อินโฟกราฟิก: 10 เรื่องเหล้าทั่วไทย ที่คุณอาจไม่เคยรู้

October 3, 2019


รู้หรือไม่ ประเทศไทยมีนักดื่มทั้งหมดกี่คน?

แล้วรู้หรือไม่ ว่าคนวัยไหนดื่มสุรามากที่สุด?

ยังไม่รู้ก็ไม่เป็นไร แต่วันนี้คุณจะได้รู้แล้ว เพราะ Alcohol Rhythm เปลี่ยนจังหวะชีวิตคนติดเหล้า ขอพาคุณตะลอนทั่วไทย ดู 10 เรื่องเหล้าที่คุณอาจไม่เคยรู้ ไล่เรียงตั้งแต่จำนวนนักดื่มในประเทศไทย ช่วงอายุที่มักดื่มสุรา ไปจนถึงสาเหตุหลัก ว่าอะไรทำให้คนตัดสินใจเลิกเหล้าผ่านทางอินโฟกราฟิกสดใส ย่อยง่าย งานนี้จะเก็บไว้เป็นคลังความรู้ก็เยี่ยม หรือเอาไว้ทายขำๆ กับเพื่อนตอนกินข้าวเย็นนี้ก็ดูดีไม่หยอก

ไปตะลอน (เก็บความรู้) ทั่วไทยกันได้แล้ว ที่นี่!

 

1.ประเทศไทยมีนักดื่มจำนวนกว่า 16 ล้านคน

 

จากสถิติในปี 2560 พบว่านักดื่มปัจจุบัน (current drinker) ในประเทศไทยมีจำนวนรวมทั้งหมด 15.89 ล้านคน คิดเป็นร้อยละ 28.4 ของประชากรไทยที่มีอายุ 15 ปีขึ้นไป

ในจำนวนนี้มีคนที่ดื่มสุราอย่างน้อย 1 ครั้งต่อสัปดาห์มากถึง 6.98 ล้านคน หรือร้อยละ 12.5 ของประชากร

 

2.“เชียงราย” ครองอันดับหนึ่ง จังหวัดที่มีนักดื่มมากที่สุด

 

จากการสำรวจและจัดอันดับจังหวัดที่มีนักดื่มมากที่สุดของประเทศไทย พบว่า เชียงรายชนะเลิศไปด้วยจำนวนนักดื่มสุราร้อยละ 45.3 ของประชากรอายุ 15 ปีขึ้นไป ตามด้วยลำพูน (ร้อยละ 44.1) พะเยา (ร้อยละ 44.0) น่าน (ร้อยละ 42.4) และสุรินทร์ (ร้อยละ 40.6)

นอกจากนี้ยังพบว่าภาคเหนือและภาคตะวันออกเฉียงเหนือเป็นพื้นที่ที่มีจำนวนผู้ดื่มสุรามากที่สุดของไทยอีกด้วย

 

3.“ยะลา” รั้งตำแหน่ง จังหวัดที่มีนักดื่มน้อยที่สุด

 

ด้านการจัดอันดับจังหวัดที่มีนักดื่มน้อยที่สุดของไทย ปรากฏว่า ยะลาชนะไปด้วยจำนวนนักดื่มที่มีเพียงร้อยละ 2.3 ของประชากรอายุ 15 ปีขึ้นไป ตามด้วย ปัตตานี (ร้อยละ 3.9) นราธิวาส (ร้อยละ4.9) สตูล (ร้อยละ9.9) และสงขลา (ร้อยละ13.2)

แน่นอนว่า ภาคใต้ได้กลายเป็นพื้นที่ที่มีผู้ดื่มสุราน้อยที่สุดในประเทศไทย

 

4.คนวัยทำงานอายุ 35-49 ปีดื่มสุรามากที่สุด

 

อาจเป็นเพราะความเครียดจากการทำงานหรือภาระหน้าที่ต่างๆ ทำให้คนวัยทำงานอายุ 35-49 ปี ทั้งชายและหญิงเป็นกลุ่มที่ดื่มสุรามากที่สุดเมื่อเทียบกับนักดื่มในช่วงอายุอื่นๆ โดยคุณผู้ชายมักดื่มแอลกอฮอล์มากกว่า 50 กรัมขึ้นไปต่อวัน ส่วนคุณผู้หญิงส่วนใหญ่ดื่มในปริมาณ 12-50 กรัมต่อวัน

 

5.ผู้ชายมักเริ่มดื่มตอนอายุ 19 ปี ส่วนผู้หญิงเริ่มตอนอายุ 24 ปี

 

จำครั้งแรกที่ดื่มได้ไหม? จากสถิตินักดื่มสุราในประเทศไทยพบว่าอายุเฉลี่ยที่นักดื่มชายเริ่มดื่มเป็นครั้งแรกคือตอนอายุ 19 ปี ด้านนักดื่มหญิงมักเริ่มต้นที่อายุ 24 ปี และสาเหตุหลักของการเริ่มดื่มของทั้งสองเพศคือดื่มเพราะตามอย่างเพื่อนหรือมีเพื่อนชักชวน

 

6.เครื่องดื่มแอลกอฮอล์ที่คนไทยดื่มบ่อยที่สุด คือ เบียร์

 

ในบรรดาเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ทั้งหมด ดูเหมือนว่าเบียร์จะได้รับความนิยมมากที่สุด โดยจากสถิติพบว่าคนไทยดื่มเบียร์มากถึงร้อยละ 47.4 ของการดื่มทั้งหมด รองลงมาเป็นสุราขาวหรือสุรากลั่นชุมชน (ร้อยละ 26.6) และสุราสีหรือสุราแดง (ร้อยละ 22.0)

 

7.ร้านขายเหล้าในไทยไปไกลกว่า 580,000แห่ง!

 

583,880ไม่ใช่การใบ้หวย แต่เป็นตัวเลขของสถานที่จำหน่ายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ที่มีใบอนุญาตถูกต้องตามกฎหมายทั่วประเทศไทยจากการสำรวจในปี 2560 ซึ่งจำนวน 583,880 แห่งนี้ เท่ากับ 1 ร้านสามารถเข้าถึงประชากรได้ 113 คน

 

8.คนไทยเสียชีวิตจากการดื่มสุรา 17,000รายต่อปี

 

จากการเก็บข้อมูลการเสียชีวิตด้วยโรคหรือการบาดเจ็บที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับการดื่มแอลกอฮอล์ในปี 2546-2559 รวมทั้งสิ้น 13 ปี พบว่าจำนวนประชากรชายอายุ 15 ปีขึ้นไปที่เสียชีวิตมีทั้งหมด 192,472คน ขณะที่ประชากรหญิงรวมทั้งสิ้น 42,864คน

เมื่อนำมาคำนวณด้วยวิธีทางสถิติทำให้ประมาณการณ์ได้ว่าประชากรไทยเสียชีวิตจากการดื่มสุราเฉลี่ย 17,000 รายต่อปี และผู้ชายมีอัตราการเสียชีวิตสูงกว่าผู้หญิง

 

9.ดื่มแล้วขับ ไปจับ “เลย”

 

สถิติด้านการดื่มแล้วขับขี่พาหนะมากที่สุดอยู่ที่จังหวัดเลย ซึ่งนับเป็นร้อย 78.1 ของนักดื่มทั้งหมด ตามด้วยพิษณุโลก (ร้อยละ 72.2) ยโสธร (ร้อยละ 68.7) พัทลุง (ร้อยละ 68.3) และนครพนม (67.4)

แม้ว่าอันดับการขับขี่พาหนะที่น้อยที่สุดจะเป็นของจังหวัดนครปฐม แต่ก็ยังมีสัดส่วนมากถึงร้อยละ 17.5 รองลงมาเป็นนราธิวาส (ร้อยละ 18.9) และสมุทรปราการ (ร้อยละ20.7)

 

10.สาเหตุหลักของการเลิกเหล้า คือเรารู้ว่าไม่ดีต่อสุขภาพ

 

เมื่อสอบถามจากคนที่เลิกดื่มสุรา พบว่าคนส่วนใหญ่เลิกเพราะตระหนักว่าไม่ดีต่อสุขภาพ นับเป็นร้อยละ 64.1 ของจำนวนคนที่เคยดื่มเหล้า รองลงมาคือป่วยเป็นโรคแล้วแพทย์แนะนำให้เลิก (ร้อยละ11.7) และคนในครอบครัวขอร้องให้เลิก (ร้อยละ 9.8)

 

การดื่มสุรายังเป็นสาเหตุสำคัญของการเกิดโรคมะเร็งในไทย โดยเฉพาะก่อให้เกิดความเสี่ยงต่อมะเร็งรายใหม่หกชนิดหลัก ได้แก่ มะเร็งช่องปากและคอหอย มะเร็งหลอดอาหาร มะเร็งกล่องเสียง มะเร็งลำไส้ใหญ่ มะเร็งตับ และมะเร็งเต้านม

 

ดังนั้น ไม่ว่าคุณจะเป็นนักดื่มในจังหวัดไหน หรือช่วงอายุใด ก็ขอให้ตระหนักถึงสุขภาพทุกครั้งเมื่อยกแก้วเหล้า ก่อนที่ร่างกายเราจะส่งสัญญาณว่าสายเกินไป

 


ที่มา: สาวิตรี อัษณางค์กรชัย.  ข้อเท็จจริงและตัวเลขเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ในประเทศไทย พ.ศ.2559-2561.  กรุงเทพ. สหมิตรพัฒนาการพิมพ์. 2562.

เรื่องและภาพ: ทีมงาน Alcohol Rhythm

Related Articles