปลี่ยนกิจวัตรประจำวันของพวกเขาเอง
INTP
คนประเภทนี้มักเป็นนักคิดที่มีตรรกะและมีจินตนาการ บางครั้งความอยากรู้อยากเห็นตามธรรมชาติของคน INTP อาจทำให้พวกเขามีปัญหา ตามข้อมูลที่ปรากฏในเว็บไซต์ Truity INTP เป็นประเภทบุคลิกภาพใน MBTI ที่พบบ่อยที่สุดในหมู่นักศึกษาที่ละเมิดนโยบายแอลกอฮอล์และยาเสพติด บุคลิกภาพประเภทนี้มีแนวโน้มที่จะเป็นคนสันโดษ เข้าถึงทรัพยากรในการแก้ปัญหาน้อย และไม่ค่อยมีความพึงพอใจในอาชีพ โดยรวมแล้ว INTPs อาจไม่ใช่กลุ่มเสี่ยงสูงสุดสำหรับการเสพติด แต่พวกเขาควรระวังพื้นที่สีเทาระหว่างความเบื่อหน่ายทางปัญญา (Intellectual ennui) ความโดดเดี่ยวและการใช้สารเสพติด
แบบสำรวจ MBTI สามารถทำนายการติดเหล้าได้จริงไหม?
ยังคงมีหลักฐานช่วยยืนยันเกี่ยวกับความสัมพันธ์ระหว่างบุคลิกภาพและการดื่มเหล้าหรือใช้สารเสพติดอย่างจำกัดอยู่ การใช้ประสาทสัมผัส (sensing) ดูเหมือนจะเป็นลักษณะที่พบได้บ่อยในผู้ที่ประสบปัญหากับการเสพติด นอกจากนี้การเป็นคนชอบเข้าสังคม (extrovert) ยังดูเหมือนเชื่อมโยงกับการดื่มสุรา อย่างไรก็ตาม ไม่มีหลักฐานที่ชัดเจนว่าโดยรวมแล้วคนเก็บตัวและคนชอบเที่ยวชอบกินแอลกอฮอล์ในปริมาณที่แตกต่างกัน
กล่าวอีกนัยหนึ่งบุคลิกภาพอาจมีส่วนเกี่ยวข้องกับวิธีการและเหตุผลใช้สารเสพติดมากกว่าปริมาณการใช้จนทำให้เกิดการเสพติด ข้างบนจึงเป็นสมมติฐานที่เกิดขึ้น เพราะไม่ว่าจะมีบุคลิกภาพแบบใดก็มีโอกาสที่จะดื่มหนักด้วยกันทั้งนั้น สิ่งที่น่าสนใจคือการศึกษาช่วยทำให้เห็นความแตกต่างของการเสพติดในแต่ละบุคคล ซึ่งอาจจะนำไปสู่ความท้าทายจนนำมาสู่การเสาะหาวิธีรักษาหลากหลายและเหมาะสมต่อลักษณะบุคลิกภาพของแต่ละคน
ที่มา: https://riahealth.com/2020/09/04/myers-briggs- addiction/?fbclid=IwAR3du0u8eXpDr7OfxbsFGEE6rPsz-AvSthmHfYW_6z5BQHELnQYjjJlFEXw
https://www.myersbriggs.org/my-mbti-personality-type/mbti-basics/
https://www.capt.org/mbti-assessment/mbti-overview.htm
http://www.getrealme.com/thinking-or-feeling/
http://faculty.uml.edu/rsiegel/47.272/documents/Mulder_Alcoholism-personality.pdf
https://academic.oup.com/alcalc/article/34/3/370/185680
https://www.truity.com/personality-type/ISFP
https://www.truity.com/personality-type/INTP
https://riahealth.com/2020/08/18/do-introverts-drink-more-alcohol/
https://www.arrowpassage.com/addictive-personality-traits/
เรื่องและภาพ: ทีมงาน Alcohol Rhythm