‘คนนั้นชัก’ เสียงเด็กผู้หญิงที่เพิ่งเดินผ่านหน้าห้องฉุกเฉินตะโกนเสียงดังด้วยความตกใจตามวัยของเธอ ขณะที่เสียงดังก้องจากเด็กคนนั้นทำให้คนจำนวนหนึ่งหันไปมองอย่างสนใจ
‘แม่ เขาเป็นอะไร’ เด็กน้อยถาม
‘เขาไม่สบาย’ แม่ตอบเสียงตื่นๆ
เสียงทุ้มๆ จากบุรุษพยาบาลเข็นเตียงแทรกขึ้นมาว่า ‘เขาดื่มของบางอย่าง แล้วเลิกดื่มไม่ได้’
เด็กน้อยเงยหน้าอย่างฉงน ขณะที่แม่ของเธอยิ้มตอบรับให้บุรุษพยาบาลและจูงเธอเข้าอาคารเดินหายลับไป
นี่เป็น 1 เหตุการณ์ ‘ขาดสุราจนเกิดอาการเจ็บป่วย’ ที่ใครหลายคนอาจจะเคยเห็นตามโรงพยาบาลต่างๆ หรืออย่างน้อยที่สุด น่าจะเคยเห็นจากละครหลังข่าวบนจอโทรทัศน์ ซีรีส์บางตอนในมือถือ หรือฉากหนึ่งที่โรงภาพยนตร์
ขณะที่ในความเป็นจริง สถิติบอกเราว่า ในแต่ละปี มีคนเสียชีวิตจากการติดสุราปีละ 3 ล้านคนทั่วโลก และเรายังต้องยอมรับว่าปัญหาที่เกิดจากการใช้แอลกอฮอล์จนเป็นอันตรายเช่นนี้เป็นปัญหาที่ส่งผลกระทบทั้งกับตัวผู้ดื่ม และขยายวงกว้างไปถึงสังคม
เมื่อเป็นเช่นนี้ World Health Organization (WHO) หรือ องค์การอนามัยโลก จึงพยายามหาทางออกให้กับเรื่องนี้ โดยเข้ามาเป็นส่วนหนึ่งในการวางนโยบายเพื่อให้หลายๆ ประเทศทั่วทุกมุมโลกนำนโยบายที่ว่านี้ไปปรับใช้ในการลดพฤติกรรมการใช้แอลกอฮอล์
10 นโยบายลดพฤติกรรมการใช้แอลกอฮอล์จากองค์การอนามัยโลก
นโยบายที่ 1 ความเป็นผู้นำ ความตระหนัก และความมุ่งมั่น
การลดพฤติกรรมการใช้แอลกอฮอล์อย่างยั่งยืนต้องอาศัยความเป็นผู้นำที่ตระหนักรู้ถึงแก่นแท้ของปัญหา โดยมีพันธะสัญญาอย่างเหมาะสมผ่านนโยบายระดับชาติที่ครอบคลุม ที่สำคัญไปกว่านั้น การลดพฤติกรรมการใช้แอลกอฮอล์ควรมาพร้อมกับแผนปฏิบัติการเฉพาะ และได้รับการสนับสนุนจากกลไกการประเมินที่มีประสิทธิผล
ตัวเลือกของนโยบายที่สามารถนำไปปฏิบัติประกอบด้วย
(1) พัฒนาหรือเสริมสร้างความเข้มแข็งของกลยุทธ์ เช่น สร้างแผนปฏิบัติการ/กิจกรรมต่างๆ เพื่อลดการใช้แอลกอฮอล์ที่เป็นอันตรายระดับชาติและระดับท้องถิ่น
(2) จัดตั้งหรือแต่งตั้งหน่วยงานหลักตามความเหมาะสม เพื่อรับผิดชอบการติดตามแผนงานต่างๆ
(3) ประสานยุทธศาสตร์ที่ตั้งเป้าไว้เกี่ยวกับแอลกอฮอล์กับหน่วยงานภาคส่วนอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง
(4) สร้างความมั่นใจในการเข้าถึงข้อมูล เพื่อสร้างจิตสำนึกสาธารณะเกี่ยวกับอันตรายที่เกี่ยวข้องกับแอลกอฮอล์
(5) สร้างความตระหนักรู้ถึงอันตรายต่อกลุ่มเสี่ยงที่เกิดจากการดื่ม ขณะเดียวกัน ก็ควรหลีกเลี่ยงการตีตราและการเลือกปฏิบัติต่อบุคคลที่ได้รับผลกระทบด้วย
นโยบายที่ 2 การตอบสนองบริการด้านสุขภาพ
การบริการด้านสุขภาพเป็นหัวใจสำคัญในการแก้ปัญหาอันตรายระดับบุคคลจากการใช้แอลกอฮอล์
ดังนั้น บทบาทที่สำคัญของการดำเนินงาน คือ การที่ผู้เชี่ยวชาญด้านสุขภาพต้องแจ้งผู้ป่วยถึงผลกระทบทางสุขภาพและสังคมที่จะเกิดขึ้นเมื่อใช้แอลกอฮอล์ มากไปกว่านั้น จะต้องตอบสนองการบริการอย่างมีคุณภาพโดยให้ไปถึงชุมชน เพื่อจะได้สร้างประสิทธิภาพในการ ลด ละ เลิก สุราอย่างถ้วนหน้า
ทั้งนี้บริการด้านสุขภาพควรเอื้ออำนวยให้เข้าถึงกับคนทุกกลุ่ม โดยตัวเลือกของนโยบายที่สามารถนำไปปฏิบัติประกอบไปด้วย
(1) เพิ่มขีดความสามารถสวัสดิการทางสังคมในการรักษาและดูแลผู้ป่วย
(2) สนับสนุนการป้องกันสำหรับผู้มีความเสี่ยงจะใช้แอลกอฮอล์ตั้งแต่เนิ่นๆ โดยอาจจะเริ่มจากการคัดกรองในสถานพยาบาลปฐมภูมิ เช่น อนามัย
(3) ปรับปรุงขีดความสามารถสำหรับการป้องกันครอบครัวที่อาศัยอยู่กับคนใช้แอลกอฮอล์
(4) พัฒนาประสิทธิภาพของกลยุทธ์แบบบูรณาการ
(5) รักษาความปลอดภัยในการเข้าถึงการบริการสุขภาพ และพัฒนาการเข้าถึงบริการสุขภาพของคนทุกกลุ่ม แม้จะมีสถานะทางเศรษฐกิจหรือวัฒนธรรมที่แตกต่างกัน
(6) จัดตั้งระบบการลงทะเบียน ตรวจสอบทั้งความเจ็บป่วยและการเสียชีวิตเนื่องจากใช้แอลกอฮอล์ด้วยกลไกการติดตามอย่างสม่ำเสมอ
นโยบายที่ 3 การปฏิบัติในชุมชน
จากคนหนึ่งคนที่ติดสุราสามารถส่งต่อพฤติกรรมไปให้อีกหลายคนในชุมชน ตรงนี้เป็นเครื่องชี้ชัดว่า การใช้แอลกอฮอล์สร้างผลกระทบให้กับชุมชน ดังนั้น ชุมชนควรได้รับการสนับสนุนและเพิ่มขีดความสามารถจากรัฐบาลและผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้อง โดยนำเอาวิธีการความรู้มาแก้ปัญหา ซึ่งจะได้ผลลัพธ์เป็นกลุ่มก้อนมากกว่าตัวบุคคล
ตัวเลือกของนโยบายที่สามารถนำไปปฏิบัติประกอบไปด้วย
(1) อำนวยความสะดวกด้านข้อมูล เพื่อเพิ่มความรู้เกี่ยวกับอันตรายของแอลกอฮอล์
(2) เสริมขีดความสามารถของเจ้าหน้าที่ในชุมชน และประสานงานดำเนินการร่วมกันเป็นเครือข่าย
(3) ให้ข้อมูลการช่วยเหลือตามชุมชนอย่างมีประสิทธิภาพ
(4) ระดมคนในชุมชนเพื่อป้องกันการขายและการดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ โดยเน้นไปในกลุ่มอายุต่ำกว่ากำหนด เพื่อช่วยสร้างสภาพแวดล้อมที่ปราศจากแอลกอฮอล์
(5) ดูแลชุมชนด้วยการสนับสนุนผู้ที่ได้ผลกระทบ ทั้งตัวคนใช้แอลกอฮอล์และครอบครัว
(6) พัฒนาโครงการต่างๆ ที่จะช่วยให้คนลดการใช้แอลกอฮอล์ได้ เช่น จัดแข่งขันกีฬาในเทศกาลเมือง
นโยบายที่ 4 มาตรการรักษาความปลอดภัยเมาแล้วขับ
การขับหรือขี่รถส่วนบุคคลในสภาวะที่มีแอลกอฮอล์อยู่เต็มร่างกายมักทำลายระบบการตัดสินใจ และหากเกิดอุบัติเหตุขึ้น ก็จะส่งผลกระทบด้านลบต่อตัวผู้ดื่มแอลกอฮอล์ รวมถึงคนอื่นที่ใช้รถใช้ถนนอยู่ด้วย เราจึงควรมีมาตรการยับยั้งการเมาแล้วขับอย่างจริงจัง เพื่อลดโอกาสในการใช้แอลกอฮอล์ และสร้างสภาพแวดล้อมการขับขี่ที่ปลอดภัย
ตัวเลือกของนโยบายที่สามารถนำไปปฏิบัติประกอบไปด้วย
(1) กำหนดค่าความเข้มข้นแอลกอฮอล์ในเลือดอย่างละเอียด และสำหรับผู้ขับขี่อายุน้อย หรือมือใหม่หัดขับ ควรจะถูกจำกัดค่าความเข้มข้นของแอลกอฮอล์ในเลือดให้ต่ำกว่ามาตรฐานที่ตั้งไว้ด้วย
(2) สนับสนุนให้มีจุดตรวจตามท้องถนน
(3) ระงับใบอนุญาตขับรถเมื่อเกิดอุบัติเหตุจากการใช้แอลกอฮอล์
(4) ให้ความรู้เกี่ยวกับการใช้แอลกอฮอล์ในการขับขี่ว่า “ไม่ควรทำ”
(5) สนับสนุนให้มีขนส่งสาธารณะทางเลือกที่หลากหลาย และสามารถใช้บริการได้จนกว่าจะถึงเวลาปิดของผับ บาร์ ร้านอาหาร ฯลฯ
(6) รณรงค์ดื่มไม่ขับ โดยเน้นย้ำเป็นพิเศษในสถานการณ์เฉพาะ เช่น ช่วงวันหยุดเทศกาล
*ในบริบทของประเทศไทย ผู้ที่สนใจสามารถอ่านบทสัมภาษณ์เลขาธิการมูลนิธิเมาไม่ขับ: “เรามองอุบัติเหตุเป็นเหมือนภัยธรรมชาติ และอยู่กับมันอย่างมีความสุข” คุยกับ ‘หมอเมาไม่ขับ’ นพ.แท้จริง ศิริพานิช ได้ ที่นี่
นโยบายที่ 5 ความพร้อมของการได้มาซึ่งการใช้แอลกอฮอล์
การควบคุมการจำหน่ายแอลกอฮอล์ในเชิงพาณิชย์เป็นวิธีสำคัญที่จะช่วยลดพฤติกรรมการใช้แอลกอฮอล์ อนึ่ง การได้แอลกอฮอล์มาอย่างง่ายดายสามารถเปลี่ยนแปลงบรรทัดฐานทางสังคมและวัฒนธรรมที่เคยเป็นอยู่ได้ กล่าวคือ จากที่ไม่เคยใช้แอลกอฮอล์ ก็กลับกลายเป็นไปส่งเสริมให้ใช้แอลกอฮอล์เพิ่มมากขึ้น
ขณะที่ในประเทศกำลังพัฒนาและประเทศที่มีรายได้น้อยถึงปานกลาง ตลาดนอกระบบเป็นแหล่งสำคัญของเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ดังนั้นจึงต้องได้รับการควบคุมอย่างเป็นทางการ โดยสนับสนุนให้แก้ไขปัญหากฎหมายที่เอื้อประโยชน์ดังกล่าว
ตัวเลือกของนโยบายที่สามารถนำไปปฏิบัติประกอบไปด้วย
(1) บังคับใช้ระบบการควบคุมการผลิต การค้าส่ง และการให้บริการเครื่องดื่มแอลกอฮอล์อย่างเหมาะสม เช่น ควบคุมจำนวนที่ตั้งของร้านขายแอลกอฮอล์ การกำหนดวันและเวลาทำการของการขายปลีก เป็นต้น
(2) กำหนดอายุขั้นต่ำที่เหมาะสมสำหรับการซื้อหรือการบริโภคเครื่องดื่มแอลกอฮอล์และนโยบายอื่นๆ เพื่อเพิ่มอุปสรรคต่อการขายและการบริโภคเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ในวัยรุ่น
(3) ป้องกันการขายสุราให้กับคนติดสุรา
(4) กำหนดข้อบังคับเกี่ยวกับการดื่มในที่สาธารณะ
(5) ใช้นโยบายลดและขจัดความพร้อมซึ่งได้มาอย่างง่ายของเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ตั้งแต่กระบวนการผลิตไปจนถึงการจำหน่ายแจกจ่าย
นโยบายที่ 6 การตลาดของเครื่องดื่มแอลกอฮอล์
ปัจจุบัน ผลิตภัณฑ์เครื่องดื่มแอลกอฮอล์มักทำการตลาดผ่านสื่อสังคมออนไลน์ พร้อมใช้เทคนิคโฆษณาและส่งเสริมการขายที่ซับซ้อนมากขึ้น เช่น การเชื่อมโยงแบรนด์เครื่องดื่มแอลกอฮอล์เข้ากับกิจกรรมกีฬาและวัฒนธรรมที่เป็นมิตรต่อผู้คน
การตลาดจึงถือเป็นข้อพิจารณาที่สำคัญในการเลือกว่าจะใช้แอลกอฮอล์หรือไม่ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ต่อคนหนุ่มสาวที่ดำเนินการตัดสินใจตามเทรนด์ที่อาจจะเกิดจากโฆษณา
ทั้งนี้ การเปิดรับการสื่อสารทางการตลาดเกี่ยวกับผลิตภัณฑ์แอลกอฮอล์เป็นสิ่งที่น่ากังวลพอๆ กับการตั้งตลาดแอลกอฮอล์ใหม่ในประเทศกำลังพัฒนาที่มีความชุกในการบริโภคเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ต่ำหรือมีอัตราการเลิกบุหรี่สูง ดังนั้น รัฐจึงต้องเร่งวางกฎหมายหรือข้อบังคับต่างๆ เพื่อกำกับดูแลโฆษณาทั้งหลายเหล่านี้
ตัวเลือกของนโยบายที่สามารถนำไปปฏิบัติประกอบไปด้วย
(1) กำกับดูแลการทำการตลาดเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ เช่น ควบคุมกิจกรรมสปอนเซอร์ที่ส่งเสริมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ จำกัดหรือแบนการโปรโมทที่เกี่ยวข้องกับกิจกรรมที่อาจจะนำไปสู่การใช้แอลกอฮอล์ เป็นต้น
(2) พัฒนาหน่วยงานของรัฐหรือหน่วยงานอิสระ เพื่อเฝ้าระวังการทำการตลาดผลิตภัณฑ์แอลกอฮอล์ให้ได้ประสิทธิผลที่ดี
(3) วางระบบการป้องกันที่มีประสิทธิภาพสำหรับการละเมิดข้อจำกัดการทำการตลาดเครื่องดื่มแอลกอฮอล์
นโยบายที่ 7 ราคาเครื่องดื่มแอลกอฮอล์
การกำหนดราคาเครื่องดื่มแอลกอฮอล์สามารถช่วยลดการพฤติกรรมการใช้แอลกอฮอล์ได้อย่างเห็นผล ทั้งนี้ การจัดเก็บภาษีที่มีประสิทธิภาพเป็นปัจจัยสำคัญในความสำเร็จของนโยบายที่เกี่ยวข้องกับราคาในการลดการใช้แอลกอฮอล์
อนึ่ง ปัจจัยต่างๆ มีความแตกต่างกัน เช่น ความชอบ ทางเลือกของผู้บริโภค การเปลี่ยนแปลงรายได้ แหล่งที่มาของแอลกอฮอล์ทางเลือกในประเทศหรือจากประเทศเพื่อนบ้าน อาจส่งผลต่อประสิทธิผลของการเลือกใช้ตัวเลือกนโยบายนี้
ขณะที่การมีอยู่ของตลาดแอลกอฮอล์ที่ผิดกฎหมายจำนวนมาก ทำให้การพิจารณานโยบายเกี่ยวกับการจัดเก็บภาษีในหลายประเทศมีความซับซ้อน ในสถานการณ์เช่นนี้ การเปลี่ยนแปลงภาษีจะต้องมาพร้อมกับความพยายามในการนำตลาดที่ผิดกฎหมายหรือนอกระบบมาอยู่ภายใต้การควบคุมของรัฐบาลที่มีประสิทธิภาพ
ทั้งนี้ การเก็บภาษีที่เพิ่มขึ้น อาจทำให้เกิดการต่อต้านจากกลุ่มผู้บริโภคและผู้ประกอบ แต่จะได้รับการสนับสนุนจากข้อมูลสาธารณสุข
ตัวเลือกของนโยบายที่สามารถนำไปปฏิบัติประกอบไปด้วย
(1) สร้างระบบสำหรับการเก็บภาษีเฉพาะสำหรับแอลกอฮอล์
(2) ตรวจสอบราคาอย่างสม่ำเสมอโดยให้สัมพันธ์กับระดับเงินเฟ้อและรายได้
(3) ห้ามหรือจำกัดการใช้โปรโมชั่นราคาทั้งทางตรงและทางอ้อม การลดราคา การขายต่ำกว่าราคาทุน
(4) กำหนดราคาขั้นต่ำสำหรับเครื่องดื่มแอลกอฮอล์
(5) ให้ราคาจูงใจสำหรับเครื่องดื่มไม่มีแอลกอฮอล์
(6) ลดหรือหยุดการให้เงินอุดหนุนแก่ผู้ประกอบการทางผลิตภัณฑ์แอลกอฮอล์
นโยบายที่ 8 ลดผลกระทบด้านลบจากการใช้แอลกอฮอล์
นโยบายนี้มุ่งเน้นโดยตรงไปที่การลดอันตรายจากการมึนเมา และการดื่มโดยไม่จำเป็นที่ส่งผลต่อการบริโภคแอลกอฮอล์
ตัวเลือกของนโยบายที่สามารถนำไปปฏิบัติประกอบไปด้วย
(1) ควบคุมบริบทการดื่มเพื่อลดความรุนแรงและพฤติกรรมก่อกวน รวมถึงการเสิร์ฟแอลกอฮอล์ในภาชนะพลาสติกหรือแก้วกันแตก และการจัดการปัญหาเกี่ยวกับแอลกอฮอล์ในงานสาธารณะขนาดใหญ่
(2) บังคับใช้กฎหมายต่อต้านการให้บริการเพื่อความมึนเมา และความรับผิดตามกฎหมายสำหรับผลกระทบของอันตรายที่เกิดจากการมึนเมา ซึ่งเกิดจากการให้บริการของเครื่องดื่มแอลกอฮอล์
(3) กำหนดนโยบายการจัดการที่เกี่ยวข้องกับการเสิร์ฟเครื่องดื่มอย่างมีความรับผิดชอบ และฝึกอบรมเจ้าหน้าที่ในภาคส่วนที่เกี่ยวข้องในเรื่องของการป้องกันและจัดการผู้ดื่มที่มึนเมาและก้าวร้าว
(4) ลดฤทธิ์หรือความแรงของแอลกอฮอล์ในเครื่องดื่มประเภทต่างๆ
(5) ให้การดูแลหรือที่พักพิงที่จำเป็นสำหรับผู้ที่มึนเมาอย่างรุนแรง
(6) ให้ข้อมูลเกี่ยวกับผู้บริโภค และติดฉลากเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ เพื่อบ่งชี้อันตรายที่เกี่ยวข้องกับแอลกอฮอล์
นโยบายที่ 9 แอลกอฮอล์ผิดกฎหมายหรือแอลกอฮอล์ที่ผลิตนอกระบบ
การบริโภคเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ที่ผิดกฎหมายหรือแอลกอฮอล์ผลิตนอกระบบ อาจส่งผลเสียต่อสุขภาพมากขึ้นกว่าปกติ เนื่องจากอาจมีปริมาณเอทานอลที่สูงขึ้นเกินกำหนดหรืออาจพบสารพิษปนเปื้อน นอกจากนี้ การผลิตดังกล่าวยังขัดขวางความสามารถของรัฐบาลในการจัดเก็บภาษีอีกด้วย
อย่างไรก็ตาม รัฐควรสร้างกรอบกฎหมายที่เหมาะสมบังคับใช้อย่างจริงจัง เพราะเราต้องไม่ลืมว่า การผลิตและจำหน่ายแอลกอฮอล์นอกระบบถูกฝังอยู่ในวัฒนธรรมมาอย่างยาวนาน ดังนั้น มาตรการควบคุมอาจแตกต่างกันไประหว่างแอลกอฮอล์ที่ที่ผลิตนอกระบบกับแอลกอฮอล์ที่ถูกผลิตอย่างผิดกฎหมาย
ตัวเลือกของนโยบายที่สามารถนำไปปฏิบัติประกอบไปด้วย
(1) ควบคุมคุณภาพที่ดีของการผลิตและการจำหน่ายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์
(2) ควบคุมการขายแอลกอฮอล์ที่ผลิตนอกระบบและนำเข้าสู่ระบบการจัดเก็บภาษี
(3) พัฒนาระบบติดตามแอลกอฮอล์ที่ถูกผลิตแบบผิดกฎหมาย
(4) แลกเปลี่ยนข้อมูลการต่อต้านแอลกอฮอล์ที่ผิดกฎหมายระหว่างหน่วยงานในระดับชาติและระดับนานาชาติ
(5) ออกคำเตือนสาธารณะเกี่ยวกับสารปนเปื้อนจากแอลกอฮอล์นอกระบบหรือแอลกอฮอล์ที่ถูกผลิตอย่างผิดกฎหมาย
นโยบายที่ 10 การติดตามและเฝ้าระวัง
‘ข้อมูลจากการติดตามและเฝ้าระวัง’ เรียกได้ว่าเป็นพื้นฐานสำคัญของนโยบาย 9 ข้อที่เสนอไปข้างต้น ทำให้การพัฒนาระบบข้อมูลระดับชาติที่ยั่งยืน โดยใช้ตัวชี้วัดจากคำจำกัดความและขั้นตอนการรวบรวมข้อมูลที่ได้จาก WHO จึงเป็นแก่นสำคัญในการประเมินผลการลดการใช้แอลกอฮอล์
ทั้งนี้ การรวบรวม การจัดเรียง และการวิเคราะห์ข้อมูลต่อเนื่องอย่างเป็นระบบ ส่งผลให้สามารถเสนอทางแก้ไขได้อย่างทันท่วงทีต่อผู้กำหนดนโยบายและผู้ที่เกี่ยวข้อง
ตัวเลือกของนโยบายที่สามารถนำไปปฏิบัติประกอบไปด้วย
(1) กำหนดกรอบที่มีประสิทธิผลสำหรับการติดตามและเฝ้าระวัง รวมถึงทำการสำรวจระดับชาติเป็นระยะเกี่ยวกับการบริโภคเครื่องดื่มแอลกอฮอล์
(2) จัดตั้งองค์กรที่รับผิดชอบในการรวบรวม จัดเรียง วิเคราะห์ และเผยแพร่ข้อมูลที่มีอยู่ รวมถึงการเผยแพร่รายงานระดับนานาชาติ
(3) ติดตามข้อมูลตัวบ่งชี้ทั่วไปของการใช้แอลกอฮอล์ และการตอบสนองนโยบายเพื่อป้องกันและลดการใช้ดังกล่าว
(4) สร้างที่เก็บข้อมูลระดับชาติตามตัวชี้วัดที่ตกลงกันในระดับสากล และทำข้อมูลรายงานในรูปแบบที่ตกลงกับ WHO
(5) พัฒนากลไกการประเมินจากข้อมูลที่เก็บรวบรวมไว้ เพื่อประเมินผลกระทบของมาตรการนโยบายที่จัดทำขึ้นสำหรับการลดพฤติกรรมการใช้แอลกอฮอล์
‘ต้องแก้อย่างเป็นระบบ’ เมื่อการลดพฤติกรรมการใช้แอลกอฮอล์ไม่ใช่แค่ปัญหาของตัวบุคคล
จาก 10 นโยบายในข้างต้นของ WHO ไม่ว่าจะเป็นการวางฐานกฏหมายหรือข้อกำหนดต่างๆ ของภาครัฐในระดับโครงสร้าง การสร้างแนวทางการปฏิบัติบริการสาธารณสุขเพื่อสุขภาพของประชาชน หรือแม้แต่การจัดการสร้างระเบียบควบคุมโฆษณาชวนเชื่อต่างๆ ฯลฯ แสดงให้เห็นอย่างชัดเจนว่า การลดพฤติกรรมการใช้แอลกอฮอล์เป็นปัญหา ไม่เพียงแต่ตัวบุคคล แต่แทรกซึมเข้าไปในสังคมทั้งระบบ
อย่างไรก็ตาม อย่าลืมว่านโยบายข้างต้นเป็นเพียงกลยุทธ์โดยทั่วไปที่ต้องนำมาปรับใช้ให้เข้ากับแต่ละประเทศ และที่สำคัญคือ ต้องอาศัยความร่วมมือจากหลายๆ ภาคส่วน ต่อยอดหาทางปฏิบัติอย่างเหมาะสม เพื่อจะได้เจอทางออกของปัญหาในท้ายที่สุด
ที่มา: 10 areas governments could work with to reduce the harmful use of alcohol
เรื่องและภาพ: ทีมงาน Alcohol Rhythm