นอกจากเป็นจักษุแพทย์แล้ว อีกหนึ่งหน้าที่ของ ‘นพ.แท้จริง ศิริพานิช’ คือเลขาธิการมูลนิธิเมาไม่ขับ และนั่นทำให้หลายคนรู้จักเขาในชื่อ ‘หมอเมาไม่ขับ’ การทำงานรณรงค์มาอย่างต่อเนื่องทำให้นพ.แท้จริง เห็นภาพของสังคมในหลากหลายมุม และนั่นนำมาซึ่งความคิดตกผลึกของเขาว่า อุบัติเหตุไม่ใช่เรื่องของโชคชะตาหรือความเคราะห์ร้าย แต่มีส่วนมาจากโครงสร้างของสังคมที่บิดเบี้ยว ดังนั้น หากเราจะแก้ปัญหาเรื่องอุบัติเหตุได้อย่างยั่งยืน เราจะต้องแก้ปัญหาไปถึงรากฐานของสังคมไทยด้วย
Alcohol Rhythm เปลี่ยนจังหวะชีวิตคนติดเหล้า ชวนอ่านทัศนะของ นพ.แท้จริง ศิริพานิช ผู้ทำงานรณรงค์เรื่องเมาไม่ขับมากว่า 23 ปี และยังคงทำต่อไปจนกว่าสังคมไทยจะปลอดภัยกว่านี้ – ภาพอุบัติเหตุในสังคมไทยตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบันเป็นอย่างไร และเราจะแก้ปัญหาอุบัติเหตุในสังคมไทยให้ยั่งยืนได้อย่างไร ชวนหาคำตอบได้ด้านล่างนี้ (อ่านบทสัมภาษณ์ฉบับเต็มได้ที่นี่)
:: ดื่มเหล้า แต่เราต้องไม่ขับ ::
ได้ยินว่าคุณหมอทำงานเรื่องเมาไม่ขับมา 23 ปี อะไรเป็นแรงผลักดันให้เริ่มทำเรื่องนี้ และทำมาได้ต่อเนื่องยาวนานขนาดนี้
ตอบง่ายๆ เลยนะ เพราะว่าเมาแล้วขับเป็นเรื่องที่อันตรายไง ผมคิดว่า เวลาออกไปนอกบ้าน ไปทำงาน ผมมีโอกาสโดนคนเมาขับรถชนตาย ก็รู้สึกว่าชีวิตไม่ปลอดภัยแล้ว ถ้าผมทำเรื่องนี้สำเร็จ ก็จะได้ความปลอดภัยในชีวิตคืนมาด้วย นี่มันต่างกับคนสูบบุหรี่นะ เพราะถ้าเห็นคนสูบบุหรี่ เราก็อาจจะเลี่ยงไม่เข้าใกล้ได้ ป้องกันตัวเองได้ แต่สำหรับคนเมาแล้วขับ คุณรู้ได้ยังไงว่าเขาจะไม่ขับมาชนเรา หรือเราจะรู้ได้ยังไงว่าเขาเมา เรามีโอกาสโดนคนเมาชนได้ทุกเมื่อแหละ ป้องกันตัวเองไม่ได้เลย
ประเทศไทยมีคนเสียชีวิตจากอุบัติเหตุบนท้องถนนปีละราว 2 หมื่นคน ครึ่งหนึ่งเกิดขึ้นเพราะเมาแล้วขับ จริงๆ เมื่อก่อนหนักกว่านี้ คือคิดเป็นราว 80% ของอุบัติเหตุที่เกิดขึ้น เราทำการรณรงค์เรื่องนี้มานาน จะว่าสำเร็จก็สำเร็จ แต่จะว่าไม่ก็ไม่ เพราะถึงมันจะลดลงมาได้ครึ่งหนึ่ง แต่เมาแล้วขับก็ยังเป็นสาเหตุใหญ่อยู่ดี และสถิตินี้ นับแค่เฉพาะกรณีที่โดนเรียกตรวจแอลกอฮอล์แล้วเจอว่าเมา (มีปริมาณแอลกอฮอล์ในเลือดมากกว่า 50 มิลลิกรัมเปอร์เซ็นต์) ยังมีคนอีกเยอะที่หลุดไปได้
เพราะฉะนั้น หากถามว่าทำไมผมยังรณรงค์เรื่องนี้อยู่ ก็เพราะมันยังไม่ปลอดภัยไง พอคนเมาขับรถชนคนอื่น บอกแค่ว่า “ขอโทษ ผมไม่ได้ตั้งใจ ผมแค่เมา” คนไทยก็จะมองว่า อย่าถือคนบ้า อย่าว่าคนเมา เรื่องก็จบไป เรามองคนเมาแล้วขับเป็นมิตรเกินไป เหล้ากับสังคมเป็นอะไรที่แยกกันไม่ออก ซึ่งต้องบอกก่อนว่า เราไม่ได้ห้ามคุณดื่มเหล้านะ การดื่มเป็นสิทธิของคุณ แต่จะดื่มแล้วไปขับรถไม่ได้ เราไม่ยอมเรื่องนี้
:: เพราะชีวิตเอาคืนมาไม่ได้ ::
มีส่วนไหนของการรณรงค์ที่คุณคิดว่า ยังเป็นความท้าทาย หรือต้องพยายามให้มากขึ้น
ผมยังไม่พอใจเรื่องผลลัพธ์เท่าไหร่ จำนวนคนที่เสียชีวิตจากอุบัติเหตุยังไม่ได้เปลี่ยนไปมาก เราไม่ได้บอกว่า ห้ามเกิดอุบัติเหตุ มันเกิดได้ แต่ถ้าเกิดแล้ว ไม่มีคนเสียชีวิตได้ไหม ขาหักดามได้ แต่ชีวิตเอากลับคืนมาไม่ได้ แล้วส่วนใหญ่อุบัติเหตุรุนแรงเพราะความเมา ถ้าเรามีสติ เรายังพอควบคุมได้ แต่ถ้าเมาเราไม่รู้เรื่องเลย ทำอะไรลงไปไม่รู้ ยกโทษให้ที แล้วคนอื่นก็บ้าจี้ตาม บอกว่าอย่าถือสาคนเมา คือมันไม่ได้ไง
แต่ก่อนตอนเราเริ่มรณรงค์ใหม่ๆ มีคนบอกว่า “จะบ้าเหรอ คนไทยเมาทั้งประเทศ มีเหล้าขายเยอะขนาดนี้ จะรณรงค์ไปทำไม” คนไทยชอบมองว่าอุบัติเหตุเป็นเรื่องของโชคชะตา ถ้าดวงดีก็ไม่ตาย ซึ่งมันไม่ใช่ ตอนนี้คนไทยเริ่มรับแนวคิดเมาไม่ขับแล้ว แต่ถ้าถามว่าคนเมายังขับไหม ก็ยังขับอยู่ แถมเยอะด้วย เวลาดื่มเหล้ากับเพื่อนเสร็จ แทนที่จะบอกกันว่า “เมาไม่ขับนะ” คนส่วนใหญ่กลับบอกว่า “ขับรถดีๆ” แทน
คุณจะดื่มเราไม่ว่า แต่อย่าขับออกไป เราไม่โอเค คุณจะดื่มหรือไม่ดื่ม มันคือทางเลือกของคุณ แต่ถ้าคุณขับออกไป คุณอาจจะเลือกแทนคนอื่น ซึ่งเขาไม่ได้เลือก เขาไม่ได้เมากับคุณด้วย แต่เขาอาจจะต้องเสียชีวิตเพราะคุณ มันไม่แฟร์ การเลือกคืออิสระของมนุษย์ ทุกคนมีสิทธิเลือก ผมเลือกที่จะตายเองได้ มันเป็นชีวิตของผม แต่ถ้าคนเมามายัดเยียดให้ ผมไม่ยอม
:: เพราะคนไทยอาจไม่มีวินัยมากพอ(?) ::
สภาพสังคมไทยก็เป็นตัวเอื้อให้เกิดอุบัติเหตุด้วย?
ใช่ครับ ผมเชื่อนะว่าคนไม่ได้ไม่รู้เรื่องกฎหมาย จะเมาแล้วขับ ขับรถเร็ว หรือขับย้อนศร เขารู้หมด แต่ถามว่ารู้แล้วทำไมยังทำ ก็เพราะเขารู้ว่า ทำแล้วมันรอดได้ ลองเป็นคนไทยที่ทำผิดกฎจราจรไปขับรถที่ญี่ปุ่นสิ ขับดี เคารพวินัยจราจรเชียว เพราะกฎหมายเขาไม่มีช่องว่าง เขาไม่รู้ว่าจะหาใครมาช่วยได้ เลยต้องขับรถให้ดีๆ นี่เป็นตรรกะเดียวกับฝรั่งที่มาเมืองไทยแล้วทำตัวตามสบายนั่นแหละ คนไทยเราโดนปลูกฝังแบบนี้มานานโดยที่เราไม่รู้ตัว เราอยู่ในประเทศที่โคตรสบาย ไร้ระเบียบวินัยโดยสิ้นเชิง ปัญหาที่เราพูดถึงกันมันเป็นแค่ 10% ของยอดภูเขาน้ำแข็ง สิ่งที่ซ่อนอยู่ข้างใต้อีก 90% เป็นพวกความเชื่อเรื่องเวรกรรม โชค ดวง ฉะนั้น คนไทยชุ่ยเพราะระบบโครงสร้างสังคมที่เป็นแบบนี้
:: สร้างจิตสำนึก คือทางออก(?) ::
คุณหมอคิดว่า ด้วยสภาพสังคมไทยที่เป็นแบบนี้ เราจะสร้างจิตสำนึกยังไงดี
การจะสร้างจิตสำนึกได้ต้องมีสภาพและเงื่อนไขที่เหมาะสม จิตสำนึกก็เหมือนต้นไม้ จะสร้างจิตสำนึกคือการปลูกต้นไม้ ต้องมีดินดี น้ำดี อากาศดี และแดดดี ตอนนี้จิตสำนึกของสังคมเราเหมือนโดนบังแดดอยู่ แล้วในเมื่อต้นไม้ที่เราปลูกไม่เคยโดนแดดเลย ถามว่ามันจะเจริญงอกงามไหม ไม่หรอก
ถามว่าอะไรเป็นตัวบังแดดของเรา นั่นคือสิ่งที่พูดมาทั้งหมด ทั้งระบบอุปถัมภ์ การคอร์รัปชัน พวกนี้เป็นตัวบังแดดทั้งนั้น มนุษย์ส่วนหนึ่งคิดถึงแต่ตัวเองและเอาตัวเองเป็นที่ตั้ง จะทำตามแต่ที่ตัวเองพอใจ มีแต่ประเทศไทยเท่านั้นแหละที่ยอม ลองไปอยู่ประเทศอื่นสิ ไม่ได้หรอก ประเทศอื่นไม่มีระเบียบอยู่ไม่ได้ แต่ประเทศไทยอยู่ไม่ได้ถ้ามีระเบียบ
คุณจำได้ไหม ย้อนกลับไปสมัยคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) มีแนวคิดว่า คนเสียชีวิตเพราะอุบัติเหตุจากการนั่งหลังรถกระบะ เลยจะออกกฎหมายห้ามนั่งหลังกระบะ ทีนี้โวยวายกันใหญ่ จน คสช. ต้องถอย ให้นั่งได้แต่ไม่เกิน 7 คน เห็นไหมว่านี่คือสังคมไทย เอาระเบียบเข้ามาจับ จะพังทันทีเลย แถมบางทีอ้างความจนอีก สุดท้ายก็ไม่เคยมีใครพูดถึงกฎหมายฉบับนี้อีกเลย
นี่คือสิ่งที่เกิดขึ้นจริง ดังนั้น ผมว่าเราต้องทำการแก้พฤติกรรมก่อน คำว่าพฤติกรรมมันไม่ตรงไปตรงมา เพราะเรากำลังทำเรื่องนี้กับคน ซึ่งมีความลึกซึ้ง แต่ถ้าเราแก้ถูกจุด คลิกกับเขาแล้ว มันจะง่ายเลย ผมเชื่อว่า ตอนนี้เรากำลังหาลูกกุญแจมาไขปัญหาเรื่องอุบัติเหตุ เราบอกว่าเราไม่มีแสงแดด แต่จำเป็นต้องเป็นแสงจากดวงอาทิตย์เท่านั้นไหม อาจจะไม่ เพราะเดี๋ยวนี้เรามีเทคโนโลยีที่อาจจะเอามาช่วยส่องแสงให้ต้นไม้หรือจิตสำนึกของเราแทนได้
:: ร่วมด้วยช่วยกัน ระวังอย่างต่อเนื่อง ::
มีคนบอกว่า ช่วงเทศกาลปีใหม่กับสงกรานต์ยอดผู้เสียชีวิตจะพุ่งมาก เรื่องนี้เท็จจริงยังไง
จริงครับ เราจึงเอาเทศกาลปีใหม่กับสงกรานต์เป็นตัวตั้ง ผลักดันเรื่อง 7 วันอันตราย อย่างที่บอกว่า เมื่อก่อนคนไม่ได้สนใจเรื่องอุบัติเหตุ การนำเรื่องเทศกาลเข้ามาก็เป็นลูกเล่นหนึ่งที่จะทำให้คนสนใจและตระหนักได้ว่า มันอันตราย ถามว่าได้ผลไหม ก็ได้ผลนะ เพราะเมื่อก่อนนี้ สักช่วงสมัยที่ ดร.ทักษิณ ชินวัตร เป็นนายกฯ 7 วันอันตรายมีคนตายราว 700 คนเลย ตอนนี้เหลือประมาณ 400 แล้ว แต่มันก็ลดแค่ 7 วันแหละ อีก 300 กว่าวันเรายังทำไม่ได้ เหมือนพอครบ 7 วันก็ปิดสวิตช์เลย
ตอนนี้ เรายังมองอุบัติเหตุเหมือนเป็นภัยธรรมชาติ ซึ่งมันไม่ใช่ อุบัติเหตุเกิดทุกวัน ต้องทำทุกวัน ผมยกตัวอย่างว่า ถ้าคุณอยากฟันดี ลงทุนไปหาหมอฟันปีหนึ่งสองครั้ง นอน 7 วันให้หมอฟันทำความสะอาดฟันทุกอย่าง แต่พอกลับมาไม่เคยแปรงฟันเลย ถามว่าฟันคุณจะดีไหมล่ะ นี่ก็เหมือนกัน เรายังต้องทำตลอด ทำทุกวัน ไม่ใช่ 7 หรือ 14 วันต่อปี
เรื่องและภาพ: ทีมงาน Alcohol Rhythm