ลดการดื่มช่วยรักษ์โลกได้อย่างไร? – สำรวจผลกระทบของเหล้าเบียร์ต่อสิ่งแวดล้อม

June 8, 2021


อย่าลืมถุงผ้า’ กลายเป็นคำที่เมื่อออกจากบ้านต้องนึกถึงอยู่ร่ำไป เมื่อห้างสรรพสินค้าส่วนใหญ่งดแจกถุงพลาสติก ดังนั้น นอกเหนือจากเงินแล้ว สิ่งที่ขาดไม่ได้คงจะเป็นถุงผ้าคนละใบสองใบ เพราะถ้าพลาด อาจจะต้องแบกของหนักอย่างทุลักทุเล หรือต้องเสียเงินเพิ่มจากการซื้อถุงหน้าเคาน์เตอร์

เช่นเดียวกับร้านกาแฟชื่อดังที่งดใช้หลอดพลาสติก และเปลี่ยนมาใช้หลอดกระดาษ, เทรนด์การรับประทานอาหารจำพวกพืชแปรรูปแทนเนื้อสัตว์ และอื่นๆ อีกมากมาย ปัจจุบันเราเห็นพฤติกรรมและการรณรงค์ ‘ช่วยโลก’ หลากหลายรูปแบบ เพื่อรักษาระบบนิเวศ สิ่งแวดล้อม ภูมิอากาศอย่างยั่งยืนส่งต่อไปถึงคนรุ่นลูกหลาน ทว่า ผู้คนส่วนใหญ่มักรับรู้ข้อมูลแค่เรื่องผลกระทบจากอาหารที่เรากิน วิธีที่เราเดินทาง เสื้อผ้าที่เราซื้อ โดยที่ยังไม่รู้ว่าเครื่องดื่มประจำงานปาร์ตี้อย่างแอลกอฮอล์ประเภทต่างๆ ก็ส่งผลสิ่งแวดล้อมอย่างมากเช่นกัน  

 

เหล้า-เบียร์ กับร่องรอยผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม

 

น้อยคนนักที่จะรู้ว่า ‘ทุกขั้นตอน’ ของการผลิตเครื่องดื่มแอลกอออล์มีร่องรอยผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมปรากฎอยู่ ซึ่งอาจนำไปสู่ปัญหาทั้งแง่ตัวบุคคลและส่วนรวม 

เริ่มตั้งแต่ขั้นตอนการปลูกวัตถุดิบ ขณะที่การปลูกพืชเพื่อผลิตแอลกอฮอล์ต้องใช้ที่ดินจำนวนมหาศาล กลับมีข้อมูลปรากฏว่าที่ดินเพื่อปลูกพืชผลิตอาหารบนโลกนั้นกลับมีอัตราลดลง เราปลูกข้าวและมันฝรั่งเพื่อผลิตเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ แต่กลับหมางเมินความเป็นจริงที่ว่าประชากรโลกกำลังเติบโต ต้องการอาหารเพิ่มขึ้น และยังมีคนอีกหลายกลุ่มในหลายประเทศทั่วโลกยังคงขาดแคลนอาหาร 

ไม่เพียงแต่ที่ดินที่หายาก น้ำประปาก็เป็นสิ่งสำคัญที่หายากเช่นกัน เมื่อเกิดการบริโภคแอลกอฮอล์ทั่วโลกเพิ่มขึ้น ความต้องการใช้น้ำสำหรับการปลูกวัตถุดิบ หรือกระบวนการผลิตแอลกอฮอล์จึงเพิ่มขึ้นตามๆ กัน มีการประมาณการว่าการผลิตเบียร์ 500 มิลลิลิตร ต้องใช้น้ำ 148 ลิตร  ส่วนไวน์ 125 มิลลิลิตร ต้องใช้น้ำ 110 ลิตร จึงอาจกล่าวได้ว่าแอลกอฮอล์เป็นสินค้าที่กระหายน้ำอย่างแท้จริง

นี่ยังไม่รวมถึงการแพ็กของและการขนส่ง การผลิตบรรจุภัณฑ์ของเครื่องดื่มแอลกอฮอล์อย่างขวดหรือกระป๋อง รวมถึงการรักษาเย็นของเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ก็มีต้นทุนด้านสิ่งแวดล้อม แม้ว่าตอนนี้จะมีการรีไซเคิลกระป๋องอลูมิเนียมและขวดแก้วอย่างชัดเจน แต่ในประเทศอังกฤษและอเมริกาก็ยังพบว่า ร้อยละ 50 ของขยะประเภทบรรจุภัณฑ์แอลกอฮอล์ถูกฝังกลบมากกว่านำไปรีไซเคิล — อย่างน้อยก็มีกระป๋องกว่า 5 หมื่นล้านกระป๋องที่เป็นเช่นนั้น และถ้านำไปเข้ากระบวนการทำลาย ก็ต้องผ่านกระบวนการที่ปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์จำนวนมาก เช่นเดียวกับการขนส่งที่ปลดปล่อยก๊าซเหล่านี้จำนวนมหาศาล โดยข้อมูลจากสมาคมผู้ค้าส่งเบียร์แห่งอเมริกาฯ ระบุว่า อุตสาหกรรมเบียร์อเมริกาส่งสินค้าถึง 2.8 พันล้านรายในปี 2561 เป็นงานที่ต้องใช้พลังงานและเชื้อเพลิง ทั้งในการทำความเย็นและการขนส่ง ทำให้เกิดการปล่อยคาร์บอนไดออกไซด์เป็นจำนวนมาก ซึ่งอาจก่อให้เกิดปรากฏการณ์เรือนกระจกที่เลวร้ายยิ่งขึ้น

เอาเป็นว่าโดยรวมแล้ว เราอาจกล่าวได้ว่ายิ่งเครื่องดื่มมีแอลกอฮอล์สูงเท่าไหร่ ยิ่งสร้างผลกระทบต่อโลกมากขึ้นเท่านั้น 

 

สะท้อนปัญหาน้ำเสีย&ดินเสีย ผ่าน ‘เตกีลา’

 

อีกหนึ่งเรื่องเล่าเรื่องผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมที่น่าสนใจคือการผลิต ‘เตกีลา’ หลายคนอาจไม่เคยรู้เลยว่าเตกีลาผลิตได้ในเม็กซิโกเท่านั้น มันเป็นเครื่องดื่มที่มาพร้อมกับการเฉลิมฉลองในครอบครัวและวันหยุดประจำชาติ โดยเตกีลามีแอลกอฮอล์อยู่ประมาณ 38% ผลิตจากการหมักและกลั่นน้ำตาลจากพืชที่มีใบแหลมหนาที่เรียกว่า Agave tequilana Weber หรือ blue agave ซึ่งมีถิ่นกำเนิดที่เม็กซิโก 

เม็กซิโกนั้นมีโรงงานเตกีลา 118 แห่งและมีแบรนด์เตกีลาถึง 715 แบรนด์ หากนับตั้งแต่เดือนมกราคมถึงเดือนเมษายนโรงงานเหล่านี้ผลิตเตกีลาได้ถึง 48 ล้านลิตร 

แต่การผลิตเตกีลา 1 ลิตรต้องใส่น้ำอย่างน้อย 10 ลิตร ซึ่งผลเสียไม่ได้จำกัดอยู่เพียงใช้ปริมาณน้ำจำนวนมากเท่านั้น แต่ยังก่อให้เกิดน้ำเสียที่ไม่ผ่านกระบวนการบำบัดก่อนปล่อยทิ้งสู่พื้นที่โดยรอบ จนกลายเป็นกากอุตสาหกรรมในพื้นดินและในแม่น้ำข้างเคียง

พร้อมๆ กันนั้น พืชผลส่วนใหญ่ที่ใช้ผลิตเตกีลามักฉีดสารกำจัดศัตรูพืชเพื่อปรับปรุงผลผลิตและลดโรคต่างๆ  นับว่าเป็นการใช้ทรัพยากรธรรมชาติอย่างหนัก และสามารถก่อให้เกิดมลพิษทางน้ำในระดับท้องถิ่น เพราะสารเคมีในน้ำยากำจัดศัตรูพืชอาจจะไหลเข้าไปสู่แหล่งน้ำบริเวณใกล้เคียงเช่นกัน 

ยิ่งไปกว่านั้น เมื่อเตกีลาทุกลิตรบรรจุลงขวด จะมีการใช้เยื่อหางจระเข้ 5 กิโลกรัม และเกิดกากที่เหลือจากการกลั่น 7-10 ลิตร เรียกว่า Vinaza โดย Vinaza นั้นเป็นกรดที่มีน้ำมัน ทำให้ดินไม่สามารถเกิดการซึมผ่านแล้วจำพวกแร่ธาตุ น้ำ ไม่สามารถไหลลงดินได้ นั่นแปลว่ากรดที่มีน้ำมันพวกนี้ไม่มีประโยชน์ในการทำฟาร์มหรือเกษตรกรรม

ทั้งนี้ ส่วนของน้ำมันจะทำให้ดินแข็ง โดยบริเวณที่แข็งและแตกออกมา Vinaza จะปนเปื้อนลงสู่น้ำใต้ดิน โดย Vinaza จำนวน 1 ลิตรสามารถสร้าง BOD สูงถึง 25,000 มิลลิกรัม ถ้าดูจากมาตรฐานในประเทศไทยนั้น  กำหนดให้โรงงานอุตสาหกรรม มีการปล่อยค่า BOD ได้ไม่เกิน 20 มิลลิกรัมต่อลิตรเท่านั้น 

(*ค่า BOD คือ ปริมาณการใช้ออกซิเจนในการย่อยสลายสารอินทรีย์ ถ้ามันมีการค่า BOD สูง แสดงว่าน้ำมีสารอินทรีย์จำนวนมาก = น้ำเสียมาก) 

นอกจากนี้ ยังมีข้อมูลระบุว่า ทุกๆ ลิตรของการผลิตเตกีลา ก่อให้เกิดเยื่อกระดาษ 5 กิโลกรัม และขยะเปียกที่เป็นกรด 11 ลิตร ทั้ง 2 อย่างนี้ทำให้ดินและน้ำในเม็กซิโกเกิดการปนเปื้อน เมื่อคิดถึงการจัดจำหน่ายออกไปทั่วโลก ที่ใช้พลังงานจำนวนมากในการขนส่ง การผลิตเครื่องดื่มชนิดนี้ก็น่าจะก่อให้เกิดความเสียหายต่อสิ่งแวดล้อมไม่น้อยเลยทีเดียว

 

ทางออกอยู่ที่ไหน ถ้าจะทำให้เราดื่มแบบรักษ์โลก

 

ถ้าเราเริ่มต้นแก้ปัญหาด้วยการดื่มเครื่องแอลกอฮอล์ให้น้อยลง การมีนโยบายรัฐที่เอื้ออำนวยความสะดวกเรื่องการเข้าถึงข้อมูลก็เป็นสิ่งที่จำเป็น เช่น นโยบายอาจกำหนดให้ผู้ผลิตให้ข้อมูลแก่ผู้บริโภคเกี่ยวกับร่องรอยคาร์บอนไดออกไซด์ เพื่อให้ผู้บริโภคอย่างพวกเราสามารถตัดสินใจในการดื่ม และสิ่งนี้จะเป็นแรงจูงใจให้กับอุตสาหกรรมที่ผลิตเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ลดต้นทุนทางด้านสิ่งแวดล้อมในทุกขั้นตอน ตั้งแต่ขั้นตอนการผลิตวัตถุดิบอย่างพืชผลไปจนถึงการบรรจุผลิตภัณฑ์

แต่เพราะในปัจจุบันยังไม่มีนโยบายใดๆ ถูกประกาศออกมา ดังนั้น ในฐานะผู้บริโภคก็มีวิธีง่ายๆ ที่คุณเลือกดื่มได้ โดยเป็นเพื่อนที่แสนดีต่อสิ่งแวดล้อมด้วย นั่นคือ 

– ใช้ระบบขนส่งสาธารณะไป-กลับ จากบาร์หรือสถานที่ดื่ม และถ้าตนเองเป็นคนขับรถ ต้องแน่ใจว่ามีสติมากพอแล้วจะไม่มีวันทำผิดกฎจราจรบนท้องถนน

– มั่นใจว่ารีไซเคิลขวดและกระป๋องทุกครั้งที่ดื่ม รวมถึงมองหาถังเบียร์หรือไวน์ออร์แกนิกที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม

– ถ้าเป็นไปได้มองหาตัวเลือกการเติมเครื่องดื่มมากกว่าที่จะซื้อเครื่องดื่มบรรจุภัณฑ์ใหม่ 

– สนับสนุนเบียร์หรือเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม เช่น ไวน์หรือเหล้าในท้องถิ่น

 

 


 

ที่มา : 1) https://www.independent.co.uk/climate-change/opinion/alcohol-climate-crisis-environment-b1812946.html 

2) https://www.blueland.com/articles/alcohols-impact-on-the-environment

3) http://www.ipsnews.net/2009/08/tequila-leaves-environmental-hangover/ 

 

เรื่องและภาพ: ทีมงาน Alcohol Rhythm

 

Related Articles