เปิดประตูตู้เย็นใจ : ฟรีซความวุ่นวาย ให้หายติดเหล้า (Photo Essay)

July 8, 2021


อุณหภูมิที่ไม่แน่นอนของพระอาทิตย์แต่ละวันพร้อมกับสถานการณ์บ้านเมืองชวนให้ว้าวุ่นใจ หลายคนอาจดับความร้อนกายร้อนใจด้วยการเปิดตู้เย็นหาเครื่องดื่ม

 

‘แอลกอฮอล์’ อาจเป็นอีกหนึ่งเครื่องดื่มที่ช่วยเยียวยาอารมณ์ใครหลายคน แต่จะดีกว่าไหม ถ้ามีทางเลือกใหม่ที่ทำให้คุณเย็นใจได้โดยไม่ต้องใช้น้ำเมา และไม่เสี่ยงต่ออาการติดสุราในภายหลัง 

พร้อมหรือยังสำหรับการเปลี่ยนตู้เย็นเดิมๆ ที่เคยเต็มไปด้วยขวดเหล้า ให้เป็นตู้เย็นรูปแบบใหม่ Alcohol Rhythm เปลี่ยนจังหวะชีวิตคนติดเหล้า ชวนคุณมาเปิดประตูตู้เย็นใจ ร่วมกันฟรีซความวุ่นวายให้หายติดเหล้า ผ่าน 5 กิจกรรม 6 ตัวช่วย ซึ่งจะพาคุณกลับไปสำรวจจิตใจ ปรับเปลี่ยนพฤติกรรมด้วยวิธีที่สามารถทำได้ง่ายๆ ที่บ้าน ไม่ว่าจะเป็นการรับชมภาพยนตร์ อ่านหนังสือ ฟังพอดแคสต์ ทำงานศิลปะ และ เขียนบันทึก Journal Book รับรองว่าครบรสทั้งสาระและความสนุกแน่นอน

ถ้าพร้อมแล้ว ไปสำรวจตู้เย็นตู้ใหม่ไร้แอลกอฮอล์กันเลย!

 

 

1.’The Way Back’ ทบทวนความฝันและการดื่ม

 

 

“We can’t change the past but we can do its choose how we move forward.” 

“เราเปลี่ยนแปลงอดีตไม่ได้ แต่เราเลือกได้ว่าเราจะเดินหน้าต่อไปยังไง”

The Way Back หรือ เส้นทางเกียรติยศ คือเรื่องราวของ ‘แจ็ค’ อดีตนักบาสเกตบอลตัวเต็งของโรงเรียนมัธยมคาทอลิก ผู้มีปมบางอย่างในครอบครัวที่ทำให้ต้องยุติความฝันตัวเองลง เขากลายเป็นคนติดเหล้าอย่างรุนแรง และระหว่างที่กำลังจมจ่อมอยู่กับน้ำเมา โชคชะตากลับเล่นตลก เมื่อเขากลายเป็นโค้ชทีมบาสเกตบอล ‘บิชอปเฮส์’ หลังจากถูกชักชวนโดยบาทหลวงของโรงเรียนมัธยม จนเป็นเหตุให้เขาได้ย้อนไปทบทวนเส้นทางความฝันตัวเองอีกครั้ง

ความพิเศษของเรื่องราวใน The Way Back คือภาพยนตร์ไม่ได้แค่เล่าถึงความฝันของแจ็คเพียงคนเดียว แต่เล่าถึงการแบกรับความฝันของลูกศิษย์ในทีม โรงเรียน และความหวังจากตัวละครอีกหลายคนเอาไว้ แม้วิธีการเล่าอาจฟังดูเรียบง่าย ไม่ซับซ้อน ดูไม่หวือหวาอะไรแต่จุดไคลแมกซ์ที่แต่ละครั้งน่าจะกระตุกหัวใจทำให้ใครหลายคนอาจน้ำตาคลออยู่ไม่น้อย

นอกจากนี้ ภาพยนตร์ยังสอดแทรกเรื่องราวการเข้ารับการรักษาอาการติดเหล้ากับจิตแพทย์ของแจ็คอีกด้วย ซึ่งหากจะให้แนะนำภาพยนตร์ที่ควรดูสักครั้ง The Way Back เป็นอีกเรื่องที่ทำให้เราได้กลับมาพิจารณาทบทวนถึงความฝัน สำรวจพฤติกรรมการดื่มและวิธีปลดปล่อยตัวเองจากมันได้เป็นอย่างดี

 

2. เปิดซีรีส์ ‘Locke & Key’ ความลับสุดแฟนตาซี และภาพชีวิตคนติดเหล้า

 

เมื่อมองผิวเผิน Locke and Key อาจเป็นเพียงซีรีส์เรื่องราวแฟนตาซีของครอบครัวตระกูลล็อก ที่จำเป็นต้องย้ายมาอยู่ในเมืองชนบทอย่าง ‘แมธเทอสัน’ เมืองที่ดูเหมือนไม่มีอะไรน่าสนใจ จนกระทั่ง ‘โบดี้’ลูกชายคนเล็กของครอบครัวได้รู้เรื่องราวความลับของกุญแจที่พบในบ้านใหม่หลังนี้ 

แต่มองดูดีๆ จะพบว่าสิ่งที่น่าสนใจในเรื่องราว คือการเล่าเนื้อหาเกี่ยวกับคนติดเหล้ารูปแบบใหม่ผ่านบทบาทของ ‘แม่’ ผู้นำของครอบครัว โดยแสดงให้เห็นถึงความพยายามของแม่ที่ต้องการเลิกสุราหลังจากผ่านมา 6 ปี (ซึ่งไม่ใช่เรื่องแปลกหากเราพบว่าตัวละครแม่จะกลับไปดื่มแอลกอฮอล์อีกครั้งระหว่างนั้น) และเล่าถึงการยอมรับตัวเองว่ามีอาการติดเหล้า ซึ่งเป็นจุดเริ่มต้นของการเริ่มบำบัดเยียวยา

การนำเสนอวัฏจักรของอาการติดเหล้าในอีกมุมมอง Locke and Key จึงเป็นอีกซีรีส์ที่เราอยากชวนให้คุณรับชมเพื่อเข้าใจอาการติดสุราเรื้อรัง พฤติกรรมของผู้ดื่มที่กำลังต่อสู้กับตนเอง พร้อมสนุกสนานไปกับพล็อตแฟนตาซีที่น่าสนใจ 

 

3.เปิดมุมมองด้วยหนังสือ ‘เพราะนี่คือสิ่งที่ (นักจิตวิทยา) ไม่เคยบอก’

 

 

‘เพราะนี่คือสิ่งที่ (นักจิตวิทยา) ไม่เคยบอก’ คือหนังสือแปลจากประสบการณ์ของนักจิตบำบัด ‘โลริ’ ซึ่งสอดแทรกทั้งความรู้ ความบันเทิง และความเข้าใจเพิ่มเติมเกี่ยวกับมนุษย์ เพราะหนังสือเล่มนี้เล่าความลับภายใต้จิตใจคน โดยเฉพาะนักจิตวิทยาและนักบำบัด ผู้ถูกครอบงำด้วยมายาคติว่าเป็นอาชีพที่ต้องรับฟังปัญหาผู้คนอยู่ตลอดเวลา จนไม่สามารถแสดงความอ่อนแอหรือความเจ็บปวดภายในให้คนไข้เห็นได้เลยแม้แต่น้อย ทั้งที่ในความเป็นจริงแล้ว นักจิตวิทยาและนักบำบัดเหล่านี้ก็ต้องการคนรับฟังพวกเขาเช่นกัน

โลริยังนำเรื่องจริงจากประสบการณ์พูดคุยกับคนไข้ (ซึ่งผ่านการขออนุญาตจากคนไข้อย่างถูกต้องตามกฎหมายแล้ว) มาเล่าสู่กันฟัง ทำให้เราได้เห็นได้รับฟังบทสนทนาที่เกิดขึ้นกับคนกลุ่มต่างๆ ดังนั้น หนังสือเล่มนี้น่าจะทำให้ผู้อ่านหลายคนเปิดมุมมองต่อนักบำบัด คนไข้ที่เจ็บป่วยทางจิตเวช รวมถึงผู้ติดสุรา เปิดใจว่าแท้จริงแล้ว ‘ทุกคนล้วนมีความน่ารักอยู่ในตัว’ 

 

 

4.ฟังเสียงหัวใจตัวเองผ่านพอดแคสต์ ‘R U OK’

 

‘คุณยังโอเคอยู่หรือเปล่า’ 

จากหนึ่งในบทสนทนาไถ่ถามสารทุกข์สุขดิบของผู้คน สู่ชื่อรายการพอดแคสต์ทำความเข้าใจอารมณ์ความรู้สึกของตัวเอง ดำเนินรายการโดย ปอนด์ ยาคอปเซ่นและดุจดาว วัฒนปกรณ์ ผู้มาเล่าเรื่องราวการดูแลสุขภาพจิตผ่านการทบทวนพฤติกรรม ความรู้สึกในใจ และมอบวิธีรู้เท่าทันความคิดตนเอง

ตัวอย่างเช่น ‘ตอนที่ 79’ R U OK แนะนำให้คุณเปลี่ยนวิธีการมองความผิดหวัง ให้กลายเป็นเรื่องธรรมดาที่ทุกคนล้วนพบเจอ เราเพียงเริ่มต้นยอมรับมัน ซึ่งถึงแม้จะยาก เพราะในแต่ละวันเราล้วนเกิดความหวังในการใช้ชีวิตทั้งตั้งใจและไม่ได้ตั้งใจอยู่เสมอ แต่การยอมรับความผิดหวัง คือหนทางที่จะทำให้คุณรู้เท่าทันความคิด พฤติกรรม และรับมือกับความผิดหวังนั้นได้ดีขึ้น — บางทีผู้ติดเหล้าที่ล้มเหลวจากการเลิกเหล้าอาจจะได้ค้นพบอะไรใหม่ๆ จากการฟังพอดแคสต์นี้ก็ได้ 

 

5.Painting ระบายสีสำรวจใจ

 

 

หากต้องการใช้เวลาพักผ่อนแทนการเลือกดื่มแอลกอฮอล์ในวันหยุดสุดสัปดาห์ที่ดูเหมือนยาวนาน การเริ่มทำศิลปะง่ายๆ จากอุปกรณ์รอบตัวภายในบ้านเป็นอีกหนึ่งกิจกรรมที่น่าสนใจอยู่ไม่น้อย โดยเฉพาะการระบายตามช่องหมายเลขที่กำหนด สามารถช่วยปรับความคิด ตั้งสมาธิอยู่กับกระดาษมากกว่าหน้าจอโทรศัพท์หรือความอยากดื่ม อีกทั้งสำหรับผู้ที่ติดเหล้าและกำลังบำบัด การระบายสีตามช่องยังเป็นตัวชี้วัดอย่างหนึ่งด้วยว่าคุณมีอาการมือสั่นหรือไม่ หรืออาการมือสั่นจากการหยุดดื่มนั้นรุนแรงแค่ไหน ถือเป็นกิจกรรมที่ผ่อนคลายจิตใจ สงบ และได้สำรวจอาการตัวเองไปพร้อมๆ กัน 

 

6.พบสิ่งที่ชอบผ่านการทำ Journal Book

 

 

ข้อพิสูจน์จากนักวิจัยหลายคนพบว่าการจดบันทึกเรื่องราวต่างๆ มีข้อดีมากมาย ไม่ว่าจะเป็นการรับรู้ถึงภาพรวมพฤติกรรมตนเอง ฝึกให้คิดบวกมองโลกในแง่ดี ช่วยยับยั้งอาการซึมเศร้า ฯลฯ 

การทำ Journal Book จึงเป็นอีกกิจกรรมที่ได้รับความนิยมอย่างแพร่หลาย เห็นได้จาก Journal Book รูปแบบต่างๆ บนแพลตฟอร์มออนไลน์มากมาย Journal Book คือบันทึกเรื่องราวรายวัน คล้ายคลึงกับไดอารี แต่ต่างกันที่มีความเป็นส่วนตัวมากกว่า และสามารถออกแบบเรื่องราวที่อยากเล่าผ่านบันทึกได้โดยไม่จำเป็นต้องเขียนเรียงความเสมอไป และนอกจากจะจดเรื่องราวในปัจจุบันเพื่อย้อนมองพฤติกรรมตัวเองรายวัน บ้างยังใช้เขียนออกแบบอนาคตตนเองในอีก 3 ปีข้างหน้า หรือบันทึกเรื่องราวที่ตนชื่นชอบ สิ่งที่ประทับใจเก็บไว้เป็นความทรงจำในอนาคตได้ 

ปัญหาส่วนใหญ่ของคนเริ่มทำ Journal Book คือความรู้สึกกลัวว่าทำออกมาแล้วจะไม่สวยงามหรือน่าอ่านซักเท่าไหร่ ซึ่งถ้าหากลองได้ ‘เริ่ม’โดยไม่ต้องกลัว เราอาจค้นพบสิ่งที่ชอบหรือสิ่งที่เราต้องการอยู่ รวมถึงชัดเจนกับความรู้สึกตนเองมากยิ่งขึ้นก็เป็นได้ 

 

เมื่อประตูตู้เย็นใจนี้ปิดลง เราหวังว่าผู้อ่านสามารถเลือกกิจกรรมที่ชอบเพื่อนำไปลองปรับใช้ สร้างพลังงานบวก เปลี่ยนความคิด เปิดมุมมองใหม่ และที่สำคัญ ใช้เยียวยาจิตใจทดแทนแอลกอฮอล์ในตู้เย็นเดิมได้เป็นอย่างดี

 

 

 


 

เรื่องและภาพ : ทีมงาน Alcohol Rhythm

Related Articles