เข้าสู่ช่วงวันหยุดยาวคราวใด ย่อมได้ยินเรื่องราว ‘อุบัติเหตุบนท้องถนน’ คร่าชีวิตคนไทยจำนวนมากอยู่เป็นระยะ และสาเหตุอันดับต้นๆ ของเหตุเลวร้ายดังกล่าว ย่อมมี ‘เมาแล้วขับ’ ติดโผแทบทุกครั้ง กลายเป็นปัญหาเรื้อรังที่มีหลายฝ่ายพยายามรณรงค์เพื่อแก้ปัญหานี้มาอย่างต่อเนื่อง
นพ.แท้จริง ศิริพานิช เลขาธิการมูลนิธิเมาไม่ขับ คือหนึ่งในผู้ที่เดินบนเส้นทางการรณรงค์มายาวนานกว่าสองทศวรรษ นั่นทำให้เขามองเห็นแนวโน้มและภาพรวมของปัญหาตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน รวมเห็นรากลึกที่ถูกซุกซ่อนไว้ใต้ภูเขาน้ำแข็งมานาน
“เราทุกคนมีโอกาสเสียชีวิตจากคนเมาแล้วขับกันหมด ทั้งผม ทั้งคุณ” คือคำกล่าวแรกของคุณหมอแท้จริงตอนเริ่มต้นสนทนากัน “วันนี้คุณสัมภาษณ์ผมเสร็จ ตอนออกไปอาจจะเจอคนเมาก็ได้ ใครจะไปรู้ และนั่นคือสาเหตุที่เราต้องทำเรื่องนี้อยู่ตลอด”
Alcohol Rhythm เปลี่ยนจังหวะชีวิตคนติดเหล้า ชวน นพ.แท้จริง ศิริพานิช สนทนาเกี่ยวกับเส้นทางการรณรงค์ตลอด 20 กว่าปีที่ผ่านมา – ปัญหาเมาแล้วขับตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบันเป็นอย่างไร อะไรคือสิ่งที่ถูกซ่อนอยู่ใต้ยอดภูเขาน้ำแข็ง และเราจะร่วมกันแก้ปัญหาเรื้อรังดังกล่าวได้อย่างไร
หาคำตอบได้ นับจากบรรทัดด้านล่างนี้
ได้ยินว่าคุณหมอทำงานเรื่องเมาไม่ขับมา 23 ปี อะไรเป็นแรงผลักดันให้เริ่มทำเรื่องนี้ และทำมาได้ต่อเนื่องยาวนานขนาดนี้
ตอบง่ายๆ เลยนะ เพราะว่าเมาแล้วขับเป็นเรื่องที่อันตรายไง ผมคิดว่า เวลาออกไปนอกบ้าน ไปทำงาน ผมมีโอกาสโดนคนเมาขับรถชนตาย ก็รู้สึกว่าชีวิตไม่ปลอดภัยแล้ว ถ้าผมทำเรื่องนี้สำเร็จ ก็จะได้ความปลอดภัยในชีวิตคืนมาด้วย นี่มันต่างกับคนสูบบุหรี่นะ เพราะถ้าเห็นคนสูบบุหรี่ เราก็อาจจะเลี่ยงไม่เข้าใกล้ได้ ป้องกันตัวเองได้ แต่สำหรับคนเมาแล้วขับ คุณรู้ได้ยังไงว่าเขาจะไม่ขับมาชนเรา หรือเราจะรู้ได้ยังไงว่าเขาเมา เรามีโอกาสโดนคนเมาชนได้ทุกเมื่อแหละ ป้องกันตัวเองไม่ได้เลย
ประเทศไทยมีคนเสียชีวิตจากอุบัติเหตุบนท้องถนนปีละราว 2 หมื่นคน ครึ่งหนึ่งเกิดขึ้นเพราะเมาแล้วขับ จริงๆ เมื่อก่อนหนักกว่านี้ คือคิดเป็นราว 80% ของอุบัติเหตุที่เกิดขึ้น เราทำการรณรงค์เรื่องนี้มานาน จะว่าสำเร็จก็สำเร็จ แต่จะว่าไม่ก็ไม่ เพราะถึงมันจะลดลงมาได้ครึ่งหนึ่ง แต่เมาแล้วขับก็ยังเป็นสาเหตุใหญ่อยู่ดี และสถิตินี้ นับแค่เฉพาะกรณีที่โดนเรียกตรวจแอลกอฮอล์แล้วเจอว่าเมา (มีปริมาณแอลกอฮอล์ในเลือดมากกว่า 50 มิลลิกรัมเปอร์เซ็นต์) ยังมีคนอีกเยอะที่หลุดไปได้
เพราะฉะนั้น หากถามว่าทำไมผมยังรณรงค์เรื่องนี้อยู่ ก็เพราะมันยังไม่ปลอดภัยไง พอคนเมาขับรถชนคนอื่น บอกแค่ว่า “ขอโทษ ผมไม่ได้ตั้งใจ ผมแค่เมา” คนไทยก็จะมองว่า อย่าถือคนบ้า อย่าว่าคนเมา เรื่องก็จบไป เรามองคนเมาแล้วขับเป็นมิตรเกินไป เหล้ากับสังคมเป็นอะไรที่แยกกันไม่ออก ซึ่งต้องบอกก่อนว่า เราไม่ได้ห้ามคุณดื่มเหล้านะ การดื่มเป็นสิทธิของคุณ แต่จะดื่มแล้วไปขับรถไม่ได้ เราไม่ยอมเรื่องนี้
คุณหมอรณรงค์เรื่องเมาแล้วขับมานาน และเคยโดนคนเมาขับรถชนด้วย อยากให้เล่าเรื่องนี้ให้ฟังหน่อย
เมื่อสักตอนปี 2559 ผมรณรงค์เรื่องเมาไม่ขับช่วงสงกรานต์เสร็จ ก็ไปหาคุณพ่อที่สระบุรีกับภรรยา ตอนขับรถเข้าบ้าน ผมโดนคนเมาขับชนท้ายรถจนบู้บี้ไปหมด เรียกได้ว่ารถผมเละเลย หมุนไปสองสามตลบ จนผมคิดว่าตัวเองตายแน่แล้ว เผอิญมีคนมาช่วยพอดี เขาบอกว่า รถที่ชนผมจอดอยู่ข้างหน้า คงชนหนักมากจนขับต่อไปไม่ได้ ผมโมโหจึงวิ่งไปหาเจ้าของรถคันนั้น ปรากฏว่าเจอคนขับเดินเมาแอ๋ลงมาเลย
คืนนั้นผมไปนอนพักที่โรงพยาบาล ความรู้สึกแวบแรกคือ น้อยใจ เรารณรงค์เรื่องนี้มาเป็นสิบปี แต่วันนี้โดนคนเมาชนเอง มันล้มเหลวโดยสิ้นเชิง ผมยังบอกภรรยาเลยว่า จะเลิกรณรงค์แล้ว แต่เช้าวันต่อมา ผมคิดได้ว่า ขนาดเรารณรงค์มาสิบกว่าปียังโดน ถ้าเลิกจะไม่ยิ่งแย่กว่าเดิมเหรอ อีกอย่าง การโดนรถชนมันไม่เหมือนเป็นหวัดนะ ไม่ใช่ว่าโดนแล้วจะมีภูมิคุ้มกัน โดนแล้วก็โดนอีกได้ ผมเลยรณรงค์ต่อไป
ตั้งแต่เริ่มรณรงค์จนถึงปัจจุบัน แนวโน้มของเรื่องนี้ในสังคมไทยเป็นอย่างไรบ้าง คนตระหนักเรื่องอุบัติเหตุจากการเมาแล้วขับเพิ่มขึ้นบ้างไหม
ผมคิดว่าดีขึ้นนะ สมัยก่อนโน้นไม่มีใครตระหนักเรื่องอุบัติเหตุเลย เรายังไม่มีเครื่องเป่าแอลกอฮอล์ด้วยซ้ำ แต่ตอนนี้ทุกคนเริ่มรู้แล้วว่า มันอันตราย อย่างน้อย ปีใหม่กับสงกรานต์ก็ออกมารณรงค์กันเต็มไปหมด เราดีใจที่คนเริ่มเห็นตรงนี้แล้ว และการรณรงค์ทำอย่างต่อเนื่องด้วย แน่นอนว่า คนขายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์อาจไม่ค่อยชอบเราเพราะเขาอาจขายของได้น้อยลง แต่เราทำเพื่อความปลอดภัยของสังคมส่วนรวม ถ้าสังคมปลอดภัย พวกเราก็ปลอดภัยด้วย
ปัจจุบันนี้ ภาคส่วนต่างๆ เช่น สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ก็เริ่มมาร่วมด้วย มีคนช่วยทำการรณรงค์ต่างๆ เพิ่มขึ้น จะเห็นได้ว่าเมื่อ 20 กว่าปีก่อน เราเริ่มจากเมาไม่ขับ ตอนนี้เริ่มมีโทรไม่ขับ ง่วงไม่ขับ เร็วไม่ขับ ตามมา สังคมโดยรวมเห็นความสำคัญของเรื่องนี้มากขึ้น รัฐบาลเริ่มเอาใจใส่เรื่องนี้มากขึ้น นี่เป็นสิ่งที่เราดีใจ เพราะมันเป็นเรื่องที่เกี่ยวกับชีวิตคน
แล้วมีส่วนไหนของการรณรงค์ที่คุณคิดว่า ยังเป็นความท้าทาย หรือต้องพยายามให้มากขึ้น
ผมยังไม่พอใจเรื่องผลลัพธ์เท่าไหร่ จำนวนคนที่เสียชีวิตจากอุบัติเหตุยังไม่ได้เปลี่ยนไปมาก เราไม่ได้บอกว่า ห้ามเกิดอุบัติเหตุ มันเกิดได้ แต่ถ้าเกิดแล้ว ไม่มีคนเสียชีวิตได้ไหม ขาหักดามได้ แต่ชีวิตเอากลับคืนมาไม่ได้ แล้วส่วนใหญ่อุบัติเหตุรุนแรงเพราะความเมา ถ้าเรามีสติ เรายังพอควบคุมได้ แต่ถ้าเมาเราไม่รู้เรื่องเลย ทำอะไรลงไปไม่รู้ ยกโทษให้ที แล้วคนอื่นก็บ้าจี้ตาม บอกว่าอย่าถือสาคนเมา คือมันไม่ได้ไง
แต่ก่อนตอนเราเริ่มรณรงค์ใหม่ๆ มีคนบอกว่า “จะบ้าเหรอ คนไทยเมาทั้งประเทศ มีเหล้าขายเยอะขนาดนี้ จะรณรงค์ไปทำไม” คนไทยชอบมองว่าอุบัติเหตุเป็นเรื่องของโชคชะตา ถ้าดวงดีก็ไม่ตาย ซึ่งมันไม่ใช่ ตอนนี้คนไทยเริ่มรับแนวคิดเมาไม่ขับแล้ว แต่ถ้าถามว่าคนเมายังขับไหม ก็ยังขับอยู่ แถมเยอะด้วย เวลาดื่มเหล้ากับเพื่อนเสร็จ แทนที่จะบอกกันว่า “เมาไม่ขับนะ” คนส่วนใหญ่กลับบอกว่า “ขับรถดีๆ” แทน
คุณจะดื่มเราไม่ว่า แต่อย่าขับออกไป เราไม่โอเค คุณจะดื่มหรือไม่ดื่ม มันคือทางเลือกของคุณ แต่ถ้าคุณขับออกไป คุณอาจจะเลือกแทนคนอื่น ซึ่งเขาไม่ได้เลือก เขาไม่ได้เมากับคุณด้วย แต่เขาอาจจะต้องเสียชีวิตเพราะคุณ มันไม่แฟร์ การเลือกคืออิสระของมนุษย์ ทุกคนมีสิทธิเลือก ผมเลือกที่จะตายเองได้ มันเป็นชีวิตของผม แต่ถ้าคนเมามายัดเยียดให้ ผมไม่ยอม
คุณหมอบอกว่าสมัยก่อนยังไม่มีเครื่องเป่าแอลกอฮอล์ แล้วสังคมเราในตอนนั้นเป็นยังไง มีมาตรการอย่างไรกับคนเมาแล้วขับ
จริงๆ เรามีกฎหมายจราจรที่ห้ามคนเมาขับรถมาตั้งแต่ปีพ.ศ.2522 แล้ว แต่ด้วยความที่เรายังไม่มีเครื่องเป่าแอลกอฮอล์ ยังวัดอะไรไม่ได้ พอตำรวจไปถามคนเมาว่าเมาไหม แน่นอน เขาก็ตอบว่า ไม่เมา ตำรวจไม่รู้จะทำยังไงเลยต้องปล่อยเขาไป เราจึงต้องมาผลักดันว่า อะไรคือความเมา เพราะไม่มีใครยอมรับหรอกว่าตัวเองเมา
พอดูต่างประเทศ เราเห็นว่าเขาใช้วิธีวัดปริมาณแอลกอฮอล์ในเลือด ซึ่งแต่ละประเทศกำหนดต่างกันไปว่า ต้องมีแอลกอฮอล์อยู่ในเลือดกี่มิลลิกรัมเปอร์เซ็นต์ถึงจะจัดว่าเมา บางประเทศห้ามมีเลย แต่บางประเทศก็ให้สูงถึง 80 มิลลิกรัมเปอร์เซ็นต์ได้ ส่วนไทยเราเดินสายกลาง คือกำหนดเป็นเกณฑ์ไว้ที่ 50 มิลลิกรัมเปอร์เซ็นต์เหมือนประเทศส่วนใหญ่
พอกำหนดเกณฑ์แล้วก็ต้องมีเครื่องตรวจ เราไปช่วยผลักดันเรื่องเครื่องตรวจวัดแอลกอฮอล์ ให้กรมมาตรฐานการแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข เป็นคนรับรองมาตรฐานเครื่องวัด ทำให้ทุกวันนี้ ไทยเป็นประเทศเดียวที่เครื่องมือวัดแอลกอฮอล์เป็นเครื่องมือแพทย์ ต้องผ่านมาตรฐานสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) ทุกๆ 6 เดือน ไม่งั้นก็เอามาใช้ไม่ได้
แต่ถึงจะมีเกณฑ์ มีเครื่องตรวจแล้ว เราก็ยังมีปัญหาอยู่สองข้อใหญ่ๆ ข้อแรกคือ ตำรวจตอนนั้นยังไม่ค่อยอยากตั้งด่าน เพราะจับคนปกติก็เถียงกันจะตายอยู่แล้ว พอเป็นคนเมายิ่งคุยกันไม่รู้เรื่อง เราผลักดันเรื่องนี้จนมาสำเร็จในสมัยที่พลตำรวจเอก อดุลย์ แสงสิงแก้ว เป็นผู้การฯ จราจร ท่านสนับสนุนจนตอนนี้มีการตรวจแอลกอฮอล์ ทุกสถานีตำรวจมีเครื่องวัดแอลกอฮอล์หมด
ส่วนปัญหาข้อที่สองคือ คนไม่ยอมเป่า ตำรวจก็บังคับให้เป่าไม่ได้เพราะจะละเมิดสิทธิมนุษยชน จึงต้องใช้วิธีเก็บหลักฐานฟ้อง แต่กว่าจะขึ้นศาล ก็หายเมาไปแล้ว ถามว่าแจ้งข้อหาคนไม่เป่าได้ไหม ได้นะครับ แต่แจ้งได้เฉพาะข้อหาขัดคำสั่งเจ้าพนักงาน ซึ่งปรับหนึ่งพันบาท เราเลยผลักดันให้แก้กฎหมาย ใช้เวลาราว 5-6 ปีกว่าจะแก้สำเร็จ ว่าถ้าคุณไม่ยอมเป่า จะถือว่าคุณเมาทันที ไม่จำเป็นต้องมีสลิปบอกมิลลิกรัมเปอร์เซ็นต์ แล้วศาลท่านลงโทษด้วย เพราะถ้าคุณไม่เมาจริง ก็ไม่มีเหตุผลอะไรที่คุณจะไม่เป่า
แล้วถ้าเป็นปัจจุบันนี้ คุณหมอคิดว่ามาตรการลงโทษคนเมาแล้วขับมีประสิทธิภาพพอหรือยัง
ยังไม่พอ ถ้าพอคนก็กลัวสิ กระบวนการทางกฎหมายยังมีช่องโหว่ ถึงจะมีโทษจำคุก แต่โทษจำคุกรอลงอาญาได้ เพราะแนวคิดที่มีต่อคนเมาคือ เขาประมาท ไม่ได้ตั้งใจขับรถชน ก็จริงนะ แต่มันใช่เหรอ (หัวเราะ) คนไม่เมายังมีโอกาสขับรถชนเลย แล้วนี่ยิ่งคนเมา เราจะไปคิดไม่ได้ว่าเขาแค่เมา แค่ประมาท อย่างที่บอกว่า คนไทยไม่ได้เห็นคนเมาเป็นเรื่องใหญ่ เพราะบริบทการยอมรับเรื่องสุราในสังคมไทยมันฝังรากลึกมาก ลึกกว่าบุหรี่อีก
เราไม่มีทางให้คนส่วนใหญ่มองคนเมาเป็นผู้ร้ายได้เลย ทั้งที่บางครั้งคนเมายังสร้างความเดือดร้อนให้ตัวเอง ครอบครัวตัวเอง และคนอื่น แต่คนยอมรับได้ เพราะบางทีสื่อหรือโฆษณามีการสื่อสารภาพคนเมาออกมาในลักษณะของเพื่อนอีก ดูเฮฮา ไปไหนไปกัน ฉลองเทศกาลต่างๆ นี่แหละคือบริบทสังคมที่ยากมาก
แล้วเราควรจะต้องมีมาตรการอย่างไรจึงจะช่วยอุดช่องโหว่ของกฎหมายได้ด้วย
ผมเคยเสนอครั้งหนึ่งว่า เวลาคนเมาแล้วไปขับรถหรือเมาแล้วไปทำผิดต้องได้รับโทษสองเท่าของคนไม่เมา เพราะคุณเสี่ยงมากกว่า ถ้าคุณรู้ว่าคุณดื่มเหล้าแล้วเมา ต้องอยู่ในบ้าน อย่าออกไปเพ่นพ่านหรืออย่าออกไปขับรถ คนที่คอยดูแลก็ต้องคอยดูแลให้ดีด้วย ถ้าคนเมาไปก่อเรื่องอะไร คนดูแลก็ควรจะต้องรับผิดชอบด้วย
อันที่จริง ถ้าถามว่าโทษของเมาแล้วขับหนักไหม ก็หนักอยู่นะ แต่ด้วยช่องว่างของกฎหมาย ทำให้โทษที่ว่าอาจจัดการคนเมาได้ไม่มีประสิทธิภาพเท่าที่ควร แล้วเรายังมีทั้งปัญหาคอร์รัปชันกับระบบอุปถัมภ์ บางคนมีเส้นสายหรือมีเงินหน่อยก็อาจจะไม่ต้องรับโทษแล้ว คนถึงพูดกันไงว่า “คุกมีไว้ขังคนจน” ต้องยอมรับว่า ระบบของไทยยังไม่เหมือนต่างประเทศ การจะเอากฎหมายมาใช้จัดการทั้งหมดเลยเป็นเรื่องยากมาก
เท่ากับว่า สภาพสังคมไทยก็เป็นตัวเอื้อให้เกิดอุบัติเหตุด้วย?
ใช่ครับ ผมเชื่อนะว่าคนไม่ได้ไม่รู้เรื่องกฎหมาย จะเมาแล้วขับ ขับรถเร็ว หรือขับย้อนศร เขารู้หมด แต่ถามว่ารู้แล้วทำไมยังทำ ก็เพราะเขารู้ว่า ทำแล้วมันรอดได้ ลองเป็นคนไทยที่ทำผิดกฎจราจรไปขับรถที่ญี่ปุ่นสิ ขับดี เคารพวินัยจราจรเชียว เพราะกฎหมายเขาไม่มีช่องว่าง เขาไม่รู้ว่าจะหาใครมาช่วยได้ เลยต้องขับรถให้ดีๆ นี่เป็นตรรกะเดียวกับฝรั่งที่มาเมืองไทยแล้วทำตัวตามสบายนั่นแหละ คนไทยเราโดนปลูกฝังแบบนี้มานานโดยที่เราไม่รู้ตัว เราอยู่ในประเทศที่โคตรสบาย ไร้ระเบียบวินัยโดยสิ้นเชิง ปัญหาที่เราพูดถึงกันมันเป็นแค่ 10% ของยอดภูเขาน้ำแข็ง สิ่งที่ซ่อนอยู่ข้างใต้อีก 90% เป็นพวกความเชื่อเรื่องเวรกรรม โชค ดวง ฉะนั้น คนไทยชุ่ยเพราะระบบโครงสร้างสังคมที่เป็นแบบนี้
ถ้างั้นเราต้องแก้ที่จิตสำนึก?
จริงๆ นี่ก็เป็นกับดักอันหนึ่งเหมือนกัน ถามว่าต้องสร้างจิตสำนึกใช่ไหม ใช่ครับ ถ้าคนมีจิตสำนึกดี กฎหมายก็แทบจะไม่ต้องใช้เลย
คุณหมอคิดว่า ด้วยสภาพสังคมไทยที่เป็นแบบนี้ เราจะสร้างจิตสำนึกยังไงดี
การจะสร้างจิตสำนึกได้ต้องมีสภาพและเงื่อนไขที่เหมาะสม จิตสำนึกก็เหมือนต้นไม้ จะสร้างจิตสำนึกคือการปลูกต้นไม้ ต้องมีดินดี น้ำดี อากาศดี และแดดดี ตอนนี้จิตสำนึกของสังคมเราเหมือนโดนบังแดดอยู่ แล้วในเมื่อต้นไม้ที่เราปลูกไม่เคยโดนแดดเลย ถามว่ามันจะเจริญงอกงามไหม ไม่หรอก
ถามว่าอะไรเป็นตัวบังแดดของเรา นั่นคือสิ่งที่พูดมาทั้งหมด ทั้งระบบอุปถัมภ์ การคอร์รัปชัน พวกนี้เป็นตัวบังแดดทั้งนั้น มนุษย์ส่วนหนึ่งคิดถึงแต่ตัวเองและเอาตัวเองเป็นที่ตั้ง จะทำตามแต่ที่ตัวเองพอใจ มีแต่ประเทศไทยเท่านั้นแหละที่ยอม ลองไปอยู่ประเทศอื่นสิ ไม่ได้หรอก ประเทศอื่นไม่มีระเบียบอยู่ไม่ได้ แต่ประเทศไทยอยู่ไม่ได้ถ้ามีระเบียบ
คุณจำได้ไหม ย้อนกลับไปสมัยคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) มีแนวคิดว่า คนเสียชีวิตเพราะอุบัติเหตุจากการนั่งหลังรถกระบะ เลยจะออกกฎหมายห้ามนั่งหลังกระบะ ทีนี้โวยวายกันใหญ่ จน คสช. ต้องถอย ให้นั่งได้แต่ไม่เกิน 7 คน เห็นไหมว่านี่คือสังคมไทย เอาระเบียบเข้ามาจับ จะพังทันทีเลย แถมบางทีอ้างความจนอีก สุดท้ายก็ไม่เคยมีใครพูดถึงกฎหมายฉบับนี้อีกเลย
นี่คือสิ่งที่เกิดขึ้นจริง ดังนั้น ผมว่าเราต้องทำการแก้พฤติกรรมก่อน คำว่าพฤติกรรมมันไม่ตรงไปตรงมา เพราะเรากำลังทำเรื่องนี้กับคน ซึ่งมีความลึกซึ้ง แต่ถ้าเราแก้ถูกจุด คลิกกับเขาแล้ว มันจะง่ายเลย ผมเชื่อว่า ตอนนี้เรากำลังหาลูกกุญแจมาไขปัญหาเรื่องอุบัติเหตุ เราบอกว่าเราไม่มีแสงแดด แต่จำเป็นต้องเป็นแสงจากดวงอาทิตย์เท่านั้นไหม อาจจะไม่ เพราะเดี๋ยวนี้เรามีเทคโนโลยีที่อาจจะเอามาช่วยส่องแสงให้ต้นไม้หรือจิตสำนึกของเราแทนได้
แล้วอะไรคือ ‘แสง’ ที่ว่า?
แสงที่ว่าคือพวกกล้องหน้ารถ บันทึกได้ทุกอย่างว่าเกิดอะไรขึ้น ไม่ต้องเถียงกัน หลักฐานเห็นชัดเจน ผมจึงมีแนวคิดการทำงานกับมูลนิธิมาราว 2 ปีแล้วว่า แทนที่เราจะไปบอกตำรวจให้จับ สู้สนับสนุนให้รถทุกคันมีกล้องหน้ารถดีกว่า ทำระบบให้ดี ถ้าใครมีคลิปโชว์ให้เห็นพฤติกรรมที่ไม่ดีของคนได้ ก็ให้รางวัลไปเลย เหมือนพวกถ่ายมอเตอร์ไซค์วิ่งบนทางเท้า แต่ทำให้ง่ายกว่านั้น ทำให้คนเห็นว่า เราจัดการคนที่มีพฤติกรรมไม่ดีบนท้องถนนได้ด้วยตัวเรา ทุกคนมีส่วนช่วยสังคมได้ คนไทยชอบจับผิดนะ (หัวเราะ) ลองเป็นแบบนี้สิ ทุกคนจับผิดซึ่งกันและกันได้ ยิ่งเดี๋ยวนี้มีพวก social media แล้ว สืบเสาะหาคนทำผิดง่ายมาก พอเจอแบบนี้มากเข้า คนทำผิดมาหาตำรวจเองเลยก็มี
อีกอย่างหนึ่ง เมื่อเรามีกล้องคอยจับผิดคนอื่น พอเราคิดจะทำผิดขึ้นมาจะตระหนักได้ว่า กล้องคนอื่นก็จับเราอยู่เหมือนกัน ตอนนี้ เรากำลังผลักดันให้รถใหม่ทุกคันที่ออกมามีกล้องติดหน้ารถ และทำให้มีระบบแจ้งเบาะแสเพื่อรับเงินตอบแทน นำภาคเอกชนเข้ามาร่วมมือด้วย หาคนสนับสนุนที่ดี เราอาจไม่ต้องใช้งบประมาณมาก ตำรวจก็ไม่ต้องลงพื้นที่ไปจับเอง มันจะช่วยให้เราเปลี่ยนพฤติกรรมได้จริงด้วย
สำหรับการรณรงค์เรื่องเมาไม่ขับก็ต้องทำต่อนะ เพียงแต่ผมคิดว่า แนวคิดนี้น่าจะเป็นตัวเสริมกันได้ วันนี้เรามีพร้อมแล้ว ดิน น้ำ อากาศ นี่คือการเปิดให้แสงแดดส่อง ปลูกให้ต้นจิตสำนึกที่เราบอกว่าปลูกไม่ได้สักทีเจริญงอกงาม
ปกติในช่วงเทศกาล โดยเฉพาะเทศกาลปีใหม่กับสงกรานต์ เรามักเห็นแคมเปญรณรงค์เรื่องเมาไม่ขับ แต่แคมเปญเหล่านี้มักเร่งรณรงค์กันในช่วงเทศกาล พอหมดเทศกาลแล้วก็แผ่วลงไป คุณหมอคิดว่าการรณรงค์ระยะสั้นแบบนี้มีประสิทธิภาพพอหรือเปล่า
ไม่มีไงครับ ถ้ามีแล้วเราคงไม่ต้องมาทำตรงนี้หรอก แคมเปญต้องทำตลอดปี ทำระยะสั้นไม่ได้หรอก ถ้าเราจะทำแคมเปญระยะสั้นเพื่อให้ความรู้พอได้ แต่ถ้าจะทำให้เป็นนิสัยต้องทำตลอดทั้งปี และต้องมีดินดี น้ำดี อากาศดี มีแสงแดด มีให้ครบเลย เพราะต่อให้ทำแคมเปญตลอดปี แต่ถ้าไม่มีแดดก็ไม่ส่งผล ต้นไม้รากเน่า สำลักน้ำตายพอดี
มีคนบอกว่า ช่วงเทศกาลปีใหม่กับสงกรานต์ยอดผู้เสียชีวิตจะพุ่งมาก เรื่องนี้เท็จจริงยังไง
จริงครับ เราจึงเอาเทศกาลปีใหม่กับสงกรานต์เป็นตัวตั้ง ผลักดันเรื่อง 7 วันอันตราย อย่างที่บอกว่า เมื่อก่อนคนไม่ได้สนใจเรื่องอุบัติเหตุ การนำเรื่องเทศกาลเข้ามาก็เป็นลูกเล่นหนึ่งที่จะทำให้คนสนใจและตระหนักได้ว่า มันอันตราย ถามว่าได้ผลไหม ก็ได้ผลนะ เพราะเมื่อก่อนนี้ สักช่วงสมัยที่ ดร.ทักษิณ ชินวัตร เป็นนายกฯ 7 วันอันตรายมีคนตายราว 700 คนเลย ตอนนี้เหลือประมาณ 400 แล้ว แต่มันก็ลดแค่ 7 วันแหละ อีก 300 กว่าวันเรายังทำไม่ได้ เหมือนพอครบ 7 วันก็ปิดสวิตช์เลย
ตอนนี้ เรายังมองอุบัติเหตุเหมือนเป็นภัยธรรมชาติ ซึ่งมันไม่ใช่ อุบัติเหตุเกิดทุกวัน ต้องทำทุกวัน ผมยกตัวอย่างว่า ถ้าคุณอยากฟันดี ลงทุนไปหาหมอฟันปีหนึ่งสองครั้ง นอน 7 วันให้หมอฟันทำความสะอาดฟันทุกอย่าง แต่พอกลับมาไม่เคยแปรงฟันเลย ถามว่าฟันคุณจะดีไหมล่ะ นี่ก็เหมือนกัน เรายังต้องทำตลอด ทำทุกวัน ไม่ใช่ 7 หรือ 14 วันต่อปี
คุณหมอคิดว่า อะไรทำให้เราไม่สามารถใช้มาตรการระยะยาวได้ตลอด
เพราะคนยังไม่มองว่าเรื่องนี้สำคัญไง ถามว่าแล้วทำไมยังมองแบบนี้ เราต้องย้อนกลับไปที่ระบบสังคมไทยเลย สมมติใครสักคนโดนรถชนเสียชีวิต ญาติๆ ก็จะมองว่า โชคดีไม่ดี ทำบุญมาแค่นี้ ถึงเวลาไปสบายแล้ว จริงๆ เขารู้ปัญหานะ แต่เมื่อคิดเรื่องโชคไม่ดี ก็อาจจะทำให้เขารับได้มากกว่าการโดนคนขับรถชน และถ้าเป็นเรื่องอุบัติเหตุ เรามีการชดเชย มีระบบเยียวยาและมีประกันให้ แต่เรายังไม่มีการป้องกันแก้ไข
ต้องบอกว่า เราอยู่กับอุบัติเหตุอย่างมีความสุข หลายคนไม่คิดหรอกว่า ปัญหานี้ต้องจัดการ ระบบเราก็เอื้อให้เกิดด้วย ถามว่าวันนี้ตำรวจไม่ตั้งด่านเราเดือดร้อนไหม ไม่ ไม่โวยวาย ไม่ถามด้วยว่าทำไมไม่ตั้งด่าน นี่แหละคือความสำคัญของการใส่เรื่องความคิดกับทัศนคติลงไป มันมีบทบาทหมด ซึ่งเราไม่คิดถึงตรงนี้ด้วยซ้ำ
อย่างเรื่องบุหรี่ หลายคนไม่ชอบหรือรำคาญควันบุหรี่ แต่นี่เราไม่ได้รำคาญคนเมา เห็นเขาขับรถก็ไม่รู้ด้วยซ้ำว่าเขาเมา เพราะเราไม่เห็นเหมือนคนสูบบุหรี่ มันคนละบริบทกัน พอบอกให้ตำรวจเข้ามาหรือให้แก้กฎหมาย มันก็ใช้กับประเทศอื่นได้นะเพราะเขาเคารพกฎหมาย แต่พอมาใช้กับเมืองไทย เราก็จัดการกฎหมายหมดเลย
ถ้าดูประเทศในอาเซียน ประเทศไหนที่จัดการเรื่องอุบัติเหตุได้ดีบ้าง
ประเทศในอาเซียนที่ทำได้ดีที่สุดคือสิงคโปร์ กฎหมายเขาเข้มงวดมาก และที่สำคัญสิงคโปร์เขามีแดด มีสังคมที่ดี เช่น เป็นประเทศใหม่ ไม่มีระบบเจ้าขุนมูลนายอุปถัมภ์ คอร์รัปชันก็น้อยด้วย จิตสำนึกเขาเลยเกิด ระเบียบวินัยเขาดีกว่าเรา
เพราะบริบทสังคมเราต่างกัน เราจึงบอกว่าต้องแก้ปัญหาให้ถูกจริตกับสังคมไทย เช่น คนไทยชอบจับผิดคนอื่น ก็นำกล้องหน้ารถเข้ามาใช้ ผมคิดว่า สมัยนี้ไม่ใช่สมัยที่เราจะวางแผนระยะยาว อะไรที่พอทำได้ก็ต้องรีบทำ ถ้าใช้ไม่ได้ก็หาอย่างอื่นมาทำแทน โลกเปลี่ยนไป เทคโนโลยีเข้ามาแล้ว จะคิดจะทำแบบเดิมไม่ได้
จากประสบการณ์ที่คุณหมอเคยเป็นคนประสานงานกับมูลนิธิหรือหน่วยฉุกเฉินต่างๆ อุบัติเหตุจากคนเมาแล้วขับกระทบระบบสาธารณสุขโดยรวมยังไงบ้าง อยากชวนให้ฉายภาพผลกระทบตรงนี้หน่อย
กระทบมากครับ บุคลากรจะมีเท่าไหร่ก็ไม่พอ เราถึงต้องมาทำเรื่องป้องกัน เพราะรู้ว่าระบบสาธารณสุขรับเคสแบบนี้ไม่พอ ถ้าปล่อยให้คนเมาแล้วขับก็อาจจะมีคนเสียชีวิตอีกเยอะ ผมขอใช้คำว่า แค่ ‘ตรึง’ ไว้ได้ แต่ยังไม่สามารถลดได้ ยังไม่สามารถจัดการได้หมด ผมยังเชื่อนะว่า เรามีทุนจำกัดเรื่องนี้ไว้ได้อีกเยอะ ถึงจะยังแก้ปัญหาเมาไม่ขับให้หมดไปเลยไม่ได้ แต่ให้มันดีกว่านี้แค่ครึ่งหนึ่ง เสียชีวิตน้อยกว่านี้สักครึ่งหนึ่ง เราก็รักษาชีวิตคนไทยได้ปีหนึ่งเป็นหมื่นๆ คนเลย
มีคนวิจารณ์ว่า ปัญหาเรื่องเมาแล้วขับเชื่อมโยงกับเรื่องความเหลื่อมล้ำด้วย เช่น คนที่มีฐานะยากจนมีแนวโน้มจะถูกจับหรือถูกลงโทษมากกว่า คุณหมอมองเรื่องนี้ยังไง
เวลาที่เราพูดถึงความเหลื่อมล้ำ สิ่งหนึ่งที่เราต้องระวังคือ ความเหลื่อมล้ำไม่ได้เกี่ยวกับแค่ฐานะ จริงอยู่ที่ความยากจนหรือร่ำรวยจัดเป็นความเหลื่อมล้ำชนิดหนึ่ง แต่ยังมีความเหลื่อมล้ำแบบอื่นอีก เช่น พวกเส้นสาย ความเหลื่อมล้ำหมายถึงความไม่ยุติธรรมทั้งหมด และนี่ก็คือตัวบังแดดอย่างหนึ่งด้วย
แน่นอนว่า การจะแก้ปัญหาเมาแล้วขับไม่ใช่แค่อาศัยภาครัฐหรือบุคลากรในระบบสาธารณสุข แต่เราทุกคนต้องช่วยกัน แล้วประชาชนทั่วไปจะเข้ามามีส่วนร่วมแก้ปัญหานี้ได้ยังไงบ้าง
อย่างที่ผมบอกเลย ทุกคนไปติดกล้องหน้ารถ แล้วทำตัวเป็นตาวิเศษหรือตาของสังคม ให้เราคิดว่า วันนี้เราจัดการคนไม่ดีบนท้องถนนได้ด้วยเครื่องมือของเรา ใช้เทคโนโลยีกับ social media ให้เป็นประโยชน์ อย่ายึดติดกับวิธีการเดิมๆ แล้วเราต้องทำให้ทุกคนรู้สึกว่า ถ้าคุณทำผิดบนท้องถนน คุณจะโดนสังคมลงโทษ ซึ่งการลงโทษจากสังคมนี่เจ็บกว่าอีกนะ นี่แหละการอาศัยความชอบจับผิดและความอิจฉาลึกๆ ของคนเราให้เป็นประโยชน์ เพราะทุกคนจะโดนตรวจสอบแบบเท่าเทียมกัน
เรื่องและภาพ: ทีมงาน Alcohol Rhythm