หากลองนึกภาพเร็ว ๆ ว่าในโรงเรียนมี ‘ครู’ ที่รู้จักมักจี่กับความเมามายจากเหล้าเบียร์เป็นประจำ หลายๆ คนอาจจะเบือนหน้าหนีและตำหนิต่อว่า โดยเฉพาะอย่างยิ่งผู้ปกครองที่ส่งลูกหลานเข้ามานั่งเรียน
แต่ถ้ามองภาพที่ว่าอย่างละเอียดลออมากขึ้น ลึกซึ้งมากขึ้น ว่า ‘ครู’ ก็เป็นเพียงคนคนหนึ่งที่นอกเหนือจากเวลาสอนหนังสือ สามารถเกิดความเครียด วิตกกังวล จนต้องหาทางออกด้วยการดื่มแอลกอฮอล์ และมีโอกาสติดแอลกอฮอล์ไม่น้อยไปกว่าอาชีพอื่นๆ คุณอาจจะเห็นว่านี่เป็นเรื่องใหญ่ในวงการการศึกษาที่เราทุกคนต้องช่วยกันหาทางออก ต้องร่วมมือจากหลายๆ ภาคส่วน ไม่ใช่ครูหนึ่งคนต่อสู้เพียงลำพัง เพื่อเพิ่มเปอร์เซ็นต์ความสำเร็จให้ครูคนนั้นลดพฤติกรรมการดื่มที่เป็นอันตรายลง และป้องกันผลกระทบที่จะเกิดต่อคนรอบข้าง
วันนี้ Alcohol Rhythm เปลี่ยนจังหวะชีวิตคนติดเหล้า ขอพาคุณไปสำรวจเหตุผลที่ครูดื่มหนักในสหรัฐอเมริกา ก่อนสะท้อนมาถึงครูไทย และร่วมกันถอดบทเรียนว่าจะช่วยเหลือคุณครูทั้งหลายจากปัญหาการเสพแอลกอฮอล์ที่ผิดปกติได้อย่างไร
ข่าวดี-ข่าวร้าย: อัตราการดื่มต่ำ แต่ครูติดสุราถูกตีตรา
ในปี 2558 สำนักการใช้ยาเสพติดและบริการสุขภาพจิต (SAMHSA) เผยแพร่ข้อมูลการประเมินอัตราการดื่มแอลกอฮอล์และการใช้ยาผิดกฎหมายของวิชาชีพต่างๆ ตั้งแต่ปี 2551 ถึง 2555 โดยใช้กลุ่มประชากรเป็นบุคคลในวิชาชีพที่มีอายุระหว่าง 18 ถึง 64 ปี ว่า:
– ‘ทุกอาชีพ’ ที่ทำงานประจำพบการใช้แอลกอฮอล์อย่างหนักในเดือนก่อนการสำรวจเฉลี่ย 8.7% โดยเฉลี่ย 8.6% รายงานว่าใช้ยาผิดกฎหมายในเดือนที่ผ่านมาค่าเฉลี่ย 9.5% มีการวินิจฉัยว่าพบความผิดปกติจากการใช้สารเสพติด (ไม่ว่าจะเป็นความผิดปกติของการใช้แอลกอฮอล์หรือความผิดปกติของการใช้สารอื่นๆ )
– บุคคลในวิชาชีพทางการศึกษามีความชุกของการดื่มแอลกอฮอล์หนักในเดือนที่ผ่านมาเฉลี่ย 4.7% ซึ่งเป็น ‘อัตราต่ำที่สุด’ เป็นอันดับสองของทุกอาชีพที่สำรวจ
– บุคคลในวิชาชีพทางการศึกษามีอัตราการใช้ยาผิดกฎหมายในเดือนที่ผ่านมา 4.8% ซึ่งเป็น ‘อัตราต่ำที่สุด’ เป็นอันดับสองของทุกอาชีพที่สำรวจ
– บุคคลในวิชาชีพทางการศึกษามีอัตราความผิดปกติจากการใช้สารเสพติดอย่างเป็นทางการ 5.5% ซึ่งเป็น ‘อัตราต่ำที่สุด’ ของทุกอาชีพที่สำรวจ
จากหลักฐานเชิงประจักษ์ถือเป็นข่าวดี เพราะสามารถสันนิษฐานได้ว่าวงการวิชาชีพทางการศึกษามีอัตราการใช้สารเสพติด และความผิดปกติของการใช้สารเสพติดค่อนข้างต่ำเมื่อเทียบกับวิชาชีพอื่น ๆ
ทว่า ข่าวร้ายคือบุคลากรในวิชาชีพทางการศึกษาที่กำลังต่อสู้กับการใช้สารเสพติดอาจรู้สึกว่า ‘ถูกตีตรา’ ว่ากล่าวจากสังคม ขณะที่พวกเขาอยากเข้ารับการรักษาอย่างเป็นทางการ หรือกำลังได้รับการบำบัดสำหรับความผิดปกติของการใช้สารเสพติด เช่น ความผิดปกติของการดื่มแอลกอฮอล์
‘เครียด เบื่อหน่าย นอนไม่หลับ’
สาเหตุหลักที่ครูทักทายแอลกอฮอล์
จากบทความที่ตีพิมพ์ในข่าวการศึกษา ปี 2558 มีหลายสมมติฐานที่ช่วยอธิบายได้ว่าทำไมครูบางคนจึงหันไปดื่มแอลกอฮอล์
และเหตุผลประการแรกที่ครู –โดยเฉพาะครูผู้หญิง เลือกดื่มแอลกอฮอล์ คือเพื่อ ‘ลดความเครียดจากการทำงาน’ ซึ่งการเลือกดื่มแอลกอฮอล์หรือยาเสพเพื่อลดเครียดนั้นเป็นเรื่องธรรมดามากในทุกๆ อาชีพ อย่างไรก็ตาม แม้แอลกอฮอล์จะมีฤทธิ์ยับยั้งการทำงานของระบบประสาทส่วนกลาง ทำให้ผู้ดื่มผ่อนคลายหายเครียด แต่นั่นก็ได้ผลเพียงช่วงสั้นๆ เท่านั้น หากใช้อย่างต่อเนื่อง จะทำให้เกิดปัญหาการดื่มที่ซับซ้อนมากขึ้น
เหตุผลประการต่อมาคือ ครูอาจใช้สารเสพติดสำหรับ ‘เพิ่มอารมณ์ในการทำงาน’
ปี 2557 บทความ Social Psychiatry and Psychiatric Epidemiology ประมาณความชุกของภาวะซึมเศร้าในหลายๆ อาชีพ โดยเฉลี่ยภาวะซึมเศร้าของอาชีพทั้งหมดจะอยู่ที่ 10% (ต่ำสุด 8% สูงสุด16%) และความชุกของภาวะซึมเศร้าที่เกิดขึ้นในวงการวิชาชีพการศึกษานั้นอยู่ที่ 10% สอดคล้องกับค่าเฉลี่ยโดยรวม
ดังนั้นครูจึงไม่มีแนวโน้มเป็นโรคซึมเศร้ามากไปกว่าบุคคลในวิชาชีพอื่นๆ แต่การสอนหนังสือนั้นอาจทำให้เกิดความเบื่อหน่ายจากลักษณะงานที่ค่อนข้างซ้ำซากจำเจสำหรับครูบางคน เมื่อรวมกับความเครียดที่ต้องทำงานรับมือเด็กๆ หลากรูปแบบ ก็อาจจะไปกระตุ้นให้อยากดื่มแอลกอฮอล์ขึ้มาได้
อนึ่ง แอลกอฮอล์ค่อนข้างเป็นที่ยอมรับของสังคม ขณะที่ภาพจำของครูมักถูกฉายว่ามีเพียงส่วนน้อยที่ใช้ยาผิดกฎหมาย จากสถานการณ์เช่นนี้ ทำให้ครูบางคนอาจเลือกดื่มแอลกอฮอล์โดยอ้างว่าเพื่อจุดประสงค์ทางสังคมเท่านั้น จนกลายเป็นอาการติดไปในที่สุด
สมมติฐานสุดท้าย ครูอาจจะหันไปดื่มแอลกอฮอล์เพื่อ ‘จัดการกับปัญหาการการนอนหลับ’ อย่างไรก็ดี ยังไม่มีมีข้อมูลที่แน่นอนเกี่ยวกับความชุกของความผิดปกติในการนอนหลับของกลุ่มครู และคาดว่าครูไม่น่าป่วยเป็นโรคการนอนหลับมากกว่าบุคคลทั่วๆ ไป ปัญหาเรื่องการนอนไม่หลับจึงอาจเกี่ยวข้องกับปัจจัยอื่น ๆ เช่น ความเครียด ภาวะซึมเศร้า เมื่อพิจารณาว่างานของครูเป็นลักษณะงานที่มีเวลาไม่ยืดหยุ่น ต้องตื่นแต่เช้า กลับบ้านตอนเย็น ไม่มีให้พักผ่อนงีบหลับระหว่างวัน ครูบางคนก็อาจจะเลือกดื่มแอลกอฮอล์เพื่อบังคับให้ตัวเองพักผ่อนตามเวลา และตื่นไปทำงานตามตารางสอนก็เป็นได้
แต่สิ่งที่คุณครูควรรู้ไว้ คือการดื่มแอลกอฮอล์มากเกินไปอาจรบกวนการนอนในช่วงหลับลึก (REM Sleep) ซึ่งระยะยาวจะทำให้เกิดปัญหาการนอนหลับขั้นรุนแรงกว่าเดิม
‘ครู’ ต้องเป็นตัวอย่างที่ดี?
ครูมักเป็นเหยื่อของ Halo effect หรือปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นเมื่อคนภายนอก มองมายังคนคนหนึ่งที่ประพฤติตัวดี หรือมีคุณลักษณะที่ดีในบางเรื่อง แล้วเหมารวมไปว่า คนนี้ๆ เป็นคนเก่ง คนดีในทุกๆ มุม ทั้งที่ไม่จำเป็นต้องเป็นเช่นนั้นเสมอไป
ถ้าลองมองย้อนว่าสังคมสร้างค่านิยมให้ครูต้องเป็นฉลาด ทำเพื่อผู้อื่น ไม่เห็นแก่ตัว สมบูรณ์แบบเพื่อเป็นแม่พิมพ์ให้เด็กๆ ครูที่ต้องแบกรับภาพลักษณ์เหล่านั้นคงรู้สึกกดดันอยู่ไม่น้อย และนั่นเป็นสาเหตุที่ทำให้ครูเกิดความเครียด ซึมเศร้า จนต้องหันไปพึ่งแอลกอฮอล์ และไม่กล้าแม้กระทั่งร้องขอความช่วยเหลือเมื่ออาการเข้าขั้นวิกฤต เพราะถูกทำให้เชื่อว่าเป็นคนฉลาด สมบูรณ์แบบ หาทางออกเองได้
สิ่งที่ควรสร้างการรับรู้ร่วมกันคือครูเป็นเพียงมนุษย์คนหนึ่งที่อาจไม่สมบูรณ์แบบและควรได้รับสิทธิ ความช่วยเหลือด้านต่างๆ อย่างในสหรัฐฯ มีสหภาพแรงงานที่ช่วยปกป้องความเป็นส่วนตัวและสิทธิของคุณครู ตัวครูที่ถูกวินิจฉัยว่าเป็นผู้ติดสารเสพติด เช่น ติดเหล้า จะได้รับการคุ้มครองจากสหภาพแรงงานเรื่องความปลอดภัยในงานหรือความมั่นคงทางอาชีพ และการรักษาความเป็นส่วนตัวเกี่ยวกับปัญหานั้นทันที ยกเว้นแต่ว่าพวกเขาจะมีส่วนเกี่ยวข้องกับพฤติกรรมที่รุนแรง ละเมิดจริยธรรมอย่างร้ายแรง หรือเกี่ยวข้องกับประเด็นทางกฎหมาย
เปลี่ยนแปลงพฤติกรรมติดแอลกอฮอล์
ด้วยการลบค่านิยมครูสมบูรณ์แบบ
‘การมองหาทางรักษา การยอมรับว่าคนหนึ่งคนต้องการความช่วยเหลือ และมีเป้าหมายที่จะเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมให้ได้’ เป็นทางเลือกที่ดีที่สุดในการแก้ปัญหาครูถูกตีตราเพราะเกี่ยวข้องกับสารเสพติด เช่น แอลกอฮอล์
เมื่อรับรู้ว่าครูมีปัญหาและอยากเข้ารับการรักษา คนทั่วๆ ไปควรชื่มชมอย่างจริงใจในความมุ่งมั่นที่ครูอยากเปลี่ยนแปลง และอาจเริ่มต้นลบค่านิยมครูสมบูรณ์แบบ มองครูเป็นมนุษย์มากขึ้นเมื่อทราบว่าครูมีปัญหากับการดื่มแอลกอฮอล์และดำเนินการขอความช่วยเหลือ ตามขั้นตอนต่อไปนี้
– เข้าใจสัญญาณความผิดปกติของการใช้สารเสพติด เมื่อไรก็ตามที่บุคคลที่ใช้สารเสพติดหรือดื่มแอลกอฮอล์นั้นเริ่มแสดงออกถึงความผิดปกติ หรือไม่สามารถใช้ชีวิตประจำวันได้ เช่น หยุดงาน ความสามารถในการทำงานแย่ลง มีความเป็นไปได้ว่าพวกเขาจะใช้สารเสพติดนั้นๆ
– เริ่มดำเนินการถ้าคนในครอบครัว หรือเพื่อนๆ เห็นสัญญาณที่บอกไปในข้างต้น และคนคนนั้น ไม่เปิดใจรับเรื่องการรักษา คุณควรติดต่อผู้เชี่ยวชาญด้านสุขภาพจิตหรือผู้ดูแลเฉพาะ และเริ่มเข้าไปดูแลการติดสารเสพติดที่เกิดขึ้น เพื่อให้บุคคลนั้นตระหนักถึงปัญหาของพวกเขา ผลกระทบที่เกิดขึ้นต่อผู้อื่น และความจำเป็นในการรักษา
– ลงทะเบียนการรักษา และอยู่ในโปรแกรมบำบัดเป็นระยะเวลาที่เพียงพอ โดยทั่วไปหมายถึงการมีส่วนร่วมในกิจกรรมที่เกี่ยวข้องกับการรักษาเป็นระยะเวลาอย่างน้อย 5-7 ปีหลังจากเลิกใช้ยาหรือดื่มแอลกอฮอล์ และจำต้องไม่มีการใช้ยาหรือแอลกอฮอล์ในช่วงระยะเวลาดังกล่าวด้วย
การออกจากงานหรือหยุดพักงานในช่วงแรกของการฟื้นตัวนั้น ขึ้นอยู่กับความรุนแรงของอาการติดแอลกอฮอล์ที่เกิดขึ้น ครูบางคนอาจจะต้องพักงานในช่วยต้นของการบำบัด ในขณะที่ครูบางคนอาจจะไม่ สำหรับคนที่พบว่า ครูผู้สอนนั้นจะต้องเข้ารักษาการเลิกเหล้าแบบผู้ป่วย คุณไม่ควรถือเอาสิ่งนี้เป็นสัญญาณของความล้มเหลว แต่เป็นการแสดงความเข้มแข็งและมุ่งมั่นพัฒนาตัวเองแทน
– สนับสนุนครูในขณะที่พวกเขาอยู่ในการบำบัดแอลกอฮอล์ ครูควรได้รับการสนับสนุนจากคู่ครอง สหภาพแรงงาน ครอบครัว และเพื่อน ๆ บุคคลเหล่านี้ต้องติดตามความคืบหน้าในการรักษาและช่วยดูแลจนจบโปรแกรมบำบัด
เรียนรู้วิธีการบำบัดแอลกอฮอล์เพื่อ ‘ครู’
ตามที่สถาบันแห่งชาติว่าด้วยการติดยาเสพติดระบุโปรแกรมการรักษาที่ครอบคลุมสำหรับความผิดปกติของการใช้แอลกอฮอล์ควรมีส่วนประกอบ ดังนี้
– ควรมีการประเมินอย่างเป็นทางการเพื่อกำหนดระดับความรุนแรงของการใช้สารเสพติดของแต่ละบุคคลและระบุความต้องการ / ปัญหาทั้งหมด
– ควรใช้การประเมินเพื่อพัฒนาโปรแกรมการรักษาอย่างเป็นทางการ โดยมีองค์ประกอบเชิงประจักษ์ของการรักษาความผิดปกติในผู้ใช้แอลกอฮอล์รายบุคคล
– โปรแกรมการรักษาควรมีความละเอียดอ่อนต่อความต้องการทางสังคมและวัฒนธรรมของแต่ละบุคคล หากเห็นว่าจำเป็นควรใช้โปรแกรมการจัดการสารพิษ (ดีท็อกซ์) ทางการแพทย์ สำหรับแอลกอฮอล์หรือยา
– ควรใช้การรักษาด้วยการช่วยเหลือทางการแพทย์ เช่น การใช้ยารักษาในสถานการณ์ที่เหมาะสม
– การบำบัดความผิดปกติของการใช้สารเสพติดเป็นประเด็นสำคัญของโปรแกรมการฟื้นฟู
– การมีส่วนร่วมในกลุ่มสนับสนุนทางสังคมสามารถเพิ่มความสำเร็จในการฟื้นฟู
– การรักษาควรผสมผสานการศึกษาเกี่ยวกับการใช้สารเสพติดและวิธีการแทรกแซงอย่างเป็นทางการเพื่อให้ประสบความสำเร็จ
ท้ายที่สุดการตัดสินใจเข้ารับการบำบัดจะขึ้นอยู่กับตัวบุคคลกับการใช้สารเสพติด นอกเสียจากว่าครูจะขัดข้อตกลงในสัญญาการทำงานอย่างรุนแรง (เช่น เข้ามาทำงานโดยมึนเมา) หรือกระทำการที่ผิดจรรยาบรรณ (เช่น จัดหายาหรือแอลกอฮอล์ให้เด็กใช้ยาหรือแอลกอฮอล์ในงาน เป็นต้น) จึงจะให้คนอื่นๆ เช่น เพื่อน เพื่อนร่วมงาน ญาติ เข้ามาแทรกแซง บังคับให้บำบัดเพื่อป้องกันผลกระทบ
ยิ่งไปกว่านั้น หัวหน้างานและสหภาพแรงงานยังสามารถวางข้อกำหนดเกี่ยวกับครูที่มีความผิดปกติในการใช้สารเสพติดในระดับปานกลางถึงรุนแรงซึ่งสามารถบังคับให้พวกเขาเข้ารับการรักษาได้หากพวกเขาปฏิเสธที่จะขอความช่วยเหลือ
(โชคดีที่ NIDA รายงานว่าการวิจัยเชิงประจักษ์ระบุว่าผลการรักษาของบุคคลที่ถูกบังคับให้เข้ารับการบำบัดรักษาโดยนายจ้างหรือระบบกฎหมาย และบุคคลที่สมัครใจนั้นได้ผลแตกต่างกันไม่มาก แต่เชื่อเถอะว่าใครๆ ก็อยากเข้ารับการบำบัดแบบสมัครใจทั้งนั้น)
จากข้อมูลและแนวทางที่เกิดขึ้นในต่างประเทศ เป็นที่น่าสนใจว่าอาจจะลองนำแนวคิดนี้มาใช้เป็นประโยชน์โดยปรับใช้ให้เหมาะกับประเทศไทย เพื่อช่วยเหลือบุคลาการทางการศึกษาหรือวงวิชาชีพอื่น ๆ ให้หลุดออกจากวงโคจรของแอลกอฮอล์ได้
ที่มา: Help a Teacher with an Alcohol Abuse Issue
เรื่องและภาพ: ทีมงาน Alcohol Rhythm