เจาะวัฒนธรรมการดื่มของชาวแพร่ และสร้างความตระหนักรู้กับเยาวชน สนทนากับ ภัทรธิดา สมรักษ์

June 14, 2021


“วันนั้นเป็นวันก่อนเข้าพรรษา มีผู้ชายวัยประมาณ 48 ปีมาเข้าร่วมอบรมกับเรา เขาดื่มเหล้ามาตั้งแต่อายุ 12-13 ติดเหล้าจนตาเหลือง หน้าเหลือง แต่อยากเลิกเหล้าตลอดชีวิต

“ตอนเราอบรมเขาสนุกสนานแฮปปี้มาก แต่พอเขากลับไปที่บ้าน เช้าวันรุ่งขึ้น เขาเสียชีวิต มันทำให้เรารู้สึกว่าเราไม่ควรละเลยเรื่องเหล่านี้ถึงขั้นมีคนตาย คนคนนี้มาเข้าร่วมกิจกรรมของเราเพราะเขากลัวตาย เราก็อยากทำให้เขาและทุกคนรู้สึกว่าชีวิตของตนเองมีคุณค่า”

เรื่องเล่าจาก ภัทรธิดา สมรักษ์ หรือ ส้มโอ สมาชิกกลุ่มผู้จัดกระบวนการเรียนรู้ “เรือนเพาะชำ” ซึ่งเป็นกลุ่มคนที่สนใจทำงานพัฒนาชุมชน ผ่านการจัดค่ายและฝึกอบรมให้ความรู้เรื่องเอดส์ เพศศึกษา สารเสพติด ในจังหวัดแพร่ ทำให้เราเห็นว่าการติดสุราเป็นปัญหาสำคัญที่ต้องได้รับการแก้ไข เข้าใจ และช่วยเหลือ

แต่เพราะสภาพแวดล้อมและวัฒนธรรมในสังคมแต่ละแห่งล้วนแตกต่างกัน การทำความเข้าใจปัญหาผู้ติดสุราจึงอาจต้องผสมรวมกับความเข้าใจบริบทแวดล้อมคนดื่มด้วย ทุกวันนี้ส้มโอเดินหน้าทำงานกับชุมชนในเมืองแพร่ที่เธอเติบโตและใช้ชีวิตอย่างต่อเนื่องหลายปี ด้วยความตั้งใจอยากบรรเทาปัญหาผู้ติดสุรา และพยายามสร้างความตระหนักรู้ให้แก่คนรุ่นใหม่

ภายใต้บริบทเมืองแพร่ของเธอมีอะไรที่น่าสนใจ ทำอย่างไรจึงจะลดจำนวนนักดื่มหน้าใหม่ลงได้ Alcohol Rhythm เปลี่ยนจังหวะชีวิตคนติดเหล้า ชวนคุณอ่านบทสนทนากับ ส้มโอ ภัทรธิดา สมรักษ์ ผู้มองว่าการช่วยเหลือผู้ติดสุรา ควรอาศัยความร่วมมือจากทุกภาคส่วน ไม่ว่าจะเป็นครอบครัว ชุมชน ภาคการศึกษา ไปจนถึง สาธารณสุข 

 

ส้มโอ – ภัทรธิดา สมรักษ์

 

เจาะวัฒนธรรมดื่มเหล้าเมืองแพร่ และผลกระทบถึงเยาวชน 


“วัฒนธรรมการดื่มกินของเมืองแพร่เป็นที่ร่ำลือของชาวล้านนาด้วยกัน (หัวเราะ) ด้วยความที่จังหวัดแพร่เป็นแหล่งผลิตสุราพื้นบ้านที่ใหญ่ที่สุดในภาคเหนือก็ว่าได้ ประกอบกับจังหวัดแพร่เป็นจังหวัดที่ทำอาชีพเกษตรกรรมถึง 70 ถึง 80 เปอร์เซ็นต์ พอหลังเลิกงานชาวไร่ชาวสวนก็มักจะชวนกันดื่มกินเพื่อคลายเส้น บ้างก็ว่ากันว่าดื่มเป็นยา จนกลายเป็นการติดเหล้า” ส้มโอเริ่มต้นบทสนทนาด้วยการเล่าถึงวิถีชีวิตที่ทำให้คนแพร่กลายเป็นนักดื่มเลื่องชื่อในหมู่ชาวล้านนา 

จังหวัดแพร่มีปัญหาเรื่องเหล้ายามากเพราะมีสุราพื้นบ้านเป็นของตัวเอง ซึ่งเราเคยทำวิจัยศึกษาเรื่องเหล้ายาเหล่านี้ พบว่าเด็กที่แพร่สามารถเข้าถึงแอลกอฮอล์ได้ภายใน 5 นาที” ซึ่งถือเป็นเรื่องที่น่าตกใจอย่างมาก  

“ถ้าให้ขยายความคือ เมื่อเรามองมิติด้านพฤติกรรมการซื้อขายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ตามร้านขายของชำในหมู่บ้าน จะเห็นร้านในหมู่บ้านไม่ได้ใหญ่โต และคนในชุมชนต่างก็มองว่าการจำหน่ายเหล้าเบียร์ก็เป็นเรื่องปกติธรรมดา บางทีพ่อแม่ก็ใช้ให้เด็กไปซื้อกลับมา จึงไม่แปลกที่เราจะบอกว่า เด็กอายุแค่ 11 ขวบ สามารถเข้าถึงเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ได้ภายในเวลา 5 นาที เพราะสภาพแวดล้อมรอบตัวเอื้อให้เขาทำเช่นนั้น และท้ายที่สุด เด็กๆ ก็จะมองว่าเป็นเรื่องปกติ”

ในจุดนี้ ส้มโอเน้นย้ำว่าครอบครัว คือส่วนสำคัญในการสร้างภูมิคุ้มกันแก่เยาวชน

“ครอบครัวถือเป็นต้นแบบของเด็กๆ หากคนในครอบครัวติดเหล้า จะมีแนวโน้มทำให้เด็กๆ มีโอกาสดื่มเหล้าได้ง่ายเช่นกัน หรือแม้กระทั่งครอบครัวที่ทะเลาะเบาะแว้งกันก็อาจส่งผลให้เด็กก้าวร้าวหรือมีพฤติกรรมเลียนแบบ

“ในที่นี้อาจจะไม่ใช่เด็กทั้งหมดที่มีพฤติกรรมเลียนแบบ เพราะบางครอบครัวที่ติดเหล้าทั้งพ่อและแม่แต่ลูกไม่ดื่มก็มีให้เห็น แต่ทั้งนี้เรามองว่าครอบครัวเป็นรากฐานสำคัญที่จะสร้างความแข็งแกร่งทางด้านร่างกายและจิตใจให้กับเด็กๆ หากครอบครัวอบอุ่นก็จะมีแนวโน้มทำให้เด็กๆ เติบโตมาเป็นผู้ใหญ่ที่มีคุณภาพ”

ส้มโอและทีมงานกลุ่มเรือนเพาะชำ จึงทำงานช่วยเหลือผู้ติดสุราที่เป็นผู้ใหญ่ พร้อมๆ กับรณรงค์ให้ความรู้เรื่องเครื่องดื่มแอลกอฮอล์และทางเลือกกิจกรรมอื่นๆ ที่สร้างสรรค์แก่เยาวชน ผ่านการร่วมมือกับแกนนำในชุมชนเช่น อสม. ผู้ใหญ่บ้าน ตลอดจนนายอำเภอ

ตัวอย่างโครงการช่วยเหลือนักดื่มให้เลิกเหล้า เช่น พรรษานี้หยอดกระปุก พรรษานี้เก็บค่าเหล้าเป็นค่านมลูก ปั่นฮอมบุญ (ปั่นจักรยานสะสมบุญ) เป็นต้น รวมถึงมีการสร้างเครือข่ายติดตามผู้เลิกเหล้า ซึ่งทำงานร่วมกับชุมชนและสาธารณสุขจังหวัด ตำรวจภูธร ในรูปแบบโครงการ “โทรถามตามเยี่ยม” ส้มโอมองว่าเมื่อทุกภาคส่วนทำหน้าที่ของตนเองอย่างเต็มกำลังจะทำให้เกิดเครือข่ายที่เข้มแข็ง เพราะเราทุกคนมีส่วนช่วยคนที่ติดกับดักของแอลกอฮอล์ได้ให้กลับมามีชีวิตที่มีความสุขได้

ด้านการรณรงค์ ให้ความรู้ และป้องกันเยาวชนไม่ให้ติดเหล้า เธอเล่าว่า “เราสร้างกลุ่มนักกิจกรรมเยาวชน ชื่อ กลุ่มขันโตกแพร่ เป็นกลุ่มนักเรียน นักศึกษาที่ชอบเล่นละครมารวมตัวกัน เดินสายฉายหนังทั่ววิทยาลัยอาชีวะศึกษาทั่วจังหวัดแพร่ เพราะเดิมเรามีต้นทุนเรื่องการทำละครเวที มีทักษะในการเล่นละคร จึงเลือกเริ่มต้นจากตรงนี้”

 

ภาพการแสดงละครเวที (ภาพโดย ภัทรธิดา สมรักษ์)

 

ผลลัพธ์คือ “พฤติกรรมการดื่มของเด็กอาสาสมัครก็ลดลงไปเยอะ เขาบอกว่าได้ซึมซับจากการเป็นสื่อรณรงค์ให้ผู้อื่นลดละเลิก ตนเองจึงอยากเป็นตัวอย่างที่ดี พวกเขารู้สึกว่าสิ่งที่ทำมีคุณค่า ได้แสดงศักยภาพอย่างเต็มที่ บางคนอาจจะไม่ถนัดในเรื่องการแสดงละคร ก็จะไปอยู่ฝ่ายคอสตูมบ้างแต่งหน้าให้บ้าง จัดบล็อกกิ้งบ้าง หรือแม้กระทั่งคุมเสียง หัวใจสำคัญไม่ได้อยู่ที่การแสดงละคร แต่อยู่ที่กระบวนการซึ่งทำให้เกิดละครรณรงค์หนึ่งเรื่อง

พอเด็กๆ ได้มาคลุกคลี พวกเขาก็จะเห็นปัญหาจริงๆ ที่เกิดจากการดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ การที่เขาตระหนักว่าปัญหาทุกอย่างไม่สามารถแก้ไขด้วยการดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ นั่นคือการบรรลุวัตถุประสงค์ของเราแล้ว แม้บางคนอาจจะไม่ได้เลิกขาดแต่อย่างน้อยพวกเขาลดละได้มากเลยทีเดียว”

แม้การทำงานกับร่วมกลุ่มเยาวชนอาจจะทำให้ส้มโอรู้สึกเหนื่อยบ้างเป็นบางครั้ง แต่เธอไม่เคยท้อ เพราะไม่ว่ากิจกรรมอย่างการทำละคร ค่ายฝึกอบรม สร้างพื้นที่ปลอดภัย เล่านิทานออนทัวร์ในรั้วโรงเรียน ทำตุ๊กตาหุ่นผ้า ฯลฯ ทั้งหมดเธอเชื่อว่าจะทำให้เยาวชนได้ซึมซับ ตระหนักถึงปัญหา รวมถึงการเปิดโอกาสให้เยาวชนมาทำงานร่วมกันจะทำให้พวกเขาได้เห็นว่าตนเองสามารถเลือกใช้ชีวิตอย่างที่ชอบ มีคุณค่า มีความสามารถหลากหลาย

ยิ่งไปกว่านั้น เธอยังเชื่ออีกว่าคือ ละครเวทีของตนที่เกิดจากเยาวชน จะทำให้กลุ่มเยาวชนด้วยกันเข้าใจและคล้อยตามสารที่ต้องการสื่อได้ดียิ่งขึ้น 

“คนที่มาดูละคร เป็นผู้ที่เสพสื่อรณรงค์โดยตรง ถามว่าละครสามารถช่วยให้พวกเขาลดละเลิกดื่มได้ด้วยไหม นั่นอาจจะเป็นเรื่องยาก แต่เราเชื่อเสมอว่าการที่ให้เยาวชนในวัยเดียวกันเป็นกระบอกเสียง ผู้ชมที่เป็นเยาวชนด้วยกันจะเรียนรู้และเข้าใจได้ง่ายกว่าการที่ให้ผู้ใหญ่ไปสื่อสารและบอกว่าการดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ไม่ดี พูดง่ายๆ คืออย่างน้อยวัยรุ่นในพื้นที่เขาจะได้รับรู้ เข้าใจถึงสถานการณ์ ผลกระทบที่เกิดขึ้นจากเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ และอย่างน้อยการที่เราไปทำละคร ก็ทำให้พวกเขารู้ว่ามีกลุ่มเล็กๆ กลุ่มหนึ่งตั้งหน้าตั้งตาทำละครสะท้อนสังคม“

 

(ภาพโดย ภัทรธิดา สมรักษ์)

 

เลิกได้ยากเพราะอะไร และเราทุกคนควรทำอย่างไร

 

เมื่อเราถามเหตุผลที่คนเมืองแพร่อาจจะเลิกดื่มได้ยาก ส้มโอแสดงความคิดเห็นว่า “ปัญหาหลักๆ เลยคือจิตใจไม่เข้มแข็งพอ และเขายังอยู่ในสังคม ชุมชนที่มีสภาพแวดล้อมยังดื่มกินอยู่ สภาพแวดล้อมรอบข้างเต็มไปด้วยคนเดิมๆ จะทำให้เขาไม่สามารถเลิกดื่มได้ ต่อมาคือเรื่องของมุมมองที่มองว่าการดื่มเป็นเรื่องปกติ เป็นวัฒนธรรม ถ้าเป็นคนดื่ม เราคิดว่าเขาย่อมรู้เรื่องความเสี่ยง อันตรายที่เกิดจากแอลกฮอล์ เช่น หากดื่มแล้วขับก็เสี่ยงต่ออุบัติเหตุ แต่ทั้งหมดนี้ ถ้ายังไม่เกิดกับตัวเอง พวกเขาก็อาจจะไม่ทันตระหนักถึงผลกระทบ ความร้ายแรงของมัน 

“ส่วนวัยรุ่น ปัจจัยสำคัญคือเพื่อน หลายคนมักบอกว่ามิตรภาพเกิดขึ้นในวงเหล้า มันปลูกฝังให้วัยรุ่นและคนทุกวัยเชื่อแบบนั้นจริงๆ และเพื่อนมักเป็นสาเหตุหนึ่งที่ทำให้คนเลิกไม่ได้”  

อย่างไรก็ตาม ส้มโอเน้นย้ำว่า แม้สาเหตุที่หลายคนยังไม่สามารถเลิกเหล้าได้จะเกิดจากสภาพแวดล้อมรอบตัวแตกต่างกันไป แต่เราก็ไม่สามารถละเลยการให้ความรู้เชิงรุก เช่น การให้ความรู้จากภาคการศึกษาหรือสาธารณสุข เพราะทั้งหมดมีความสำคัญต่อเยาวชนผู้ซึ่งเป็นอนาคตของชาติอย่างมาก

“ถ้าพูดในวงการศึกษา เรามองว่าเรายังอ่อนเรื่องการให้ความรู้กับนักเรียน เพราะเอาเข้าจริงแล้วครูในบางโรงเรียนก็ยังดื่มในสถานศึกษาให้เด็กเห็น จึงห้ามเด็กได้ไม่เต็มปากนักว่าห้ามดื่ม” 

ดังนั้น การเป็นตัวอย่างที่ดีจึงเป็นอีกหน้าที่หนึ่งที่ผู้ใหญ่ในสังคมต้องร่วมมือกัน

“ส่วนระบบสาธารณสุข เราอาจมีหน่วยงานของสาธารณสุขจังหวัดที่รับผิดชอบในเรื่องกฎหมาย และโรงพยาบาลรับผิดชอบในเรื่องของการบำบัดรักษาก็จริง แต่เรายังมองว่าระบบเหล่านี้ของเมืองไทยเรายังไม่เข้มแข็ง เพราะคนส่วนใหญ่ต่างก็มองว่าการดื่มเป็นเรื่องปกติมาทุกยุคทุกสมัย”

คงจะดีไม่น้อยหากภาคสาธารณสุขทำหน้าที่เป็นทั้งผู้ตั้งรับและเดินหน้าสร้างความตระหนักรู้เชิงรุกร่วมกับภาคการศึกษาให้แก่ประชาชนอย่างต่อเนื่อง

“เพราะเมื่อทุกภาคส่วนร่วมมือกันอย่างเข้มแข็ง คนในสังคมของเราน่าจะมีความสุขมากขึ้นได้แม้ไม่ต้องดื่มแอลกอฮอล์”

 


 

เรื่องและภาพ: ทีมงาน Alcohol Rhythm

Related Articles