10 ยุทธศาสตร์การลดใช้แอลกอฮอล์ที่เป็นอันตรายจาก WHO ถึงรัฐบาลทั่วโลก

March 15, 2021


เลิกเหล้าลำพังแล้วดันพังสมชื่อ คือสถานการณ์จริงที่อาจเกิดขึ้นกับใครหลายๆ คน ทว่าพวกเราเข้าใจเป็นอย่างดี เพราะการลด ละ เลิก แอลกอฮอล์นั้นไม่ใช่เรื่องง่ายที่จะทำสำเร็จด้วยตัวคนเดียว แต่ต้องอาศัยการ ‘ผลักดัน’ จากหลายๆ ฝ่าย โดยเฉพาะอย่างยิ่งภาครัฐและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับการดูแลผู้ดื่ม

ในทุกๆ ปี มีคนกว่า 3 ล้านคนทั่วโลก ต้องเจอกับอันตรายที่เกิดขึ้นจากดื่มแอลกอฮอล์ แถมบางคนยังไม่ใช่ผู้ดื่มเองเสียด้วย ดังนั้น คงจะดีกว่าถ้าการติดแอลกอฮอล์จะไม่ถูกลดทอนให้เป็นเรื่องส่วนบุคคล แต่มองไปถึงนโยบายหรือการวางระบบที่จะช่วยเหลือทุกๆ คนได้อย่างเท่าเทียม ‘การปรับปรุงผลลัพธ์ด้านสุขภาพ-สังคม สำหรับบุคคล ครอบครัวและชุมชน’ จึงเป็นยุทธศาสตร์ใหญ่ๆ ขององค์การอนามัยโลก (WHO) เพื่อลดความรุนแรงจากสถานการณ์ข้างต้น

มีการคาดการณ์ว่ายุทธศาสตร์ดังกล่าวจะถูกผลักดันส่งเสริมไปยังระดับท้องถิ่น ระดับภูมิภาค จนถึงระดับโลก Alcohol Rhythm เปลี่ยนจังหวะชีวิตคนติดเหล้า จึงขอชวนผู้อ่านสำรวจยุทธศาสตร์จาก WHO ถึงรัฐบาลทั่วโลกใน 10 ตัวเลือกนโยบายและการป้องกันระดับชาติ เพื่อบรรลุเป้าหมายการป้องกันและลดการใช้แอลกอฮอล์ให้ได้มากที่สุด 

 

1. ความเป็นผู้นำ ความตระหนักรู้ และพันธะ

การปฏิบัติโดยยั่งยืนต้องการความเป็นผู้นำที่เข้มแข็ง มีพื้นฐานของการตระหนักรู้ เจตจำนงทางการเมือง และพันธะ หรือการให้คำมั่นสัญญา

พันธะควรแสดงออกอย่างเหมาะสมผ่านนโยบายระดับชาติ ซึ่งควรครอบคลุมและแยกส่วนที่จะต้องชี้แจง แบ่งความรับผิดชอบแก่ภาคส่วนต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง 

อย่างไรก็ดี นโยบายต้องตั้งอยู่บนหลักฐานที่มีอยู่ และปรับให้เหมาะสมกับสถานการณ์ในท้องที่ โดยมีวัตถุประสงค์ กลยุทธ์ เป้าหมายชัดเจน ที่สำคัญ นโยบายควรมาพร้อมกับแผนปฏิบัติการเฉพาะ และได้รับการสนับสนุนจากกลไกการดำเนินการ การประเมินผลที่มีประสิทธิผลยั่งยืน 

แน่นอนว่าสิ่งสำคัญคือต้องให้ภาคประชาสังคมและผู้ประกอบการทางเศรษฐกิจอย่างธุรกิจต่างๆ เข้ามามีส่วนร่วมด้วย 

และนี่คือตัวเลือกนโยบายและแนวทางการเข้าควบคุม

– พัฒนา หรือเสริมสร้างยุทธศาสตร์ระดับชาติโดยรวมและระดับย่อยๆ รวมถึงทำแผนพัฒนาการและกิจกรรมเพื่อลดการใช้เครื่องดื่มแอลกอฮอล์

– จัดตั้งหรือแต่งตั้ง สถาบันหรือหน่วยงานตามหลักความเหมาะสม เพื่อรับผิดชอบติดตามนโยบายยุทธศาสตร์และแผนระดับชาติ 

– ประสานยุทธศาสตร์กับหน่วยงานในภาคส่วนอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง สร้างความร่วมมือระหว่างรัฐบาลในระดับต่างๆ รวมถึงยุทธศาสตร์และแผนงานด้านสุขภาพอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง 

– สร้างความมั่นใจในว่าประชาชนสามารถเข้าถึงข้อมูลเป็นวงกว้าง ตลอดจนได้รับการศึกษาที่มีประสิทธิภาพ สร้างความตระหนักรู้ของประชาชนในทุกระดับของสังคมเกี่ยวกับอันตรายที่เกี่ยวข้องกับเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ที่พบในประเทศ และความจำเป็นของการดำรงอยู่ของมาตรการป้องกันที่มีประสิทธิภาพ

– สร้างความตระหนักถึงอันตรายต่อผู้อื่นและในกลุ่มเสี่ยงที่เกิดจากการดื่มแอลกอฮอล์ เลี่ยงการตีตราและกีดกันการเลือกปฏิบัติต่อกลุ่มและบุคคลที่ได้รับผลกระทบ

 

2. การตอบสนองของบริการสาธารณสุข

บริการด้านสุขภาพเป็นหัวใจสำคัญสำหรับการจัดการอันตรายในระดับบุคคล หรือก็คือผู้ที่มีความผิดปกติจากการใช้แอลกอฮอล์และสภาวะสุขภาพอื่นๆ ที่เกิดจากการดื่มแอลกอฮอล์ บริการดังกล่าวจึงควรจัดเตรียมมาตรการป้องกันและการรักษาแก่บุคคล ครอบครัวที่เสี่ยงหรือได้รับผลกระทบจากความผิดปกติจากการใช้แอลกอฮอล์และภาวะอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง 

ยิ่งไปกว่านั้น บทบาทสำคัญอีกประการหนึ่งของบริการด้านสุขภาพและผู้เชี่ยวชาญด้านสุขภาพ คือการแจ้งให้สังคมทราบเกี่ยวกับสุขภาพของประชาชน และผลกระทบทางสังคมจากการใช้แอลกอฮอล์ที่เป็นอันตราย รวมถึงสนับสนุนชุมชนให้ลดการใช้แอลกอฮอล์ที่เป็นอันตราย เสริมสร้างการตอบสนองของสังคมอย่างประสิทธิภาพ 

อนึ่ง บริการด้านสุขภาพควรติดต่อ รวบรวม และมีส่วนร่วมกับผู้คนที่หลากหลาย นอกเหนือจากภาคส่วนสุขภาพ

สำหรับตัวเลือกนโยบายและแนวทางการเข้าควบคุมสำหรับด้านบริการสุขภาพที่แนะนำมีดังนี้

– เพิ่มขีดความสามารถของระบบสวัสดิการด้านสุขภาพและสังคม เพื่อบริการการป้องกัน การรักษาและการดูแลความผิดปกติที่เกิดจากการดื่มแอลกอฮอล์ โรคที่เกิดจากแอลกอฮอล์ และสภาวะที่เป็นโรคร่วม รวมถึงมีการสนับสนุนและการรักษาสำหรับครอบครัวที่ได้รับผลกระทบ การช่วยเหลือซึ่งกันและกัน หรือกิจกรรมช่วยเหลือตนเอง 

– สนับสนุนการริเริ่มคัดกรองและการป้องกันสั้นๆ สำหรับการดื่มที่เป็นอันตรายในสถานพยาบาลปฐมภูมิและสถานที่อื่น ๆ การริเริ่มดังกล่าวควรรวมถึงการระบุและการจัดการการดื่มที่เป็นอันตรายในสตรีมีครรภ์และสตรีในวัยเจริญพันธุ์

– ปรับปรุงขีดความสามารถในการป้องกัน การระบุและการแทรกแซง สำหรับบุคคลและครอบครัวที่เป็นโรคแอลกอฮอล์ตอนตั้งครรภ์และความผิดปกติที่เกี่ยวข้อง

– พัฒนาและประสานงานสร้างกลยุทธ์การป้องกันการรักษาและการดูแลแบบบูรณาการ รวมถึงความผิดปกติของการใช้ยาภาวะซึมเศร้า การฆ่าตัวตาย เอชไอวี และวัณโรค

– รักษาอัตราการเข้าถึงสุขภาพโดยถ้วนหน้า รวมถึงการเพิ่มความพร้อม ความสามารถในการเข้าถึงและความสามารถในการจ่ายบริการรักษาสำหรับกลุ่มที่มีสถานะทางเศรษฐกิจและสังคมต่ำ

– สร้างและรักษาระบบการลงทะเบียน เพื่อการติดตามการเจ็บป่วยและการเสียชีวิตที่เกิดจากแอลกอฮอล์ โดยมีกลไกการรายงานอย่างสม่ำเสมอ

– จัดบริการสุขภาพและสังคมที่อ่อนไหวทางวัฒนธรรมตามความเหมาะสม

 

3. การดำเนินการของกลุ่ม/ชุมชน

ผลกระทบของการใช้แอลกอฮอล์ที่เป็นอันตรายต่อชุมชน สามารถกระตุ้น ส่งเสริมความคิดริเริ่ม และแนวทางแก้ไขปัญหาในท้องถิ่น

หากชุมชนได้รับการสนับสนุนผ่านการมอบอำนาจจากรัฐบาลและผู้มีส่วนได้ส่วนเสียอื่นๆ ก็จะสามารถใช้ความรู้และความเชี่ยวชาญในท้องถิ่นของตน ค้นหาแนวทางป้องกันและลดการใช้แอลกอฮอล์ที่เป็นอันตรายที่มีประสิทธิภาพของตนเองได้ (แน่นอนว่าแนวทางนั้นต้องเน้นการเปลี่ยนพฤติกรรมส่วนรวมมากกว่าพฤติกรรมส่วนบุคคล) 

ดังนั้น ตัวเลือกนโยบายและแนวทางการเข้าควบคุมจึงมีดังนี้

– สนับสนุนการประเมินอย่างรวดเร็ว เพื่อระบุช่องว่าง และประเด็นสำคัญในการป้องกันระดับชุมชน

– เพิ่มความสะดวกในการเข้าถึงความรู้เรื่องอันตรายที่เกี่ยวข้องกับแอลกอฮอล์ในระดับท้องถิ่น และส่งเสริมการตอบสนองที่เหมาะสมของการใช้แอลกอฮอล์ที่เป็นอันตรายและปัญหาอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง

– เสริมสร้างขีดความสามารถของหน่วยงานท้องถิ่นในการส่งเสริมและประสานการดำเนินงานร่วมกันของชุมชน  โดยเน้นสนับสนุนและส่งเสริม การพัฒนานโยบายของเทศบาลเรื่องลดการใช้แอลกอฮอล์ที่เป็นอันตราย รวมไปถึงความสามารถในการเสริมสร้างความร่วมมือและเครือข่ายของสถาบันชุมชนและองค์กรเอกชน

– ให้ข้อมูลเกี่ยวกับการดำเนินการตามชุมชนที่มีประสิทธิผลและการเสริมสร้างขีดความสามารถในระดับชุมชนเกี่ยวกับการดำเนินการ

– ระดมพลังชุมชนเพื่อป้องกันการขายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์และบริโภคเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ของผู้ดื่มที่มีอายุต่ำกว่าเกณฑ์ และเพื่อพัฒนา สนับสนุนสภาพแวดล้อมที่ปราศจากแอลกอฮอล์ โดยเฉพาะอย่างยิ่งสำหรับเยาวชนและกลุ่มเสี่ยงอื่นๆ

– ให้การดูแลชุมชนและการสนับสนุนบุคคลที่ได้รับผลกระทบ

– พัฒนาหรือสนับสนุนโครงการและนโยบายชุมชนสำหรับประชากรกลุ่มย่อยที่มีความเสี่ยงโดยเฉพาะเช่น คนหนุ่มสาว คนว่างงาน และประชากรพื้นเมือง

 

4.นโยบายและมาตรการรับมือ ‘การดื่มแล้วขับ’

เป็นที่ทราบกันดีว่าการขับรถขณะมีแอลกอฮอล์อยู่ในร่างกายจะส่งผลกระทบอย่างร้ายแรงต่อการตัดสินใจ และประสานการทำงานของกล้ามเนื้ออื่นๆ ที่ใช้ในการขับรถ และการเมาแล้วขับเป็นปัญหาสาธารณสุขที่สำคัญ ซึ่งส่งผลกระทบต่อทั้งผู้ดื่ม และผู้บริสุทธิ์ในหลายๆ กรณี 

นโยบายป้องกันการดื่มแล้วขับจึงสำคัญ ซึ่งกลยุทธ์ในข้อนี้ยังรวมถึงมาตรการยับยั้งต่างๆ ที่มีเป้าหมายลดโอกาสการเมาแล้วขับ และมาตรการสร้างสภาพแวดล้อมในการขับขี่ที่ปลอดภัย เพื่อลดความเป็นไปได้และความรุนแรงที่อาจเกิดขึ้น

ด้านตัวเลือกนโยบายและแนวทางการเข้าควบคุม ดังนี้

– แนะนำและบังคับใช้ กำหนดขีดจำกัดความเข้มข้นของระดับแอลกอฮอล์ในเลือด โดยลดระดับขีดจำกัดให้ต่ำลงสำหรับผู้ขับขี่มืออาชีพ และผู้ขับขี่ที่เป็นเด็กหรือมือใหม่

– ส่งเสริมจุดตรวจ และการสุ่มทดสอบลมหายใจ

– ระงับใบอนุญาตขับขี่

– ออกใบอนุญาตสำหรับผู้ขับขี่มือใหม่ที่มีความอดทนต่อการดื่มแล้วขับเท่ากับศูนย์

– ใช้อุปกรณ์ตัดระบบสตาร์ทเครื่องยนต์เมื่อตรวจพบแอลกอฮอล์ เพื่อลดเหตุการณ์ที่เกิดจากการดื่มแล้วขับในบริบทเฉพาะ

– ให้ความรู้ ให้คำปรึกษาและโปรแกรมการรักษาแก่พนักงานขับรถตามความเหมาะสม

– สนับสนุนให้มีการใช้ขนส่งทางเลือก รวมถึงระบบขนส่งสาธารณะ จนกว่าจะถึงเวลาปิดสถานที่ดื่ม

– ดำเนินการรณรงค์และรับรู้ ข้อมูลสาธารณะเพื่อสนับสนุนนโยบาย และเพื่อเพิ่มผลการป้องปรามโดยทั่วไป

– ดำเนินแคมเปญสื่อมวลชนที่มีการวางแผนอย่างรอบคอบเข้มงวด ดำเนินการอย่างดี โดยกำหนดเป้าหมายไปยังสถานการณ์เฉพาะเช่น ช่วงเทศกาลวันหยุด

 

5. การมีอยู่ของแอลกอฮอล์

กลยุทธ์ด้านสาธารณสุขที่พยายามควบคุมการมีอยู่ของแอลกอฮอล์ในเชิงพาณิชย์หรือในที่สาธารณะโดยควบคุมผ่านกฎหมาย นโยบายและโครงการ อาจนับได้ว่าเป็นวิธีสำคัญที่ใช้ลดระดับพฤติกรรมใช้แอลกอฮอล์ที่เป็นอันตราย กลยุทธ์ดังกล่าวควรจัดให้มีมาตรการที่จำเป็นเพื่อป้องกันไม่ให้กลุ่มเสี่ยงอย่างวัยรุ่นเข้าถึงเครื่องดื่มแอลกอฮอล์โดยง่าย นอกจากนี้ ควรคำนึงถึงปัจจัยที่ว่า การมีแอลกอฮอล์อยู่ในตลาด พื้นที่สาธารณะ อาจมีอิทธิพลต่อสังคม ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงบรรทัดฐานทางสังคมและวัฒนธรรมที่ส่งเสริมการใช้แอลกอฮอล์ 

ในประเทศกำลังพัฒนาและรายได้ต่ำ-ปานกลางบางประเทศ เป็นแหล่งที่มาหลักของแอลกอฮอล์ในตลาดนอกระบบ การควบคุมการขายจึงอาจจำเป็นต้องเสริมข้อบังคับ กฎหมายเป็นรายกรณี 

ทั้งนี้ ต้องพิจารณาร่วมด้วยว่ามาตรการการควบคุมที่เข้มงวดเกินไปอาจส่งเสริมให้เกิดตลาดแอลกอฮอล์ผิดกฎหมายได้เช่นกัน 

ดังนั้น ตัวเลือกนโยบายและแนวทางการเข้าควบคุม จึงได้แก่

– จัดตั้ง ดำเนินการและบังคับใช้ระบบที่เหมาะสมในการควบคุมการผลิต การขายส่งและการให้บริการเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ กำหนดข้อจำกัดที่สมเหตุสมผลในการจำหน่ายแอลกอฮอล์และการดำเนินการของร้านแอลกอฮอล์ตามบรรทัดฐานทางวัฒนธรรม

       -แนะนำระบบการออกใบอนุญาตสำหรับการขายปลีกหรือการผูกขาดของรัฐบาล

       -การควบคุมจำนวนและที่ตั้งของร้านเครื่องดื่มแอลกอฮอล์

       -กำหนดวันและชั่วโมงการขายปลีก

       -ควบคุมรูปแบบการขายปลีกเครื่องดื่มแอลกอฮอล์

       -ควบคุมการขายปลีกในสถานที่บางแห่งหรือในช่วงกิจกรรมพิเศษ

– กำหนดอายุขั้นต่ำที่เหมาะสมสำหรับการซื้อหรือบริโภคเครื่องดื่มแอลกอฮอล์และนโยบายอื่นๆ เพื่อเพิ่มอุปสรรคในการขายและการบริโภคเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ของวัยรุ่น

– ใช้นโยบายป้องกันการขายให้กับบุคคลที่มึนเมาและผู้ที่มีอายุต่ำกว่าเกณฑ์ตามกฎหมาย และพิจารณาเรื่องกลไกการรับผิดของผู้ขาย

– กำหนดนโยบายเกี่ยวกับการดื่มในที่สาธารณะหรือในกิจกรรม

– ใช้นโยบายเพื่อลดและขจัดความพร้อมในการผลิตการขายและการจำหน่ายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ที่ผิดกฎหมาย ตลอดจนควบคุมหรือขัดขวางแอลกอฮอล์นอกระบบ

 

6. การตลาดของเครื่องดื่มแอลกอฮอล์

การลดผลกระทบของการตลาดโดยเฉพาะอย่างยิ่งต่อคนหนุ่มสาวถือเป็นประเด็นพิจารณาที่สำคัญในการลดการใช้แอลกอฮอล์ 

เครื่องดื่มแอลกอฮอล์ทำการตลาดผ่านการโฆษณาและเทคนิคการส่งเสริมการขายที่ซับซ้อน รวมถึงการเชื่อมโยงแบรนด์เครื่องดื่มแอลกอฮอล์กับกิจกรรมกีฬาและวัฒนธรรม อีกทั้งยังมีเทคนิคการตลาดใหม่ๆ เช่น อีเมล SMS พอดคาสต์ สื่อสังคมออนไลน์ และเทคนิคการสื่อสารอื่นๆ จึงเป็นเรื่องยากมากที่จะกำหนดกลุ่มเป้าหมายเป็นผู้บริโภคให้มีแค่ผู้ใหญ่ และป้องกันกลุ่มเด็กหรือวัยรุ่นมาเจอการตลาดแบบเดียวกัน

ในเมื่อเนื้อหาการตลาดเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ และปริมาณหนุ่มสาวที่พบเจอการตลาดนั้นๆ เป็นประเด็นสำคัญ การปกป้องเยาวชนจากเทคนิคการตลาดเหล่านี้จึงควรหยิบยกมาพิจารณา

และนี่คือส่วนหนึ่งของตัวเลือกนโยบายและแนวทางการเข้าควบคุม

– กำหนดกรอบการกำกับดูแล โดยเฉพาะอย่างยิ่งกับพื้นฐานทางกฎหมาย

       -ควบคุมเนื้อหาและปริมาณการตลาด

       -ควบคุมการตลาดทางตรงหรือทางอ้อมในสื่อบางประเภทหรือทั้งหมด

       -ควบคุมกิจกรรมสปอนเซอร์ที่ส่งเสริมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์

       -จำกัด หรือแบนการโปรโมตที่เกี่ยวข้องกับกิจกรรมที่มีเป้าหมายเป็นกลุ่มเยาวชน

       -ควบคุมเทคนิคการตลาดแอลกอฮอล์รูปแบบใหม่ เช่น โซเชียลมีเดีย

– พัฒนาหน่วยงานของรัฐ หรือหน่วยงานอิสระของระบบเฝ้าระวังการตลาดแอลกอฮอล์ ให้มีประสิทธิผล

– วางระบบการบริหารและการป้องกันที่มีประสิทธิภาพสำหรับการละเมิดข้อ จำกัด ทางการตลาด

 

7. นโยบายราคา

ผู้บริโภคที่หมายรวมไปถึงผู้ดื่มหนักและคนหนุ่มสาวมักมีความอ่อนไหวต่อการเปลี่ยนแปลงของราคาเครื่องดื่ม นโยบายการกำหนดราคาจึงอาจลดการดื่มของผู้ที่ยังไม่บรรลุนิติภาวะ และหยุดยั้งการดื่มแอลกอฮอล์ในปริมาณมากได้

การเพิ่มราคาเครื่องดื่มแอลกอฮอล์เป็นมาตรการหนึ่งที่ได้รับผลดีที่สุดในการลดการใช้แอลกอฮอล์ โดยปัจจัยสำคัญสำหรับความสำเร็จของนโยบายดังกล่าวนี้ คือระบบการจัดเก็บภาษีที่มีประสิทธิผลที่สอดคล้องการจัดเก็บและการบังคับใช้ภาษี

ตัวเลือกนโยบายและแนวทางการเข้าควบคุมมีดังนี้

– จัดทำระบบสำหรับการเก็บภาษีเฉพาะภายในประเทศสำหรับแอลกอฮอล์ พร้อมกับระบบการบังคับใช้ที่มีประสิทธิภาพ ซึ่งอาจคำนึงถึงปริมาณแอลกอฮอล์ในเครื่องดื่มตามความเหมาะสม

– ทบทวนราคาอย่างสม่ำเสมอโดยสัมพันธ์กับระดับเงินเฟ้อและรายได้

– ห้ามหรือ จำกัด การใช้โปรโมชั่นราคาทั้งทางตรงและทางอ้อม

– กำหนดราคาขั้นต่ำสำหรับเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ (หากมี)

– ให้สิ่งจูงใจด้านราคาสำหรับเครื่องดื่มที่ไม่มีแอลกอฮอล์

– ลดหรือหยุดการให้เงินอุดหนุนแก่ผู้ประกอบการทางเศรษฐกิจที่เกี่ยวกับเครื่องดื่มแอลกอฮอล์

 

8. การลดผลเสียจากการดื่มสุรา และสุราเป็นพิษ

เป้าหมายนี้รวมถึงตัวเลือกนโยบายและการเข้าควบคุมที่มุ่งเน้นลดอันตรายจากการมึนเมาและการดื่มแอลกอฮอล์โดยตรง และไม่จำเป็นว่าต้องส่งผลกระทบต่อการบริโภคแอลกอฮอล์ 

ตัวเลือกนโยบายและแนวทางการเข้าควบคุมมีดังนี้

– ควบคุมบริบทการดื่มเพื่อลดความรุนแรงและพฤติกรรมก่อกวน รวมถึงการเสิร์ฟแอลกอฮอล์ในภาชนะพลาสติกหรือแก้วกันแตก

– บังคับใช้กฎหมายต่อต้านการให้บริการของมึนเมา และรับผิดทางกฏหมายจากผลของอันตรายที่เกิดจากความมึนเมาในการให้บริการเครื่องดื่มแอลกอฮอล์

– กำหนดนโยบาย การจัดการที่เกี่ยวข้องกับการเสิร์ฟเครื่องดื่มในสถานที่อย่างมีความรับผิดชอบ และฝึกอบรมเจ้าหน้าที่ในภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง

– ลดความแรงของแอลกอฮอล์ในเครื่องดื่มประเภทต่างๆ

– ให้การดูแลหรือที่พักพิงที่จำเป็นสำหรับผู้ที่มึนเมาอย่างรุนแรง

– ให้ข้อมูลผู้บริโภคเกี่ยวกับการติดฉลากเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ เพื่อระบุอันตรายที่เกี่ยวข้อง

 

9. การลดผลกระทบต่อสุขภาพของประชาชนจากแอลกอฮอล์ที่ผิดกฎหมาย

การบริโภคแอลกอฮอล์ที่ผิดกฎหมายนั้นอาจส่งผลเสียต่อสุขภาพมากยิ่งขึ้น เพราะบางประเภทมีปริมาณเอทานอลสูงกว่าปกติ และอาจพบการปนเปื้อนของสารพิษ เช่น เมทานอล ฯลฯ อีกทั้งยังอาขัดขวางการเก็บภาษีของรัฐบาล และมาตรการควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ที่ผลิตถูกต้องตามกฎหมาย 

ขณะเดียวกัน การผลิตและการจำหน่ายแอลกอฮอล์นอกระบบฝังรากลึกในหลายวัฒนธรรม และไม่ถูกควบคุมจากทางการ ดังนั้นมาตรการควบคุมที่เกิดขึ้นอาจแตกต่างกันไปสำหรับแอลกอฮอล์ที่ถูกกฎหมายกับแอลกอฮอล์ที่ผิดกฎหมาย 

ตัวเลือกนโยบายและแนวทางการเข้าควบคุมส่วนหนึ่ง เป็นดังนี้

– ควบคุมคุณภาพการผลิต และการจำหน่ายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์

– ควบคุมการขายแอลกอฮอล์ที่ผลิตอย่างไม่ถูกต้อง และนำเข้าสู่ระบบการจัดเก็บภาษี

– สร้างระบบการควบคุม และบังคับใช้ที่มีประสิทธิภาพ รวมถึงการตราภาษี

– พัฒนาหรือเสริมสร้างระบบติดตามแอลกอฮอล์ที่ผิดกฎหมาย

– สร้างความมั่นใจในความร่วมมือ และแลกเปลี่ยนข้อมูลที่เกี่ยวข้องในการต่อต้านแอลกอฮอล์ผิดกฎหมายระหว่างหน่วยงานในระดับภูมิภาคและระดับโลก

– ออกคำเตือนเกี่ยวกับสารปนเปื้อน และภัยคุกคามสุขภาพอื่นๆ จากแอลกอฮอล์ที่ผิดกฎหมายแก่สาธารณะ

 

10.การติดตามและเฝ้าระวัง

ข้อมูลจากการติดตามและเฝ้าระวัง ถือเป็นความสำเร็จและส่งเสริมนโยบายอีก 9 ตัวข้างต้น เราจำเป็นต้องติดตามและเฝ้าระวังทั้งในระดับท้องถิ่น ระดับภูมิภาค จนถึงระดับโลก เพื่อตรวจสอบแนวโน้มความอันตราย เสริมสร้างการกำหนดนโยบาย และประเมินผลกระทบที่เกิดขึ้นจากนโยบายนั้นๆ 

การพัฒนาระบบข้อมูลในระดับท้องถิ่นที่ยั่งยืนต้องใช้ตัวชี้วัด คำจำกัดความ และขั้นตอนรวบรวมข้อมูลที่เข้ากันได้กับระบบข้อมูลในระดับโลกและระดับภูมิภาคของ WHO เพื่อประเมินผลอย่างมีประสิทธิผล และติดตามแนวโน้มในอนาคตสำหรับการใช้แอลกอฮอล์

ตัวเลือกนโยบายและแนวทางการเข้าควบคุมจึงเป็นดังนี้

– กำหนดกรอบกิจกรรมการติดตามและเฝ้าระวังที่มีประสิทธิผล รวมถึงสำรวจการบริโภคเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ระดับท้องถิ่นเป็นระยะๆ โดยมีการแลกเปลี่ยนและเผยแพร่ข้อมูล

– จัดตั้งหรือกำหนดสถาบัน หน่วยงานที่รับผิดชอบในการรวบรวม จัดเรียง วิเคราะห์ และเผยแพร่ข้อมูลที่มีอยู่ 

– กำหนดและติดตามชุดตัวบ่งชี้ทั่วไปของการใช้แอลกอฮอล์ และดูการตอบสนองของนโยบาย และการแทรกแซงดังกล่าว

– สร้างที่เก็บข้อมูลในระดับประเทศตามตัวชี้วัดที่ตกลงกันในระดับสากล

– พัฒนากลไกการประเมินผลด้วยข้อมูลที่รวบรวม เพื่อจะได้สร้างนโยบายหรือโครงการต่อไปในอนาคต 

 

10 ยุทธศาสตร์ที่ได้กล่าวมา อาจเป็นอีกหนึ่งก้าวสำคัญในการเริ่มต้นลดใช้แอลกอฮอล์ที่เป็นอันตราย ซึ่งอย่างน้อยที่สุดหากมีการนำมาปรับใช้ภายในแต่ละประเทศ ผลประโยชน์ที่เกิดขึ้นสามารถที่จะช่วยเหลือให้คนติดเหล้าไม่โดดเดี่ยว

เพราะในวันที่ตัวเขาเองอยากจะเลิกเหล้า สภาพแวดล้อมในสังคมก็ควรจะเอื้อให้เขาเลิกเหล้าได้ด้วย

 

 


 

ที่มา

10 areas governments could work with to reduce the harmful use of alcohol

https://www.who.int/news-room/feature-stories/detail/10-areas-for-national-action-on-alcohol?fbclid=IwAR2hFCgHOZKHpUlhLUUK26-o5UxQt6WVY_c9SpqHLS-Sl8S3sUYX8nVUhpc

 

เรื่องและภาพ: ทีมงาน Alcohol Rhythm

 

Related Articles