ย้อนดูแบบแผนความเสี่ยงช่วงสงกรานต์เพื่อออกแบบอนาคต – ‘มาตรการสำเร็จรูป’ อาจไม่ใช่คำตอบอีกต่อไป

May 25, 2021


 

ดื่มเหล้าบ้านเพื่อน ขับเร็วแล้วไม่สวมหมวก คือ สาเหตุหลักของการเสียชีวิตในช่วงสงกรานต์

ไปแค่นี้เอง – หลายคนอาจจะเผลอพูดประโยคแบบนี้บ่อยครั้งเวลาที่ออกไปสังสรรค์บ้านเพื่อนแล้วถูกใครสักคนในครอบครัวหรือเพื่อนฝูงทักว่า ‘ไม่ควรขับรถไปแบบไม่สวมหมวกกันน็อก’ โดยหารู้ไม่ว่า ‘ไปแค่นี้’ เองนี่ล่ะคือเรื่องที่อันตรายที่สุด

จากสถิติการเกิดอุบัติเหตุในช่วงปีใหม่เมื่อปีที่แล้ว (พ.ศ. 2563) พบว่า อุบัติเหตุกว่า 80% เกิดจากการขับขี่รถจักรยานยนต์และอุบัติเหตุมักเกิดบนถนนของ อบต.และหมู่บ้านมากที่สุดถึง 37.9%

ตัวเลขที่น่าสนใจกว่านั้นคือกว่า 19% หรือ 1 ใน 5 ของอุบัติเหตุที่เกิดจากมอเตอร์ไซค์จะเกิดในบริเวณที่ผู้ประสบอุบัติเหตุอยู่อาศัยในรัศมี 3 กิโลเมตร หรือถ้าขีดวงกว้างออกมาอีกนิด คือจะเกิดเหตุบริเวณที่คนคนนั้นอยู่อาศัยในรัศมี 5 กิโลเมตรถึงร้อยละ 39

 

เราเห็นอะไรจากตัวเลขนี้?

 

นายแพทย์ธนะพงศ์ จินวงษ์ ผู้จัดการศูนย์วิชาการเพื่อความปลอดภัยทางถนน (ศวปถ.) ตีความสถิติที่เกิดขึ้นให้ฟังว่า เป็นตัวเลขสะท้อนรูปแบบการพบปะสังสรรค์ของคนชนบทที่ต่างจากคนกรุงเทพฯ หรือคนเมือง โดยปกติคนเมืองอาจจะเจอกันที่ร้านเหล้า สถานบันเทิง แต่สำหรับคนชนบท ถ้าไม่มีลักษณะการรวมตัวตามงานหมอลำ คอนเสิร์ต พวกเขาก็มักตั้งวงเหล้าดื่มกันง่ายๆ ที่บ้าน มอเตอร์ไซค์จึงกลายเป็นยานพาหนะหลักและเกือบทั้งหมดจะไม่ใส่หมวกกันน็อคเพราะเขามองว่าไปแค่นี้เอง

“ลองนึกถึงภาพไปดื่มสังสรรค์ ตอนไปอาจจะคิดว่าแค่นี้ แต่ตอนกลับเขาเมาแล้ว และสิ่งที่เจอในช่วงเทศกาลทั้งปีใหม่และสงกรานต์ คืออุบัติเหตุที่เกิดในลักษณะนี้ประมาณ 40% – 50% ไม่มีคู่กรณี” หมอธนะพงศ์กล่าว

 

‘เมาไม่ขับ’

‘ดื่มไม่ขับ ขับไม่ดื่ม’

‘เมาไม่ขับ กลับบ้านปลอดภัย’

‘ลดเร็ว ลดเสี่ยง กลับบ้านปลอดภัย’

‘สงกรานต์นี้ ขับขี่ปลอดภัย ไม่มีใครเป็นหนึ่งในสถิติ’

 

ขับรถเร็ว – ไม่สวมหมวก – ดื่มแล้วขับ นี่คือความเสี่ยงในการเกิดอุบัติเหตุที่คุณหมอธนะพงศ์บอกไว้ นั่นอาจเป็นเหตุผลที่ทำให้เรามักได้ยินสโลแกนเหล่านี้บ่อยครั้ง

แล้วแต่ละปีแต่ละพื้นที่ ความเสี่ยงเหล่านี้เหมือนหรือต่างกันหรือไม่?

 

“แบบแผนความเสี่ยงของช่วงเทศกาลไม่ค่อยแตกต่างกันนัก หลักๆ มีแค่ 2 แบบแผน คือ แบบแผนความเสี่ยงช่วงเดินทางเป็นเรื่องของการขับเร็ว และแบบแผนความเสี่ยงช่วงการเฉลิมฉลองจะเป็นเรื่องการเมาแล้วขับ การไม่สวมหมวกกันน็อกเป็นส่วนใหญ่” หมอธนะพงศ์ตอบ

แบบแผนความเสี่ยงไม่ต่าง แต่การมุ่งเน้นนั้นต่างกันซึ่งแต่ละปีก็ขึ้นอยู่กับเงื่อนไขประกอบอื่นๆ เช่น นโยบายของรัฐหรือแม้กระทั่งการเกิดโรคระบาดอย่างไวรัสโคโรนา 2019

 

 

 

สถานการณ์เปลี่ยน แผนความเสี่ยงเปลี่ยนไปอย่างไร

 

เมื่อเปรียบเทียบ 2 ปีที่โดนโควิดเล่นงานจะเห็นสถิติดังนี้

สงกรานต์ปี 2562      เกิดอุบัติเหตุ 3,338 ครั้ง เสียชีวิต 386 ราย

สงกรานต์ปี 2563      อุบัติเหตุเกิดขึ้น 1,307 ครั้ง เสียชีวิต 167 ราย

สงกรานต์ปี 2564      อุบัติเหตุรวม 2,365 ครั้ง เสียชีวิต 277 ราย

สาเหตุที่ทำให้เกิดอุบัติเหตุสูงสุด ได้แก่ ขับรถเร็ว ร้อยละ 35.18 ดื่มแล้วขับ ร้อยละ 22.13

 

ถ้าดูจากสถิติจะเห็นได้ว่าปีที่แล้ว (พ.ศ. 2563) มีจำนวนอุบัติเหตุการเสียชีวิตลดลงกว่าครึ่ง ซึ่งเชื่อว่าเป็นผลพวงมาจาก ‘ยาแรงชุดใหญ่’ ที่รัฐฉีดไป ได้แก่

1. ล็อกดาวน์ ลดการเดินทาง ลดการออกจากบ้าน ลดงานรื่นเริง

2. มาตรการเคอร์ฟิวส์ หลังสี่ทุ่มห้ามออกจากบ้าน

3. มีมาตรการห้ามขายเหล้า

ยาแรง 3 หลอดนี้ทำให้การเสียชีวิตซึ่งปกติในช่วงเทศกาลสงกรานต์จะมีจำนวนผู้เสียชีวิตเฉลี่ย 380 คน หรือคิดเป็น 54 รายต่อวัน ลดฮวบเหลือเพียง 167 รายในปีที่แล้ว หรือกล่าวได้ว่าลดลงไป 219 ราย คิดเป็นราว 56.7%

แม้การระบาดของโรคโควิด – 19 จะยังไม่ซาลงแต่ปีนี้เงื่อนไขกลับต่างจากปีที่แล้ว (พ.ศ. 2563) โดยหมอธนะพงศ์เปรียบเทียบให้ฟังว่าปีนี้ไม่มีการล็อกดาวน์ ไม่มีเคอร์ฟิวส์ ไม่มีการห้ามขายเหล้า มีเพียงแค่การขอความร่วมมือลดการรวมกลุ่ม ลดการสาดน้ำและหลีกเลี่ยงการจัดงานใหญ่ๆ รวมถึงตัวภาครัฐเองก็มีแนวโน้มอยากให้คนกลับบ้านเพื่อช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจช่วงเทศกาล ซึ่งเห็นได้จากการให้มีวันหยุดยาวติดต่อกันหลายวัน ฉะนั้นมันก็จะเป็นเงื่อนไขที่ส่งเสริมให้คนเดินทางกลับบ้าน

 

“ยิ่งมีโควิด คนยิ่งใช้รถส่วนบุคคลเพราะว่าคงไม่อยากไปใช้บริการกับรถสาธารณะ และใช้วิธีการทยอยกลับมากกว่าการรอเดินทางกลับในวันสุดท้าย นั่นแปลว่า เขามีโอกาสทำความเร็วได้”

ดังนั้นแบบแผนความเสี่ยงในช่วงการเดินทางของปีนี้คือ เรื่องความเร็ว, คุณหมอสรุป

 

แม้จะมีการตั้งจุดตรวจในช่วงสงกรานต์เพื่อดูแลการขับขี่รถยนต์-จักรยานยนต์ แต่อาจไม่ถึงขั้นดูแลครอบคลุมทุกพื้นที่ โดยเฉพาะการคมนาคมบนถนนสายรองหรือถนนในหมู่บ้านได้ หมอธนะพงศ์จึงเสนอว่า “เราต้องคุยว่าทำยังไงให้ท้องถิ่นหรือชุมชนซึ่งเป็นเจ้าภาพของหมู่บ้านตัวเอง ลุกขึ้นมาบังคับใช้กฎหมายหรือไม่ก็ทำตามแบบแผนชุมชน คิดว่าเรื่องการทำให้ด่านชุมชนเป็นด่านเชิงบูรณาการ”

เรามักคุ้นชินกับภาพของอาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน หรือ อสม. เฝ้าด่านตรวจวัดไข้ ใส่หน้ากากผู้ที่ขับรถสัญจรไปมาในหมู่บ้านช่วงที่มีการแพร่ระบาดของโรคโควิด – 19 ซึ่งหากชุมชนสามารถบูรณาการให้ด่านเหล่านี้ทำหน้าที่หลายอย่างรวมกัน คือ มีการตรวจวัดไข้ ใส่หน้ากากและสามารถตรวจแอลกอฮอล์ได้ด้วย ตรวจหมวกกันน็อกไปด้วยมันจะสามารถป้องกันได้ในระดับหนึ่ง

“เป็นการบูรณาการไปด้วยกันทั้งเรื่องโรคโควิด – 19 และความปลอดภัยบนท้องถนนในชุมชน”

 

 

 

จากต้นน้ำถึงปลายน้ำ ‘มาตรการสำเร็จรูป’ อาจไม่ใช่คำตอบอีกต่อไป

 

ถึงตรงนี้เราคงพอเห็นรูปแบบมาตรการการรองรับความเสี่ยงในช่วงการฉลองได้ตั้งแต่ต้นน้ำ จนถึงปลายน้ำ

ต้นน้ำ คือ สถานที่พวกอุทยาน ชุมชน จุดจำหน่าย จุดรื่นเริงที่ต้องตัดวงจรการดื่มเหล้าให้ได้โดยเด็ดขาด

กลางน้ำ คือ ด่านตรวจ ด่านชุมชน

และปลายน้ำ คือ เมื่อเกิดเหตุต้องตรวจแอลกอฮอล์ทุกราย ถ้าพบว่าเป็นเด็กก็ต้องสืบไปถึงต้นน้ำว่าใครขายเหล้าให้เด็กก็จะถูกลงโทษ

หมอธนะพงศ์บอกว่าถ้าสามารถบูรณาการได้แบบนี้จะทำให้มาตรการนั้นมีประสิทธิภาพมากขึ้น

 

“ถ้าสังเกตจะเห็นว่าทิศทางมาตรการของรัฐบาลจะค่อยๆ มุ่งเน้นไปให้ความสำคัญกับระดับพื้นที่มากขึ้น”

หมอธนะพงศ์ยังอธิบายเพิ่มเติมว่าเดิมทีนโยบายหรือมาตรการต่างๆ มักมาจากส่วนกลาง แต่ตอนนี้นโยบายเริ่มกระจายแบบ area base โดยให้คนในพื้นที่เป็นผู้วิเคราะห์ปัญหาแล้วสร้างมาตรการระดับพื้นที่เอง เช่นเดียวกับกรณีการแพร่ระบาดของโรคโควิด – 19 ที่ตอนนี้เน้นทิศทางแบบ area base

“ตอนนี้รัฐบาลกลางจะไม่กล้าออกมาตรการแบบสูตรสำเร็จแต่ใช้แบบ area base ซึ่งถ้าเราสามารถทำให้ทิศทางนี้เป็นทิศทางหลักในการบริหารจัดการ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องความปลอดภัยบนท้องถนนหรือเรื่องอื่นๆ แล้วให้ความสำคัญกับอำเภอ พื้นที่ ให้คนท้องถิ่นสามารถวิเคราะห์ความเสี่ยงแล้วจัดการความเสี่ยงได้เอง ผมมองว่าเป็นทิศทางที่ถูก เพราะฉะนั้นคำตอบของเรื่องนี้คือทำอย่างไรให้พื้นที่สามารถวิเคราะห์ความเสี่ยงและจัดการความเสี่ยงของตัวเองได้

 

 


 

เรื่องและภาพ: ทีมงาน Alcohol Rhythm

 

 

Related Articles