Cujo คือนิยายสยองขวัญตามสไตล์ ‘สตีเฟน คิง’ ที่ตีพิมพ์เมื่อปี 1981 ว่าด้วยเจ้าหมาเซนต์เบอร์นาร์ดตัวยักษ์แสนเป็นมิตรนาม ‘คูโจ’ ซึ่งบังเอิญติดเชื้อสุนัขบ้ากลับมาที่บ้านและไล่กัดสิ่งมีชีวิตทุกชนิดที่ขวางหน้ามัน
จะเห็นว่าพล็อตเรื่องแสนดุเดือดจนตัวนิยายประสบความสำเร็จระเบิดระเบ้อ แถมยังถูกสร้างเป็นหนังชื่อเดียวกันเมื่อปี 1983 แต่ถ้าไปถามคิงว่า จำช่วงเวลาที่เขียนนิยายเรื่องนี้ได้ไหม คิงอาจจะอ้อมๆ แอ้มๆ ตอบว่าจำได้บ้างไม่ได้บ้าง เพราะความทรงจำครึ่งหนึ่งของชีวิตในช่วงนั้นถูกครอบครองโดยแอลกอฮอล์ตัวร้ายจนทำให้เขาจำอะไรไม่ได้มาก นอกจากตื่นมาพร้อมอาการเมาค้าง (แต่ก็ยังเขียนหนังสือได้นะ!)
ถ้าถามคิงว่าอะไรที่ผลักให้เขาดื่มเหล้าอย่างเอาเป็นเอาตายมากขนาดนั้น เขาอาจตอบได้ไม่ชัดนัก แต่เป็นไปได้ว่าความหวาดวิตกที่กัดกินเขามาตั้งแต่เด็กมีส่วนสำคัญในการไสส่งให้เขาทิ้งตัวลงกับน้ำกลั่นและสารพัดสารเสพติด เพราะย้อนกลับไปในวัยเด็ก คิงเติบโตมาในครอบครัวที่อยู่มาวันหนึ่ง พ่อก็เดินหายไปจากบ้าน ทิ้งเขาและพี่น้องไว้กับแม่เพียงลำพัง และอาการตกใจสุดขีดหลังตื่นมาไม่เจอพ่อนี่เองที่หล่อเลี้ยงให้คิงอยู่กับความกลัวมาตั้งแต่ยังเด็กว่าวันหนึ่ง แม่ก็อาจจะจากเขาไปแบบนั้นได้เหมือนกัน เขากลายเป็นเด็กขาดความมั่นใจและมักจะฝันร้าย ควบคู่กับมีอาการเครียดเกร็งผิดปกติเสมอ คิงยังกลัวว่าจะถูกสูบลงไปในคอห่านชักโครกและปีนกลับขึ้นมาไม่ได้ กลัวตัวตลกในสวนสนุก กลัวสิ่งสามัญธรรมดาต่างๆ ว่ามันอาจจะลุกขึ้นมากลืนกินเขาจนตาย
หลังจากทุกข์ทรมานกับความกลัวเหล่านี้อยู่หลายปีเต็ม เมื่อโตขึ้น คิงพบว่าทางออกที่ดีที่สุดคือการเขียนมันออกมาเป็นนิยาย ดัดแปลงความหวาดกลัวนั้นให้เป็นเรื่องเล่าและตัวหนังสือ น่าเสียดายที่ระหว่างกระบวนการเขียน คิงมักจะต้องใช้แอลกอฮอล์เป็นตัวช่วยอยู่เนืองๆ รวมไปถึงกัญชาและแอลเอสดีตั้งแต่ยังเรียนมหาวิทยาลัยในรัฐเมน และก่อความวุ่นวายให้เจ้าหน้าที่ตำรวจในรัฐไม่รู้จบด้วยการเมาพับอยู่ที่บาร์จนกลับบ้านเองไม่ได้ หรือขโมยกรวยจราจรซึ่งอยู่ดีๆ ก็ดูเย้ายวนชวนหลงใหลขึ้นมาดื้อๆ ตอนเขาเมา
“หลังจากที่ผมใช้เวลาทั้งคืนดื่ม Long Island Iced Tea (ค็อกเทลที่ผสมเหล้าห้าชนิดเข้าด้วยกัน) แบบหนักเป็นบ้าตรงแถวๆ มหาวิทยาลัย ผมฉวยเอากรวยจราจรอันนึงระหว่างขับรถกลับบ้านมาด้วย แล้วเป็นไงมาไงไม่รู้ มันฉีกท่อไอเสียเจ้ารถฟอร์ดวากอนเก่าแก่ของผมจนพังเละเลย ซึ่งสำหรับตรรกะแบบคนเมานะ ผมเลยตัดสินใจจะขับวนไปทั่วทั้งเมืองในสภาพแบบนั้น ขับอย่างช้าๆ ปลอดภัยเหลือแสน แล้วหยิบเอากรวยจราจรที่เห็นตามทางติดมือกลับบ้านมาหมด พอตื่นในเช้าวันต่อมาก็เห็นกรวยจราจรเต็มบ้าน กับท่อไอเสียพังๆ ของเจ้าแก่ฟอร์ดวากอน ผมไม่โทษเลยที่เจ้าหน้าที่ตำรวจจะโกรธจัดขนาดนั้น” คิงเล่า
แม้จะเรียนจบ ทำงาน และมีครอบครัวเป็นของตัวเองแล้ว คิงก็ยังไม่เลิกนิสัยนักดื่ม (แม้จะไม่ขโมยกรวยขราจรอีกแล้วก็ตาม) แม้หลายคนจะตั้งข้อสังเกตว่าดูเหมือนเขาจะ ‘ตระหนักรู้’ ภาวะติดเหล้าของตัวเองอยู่เนืองๆ ผ่านการเขียนถึงตัวละครที่มีสภาวะนี้ ซึ่งปรากฏเด่นชัดในตัวละคร แจ็ค ทอร์แรนซ์ จากนิยายปี 1977 The Shining ที่ว่าด้วยชายนักเขียนผู้เป็นหัวหน้าครอบครัวซึ่งติดเหล้าอย่างรุนแรง และต้องหอบเอาครอบครัวไปเขียนนิยายเรื่องใหม่ในโรงแรมร้างห่างไกลผู้คน นำมาสู่โศกนาฏกรรมท้ายเรื่องในที่สุด
อย่างไรก็ดี ความสำเร็จจากนิยายเรื่องก่อนๆ รวมถึง The Shining นั้น ปฏิเสธไม่ได้ว่าการดื่มเหล้าไปเขียนหนังสือไปมีส่วนช่วยเขาได้มากทีเดียว และท้ายที่สุด แม้แต่คิงเองก็ออกปากว่า มันช่างเป็นส่วนผสมของชีวิตที่น่ามหัศจรรย์เสียจริงๆ ก่อนที่ฮอลลีวูดจะพาเขาไปอีกขั้น เมื่อนิยายหลายๆ เรื่องของเขาถูกสร้างเป็นหนัง คิงมีโอกาสได้พบเจอคนในแวดวงภาพยนตร์ซึ่งมาพร้อมโคเคน สารเสพติดหน้าใหม่ที่คิงเชื่อว่าจะทำให้เขาผ่อนคลายและเขียนงานได้มากขึ้น และบทลงเอยของการเสพโคเคนไปพลาง ดื่มเหล้าไปพลางคือ Maximum Overdrive (1986) หนังเรื่องแรกและเรื่องเดียวในชีวิตที่เขากำกับเอง ซึ่งออกมาชวนหดหู่อย่างน่าเศร้าใจ
“ปัญหาคือ ในระหว่างถ่ายหนัง ผมเสพโคเคนเกือบตลอดเวลาจนไม่รู้ว่าตัวเองกำลังทำอะไรอยู่” เขาบอก พร้อมกันนั้นเอง นิยายหลายๆ เรื่องของเขาก็เผชิญกับคำวิจารณ์รุนแรงว่าไม่มีอะไรอื่นนอกจากความกลวงเปล่าและเส้นเรื่องที่วนไปวนมาอยู่เรื่อยๆ ซึ่งคิงทำอะไรไม่ได้ นอกจากก้มหน้ารับคำวิจารณ์เผ็ดร้อนนั้นและกลับมาเขียนนิยายเรื่องใหม่ เพียงเพื่อจะพบกับคำวิจารณ์ชุดเดิม
แต่การเปลี่ยนแปลงก็เริ่มขึ้นอย่างเรียบง่ายในวันหนึ่ง เมื่อ ทาบิธา คิง ภรรยารักที่เข้าอกเข้าใจถึงภาระการงานและสุขภาพของสามีทุกประการ โกยเอาโคเคน บุหรี่ และขวดเหล้าทุกยี่ห้อที่คิงมีไว้ในครอบครอง โยนโครมลงกลางห้องนั่งเล่นต่อหน้าต่อตาสามี เพื่อนฝูง และสมาชิกของครอบครัว นั่นเป็นนาทีที่คิงรู้ว่าจะปล่อยให้เป็นแบบนี้ต่อไปไม่ได้ เขาจึงตัดสินใจเข้ารับการบำบัด
หลังจากเลิกเหล้า สิ่งหนึ่งที่คิงค้นพบคือนิยายของเขากลับมาเป็นที่รักของนักวิจารณ์และผู้อ่านอีกหน โดยเฉพาะตัวละครที่ไม่ได้เอาแต่เผชิญหน้ากับสิ่งสยองขวัญอย่างกลวงเปล่า แต่ยังมีมิติของการต่อสู้และการหลอกหลอนโดยตัวเองอีกด้วย เช่น The Green Mile นิยายที่ในเวลาต่อมาถูกสร้างเป็นหนังชื่อเดียวกันปี 1999 ซึ่งพูดถึงภาวะการต่อสู้ในจิตใจของตัวละครในสภาพแวดล้อมชวนเป็นบ้าอย่างเรือนจำและโทษประหารชีวิต รวมถึงงานเขียนของเขาในยุคหลังเลิกเหล้าได้ครบทศวรรษอย่าง Doctor Sleep ซึ่งเพิ่งถูกสร้างเป็นหนังในปี 2019 ราวกับเป็นการอุทิศให้ตัวตนของเขาในช่วงยุค 80 ที่ติดเหล้าอย่างหนัก ผ่านตัวละคร แดนนี ชายหนุ่มซึ่งเป็นลูกชายของแจ็คใน The Shining และเติบโตมาพร้อมกับภาพจำฝังใจรุนแรงเกี่ยวกับพ่อ ก่อนจะลงเอยด้วยการติดเหล้าอย่างหนักเช่นเดียวกัน โดยคิงเฉือนเศษเสี้ยวของตัวเองลงไปในเรื่องเล่านี้ ตามคำแนะนำของ โอเวน ลูกชายซึ่งปัจจุบันเติบโตเป็นชายหนุ่ม
“เงื่อนไขเดียวคือเราต้องเขียนถึงความจริง” คิงบอก “เขียนถึงสถานการณ์เฉพาะอย่างซึ่งมีแค่คุณเท่านั้นที่รู้ และที่ผ่านมา ผมไม่เคยปริปากเล่าเรื่องนี้กับใครว่ามันเป็นประสบการณ์ของผมในช่วงที่กำลังบำบัดเลิกเหล้า”
หลังโอเวนอ่านต้นฉบับร่างแรกของ Doctor Sleep ที่พ่อเขียน เขาออกความเห็นอย่างตรงไปตรงมาว่ามีบางอย่างขาดหายไป “ลูกบอกผมว่า มีอยู่ฉากหนึ่งจาก The Shining ที่เขาฝังใจมากคือฉากที่แจ็ค ทอร์เรนซ์กับเพื่อนเมายับกันในคืนหนึ่ง พวกเขาลงเอยด้วยการขับรถมอเตอร์ไซค์ไปชนอะไรเข้าโครมใหญ่และเข้าใจกันว่าคงฆ่าเด็กสักคนไปแล้ว และพวกเขาบอกว่า ‘จบเห่ เราจะไม่ดื่มอีกแล้ว’ และโอเวนบอกผมว่า ‘ในหนังสือ Doctor Sleep มันไม่มีฉากที่เอาไว้ใช้เปรียบเทียบแบบนี้ พ่อต้องเขียนให้คนอ่านเห็นเลยว่าจุดต่ำสุดของแดนอยู่ตรงไหน’ ซึ่งผมว่าโอเวนพูดถูกเผงเลย”
คิงจึงเขียนฉาก ‘จุดตำต่ำ’ ของแดนนี ทอร์เรนซ์ในวัยผู้ใหญ่ ที่ลุกขึ้นมากลางดึกหลังร่วมรักกับหญิงแปลกหน้าที่เจอในผับ ขโมยเงินเธอมาและทิ้งลูกชายทารกของเธอไว้กับผ้าอ้อมที่ถึงเวลาเปลี่ยนได้แล้ว พลางควานหายาเสพติดที่อาจจะหลงเหลืออยู่บนโต๊ะกาแฟ “ผมว่าฉากนี้แหละ ที่คนติดเหล้าน่าจะเทียบเคียงตัวเองด้วยได้ มันคือช่วงเวลาที่เป็นจุดตกต่ำของคุณน่ะ
“แต่ผมเองไม่ได้มีเหตุการณ์อะไรแบบนั้นหรอกนะ แน่ล่ะว่าในนิยาย เราต้องเล่าถึงอะไรที่มันรุนแรงสุดโต่ง” เขาออกตัว “สำหรับผม เมื่อมองย้อนกลับไป ผมจำได้ว่าไปงานแข่งเบสบอลลิตเติลลีกของลูกชาย ใส่เบียร์กระป๋องนึงได้มั้งลงไปในถุงกระดาษ โค้ชของทีมพุ่งเข้ามาหาผมและบอกว่า ‘ถ้านั่นเป็นเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ล่ะก็ คุณต้องออกไปจากที่นี่นะครับ’ และนั่นแหละเป็นจังหวะที่ผมบอกตัวเองว่า จะไม่มีวันแพร่งพรายเรื่องนี้ให้คนอื่นรู้อย่างเด็ดขาด จะเก็บเป็นแค่ความลับไว้กับตัวเอง”
ด้านหนึ่ง ไม่ว่าจะโดยตั้งใจหรือไม่ก็ตาม เรื่องราวของสองพ่อลูกทอร์เรนซ์จาก The Shining ถึง Doctor Sleep กลายเป็นเสมือนบันทึกการต่อสู้ของสตีเฟน คิง ที่เขามีต่ออาการติดเหล้ามาโดยตลอด และน่ายินดีอย่างยิ่งที่ในเวลานี้ เขาประสบความสำเร็จเช่นเดียวกับตัวละครแดนนี ทอร์เรนซ์ ที่ตั้งหลักใช้ชีวิตต่อไปได้โดยไม่ต้องพึ่งแอลกอฮอล์อีกเลย