ในยุคสมัยที่สังคมถูกครอบงำด้วยวัฒนธรรมชายเป็นใหญ่ ผู้หญิงถูกจำกัดให้อยู่กับเหย้าเฝ้ากับเรือน ถูกลิดรอนสิทธิและโอกาส ทั้งทางการศึกษา หน้าที่การงาน.. หรือแม้กระทั่งการดื่มสุรา
ขณะที่ผู้ชายดื่มเหล้าสังสรรค์กับมิตรสหายจนกลายเป็นเรื่องปกติ ผู้หญิงกลับไม่สามารถดื่มโดยปราศจากการถูกตีตราและตำหนิติเตียน ดังนั้น เมื่อทั่วโลกตระหนักถึงความเท่าเทียมทางเพศมากขึ้น เกิดการต่อสู้เพื่อสิทธิสตรีมากขึ้น การดื่มเหล้าของผู้หญิงจึงกลายเครื่องมือหนึ่งซึ่งใช้ต่อต้านระบบปิตาธิปไตย
Alcohol Rhythm เปลี่ยนจังหวะชีวิตคนติดเหล้า ขอพาคุณไปชมพัฒนาการสิทธิสตรีผ่านมิติของการดื่ม วัฒนธรรมที่บังคับให้ผู้หญิงต้องดื่ม และผลลัพธ์เรื่องสุขภาพที่สุภาพสตรีจะได้รับจากการดื่ม
ดื่มฉลองการปลดแอก!
ประสบการณ์การถูกกดขี่ทางเพศเป็นปัจจัยหนึ่งที่ผลักดันให้ผู้หญิงหันมาดื่มเหล้ามากขึ้นหลังเป็นอิสระจากอำนาจของผู้ชาย
จากรายงานเรื่อง “Drinking and the oppression of women: The Mexican experience.” โดย Medina-Mora, E. ซึ่งศึกษาวัฒนธรรมของชาวแม็กซิกัน แสดงให้เห็นว่าสตรีชาวแม็กซิกันส่วนหนึ่งมีความทุกข์ทรมานในใจ เนื่องจากต้องเป็นฝ่ายยอมให้กับความก้าวร้าว ไม่ประนีประนอมอ่อนข้อของผู้ชายมาตลอด
แม้แต่ในช่วงแรกที่ผู้หญิงเริ่มเข้าสู่ตลาดแรงงาน บริบททางสังคมก็ยังคงแนวคิดชายเป็นใหญ่ กดดันให้ผู้หญิงต้องมีคุณลักษณะแม่บ้านแม่เรือนที่ดี ไม่ยุ่งเกี่ยวกับการดื่มหรือเมาสุราโดยเด็ดขาด
ฉะนั้น เมื่อผู้หญิงได้รับการศึกษาสูงขึ้น มีรายได้เป็นของตนเองมากขึ้น จำนวนนักดื่มเพศหญิงจึงเพิ่มขึ้น ส่วนหนึ่งเป็นเพราะต้องการต่อต้านและแสดงความเป็นอิสระจากผู้ชายผ่านการดื่มสุรา
นอกจากนี้ ยังมีงานวิจัยหลายสำนักพบว่าสตรีที่มีประสบการณ์ความทุกข์ทรมานทางจิตใจอย่างรุนแรง หรือประสบการณ์การถูกกระทำทารุณกรรมทางเพศส่งผลให้เกิดพฤติกรรมดื่มสุราอย่างหนักอีกด้วย
ดื่มอย่างถ้วนหน้าและเท่าเทียม
กระแสความเท่าเทียมทางเพศที่เกิดขึ้นไม่เพียงส่งผลต่อจำนวนนักดื่มหญิงชาวแม็กซิกัน แต่ส่งผลต่อจำนวนนักดื่มหญิงทั้งโลก
ในปี 2016 the Australian NHMRC Centre of Research Excellence in Mental Health and Substance Use เปิดเผยผลการศึกษาจากงานวิจัยจำนวน 68 ชิ้นจากทั่วโลก เกี่ยวกับพฤติกรรมการดื่มสุราของกลุ่มตัวอย่างซึ่งเกิดในช่วงปี 1891-2000 เพื่อระบุเทรนด์การดื่มที่เปลี่ยนไปในเพศชายและหญิง พบว่าจำนวนนักดื่มที่เกิดช่วงต้นทศวรรษปี 1900 เป็นเพศชายมากกว่าเพศหญิงถึงสองเท่า ขณะเดียวกัน ในกลุ่มตัวอย่างที่อายุน้อยลง สัดส่วนนักดื่มทั้งสองเพศแทบไม่ต่างกัน
ผู้วิจัยตั้งข้อสังเกตว่าส่วนหนึ่งเป็นเพราะวัฒนธรรมที่เปลี่ยนไป เช่น การเกิดกระแส ‘90s Ladette Culture’ ที่ส่งเสริมให้สาววัยรุ่นกล้าทำกล้าลองเหมือนผู้ชาย ทำให้เกิดนักดื่มหน้าใหม่ในกลุ่มผู้หญิง และมีแนวโน้มเพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ จนปัจจุบันเรียกได้ว่าจำนวนผู้หญิงดื่มเหล้ามากเท่ากับนักดื่มชาย
ข้อเท็จจริงข้างต้นสอดคล้องกับผลจากรายงานเรื่อง “Gender, Culture and Alcohol Problems: A Multi-national Study’’ ซึ่งศึกษาพฤติกรรมการดื่มของเพศหญิงและชายในกลุ่มประเทศยุโรปจำนวน 13 ประเทศ และประเทศนอกยุโรปอีก 2 ประเทศ ใจความว่า ยิ่งประเทศมีความก้าวหน้าเรื่องความทัดเทียม ยิ่งทำให้พฤติกรรมการดื่มของทั้งสองเพศมีความแตกต่างน้อยลง กล่าวคือ ผู้หญิงสามารถดื่มเหล้าได้ไม่ต่างจากผู้ชาย ในที่นี้ ประเทศที่มีความแตกต่างน้อยที่สุด ได้แก่ ประเทศแถบนอร์ดิก ตามด้วยยุโรปตะวันและยุโรปกลาง ส่วนประเทศที่ถือว่ากำลังพัฒนานั้น แน่นอนว่ายังคงมีความแตกต่างเรื่องการดื่มระหว่างสองเพศสูง
สำหรับประเทศไทย ทัศนคติเรื่องความเท่าเทียมนี้ก็เป็นสาเหตุหนึ่งซึ่งสนับสนุนการดื่มสุราในหมู่ผู้หญิงเช่นกัน จากรายงานการศึกษาพฤติกรรมการดื่มของสตรีในอำเภอสันกำแพง จังหวัดเชียงใหม่เผยว่าผู้หญิงกล้าแสดงออกเรื่องการดื่มสุราในพื้นที่สาธารณะ เช่น งานมหรสพในชุมชน เพราะเชื่อว่าชายดื่มได้ หญิงก็ดื่มได้ ชายสนุกได้ หญิงก็สนุกได้ไม่ต่างกัน
‘ชายเป็นใหญ่’ ที่แฝงไว้กับการ (ต้อง) ดื่ม
คำถามที่น่าสนใจคือ ปรากฏการณ์ผู้หญิงดื่มสุราที่เพิ่มขึ้นจากอดีตแสดงให้เห็นว่าเราหลุดจากขนบชายเป็นใหญ่อย่างสมบูรณ์แล้วใช่หรือไม่?
คำตอบคืออาจไม่ง่ายดายเช่นนั้น เพราะบางครั้งผู้หญิงก็จำเป็นต้องดื่มเพื่อให้เป็นที่ยอมรับในหมู่พวกผู้ชาย ในรายงานสัมมนาของ Scottish Health Action on Alcohol Problems (SHAAP) ร่วมกับ the Institute of Alcohol Studies (IAS) ระบุว่า เมื่อผู้หญิงมีบทบาทมากขึ้น มีตำแหน่งสูงขึ้นในที่ทำงาน พวกเธอต้องพยายามเก็บงำอุปนิสัยแบบ ‘หญิง’ และสร้างภาพลักษณ์ความเป็นผู้นำ เข้มแข็ง รวมถึงปรับเปลี่ยนพฤติกรรมเป็นอย่าง ‘ชาย’ เพื่อเข้าสังคมอันเต็มไปด้วยผู้ชายในที่ทำงาน
หนึ่งในนั้นคือการ (ต้อง) ดื่มสุราสังสรรค์กับคนอื่นๆ เพราะเชื่อว่าทำให้ลดความเขินอายตามประสา ‘หญิง’ เพิ่มความกล้าแสดงออก และสร้างมิตรภาพได้ง่ายขึ้น สภาพสังคมในแวดวงการทำงานจึงมีผลทำให้ผู้หญิงบางคนกลายเป็นนักดื่มอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ และการดื่มเหล้าก็ยังคงถูกมองว่าเป็นกิจกรรมผ่อนคลายสำหรับท่านชาย (หรือหญิงที่ต้องการแสดงออกอย่างชาย) มากกว่าจะเป็นของทุกเพศอย่างแท้จริง
การตลาดเพื่อการดื่มของผู้หญิง
อย่างไรก็ตาม การเพิ่มขึ้นของนักดื่มเพศหญิง ทำให้บริษัทผลิตเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ทั้งหลายฉวยโอกาสสร้างฐานลูกค้าใหม่ ด้วยการสร้างภาพจำว่าการดื่มของผู้หญิงหมายถึงความสำเร็จ ความสุข และส่งเสริมมิตรภาพในกลุ่มสาวๆ ด้วยกัน เช่น Baileys ออกแคมเปญนำเสนอความเป็น “เพื่อนหญิงพลังหญิง (Power of Female Friendship)” เนื่องในโอกาสวันคริสต์มาส มีเนื้อหากล่าวถึงการรวมตัวในคืนสังสรรค์ ผู้หญิงทุกคนสวย มั่นอกมั่นใจ และสนุกสนานกับการดื่มแอลกอฮอล์
บางแบรนด์ใช้กลยุทธ์เชื่อมโยงตนเองกับการส่งเสริมสิทธิสตรี ตัวอย่างเช่น Johnnie Walker ออกเครื่องดื่มรุ่นพิเศษเป็นฉลากรูปผู้หญิงสวมหมวกทรงสูงและรองเท้าบูท ชื่อ Jane Walker เพื่อเฉลิมฉลองวันสตรีสากล และจำนวนขวดที่ขายได้จะกลายเป็นเงินบริจาค 1 ดอลล่าร์สหรัฐแก่องค์กรช่วยเหลือผู้หญิง เช่นเดียวกับแบรนด์ BrewDog ที่เปลี่ยนฉลากผลิตภัณฑ์เครื่องดื่ม Punk IPA เป็น Pink IPA พร้อมโฆษณาว่าเป็น “เบียร์สำหรับสาวๆ (Beer for Girls)” ในโอกาสเดียวกัน
กลยุทธ์การตลาดเหล่านี้ส่งเสริมให้เกิดนักดื่มหน้าใหม่ โดยเฉพาะกลุ่มเยาวชนผู้ได้รับอิทธิพลจากสื่อโฆษณา รูปลักษณ์ของผลิตภัณฑ์ รวมถึงสร้างเป็นภาพจำว่าเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ต่ำหรือการดื่มเพียงปริมาณน้อยๆ นั้นกำลังเหมาะสมกับหญิงสาวผู้รักความสนุกสนาน กล้าเป็นตัวของตัวเอง
ผลของสุราต่อสุ(ข)ภาพสตรี
แม้ว่าสังคมปัจจุบันจะเปิดโอกาสให้ผู้หญิงดื่มได้อย่างอิสระ แต่ผลที่ตามมาคือ ผู้หญิงกับต้องเผชิญปัญหาการดื่มสุราเพิ่มขึ้นตามไปด้วย งานวิจัยของ National Institute on Alcohol Abuse and Alcoholism (NIAAA) ในปี 2017 พบว่า จำนวนผู้หญิงอเมริกันที่มีปัญหาจากการดื่มแอลกอฮอล์เพิ่มขึ้นถึง 83.7% ในช่วงระหว่างปี 2002 – 2013 ในขณะข้อมูลปี 2018 พบว่า จำนวนผู้หญิงที่ต้องเข้าห้องฉุกเฉินโดยมีเหตุเกี่ยวข้องกับแอลกอฮอล์ก็มีอัตราการเติบโตสูงกว่าผู้ชายเป็นที่เรียบร้อยแล้วในประเทศจีน
นอกจากนี้ ข้อมูลทางวิทยาศาสตร์พบว่าพวกเธอต้องแบกรับความเสี่ยงเรื่องปัญหาสุขภาพจากการดื่มแอลกอฮอล์มากกว่าเพศชาย
เหตุที่เป็นเช่นนี้เพราะร่างกายของผู้หญิงสร้างเอนไซม์ alcohol dehydrogenase หรือ ADH จากตับซึ่งทำหน้าที่สลายแอลกอฮอล์ได้น้อยกว่าผู้ชาย อีกทั้งยังมีสัดส่วนของไขมันตามร่างกายมากกว่า ทำให้เก็บกักแอลกอฮอล์ได้เยอะและยาวนานยิ่งกว่า เป็นต้นเหตุของโรคอื่นๆ ตามมา อาทิ โรคกระดูกพรุน ประจำเดือนมาไม่ปกติ เข้าสู่วัยหมดประจำเดือนเร็วขึ้น ลดการหลั่งฮอร์โมนเอสโตรเจนและเพิ่มฮอร์โมนกลูโคคอร์ติคอยด์ซึ่งทำให้ระบบภูมิคุ้มกันแย่ลง มีบุตรยาก และเสี่ยงต่อการเป็นมะเร็งเต้านมเพิ่มขึ้น
ทั้งนี้ การดื่มสุราในช่วงก่อนมีประจำเดือนหรือช่วงรับประทานยาคุมกำเนิดจะทำให้ร่างกายดูดซึมแอลกอฮอล์เร็วขึ้น จึงเกิดอาการเมาสุราได้ง่ายขึ้นอีกด้วย
ดังนั้น ถึงการดื่มสุราอาจเป็นเครื่องมือแสดงออกถึงความเท่าเทียมและความมั่นอกมั่นใจของผู้หญิง แต่อย่าลืมว่านอกจากดื่มเพื่อฉลองคุณค่าในตนเอง สุขภาพร่างกายของคุณก็มีค่าไม่ยิ่งหย่อนไปกว่ากัน
ที่มา:
-สุนทรี ศรีโกไสย. การทบทวนองค์ความรู้ เรื่อง การดื่มสุราและการเสพติดสุราของสตรี. เชียงใหม่: แผนงานการพัฒนาระบบ รูปแบบ และวิธีการบำบัดรักษาผู้มีปัญหาการบริโภคสุราแบบบูรณาการ (ผรส.); 2553.
-Kim Bloomfield, Gerhard Gmel, and Sharon Wilsnack. 2006. Introduction to Special Issue ‘Gender, Culture and Alcohol Problems: a Multi-National Study’. Alcohol & Alcoholism Vol. 41. p i3-i7.
– Scottish Health Action on Alcohol Problems (SHAAP) and the Institute of Alcohol Studies (IAS). 2018. Women and Alcohol: Key Issues.
-NHS. Women now drinking ‘almost as much alcohol as men’. 2016. Available at https://www.nhs.uk/news/food-and-diet/women-now-drinking-almost-as-much-alcohol-as-men/
-Misha Ketchell. How alcohol companies are using International Women’s Day to sell more drinks to women. 2019. Available at http://theconversation.com/how-alcohol-companies-are-using-international-womens-day-to-sell-more-drinks-to-women-113081
เรื่องและภาพ: ทีมงาน Alcohol Rhythm