คุณเป็นคนแบบไหนในโลกยามราตรี?
เด็กอนามัยเข้านอนตั้งแต่สี่ทุ่ม สาวสังคมที่เดินเฉิดฉายในงานเลี้ยงและจิบไวน์สวยๆ แบบพอเป็นพิธี คอสุราที่ร่ำสุราเท่าที่โอกาสจะอำนวย หรือเป็นคนที่เข้าข่ายติดแอลกอฮอล์ไม่ว่าจะรู้ตัวหรือไม่ก็ตาม
ถึงคุณจะตอบคำถามข้างบนไม่ได้ก็ไม่เป็นไร เพราะไม่ว่าคุณจะดื่ม ไม่ดื่ม หรือดื่มแอลกอฮอล์แบบพอเป็นพิธีก็ตาม คุณก็น่าจะลองอ่านบทความนี้เพื่อหาคำตอบว่าแอลกอฮอล์ส่งผลกับคุณอย่างไร
Alcohol Rhythm เปลี่ยนจังหวะชีวิตคนติดเหล้า ขออาสาพาคุณไปดูตั้งแต่ก่อนเทแอลกอฮอล์ลงแก้วจนถึงทันทีที่คุณจรดแก้วกับริมฝีปาก กลืนเครื่องดื่มในแก้วลงไปนั้น เจ้าแอลกอฮอล์ที่ว่าทำปฏิกิริยาอะไรกับคุณบ้าง…
ก่อนเปิดขวด
จากหลักฐานบันทึกทางประวัติศาสตร์ เราพบว่ามีการใช้เครื่องดื่มแอลกอฮอล์ในหลายสังคมด้วยวัตถุประสงค์ที่แตกต่างกัน ไม่ว่าจะเป็นการใช้เพื่อทำให้อารมณ์เปลี่ยนแปลงเนื่องจากแอลกอฮอล์เป็นสารที่ออกฤทธิ์ต่อจิตประสาท ใช้เพื่อหลบหนีจากความเป็นจริงเพราะแอลกอฮอล์ทำให้เมา หรือแม้กระทั่งใช้เพื่อดับกระหายหรือเป็นอาหาร ทั้งนี้ เครื่องดื่มแอลกอฮอล์เองยังมีความหมายในเชิงสัญลักษณ์ทั้งด้านบวกและด้านลบ กล่าวคือในทางหนึ่ง เครื่องดื่มแอลกอฮอล์อาจถูกใช้ในพิธีศักดิ์สิทธิ์หรือการเฉลิมฉลอง แต่ในอีกทางหนึ่ง การดื่มหรือเมาสุราอาจไม่เป็นที่ยอมรับหรือแม้กระทั่งเป็นที่รังเกียจจากสังคม โดยองค์การอนามัยโลกพบว่า ในบรรดาปัญหาสุขภาพทั้งหมด “คนที่เมาสุรา” จัดเป็นกลุ่มที่ได้รับการรังเกียจมากที่สุด
แม้ว่าแอลกอฮอล์มีทั้งด้านบวกและด้านลบดังที่กล่าวไป แต่เราก็ปฏิเสธไม่ได้เลยว่า การดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ก่อให้เกิดอันตรายกับสังคมและสุขภาพของทั้งตัวผู้ดื่มและคนแวดล้อมทั้งในระยะสั้นและระยะยาว ในระยะสั้น เช่น การเกิดอุบัติเหตุ หรือเกิดอันตรายจากการเมาสุรา ขณะที่ในระยะยาว เช่น ปัญหาในครอบครัว หรือปัญหาสุขภาพเรื้อรัง เป็นต้น
แก้วแรก
จากการประชุมในปี พ.ศ. 2522 ในเรื่องการรักษาด้วยยาและประสาทวิทยาที่เกี่ยวกับแอลกอฮอล์พบว่า โครงสร้างโมเลกุลที่มีขนาดเล็กของแอลกอฮอล์สามารถแพร่ผ่านเยื่อผนังเซลล์ และกระจายอย่างรวดเร็วไปยังทุกเซลล์และเนื้อเยื่อ ทำให้การดื่มแอลกอฮอล์ส่งผลไปทั่วร่างกายแม้ว่าจะดื่มไม่มากก็ตาม ยิ่งถ้าหากดื่มซ้ำๆ ก็จะยิ่งทำให้เกิดผลเสียเฉียบพลันและเรื้อรังเพิ่มขึ้นเป็นทวีคูณ ทั้งต่ออารมณ์ การควบคุมการเคลื่อนไหว และกระบวนการคิด
ผลข้อหนึ่งที่จะเกิดตามมาจากการดื่มแอลกอฮอล์ปริมาณหนึ่งในช่วงเวลาหนึ่งคือ การมึนเมา โดยเกิดจากแอลกอฮอล์ที่มีผลต่อโครงสร้างและการทำงานของระบบประสาทส่วนกลาง การมึนเมาจัดว่าเป็นอาการทางคลินิก และเป็นที่คุ้นเคยของแพทย์และพยาบาลในแผนกฉุกเฉิน ทั้งนี้ พฤติกรรมที่จะถูกจัดว่าเมาสุรา รวมถึงความคาดหวังและการยอมรับบุคคลที่เมาสุรานั้นย่อมแตกต่างกันไปตามแต่ละวัฒนธรรม
ฤทธิ์และพฤติกรรมที่เกิดจากการเมาสุราสามารถนำไปสู่พฤติกรรมเสี่ยงและพฤติกรรมก้าวร้าวรุนแรง อุบัติเหตุและการบาดเจ็บ และพิษจากสุราเฉียบพลัน ซึ่งอย่างหลังนี้อาจนำไปสู่ปัญหาระยะยาว เช่น ทุพพลภาพจากอุบัติเหตุ ซึ่งผลกระทบเหล่านี้ไม่เพียงแต่เกิดแก่ผู้ดื่มและคนรอบตัวเท่านั้น แต่ยังก่อให้เกิดภาระต่อบริการสาธารณสุขและบริการฉุกเฉิน รวมถึงระบบประกันสุขภาพด้วย
เมาหรือไม่เมา?
แอลกอฮอล์เป็นสารออกฤทธิ์ต่อจิตประสาทที่ทำให้เกิดการเสพติดได้ทั้งในมนุษย์และสัตว์ สามารถออกฤทธิ์กระตุ้นหรือกดระบบประสาทส่วนกลาง อันจะนำไปสู่อาการประสาทหลอนหรือก่อให้เกิดความบกพร่องของการควบคุมการเคลื่อนไหว ความคิด พฤติกรรม การรับรู้ หรืออารมณ์ นอกจากนี้ยังมีหลักฐานที่แสดงให้เห็นถึงการใช้แอลกอฮอล์อย่างไม่เหมาะสมจนก่อให้เกิดปัญหาสาธารณสุขและปัญหาสังคมจนต้องมีการควบคุมในระดับนานาชาติ
การเสพติดแอลกอฮอล์เกิดจากหลายกลไกด้วยกัน โดยแอลกอฮอล์เองมีคุณสมบัติในการเสริมแรงให้กลับไปดื่มซ้ำ (reinforce) และยังเสริมแรงร่วมกับสารเสพติดอื่นๆ ด้วย นอกจากนี้ หากคนหนึ่งๆ ดื่มอย่างต่อเนื่อง แอลกอฮอล์จะส่งผลให้เกิดการเปลี่ยนแปลงของโมเลกุลในสมองในระยะยาว (neuroadaptation) ซึ่งบางครั้ง ภาวะดังกล่าวก็ต่อต้านหรือเปลี่ยนการออกฤทธิ์ของแอลกอฮอล์ไปในทางตรงกันข้าม คือเมื่อคนที่มีภาวะดังกล่าวหยุดดื่มจะเกิดอาการขาดสุรา เช่น มีการตื่นตัว วิตกกังวล หรือแม้กระทั่งเกิดการชักได้ นอกจากนี้ภาวะ neuroadaptation ที่เกิดจากการดื่มสุราซ้ำๆ ยังทำให้คอแข็งขึ้นและสามารถดื่มได้มากขึ้น อาการอยากดื่ม (craving) และไม่สามารถควบคุมการดื่มนี้เป็นอาการสำคัญที่แสดงถึงภาวะเสพติดสุรา และในอีกแง่มุมหนึ่งมองว่าการเสพติดเกิดขึ้นเมื่อคนๆ หนึ่งยังคงดื่มหนักต่อไปทั้งๆ ที่เกิดผลเสียต่อสุขภาพและสังคมแล้ว
เมาค้าง
มีการค้นพบว่าแอลกอฮอล์สัมพันธ์กับการเกิดโรคหลายโรค เช่น มะเร็งเต้านมในสตรี หรือตับแข็ง นอกจากนี้การดื่มแอลกอฮอล์ยังสามารถก่อให้เกิดความผิดปกติกับทารกในครรภ์ได้ โดยกรณีที่ร้ายแรงที่สุดคือภาวะ fetal alcohol syndrome ซึ่งเป็นความผิดปกติที่เกิดขึ้นที่ศีรษะและใบหน้าของทารก รวมถึงมีการเติบโตช้า และมีความบกพร่องของระบบประสาทที่อาจรวมถึงความผิดปกติทางจิตใจด้วย
สำหรับวัยรุ่น แอลกอฮอล์สามารถทำให้โครงสร้างของสมองส่วนฮิปโปแคมปัส (ซึ่งเกี่ยวข้องกับกระบวนการเรียนรู้) ผิดปกติได้ การดื่มแอลกอฮอล์ยังก่อให้เกิดการทำลายของตับและกระตุ้นให้ตับอักเสบชนิดซีกำเริบได้ด้วย อีกหนึ่งอันตรายที่ไม่ควรมองข้ามคือโรคมะเร็ง มีการค้นพบว่าแอลกอฮอล์เกี่ยวข้องกับการเกิดมะเร็ง ขณะที่การดื่มแอลกอฮอล์เรื้อรังทำให้เกิดผลเสียต่อระบบภูมิคุ้มกัน โดยมีการค้นพบว่า ผู้ติดสุรามักมีภูมิคุ้มกันบกพร่องและมีโอกาสป่วยด้วยโรคติดเชื้อได้บ่อยขึ้น
แต่ใช่ว่าการดื่มแอลกอฮอล์จะก่อให้เกิดโรคหรือผลเสียเพียงอย่างเดียว ในกรณีของโรคหัวใจ สุราสามารถก่อให้เกิดได้ทั้งข้อดีและข้อเสีย ผลการศึกษาระบาดวิทยาพบว่าแอลกอฮอล์สามารถป้องกันได้หากดื่มเล็กน้อยเป็นประจำ ข้อดีดังกล่าวได้รับการยืนยันในกลุ่มชายที่มีอายุเกิน 45 ปีและหญิงที่หมดประจำเดือนแล้ว (แต่ก็ยังมีข้อถกเถียงเกี่ยวกับเรื่องนี้กันอยู่บ้าง) อย่างไรก็ตาม การดื่มหนักๆ เป็นครั้งคราวทำให้เพิ่มโอกาสในการเกิดหัวใจวายได้
คุณคงเห็นแล้วว่ามนุษย์เราใช้แอลกอฮอล์ในหลากหลายโอกาสและสถานการณ์ ใช้ทั้งในด้านบวกและด้านลบ ดังนั้นคงไม่เกินจริงแต่อย่างใดหากเราจะกล่าวว่าแอลกอฮอล์มีหลากหลายมิติ ทั้งมิติทางสังคม เศรษฐกิจ และวัฒนธรรม แต่มิติที่คนส่วนมากอาจจะลืมนึกถึงไปคือมิติทางวิทยาศาสตร์ ว่าแอลกอฮอล์ส่งผลอย่างไรกับร่างกายเราบ้าง
ดังนั้น ไม่ว่าคุณจะดื่มแอลกอฮอล์หรือไม่ ก็ย่อมเป็นเรื่องดีหากคุณจะรู้ก่อนว่าเมื่อคุณจรดแก้วบรรจุแอลกอฮอล์ไว้กับริมฝีปากและดื่มของในแก้วนั้นลงไป แอลกอฮอล์สัมพันธ์อย่างไรกับร่างกายของคุณ…
ที่มา: รายงานคณะกรรมการผู้เชี่ยวชาญองค์การอนามัยโลกด้านปัญหาจากการบริโภคแอลกอฮอล์ รายงานครั้งที่ 2 พิมพ์ครั้งที่ 2 แปลและเรียบเรียงโดย นพ.ปริทรรศ ศิลปะกิจ และ พญ.พันธุ์นภา กิตติรัตนไพบูลย์ (2553) สนับสนุนโดยแผนงานการพัฒนาระบบ รูปแบบ และวิธีการบำบัดรักษาผู้มีปัญหาการบริโภคสุราแบบบูรณาการ (ผรส.)
เรื่องและภาพ: ทีมงาน Alcohol Rhythm