“เราพูดอยู่เสมอว่าไม่ได้รังเกียจคนที่ดื่มเหล้า ถ้าดื่มแล้วไม่สร้างปัญหาอะไรให้สังคม เราก็เคารพสิทธิของเขาและไม่ได้ว่าอะไร”
เภสัชกรสงกรานต์ ภาคโชคดี กล่าวถึงทัศนคติของเขาในการทำงานรณรงค์เรื่องลด ละ เลิกสุราตลอด 16 ปีที่ผ่านมา
“แต่ขณะเดียวกันก็ปฏิเสธไม่ได้ว่ามีคนจำนวนหนึ่งสร้างปัญหาหลังดื่มเหล้า ทั้งกับตนเอง ครอบครัว และสังคม ดังนั้นเราจึงต้องทำการรณรงค์ให้คนเหล่านี้ลดการดื่มเหล้าลงหรือเลิกดื่มเพื่อลดปัญหาสังคม”
เมื่อพูดถึงผลกระทบทางสังคมที่เกิดขึ้นจากสุรา หลายคนอาจนึกว่าสาเหตุหลักของปัญหามาจากตัวผู้ดื่ม แต่สำหรับเภสัชกรสงกรานต์ ผู้เป็นที่รู้จักในฐานะผู้อำนวยการสำนักเครือข่ายองค์กรงดเหล้าคนปัจจุบันกลับคิดต่างออกไป เขามองเห็นภาพรวมและต้นเหตุที่ใหญ่กว่านั้น คือ วิธีทำการตลาดและการขายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ของธุรกิจเอกชน
“บางทีธุรกิจก็ออกมาพูดให้คนดื่มอย่างรับผิดชอบ แต่เรามองว่านั่นเป็นการโยนความผิดให้ลูกค้าตัวเอง เหมือนบอกว่าผลิตภัณฑ์ของเขาไม่มีปัญหา ปัญหาอยู่ที่คนดื่ม ทั้งที่รู้อยู่แล้วว่าแอลกอฮอล์เป็นสารเสพติด และตัวมันเองก็มีโทษต่อสุขภาพอีกมาก องค์การอนามัยโลก (WHO) บอกว่าเหล้าเป็นสาเหตุหนึ่งของ 200 โรคและการบาดเจ็บ ดังนั้นเราต้องการให้เขาเริ่มต้นทำการตลาดและขายอย่างรับผิดชอบมากกว่า อย่าพยายามเลี่ยงกฎหมายและอย่าเห็นเยาวชนเป็นเหยื่อ”
เภสัชสงกรานต์จึงไม่หยุดแค่การรณรงค์เพื่อเปลี่ยนพฤติกรรมคน แต่ยังมุ่งผลักดันนโยบายสาธารณะที่ใช้ควบคุมภาคธุรกิจแอลกอฮอล์ จนเกิดเป็นพระราชบัญญัติควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ พ.ศ. 2551 หนึ่งในผลงานชิ้นสำคัญบนเส้นทางการทำงานของเครือข่ายงดเหล้าทั่วประเทศ
แต่การออกมาตรการทางกฎหมายและบังคับใช้ใช่ว่าจะกระทำได้โดยง่าย Alcohol Rhythm เปลี่ยนจังหวะชีวิตคนติดเหล้า จึงชวนเภสัชกรสงกรานต์ ภาคโชคดี มาเล่าถึงสถานการณ์การดื่มสุราในสังคมไทยที่เปลี่ยนไปเพราะธุรกิจแอลกอฮอล์ ความท้าทายของการออกนโยบายสาธารณะเพื่อควบคุมภาคธุรกิจ และประสบการณ์การทำงานรณรงค์ร่วมกับชุมชนภายใต้ชื่อสำนักงานเครือข่ายองค์กรงดเหล้า
คุณเริ่มต้นทำงานขับเคลื่อนเรื่องการลด ละ เลิก สุราได้อย่างไร
ผมเริ่มทำงานด้านนี้เมื่อปี 2546 หลังสสส.ก่อตั้งได้ 2 ปี ตอนนั้นสสส. ยังไม่รู้จะรณรงค์เรื่องแอลกอฮอล์อย่างไร จนกระทั่งหมออุดมศิลป์ ศรีแสงนาม เข้ามาเป็นหนึ่งในบอร์ดผู้บริหารและอาสาว่าจะเข้ามาดูแลเรื่องนี้ เผอิญหมออุดมศิลป์รู้จักกับผมมาก่อน เพราะเคยทำงานการเมืองมาด้วยกันในช่วงที่ผมเป็นที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข สมัยคุณหญิงหน่อย (สุดารัตน์ เกยุราพันธุ์) และก่อนหน้านั้นผมเคยทำงานเป็นเลขาพลตรีจำลอง ศรีเมืองสมัยท่านเป็นผู้ว่าฯ กรุงเทพฯ ท่านมีโครงการหนึ่งเรียกว่าโครงการพัฒนาคุณภาพชีวิต ช่วยอบรมเจ้าหน้าที่ พนักงานของกทม. เรื่องต่างๆ หนึ่งในนั้นคือเรื่องลดอบายมุข งดเหล้างดบุหรี่ ผมก็ได้ทำหน้าที่เป็นผู้บรรยายเรื่องนี้ ดังนั้นจะมีความรู้ความเชี่ยวชาญอยู่ระดับหนึ่ง หมออุดมศิลป์จึงชวนมาร่วมจัดกิจกรรมรณรงค์เลิกเหล้ากับสสส. โดยเริ่มจากงดเหล้าเข้าพรรษา ซึ่งถือว่าเป็นกิจกรรมแรกของการรณรงค์เรื่องเหล้าของสสส. ท่านให้ผมทำหน้าที่เป็นผู้ประสานงานในปีแรก ถัดมาคือช่วยจัดตั้งสำนักงานเครือข่ายองค์กรงดเหล้า จากวันนั้นก็นับว่าทำงานด้านนี้มากว่า 16 ปีแล้ว
ช่วงที่เริ่มรณรงค์เรื่องเหล้า มีความท้าทายอะไรในสังคมไทยบ้าง
สังคมไทยไม่มีคนรณรงค์เรื่องนี้อย่างจริงจังมาก่อน และสมัยนั้นยังไม่มีข้อมูลอะไรเกี่ยวกับเหล้ามาก เป็นแค่ความรู้พื้นๆ ทั่วไปไม่ได้เจาะลึก บางครั้งคนที่รณรงค์ยังโดนข่มขู่จากธุรกิจแอลกอฮอล์ ทำให้การรณรงค์เรื่องเหล้าไม่ได้เป็นกระแสในสังคมเท่าไร ฉะนั้น สังคมไทยจึงรู้สึกว่าการดื่มเป็นเรื่องปกติธรรมดา และยิ่งมีคนรู้สึกว่าธรรมดาเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ จากการทำการตลาด การโฆษณาของภาคธุรกิจ ซึ่งมีผลทำให้พฤติกรรมการดื่มในสังคมไทยเปลี่ยนไปมาก
ในหนังสือของพระไพศาล วิสาโลเกี่ยวกับเหล้าและสังคมไทยซึ่งอ้างอิงจากบันทึกของฝรั่งที่เข้ามาอยู่ในไทยตั้งแต่สมัยกรุงศรีอยุธยาจนถึงต้นรัตนโกสินทร์กล่าวว่าเดิมคนไทยที่ดื่มสุรามีน้อยมาก ในหนึ่งหมู่บ้านจะมีคนดื่มแค่คนสองคน ส่วนผู้หญิงไม่มีการดื่มเลย ยุคต้นรัตนโกสินทร์ ถ้าข้าราชการคนไหนไปดื่มให้ชาวบ้านเห็นจะถูกลงโทษอย่างหนักเพราะถือว่าเป็นตัวอย่างที่ไม่ดี แต่เมื่อเหล้ากลายเป็นสินค้าเสรี โฆษณาได้อย่างเสรี ทำให้สังคมเปลี่ยนไป การดื่มกลายเป็นเรื่องสนุกสนานปกติ และมีค่านิยมผิดๆ เกิดขึ้น เช่น ถ้าผู้ชายไม่ดื่มก็ถือว่าไม่ใช่ลูกผู้ชาย เหยียดหยามคนที่ไม่ดื่ม
ผลกระทบจากการทำการตลาดและโฆษณาที่เห็นได้อย่างชัดเจนอีกเรื่องคือพฤติกรรมการดื่มเบียร์ ถ้าถอยหลังไปหลายสิบปีก่อนหน้านี้จะเห็นว่าคนไทยดื่มเบียร์ไม่เป็น ดื่มแต่เหล้าขาว เหล้าสาโท เหล้าพื้นบ้าน แต่ด้วยกลยุทธ์การตลาด เช่น ขายเหล้าพ่วงเบียร์ให้กับร้านค้า ทำให้ร้านค้าต้องพยายามขายเบียร์ และทุกคนเข้าถึงเบียร์ได้ง่าย ใช้พรีเซนเตอร์เป็นนักร้องดังมาร้องเพลงประกอบโฆษณา จนทุกวันนี้คนไทยดื่มเบียร์มากที่สุด และตลาดเบียร์ไทยมีมูลค่ากว่าสองแสนล้านบาท
การทำโฆษณาของธุรกิจแอลกอฮอล์สร้างค่านิยมเรื่องการดื่ม แต่อีกแง่หนึ่งธุรกิจเหล่านี้ก็ขับเคลื่อนเศรษฐกิจประเทศเช่นกัน แล้วเราจะสามารถมีจุดร่วมกันระหว่างการขายเครื่องดื่มและการรณรงค์ให้คนดื่มน้อยลงได้หรือไม่
เป้าหมายของเราตรงข้ามกัน ฝ่ายธุรกิจเขาไม่มีเป้าหมายให้คนดื่มน้อยลงอยู่แล้ว เพราะในระบบทุนนิยมชัดเจนว่าต้องทำธุรกิจเพื่อกำไรสูงสุด ถ้ามีอะไรที่ทำให้เพิ่มยอดขายได้ เขาก็จะทำ และเข้าใจผิดว่าธุรกิจน้ำเมา จะช่วยสร้างเศรษฐกิจประเทศ ทั้งที่เมื่อคำนวนตามวิธีการมาตรฐานสากล ผลเสียหายกับเศรษฐกิจส่วนรวมมากกว่าภาษีที่เก็บได้ประมาณ 2 เท่า แม้แต่ธนาคารโลกยังเคยแนะนำว่า ยิ่งควบคุมธุรกิจน้ำเมาและบุหรี่มากเท่าไร ยิ่งดีกับเศรษฐกิจและสังคมมากเท่านั้น การทำงานของฝ่ายเราส่งผลให้ยอดขายของเขาลดลง ดังนั้นจึงเป็นข้อขัดแย้งกันระหว่างธุรกิจและนักรณรงค์
เรื่องการรณรงค์ ผมก็ยอมรับว่าถ้ารณรงค์เพียงอย่างเดียวก็สู้การตลาดของภาคธุรกิจแอลกอฮอล์ไม่ได้ เพราะ เงินที่ใช้ทำโครงการเรื่องเหล้ามีแค่หลักร้อยล้าน ขณะที่ธุรกิจแอลกอฮอล์ลงทุนการตลาดและโฆษณาเป็นหมื่นล้าน เขามีเงินทุนในการทำการตลาดมากกว่าเป็นร้อยเท่า ถ้าถามว่าเราควรได้งบมากกว่านี้ไหม ก็ควร เนื่องจากงบส่วนใหญ่ที่ได้รับตอนนี้ครอบคลุมถึงแค่เรื่องการจัดกิจกรรม ยังไม่เพียงพอต่อการผลิตสื่อให้ความรู้และสนับสนุนให้คนในพื้นที่ทำงาน แต่งบจากทางสสส.ที่มี 3-4 พันล้านต้องแบ่งทำงานสร้างสุขภาพแทบทุกเรื่องของคนไทย ตั้งแตเกิดจนตายหลายประเด็นมากในเวลาเดียวกัน เราได้แต่ต้องทำงานภายใต้ข้อจำกัดเรื่องทรัพยากรที่มีอยู่ ดังนั้นเราจึงหันไปเน้นเรื่องการทำนโยบายสาธารณะให้เข้มแข็ง ใช้กฎหมายควบคุมภาคธุรกิจ มีบทลงโทษ ถึงจะได้ผลดีที่สุด ซึ่งเป็นวิธีการเหมือนกันทั่วโลก
คุณมีส่วนผลักดันพระราชบัญญัติควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ พ.ศ. 2551 บริบทสังคมไทยตอนนั้นเป็นอย่างไร ทำไมถึงเกิดกฎหมายฉบับนี้ขึ้น
ที่จริงมันเป็นกฎหมายที่ควรมีมานานแล้ว ประเทศไหนๆ ก็มีกฎหมายใช้ควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ไม่วิธีใดก็วิธีหนึ่ง และประเทศไทยมีการปล่อยปละละเลยมานาน อย่างเรื่องการรณรงค์ก็ไม่ค่อยมีใครทำ เพิ่งจะได้เริ่มเกิดกระบวนการทำงานขับเคลื่อนอย่างจริงจังเมื่อปี 2546 โดยมีการสนับสนุนจากสสส. ขยายเครือองค์กรงดเหล้าให้ครอบคลุมแทบทุกจังหวัด และมีการรณรงค์ในทุกๆ เทศกาล ทั้งงดเหล้าเข้าพรรษา ปีใหม่ พื้นที่เล่นน้ำปลอดเหล้าช่วงสงกรานต์ งานบุญงานศพปลอดเหล้า ฯลฯ เราพยายามทำให้กิจกรรมเป็นข่าวเพื่อให้เกิดกระแสขึ้นมาในสังคม ให้คนรู้ถึงโทษภัยของเหล้าจะได้มีแรงสนับสนุนในการผลักดันกฎหมาย
ตอนที่เริ่มเสนอพรบ.เป็นช่วงปลายปี 2549 จนสำเร็จเมื่อต้นปี 2551 จากระยะเวลาที่ทำการรณรงค์อย่างต่อเนื่องกันมาก็ถือว่านานและเริ่มเกิดเป็นกระแสสังคมมากขึ้น แต่ในความเห็นของผม กระแสสังคมตอนนั้นยังถือว่าไม่พอสำหรับการผลักดันกฎหมายให้สำเร็จ สิ่งสำคัญที่ทำให้สำเร็จคือจังหวะทางการเมือง พอดีว่าสภาหลังการรัฐประหารปี 2549 มีคนที่ทำงานภาคประชาสังคม NGO ต่างๆ อยู่มากพอสมควร และฝ่ายอาจารย์หมอมงคล ณ สงขลา รัฐมนตรีกระทรวงสาธารณสุขเห็นด้วยกับเรื่องนี้ ถึงขั้นชวนนายกรัฐมนตรีพลเอกสุรยุทธ์ จุลานนท์ตั้งสัจจะต่อหน้าพระในงานกฐินปลอดเหล้าที่วัดชลประทานว่าจะช่วยผลักดันพรบ.ควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ทำให้ทางท่านนายกฯ ก็เอาจริง และเสนอพรบ.นี้เป็นกฎหมายฉบับต้นๆ ของสภาสมัยนั้น
แต่ไม่ใช่ว่าพรบ.นี้จะผ่านสภาได้ง่ายๆ ถึงแม้เราจะเสนอกันตั้งแต่ช่วงต้นเปิดสภา แต่กลับออกเป็นกฎหมายฉบับสุดท้ายของสภานั้น เมื่อผ่านพรบ.ควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ก็ปิดสภาเลย เรียกได้ว่าถูกดึงจนเกือบตกไปแล้ว
ทำไมพระราชบัญญัติดังกล่าวจึงกลายเป็นกฎหมายฉบับสุดท้ายที่ได้ผ่านสภา
แน่นอนว่ามีการต่อต้านและความพยายามจากภาคธุรกิจเพื่อไม่ให้เกิดกฎหมายฉบับนี้ มีกระบวนการล็อบบี้หลายอย่าง คนในสภาบางคนที่บอกว่าจะสนับสนุนพรบ.ของเรา ภายหลังกลายไปเป็นฝ่ายเดียวกับภาคธุรกิจก็มี หรือบางทีส่งตัวแทน (nominee) จากธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับธุรกิจแอลกอฮอล์เข้ามาเป็นฝ่ายค้านในกรรมมาธิการพิจารณาร่างพรบ. ทำให้มีการปรับแก้กฎหมายหลายครั้งจนล่าช้า และทำให้พรบ.ของเราไม่เหมือนต้นฉบับที่ร่างไว้ โดยเฉพาะการแก้มาตราที่สำคัญที่สุดคือการห้ามโฆษณา
แรกเริ่มเราร่างพรบ.ฉบับนี้เหมือนกฎหมายควบคุมบุหรี่ หมายความว่าห้ามโฆษณาเด็ดขาด แต่สุดท้ายถูกแก้ให้สามารถโฆษณาได้ โดยต้องเป็นการโฆษณาที่สร้างสรรค์สังคม ห้ามนำเสนอสินค้าโดยตรง ซึ่งนักโฆษณานักการตลาดเห็นช่องว่างนี้ก็สามารถพลิกแพลงไปได้ กลายเป็นการโฆษณาแฝงเลี่ยงกฎหมายในปัจจุบัน เมื่อเราไม่สามารถแบนได้อย่างสมบูรณ์ ธุรกิจก็หาทางโฆษณาในรูปแบบอื่นจนได้ เช่น เปลี่ยนเป็นการโฆษณาน้ำแร่ โซดา ที่มีโลโก้ สีสันเหมือนกับแบรนด์เหล้า เราดูแล้วก็รู้ว่าเจตนาโฆษณาเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ คนทั่วไปมองก็นึกว่าเป็นโฆษณาเบียร์ และอีกเรื่องหนึ่งที่ทำมานานแล้วคือการโฆษณาแฝงในละคร ภาพยนตร์ สังเกตว่าถ้าตัวละครดื่มแอลกอฮอล์ แสดงว่ามีธุรกิจแอลกอฮอล์เป็นผู้สนับสนุนหลัก ถึงไม่ได้เป็นความลับหรือนำเสนออย่างโจ๋งครึ่ม แต่คนที่ดูเองก็มีแนวโน้มจะดื่มตาม
นอกจากโฆษณาแฝงในละคร ฝั่งธุรกิจเขาก็จงใจไปอยู่ในงานกีฬา งานคอนเสิร์ต ทำการตลาดที่เรียกว่า Music Marketing หรือ Sport Marketing หรือกระทั่งงานบุญเพื่อสร้างค่านิยมใหม่ๆ ขึ้นมา ซึ่งทางเราพยายามเปลี่ยนแปลงจุดอ่อนเรื่องโฆษณาแฝงมาโดยตลอด อย่างคุณหมอสมาน ฟูตระกูล สมัยเป็นผู้อำนวยการสำนักงานคณะกรรมการควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ก็เคยร้องเรียนให้ธุรกิจห้ามใช้ตราสินค้าที่เหมือนกับเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ในโฆษณาเครื่องดื่มอื่นๆ แต่สุดท้ายไม่เป็นผล เพราะกฎหมายไม่ได้ห้ามไว้แต่แรก ทุกวันนี้จึงยังมีการโฆษณาโดยไม่ได้โชว์ภาพ ผลิตภัณฑ์ หรือไม่ได้แสดงเจตนาชวนดื่มทั้งทางตรงหรือทางอ้อม อย่างไรก็ตาม ถ้าไม่มีโฆษณาเลยจะดีกว่า เพราะน้ำเมาทำลายสังคมไม่น้อยกว่าบุหรี่ที่ห้ามโฆษณาเด็ดขาดมานานแล้ว
นอกจากมาตราเรื่องการโฆษณาที่ถูกเปลี่ยนแปลงไปจากต้นฉบับ พระราชบัญญัติที่ใช้ในปัจจุบันยังมีช่องโหว่หรือจุดอ่อนในการควบคุมตรงไหนอีกหรือไม่
มีแน่นอน นอกจากเรื่องโฆษณายังมีเรื่องการควบคุมสถานที่จำหน่าย เกณฑ์การกำหนดปริมาณแอลกอฮอล์ที่นับว่าเป็นสุรา และการแอบอ้างเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ว่าเป็นยา เป็นผลิตภัณฑ์ยาสมุนไพร ทำให้สามารถใส่ขวดขายตามร้านค้าได้เหมือนเครื่องดื่มชูกำลัง ทำการตลาดโฆษณาได้ บางคนทั้งรู้และไม่รู้ ซื้อมาดื่มก็เมา แม้แต่พระสงฆ์
หัวใจหลักของพรบ.ควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์คือเราต้องการควบคุมภาคธุรกิจมากกว่าควบคุมคนดื่ม สำหรับคนดื่มเราจะห้ามแค่ในสถานที่ที่ไม่ควรดื่มอยู่แล้ว เช่น โรงเรียน โรงพยาบาล หรือสถานที่ราชการ ซึ่งบางทีก็ถูกโจมตีจากนักมานุษยวิทยาว่าไปลิดรอนสิทธิคน ทั้งที่จริงๆ เป้าหมายของเราคือต้องการป้องกันสังคม เราพูดอยู่เสมอว่าไม่ได้รังเกียจคนที่ดื่มเหล้า ถ้าดื่มแล้วไม่สร้างปัญหาอะไรให้สังคม เราก็เคารพสิทธิของเขาและไม่ได้ว่าอะไร แต่ขณะเดียวกันก็ปฏิเสธไม่ได้ว่ามีคนจำนวนหนึ่งสร้างปัญหาหลังดื่มเหล้า ทั้งกับตนเอง ครอบครัวและสังคม ที่ชัดเจนคือเมาแล้วขับ ก่ออาชญากรรมตามที่เห็นข่าวบนหน้าสื่อแทบทุกวัน ดังนั้นเราจึงต้องทำการรณรงค์ให้คนเหล่านี้ลดการดื่มเหล้าลงหรือเลิกดื่มเพื่อลดปัญหาสังคม
บางทีธุรกิจก็ออกมาพูดให้คนดื่มอย่างรับผิดชอบ แต่เรามองว่านั่นเป็นการโยนความผิดให้ลูกค้าตัวเอง เหมือนบอกว่าผลิตภัณฑ์ของเขาไม่มีปัญหา ปัญหาอยู่ที่คนดื่ม ทั้งที่รู้อยู่แล้วว่าแอลกอฮอล์เป็นสารเสพติด และตัวมันเองก็มีโทษต่อสุขภาพอีกมาก องค์การอนามัยโลก (WHO) บอกว่าเหล้าเป็นสาเหตุหนึ่งของ 200 โรคและการบาดเจ็บ ดังนั้นเราต้องการให้เขาเริ่มต้นทำการตลาดและขายอย่างรับผิดชอบมากกว่า อย่าพยายามเลี่ยงกฎหมายและอย่าเห็นเยาวชนเป็นเหยื่อ
เมื่อเปรียบเทียบระหว่างเหล้ากับบุหรี่ ดูเหมือนกฎหมายควบคุมบุหรี่จะเด็ดขาดและเข้มแข็งกว่า เหตุใดจึงเป็นเช่นนั้น
เหตุผลแรกคือการยอมรับในสังคม ในปัจจุบัน ถ้าเทียบระหว่างเหล้ากับบุหรี่ คนจะรู้สึกปฏิเสธบุหรี่มากกว่า แน่นอนว่าส่วนหนึ่งเป็นเพราะมีการรณรงค์เรื่องบุหรี่ก่อนแอลกอฮอล์มานับ 20 ปีตั้งแต่ก่อนสสส.เกิด ดังนั้นมันจึงเป็นกระแสในสังคมมากกว่า สำหรับแอลกอฮอล์ตอนนี้ยังเป็นเรื่องที่สังคมยังไม่ตระหนักมากนัก ทั้งๆ ที่เราเห็นข่าวปัญหาจากน้ำเมาแทบทุกวัน หรือกระทั่งในระดับโลกยังรู้สึกการดื่มไม่เป็นปัญหา เพิ่งจะเริ่มตื่นตัวมากขึ้น
เหตุผลต่อมาเป็นเรื่องของกฎหมาย บุหรี่มีกฎหมายระดับโลกควบคุม เป็นมาตรฐานสากลที่บังคับให้ประเทศไทยต้องออกกฎหมายตาม แต่เหล้ายังไม่มี ซึ่งถ้าว่ากันตามจริงแล้วแอลกอฮอล์ก่อให้เกิดปัญหาสังคมหลายมิติมากกว่าบุหรี่ บุหรี่มีปัญหาเรื่องของสุขภาพคนสูบเป็นหลักและใช้เวลา แต่คนดื่มจนสร้างปัญหาต่อคนอื่นๆ อย่างมากและอาจเกิดเฉียบพลัน ตอนนี้เราจึงเริ่มมีคำว่า “เหล้ามือสอง” เพิ่มมาในการรณรงค์ ซึ่งมีความ หมายในทำนองเดียวกับ “ควันบุหรี่มือสอง” คือคนรอบข้างได้รับผลกระทบจากคนดื่ม ทั้งความรุนแรงในครอบครัว จากงานวิจัยของมูลนิธิเพื่อนหญิงบอกว่าความรุนแรงในครอบครัวที่มีคนดื่มมีมากกว่าครอบครัวที่ไม่มีคนดื่ม 3-4 เท่า หรือปัญหาชัดเจนอย่างการเมาแล้วขับก็เป็นสาเหตุอันดับต้นๆ ของการเสียชีวิตบนท้องถนน จนทำให้ประเทศไทยมีอัตราการเกิดอุบัติเหตุบนท้องถนนเป็นอันดับต้นๆ ของโลกอีกด้วย ยิ่งในช่วงเทศกาลยิ่งมีมากขึ้น
ปัญหาอื่นๆ ที่ตามมาจากการดื่มแอลกอฮอล์ คือปัญหาเยาวชน กรมพินิจและคุ้มครองเด็กและเยาวชนเคยทำวิจัยพบว่าเยาวชนเกือบครึ่งที่อยู่ในสถานพินิจทำความผิดหลังจากดื่มแอลกอฮอล์ภายใน 5 ชั่วโมง ดังนั้นแอลกอฮอล์ก็ทำให้เด็กเสียอนาคตเช่นกัน ส่วนปัญหาเอดส์ ถึงยังไม่มีงานวิจัยที่ระบุตัวเลขชัดเจน แต่พระอาจารย์อลงกต เจ้าอาวาสวัดพระบาทน้ำพุเคยพูดไว้ว่าคนส่วนใหญ่ติดเอดส์เพราะเมาแล้วมีเพศสัมพันธ์โดยไม่ได้ป้องกัน ด้านข้อมูลจากศูนย์วิจัยปัญหาสุราบอกว่าถ้าคำนวณผู้เสียชีวิตจากการดื่มเหล้าอย่างละเอียดโดยนับโรคต่างๆ ที่เกิดจากการดื่ม (BOD) ทั้งโดยตรงและโดยอ้อม เฉลี่ยไม่ต่ำกว่าห้าหมื่นคนต่อปี เรียกได้ว่าแอลกอฮอล์ก็ทำลายสังคมหลายมิติ
อีกเหตุผลหนึ่งคือเรื่องการขายเหล้าอย่างเสรีในประเทศไทย ถ้าเปรียบเทียบธุรกิจแอลกอฮอล์กับบุหรี่ ธุรกิจโรงงานยาสูบเป็นรัฐวิสาหกิจ แต่ธุรกิจแอลกอฮอล์ของไทยส่วนใหญ่เป็นเอกชน แม้เราจะพูดอยู่เสมอว่าการค้าเสรีไม่ควรใช้กับสินค้าที่ทำลายสุขภาพ รัฐควรจะเป็นคนขาย เพราะเมื่อรัฐเป็นคนทำ เขาจะขายเท่าที่จำเป็นในวงที่จำกัด ซึ่งเดิมไทยก็ทำอย่างนั้น แต่ต่อมารัฐปล่อยให้เอกชนทำเพราะเชื่อว่าช่วยเรื่องพัฒนาเศรษฐกิจ พอรัฐไม่ได้ทำจึงควบคุมได้ยาก และธุรกิจแอลกอฮอล์ของเอกชนเป็นทุนใหญ่ของพรรคการเมืองแทบทุกพรรค ดังนั้นไม่ว่าใครเป็นรัฐบาลก็ยังมีอิทธิพลต่อฝ่ายการเมือง ทำให้การออกกฎหมายหรือนโยบายสาธารณะเป็นเรื่องยาก
อีกด้านหนึ่ง เราพยายามมองหาโอกาสจากเหตุการณ์ต่างๆ ที่เกิดขึ้น ถือโอกาสเปลี่ยนเรื่องร้ายในสังคมให้กลายเป็นการควบคุม ตัวอย่างที่ชัดเจนมากที่สุดคือการห้ามขายเหล้าบนรถไฟ เมื่อก่อนเราเสนอการรถไฟแห่งประเทศไทยว่าห้ามขายเหล้าบนรถไฟ ไม่มีใครฟัง เพราะติดเรื่องผลประโยชน์ แต่เมื่อเกิดคดีฆ่าข่มขืน เป็นข่าวดังมาก พอเราไปเสนอเลยไม่มีใครกล้าปฏิเสธ ทุกวันนี้จึงเกิดข้อบัญญัติเรื่องห้ามขายห้ามดื่มเหล้าบนรถไฟ
กว่า 11 ปีหลังจากประกาศพระราชบัญญัติควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ พ.ศ. 2551 คุณเห็นความเปลี่ยนแปลงอะไรในสังคมไทยบ้าง และอะไรที่ไม่เปลี่ยนไปเลย
มีคนเปรียบเทียบว่าเราเสนออาวุธเป็นกระบองไปแต่สุดท้ายผลลัพธ์ออกมาได้เป็นไม้จิ้มฟัน เพราะกฎหมายของเราถูกเปลี่ยนแปลงไปมาก และปัญหาหนึ่งของประเทศไทยคือการบังคับใช้กฎหมายอ่อนแอ ส่วนหนึ่งเป็นเพราะเจ้าหน้าที่ที่ทำงานด้านนี้เคยทำแต่งานที่เป็นคุณแก่ประชาชน เช่น ไปให้ความรู้คน เมื่อต้องมาทำงานคอยควบคุมคนตามกฎหมาย ต้องไปขัดแย้งกับคนอื่นๆ เขาก็รู้สึกไม่อยากทำ เจ้าหน้าที่บางคนที่มีตำแหน่งคอยควบคุมดูแลเรื่องควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ไม่ได้กระตือรือร้นเข้าร่วมประชุมหารือแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้น นอกจากนี้ยังมีเรื่องอิทธิพลของธุรกิจแอลกอฮอล์ในแต่ละพื้นที่ มีความสัมพันธ์ที่ดีกับนักการเมืองท้องถิ่น ฉะนั้นการบังคับใช้กฎหมายจึงยังทำได้ไม่ดีเท่าที่ควร ทั้งๆ ที่ด้วยกฎหมายมากมายที่มีอยู่ในปัจจุบัน ถ้าบังคับใช้ได้จริงจะช่วยควบคุมและแก้ไขปัญหาได้มาก
แต่โดยรวมยังเป็นแนวโน้มที่ดีขึ้นกว่าการไม่มีกฎหมายบังคับเลย กฎหมายทำให้มีการทำงานเชื่อมกันระหว่างภาคประชาสังคมในแต่ละจังหวัด ช่วยกันทำหน้าที่เป็นหมาเฝ้ายาม (Watchdog) เฝ้าระวังธุรกิจแอลกอฮอล์ และร้องเรียนต่อสำนักงานควบคุมแอลกอฮอล์หรือเจ้าหน้าที่ในพื้นที่ให้ดำเนินการตามกฎหมาย ฝ่ายเจ้าหน้าที่ที่ดีและเอาจริงก็มี หลายคดีที่เป็นการโฆษณาที่ผิดอย่างชัดเจนก็ถูกฟ้องและถูกปรับไปแล้ว หรือถ้าเราลงโทษไม่ได้อย่างน้อยก็สามารถปรามได้ เช่น ครั้งหนึ่งเคยมีคนทำงานภาคประชาสังคมไปร้องเรียนหน่วยราชการหนึ่งในจังหวัดเรื่องการจัดงานเลี้ยง ดื่มเหล้ากันในบริเวณสถานที่ราชการ ถึงอีกฝ่ายจะแถลงว่าไม่ได้มีการดื่มเหล้าจริง แต่เบื้องหลังเขาก็ไปกำชับกันเองว่าห้ามไม่ให้เกิดเหตุการณ์แบบนี้อีก ดังนั้นถึงเราจะเป็นแค่ไม้จิ้มฟัน แต่อย่างน้อยถ้าเป็นไม้จิ้มฟันที่คอยทิ่มแทงให้ถูกที่อยู่เรื่อยๆ ก็ส่งผลต่อสังคมเช่นกัน
คุณมองว่าทิศทางของการสร้างมาตรการทางกฎหมายควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ต่อจากนี้ควรให้ความสำคัญในเรื่องใดบ้าง
เราต้องเน้นเรื่องกฎหมายที่ป้องกันเยาวชนให้มากขึ้น ทั้งเรื่องการโฆษณา โดยเฉพาะการโฆษณาผ่านสื่อสังคมออนไลน์ที่มีเพิ่มขึ้นและหลีกเลี่ยงกฎหมาย การขายผ่านงานแสดงดนตรี กีฬา หรือใกล้สถานศึกษาที่เข้าถึงเยาวชน รวมถึงการใช้เด็กทำงานที่ต้องดื่ม เช่น สาวเชียร์เบียร์ ด้านมาตรการทางกฎหมายที่ช่วยควบคุมจำนวนนักดื่มหน้าใหม่ยังจำเป็นต้องทำให้ดีกว่านี้ คำว่านักดื่มหน้าใหม่หมายถึงคนที่ไม่เคยดื่มแล้วหันมาลองดื่ม อย่างผู้หญิงและเด็กรุ่นใหม่ ถึงแม้เมื่อเปรียบเทียบกับสิบปีก่อน จำนวนนักดื่มโดยรวมในสังคมไทยดีขึ้น บางปีจะลดหรือเพิ่มขึ้นไม่มาก แต่นักดื่มหน้าใหม่ก็ถือว่ายังมีมากขึ้น อีกทั้งนักดื่มยังมีแนวโน้มอายุต่ำลง เรื่องนี้จึงเป็นจุดอ่อนที่เรายังทำได้ไม่ดี เราถึงพยายามผลักดันมาตรการห้ามขายเหล้ารอบสถานศึกษา เพราะเราเชื่อว่าถ้าเด็กออกมาจากสถานศึกษาแล้วเห็นเพื่อน รุ่นพี่นั่งกินเหล้า จะถูกกดดันหรือชักชวนให้เริ่มดื่มได้ง่าย ถึงเรารู้ว่ากลุ่มคนที่ตั้งใจจะกินจริงๆ มาตรการเหล่านี้คงห้ามไม่ได้ แต่อย่างน้อยเราก็สามารถป้องกันให้เด็กที่ไม่ต้องการกินไม่ต้องถูกชักชวนกดดันได้ในทางหนึ่ง
เรื่องกฎหมายที่มีอยู่แต่เดิมอย่างมาตราที่ระบุว่าห้ามขายให้คนอายุต่ำกว่า 20 ปี ถึงยังมีจุดอ่อนเรื่องการบังคับใช้กฎหมาย แต่ก็มีผลต่อร้านที่มีแบรนด์บ้าง อย่างห้างสรรพสินค้าหรือเซเว่นจะไม่กล้าขาย เพราะกลัวเสียภาพลักษณ์ แต่ร้านชำทั่วไปต้องควบคุมด้วยพลังของชุมชน ถ้าชุมชนไหนเข้มแข็งหรือเป็นเครือข่ายทำงานร่วมกับเรา เขาจะช่วยกันดูแลได้ดี
สำนักงานเครือข่ายองค์กรงดเหล้าของคุณร่วมทำงานกับชุมชนในลักษณะไหนบ้าง
เราไปรณรงค์ให้คนเลิกเหล้าและสร้างเครือข่ายคนเคยดื่มในแต่ละจังหวัดแบ่งคนออกเป็น 3 กลุ่ม ได้แก่ คนหัวใจหิน คือคนที่งดเหล้าครบเข้าพรรษา 3 เดือน หลังจากนั้นถ้าเขาตั้งใจเลิกต่อ จะเรียกว่าคนหัวใจเหล็ก และถ้าเลิกต่อเนื่องมาได้ 3 ปีจะเรียกว่าคนหัวใจเพชร ซึ่งตอนนี้มีอยู่ 4000 กว่าคน คนเหล่านี้มีแนวโน้มว่าสามารถเลิกได้ตลอดชีวิต และเราพยายามฝึกกลุ่มคนหัวใจเพชรให้เป็นนักรณรงค์ต่อไปด้วย เพราะเราเชื่อว่าการทำให้เขาเป็นวิทยากร พูดด้วยประสบการณ์ของเขาเองโดยไม่จำเป็นต้องอาศัยวิชาการมาก บางทีก็มีพลังมากกว่าการพูดด้วยหลักวิชาการด้วยซ้ำ เช่น มีกำนันคนหนึ่งเล่าว่าชีวิตครอบครัวเขาเกือบจะล้มเหลวเพราะตัวเองดื่มหนัก เสียเงิน แต่พอเลิกได้ มีเงินส่งลูกเรียน เมียชื่นชม ทั้งหมู่บ้านก็ชื่นชม จนกลายมาเป็นผู้นำชุมชนที่ดี มันกลายเป็นพลังที่สร้างแรงบันดาลใจให้คนอื่นว่าคนติดหนักๆ ยังเลิกได้เลย มีตัวอย่างหลายคนที่เปลี่ยนจากคนขี้เมาไปเป็นผู้นำชุมชน คนเหล่านี้สามารถเป็นนักรณรงค์ที่ดี และอาจจะดีกว่าผมอีกที่ไม่ค่อยได้ดื่ม เวลาพูดก็พูดด้วยวิชาการ ไม่ใช่ประสบการณ์ตรง นอกจากนี้เรายังมีเครือข่ายเยาวชนป้องกันนักดื่มหน้าใหม่ที่ทำงานร่วมกัน ถือว่าประเทศไทยมีเครือข่ายเยาวชนที่เข้มแข็งพอสมควร
อะไรเป็นแรงบันดาลใจสำคัญที่ทำให้คนส่วนใหญ่เลิกดื่มได้
ส่วนใหญ่คนจะเลิกเหล้าเลิกบุหรี่ได้เพราะคนในครอบครัว โดยเฉพาะลูกเป็นปัจจัยสำคัญที่สุด ลูกเป็นแรงจูงใจที่ดีในการขอให้พ่อแม่งดเหล้า และถ้าเขาได้ลองงด บางคนจะคิดว่าทำไมงดแค่เข้าพรรษา ในเมื่องดต่อไปได้ ต่อไปก็จะมีกำลังใจในการเลิกเหล้าได้ตลอดชีวิต ดังนั้นเราจึงจัดโครงการให้คนในครอบครัว อย่างลูกหรือภรรยามาพูดความในใจให้คนดื่มฟัง ว่ามีความทุกข์อย่างไรบ้าง ตัวคนดื่มจะได้ตระหนักและรู้สึกอยากเลิกเพื่อคนสำคัญ หรือตอนนี้เราจัดโครงการโพธิสัตว์น้อยในโรงเรียน ให้ลูกเขียนจดหมายขอพ่อแม่ลด ละ เลิกเหล้าช่วงเข้าพรรษาและเลิกต่อไป พร้อมกับการรณรงค์ต่อเนื่องทุกปีเพื่อช่วยกระตุ้นให้คนเลิกเหล้า
การรณรงค์ในช่วงเทศกาลได้ผลแตกต่างจากการรณรงค์ในช่วงเวลาปกติอย่างไร
ความเชื่อต่างๆ มีส่วนทำให้คนเลิกเหล้าได้ อย่างช่วงเทศกาลเข้าพรรษาจะมีทุนทางวัฒนธรรมเกี่ยวกับศาสนาพุทธอยู่ ซึ่งก่อนจะมีโครงการจากสสส. ช่วงเข้าพรรษาเดิมมีคนลด ละ เลิก สิ่งไม่ดีอย่างเหล้าอยู่แล้ว แค่ช่วงหลังมีน้อยลง เหลือแต่คนทำอยู่เป็นกลุ่มเล็กๆ เช่น ชาวประมงแถบมหาชัยที่ดื่มหนักกันมาก เพราะอยู่บนเรือแล้วไม่มีอะไรทำ พอเข้าพรรษา 3 เดือนก็งดกันได้ เชื่อว่าได้บุญกุศล หมออุดมศิลป์ท่านได้ประสบการณ์ตรงจากตรงนี้จึงริเริ่มจัดโครงการงดเหล้าให้แพร่หลายขึ้น
อีกตัวอย่างคือกลุ่มมุสลิม เราจะเห็นได้ว่ามุสลิมเชื่อในหลักศาสนาอย่างเข้มแข็ง มีศรัทธาในพระเจ้ามาก ดังนั้นมุสลิมส่วนใหญ่จะไม่ดื่มเหล้าโดยเด็ดขาด หรืออย่างฮาโลวีน มีความเชื่อเรื่องการปล่อยผี ผมเลยไปค้นดูจนรู้ว่า แต่เดิมมีที่มาจากชาวไอริช เขาเชื่อว่าเป็นวันที่มีวิญญาณทั้งดีและไม่ดี และวันฮาโลวีนเป็นวันที่จะขับไล่วิญญาณไม่ดีให้ออกไป เราก็เอาเรื่องนี้มาประยุกต์ สื่อสารว่าวิญญาณไม่ดีนี้ในทางพุทธคืออบายมุข เป็นผีที่ต้องขับไล่ไปจากตัวเรา ดังนั้น เมื่อถึงวันฮาโลวีนแล้วก็ควรไล่วิญญาณที่ติดเหล้าออกไป หรือถ้าไม่ติด ก็อย่าให้วิญญาณไม่ดีเหล่านี้เข้ามาในตัว
หลังจากรณรงค์ให้งดเหล้าแล้ว เราก็มาคิดต่อว่าจะกระตุ้นให้เขาเลิกดื่มต่อได้อย่างไร เพราะเราได้รับคำถามว่างดเหล้าแล้ว เวลาที่เคยนำไปกินเหล้า เวลาที่อยู่กับเพื่อนจะให้ทำอะไร ตอนนี้เราจึงพยายามจัดกิจกรรมแบบบูรณาการหลายด้าน เช่น จัดกิจกรรมวิ่งพักตับเข้ามาเสริม ซึ่งได้ผลดีเพราะเป็นการนำเวลาที่เคยทำลายสุขภาพมาสร้างสุขภาพที่ดี ทางสมาพันธ์ชมรมวิ่งก็บอกว่าคนที่วิ่งแต่เดิมมีแนวโน้มจะลดเหล้าบุหรี่อยู่แล้วเพราะเป็นห่วงสุขภาพ เราก็ได้ผลประโยชน์ทั้งสองทาง ทั้งคนที่เคยกิน ให้หยุดแล้วมาวิ่ง และมาชวนคนที่วิ่งอยู่ก่อนให้เลิก และเราบูรณาการไปถึงวิถีชุมชน โดยนอกจากให้งดเหล้า มาวิ่งร่วมกันแล้ว ภายในงานจะมีซุ้มขายของจากชุมชนที่เป็นของพื้นบ้าน ผลิตภัณฑ์สมุนไพร เกษตรอินทรีย์ เพื่อให้ชุมชนมีรายได้ด้วย
แสดงว่าปัจจุบันการทำงานรณรงค์ให้เลิกดื่มอย่างเดียวอาจจะยังไม่พอ แต่ต้องหาทางเลือกและกิจกรรมอื่นๆ ให้คนดื่มอีกด้วย
ใช่ครับ โดยเฉพาะเยาวชน ถ้าเราไปชักชวนให้เลิกดื่มเฉยๆ โดยไม่มีกิจกรรมทางเลือกให้ เขาจะไม่รู้ว่าควรทำอะไร หรือควรไปอยู่ที่ไหน เพราะเด็กบางคนที่จริงไม่ได้ต้องการดื่ม แค่ต้องการพื้นที่รวมตัวกันทำอะไรสักอย่างหนึ่ง เช่น ทำงานด้วยกัน นั่งคุยกัน ผมเห็นบางพื้นที่ที่กลายเป็นเขตห้ามเกิดร้านขายเหล้ารอบสถานศึกษา เขาก็ทำร้านนม คาเฟ่ขนาดใหญ่ที่มีพื้นที่นั่งได้นานๆ แทน ซึ่งทำให้เด็กมารวมตัวกันได้โดยไม่จำเป็นต้องอาศัยเหล้าเพราะเขาแค่ต้องการพื้นที่สังสรรค์ด้วยกันเท่านั้นเอง
จากการที่คุณได้ทำงานร่วมกับชุมชนหลายแห่ง คุณเห็นความแตกต่างด้านพฤติกรรมการดื่มระหว่างคนกรุงและคนต่างจังหวัดบ้างหรือไม่
ในต่างจังหวัด คนมักใช้เวลากินเหล้ากับกลุ่มเพื่อนนานและดื่มกันหนัก งานท้องถิ่นอย่างงานบุญหรืองานศพส่วนใหญ่มักเลี้ยงเหล้าฟรี บางครอบครัวจัดงานโดยไม่เลี้ยงเหล้าก็ไม่ได้ เพราะจะถูกหาว่าขี้เหนียว ไปร่วมงานบ้านคนอื่นยังไปกินของเขาเลย ทำไมงานบ้านตัวเองถึงไม่เลี้ยง การที่งานเหล่านี้มีแอลกอฮอล์ให้ดื่มฟรีเป็นการส่งเสริมให้เกิดนักดื่มหน้าใหม่ และการแก้ไขปัญหาต้องอาศัยความเข้มแข็งของชุมชน ชุมชนต้องประชุมกัน มีข้อตกลงเป็นมติร่วมกันจึงจะสำเร็จ เราจึงไปทำงานร่วมกับร่วมกับผู้นำในท้องถิ่น เช่น องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) กำนันผู้ใหญ่บ้านที่จะเป็นสื่อกลางไปสร้างเวทีประชาคมให้ชาวบ้าน กำหนดกติกาและรณรงค์ให้งานบุญงานศพปลอดเหล้า ผลคือชาวบ้านให้ความร่วมมือดี เสียงส่วนใหญ่ในเวทีประชาคมทุกแห่งเห็นด้วย แสดงว่าอันที่จริงตัวชาวบ้านเองก็ไม่อยากเลี้ยงเหล้าอยู่แล้ว เพราะมีค่าใช้จ่ายสูง แค่ไม่กล้าทำด้วยตัวคนเดียว ถ้าชุมชนควบคุมกันเองได้ ผมคิดว่าทำได้ดีกว่าการใช้กฎหมายระดับชาติอีกนะ
ส่วนในกรุงเทพ เราอาจทำงานร่วมกับชุมชนในบางพื้นที่ที่เป็นชุมชนแออัด เพราะคนกรุงส่วนใหญ่อยู่ในหมู่บ้านจัดสรร คนก็ไม่ค่อยดื่มเหล้าสังสรรค์ร่วมกับคนอื่นอยู่แล้ว ต่างคนต่างอยู่ แต่ไม่ใช่ว่าไม่มีปัญหา เพราะถ้ามีคนดื่มในบ้านก็อาจเกิดปัญหาความรุนแรงในครอบครัวและเป็นตัวอย่างให้กับเยาวชนจนกลายเป็นนักดื่มหน้าใหม่ในอนาคต มีงานวิจัยศึกษาเช่นกันว่าถ้ามีคนในครอบครัวดื่ม ลูกหลานจะเริ่มดื่มเร็วกว่าครอบครัวที่ไม่มีคนดื่ม เพราะเขาเห็นว่าเป็นเรื่องปกติ บางทีพ่อแม่ยังคิดว่าสอนให้ลูกดื่มตั้งแต่เด็กเป็นเรื่องดี โตขึ้นจะได้คอแข็ง นี่ก็เป็นความเข้าใจผิดที่เราต้องช่วยกันแก้ไข
ทิศทางการทำงานของสำนักงานเครือข่ายองค์กรงดเหล้าจะเป็นอย่างไรต่อไป
เรื่องหลักคงเหมือนเดิม คือการทำให้นโยบายสาธารณะเข้มแข็งขึ้น ทั้งด้านการสร้างกฎหมายใหม่ และการบังคับใช้กฎหมายที่มีอยู่ให้ดีขึ้น มีการรณรงค์ส่งเสริมให้คนแต่ละระดับสร้างสิ่งแวดล้อมที่เหมาะสมกับการลด ละ เลิก ส่งเสริมประชาชนเลิกได้เอง และสร้างความเข้าใจว่าเหล้าเป็นปัญหาอย่างไร
เรื่องการรณรงค์ต้องอาศัยความต่อเนื่อง เราก็วางแผนว่าจะเพิ่มพื้นที่ปลอดเหล้าไปเรื่อยๆ โดยเฉพาะช่วงเทศกาล สงกรานต์ งานบุญ งานศพในแต่ละจังหวัด และในงานสาธารณะที่คนมาร่วมมากๆ อย่างงานกาชาดก็ปลอดเหล้าแทบทุกจังหวัดแล้ว
ในแง่ของการศึกษา ความรู้เรื่องเหล้า เราควรพัฒนาอะไรเพิ่มเติมหรือไม่
ความรู้วิชาการด้านเดียวช่วยให้คนตระหนักเรื่องการดื่มได้แต่ยังไม่พอ สำหรับผม อาจบอกได้ว่าช่วยได้น้อยด้วยซ้ำ ขนาดหมอทุกคนรู้ว่าดื่มแอลกอฮอล์ไม่ดีต่อสุขภาพ และมีงานวิจัยยืนยันว่าไม่มีขนาดของการดื่มที่ปลอดภัย (ผลวิจัยล่าสุดชี้ “ระดับปลอดภัย” ในการดื่มแอลกอฮอล์ไม่มีจริง : bbc.com/thai/international-45297195) แต่ก็ยังมีหมอจำนวนไม่น้อยที่ยังดื่ม
แต่จะไม่ให้ความรู้วิชาการเลยก็คงไม่ได้ ต้องให้คนรู้โทษภัยของเหล้าว่าเป็นอย่างไรตั้งแต่ในโรงเรียน ซึ่งวิธีการสอนอาจจะต้องเปลี่ยนเป็นการทำกิจกรรมที่มีเด็กเป็นศูนย์กลาง เช่น การชวนพ่อแม่เลิกเหล้าก็เป็นการสร้างภูมิต้านทานให้กับตัวเอง ต่อไปคิดจะดื่มคงยาก หรือกิจกรรมที่ให้เด็กเรียนรู้ด้วยตัวเองผ่านการลงมือทำ ดีกว่าเรียนรู้ด้วยการอ่านและฟัง เช่น ทดลองนำเครื่องในสัตว์มาแช่เหล้า ทำให้เห็นภาพอวัยวะที่มีสีและลักษณะเปลี่ยนไปด้วยตาตนเอง จะทำให้เด็กตระหนักถึงผลกระทบจากการดื่มชัดเจนกว่า และจะทำให้เด็กมีพลังในการชวนคนอื่นเลิกเหล้ามากขึ้น
ระบบสาธารณสุขเกี่ยวกับการบำบัดผู้ติดเหล้าตอนนี้แพร่หลายและเข้าถึงชุมชนต่างๆ มากพอแล้วหรือยัง
ทางสสส.มีแผนงานหนึ่งที่พยายามเร่งพัฒนาโรงพยาบาลต่างๆ ในชุมชนให้ถึงระดับโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล (รพสต.) เพื่อกระจายโรงพยาบาลที่สามารถบำบัดผู้ติดสุราได้มากที่สุด อีกแผนงานหนึ่งทำโดยกรมสุขภาพจิต คือการอบรมพยาบาลในรพสต.เรื่องการใช้สติบำบัดของคุณหมอยงยุทธ วงศ์ภิรมย์ศานติ์ ช่วยให้คนเลิกเหล้า เป็นความพยายามที่ทำมาเรื่อยๆ
ส่วนตัวผมไม่ได้ทำงานร่วมกับด้านคนบำบัดโดยตรง ฝั่งของเราจะเน้นเรื่องการรณรงค์ ชวนให้เริ่มต้นเลิก เมื่อคนดื่มจะเลิกก็ส่งต่อให้รพสต.ในพื้นที่หรือเครือข่ายที่ดูแลเรื่องการบำบัดเพื่อเข้ารับการบำบัดต่อไป
ในฐานะที่คุณเป็นเภสัชกร บทบาทการดูแลผู้ติดเหล้าของเภสัชกรแตกต่างจากหมอหรือนักจิตวิทยาอย่างไร
เภสัชกรจะทำงานร่วมกับบุคลากรในโรงพยาบาล เป็นคนดูแลเรื่องยาตามแพทย์สั่ง และให้คำแนะนำเรื่องผลข้างเคียง แต่ถ้าเป็นเภสัชกรตามร้านขายยาก็ค่อนข้างดูแลผู้ติดเหล้าได้อย่างจำกัด เพราะคงทำได้แค่ซักถาม ให้คำแนะนำเบื้องต้นในแง่การตรวจร่างกายหรือให้คำแนะนำว่าปรึกษาสายด่วน 1413 ที่มีคุณหมอช่วยดูแลและมีข้อมูลที่ละเอียดมากขึ้น เพราะการเลิกเหล้าไม่เหมือนการเลิกบุหรี่ที่เขาแนะนำให้หักดิบ หยุดทันที การเลิกเหล้าเราจะผลีผลามไม่ได้ บางคนที่ติดสุราเรื้อรังถ้าเลิกทันทีอาจถึงขั้นเสียชีวิต อีกทั้งยาที่ช่วยเลิกเหล้ามีอย่างจำกัด ต้องให้ตามที่แพทย์สั่งเท่านั้น
ส่วนตัวผมไม่ค่อยแนะนำเรื่องการกินยาช่วยเลิกเหล้าเท่าไร เพราะการกินยาก็มีความเสี่ยงหลายอย่าง แต่ต้องดูระดับการติดเหล้าของคนเป็นกรณีไป ถ้าติดถึงขั้นไปโรงพยาบาล บางครั้งก็ต้องได้รับการควบคุม บำบัด กินยาช่วย เราได้แต่แนะนำให้เขาระวัง รวมถึงเชิญชวนให้ตระหนักถึงโทษภัย ลด ละ เลิก ก่อนถึงขั้นติดสุราจนเป็นอันตราย
ส่วนเรื่องสมุนไพรที่เขาว่าช่วยเลิกเหล้าได้ ตอนนี้ยังไม่มีการพิสูจน์ชัดเจนว่าได้ผลจริง โดยรวมแล้วผมคิดว่าการเลิกเหล้าเป็นเรื่องของใจล้วนๆ ยาหรือสมุนไพรเป็นแค่ตัวเสริมเท่านั้น อย่างกรณีชาวประมงที่เลิกเหล้าช่วงเข้าพรรษาก็เป็นข้อพิสูจน์ว่าการเลิกเหล้าอาศัยแรงใจมากกว่าตัวช่วยอื่นๆ
เรื่องและภาพ: ทีมงาน Alcohol Rhythm