การดื่มสุราถือเป็นเรื่องปกติของสังคมไทย โดยคนไทยคุ้นชินกับการดื่มสุรา และมีการดื่มสุราสอดแทรกอยู่ในเกือบทุกงานสังสรรค์ อีกทั้งในบางโอกาส เราปฏิเสธไม่ได้เลยว่าการดื่มสุราจะช่วยให้บทสนทนาลื่นไหลมากขึ้น แต่กระนั้น การดื่มสุราที่จะก่อให้เกิดปัญหาแก่สังคมได้คือ การดื่มสุราที่ ‘มาก’ เกินไป เพราะสุราออกฤทธิ์ต่อสมอง ทำให้ผู้ดื่มที่ดื่มมากเกินไปไม่สามารถควบคุมตัวเองได้ เกิดอาการติด และบ่อยครั้งที่การดื่มสุรามากเกินไปจะนำไปสู่ความรุนแรง และจะนำไปสู่การทะเลาะวิวาทหรือการก่อคดีต่างๆ
จากที่สองบทความแรกในชุด ‘แอลกอฮอล์กับความรุนแรง’ เราได้ศึกษาไปแล้วว่าสุราจะส่งผลกระทบต่อผู้ดื่มที่ดื่มมากเกินไปจนนำไปสู่ความรุนแรงได้อย่างไร ในบทความนี้ เราจะพาคุณไปพบสิ่งที่เป็นเสมือน ‘ผลลัพธ์’ กล่าวคือเมื่อมีความรุนแรงเกิดขึ้น ย่อมมีผู้ได้รับผลกระทบจากความรุนแรงนั้น ไม่ว่าจะเป็นผู้ดื่มเอง หรือคนรอบข้างก็ตาม
Alcohol Rhythm เปลี่ยนจังหวะชีวิตคนติดเหล้า ขอนำเสนอบทความสุดท้ายที่พูดถึงเรื่องแอลกอฮอล์กับความรุนแรง ว่าด้วยผลกระทบของความรุนแรงอันเกิดจากการดื่มสุรามากเกินไป รวมถึงแนวทางการจัดการกับปัญหาความรุนแรงดังกล่าว เมื่ออ่านจบ ลองเหลียวมองรอบตัวสักนิด และดูว่ามีใครที่กำลังได้รับผลกระทบจากความรุนแรงอยู่หรือไม่ เพราะแม้ความรุนแรงอันเกิดจากการดื่มสุรามากเกินไปจะเป็นเรื่องที่เกิดขึ้นบ่อยจนคนเริ่มชาชิน แต่สังคมไม่ควรจะชินชา เพราะไม่มีผู้ใดสมควรจะได้รับผลกระทบจากความรุนแรงทุกรูปแบบแต่อย่างใด
ผลกระทบของการดื่มสุรากับความรุนแรง
ดังที่เรารู้กันว่า การดื่มสุราจะส่งผลต่อผู้ดื่มในด้านต่างๆ ทั้่งทางชีวภาพ ทางจิตใจ และทางด้านครอบครัว สังคม และสิ่งแวดล้อม แต่สุราไม่ได้มีผลกระทบกับตัวผู้ดื่มเท่านั้น แต่ยังส่งผลต่อคนใกล้ชิดของผู้ดื่ม รวมถึงสังคมโดยรวมด้วย
จากการศึกษาของศูนย์วิจัยยาเสพติดแห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย พบว่า ในพื้นที่จังหวัดลพบุรี การดื่มสุรามากเกินไปมีโอกาสก่อให้เกิดปัญหาทะเลาะวิวาท 15% เกิดปัญหาสุขภาพ 11% และเกิดอุบัติเหตุ 8% นอกจากการนี้ จากการศึกษาคดีฆาตกรรมและการถูกทำร้ายทางเพศพบว่า อย่างน้อย 50% มีแอลกอฮอล์เข้ามาเกี่ยวข้อง
1.ผลกระทบต่อผู้ดื่ม
ผลต่อสุขภาพ: เมื่อผู้ดื่มก่อความรุนแรงหรือได้รับความรุนแรงแล้ว ย่อมนำมาซึ่งอาการบาดเจ็บที่ส่วนต่างๆ ของร่างกาย หรือถึงขั้นเสียชีวิต ทั้งนี้ เพราะสุราทำให้ผู้ดื่มขาดความสามารถในการประเมินความเสี่ยงในสถานการณ์ต่างๆ และทำให้ความสามารถในการดูแลตนเองลดลง
ผลต่อการใช้ชีวิต: การดื่มสุรามากเกินไปทำให้เกิดความสูญเสียและความเสียหายในชีวิตได้อย่างมาก เช่น ทำงานหรือเรียนได้ไม่ดีนักจนถูกไล่ออก หรือไปก่อความรุนแรงจนต้องติดคุก หลายคนเกิดความรู้สึกแย่กับตนเองเพราะขาดความภาคภูมิใจ รู้สึกว่าตนเป็นคนล้มเหลว ชีวิตว่างเปล่า และยังส่งผลต่อการใช้ชีวิตในสังคม รวมถึงอาจทำให้ความสัมพันธ์กับคนรอบข้างย่ำแย่ลง
2.ผลกระทบต่อคนใกล้ชิดและครอบครัว
จากการศึกษาพบว่า ผู้ที่มีพฤติกรรมรุนแรงในครอบครัวจะมีส่วนเกี่ยวข้องกับแอลกอฮอล์ โดยผู้ชายจะเกี่ยวข้องกับแอลกอฮอล์คิดเป็น 45% และผู้หญิง 20% อีกทั้งผู้ที่ดื่มและติดแอลกอฮอล์แบบเรื้อรังยังมีแนวโน้มจะก่อความก้าวร้าวรุนแรงมากกว่าผู้ที่ไม่ดื่ม
อีกหนึ่งปัญหาที่เกิดจากการติดแอลกอฮอล์คือปัญหาเรื่องความรุนแรงในครอบครัว จากการวิจัยในต่างประเทศพบว่า 19.2 % ของสามีที่ดื่มสุรามีแนวโน้มทำร้ายภรรยา และมีการประมาณว่า สามีถึงหนึ่งในสี่ที่ทำร้ายภรรยามักจะดื่มสุราก่อนลงมือ ขณะที่ในประเทศไทย งานวิจัยของศูนย์วิจัยยาเสพติดแห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยในพื้นที่ลพบุรี พบว่า ครอบครัวที่มีหัวหน้าครอบครัวหรือคู่สมรสดื่มสุราเป็นประจำ จะมีปัญหาทะเลาะวิวาทจนถึงขั้นทำร้ายร่างกายคิดเป็น 68% และอาจลามไปจนถึงขั้นหย่าร้าง
3.ผลกระทบต่อสังคม
จากการวิจัยเกี่ยวกับปริมาณการดื่มสุรากับความถี่ของการเกิดความรุนแรงพบว่า 34-74% ของผู้ก่อความรุนแรงดื่มสุรา และ 30-79% ของเหยื่อที่ถูกทำร้ายมีการดื่มสุราเป็นสาเหตุร่วม ทั้งนี้ ในคดีของการล่วงละเมิดทางเพศผู้หญิงพบว่า กว่าครึ่งหนึ่งเกี่ยวข้องกับการดื่มสุรา ทั้งในส่วนผู้ทำร้าย และเหยื่อที่ถูกทำร้าย
แล้วเราจะจัดการกับปัญหาความรุนแรงอันเกิดจากการดื่มสุรามากเกินไปได้อย่างไร ?
ดังที่เรารู้กันว่าปัญหาการดื่มสุรามีความซับซ้อนและเกี่ยวพันกับตัวแสดงที่หลากหลาย ดังนั้น ในการจัดการกับปัญหาความรุนแรงที่เกี่ยวพันกับการดื่มสุราจึงแบ่งออกเป็น 3 ระดับ ทั้งระดับต้น ระดับกลาง และระดับปลาย ซึ่งไล่เรียงตั้งแต่การจัดการในระดับครอบครัวและบุคคล ไปจนถึงการจัดการเพื่อป้องกันให้ผู้ติดสุราไม่กลับมาติดซ้ำอีก
ระดับต้น
เป็นระดับที่ป้องกันก่อนจะเกิดปัญหา คือการกำจัดสาเหตุหรือลดปัจจัยเสี่ยงที่จะทำให้เกิดปัญหาความรุนแรงจากการดื่มสุรา โดยการจัดการหรือเพิ่มปัจจัยป้องกันต่อปัญหาความรุนแรง ทั้งในส่วนชีวภาพ จิตใจ สังคมและครอบครัว ซึ่งการป้องกันในระดับต้นจะช่วยลดการเกิดปัญหาได้ ดังนี้
1.ระดับบุคคลและครอบครัว: ส่งเสริมให้ประชาชน ครอบครัว และชุมชน เข้าใจสาเหตุ และตระหนักถึงผลกระทบของปัญหาความรุนแรงที่มาจากการดื่มสุรามากเกินไป ซึ่งจะเป็นการช่วยหาแนวทางป้องกันปัญหา และช่วยให้เกิดการดูแลตัวเองและคนรอบข้างได้มากขึ้น
2.ระดับสังคม เช่น การสรุปแนวทางความรู้ เพื่อนำไปสู่การกำหนดนโยบายที่จริงจังต่อไป
ระดับกลาง
เป็นความพยายามที่จะค้นหาผู้ที่กำลังเริ่มมีปัญหา และให้การรักษาอย่างทันท่วงทีเพื่อลดปัญหาในระยะเวลาอันสั้น โดยประกอบด้วยการรักษาทางกาย ทางจิตใจ และการจัดการกับสังคมและสิ่งแวดล้อม
1.ส่งเสริมให้มีการวินิจฉัยโรคที่ทำให้เกิดการดื่มสุราและความรุนแรง ทั้งในส่วนกาย จิตใจ และสังคม โดยอาศัยความร่วมมือกันในกลุ่มสหวิชาชีพ ทั้งในกลุ่มบุคลากรด้านสาธารณสุข จนไปถึงนักสังคมสงเคราะห์ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการรักษาให้ครบวงจร
2.บังคับรักษาและติดตามผลอย่างจริงจัง รวมถึงสร้างความเข้าใจและความตระหนักรู้ถึงปัญหาให้ผู้ป่วยและครอบครัว ถึงวิธีการดูแลรักษาตนเอง และคนในครอบครัวได้อย่างเหมาะสม
ระดับปลาย
เป็นระดับที่จะป้องกันการเสื่อมสภาพ (disability) และช่วยให้ผู้ดื่มปรับตัวกับสภาพแวดล้อมเพื่อจะเกิดคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น และป้องกันการกลับไปติดสุราซ้ำ โดย
1.ให้คำแนะนำปรึกษาปัญหากับผู้ป่วยและครอบครัวอย่างทั่วถึง รวมถึงอาจจะมีการตั้งกลุ่มบำบัดดูแลกันเองของคนในชุมชน
2.ฟื้นฟูสมรรถภาพทั้งทางกายและใจ เพื่อบำบัดรักษาฟื้นฟูในการช่วยให้ผู้ป่วยได้กลับไปใช้ชีวิตปกติของตนเอง รวมถึงมีการติดตามผลที่มีประสิทธิภาพและต่อเนื่อง
3.ครอบครัวและชุมชนควรจะเปิดใจและทำความเข้าใจกับผู้ที่เคยติดสุราเรื้อรัง ปฏิบัติต่อเขาด้วยความมีไมตรีจิตและความเข้าใจ รวมถึงอาจเข้ามาช่วยปรับสภาพแวดล้อมเพื่อลดการกระตุ้นให้อดีตผู้ติดสุรากลับไปดื่มสุราอีกครั้ง
ของทุกสิ่งในโลกนี้ย่อมมีทั้งประโยชน์และโทษ สุราเองก็เช่นกัน ในบางเวลา น้ำสีอำพันขวดหนึ่งสามารถเป็นเครื่องดื่มที่ไว้ใช้ในงานสังสรรค์ และไว้ช่วยให้การสนทนารวมถึงการเข้าสังคมเป็นไปอย่างลื่นไหลมากขึ้น แต่เมื่อใดก็ตามที่ผู้ดื่มไม่ได้ดื่มสุรา แต่ปล่อยให้สุราดื่มตนเองแล้ว การดื่มสุราที่มากเกินไปก็ย่อมจะนำมาซึ่งปัญหามากมาย ทั้งต่อตัวผู้ดื่มและตัวคนรอบข้างเอง ดังนั้น นอกจากการทำความเข้าใจกับปัจจัยต่างๆ ที่จะก่อให้เกิดความรุนแรงได้แล้ว อีกหนึ่งสิ่งที่จำเป็นอย่างยิ่งคือ การศึกษาถึงผลกระทบของความรุนแรงจากการดื่มสุรามากไป รวมถึงรู้วิธีการจัดการกับปัญหาความรุนแรงที่มีประสิทธิภาพ เพื่อจะช่วยประคับประคองให้ผู้ดื่มสุราสามารถจัดการกับปัญหาดังกล่าวได้ และกลับมาเป็นคนดีที่น่ารักของสังคมได้ดังเดิม
อ่านบทความในชุดแอลกอฮอล์กับความรุนแรง ‘ทำไมแอลกอฮอล์ถึงมักนำไปสู่ความรุนแรง? (1)’ ที่นี่ / ‘ทำไมแอลกอฮอล์ถึงมักนำไปสู่ความรุนแรง? (2)’ ที่นี่
เรื่องและภาพ: ทีมงาน Alcohol Rhythm