‘เริ่มดื่มเพราะหวังดี เลิกดื่มเพราะครอบครัว’ เรื่องราวของแม่ผู้ติดเหล้า

October 19, 2020


 

– เรื่องเล่าต่อไปนี้ถูกดัดแปลงมาจากประสบการณ์จริง โดยชื่อตัวละครที่ปรากฏในเรื่องแทนด้วยนามสมมติ –

 

เหล้าแก้วแรกสำหรับใครหลายคนอาจเริ่มต้นดื่มเพราะความทุกข์ เพราะความอยากรู้อยากลอง เพราะความคึกคะนอง..

แต่สำหรับ ‘ป้านวล’ แล้ว เหล้าแก้วแรกของเธอดื่มเพราะความหวังดีที่มีต่อลูก

“ป้าเริ่มดื่มเหล้า พวกเหล้าดองยาสมุนไพร หลังการอยู่ไฟคลอดลูกคนแรก” หญิงวัยใกล้ 60 ปีเริ่มต้นเล่าอดีตของเธอให้เราฟัง ดวงตาทั้งคู่ทอดมองไปไกลราวกับนึกย้อนความทรงจำ “มันเป็นความเชื่อ ตอนนั้นญาติผู้ใหญ่บอกว่าถ้าดื่มแล้วจะกินข้าวอร่อย กินได้เยอะ กินแล้วจะได้มีน้ำนมให้ลูก เราก็เลยดื่ม

“พอดื่มไปได้สามเดือน ก็คิดว่าจะเลิก แต่เมื่อไม่ดื่มแล้วกลับกินข้าวไม่อร่อย ไม่อยากอาหาร ซึ่งถ้าไม่ได้กินข้าวเราก็ไม่มีนมให้ลูก สุดท้ายเลยต้องกลับไปดื่มเหล้าเพื่อให้กินได้ โดยพยายามลดให้เหลือน้อยที่สุด”

สมัยป้านวลยังสาว เป็นคืนวันที่ความรู้ทางวิทยาศาสตร์และการแพทย์ยังไม่แพร่หลายเหมือนปัจจุบัน กระทั่งการทำคลอดต้องอาศัยหมอตำแยในชุมชนแทนการฝากครรภ์ในโรงพยาบาล เธอจึงไม่รู้ว่าแท้จริงแล้ว หญิงให้นมบุตรไม่ควรดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ เพราะนอกจากทารกอาจได้รับแอลกอฮอล์ผ่านทางนมแม่แล้ว ฤทธิ์ของมันยังส่งผลต่อฮอร์โมนในร่างกาย ทำให้เธอมีน้ำนมน้อยลงอีกด้วย

ป้านวลเพียงเข้าใจและจดจำว่าหลังดื่มเหล้าแล้ว เธอจะรู้สึกร้อน เหงื่อออกจนสบายตัว ทำให้อยากอาหารมากขึ้นกว่าเดิม เมื่อตั้งครรภ์และคลอดลูกคนที่สอง เธอจึงทำแบบเดียวกัน จนกระทั่งรู้ตัวอีกที เหล้าก็กลายเป็นส่วนหนึ่งของชีวิตคนเป็นแม่แทบทุกชั่วขณะ

“พอลูกโตแล้ว แฟนเราก็ดันเป็นคนเจ้าชู้” ป้านวลเล่าต่อ “บางทีเขานอกใจเรา เรารู้สึกน้อยใจ ไม่รู้จะระบายออกมายังไงก็เลือกจะดื่มให้เมา ดื่มย้อมใจให้ลืมความเจ็บปวด”

เหล้ากลายเป็นเพื่อนคู่ทุกข์ยากของป้านวลยามโศกเศร้า และในขณะเดียวกัน หลังจากป้านวลและสามีคืนดีกัน เหล้าก็กลายเป็นเพื่อนร่วมฉลองความรัก เพราะ “แฟนเราก็เป็นคนชอบดื่ม บางครั้งเขาซื้อมาก็ชวนให้เราดื่มเป็นเพื่อน เราเคยดื่มอยู่แล้วก็ไม่ปฏิเสธ”

ไม่เพียงแค่สามีที่รู้ว่าเธอกลายเป็นนักดื่ม แต่บรรดาญาติสนิทมิตรสหายเองก็รู้เช่นเดียวกัน เวลาป้านวลไปเที่ยวบ้านคนอื่นๆ ทีไร พวกเขาจึงมักจะหาเหล้าและกับแกล้มมาต้อนรับขับสู้เธออยู่เสมอ

“ถ้าอยู่คนเดียวเราก็ไม่ได้อยากดื่มขนาดนั้น” ป้านวลพูดเสียงอ่อน “แต่พอเพื่อนฝูงชวนดื่มด้วยกัน เขาออกไปซื้อมาให้ เราก็ปฏิเสธไม่ได้”

แก้วแล้ว แก้วเล่า นานวันเข้าป้านวลกลับติดลมอย่างไม่ทันรู้ตัว ปริมาณแอลกอฮอล์ที่เคยทำให้เมาไม่ส่งผลเหมือนเดิม เพื่อนในวงเหล้าก็ดูเหมือนจะเพิ่มมากขึ้น ทุกๆ วันก่อนไปทำงานหรือทำกิจกรรมอะไรสักอย่าง ป้านวลต้องเริ่มต้นด้วยการดื่มเหล้าก่อนทุกครั้ง

“ดื่มแค่เป๊กเดียวก็ไม่อยู่นะ” ป้านวลว่า “บางครั้งดื่มไปหนึ่งเป๊กก็อาเจียนออกมา ต้องดื่มเป๊กที่สอง ที่สาม.. เพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ จนกว่าร่างกายจะรู้สึกสบาย หายสั่นนั่นล่ะ ถึงจะไปทำงานได้

“ตอนทำงานก็ต้องรีบทำตอนที่ฤทธิ์เหล้ายังอยู่ในร่างกาย ถ้าหมดฤทธิ์เมื่อไรละก็ ร้อน เหงื่อแตก อยากจะอาบน้ำแต่ก็ไม่กล้า เพราะกลัวว่าจะช็อก”

น้ำเมาไม่ได้เปลี่ยนแค่วิถีชีวิตการทำงานของป้านวล แต่ยังเปลี่ยนการกินและการนอนของป้านวลไปโดยสิ้นเชิง

“เวลาเราดื่มจนเมา เราก็นอนผิดเวลา นอนตั้งแต่ 5-6 โมงไปตื่นตีสอง ตอนนอนก็นอนหลับไม่สนิท มีสะดุ้งตื่นเป็นพักๆ คืนหนึ่งมากกว่า 20 ครั้งจนสว่าง บางคืนถึงขั้นสะดุ้งตื่นกลางดึกเพื่อมาอาเจียนด้วยซ้ำ เวลาได้ยินเสียงไก่ขันนะ เราจะโอดครวญตลอดว่าไม่อยากให้ขันเลย ไม่อยากให้ถึงตอนเช้า

“ช่วงที่ติดหนักๆ ข้าวก็ไม่ตกถึงท้อง มันกินไม่ได้เลย อยู่ได้ด้วยเหล้า ผสมกับการกินเม็ดมะยม มะม่วง อาศัยเคี้ยวแล้วกินแต่น้ำ เพราะเนื้อหรือกากก็กลืนไม่ค่อยลง”

เพราะอาการติดเหล้าจน ‘กินไม่ได้ นอนไม่หลับ’ เช่นนี้เองที่ทำให้ร่างกายของป้านวลช่วงนั้นผ่ายผอมทรุดโทรม น้ำหนักตัวเหลือเพียง 38 กิโลกรัม จนลูกหลานที่ทั้งอยู่ร่วมกันและย้ายไปอยู่ในเมืองหลวงต่างทนดูไม่ได้ ต้องแวะเวียนมาขอร้องให้ป้านวลเลิกเหล้าเสียที

“เขาบอกว่าไม่สงสารลูกหลานบ้างเหรอ ลูกหลานเขาอายนะที่มีแม่มียายแบบนี้” ป้านวลกล่าว น้ำเสียงเซื่องซึมเล็กน้อยเมื่อพูดถึงความสัมพันธ์ของตนเองและบุตรหลานในช่วงนั้น เธอยอมรับว่าทั้งถูกขอร้อง ตำหนิ ประชดประชันมาทุกรูปแบบ จวบจนกระทั่งเธอค่อยๆ สำนึกได้เมื่อหลานสาวย้ายจากเมืองหลวงมาเรียนที่โรงเรียนใกล้บ้านในต่างจังหวัด

“ลูกสาวบอกว่า แม่ หลานย้ายมาเรียนที่นี่ มาอยู่ที่นี่ ถ้าแม่ยังกินเหล้าเมา นอนไม่รู้เรื่องรู้ราว มีอะไรเกิดขึ้นกับหลาน มีโจรขโมยขึ้นบ้านมาทำร้ายหลาน แม่จะทำยังไง หลานจะทำยังไง” ด้วยความรักที่มีต่อครอบครัวนี้เองที่ทำให้ป้านวลเริ่มต้นคิดเรื่องเลิกเหล้าอย่างจริงจัง ประจวบเหมาะกับในช่วงนั้น สามีของเธอดื่มเหล้า เมาและทำร้ายร่างกายเธอจนหัวแตก ต้องไปโรงพยาบาล เธอจึงได้พูดคุยกับคุณหมอที่นั่น

“หมอเห็นเราแล้วก็บอกว่าป้าควรจะหยุดดื่มนะ แนะนำให้เราเอายาไปกิน แต่เรายังไม่กล้าเพราะกลัวจะเสียยาคุณหมอ เลยรับปากไปว่าจะพยายามหยุดเอง ถ้าไม่ไหวจริงๆ จะมานำยากลับไปกิน”

คำว่า ‘ยา’ อาจจะเป็นตัวกระตุ้นที่ดีสำหรับป้านวล เพราะเธอได้ยินจากคนเคยกินว่า ‘ยาเบื่อเหล้า’ ทำให้คนอาเจียนจนเบื่อเหล้า ฉะนั้นถ้าไม่อยากอาเจียนก็ต้องเลิก ป้านวลไม่อยากตกอยู่ในสภาพนั้น จึงกัดฟันทนเลิกเหล้าด้วยตัวเองให้ได้

“ตอนเริ่มเลิกใหม่ๆ ก็กลัวว่าจะช็อกเพราะถอนเหล้า เราต้องพยายามสังเกตตัวเอง ต้องค่อยๆ ลดการดื่มลง” ช่วงแรกๆ ป้านวลจึงยังวนเวียนอยู่กับการดื่มวันละนิดวันหน่อยเพื่อให้ร่างกายได้ปรับสภาพ แล้วค่อยๆ กินอาหารให้มีแรง

เริ่มจากการซดน้ำข้าวต้ม กินเนื้อข้าวต้มสักสองสามเม็ด ดื่มน้ำตาม วันต่อมาก็พยายามกินให้ได้มากขึ้น จนเปลี่ยนมาเป็นข้าวสวย เคี้ยวข้าวให้ละเอียดแล้วกินน้ำอุ่นตามให้คล่องคอ อดทนกินจนกว่าจะกินเท่าคนปกติ

“ตอนนั้น ทุกครั้งที่เรากินได้มากขึ้น จะรู้สึกภูมิใจเป็นพิเศษเลย” ป้านวลเสริมด้วยรอยยิ้ม ก่อนเล่าว่าชาวบ้านเอง เมื่อทราบข่าวว่าเธอต้องการเลิกเหล้า ก็พยายามแนะนำวิธีการต่างๆ นานา ให้เช่นกัน ไม่ว่าจะเป็นการต้มรางจืดกิน ดื่มโซดาแทนเหล้า ฯลฯ อะไรที่เขาว่าดี ป้านวลพยายามทำตามทั้งหมด “ซึ่งมันก็ดูเหมือนจะได้ผลอยู่บ้างนะ” เธอหัวเราะ

อีกสิ่งหนึ่งที่เธอทำ คือทุกครั้งที่พาสามีแวะเวียนไปตรวจร่างกาย รักษา เธอจะใช้เวลาระหว่างรอตรวจอ่านคู่มือ แผ่นพับ หรือบอร์ดให้ความรู้แนะนำการเลิกเหล้าที่โรงพยาบาล รวมถึงคุยแลกเปลี่ยนประสบการณ์และเคล็ดลับจากผู้ป่วยที่เข้าบำบัดอาการติดเหล้า ทำให้ป้านวลมีพื้นฐานความรู้เรื่องการดูแลตัวเองช่วงเลิกเหล้าอยู่มากพอสมควร

ความเปลี่ยนแปลงได้บังเกิดขึ้นทีละเล็ก ทีละน้อยกับตัวป้านวล มือของเธอไม่สั่น ไม่รู้สึกครั่นเนื้อตัว อยากดื่มเหล้าจนทนไม่ไหวอีกต่อไป

“ตอนหลังเราได้เจอหมอคนเดิม คนที่บอกให้หยุดดื่ม เพราะต้องไปเฝ้าแฟนรักษาตัวที่โรงพยาบาล เขาก็ถามว่าเลิกดื่มได้หรือยัง เราตอบเลยว่าเลิกแล้ว หมอหัวเราะใหญ่ บอกว่าถ้ายังไม่เลิก จะให้ยากลับไปกินเดี๋ยวนี้เลย”

แต่เส้นทางเลิกเหล้าของป้านวลก็คล้ายคลึงกับใครหลายคน คือตัดไม่ขาดทีเดียวในครั้งแรก เมื่อป้านวลต้องพบกับความเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ คือการสูญเสียสามีไปเพราะโรคร้าย เธอก็หันกลับไปดื่มเหล้าให้ลืมทุกข์อีกครั้ง

หากเป็นครอบครัวของเธอเองที่คอยรั้งตัวเธอไว้ไม่ให้จมดิ่งกับเหล้าอีกหน “พอเขาเห็นเราเริ่มดื่มอีก ลูกก็มาถามเราว่าแม่ดื่มเพราะอะไร ทำไมต้องดื่ม เป็นเพราะคิดถึงพ่อเหรอ” ป้านวลยังจำได้ดีว่านั่นเป็นคำถามที่มาพร้อมน้ำตาของลูกสาวและลูกเขย “เขาบอกว่าแม่หยุดเถอะ พ่อก็เสียไปแล้ว ถ้าแม่ไม่หยุดแล้วเป็นอะไรไปขึ้นมาอีกคน จะไม่มีใครคอยดูแลลูกหลาน แม่อยากได้อะไรก็จะไม่ได้ อยากกินของอร่อยก็จะกินไม่ได้ แต่งตัวสวยก็ไม่ได้”

คำพูดของครอบครัวทำให้ป้านวลตระหนักได้ว่าเธอเกือบจะมองข้ามความรักความหวังดีของคนที่เหลืออยู่ไปพึ่งเหล้าเสียแล้ว  หลังจากนั้นเป็นต้นมา ป้านวลจึงเริ่มต้นกระบวนการเลิกเหล้าใหม่ เปลี่ยนไปหากิจกรรมอย่างอื่น เช่น ทำความสะอาดบ้าน เข้าวัดทำบุญ สวดมนต์ พบปะเพื่อนฝูงโดยไม่มีน้ำเมาในเวลาว่างแทน

“จนถึงตอนนี้ เราสามารถปฏิเสธเหล้าได้เด็ดขาดแล้ว” ป้านวลยิ้มกว้าง “ใครมาชวนก็บอกว่าฉันไม่ดื่ม ฉันจะอยู่ดูแลลูกหลานไปโรงเรียนนานๆ อีกอย่าง ถ้าดื่มแล้ว เงินมีเท่าไรก็หมด ต้องซื้อให้ตัวเอง ให้คนอื่น อยากเก็บเงินเลยไม่ดื่มดีกว่า

“เราหยุดดื่มเพื่อลูกหลาน เพื่อตัวเอง เลิกดื่มแล้วสุขภาพก็ดี ไม่เจ็บป่วยง่าย ลูกหลานเองก็ไม่มีอะไรดีใจเท่ากับแม่หยุดเหล้า เขาไม่อายเวลาพาเพื่อนมาบ้าน เมื่อก่อนนะ หลานไม่มองหน้าเราเลย ไม่ชอบเรา ตะคอกใส่ยายให้น้อยใจตลอด พอเราเลิกเท่านั้น หลานรักเรา เรียกยายทุกวัน สนิทสนมกันมากขึ้น

“ลูกๆ ทุกคนก็อยากมาเยี่ยม หลังจากที่ไม่ค่อยมาหาเลย ล่าสุดเขามาเยี่ยมวันแม่ มากราบเท้า บอกว่ามาขอพรจากแม่”

ประสบการณ์ที่ผ่านมาทำให้ป้านวลตระหนักว่า ครอบครัวเป็นส่วนสำคัญที่ช่วยให้นักดื่มมีกำลังใจในการเลิกเหล้า และยิ่งมั่นใจมากขึ้นเมื่อเห็นตัวอย่างนักดื่มที่ไม่สามารถเลิกได้เพราะคนในบ้านมีความสัมพันธ์แบบตั้งแง่ใส่กัน

อย่างไรก็ตาม ป้านวลเชื่อว่าทุกรอยร้าวในครอบครัวสามารถเริ่มต้นได้จากการหยุดดื่มแบบจริงจัง

“เราจะบอกผู้หญิงที่มีปัญหาเรื่องการดื่มและครอบครัวอยู่เสมอว่าให้ลองเริ่มหยุดเหล้าก่อน ไม่ว่าจะยากแค่ไหนก็ตาม เพราะมันช่วยให้ดีขึ้นได้จริงๆ ดูคนที่ดื่มหนักแบบเราสิยังเลิกได้ เธอเองก็ต้องเลิกได้”

คำแนะนำเหล่านี้รับประกันด้วยรอยยิ้มเปี่ยมสุขของคนเล่า ซึ่งเลิกเหล้าแล้วถาวร

 

 


 

เรื่องและภาพ: ทีมงาน Alcohol Rhythm

Related Articles