นานมาแล้ว นักเขียนนวนิยายจีนชื่อดัง ‘โกวเล้ง’ เคยกล่าวไว้ว่า “ข้าพเจ้ามิได้นิยมชมชอบในรสชาติของสุรา แต่ข้าพเจ้าชอบบรรยากาศของการร่ำสุรา”
บรรยากาศการร่ำสุราของโกวเล้งน่าอภิรมย์แค่ไหนคงไม่มีใครรู้ดีไปกว่าเจ้าตัว แต่ด้วยความชื่นชอบบรรยากาศนี้เอง ทำให้โกวเล้งกลายเป็นนักดื่มสุราตัวยง จนประสบภาวะตับแข็งและเสียชีวิตในวัย48 ปี
คนจากไป ทิ้งไว้เพียงประโยคอมตะ กระทั่งบัดนี้ผู้คนจำนวนไม่น้อยยังคงเห็นด้วยกับคำของเขา ‘บรรยากาศ’ คือปัจจัยสำคัญอย่างยิ่งในการดื่ม ยิ่งบรรยากาศดีเท่าไร เหล้าเองก็จะดื่มได้คล่องคอขึ้นเท่านั้น จึงไม่ใช่เรื่องน่าแปลกใจหากร้านนั่งดื่มส่วนใหญ่มักสร้าง‘บรรยากาศ’ ที่เหมาะกับการดื่ม และสิ่งที่นิยมใช้มากที่สุดคือ ‘เสียงเพลง’
ในทางวิทยาศาสตร์ หลายคนอาจจะไม่รู้ว่าเพลงมีผลต่อพฤติกรรมการดื่มสุราอย่างไม่น่าเชื่อ มันอาจทำให้คุณยกแก้วดื่มเยอะกว่าที่ตั้งใจหรือเผลอไผลสั่งเครื่องดื่มแอลกอฮอล์หลังฟังจบ
Alcohol Rhythm เปลี่ยนจังหวะชีวิตคนติดเหล้า ขอพาคุณไปฟังอีกหนึ่งผลลัพธ์ที่ซ่อนอยู่ท่ามกลางความไพเราะของบทเพลง ว่าระดับความดังส่งผลต่อปริมาณการดื่มของคุณอย่างไร เนื้อเพลงแบบไหนที่ทำให้คุณอยากดื่ม หรือเพลงประเภทใดทำให้พฤติกรรมการดื่มของคุณผิดแปลกไป
ยิ่งเปิดเพลงดัง ยิ่งอยากดื่มเหล้า
หนึ่งในเอกลักษณ์ของร้านนั่งดื่มหลายแห่งคือเสียงเพลงดังกระหึ่มเร้าใจ เชิญชวนให้นักท่องราตรีลุกขึ้นมาวาดลวดลายบนฟลอร์ เพิ่มความสนุกให้กับการสังสรรค์ยามค่ำคืน
แต่เสียงเพลงที่ดังจนเกินไป นอกจากเป็นอันตรายต่อโสตประสาทแล้ว ยังมีผลข้างเคียงทำให้คนฟังรู้สึกอยากดื่มแอลกอฮอล์เพิ่มขึ้นอีกด้วย
ข้อเท็จจริงดังกล่าวถูกเปิดเผยครั้งแรกในรายงาน “Alcoholism: Clinical & Experimental Research” จากมหาวิทยาลัย Université de Bretagne-Sud เมื่อปี 2008 นำโดยศาสตราจารย์ด้านพฤติกรรมศาสตร์ Nicolas Guéguen ซึ่งได้ทำการทดลองให้เจ้าของบาร์เปิดเพลงด้วยระดับความดังที่ต่างกัน เพื่อสังเกตและเปรียบเทียบพฤติกรรมการดื่มของลูกค้าชายจำนวน 40 คน หลังฟังเพลงทั้งสองแบบ
พวกเขาสุ่มเปิดเพลงในระดับความดัง 72 เดซิเบล ซึ่งกำหนดเป็นความดังมาตรฐาน และ 88 เดซิเบล ซึ่งถือเป็นความดังระดับสูง จนพบว่าลูกค้าเหล่านั้นดื่มเหล้ามากขึ้นและเร็วขึ้นเมื่อได้ฟังเพลงที่เสียงดังยิ่งขึ้น
Nicolas Guéguen อธิบายว่า พฤติกรรมดังกล่าวเชื่อมโยงกับงานวิจัยที่มีมาก่อนหน้า ว่าด้วยเรื่องเพลงเสียงดังๆ สามารถกระตุ้นให้ร่างกายรู้สึกตื่นตัว อยากกินหรืออยากดื่มมากขึ้น ลูกค้าในบาร์จึงมีแนวโน้มดื่มเหล้าเร็วขึ้นและสั่งเหล้ามากขึ้นหลังได้ฟังเพลงเสียงดัง ขณะเดียวกัน เป็นเพราะเสียงเพลงที่ดังจนเกินไปทำให้คนไม่สามารถสื่อสารกันได้อย่างสะดวก พวกเขาจึงเลือกคุยกันน้อยลงและหันไปใช้เวลากับการดื่มเหล้าแทน
ผลของการวิจัยนี้ยังถูกนำไปต่อยอดในภายหลังโดย ดร.Lorenzo Stafford นักจิตวิทยาจาก University of Portsmouthโดยเขาให้ผู้ร่วมทดลองประเมินรสชาติของสุราเมื่อดื่มในสภาพแวดล้อมปกติ ไปจนถึงสภาพแวดล้อมซึ่งเต็มไปด้วยเสียงเพลงดังๆ เหมือนอยู่ในคลับ
ผลปรากฏว่าผู้ร่วมทดลองต่างประเมินให้เหล้ามีรสชาติ “หวาน” มากที่สุดเมื่อได้ดื่มท่ามกลางเสียงเพลง
แม้ว่าคณะผู้วิจัยจะพยายามทดลองด้วยการใช้เสียงอื่นๆ เช่น เสียงรายงานข่าว ซึ่งดังในระดับเดียวกัน แต่ผู้ร่วมทดลองยังคงรู้สึกว่าเหล้า “ขม” เหมือนปกติ มีเพียงเสียงเพลงเท่านั้นที่สามารถกระตุ้นให้พวกเขารับรู้รสชาติผิดไปจากเดิม นี่อาจเป็นอีกสาเหตุหนึ่งว่าเหตุใดผู้คนจึงชอบไปดื่มกันในร้านที่มีเสียงเพลงดังๆ
เพราะนอกจากได้เต้นไปตามจังหวะมันๆ เขาคงรู้สึกว่าเหล้าร้านนั้น “อร่อย” ก็เป็นได้
นึกถึงเหล้าหลังเราได้ยินเนื้อเพลง
ไม่เพียงแต่ระดับความดังของเสียงเพลงเท่านั้นที่มีผลต่อการดื่ม หากเนื้อเพลงบางท่อนยังสามารถทำให้หลายคนเลิกล้มความตั้งใจงดดื่มเหล้า (อย่างน้อยก็ในคืนนี้) ได้ง่ายๆ
ดร. Rutger Engels จากสถาบันด้านพฤติกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัย Radboud ประเทศเนเธอร์แลนด์ ค้นพบความจริงข้อนี้จากการวิจัย โดยเขาให้บาร์สามแห่งทดลองเปิดเพลงสองประเภท ประเภทแรกเป็นเพลงที่มีเนื้อหากล่าวถึงเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ส่วนอีกประเภทเป็นเพลงที่มีจังหวะเร้าอารมณ์และเนื้อหาปลุกใจ แต่ไม่ระบุถึงแอลกอฮอล์
หลังผ่านพ้นไป 23 คืน พวกเขาพบว่า เมื่อบาร์เทนเดอร์เปิดเพลงที่มีเนื้อหาเกี่ยวกับแอลกอฮอล์ ลูกค้าจะสั่งเครื่องดื่มมึนเมาเพิ่มขึ้น เมื่อเปรียบเทียบกับการฟังเพลงที่ไม่มีเนื้อหาอ้างถึงเครื่องดื่มเหล่านั้น นั่นแสดงให้เห็นว่า การฟังเนื้อเพลงที่พูดถึงเหล้าและการดื่มเหล้าได้โน้มน้าวให้คนนึกถึงและรู้สึกอยากดื่มมากขึ้น
ยิ่งไปกว่านั้น เพลงที่มีเนื้อหาดังกล่าวยังได้รับความนิยมโดยที่คนอาจไม่ทันตระหนัก อ้างอิงโดยงานสำรวจจากมหาวิทยาลัย Northwestern พบว่าร้อยละ 22.4 ของเพลงยอดนิยมติดชาร์ต Billboard’s Hot 100 ช่วงปี 2007-2016 คือเพลงที่มีเนื้อหากล่าวถึงเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ โดยแนวเพลงที่กล่าวถึงมากที่สุดคือ ฮิป-ฮอป รองลงมาคือแนว คันทรี่ แรป อิเล็กโทรนิกส์ และ แดนซ์ ตามลำดับ

ด้านเพลงไทยเอง ก็มีศิลปินหลายคนแต่งเพลงเกี่ยวกับการดื่มอยู่มากมายหลากหลายแนว ทั้งเพลงลูกทุ่ง เช่น “เหล้าจ๋า” ของสุชาติ เทียนทอง “ผู้สาวขี้เหล้า” ของเมย์ จิราพร ทั้งเพลงป๊อบอย่าง “หมดแก้ว” ของ The Parkinson หรือเพลงร็อคแบบ “ดื่ม” ของThe Yers
สิ่งที่น่าสังเกตอีกข้อหนึ่งคือ เพลงที่อ้างถึงเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ส่วนใหญ่มักนำเสนอภาพการดื่มในเชิงบวก และสร้างภาพจำเกี่ยวกับค่านิยมการดื่ม เป็นต้นว่าเหล้าคือเพื่อนที่ดี ไม่ว่าเศร้า ผิดหวัง อกหัก ต้องดื่มเหล้าย้อมใจ ค่านิยมเหล่านี้อาจทำให้คนเห็นเหล้าเป็นทางออกของปัญหาหรือเครื่องมือเยียวยาจิตใจโดยไม่ทันตระหนักถึงแนวทางอื่น รวมถึงสร้างนักดื่มหน้าใหม่ขึ้นเรื่อยๆ โดยเฉพาะในกลุ่มวัยรุ่น
ดังนั้น บางครั้งการฟังเนื้อหาเพลงดังกล่าวอาจต้องใช้วิจารณญาณเหมือนการรับชมสื่ออื่นๆ เช่นกัน
ดื่มเหล้าเคล้าเพลงคลาสสิก (?)
นอกจากเพลงที่มีเนื้อหาเกี่ยวกับเครื่องดื่มแอลกอฮอล์จะทำให้คนรู้สึกอยากดื่มเพิ่มขึ้นแล้ว เพลงที่มีเพียงการบรรเลงท่วงทำนองอย่างเพลงคลาสสิกก็สามารถทำให้คนดื่มมากกว่าปกติอีกด้วย โดย ดร.Rutger Engelsได้ตั้งคำถามต่อยอดจากงานวิจัยเดิมว่าถ้าเนื้อเพลงมีผลต่อพฤติกรรมการดื่ม แล้วเพลงชนิดใดล่ะ จะมีผลมากที่สุด?
เขาศึกษาด้วยการเชิญกลุ่มผู้ร่วมทดลองมานั่งในบาร์และเปิดเพลงให้ฟังสี่แบบ ทั้งป๊อบ ร็อก แรป และคลาสสิกเป็นเวลากว่า 50 นาที ซึ่งทั้งหมดสามารถสั่งเครื่องดื่มแบบใดก็ได้ ผลปรากฏว่าเมื่อได้ฟังเพลงคลาสสิก ผู้ร่วมทดลองมีแนวโน้มดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์มากกว่าช่วงที่ฟังเพลงชนิดอื่น และมากกว่าปริมาณการดื่มปกติที่เจ้าตัวได้รายงานต่อผู้วิจัยก่อนหน้า ผลกระทบนี้เกิดขึ้นอย่างกว้างขวาง ไม่ขึ้นอยู่กับเพศ อายุ หรือแม้กระทั่งรสนิยมความชอบเสียงเพลงของผู้ดื่ม
อย่างไรก็ตาม ยังไม่มีคำอธิบายแน่ชัดว่าเพลงคลาสสิกก่อให้เกิดผลลัพธ์เช่นนี้ได้อย่างไร คณะผู้วิจัยเพียงสันนิษฐานว่า ผู้เข้าร่วมการทดลองส่วนใหญ่ซึ่งเป็นกลุ่มคนหนุ่มสาว มีแนวโน้มคุ้นชินกับเพลงป๊อบ ร็อก และแรป จึงไม่แปลกใจเมื่อได้ยินเสียงเพลงเหล่านี้ในบาร์ ขณะเดียวกัน เพลงคลาสสิกเป็นสิ่งที่พวกเขาไม่คุ้นและไม่เคยได้ยินจากบาร์ส่วนใหญ่ เมื่อต้องเผชิญหน้ากับสถานการณ์ที่ผิดแปลกไป ทำให้พฤติกรรมการดื่มของพวกเขาแปลกไปจากเดิมด้วย
นอกจากนี้ เพลงคลาสสิกที่มีแต่ทำนองและจังหวะเนิบเนือยอาจทำให้คนฟังวัยรุ่นรู้สึกเบื่อหน่าย หงุดหงิด จนต้องหันไปดื่มแก้เซ็งแทนก็เป็นได้
ทั้งหมดนี้เป็นตัวอย่างของอิทธิพลจากเสียงเพลงในร้านซึ่งทำให้คุณอยากยกเหล้าดื่ม ในด้านหนึ่ง เรื่องนี้เตือนให้เรารู้ว่าอย่าเผลอปล่อยตัวปล่อยใจไปกับบรรยากาศจนเมาภาพตัดอย่างไม่ทันรู้ตัว และยังชี้ให้เห็นด้วยว่าพฤติกรรมของคนเป็นเรื่องซับซ้อน ถึงจะเป็นเรื่องเล็กๆน้อยๆ แต่การดูแลผู้มีปัญหาสุราก็ต้องการความรู้ความเข้าใจใหม่ๆ อยู่เสมอ
ที่มา:
Music And The Effects Of Alcohol. 2008. Available at : https://www.psyarticles.com/substance-misuse/alcohol-music.htm. Accessed July 19, 2019.
Medical Xpress. Alcohol tastes sweeter in noisy environments. 2011. Available at :https://medicalxpress.com/news/2011-12-alcohol-sweeter-noisy-environments.html. Accessed July 19, 2019.
Rutger C. M. E. Engels. 2012. The Effects of Music Genre on Young People’s Alcohol Consumption: AnExperimental Observational Study.Informa Healthcare USA, Inc. p 183-185.
Rutger C. M. E. Engels PhD. 2011. Effect of Alcohol References in Music on Alcohol Consumption in Public Drinking Places. Available at :https://onlinelibrary.wiley.com/doi/abs/10.1111/j.1521-0391.2011.00182.x. Accessed July 19, 2019.
เรื่องและภาพ: ทีมงาน Alcohol Rhythm