หากคุณเป็นคอหนังหรือละครจากประเทศญี่ปุ่น คุณคงคุ้นเคยกับภาพของ ‘ซาลารี่มัน’ (Salaryman ตามสำเนียงญี่ปุ่น) หรือเหล่ามนุษย์เงินเดือนใส่สูทผูกเนกไท นั่งชนแก้วสังสรรค์กันหลังเลิกงานชนิดที่ไม่เมาก็ไม่กลับบ้าน ซึ่งหากดูผิวเผินแล้ว การสังสรรค์เช่นนี้ก็ไม่ใช่เรื่องผิดอะไร หากผู้ดื่มสามารถควบคุมตัวเองได้ ไม่ดื่มจนเกินพอดี และมีสติพอทุกครั้งที่ดื่ม
แต่ปัญหาจริงๆ อาจไม่ได้อยู่ที่แค่การดื่ม เพราะวัฒนธรรมการดื่มหลังเลิกงาน หรือที่เรียกว่า ‘Nomikai’ (โนมิไก) เป็นสิ่งที่สร้างผลกระทบทางลบมากกว่าที่เราคิดเสียอีก
Alcohol Rhythm เปลี่ยนจังหวะชีวิตคนติดเหล้า ขอพาคุณลัดฟ้าไปเยือนแดนปลาดิบ ส่องดูวัฒนธรรมการดื่มแอลกอฮอล์ของญี่ปุ่น – คนญี่ปุ่นนิยมดื่มอะไร Nomikai มีลักษณะเป็นอย่างไร และทำไมถึงส่งผลกระทบมากกว่าที่เราคิด
รากของเหล้ากับคนญี่ปุ่น
หากประเทศบ้านใกล้เรือนเคียงอย่างเกาหลีใต้มี ‘โซจู‘ ที่ได้รับความนิยม ‘สาเก’ ก็จัดเป็นเครื่องดื่มประจำชาติและเครื่องดื่มยอดฮิตของแดนปลาดิบ ไม่มีหลักฐานที่แน่ชัดว่า สาเกเกิดขึ้นมาครั้งแรกเมื่อใด ทว่าคำๆ นี้ปรากฎครั้งแรกในวรรณกรรมปกรณัมฉบับแรกของญี่ปุ่นที่ชื่อ Kojiki ซึ่งนับเป็นเอกสารลายลักษณ์อักษรเรื่องแรกที่ปรากฎคำว่า ‘สาเก (Sake)’
สาเกจัดเป็นเครื่องดื่มดั้งเดิมของชนชาติญี่ปุ่นที่ถูกหมักจากข้าว บางครั้ง ชาวญี่ปุ่นจะเรียกสาเกว่า ‘Nihonshu’ (Nihon – ญี่ปุ่น Shu – เหล้า) ซึ่งเครื่องดื่มชนิดนี้มักจะถูกใช้ในประเพณีที่เป็นทางการ งานแต่งงาน การบวงสรวงเทพเจ้า เหตุการณ์สำคัญใหญ่ๆ ตลอดจนวันหยุดของชาติ เวลาจะดื่มสาเก ผู้ดื่มจะเทสาเกจากขวดลักษณะยาวที่เรียกว่า Tokkuri (ทกกุริ) ลงในจอกเซรามิกเล็กๆ เพื่อดื่ม
ความนิยมดื่มสาเกเริ่มต้นจากการสลายตัวของระบบผูกขาดการผลิตเหล้าในญี่ปุ่นเมื่อศตวรรษที่ 10 ทำให้หลังจากนั้นเป็นต้นมา ทั้งวัดหรือศาลเจ้าหลายๆ ที่หันไปเป็นผู้ผลิตสาเก เพราะสาเกมีความหมายถึงความบริสุทธิ์และการสื่อสารกับพระเจ้า ดังนั้น สถานที่ที่เกี่ยวข้องกับศาสนาพุทธหรือลัทธิชินโตในญี่ปุ่นจึงเป็นเหมือนทั้งที่พำนักของเหล่าทวยเทพแล้ว และทำหน้าที่เป็นโรงกลั่นเหล้าเพื่อให้ประกอบพิธีกรรมด้วย
ต่อมา ในศตวรรษที่ 20 ระบบการผลิตในอุตสาหกรรมที่ทันสมัยทำให้มีการใช้เครื่องมือที่ได้มาตรฐานจำนวนมากในการผลิตสาเก ทำให้สาเกที่ผลิตได้ในประเทศมีปริมาณมากขึ้น แต่ในช่วงสงครามโลก ญี่ปุ่นขาดแคลนข้าวที่จะนำมาใช้ในการหมักเหล้าสาเก จึงเปลี่ยนไปใช้วิธีผสมแอลกอฮอลล์บริสุทธิ์ร่วมกับน้ำตาลกลูโคสในการหมัก ซึ่งกว่า 75% ของเหล้าสาเกที่ผลิตในญี่ปุ่นได้ใช้สูตรนี้จนถึงปัจจุบัน
แม้จะไม่เป็นที่ปรากฎแน่ชัดว่าสาเกเกิดขึ้นมาครั้งแรกเมื่อใดกันแน่ แต่พัฒนาการความเป็นมาของสาเก ทำให้แอลกอฮอล์ผูกพันอยู่กับเรื่องศาสนาหรือความศักดิ์สิทธิ์ และยังทำให้คนญี่ปุ่นค่อนข้างผูกพันกับเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ด้วย โดยมีผลสำรวจว่า ชาวญี่ปุ่นยอมรับเรื่องการดื่มแอลกอฮอล์สูงถึงประมาณ 66% ของประชากร ซึ่งความคิดเช่นนี้เองที่ทำให้เกิดผลกระทบบางอย่างตามมา
#nomisugi #ดื่มโคตรหนัก
#nomisugi – #ดื่มโคตรหนัก เป็นแฮชแท็กที่ติดพ่วงมากับแคมเปญการโฆษณารณรงค์เรื่องการดื่มของญี่ปุ่นเมื่อปี 2018 ที่ถูกเผยแพร่ลงใน Youtube และสื่อญี่ปุ่น โดยใช้ชื่อว่า ‘The Sleeping Drunks Billboard by Yaocho Bar Group’ #NOMISUGI
เนื้อหาหลักๆ ของโฆษณาคือ การนำพรอบตกแต่งที่มีลักษณะคล้ายชาร์ตบิลบอร์ดไปวางรอบๆ ตัวกลุ่มซาลารี่มันขี้เมา ที่เพิ่งเลิกงานและดื่มแอลกอฮอล์อย่างหนักหน่วง บางคนดื่มเหล้าเมาจนไม่สามารถลุกไปไหนได้ บางรายเมาจนอาเจียนใส่สิ่งของสาธารณะ หรือบางรายที่แย่หน่อย ก็ทั้งเมาทั้งอาเจียนจนเมาหลับคาพับอยู่ข้างถนน ชนิดที่จะโดนคนเดินผ่านไปผ่านมาเหยียบเข้าให้รอมร่อ
เมื่อพรอบตกแต่งพร้อม คนขี้เมาพร้อม (แบบไม่รู้ตัว) ผู้จัดทำก็จัดแจงโพสภาพเหล่านี้ลงอินสตราแกรม (Instagram) พร้อมทั้งเช็กอินสถานที่ ‘เมาแอ๋’ เสร็จสรรพ จะว่าไปแล้ว โฆษณานี้มองมุมหนึ่งก็ช่วยเตือนให้คนอื่นระมัดระวัง ไม่เดินเพลินจนเผลอไปเหยียบคนเมาเข้า แต่ถ้ามองอีกมุมหนึ่ง นี่ก็อาจจะช่วยประจานให้เกิดความอับอายด้วย แต่ไม่ว่าจะเป็นอย่างไร โฆษณานี้ก็ได้รับการพูดถึงกันเป็นวงกว้าง (ไวรัล) และนำไปสู่การถกเถียงเรื่องวัฒนธรรมการดื่มแบบ Nomikai
วัฒนธรรม nomikai
แล้ววัฒนธรรมแบบ Nomikai เป็นยังไงกันแน่?
Nomikai เป็นชื่อเรียกวัฒนธรรมการดื่มที่เกิดขึ้นตามร้านอาหารและผับแบบบาร์นั่งเสิร์ฟ (Isakaya – อิซากายะ) โดยคำนี้มาจากมาจากคำว่า ‘nomi’ (飲み) ที่แปลว่าดื่ม และ ‘kai’ (会) ที่แปลว่า งานรวม งานประชุม แปลรวมๆ แล้ว Nomikai แปลว่า งานสังสรรค์ที่เน้นการดื่มมากกว่าการกิน และเป็นการสังสรรค์กันหลังเลิกงานนั่นเอง
ที่มาของ Nomikai เกิดมาจากสภาพสังคมของญี่ปุ่น โดยเฉพาะสังคมการทำงานที่ทั้งหนักและกดดัน บางครั้งเหล่ามนุษย์เงินเดือนทั้งหลายก็อาจจะมีปัญหาอัดอั้นตันใจ พูดกับใครก็ไม่ได้ จะบอกหัวหน้าก็กลัวจะเกิดปัญหา เพราะญี่ปุ่นยึดถือลำดับขั้นและความอาวุโส ดังนั้น การมีชั่วโมง Nomikai ที่ทำให้เจ้านายไปเลี้ยงเหล้าลูกน้อง จึงถือเป็นการพักผ่อนและละลายพฤติกรรมในคราวเดียวกัน
นอกจากนี้ ชั่วโมง Nomikai ยังทำให้เกิดคำใหม่ขึ้นมาคือคำว่า Nominication เกิดจากการรวมคำว่า nomi (ดื่ม) และ communication (การสื่อสาร) เข้าไว้ด้วยกัน หลายๆ คนจึงเลือกที่จะใช้ชั่วโมง Nomikai เป็นชั่วโมงแห่งการปลดปล่อย พูดคุยสิ่งที่อัดอั้นอยู่ในเวลาทำงาน หรือจะเรียกว่า Nomikai คือชั่วโมงแห่งความสุขก็ว่าได้
แต่ทุกอย่างย่อมมีสองด้านเสมอ แม้มองมุมหนึ่ง Nomikai จะถือเป็นชั่วโมงแห่งการปลดปล่อย แต่อีกมุมหนึ่ง Nomikai ก็ซุกซ่อนปัญหาอย่างหนึ่งเอาไว้ด้วย นั่นคือปัญหาครอบครัว เพราะในสังคมญี่ปุ่น เหล่ามนุษย์เงินเดือนมักจะเป็นผู้ชาย และส่วนใหญ่มีครอบครัวแล้ว การที่หัวหน้าครอบครัวต้องออกมาดื่มกับเพื่อนหลังเลิกงาน (ไม่ว่าจะเต็มใจหรือไม่) กลายเป็นสาเหตุสำคัญที่เกี่ยวพันกับอัตราการเกิดที่ ‘ต่ำมาก’ ของประชากรญี่ปุ่น และยังไม่นับปัญหาความรุนแรงในครอบครัวที่เกี่ยวพันกับแอลกอฮอล์ด้วย ลองนึกดูว่า ขณะที่ภรรยาต้องดูแลลูกอยู่ที่บ้านคนเดียว สามีกลับถูกหนีบออกไปดื่มอย่างหนักหน่วงจนกลายเป็น Nomisugi (กลุ่มคนที่นอนแผ่หลาข้างทางเพราะพิษเหล้า) แล้วอะไรจะเกิดขึ้นตามมา?
อีกความเลวร้ายหนึ่งก็คือ ความกดดันในการดื่ม เพราะไม่ใช่ทุกคนบนโลกนี้ที่จะชอบเครื่องดื่มแอลกอฮอลล์ แม้แต่ชนชาติที่พระนั่งกลั่นเหล้าให้ญาติโยมดื่มอย่างญี่ปุ่นก็ตาม แต่แม้จะไม่ชอบแค่ไหน หลายๆ คนก็ไม่สามารถปฏิเสธชั่วโมงการดื่มนี้ได้ เพราะค่านิยมของคนที่นั่นก็คือ การดื่มถือเป็นการให้เกียรติหัวหน้า บริษัท และเป็นการพักผ่อนจากชั่วโมงงานที่เคร่งเครียด ถ้าซาลารี่มันคนไหนปฏิเสธการดื่มกับเพื่อนร่วมงานและคนในบริษัทแล้ว พวกเขาอาจถูกมองว่ากำลัง ‘ดูถูก’ บริษัทอยู่
การดื่มที่มีแรงกดดันถือเป็นความเลวร้ายรูปแบบหนึ่งของวัฒนธรรม Nomikai ซึ่งหากคุณมีโอกาสไปเยือนแดนปลาดิบและได้แวะเวียนไปที่ร้านแบบ Isakaya ในยามค่ำคืนแล้วล่ะก็ คุณอาจจะเห็นซาลารี่มันหลายคนที่ไม่ชอบดื่มเหล้า แต่ต้องกล้ำกลืนฝืนดื่มแต่ละจอกซ้ำไปซ้ำมา โดยมีหัวหน้าที่เมาจนจมูกแดง ตาหวานเยิ้ม คอยตะโกนด่าและตะคอกใส่ก็เป็นได้
บอกลา Nomikai กันเถอะ
เราคงเห็นกันแล้วว่า ชั่วโมง Nomikai ไม่ใช่แค่โมงยามแห่งความสุข เพราะการดื่มเหล้าที่เกินขนาดจะนำไปสู่ปัญหาด้านสุขภาพอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ อย่างน้อยที่สุด อาการมองไม่เห็น ตาพร่าเลือน อาเจียนใส่สิ่งของสาธารณะ ก่อนที่จะหงายล้มตึงลงข้างถังขยะตามข้างทาง ตามบันไดรถไฟฟ้า ดังที่แคมเปญ Nomisugi นำเสนอ ก็เป็นสิ่งยืนยันได้แล้วว่า ชั่วโมงการดื่มนี้เป็นชั่วโมงที่ออกจะเลวร้ายเสียด้วยซ้ำ นอกจากนี้ การดื่มแอลกอฮอลล์สามารถนำไปสู่ความเครียด การใช้ความรุนแรง และอาการติดแอลกอฮอลล์เรื้อรังอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้
อีกสิ่งที่น่ากังวลคือ จากรายงานของ American Psychiatric Association ที่สำรวจสถิติที่ลดลงในกลุ่มประเทศพัฒนาแล้วพบว่า จำนวนผู้เป็นโรคติดแอลกอฮอลล์เรื้อรังลดลง แต่ทว่าสถิตินี้กลับใช้ไม่ได้กับคนญี่ปุ่น เพราะชาวญี่ปุ่นมีสถิติการติดแอลกอฮอลล์สูงขึ้นเรื่อยๆ แต่ปัญหาที่สร้างความปวดหัวมากกว่านั้นคือ พวกเขาไม่ได้ให้ความสำคัญกับอาการดังกล่าว และไม่ได้มองมันในฐานะโรคที่จะต้องรักษา แต่มองว่าเป็นอาการทางสังคมของคนที่อ่อนแอ และไม่สามารถจัดการกับภาวะที่เกิดจากการดื่มแอลกอฮอลล์ของตัวเองได้
แต่ทั้งนี้ ก็มีหลายบริษัทญี่ปุ่นพยายามจัดการกับวัฒนธรรมเจ้าปัญหาดังกล่าว โดยหนึ่งในตัวอย่างของความพยายามนี้คือบริษัทมิตซูบิชิ โดยเจ้าหน้าที่ระดับสูงอย่าง ‘ซาอิโกะ นันริ’ ได้ประกาศต่อหน้าลูกน้องของเธอว่า ชั่วโมง Nomikai จบลงแล้ว และตัวเธอเองก็มองว่า การเข้าสังคมโดยอาศัยวัฒนธรรมการดื่มหลังเลิกงานไม่ได้เกิดประโยชน์และทำให้การทำงานมีประสิทธิภาพขึ้นแต่อย่างใด ซ้ำร้าย การดื่มแบบนี้ยังไม่ต่างอะไรจากการลงโทษครอบครัวของเหล่าซาลารี่มันทั้งหลาย เพราะวัฒนธรรมเหล่านี้ทำให้ผู้ชายจำต้องทอดทิ้งครอบครัว ทิ้งให้ภรรยาเลี้ยงดูลูกหรือดูแลบ้านตามลำพัง และยังกระทบกับคุณแม่ working woman ที่อาจจะต้องออกมาสังสรรค์กับเพื่อนหลังเลิกงานเป็นครั้งคราวด้วยเช่นกัน
แม้จะมีความพยายามหรือการสร้างความตระหนักรู้ในเรื่องนี้ แต่อะไรที่ฝังรากลึกในสังคมอาจจะแก้ยาก และต้องใช้เวลายาวนาน นี่จึงเป็นอีกหนึ่งโจทย์ท้าทายของสังคมญี่ปุ่นว่า จะทำอย่างไรเพื่อสร้างความเข้าใจเรื่องพิษภัยจากการดื่มแอลกอฮอล์มากเกินไป และช่วยกันกำจัดค่านิยมและความเข้าใจเรื่องการดื่มแบบผิดๆ ให้หมดไปจากสังคมญี่ปุ่นเสียที
ที่มา:
Nomikai Culture in Japan: The Liquid Approach to Building Bonds and Social Capital
Japan’s Toxic Drinking Culture No One Talks About
A Brief History of Japanese Sake
‘โนมิไค’ วัฒนธรรมกินดื่มหลังเลิกงานที่จะกลับก็ไม่ให้ จะไม่ไปก็ไม่ได้!
เรื่องและภาพ: ทีมงาน Alcohol Rhythm