ยังจำได้ไหม ตอนคุณทำผิดในวัยเด็ก คุณโดนลงโทษยังไง?
คำตอบของคำถามข้างต้นคงแตกต่างกันออกไปตามแต่ละบุคคล แต่เชื่อว่าหนึ่งในคำตอบเหล่านั้นคงหนีไม่พ้น ‘การตี’ หรือการใช้ความรุนแรงในรูปแบบต่างๆ – หมัด ศอก เข่า เข็มขัด ไม้บรรทัด ไม้มะยม หรือแม้กระทั่งไม้แขวนเสื้อ อุปกรณ์รอบกายใกล้ตัวถูกผู้ปกครองบางคนงัดมาใช้ (เกือบ) ทุกครั้งที่บุตรหลานของตนเองทำผิด “ก็เด็กมันทำผิด เราก็ต้องลงโทษ” เป็นประโยคที่ใครหลายคนใช้ และเป็นประโยคที่คนไทยล้วนคุ้นชินและคุ้นเคย ยังไม่นับการดุด่าด้วยถ้อยคำรุนแรง หรือการทอดทิ้งเด็กลำพัง กลายเป็นบาดแผลที่แม้อาจไม่ปรากฎทางกาย แต่จารในใจและส่งผลยาวนานไม่มีวันเลือน
แน่นอน เมื่อเด็กทำผิดย่อมต้องถูกลงโทษ แต่ประเด็นที่สำคัญกว่านั้นคือ การทำโทษด้วยการตีหรือความรุนแรง โดยเฉพาะอย่างยิ่ง เมื่อผู้ลงโทษทำโทษตอนที่ตนเองก็ขาดสติหรือมีอารมณ์รุนแรง สามารถช่วยปรับพฤติกรรมของเด็กได้จริงหรือไม่ หรือแทนที่เราจะได้เด็กที่มีพฤติกรรมอย่างที่เราต้องการ เราอาจจะได้ผลลัพธ์ทางลบที่สร้างผู้ใหญ่ที่ชอกช้ำจากบาดแผลทางจิตใจขึ้นมาแทน
Alcohol Rhythm เปลี่ยนจังหวะชีวิตคนติดเหล้า ชวนคุณร่วมสำรวจหนึ่งในสาเหตุของผู้ป่วยติดแอลกอฮอล์ที่อาจสืบย้อนไปได้ถึงบาดแผลในวัยเด็ก – เมื่อเด็กคนหนึ่งถูกทำร้ายทางร่างกายและ/หรือทางจิตใจ ผลกระทบที่เกิดขึ้นจะเป็นอย่างไร และเราจะแก้ไขเรื่องนี้ได้อย่างไร
บาดแผลในวัยเด็กที่ส่งผลถึงตอนโต
ข้อค้นพบที่เราเพิ่งพูดไปด้านบนไม่ใช่เรื่องใหม่อะไร มีงานวิจัยมากมายที่บ่งชี้ไปในทิศทางเดียวกันว่า บาดแผลในวัยเด็ก (childhood trauma) เช่น การใช้ความรุนแรงและการเพิกเฉยทางกายและทางใจ ทำให้คนๆ หนึ่งมีโอกาสใช้และติดแอลกอฮอล์สูงมาก หรือถ้าจะพูดให้ชัดเจนขึ้น มีข้อค้นพบว่า บาดแผลในวัยเด็กมีอิทธิพลต่อการเป็นโรคติดสุราขั้นรุนแรง (alcohol dependence severity) อันเป็นผลมาจากภาวะความไม่เสถียรทางอารมณ์
ในงานวิจัย Childhood Trauma Exposure and Alcohol Dependence Severity in Adulthood: Mediation by Emotional Abuse Severity and Neuroticism ได้ทำการเปรียบเทียบความสัมพันธ์ของการถูกใช้ความรุนแรง (abuse) ในวัยเด็ก และการใช้ในแอลกอฮอล์ในทางที่ผิดในช่วงเวลาต่อมา โดยงานวิจัยได้เปรียบเทียบกลุ่มตัวอย่างเพศชายและเพศหญิงที่มาเข้ารับการรักษาเกี่ยวกับปัญหาการดื่ม กับกลุ่มควบคุมที่ไม่มีปัญหาการดื่ม (ทั้งในอดีตหรือในปัจจุบัน) ทั้งสองกลุ่มจะถูกประเมินว่า พวกเขามีประสบการณ์เจอกับความรุนแรงในวัยเด็กหรือไม่ ทั้งการทำร้ายทางจิตใจ ร่างกาย และทางเพศ และการปล่อยปละละเลยทั้งทางอารมณ์และทางกาย
สิ่งที่นักวิจัยค้นพบคือ บาดแผลในวัยเด็ก ไม่ว่าจะเป็นการถูกทำร้ายหรือการถูกปล่อยปละละเลย ล้วนมีอิทธิพลสำคัญต่อผู้ที่กำลังหาวิธีรักษาปัญหาการดื่ม แต่ความรุนแรงของปัญหาการดื่มจะสัมพันธ์โดยตรงกับระดับความความรุนแรงที่คนๆ นั้นได้รับในวัยเด็ก
ถ้าพูดให้ง่ายกว่านั้น ยิ่งเด็กถูกทำร้ายหรือถูกทอดทิ้งมากเท่าไหร่ ปัญหาการดื่มตอนพวกเขาโตขึ้นก็จะหนักขึ้นเท่านั้น และในบรรดาบาดแผลทั้งหมด การถูกทำร้ายหรือปล่อยปละละเลยทางอารมณ์เป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้เกิดปัญหาการดื่มมากที่สุด
ข้อมูลที่น่าสนใจและสอดคล้องกันมาจาก Old Vineyard ที่อธิบายว่า สมองของคนเราจะเจริญเติบโตและพัฒนาในช่วงวัยเด็ก ซึ่งเป็นช่วงที่มีการสร้าง เสริมความแข็งแกร่ง และในบางครั้ง ก็จะละทิ้งการเชื่อมต่อของประสาท (neural connection) ซึ่งประกอบด้วยเครือข่ายระหว่างเซลล์ประสาท (neuron) ที่ทำให้สมองสามารถกระทำการต่างๆ ได้ ประสบการณ์ที่คนๆ หนึ่งได้รับจะกระทบการพัฒนาของสมอง ทั้งในทางบวกและทางลบ ขึ้นอยู่กับว่าประสบการณ์ที่ว่านั้นคืออะไร
ทั้งนี้ มีการศึกษาที่ประเมินคนที่เคยเจอกับประสบการณ์เลวร้ายในวัยเด็ก ผลการศึกษาพบว่า การใช้ความรุนแรงหรือปฏิบัติไม่ดีกับเด็กจะทำให้เด็กเกิดความเครียดบ่อย และเกิดความเครียดในระดับที่สูง ซึ่งจะรบกวนการพัฒนาตามปกติของสมอง และเมื่อเกิดความเครียดบ่อยๆ เข้าก็จะทำให้เกิดความเครียดทางสรีรวิทยา (physiological stress) เป็นการตอบสนอง
ดังนั้น ทั้งข้อมูลและงานวิจัยข้างต้นได้ชี้ให้เห็นว่า แม้พันธุศาสตร์หรือเรื่องทางชีววิทยาจะเป็นเรื่องสำคัญ แต่ก็ไม่เพียงพอที่จะทำให้คนๆ หนึ่งอ่อนแอและเกิดอาการเสพติดได้ แต่ประสบการณ์ต่างหากที่เป็นเรื่องสำคัญ
ยิ่งไปกว่านั้น ไม่ใช่แค่ปัญหาเรื่องการดื่มเท่านั้น แต่ยังมีการค้นพบว่า คนที่เจอกับการถูกทำร้ายหรือถูกทอดทิ้งทางอารมณ์ในวัยเด็ก และกำลังพยายามรักษาปัญหาการดื่มในตอนโต จะมีอาการวิตกกังวล ซึมเศร้า และ/หรือโกรธเคือง ในระดับที่สูง รวมทั้งตอบสนองต่อเรื่องต่างๆ ด้วยอารมณ์ที่รุนแรง เราจึงอาจมองได้ว่า พวกเขาใช้การดื่มเป็นหนึ่งในวิธีบรรเทาอารมณ์ความรู้สึกต่างๆ ที่เกิดขึ้น
Alcohol Disruption
อีกหนึ่งประเด็นที่น่าสนใจคือ ถ้าการถูกทำร้ายในวัยเด็กส่งผลให้เด็กที่โตมามีปัญหาเรื่องแอลกอฮอล์และอาการอื่นๆ แล้วผู้ที่ใช้ความรุนแรงกับเด็กมีความเกี่ยวข้องกับแอลกอฮอล์อย่างไร
หนึ่งคำอธิบายที่น่าสนใจมาจากคุณหมอ Isaac Alexis ที่อธิบายว่า แอลกอฮอล์จะรบกวน (disrupt) การทำงานของสมอง เป็นสาเหตุที่ทำให้คนพูดหรือทำอะไรก็ตามที่ผิดปกติ ส่วนการดื่มหนักๆ จะส่งผลให้สมองส่วนที่ควบคุมอาการยับยั้งชั่งใจอ่อนแอ ทำให้คนมีแนวโน้มจะแสดงอารมณ์หรือการกระทำที่เกรี้ยวกราดกว่าปกติ
“มีเคสเด็กที่เคยเจอกับความรุนแรง 13% เกี่ยวข้องโดยตรงกับแอลกอฮอล์” คุณหมอ Alexis กล่าว “เมื่อคนอยู่ใต้อิทธิพลของแอลกอฮอล์ พวกเขาจะมีการรับรู้ที่แตกต่างออกไป เด็กคนหนึ่งอาจจะทำอะไรตามปกติ แต่นั่นกลับทำให้ผู้ปกครองของพวกเขารู้สึกเหมือนถูกยั่วยุ ปลุกปั่น และทำให้เกิดการใช้ความรุนแรงกับเด็กได้”
เช่นเดียวกับในงานวิจัยที่เรายกมาข้างต้น เด็กที่มีบาดแผลในใจมักจะใช้แอลกอฮอล์เป็นเครื่องมือบรรเทาความเจ็บปวดในวัยเด็ก นั่นทำให้พวกเขาเลือกที่จะดื่มหนักๆ และเมื่อพวกเขาเริ่มมีความอดทน (tolerance) กับปริมาณแอลกอฮอล์ พวกเขาก็จะต้องการแอลกอฮอล์มากขึ้นเพื่อที่จะให้ได้ผลลัพธ์แบบเดิม จนนำไปสู่อาการติดแอลกอฮอล์ในที่สุด
เมื่อเป็นเช่นนี้ เราคงพอมองเห็นแล้วว่า เมื่อเด็กคนหนึ่งที่ต้องทุกข์ทรมานจากบาดแผลในวัยเด็กเติบโตขึ้นมาเป็นผู้ใหญ่ที่ติดแอลกอฮอล์ ก็มีแนวโน้มที่พวกเขาจะใช้ความรุนแรงกับบุตรหลานของตนเอง เกิดเป็นวงจรที่วนเวียนไปไม่รู้จบ
เติบโต ประนีประนอม และรับมือกับความเจ็บปวดจากวัยเด็ก
ถ้าคุณเป็น (หรือกำลังจะเป็น) พ่อแม่หรือผู้ดูแลเด็กสักคน เราหวังเป็นอย่างยิ่งว่าการทำโทษด้วยความรุนแรง รวมถึงการปล่อยละเลยและทอดทิ้งเด็ก ไม่ว่าจะเป็นทางร่างกายหรือจิตใจ จะไม่ใช่ตัวเลือกที่คุณนึกถึงเมื่อต้องการทำโทษเด็ก หรือไม่ใช่การกระทำที่คุณคิดจะทำกับเด็กในปกครองของตนเอง – จริงอยู่ที่รักวัวต้องผูก แต่ถ้ารักลูกจริงๆ เราเชื่อว่ามีวิธีอื่นอีกมากมายที่ดีกว่าการตีหรือใช้ความรุนแรง
แต่ถ้าเป็นในกรณีของเด็กที่เติบโตขึ้นเป็นผู้ใหญ่แล้ว ข้อมูลข้างต้นที่บอกถึงความสัมพันธ์ระหว่างบาดแผลในวัยเด็กกับการติดแอลกอฮอล์อาจจะช่วยให้เจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้อง หรือแม้กระทั่งผู้ที่มีอาการเสพติดเองสามารถรับมือกับภาวะที่ตนกำลังเผชิญได้ดีขึ้น ไม่ว่าจะเป็นการเข้ากลุ่มสนับสนุน หรือพูดคุยกับเจ้าหน้าที่ที่ให้คำปรึกษา เพื่อช่วยให้คุณสามารถรับมือและประนีประนอมกับอดีตที่โหดร้ายได้ดีขึ้น
ทั้งนี้ อย่าลืมว่า แม้แอลกอฮอล์หรือสารเสพติดต่างๆ จะดูเป็นเหมือนทางออกสำหรับการเยียวยาความเจ็บปวดในอดีต แต่การติดแอลกอฮอล์หรือสารเสพติดไม่ใช่เรื่องดี แต่เป็นเหมือนการทำลายปัจจุบันและอนาคตที่รออยู่มากกว่า
ดังนั้น ถ้าคุณเป็นคนหนึ่งที่มีอาการติดแอลกอฮอล์และต้องการขอคำปรึกษาหรือเข้ารับการรักษา คุณอาจจะลองติดต่อหน่วยงานเหล่านี้ (ดูข้อมูล 5 หน่วยงานเพื่อคนอยากเลิกเหล้า) เพื่อที่เริ่มก้าวแรกในการลด ละ เลิก แอลกอฮอล์ และข้ามพ้นคลื่นแห่งความเมามายไปได้อย่างมั่นคง
ที่มา:
Childhood Trauma and Alcohol Abuse: The Connection
The Unfortunate Connection between Childhood Trauma and Addiction in Adulthood
เรื่องและภาพ: ทีมงาน Alcohol Rhythm