:: Alcohol Rhythm เปลี่ยนจังหวะชีวิตคนติดเหล้า ชวนอ่านรวมบทความสั้น ‘เหล้ากับเรา’ ชุดที่สอง – เมื่อการดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์สร้าง ‘ต้นทุน’ ให้กับสังคมและครัวเรือนมากกว่าที่เราคิด ::
-1-
เพราะ ‘การดื่ม’ ส่งผลกับสังคม
มีรายงานพบว่า บ้านของเรากับร้านสะดวกซื้อ ร้านขายของชำ หรือ มินิมาร์ททุกประเภทที่มีเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ขาย มีระยะห่างจากกันเฉลี่ยเพียง 324 เมตรเท่านั้น หรือหากคิดเป็นการเดินทางจากบ้านไปยังร้านค้าเพื่อซื้อหาเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ก็จะใช้เวลาสั้นๆ ราว 4.5 นาที
หากจะพูดให้ง่ายกว่านั้นก็คือ เราทุกคนสามารถเข้าถึงเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ได้อย่างง่ายดาย และด้วยความอยาก (ดื่ม) ที่แพ้ชิดใกล้นี้เอง ทำให้ไทยกลายเป็นแชมป์ในหลายรายการ ไม่ว่าจะเป็นอุบัติเหตุที่เกิดจากการเมาแล้วขับ หรือจำนวนคดีความที่เกี่ยวพันกับเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ฯลฯ
แล้วคุณเคยสงสัยไหมว่า นอกจากค่าสังสรรค์ที่เหล่านักดื่มต้องจ่ายในแต่ละเดือนแล้วเนี่ย ถ้ามองในภาพใหญ่แล้ว แอลกอฮอล์สร้างต้นทุนอะไรให้กับสังคมไทยบ้าง?
งานวิจัยเรื่อง “การศึกษาต้นทุนผลกระทบทางสังคมจากการบริโภคเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ในประเทศไทย: การพัฒนาไฟล์ต้นแบบการประเมิน” โดย ผศ.ดร.ธัชนันท์ โกมลไพศาล คณะเศรษฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้เปิดเผยต้นทุนที่เราทุกคนต้องจ่ายให้กับการดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ไม่ว่าจะเป็นด้านสาธารณสุข ที่รัฐจะต้องมีต้นทุนสำหรับการรักษาพยาบาลผู้ป่วยที่เกี่ยวข้องกับเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ทั้งผู้ป่วยในและผู้ป่วยนอก สูงถึง 5,491 ล้านบาท ซึ่งค่อนข้างสอดคล้องกับสถิติที่บอกว่า ประชากรไทยกว่า 2.1 ล้านคน ถูกวินิจฉัยว่าเป็นโรคติดสุรา
นอกจากนี้ ภาวะโรคและการบาดเจ็บของประชากรไทยที่มีสาเหตุมาจากแอลกอฮอล์ก็มีจำนวนไม่น้อยเช่นกัน หนึ่งในปัจจัยที่ชี้ให้เห็นเรื่องนี้คือ ปีสุขภาวะ ซึ่งหมายถึงดัชนีชี้วัดสถานะสุขภาพของประชากรแบบองค์รวม (Disability – Adjusted Life Year: DALY) โดยจะแบ่งออกเป็น 2 ประเภท ได้แก่ ปีสุขภาวะบกพร่องทางสุขภาพ และ ปีสุขภาวะการเสียชีวิตก่อนวัยอันควร โดยมีหน่วยวัดเป็น ปีสุขภาวะ หรือ 1DALY
จากสถิติการสูญเสียปีสุขภาวะของประชากรไทยพบว่า ชายไทยสูญเสียปีสุขภาวะ 6.1 ล้านปี โดยมีสาเหตุหลักมาจากการดื่มเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์ ส่วนการสูญเสียปีสุขภาวะจากการเสียชีวิตก่อนวัยอันควรของชายไทย ก็เกี่ยวข้องกับสถิติการเกิดอุบัติเหตุบนท้องถนน โดยสูญเสียปีสุขภาวะไปถึง 3.6 ล้านปี และดัชนีตัวสุดท้ายคือ การสูญเสียปีสุขภาวะจากภาวะบกพร่องทางสุขภาพของประชากรชายไทย ซึ่งสูงถึง 2.2 ปี ซึ่งก็เป็นผลที่สืบเนืองมาจากการดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์นั่นเอง
นอกจากต้นทุนด้านสาธารณสุขแล้ว อีกด้านที่สังคมไทยต้องจ่ายคือด้านกระบวนการยุติธรรม ทั้งคดีที่เกี่ยวกับเรื่องการบริโภคแอลกอฮอล์ ไม่ว่าจะเป็นเมาแล้วขับหรือชนแล้วหนี ซึ่งก็สอดคล้องกับสถิติปีสุขภาวะของผู้คนที่สูญเสียไปเพราะสาเหตุบนท้องถนน รวมถึงคดีที่เกี่ยวกับกรณีพิพาทอันมีสาเหตุมาจากน้ำเมาด้วย จากรายงานพบว่า ต้นทุนสำหรับกระบวนการยุติธรรมคิดเป็นเงินสูงถึง 242 ล้านบาท ส่วนต้นทุนทางตรงอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องกับความเสียหายที่เกิดจากอุบัติเหตุ อันมีสาเหตุจากการบริโภคเครื่องดื่มแอลกอฮอลล์ ก็สูงถึง 779,407,750 ล้านบาท
อีกหนึ่งปัจจัยที่น่ากังวลคือ ต้นทุนทางอ้อมของผลิตภาพที่สูญเสียไปจากการเสียชีวิตก่อนวัยอันควร อันมีสาเหตุมาจากการบริโภคเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ซึ่งสูงถึง 104,127 ล้านบาท เพราะเราต้องอย่าลืมว่า ประเทศไทยกำลังก้าวเข้าสู่สังคมสูงวัย (aging society) ผู้ที่เสียชีวิตก่อนวัยอันควรจึงหมายถึงกำลังแรงงานที่สามารถสร้างผลิตผลในการผลิตอย่างต่อเนื่องลดลงไปด้วย และนับเป็นการสูญเสียโอกาสของสังคมเช่นกัน งานวิจัยเผยว่า ต้นทุนที่สังคมต้องแบกรับจากการที่ผลิตภาพ (productivity) ในการทำงานของบุคคลลดลง เนื่องจากการบริโภคแอลกอฮอล์ มีมูลค่า 45,464.6 ล้านบาท เพราะการทำงานเพื่อผลิตภาพจะต้องทำอย่างต่อเนื่อง แต่การบริโภคแอลกอฮอล์ทำให้ประสิทธิภาพในการทำงานลดลงนั่นเอง
ข้อค้นพบที่น่าสนใจอีกข้อหนึ่งคือ ครัวเรือนไทยกว่า 70% มีผู้ดื่มแอลกอฮอล์ครัวเรือนละ 1 คน หรือพูดให้ง่ายกว่านั้น ถ้ามีครอบครัวจำนวน 100 ครอบครัว จะมี 70 ครอบครัวที่มีนักดื่มอยู่ในบ้าน และเกือบครึ่งหนึ่งของครัวเรือนมีสมาชิกในครอบครัวเป็นกลุ่มนักดื่มประจำอย่างน้อย 1 คน ทำให้โดยสรุปแล้ว ครอบครัวชาวไทยกว่า 70 % มีส่วนในการสร้างต้นทุนที่สังคมไทยจะต้องจ่าย
จะเห็นว่า แม้การดื่มเหล้าจะเป็นเรื่องส่วนบุคคล แต่การดื่มเหล้า ‘มาก’ เกินไปจนกระทั่งเมา ป่วย หรือติดสุรา ย่อมสร้างผลกระทบและสร้างต้นทุนในสังคมอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ ไม่ว่าจะเป็นด้านสาธารณสุข กำลังแรงงาน หรือการพัฒนาเศรษฐกิจ ผู้ดื่มจึงจำเป็นต้องพิจารณาให้ถี่ถ้วน ก่อนจะตัดสินใจดื่มแอลกอฮอล์สักแก้ว เพื่อไม่ให้สังคมของเราต้องแบกรับ ‘ต้นทุน’ มหาศาลนี้ต่อไป
-2-
เพราะ ‘การดื่ม’ ส่งผลกับครัวเรือน
อย่างไรก็ตาม ไม่เพียงแต่สังคมที่ได้รับผลกระทบจากการดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ แต่ครัวเรือนก็ได้รับผลกระทบและมีต้นทุนที่ต้องจ่ายเช่นกัน
จากงานวิจัยว่าด้วยผลกระทบจากการดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ที่มีต่อครัวเรือนไทย โดยศูนย์วิจัยปัญหาสุรา ได้แบ่งต้นทุนทางเศรษฐศาสตร์ออกเป็น 2 ประเภท ได้แก่ (1) ต้นทุนค่าใช้จ่ายที่มาจากการดื่มสุรา ซึ่งเป็นค่าใช้จ่ายทางตรง กล่าวคือ ทันทีที่เราตัดสินใจเดินออกจากบ้าน (ด้วยระยะเวลาเฉลี่ย 4.5 นาที) ไปยังร้านสะดวกซื้อหรือร้านค้าที่ใกล้บ้านที่สุดเพื่อหาซื้อเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ เท่ากับว่า ต้นทุนทางเศรษฐศาสตร์แบบทางตรงได้ถูกจ่ายไปแล้ว
ส่วนต้นทุนอีกแบบคือ (2) ต้นทุนค่าใช้จ่ายที่เกิดจากผลกระทบอย่างเฉียบพลันในกรณีที่เกี่ยวข้องกับแอลกอฮอล์ เช่น อุบัติเหตุที่เกิดจากการเมาแล้วขับ ซึ่งจะก่อให้เกิดต้นทุนด้านการรักษาพยาบาล หรือหากมีพฤติกรรมความรุนแรงหรือการเสียชีวิตเกิดขึ้น ก็จะก่อให้เกิดต้นทุนที่ต้องเสียไปเช่นเดียวกัน
งานวิจัยดังกล่าวเลือกมองปัญหาการดื่มแอลกอฮอล์ในระดับ ‘ครัวเรือน’ โดยเชื่อว่า สุราเป็นเรื่องในระดับครัวเรือนมากกว่าจะเป็นแค่ปัญหาในระดับปัจเจก เพราะผู้ดื่ม 1 คน สามารถเพิ่มระดับความเสี่ยงต่อครัวเรือนได้มากถึง 20-40 เท่า เท่ากับว่า ครัวเรือนกลายเป็นหน่วยที่ต้องรับความเสี่ยงจากการดื่มแอลกอฮอล์อย่างเลี่ยงไม่ได้ แต่ในขณะเดียวกัน หน่วยครัวเรือนที่อยู่ใกล้ชิดผู้ดื่มมากที่สุด ก็เป็นผู้ที่สามารถป้องกันการดื่มแอลกอฮอล์ได้ดีที่สุดเช่นกัน จึงมีข้อเสนอเชิงนโยบายของงานวิจัยที่เสนอว่า เมื่อหน่วยครัวเรือนเป็นทั้งหน่วยที่มีความสัมพันธ์ใกล้ชิดนักดื่มที่สุด และมีความเสี่ยงที่สุด ดังนั้น หากต้องมีการดูแลรักษาบำบัด ก็จะต้องทำในระดับครัวเรือนด้วย
นอกจากนี้ งานวิจัยยังทำลายมายาคติที่เราได้ยินกันซ้ำไปซ้ำมาว่า ‘โง่ จน เจ็บ’ หรือความคิดที่ว่า การดื่มแอลกอฮอล์สัมพันธ์กับฐานะของผู้ดื่ม เพราะตัวงานวิจัยไม่พบความแตกต่างที่ชัดเจนระหว่างระดับรายได้กับสาเหตุที่เริ่มดื่ม หรือเท่ากับว่า ฐานะของครัวเรือนไม่ได้มีผลต่อการตัดสินใจดื่มแอลกอฮอล์เสมอไป เพราะไม่ว่าจะชนชั้นไหน หากดื่มเหล้าอย่างขาดสติและปราศจากการตระหนักรู้ ก็ย่อมสร้างผลกระทบให้กับสังคมได้เช่นกัน
ดังนั้น ถ้าคุณคิดอยากดื่มเหล้า ลองพิจารณาอย่างถี่ถ้วนสักนิด ควบคุมสติตัวเองให้ดี ก่อนที่จะแอลกอฮอล์จะกลายเป็นฝ่ายดื่มเราแทน
เกร็ดเล็กเกร็ดน้อย
จากรายงานสถานการณ์การบริโภคเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ในสังคมไทยประจำปี 2560 ที่ได้ทำการสำรวจและสุ่มเลือกกลุ่มตัวอย่างที่มีอายุ 15 ปีขึ้นไป จากพื้นที่กรุงเทพฯ ภาคกลาง ภาคเหนือ ภาคใต้ และภาคตะวันออกเฉียงเหนือ พบว่า ประชากรไทยตั้งแต่ 15 ปี ขึ้นไป จำนวน 55.9 ล้านคน มีผู้ที่ไม่เคยดื่มสุราเลย 57.8 % ดื่มแล้วเลิกแล้ว 14.41 % และยังดื่มสุราอยู่จนถึงปัจจุบัน 28.41 % ขณะที่ภาคซึ่งมีนักดื่มมากที่สุดคือภาคเหนือ คิดเป็น 35.40% และภาคที่มีนักดื่มน้อยที่สุดคือภาคใต้ คิดเป็น 16.05%
ขณะที่ถ้าเราแยกดูสถิติโดยใช้เพศของนักดื่มเป็นเกณฑ์ จะพบว่า เพศหญิงจะดื่มเบียร์บ่อยที่สุด ส่วนเพศชายและผู้ที่มีอายุ 45 ปีขึ้นไปเลือกดื่มสุรา โดยเฉพาะกลุ่มเหล้าขาว เหล้าแดง วิสกี้ และบรั่นดี โดยนักดื่มทั้งหมดในปัจจุบันจะดื่มเอธานอลบริสุทธิ์เฉลี่ยอยู่ที่ 8.22 ลิตรต่อคนต่อปี และส่วนมาก (71.66%) จะซื้อเครื่องดื่มแอลกอฮอลล์จากร้านขายของชำ
บทความอ่านเพิ่มเติม:
อ่านบทสัมภาษณ์ ผศ.ดร.ธัชนันท์ โกมลไพศาล เจ้าของงานวิจัย ‘การศึกษาต้นทุนผลกระทบทางสังคมจากการบริโภคเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ในประเทศไทย: การพัฒนาไฟล์ต้นแบบการประเมิน’ ได้ ที่นี่
และหากคุณสนใจเจาะลึกเรื่อง ‘เหล้า’ กับ ‘โครงสร้างสังคม’ พร้อมกับการทำลายมายาคติ ‘โง่ จน เจ็บ’ ในสังคมไทย เราขอแนะนำให้คุณอ่านบทสัมภาษณ์ ‘จะเด็จ เชาวน์วิไล : เพราะเหล้าเป็นเรื่องเชิงโครงสร้าง’ ได้ ที่นี่
ที่มา:
จับตา: ค่าใช้จ่ายครัวเรือนจากการดื่ม ‘แอลกอฮอล์’-สถานการณ์คนไทยติดสุรา 2.1 ล้านคน
รายงานสถานการณ์การบริโภคเครื่องดื่มแอลกอฮอลล์ในสังคมไทยประจำปี 2560: ต้นทุนทางเศรษฐศาสตร์ ที่ว่าด้วยผลกระทบจากการดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอลล์ที่มีต่อครัวเรือนไทย โดย ศูนย์วิจัยปัญหาสุรา
เรื่องและภาพ: ทีมงาน Alcohol Rhythm